“ หอมละมุน ” ข้าวหอมพันธุ์ใหม่ ดาวรุ่งแห่งวงการ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ปัญหาข้าวล้นตลาด ยังคงเป็นโจทย์ที่ทางรัฐต้องแก้ปัญหา ด้วยสาเหตุหลักอาจเป็นเพราะ เกษตรกรไทยยังคงปลูกพันธุ์ข้าวที่ยังไม่ตอบโจทย์ของตลาดทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงยึดติดกับการปลูกข้าวอายุสั้น เพราะคิดว่าไม่เสียเวลา อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังคงเป็นปัญหาที่คิดไม่ตกสำหรับประเทศไทย

ข้าวเปลือกหอมละมุน
ข้าวเปลือกหอมละมุน

วันนี้จะพาไปทำความรู้จักกับ ข้าวพันธุ์หอมละมุน เป็นข้าวที่ ดร.มานิจ วิบูลพันธ์ ผู้คร่ำหวอดในวงการปศุสัตว์ ด้านการนำสมุนไพรมาใช้เป็นอาหารเพื่อป้องกันโรค แทนการใช้ยาในการรักษา เป็นผู้ทำการผสมพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ข้าวพันธุ์นี้ขึ้น ด้วยความที่ตนเล็งเห็นถึงปัญหาด้านการส่งออกข้าวไทย อีกทั้ง ในปัจจุบันคนไทยมักจะได้บริโภคข้าวที่ไม่มีความอร่อย ข้าวที่ไม่ใช่ข้าวนิ่ม ทำให้เกิดแรงจูงใจในการทำพันธุ์นี้ขึ้นมา

ข้าวพันธุ์นี้ได้รับการผสมพันธุ์จากข้าวทั้งหมด 6 สายพันธุ์ โดยการนำลักษณะเด่นของแต่ละพันธุ์มาผสมไขว้กัน อันได้แก่ ข้าวแดงสุโขทัย ข้าวชัยนาท ข้าวหอมราชินี ข้าวเล็บนก ข้าวหอมปทุมธานีและข้าวหอมมะลิสุรินทร์ 

ข้าวหอมละมุน หุงสุกน่ารับประทาน
ข้าวหอมละมุน หุงสุกน่ารับประทาน

ลักษณะของข้าวหอมละมุน เป็นข้าวที่มีการแตกกอดี รวงใหญ่และยาว ลำต้นตั้งตรง ต้นสูง 160-170 เซนติเมตร เป็นข้าวที่ปลูกได้ทั้งปี อายุเก็บเกี่ยว 120 วัน  สามารถดูดซับปุ๋ยได้ดี และปลูกได้ทุกพื้นที่ ยิ่งเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะแบบเปียกสลับกับแห้ง จะทำให้ได้ผลผลิตมากกว่าการให้น้ำจำนวนมาก ยิ่งดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ผลผลิตยิ่งมากขึ้น ซึ่งผลผลิตจะอยู่ที่ประมาณ 110-120 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้ การที่ต้นข้าวมีความสูง และรวงใหญ่ ก็สามารถทำให้ล้มได้ง่าย เมื่อเจอกับลมแรง ส่วนลักษณะของเมล็ดพันธุ์ ข้าวเปลือกจะมีสีน้ำตาล และมีจะงอยตรงปลายเมล็ดข้าว เพื่อง่ายต่อการแยกลักษณะเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมละมุนออกจากเมล็ดพันธุ์ข้าวชนิดอื่น ส่วนข้าวสาร จะมีสีขาวขุ่น คล้ายกับพันธุ์หอมมะลิ เมื่อหุงสุก จะมีความหอม แต่จะน้อยกว่าหอมมะลิ และมีความนิ่มเทียบเท่ากับหอมมะลิ

นอกจากนี้ข้าวหอมละมุน ยังมีจุดเด่นในเรื่องของ การแตกกอใหม่ ข้าวพันธุ์นี้สามารถให้ผลผลิตได้ 2 รอบหรือมากกว่า ต่อการปลูก 1 ครั้ง นั่นหมายถึง เมื่อปลูกไปแล้ว 1 ครั้ง พร้อมกับการได้ผลผลิตมาแล้ว 1 รอบ ตอซังที่เหลือจากการเกี่ยวข้าวไม่จำเป็นต้องกำจัดออก แต่ให้ผันน้ำเข้าที่นาอีกครั้ง เพื่อให้ข้าวแตกกอขึ้นมาใหม่เป็นรอบที่ 2 รอบ 3 ซึ่งผลผลิตของแต่ละรอบจะใกล้เคียงกันกับรอบแรก

ข้าวหอมละมุน มีสีน้ำตาลอ่อน เนื้อนุ่มคล้ายข้าวหอมมะลิ รสชาติอร่อย
ข้าวหอมละมุน มีสีน้ำตาลอ่อน เนื้อนุ่มคล้ายข้าวหอมมะลิ รสชาติอร่อย

ข้าวพันธุ์นี้จะไม่ถูกกับสารเคมีจำพวกยาฆ่าหญ้า ดร.มานิจ ได้เคยทดสอบข้าวพันธุ์นี้ด้วยการใช้ยาคุมหญ้า ผลปรากฏว่า ต้นข้าวแคระแกรนแต่ไม่ตาย แต่จะไม่แตกกอ เมื่อเทียบกับบริเวณที่ไม่ได้ฉีดยาคุมหญ้า นั่นแสดงให้เห็นว่า ข้าวพันธุ์นี้สามารถดูดซับธาตุอาหารไปใช้ในการเจริญเติบโตได้ดี ทำให้วัชพืชโตไม่ทัน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม

ติดต่อ ดร.มานิจ วิบูลย์พันธุ์  โทร. 08-1195-3908

tags: ข้าวหอม พันธุ์ข้าว หอมละมุน ข้าวพันธุ์หอมละมุน ข้าวเศรษฐกิจ ดร.มานิจ วิบูลพันธ์ ข้าวแดงสุโขทัย ข้าวชัยนาท ข้าวหอมราชินี ข้าวเล็บนก ข้าวหอมปทุม ข้าวหอมมะลิ

[wpdevart_like_box profile_id=”488139084538581″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]