ข้าวอินทรีย์ พันธุ์สันป่าตอง ต้นทุนเหลือเพียงแค่ 3,000-3,500 บาทต่อไร่ ขายตลาดคนรักสุขภาพราคาสูง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ด้วยกระแสความใส่ใจในเรื่องของสุขภาพที่มากขึ้นของคนไทยนั้น ทำให้ปัจจุบันตลาดสินค้าจำพวกออแกนิค หรือตลาดอินทรีย์ปลอดสารพิษ ได้รับความนิยมอย่างมาก จนแพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค จึงไม่แปลกใจที่เกษตรกรหลายรายหันมาเอาใส่ใจในการปลูกข้าวอินทรีย์อย่างจริงจัง เพราะหวังว่าจะเป็นการทำให้พวกเขาเหล่านี้ยืนอยู่บนอาชีพการทำนาที่ตนรักได้อย่างยั่งยืน ข้าวอินทรีย์

1.คุณอดุลย์แปรรูปผลผลิตข้าว โดยการสีบรรจุถุงขาย สร้างรายได้เพิ่ม
1.คุณอดุลย์แปรรูปผลผลิตข้าว โดยการสีบรรจุถุงขาย สร้างรายได้เพิ่ม

การปลูกข้าว

ทีมงานข้าวเศรษฐกิจฉบับนี้จะขอนำเสนอเรื่องราวของเกษตรกรท่านหนึ่ง ที่เรียกได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกรายแรกที่ผันเปลี่ยนจากนาเคมีสู่นาอินทรีย์ในจังหวัดเชียงใหม่ คุณอดุลย์ ไชยประเสริฐ จากประสบการณ์การทำนามาตลอดระยะเวลากว่า 6 ปี ทำให้เขามีเคล็ดลับและเทคนิคการทำนาต่างๆ มากมาย จึงทำให้เขาผู้นี้กลายเป็นต้นแบบการทำนาอินทรีย์ในพื้นที่ตำบลแม่คือไปโดยปริยาย

เดิมทีคุณอดุลย์ประกอบอาชีพรับราชการเป็นครูมาอย่างยาวนานถึง 19 ปี แต่เนื่องด้วยว่าตนนั้นมีความคิดว่าจะออกมาประกอบอาชีพใหม่ จึงได้ลาออกจากการเป็นครูเพื่อมาประกอบอาชีพทำธุรกิจเกี่ยวกับรถแม็คโคร และรถสิบล้อ แต่แล้วด้วยเหตุผลหลายประการทำให้คุณอดุลย์เลิกกิจการรถแม็คโคร จนในที่สุดก็ได้หันมาเป็นกระดูกสันหลังของชาติในปี 2550

2.ทำแบบอินทรีย์
2.ทำแบบอินทรีย์

จุดเริ่มต้นการปลูกข้าว

ครั้งแรกในการทำนาของเขาได้ปลูกข้าวโดยใช้รูปแบบเคมี เพราะคิดว่าในการทำเคมีนี้จะส่งผลให้ได้ผลผลิตสูง และเห็นเม็ดเงินในการทำเคมี ซึ่งในการทำนาเคมีครั้งแรกของตนนั้นได้เลือกใช้พันธุ์ข้าวสันป่าตอง ปทุม1 และชัยนาท 60 มาปลูกในแปลงนา

ซึ่งในครั้งนั้นเขาได้ไปซื้อพันธุ์ข้าวทั้งหมดมาจากสุโขทัยเพื่อมาทำการทดลองปลูกข้าว  ปรากฏว่ามีต้นทุนในการผลิตที่สูงถึง 5,000-5,500 บาท/ไร่  เป็นเพราะว่าเขาใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อช่วยในเรื่องผลผลิต  จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายต่อไร่ที่สูงมาก และแล้วเขาก็คิดผิด เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวนั้นผลสรุปว่าเขาได้ข้าวเฉลี่ยเพียงแค่ 70 ถัง/ไร่ เท่านั้น จึงทำให้เขาแทบไม่เหลือกำไรในการทำนาในครั้งนั้นเลย

3.คุณอดุลย์กับคุณวิศิษฐ์พาเยี่ยมชมแปลงข้าวหอมนิล
3.คุณอดุลย์กับคุณวิศิษฐ์พาเยี่ยมชมแปลงข้าวหอมนิล

การทำนาอินทรีย์

จากประสบการณ์การทำนาในครั้งแรก ทำให้คุณอดุลย์ศึกษาหาความรู้ในการทำนาต่างๆ จากการเข้าร่วมอบรมและการเข้าดูงานภายในพื้นที่ตำบลแม่คือ ที่ทางเกษตรจังหวัดจัดขึ้น และในการเข้าอบรมในหลายๆ ครั้ง ทำให้คุณอดุลย์ได้พบ คุณวิศิษฐ์ ตุ่มศิริ นักวิชาการเกษตรเทศบาล ตำบลแม่คือ ซึ่งทางคุณวิศิษฐ์ผู้นี้เป็นผู้ที่มีความรู้ในการทำนาอินทรีย์อย่างมาก จึงแนะนำให้คุณอดุลย์หันมาทำนาอินทรีย์แบบเต็มตัว

โฆษณา
AP Chemical Thailand

จากนั้นไม่นานทางคุณอดุลย์และนักวิชาการเกษตรตำบลแม่คือ พร้อมเกษตรกรในพื้นที่ตำบลแม่คือ ได้มีโอกาสไปดูงานที่อำเภอสันกำแพง ซึ่งมี ดร.ตะวัน ห่างสูงเนิน เป็นผู้บุกเบิกการทำข้าวอินทรีย์เจ้าแรกในจังหวัดเชียงใหม่  ทางดร.ตะวัน ผู้นี้ เป็นคนคอยชี้แนะให้ความรู้แก่เกษตรกรที่สนใจจะหันมาทำเกษตรอินทรีย์แบบอย่างตน ตลอดจนเปิดให้ชมพื้นที่แปลงนาอินทรีย์ของตนให้แก่ผู้ร่วมเข้าดูงานในครั้งนั้น และเมื่อคุณอดุลย์เห็นแปลงนาอินทรีย์ของ ดร.ตะวัน ในครั้งนั้น จึงทำให้เขาเกิดแนวคิดที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในแปลงนาของตน เพื่อต้องการที่จะประสบความสำเร็จเหมือนกับ ดร.ตะวัน

เนื่องจากว่าแปลงของคุณอดุลย์นั้นเคยใช้สารเคมีมานาน ทำให้มีสารเคมีตกค้างในดิน ทำให้ตนคิดที่จะบำรุงดินในแปลงนาให้กลับมามีแร่ธาตุสารอาหารที่สมบูรณ์เสียก่อน ในการนี้เขาและคุณวิศิษฐ์ได้มีการปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับการปรับปรุงคุณภาพของดิน จนในที่สุดก็ได้เลือกใช้วิธีการใช้ขี้ไก่มาเป็นตัวช่วยในการบำรุงดินในครั้งนี้ ซึ่งคุณอดุลย์เผยว่า “ผมได้ใช้ขี้ไก่ในการปรับสภาพดินอยู่เป็นปีๆ เลย เพราะเนื่องจากว่าดินในพื้นที่ตรงนั้นมันเคยเป็นเคมีมาก่อน ทำให้เราต้องใช้เวลาสักพักเพื่อให้ความสมบูรณ์ของดินกลับคืนมา” ทั้งนี้เขายังบอกต่อว่าได้รับซื้อขี้ไก่จากโคราช โดยมีการขนส่งผ่านรถสิบล้อเลย ในการบำรุงดิน

4.ดินดี อุดมสมบูรณ์
4.ดินดี อุดมสมบูรณ์

สภาพพื้นที่ปลูก ข้าวอินทรีย์

คุณอดุลย์ได้เลือกใช้พื้นที่ของตนทั้งหมด 16ไร่ เป็นแปลงทดลองปลูก ข้าวอินทรีย์ ซึ่งแบ่งเป็นข้าวพันธุ์สันป่าตอง 11 ไร่ และข้าวหอมนิล 5 ไร่ ทั้งนี้เขาได้เผยสาเหตุในการเลือกใช้ข้าวสันป่าตอง และข้าวหอมนิล ว่า ข้าวสันป่าตองนี้เป็นข้าวเหนียวที่มีน้ำหนักที่มากกว่าข้าวทั่วไป ทั้งยังมีภูมิต้านทานของโรคได้ดี เป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มผู้บริโภคทางภาคเหนือ และที่สำคัญเมื่อข้าวมีน้ำหนักที่ดี ก็ส่งผลให้มีรายได้มากขึ้น

ในส่วนของข้าวหอมนิลนั้นเป็นสายพันธุ์ข้าวที่สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี และมีการแตกกอที่ดี ตนจึงได้นำมาเพาะปลูกลงในแปลงนาทดลอง  ซึ่งเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวปรากฏว่าได้ผลผลิตข้าวทั้งหมดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 60 ถัง/ไร่ ซึ่งทั้งนี้คุณอดุลย์ได้ส่งขายโรงสีต่อในราคา 8.20 บาท ซึ่งทางโรงสีก็จะมีการนำไปแปรรูปเป็นแป้งออกส่งขายตามท้องตลาดทั่วไป

5.แปลงข้าวหอมมะลิแดง
5.แปลงข้าวหอมมะลิแดง

ข้อดีของการทำนาอินทรีย์

จากประสบการณ์ทำนาอินทรีย์ในครั้งนี้ ทำให้เขาเห็นถึงความแตกต่างกันในนาอินทรีย์และนาเคมี ซึ่งเมื่อเทียบผลผลิตระหว่างนาเคมีจะได้อยู่ที่ประมาณ 70 ถัง/ไร่ แต่หากเป็นนาอินทรีย์ก็จะอยู่ที่ 60 ถัง/ไร่ ซึ่งในส่วนผลผลิตจะมีความใกล้เคียงกันมาก

แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ ต้นทุนในการทำนาของเขาลดลงจากเดิมมาก จากเมื่อก่อนต้นทุนในการทำนาเคมีอยู่ที่ 5,000-5,500 บาทต่อไร่ แต่เมื่อหันมาทำนาอินทรีย์ต้นทุนเหลือเพียงแค่ 3,000-3,500 บาทต่อไร่ ซึ่งเมื่อคิดเป็นกำไรออกมาก็จะเห็นได้ว่าในการทำนาอินทรีย์นั้นส่งผลให้เขามีกำไรมากกว่าการทำเคมีสูงถึงเท่าตัวเลยทีเดียว

โฆษณา
AP Chemical Thailand

จึงทำให้ปัจจุบันคุณอดุลย์มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตลอดจนทำให้เขาหันมาปลูกข้าวอินทรีย์ทั้งหมด 140 กว่าไร่ โดยแบ่งเป็นข้าวมะลิ 105 จำนวน 7ไร่ ข้าวนิลดำ 8ไร่ ไรซ์เบอรี่ 3 ไร่ และข้าวสันป่าตองอีก 100 กว่าไร่ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษทั้งหมด เขายังเปิดเผยต่อว่าในส่วนของผลผลิตข้าวสันป่าตองในฤดูกาลล่าสุดในผลผลิตสูงถึง 1 ตัน/ไร่ ส่วนข้าวหอมมะลิจะอยู่ที่ประมาณ 600 ถัง/ไร่ ซึ่งผลผลิตข้าวสันป่าตอง และข้าวหอมมะลิ ก็จะนำส่งขายโรงสีต่อ ในราคาข้าวหอมมะลิกิโลกรัมละ 12 บาท ส่วนข้าวสันป่าตองกิโลกรัมละ 8 บาท

ปัจจุบันคุณอดุลย์ได้เข้าร่วมกับสหกรณ์อินทรีย์ตำบลหนองจ็อมเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งทางสหกรณ์จะมีการรับซื้อข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษ 100 เปอร์เซ็นต์ จากสมาชิกกลุ่ม ทั้งนี้ทางสหกรณ์จะมีการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบแปลงนาของสมาชิกทุกคน เพื่อตรวจหาสารเคมีในแปลงนา เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นไปยังกลุ่มลูกค้าว่าปลอดภัยจากสารเคมีอย่างแน่นอน

6.มีรถเกี่ยวข้าวของตัวเอง
6.มีรถเกี่ยวข้าวของตัวเอง
ผานไถนา
ผานไถนา

การป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ในนาข้าว

หลังจากการเก็บเกี่ยวเรียบร้อยแล้ว จากนั้นก็จะมีการไถกลบตอซังในครั้งนึง จากนั้น 15 วัน ก็จะมีการไถกลบตอซังอีกครั้งเพื่อเป็นการกลบหญ้า ในส่วนของการเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวนั้นก็จะมีการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวไปแช่น้ำ ซึ่งในการทำนานี้คุณอดุลย์ได้เลือกใช้ต้นกล้าที่มีอายุอยู่ที่ 25-30 วัน เมื่อถึงเวลาตีเทือกเสร็จแล้ว คุณวิศิษฐ์นักวิชาการเกษตรฯ บอกว่าจะมีการนำกากชาเพื่อใช้กำจัดหอยเชอรี่ซึ่งเป็นศัตรูข้าวโดยตรง

ซึ่งจะมีการนำกากชาไปผสมน้ำแล้วใส่ลงในแปลงนาหลังจากการทำเทือกเสร็จแล้ว  ทั้งนี้ตัวกากชาเองไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ และสิ่งแวดล้อม  อีกทั้งยังไม่มีส่วนผสมของสารเคมีด้วย ซึ่งกากชาจะเป็นอันตรายเพียงแต่หอยเชอรี่เพียงอย่างเดียว  และเมื่อใส่กากชาเสร็จเรียบร้อยแล้วประมาณ 2 วัน ก็จะเริ่มดำนาต่อไป จากนั้นคุณวิศิษฐ์บอกต่อว่าตนมีวิธีการคุมหญ้าโดยใช้การปล่อยน้ำเข้าแปลงนาโดยให้มิดไม่เห็นดิน เพื่อป้องกันหญ้าไม่ให้งอกขึ้นมา ซึ่งวิธีการนี้สามารถคุมหญ้าได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้คุณอดุลย์ยังใช้แหนแดงเพื่อเป็นการคุมหญ้า รวมทั้งเป็นการเพิ่มปุ๋ยไนโตรเจน ซึ่งช่วยให้ต้นข้าวมีลักษณะสีเขียวแข็งแรงอีกด้วย และเมื่อข้าวอายุได้ 30 วัน ก็จะมีการปล่อยเป็ดลงไปกินแมลงศัตรูพืชในแปลงนา รวมทั้งหญ้าอีกด้วย และที่สำคัญมูลของเป็ดนั้นเป็นปุ๋ยที่มีประโยชน์ต่อข้าวมากมาย สามารถทำให้ต้นข้าวมีความสมบูรณ์แข็งแรงเพิ่มขึ้น และสามารถเพิ่มรายได้จากการขายไข่เป็ดได้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันคุณอดุลย์เลี้ยงเป็ดไว้มากกว่า 100 ตัว

7.แปลงนา ข้าวอินทรีย์ สะอาดตา ดูแลง่าย
7.แปลงนา ข้าวอินทรีย์ สะอาดตา ดูแลง่าย

การบำรุงดูแลต้นข้าว

คุณวิศิษฐ์ นักวิชาการเกษตรตำบลแม่คือ เผยเคล็ดลับการบำรุงต้นข้าวว่า ตนได้นำไข่หอยเชอรี่ในจำนวน 30 กิโลกรัม มาผสมกับกากน้ำตาล 10 กิโลกรัม และนำสาร พด.2 ที่ได้จากกรมพัฒนาที่ดิน มาผสมกับน้ำอีก 5 ลิตร นำส่วนผสมทั้งหมดมาหมักรวมกัน  ซึ่งจะใช้เวลาการหมักอยู่ที่ประมาณ 25-30 วัน  ในน้ำหมักไข่หอยเชอรี่นี้ จะมีส่วนช่วยบำรุงต้นข้าว และใบข้าว พร้อมทั้งยังช่วยกระตุ้นในการเพิ่มผลผลิตข้าวอีกด้วย ซึ่งมีความสำคัญต่อต้นข้าวอย่างมาก           

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ในส่วนของน้ำหมักปลานั้น คุณอดุลย์จะมีการนำปลานิลที่ได้ฟรีจากการน็อคน้ำตาย ซึ่งได้มาจากเกษตรกรที่ทำประมงในพื้นที่ถึง 300 กิโลกรัม โดยการทำน้ำหมักปลานี้จะมีการนำมาผสมกับ พด.1 และกากน้ำตาลที่ได้จากเทศบาลตำบลแม่คือ จากนั้นก็นำไปหมักซึ่งจะออกมาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ โดยวิธีใช้ก็จะนำไปเทลงแปลงนาบริเวณทางเข้าน้ำของนา เพื่อให้น้ำหมักชีวภาพนี้ไหลกระจายออกไปรอบๆ พื้นที่ในแปลงนา ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการช่วยบำรุงดิน ตลอดจนเป็นการเพิ่มผลผลิตได้อย่างดีอีกด้วย

8.เมล็ดพันธุ์ข้าวไรซ์เบอรี่
8.เมล็ดพันธุ์ข้าวไรซ์เบอรี่
เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมแดง
เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมแดง
ข้าวที่บรรจุถุงขาย
ข้าวที่บรรจุถุงขาย

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย ข้าวอินทรีย์

ในปัจจุบันคุณอดุลย์ได้มีการจำหน่ายข้าว โดยมีทางลูกชายเป็นคนทำการตลาดให้ ซึ่งจะใช้ชื่อแบรนด์ว่า “ไร่ลุงดุลย์” ซึ่งส่วนมากก็จะมีการบรรจุถุงสุญญากาศ ออกจำหน่ายตามอินเตอร์เน็ต และตามที่ทำงานของลูกชายภายในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน โดยจะตั้งราคาขายดังต่อไปนี้ ข้าวไรซ์เบอรี่ 70 บาท/กก., ข้าวหอมนิล 50 บาท/กก., ข้าวหอมมะลิ 40 บาท/กก. ซึ่งจะเป็นข้าวกล้องอินทรีย์ทั้งหมด

ซึ่งปัจจุบันกระแสการตอบรับของ ข้าวอินทรีย์ ไร่ลุงดุลย์ นั้น เป็นที่ตอบรับอย่างมากจากกลุ่มคนรักสุขภาพในพื้นที่ ทำให้ในแต่ละอาทิตย์นั้นมีออเดอร์ขาย ข้าวอินทรีย์ สูงถึง 80-100 กิโลกรัม ทำให้ในอนาคตคุณอดุลย์คิดว่าจะมีการก่อตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลแม่คือในอนาคตที่ใกล้จะถึงนี้ เพราะให้ความเห็นว่าในการทำ ข้าวอินทรีย์ จะทำให้เกษตรกรนั้นสามารถยืนหยัดอยู่ได้ภายใต้อาชีพการทำนา ทั้งยังมีทางออกเดียวในการสู้กับประเทศเพื่อนบ้านในAEC ได้อย่างสบายๆ

ทั้งนี้คุณอดุลย์อยากฝากถึงกรมการข้าวว่า ทางกรมการข้าวยังไม่มีการรับรองพันธุ์ข้าวไรซ์เบอรี่ และยังไม่มีตลาดรับรองข้าวไรซ์เบอรี่รองรับเท่าที่ควร ก็อยากจะฝากให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยรับรองพันธุ์ข้าวไรซ์เบอรี่นี้ พร้อมทั้งจัดหาตลาดรองรับข้าวไรซ์เบอรี่อย่างชัดเจน และมีการระบุพื้นที่ปลูกข้าวอย่างชัดเจน ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจมากขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาข้าวไรซ์เบอรี่ล้นตลาดในอนาคต

ขอขอบคุณ

คุณอดุลย์ ไชยประเสริฐ 08-1885-7821

โฆษณา
AP Chemical Thailand

คุณวิศิษฐ์ ตุ่มศิริ นักวิชาการเกษตรเทศบาลตำบลแม่คือ 08-1531-7764

อ้างอิง : นิตยสารพลังเกษตร คอลัมน์ ข้าวเศรษฐกิจ