นวัตกรรม ใหม่ รถแทรกเตอร์ ล้อเหล็ก

โฆษณา
AP Chemical Thailand

นวัตกรรม ใหม่ ของชาวนา รถแทรกเตอร์ติดล้อเหล็ก

พระพิรุณเริ่มโปรยปรายบางจังหวัดและบางวันแห่งเดือนมิถุนายน 2559

งานไถและเตรียมดินถูกตระเตรียมไว้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เพราะเกษตรกรมั่นใจว่าพืชที่ตนจะปลูกต้องทำเงินให้คุ้มค่าเหนื่อยโดยเฉพาะ “ชาวนา” มืออาชีพ ถ้าเม็ดฝนโปรยปรายได้น้ำระดับหนึ่ง ก็จะเริ่มหวานกล้า หรือเพาะกล้าปลูกข้าวแน่นอน เพราะเป็นอาชีพที่ถนัด อย่างน้อยข้าวเปลือกส่วนหนึ่งก็เก็บไว้ในยุ้ง โดยเฉพาะชาวนาอีสานหลายครอบครัวยังเก็บข้าวใส่ยุ้งไว้กินหรือไว้เผื่อ
ลูกหลานที่กลับมาเยี่ยมบ้าน

รถแทรกเตอร์
รถแทรกเตอร์

แต่การทำนาก็ยังต้องเจอปัญหาเดิมๆ เช่น ถูกโรค แมลง และวัชพืช รบกวน ทำให้ผลผลิตตกต่ำต้องจ้างคนไปช่วยฉีดยา ด้วย “ค่าจ้าง” ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะแรงงานถูก ถ่ายเทไปสู่อาชีพอื่นที่สบายกว่า และสุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพน้อยกว่า แม้จะมีค่าแรงพอๆ กัน ก็คุ้มค่าอาชีพทำนาจึงถูกลดคุณค่าลงด้วยสาเหตุดังกล่าว ถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ ต่อไปชาวนาไทยจะต้องเลิกทำนาจึงนำมาสู่การต่อยอดพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆเพื่อตอบโจทย์ได้ในเชิงพณิชย์

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ได้ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงได้สนับสนุนงบประมาณแก่เอกชนที่ทำวิจัยเพื่อจะผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ หรือลงทุนเกี่ยวกับการผลิตและแปรรูปข้าว 

คุณมนตรี สร้าง นวัตกรรม ใหม่ ของชาวนา
คุณมนตรี สร้าง นวัตกรรม ใหม่ ของชาวนา

หนึ่งในนั้น คือ คุณมนตรี แสงประชาธนารักษ์  ผู้ผลิต “ล้อเหล็ก” เพื่อติดรถแทรกเตอร์คูโบต้า ขนาด 24  แรงม้า ด้านหลังติดอุปกรณ์พ่นยา หรือติดเครื่องพ่นปุ๋ยลงไปทำงานในนาข้าวได้ดีโดยไม่ทับต้นข้าวให้เสียหาย เหมือนล้อยางขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถลงไปจัดการงานฉีดพ่นยาในนาได้

โฆษณา
AP Chemical Thailand

จึงเป็นที่มาการเปลี่ยนล้อยางขนาดใหญ่ทั้ง 4 ล้อ(ล้อหน้าและล้อหลัง) ซึ่งเป็นงานยาก จำเป็นต้องอาศัยวิชาวิศวกรรมค่อนข้างมาก ดังนั้นคุณมนตรีจึงได้จับมือกับ รศ.ดร.ประเทือง อุษาบริสุทธิ์ ม.เกษตรศาสตร์กำแพงแสน ใช้เวลาศึกษาและออกแบบร่วมปี ทดสอบหลายครั้งแต่ปี 56 จนกระทั่งสำเร็จต้นปี 57

คุณมนตรีเผยถึงที่มาของการได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(สนช.) ความรู้สึกยินดีได้รับทุนจากโครงการประเภทแปลงเทคโนโลยีเป็นทุน ปัจจุบัน หจก.คูโบต้า ก.แสงยนต์ กาญจนบุรี ผลิตและจำหน่ายเครื่องมือการเกษตร สำหรับต่อพ่วงรถฟาร์มแทรกเตอร์ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายรถแทรกเตอร์คูโบต้า จาก “บริษัท สยามคูโบต้าอุตสาหกรรม จำกัด” ผ่านการรับรองระบบการบริหารงานคุณภาพ ตามมาตรฐาน ISO:9001 ขอบข่าย : การให้บริการบำรุงรักษา และจำหน่ายอะไหล่รถแทรกเตอร์ ที่นำมาสู่การจัดตั้งสาขาอีกแห่งที่บ้านตลาดเขต ต.รางหวาย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์คูโบต้า และอุปกรณ์ต่อพ่วง

หจก.คูโบต้า ก.แสงยนต์ กาญจนบุรีจึงได้ดำเนินธุรกิจด้านการผลิตและจำหน่ายเครื่องมือทางการเกษตร สำหรับต่อพ่วงกับรถฟาร์มแทรกเตอร์เรื่อยมา เช่น ผานพรวนดินในร่องอ้อย เครื่องใส่ปุ๋ย เครื่องฉีดพ่นยา คราดสปริง เป็นต้น ควบคู่กับการเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของคูโบต้า ได้แก่ เครื่องยนต์ดีเซล รถไถนาเดินตาม รถแทรกเตอร์รถเกี่ยวนวดข้าว รถดำนา รถขุด อุปกรณ์ต่อพ่วงตราช้าง รวมทั้งให้บริการหลังการขายและจำหน่ายอะไหล่แก่เกษตรกรทั้งในและนอกพื้นที่

คุณมนตรียอมรับว่าวัตถุประสงค์ในการขอสนับสนุนโครงการดังกล่าวด้วยเล็งเห็นปัญหาเรื่องนี้มาตลอด เนื่องจากล้อเหล็กแบบแคบที่พัฒนาขึ้นยังไม่มีการผลิตในประเทศไทย เป็นล้อเหล็กที่ถูกออกแบบใช้สำหรับรถแทรกเตอร์ เพื่อใช้ในกิจกรรมกำจัดวัชพืชในแปลงนา(พ่นสารเคมี, เครื่องกำจัดวัชพืช) ซึ่งล้อในประเทศที่มีอยู่ไม่สามารถนำมาใช้งานได้ ส่วนล้อจากต่างประเทศถ้าต้องการนำมาใช้งานต้องมีการดัดแปลง และมีราคาแพง การจัดการวัชพืชในแปลงนาเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญ การใช้รถแทรกเตอร์ฉีดพ่นสารเคมีจะช่วยทำให้การฉีดพ่นยาทำได้เร็วขึ้น และลดการใช้แรงงานคนในการฉีดพ่นยาลง

รถแทรกเตอร์ติดล้อเหล็ก
รถแทรกเตอร์ติดล้อเหล็ก

ซึ่งการฉีดพ่นยาโดยใช้แรงงานคนเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเกษตรกรเป็นอย่างมาก เพราะการฉีดพ่นยาโดยคนเดินฉีดมีโอกาสสูงที่จะสูดดมสารเคมีเข้าไปสู่ร่างกาย เป็นปัญหาร้ายแรงต่อสุขภาพ ซึ่งทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจากการปฏิบัติงานในกรรมวิธีที่ไม่ถูกต้องของเกษตรกรเอง ล้อเหล็กแบบแคบที่พัฒนาขึ้นนี้สามารถทำงานได้ดี ทั้งในสภาพดินนาที่เป็นเลนที่มีน้ำขัง หรือแบบไม่มีน้ำขัง เพราะการฉีดพ่นสารเคมีจำเป็นต้องทำหลายครั้งในแปลงนา ซึ่งสภาพดินในแต่ละช่วงของการปฏิบัติงานมีความแตกต่างกัน

ดังนั้นคุณมนตรีจึงได้มุ่งมั่นออกแบบและสร้างล้อเหล็กสำหรับรถแทรกเตอร์เพื่อขับเคลื่อนในแปลงนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการวัชพืชในแปลงนา  ลดความเสี่ยงอันตรายที่เกษตรกรต้องสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง โดยที่เกษตรกรทำงานได้รวดเร็ว ทันเวลา และไม่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของการใช้ “เหล็ก” เป็นวัตถุดิบในการผลิตล้อรถแทรกเตอร์คูโบต้า แทนรถล้อยางใน
รถแทรกเตอร์รุ่นขนาด 24 แรงม้า น้ำหนัก 600 กก. ที่มีการปรับใต้ท้องรถให้สูงขึ้นกว่าเดิม 20 ซม. จากเดิม 32 ซม.เป็น 52 ซม. วงล้อหน้าโต 98 ซม. วงล้อหลังโต 148 ซม. ผ่านการทดสอบฉีดพ่นปุ๋ยยาในนาข้าวมีสมรรถนะในการทำงานอยู่ที่ 11.8 ไร่/ชม.

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ความพิเศษของรถล้อเหล็กก็คือความสูงและความกว้างกว่าเดิม อีกทั้งยังมีการออกแบบ “ใบพัด” เหล็กติดล้อ ให้มีความเอียงเพื่อให้ดินหลุดจากล้อเวลาทำงาน นอกจากนี้การทำงานล้อหน้ากับล้อหลังจะสัมพันธ์กัน

เมื่อถามถึง “ราคา” คุณมนตรีกล่าวว่า ค่าโมดิฟายเพลาและล้อ 20,000 บาท ค่าล้อเหล็ก 36,000 บาท รวมๆ แล้วไม่เกิน 60,000 บาท ใช้เวลาผลิตไม่เกิน 2 อาทิตย์ ได้รถใช้แน่นอนเพราะคุณมนตรีมีช่างประจำอยู่แล้ว เพราะต้องซ่อมรถแทรกเตอร์บริการลูกค้า

ในขณะที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติได้ส่งเสริม คุณมนตรี แสงประชาธนารักษ์ ให้เดินหน้าโครงการในรูปแบบแปลงเทคโนโลยีเป็นทุนด้วยการสนับสนุนการเงินจำนวนหนึ่งจนกระทั่งสามารถผลิต “ล้อเหล็กหน้าแคบ” ได้สำเร็จ ตอบโจทย์ได้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งคุณมนตรีได้สรุปความสำเร็จเสนอต่อ สนช. เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 57 ซึ่งได้ริเริ่มโครงการล้อเหล็กติดรถแทรกเตอร์สำหรับนาน้ำตม เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 56 โดยใช้เวลาเพียง 1 ปีเศษเท่านั้น

“นี่คือความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของ เรา และสนช.ที่ต้องการให้ชาวนาสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องค่าแรงและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นในการให้ปุ๋ย ให้ยาในนาข้าว โดยที่ต้นข้าวไม่เสียหายในขณะที่ใช้รถทำการฉีดพ่นปุ๋ยในแปลงนาและความสำเร็จนี้ทำให้เกิดนวัตกรรมรถแทรกเตอร์ติดล้อเหล็ก”

เป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านผลิตภัณฑ์ ล้อเหล็กติดรถแทรกเตอร์เพื่อใช้ในงานกำจัดวัชพืช ออกแบบตามหลักกลศาสตร์ของดิน (Soil mechanic) ด้วยการวิเคราะห์แรงยกตัวของดินและมุมของใบล้อที่เหมาะสม ทำให้ไม่ติดหล่มและทำงานได้ในนาน้ำตมที่ดินมีความเหลวมาก

ล้อเหล็กที่ออกแบบเป็น นวัตกรรม ใหม่ ระดับประเทศ

ในด้านการใช้งานในแปลงนาซึ่งไม่เคยมีใครใช้งานล้อเหล็กสำหรับขั้นตอนจัดการวัชพืชในแปลงนามาก่อน ล้อเหล็กที่ออกแบบสำหรับใช้กับรถแทรกเตอร์ขนาด 24 แรงม้า ซึ่งสามารถใช้ต่อพ่วงกับเครื่องพ่นสารเคมีขนาด 200 ลิตร ได้ ทำให้สามารถทำงานได้รวดเร็ว เกษตรกรสัมผัสสารเคมีน้อยลง จากเดิมที่ใช้แรงงานคนเดินพ่นฉีด นอกจากนี้ยังสามารถใช้งานร่วมกับเครื่องมือกำจัดวัชพืชในแปลงนาดำ ทำให้กำจัดวัชพืชได้ทันเวลา โดยที่ไม่ต้องฉีดพ่นสารเคมี ล้อเหล็กสามารถถอดประกอบได้ง่าย เมื่อไม่ต้องการใช้งานสามารถถอดเปลี่ยนเป็นล้อยางได้โดยสะดวก

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เมื่อเปรียบเทียบด้านเทคโนโลยีระหว่างแนวความคิดใหม่กับสิ่งที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน (เพื่อชี้แจงเหตุผลในการเลือกกระบวนการผลิตหรือเทคโนโลยีดังกล่าว)จะเห็นว่าในแปลงนาข้าว หลังจากที่หว่านข้าว หรือปักดำไปแล้ว เกษตรกรมีความจำเป็นที่จะต้องมีการฉีดพ่นสารเคมี 3-4 ครั้ง ในช่วงการเจริญเติบโตของข้าว ปัจจุบันต้องใช้แรงงานคนในการฉีดพ่น โดยการแบกหรือสะพายถังน้ำยาแบบ
ถังโยก หรือแบบติดเครื่องยนต์ ขนาดบรรจุ 20 ลิตร แล้วเดินพ่นยาให้ทั่วพื้นที่แปลงนา วิธีการทำงานจะฉีดพ่นไปรอบๆ ด้านหน้าของผู้ฉีด และเดินหน้าไปเรื่อยๆ ทำให้ผู้ฉีดต้องสัมผัสกับสารเคมีตลอดเวลาที่ทำการพ่น และเมื่อสารที่ฉีดพ่นหมดก็ต้องหยุดเพื่อเติมสารใหม่ ทำให้ทำงานได้ช้า ความสามารถในการทำงาน 8 ไร่ ต่อคนต่อวัน

เครื่องสีข้าว
เครื่องสีข้าว

 

การใช้ชุดถังพ่นสารเคมีที่ต่อพ่วงกับรถแทรกเตอร์ ซึ่งจะสามารถบรรจุสารได้ปริมาณมากถึง 200 ลิตร ทำให้ไม่ต้องหยุดเติมสารบ่อย สามารถฉีดพ่นได้ 50 ไร่ ต่อคนต่อวัน และยังทำให้เกษตรกรไม่ต้องสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง เพราะนั่งขับอยู่บนรถแทรกเตอร์ไปทางด้านหน้า โดยที่ชุดฉีดพ่นอยู่ทางด้านหลัง แต่ล้อยางของรถแทรกเตอร์มีขนาดใหญ่ ทำให้เกิดรอยบนพื้นแปลงนาเป็นรอยกว้าง ส่งผลให้ผลผลิตลดลง เนื่องจากต้นข้าวถูกล้อยางกดทับจมลงไปในดินเป็นจำนวนมาก หรือการใช้เครื่องกำจัดวัชพืชสำหรับนาดำติดตั้งกับรถแทรกเตอร์ ถึงแม้ว่าระยะห่างล้อจะอยู่ตรงกับช่องห่างระหว่างแถวข้าว ทำให้ล้อยางไม่กดทับต้นข้าวก็ตาม แต่รถที่ติดตั้งล้อยางปกตินั้น ระยะความสูงจากพื้นถึงใต้ท้องรถมีระยะไม่มากนัก เมื่อจะใช้งานในพื้นที่ที่ต้นข้าวโตแล้วก็จะทำให้ต้นข้าวเสียหายได้

ปัจจุบันล้อเหล็กแบบแคบนั้นยังไม่มีการผลิตในเมืองไทย ล้อที่พอจะหาซื้อได้ คือ ล้อของรถดำนา แต่มีข้อจำกัดในเรื่องของขนาดของล้อนั้นไม่เหมาะที่จะมาดัดแปลงใส่รถแทรกเตอร์ อีกทั้งยังไม่สามารถที่จะรองรับน้ำหนักรถแทรกเตอร์ได้ ในต่างประเทศมีการใช้ล้อยางแบบแคบเพื่อใช้กับรถแทรกเตอร์ที่ฉีดพ่นสารเคมีในแปลงนา แต่ล้อ
ดังกล่าวถ้านำเข้ามีราคาค่อนข้างแพง และจำเป็นต้องดัดแปลงระบบถ่ายทอดกำลังของรถแทรกเตอร์ ดังนั้นจึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับรถแทรกเตอร์ในบ้านเรา

รถแทรกเตอร์ติดล้อเหล็ก
รถแทรกเตอร์ติดล้อเหล็ก

การผลิตล้อเหล็กในเมืองไทยนั้นมีการผลิตมากสำหรับใช้กับรถไถเดินตาม ซึ่งเป็นล้อเหล็กแบบที่มีความกว้างค่อนข้างมาก ตามทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับล้อเหล็กนั้น สิ่งที่มีผลต่อประสิทธิภาพการใช้งานของล้อเหล็ก คือ จำนวน แผ่นเหล็ก และมุมของแผ่นเหล็ก โดยถ้ามีมุมมากการยกตัวจะดี แต่การฉุดลากจะต่ำลง และจำนวนแผ่นกรงนั้นถ้ามีมากเกินไปจะทำให้ลดประสิทธิภาพการฉุดลากลง

ในการพัฒนาล้อเหล็กแบบแคบเพื่อใช้งานกับรถแทรกเตอร์เพื่อการฉีดพ่นสารเคมีนี้ ผู้วิจัยมีแนวคิดในการออกแบบเพื่อให้รถแทรกเตอร์นั้นสามารถทำงานได้ดีในสภาพดินที่เป็นแบบเลนที่มีน้ำขังและแบบที่ไม่มีน้ำขัง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับระยะแผ่นเหล็ก หรือใช้จำนวนแผ่นเหล็กให้สามารถทำงานได้โดยสามารถสร้างแรงฉุดลากและลอยตัวได้ดีทั้งในสภาพดินที่ไม่มีน้ำขังและในสภาพดินที่มีน้ำขังจนกระทั่งประสบความสำเร็จดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้

 

สนใจเยี่ยมชมล้อเหล็กติดรถแทรกเตอร์

โฆษณา
AP Chemical Thailand

และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

คุณมนตรี แสงประชาธนารักษ์ (เจ้าของผู้จัดการ)

หจก.คูโบต้า ก.แสงยนต์ กาญจนบุรี

โทร.034-566-302, 034-566-789 แฟกซ์ 034-566-310

ขอขอบคุณ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน)    73/2 ถนน พระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไทย เขตราชเทวี

กทม. 10400 โทร.02-017-5555

โฆษณา
AP Chemical Thailand