กุยช่ายขาว GAP ปลูกเพียง 10-14วัน ขายส่ง 90-120 บาท/กก. 1 ไร่ ได้ 1 แสน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ความจนบังคับจิตใจ ทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านนาเพียง ต.สำราญ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ปลุกระดมความคิดรวมตัวกันเพื่อผลักดันความจนก้าวสู่ความมั่งมีศรีสุข เสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น จากจุดเริ่มต้นของผู้คนภายในชุมชนที่ร่วมแรงร่วมใจกัน สมัครสมานสามัคคี ในการรวมกลุ่มปลูก กุยช่ายขาว จนนำไปสู่จุดเปลี่ยน ด้านคุณภาพชีวิต และด้านสังคม ยกระดับชุมชน

ตามเสียงแคนดอกคูณไปจังหวัดขอนแก่น มาพบกับกลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวกันผลิตกุยช่ายขาวส่งตลาด ทั้งในและนอกประเทศ พร้อมกับเคล็ดลับของการรวมกลุ่มให้เป็นปึกแผ่น เมื่อลมแล้งแห่งเดือนมีนาคมหอมพัด ผู้เขียนมาพบกับชายร่างใหญ่ ผิวคล้ำ อายุสี่สิบต้นๆ

1.คุณคำตัน-ส่วยนนท์-ประธานกลุ่มปลูกกุยช่ายขาวแห่งบ้านนาเพียง
1.คุณคำตัน-ส่วยนนท์-ประธานกลุ่มปลูกกุยช่ายขาวแห่งบ้านนาเพียง

การปลูกกุยช่ายขาว

คุณคำตัน ส่วยนนท์ ประธานกลุ่มปลูกกุยช่ายขาวแห่งบ้านนาเพียง พร้อมกับสมาชิกภายในกลุ่มที่เฝ้ารอรับ ภายในแปลงกุยช่ายพื้นที่จัดสรรกว่า 97 ไร่ บนแปลงกุยช่ายเขียวสะพรั่ง สุดตา

อำนาจของการรวมกลุ่มปลูกกุยช่ายขาวบ้านนาเพียง ทั้งอำนาจในการต่อรองด้านราคา อำนาจทางตลาด เพราะฉะนั้นการรวมกลุ่มเป็นทางออกที่ดีของการทำเกษตรในยุคสมัยนี้ ดังที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากกลุ่มผลิตกุยช่ายขาวที่รวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

พี่คำตันเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวเล่าให้ฟังว่า หมู่บ้านนาเพียงเป็นหมู่บ้านเล็กๆ อาชีพหลักส่วนมากชาวบ้านจะปลูกข้าว ทำนา แต่ต่อมาชาวบ้านส่วนหนึ่งหันมารวมกลุ่มปลูกผักกุยช่ายขาว และเริ่มทำเงินเรื่อยๆ จึงทำตามกันมา เห็นคนหนึ่งทำแล้วได้เงินก็ทำตาม เริ่มต้นจากนายบุญชูคนแรกในหมู่บ้านที่เป็นคนเริ่มปลูกผักกุยช่ายก่อนใครแล้วประสบผลสำเร็จ

2.สมาชิกภายในกลุ่มปลูกกุยช่ายขาวบ้านนาเพียง
2.สมาชิกภายในกลุ่มปลูกกุยช่ายขาวบ้านนาเพียง
ใบรับรอง-GAP-ที่ทางกลุ่มได้รับมาจากกรมวิชาการเกษตร
ใบรับรอง-GAP-ที่ทางกลุ่มได้รับมาจากกรมวิชาการเกษตร

การจัดตั้งกลุ่มปลูกกุยช่ายขาว

ต่อมาจึงมีการรวมกลุ่มกัน จนในปัจจุบันนี้มีสมาชิกกว่า 78 คน และภายในกลุ่มยังได้รับการรับรองจากทางกรมวิชาการเกษตร ใบรับรองการผลิตพืช GAP นับเป็นการกระตุ้นให้คนภายในกลุ่มกระตือรือร้นผลิตผักกุยช่าย เนื่องจากทำแล้วสร้างอาชีพและเงินตราจุนเจือเพื่อเหลือแก่คนภายในครอบครัวได้อีกด้วย

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ทำไมต้องเป็นกุยช่ายขาว เชื่อว่าหลายคนต้องสงสัย แล้วทำอย่างไร ขายที่ไหน ผู้เขียนสงสัยจึงซักถามพี่คำตัน จึงได้คำตอบมาว่าแต่เดิมปลูกกุยช่ายเขียวกันก่อน ราคาตอนนั้นถูกมาก ราคาอยู่ที่ 10 บาท ปลูกกันตามหัวไร่ปลายนา แต่ต่อมามีครู ก.ศ.น.คนหนึ่งได้มาเยือนหมู่บ้านนาเพียง

แล้วแนะนำคนภายในหมู่บ้านทดลองทำกุยช่ายขาวดู ซึ่งก็เห็นผลขึ้นมาชัดเจนเลย เมื่อมีตลาดต้องการ ทั้งห้าง ภัตตาคารอาหารต่างๆ เริ่มให้ความสนใจ จึงริเริ่มกันทำกุยช่ายขาวกันขึ้นมานับแต่นั้นมา งบประมาณที่ได้มาของกลุ่มทางกลุ่มมีการจัดสรรปันส่วนใช้ประโยชน์

โดยมีระบบน้ำที่อุดมสมบูรณ์มาจากเขื่อนอุบลรัตน์ คราวนี้ล่ะชื่อเสียงของกลุ่มจึงแพร่สะพัดออกไปสู่ผู้บริโภค และหู ตา ของแม่ค้าปากตลาดทั้งหลาย ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ความต้องการเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ทำให้คนภายในกลุ่มมีรายได้ไม่เว้นแต่ละสัปดาห์กันเลย   

3.แปลงกุยช่ายในพื้นที่จัดสรรประมาณ-97-ไร่-ของกลุ่ม
3.แปลงกุยช่ายในพื้นที่จัดสรรประมาณ-97-ไร่-ของกลุ่ม

สภาพพื้นที่ปลูกกุยช่ายขาว

เมื่อลงไปในพื้นที่กว่า 97 ไร่ พื้นที่จัดสรรจะเห็นว่าภายในแปลงบางส่วนจะมีกระถางดินคลุมอยู่ภายในแปลงนับร้อยใบ ช่วยให้เข้าใจเลยว่าการผลิตกุยช่ายขาวมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก เกษตรกรทั่วไปสามารถทดลองทำ หรือต้องการทำเป็นอาชีพก็ได้ เพียงแต่รู้เทคนิคกลเม็ดเคล็ดลับบางขั้นตอนก็เพียงพอต่อการนำไปทำเป็นอาชีพสร้างเงินได้ดีทีเดียว

กุยช่ายขาวสร้างมูลค่า 3 เท่าตัว พี่คำตันเล่าให้ฟังถึงการผลิตกุยช่ายที่จะมีผลตอบแทน พูดง่ายๆ คือ ถ้า 1 ไร่ ก็ 1 แสน แล้วขึ้นอยู่กับพื้นที่การผลิตด้วยว่ามากหรือน้อย หรือถ้าคิดรอบได้ต่อเดือน 30,000 บาท/เดือน กุยช่ายขาวราคาปัจจุบันตอนนี้กิโลกรัมละ 100 บาท  ส่วนราคาส่งทางกลุ่มส่งในราคา 90 บาท ซึ่งที่ผ่านมาทางกลุ่มเคยขายในราคาสูงสุดอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 บาท ต่ำสุดก็เพียงกิโลกรัมละ 90 บาท เท่านั้น ก็ถือว่าราคาก็อยู่ได้สำหรับการปลูกกุยช่ายขาว

ส่วนตลาดหลักทางกลุ่มจะส่งตลาดประจำเมืองจังหวัดขอนแก่น คือ ตลาดศรีเมือง และตลาดบางลำภู ซึ่งแต่ก่อนเคยมีกลุ่มปลูกผักกุยช่ายขาวส่งต่างประเทศ “สวิตเซอร์แลนด์” แต่เนื่องด้วยผู้นำกลุ่มไม่ได้ทำการส่งต่อ การส่งต่างประเทศจึงหยุดชะงักไป รูปแบบการทำงานภายในกลุ่ม คือ จะร่วมมือกัน ร่วมด้วยช่วยกันทำ เมื่อมีผลผลิตก็นำมารวมกันส่งขายในเชิงกลุ่ม

โฆษณา
AP Chemical Thailand

จากการสนทนาประสาชาวบ้านแบบบ้านๆ แต่ได้สาระหลากหลาย ทั้งวิถีชีวิตอันลุ่มลึก เรียบง่าย พูดกันเป็น เข้าใจง่าย พี่คำตันที่มีแนวคิดเหนียวแน่นขับไล่ความจนนำคุณภาพชีวิตดีๆ มาสู่ครอบครัว และคนภายในกลุ่ม ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เสริม

ซึ่งมักมีคำพูดติดตลกจากพี่คำตันเสมอว่าทุกวันนี้จะปลูกกุยช่ายขาวเป็นอาชีพหลักแทนการทำนาไปแล้ว เพราะรายได้ดี มีเงินสร้างบ้าน ซื้อรถ ส่งลูกเรียน ชาวบ้านในกลุ่มก็อัธยาศัยดี ให้ความร่วมมือ ช่วยกันผลิต ช่วยกันทำ ชาวบ้านแถวอีสานจะเรียกกุยช่ายว่า (ผักแป้น) ซึ่งจัดเป็นพืชล้มลุกตระกูลเดียวกับหอม กระเทียม ซึ่งตัดครั้งหนึ่งก็สามารถเก็บได้หลายครั้ง นานถึงประมาณ 3 ปีขึ้นไป ตัดแล้วก็แตกกอใหม่

4.หลังจากครอบไว้-10-14-วัน-กุยช่ายจะเปลี่ยนจากเขียวเป็นขาว
4.หลังจากครอบไว้-10-14-วัน-กุยช่ายจะเปลี่ยนจากเขียวเป็นขาว
ทำการเปิดกระถางดินเผาออกหลังจากครบวัน-10-14-วัน
ทำการเปิดกระถางดินเผาออกหลังจากครบวัน-10-14-วัน

ขั้นตอนการปลูกกุยช่ายขาว

กลุ่มผลิตกุยช่ายขาวของบ้านนาเพียงจะเน้นหลักพึ่งพาธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีถ้าไม่จำเป็น กว่า 20 ปีล่วงผ่านมา สำหรับระยะเวลาในการผลิตกุยช่ายขาวส่งตลาดสร้างรายได้กันมา ทำให้เกิดมุมมองประสบการณ์อันเพิ่มพูน เรียกว่ามืออาชีพกันเลยทีเดียว ภายใต้กระท่อมที่ล้อมรอบไปด้วยแปลงกุยช่าย กว้างสุดลูกตา พี่คำตันเล่าถึงขั้นตอนการผลิตกุยช่ายขาว

เริ่มต้นจากการเตรียมดิน ยกแปลงกว้าง ยาว ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ปลูกโดยแยกกอ ถ้าดีหากไถยกแปลงแล้วก็ควรมีการตากดินเอาไว้สัก 1 อาทิตย์ เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคในดิน พี่คำตันเน้นย้ำว่ากุยช่ายขาวควรปลูกในพื้นที่น้ำไม่ท่วม เพราะถ้าหากน้ำท่วมจะทำให้กุยช่ายเน่าเสียหาย ผลผลิตต่ำ การปลูกกุยช่ายมี 2 แบบ ด้วยการหว่านเมล็ดและแยกกอ แต่ทางกลุ่มจะทำโดยการแยกกอปลูก สำหรับการปลูกจะปลูกเป็นสี่แถว เมื่อปลูกเสร็จแล้วจากที่ผู้เขียนสังเกตเห็นก็คือ จะนิยมนำฟางข้าวมาคลุมแปลงเป็นการรักษาความชื้น

ขั้นตอนในการทำกุยช่ายขาวเริ่มต้นจากการคัดต้นที่สมบูรณ์ แตกกอดี แล้วใช้มีดคมตัดกอกุยช่าย (ผักกุยช่ายเขียว) ที่ระดับสูงเหนือผืนดินเล็กน้อย ตัดให้ขาดครั้งเดียว

พี่คำตันพาเดินเข้ามาภายในแปลงพร้อมกับสมาชิกภายในกลุ่มเพื่อสาธิตการทำกุยช่ายขาว ขั้นตอนและเทคนิคที่สำคัญก็คือ “กระถางดินเผา” ซึ่งทางกลุ่มสั่งมาจากบ้านถั่ว จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านที่ทำเครื่องปั้นเดินเผากันมาก นำมาครอบกอกุยช่าย ครอบไว้ 10-14 วัน จึงทำการตัดออกจำหน่ายได้

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ทำไมต้องทำกุยช่ายขาว ในกลุ่มตอบเป็นเสียงเดียวกันว่ารสชาติกรอบ และหวาน มากกว่ากุยช่ายเขียว โรงแรม ภัตตาคาร นิยมนำไปประกอบอาหาร ซึ่งประโยชน์ของกุยช่ายขาวประกอบไปด้วยธาตุอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีกากใยอาหาร เหตุที่กุยช่ายเปลี่ยนสีก็เนื่องจากกุยช่ายไม่โดนแสงแดด จึงทำให้กุยช่ายเปลี่ยนเป็นสีขาว จำหน่าย กก.ละ 120 บาท ช่วงฤดูหนาวจะมีผลผลิตเยอะที่สุด

สำหรับบ้านนาเพียงหากเฉลี่ยแล้วปลูกกุยช่ายขาวครอบครัวละ 1-3 งาน รวมพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ ถ้าหากราคากุยช่ายเขียว กก.ละ 10-15 บาท เท่านั้น แต่ถ้าเป็นกุยช่ายขาว กก.ละ 80-120 บาท มีรายได้เหลือเดือนละประมาณ 10,000-30,000 บาท/ครัวเรือน

สำหรับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ขอนแก่นจะมีอากาศร้อนในฤดูร้อน และช่วงแสงสั้นอุณหภูมิต่ำ กุยช่ายจะฟักตัว หยุดชะงักการเจริญเติบโต ดินที่เหมาะสมในการผลิตกุยช่ายขาวให้ได้คุณภาพดีนั้นต้องเป็นดินร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี

5.สมาชิกช่วยกันคัดใบเหลืองที่ไม่ต้องการออก
5.สมาชิกช่วยกันคัดใบเหลืองที่ไม่ต้องการออก
ล้างเสร็จแล้วต้องผึ่งลมให้แห่ง
กุยช่ายขาว ล้างเสร็จแล้วต้องผึ่งลมให้แห่ง
มัดเป็นกำรอแพ็คใส่ถุงรอจำหน่าย
มัดเป็นกำรอแพ็คใส่ถุงรอจำหน่าย
แพ็คใส่ถุงรีดอากาศออกให้หมด
กุยช่ายขาว แพ็คใส่ถุงรีดอากาศออกให้หมด

การเก็บเกี่ยวกุยช่ายขาว

การผลิตกุยช่ายขาวระยะที่เหมาะสมให้ได้ผลผลิตสูงจะปลูกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เริ่มเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนตุลาคม-มีนาคม หลังจากที่มีการครอบกระถางเรียบร้อยแล้ว ก็มีการรดน้ำ ใช้ปุ๋ยตามปกติ เพียง 10-14 วัน เท่านั้น ก็สามารถเก็บได้ ถือว่าเร็วมากในการได้เงิน ซึ่งทางกลุ่มมีออเดอร์ทุกสัปดาห์ บางทีเช้าอีก 40 กก. เย็น 60 กก. ก็ถือว่าสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่ครอบครัว

เมื่อชุมชนรวมกันเข้มแข็ง ลดปัญหาการว่างงาน การหนีเข้าไปทำงานในกรุงเทพของคนยุคใหม่ เพียงแต่เรามีความขยันก็มีรายได้แทบทุกวัน และการผลิตกุยช่ายขาวนั้นก็ไม่มีอะไรที่สลับซับซ้อนอะไรเลย พี่คำตันถ่ายทอดให้ฟัง หลังจากที่ผู้เขียนมีโอกาสเปิดบทสนทนาเรื่องของคุณภาพชีวิตก่อนและหลัง ซึ่งเห็นได้ชัดเลยว่าภายหลังที่มีการรวมกลุ่มผลิตกุยช่ายขาวทำให้คุณภาพชีวิตการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

จากแปลงกุยช่ายพี่คำตันพาผู้เขียนแวะมาเยี่ยมเยือนสมาชิกอีกกลุ่ม ที่กำลังคัดเลือก กุยช่ายขาว เพื่อเตรียมส่งกันสดๆ ร้อนๆ ความมีน้ำใจของคนภายในกลุ่มนับเป็นสิ่งมีค่ามากกว่าสิ่งใด หากขาดความรัก ความสามัคคีไป การอยู่เป็นกลุ่มคงยาก เพราะคนในกลุ่มมีความสมัครสมานสามัคคีกัน การรวมกลุ่มจึงเหนียวแน่นจนถึงทุกวันนี้เอง เมื่อมีการตัดกุยช่ายขาวแล้วก็นำมาคัดล้างทำความสะอาดขจัดสิ่งสกปรก และเด็ดใบที่เหี่ยวเหลืองออกให้หมด ต่อจากนั้นก็นำไปผึ่งลมเพื่อไล่น้ำที่ล้างออก แล้วจึงนำมามัดเป็นกำแล้วแพ็คใส่ถุง ไล่อากาศออก เตรียมส่งตลาด           

โฆษณา
AP Chemical Thailand
6.กุยช่ายขาว ราคาส่ง กก. 90 บาท ขายปลีก กก 100 บาท
6.กุยช่ายขาว ราคาส่ง กก. 90 บาท ขายปลีก กก 100 บาท

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย กุยช่ายขาว

ต้นทุนในการผลิตต่อไร่ ในช่วงเริ่มต้นจะอยู่ประมาณ 10,000-30,000 บาท แต่พอหลังจากนั้นก็จะคืนกำไร เพราะ 10-14 วัน ก็สามารถตัด กุยช่ายขาว ตัดจำหน่ายได้ ถ้าหากคิดเป็นสัปดาห์ก็ตกสัปดาห์ละ 6,000 บาท รวมทั้งเดือนก็ตกประมาณ 30,000 บาท กันเลยทีเดียว แต่ถ้าหากมีพื้นที่ปลูกมากเป็นไร่ 1 ไร่ ก็ 1 แสน ก็ขึ้นอยู่กับการจัดการดูแลด้วย

กุยช่ายขาว มีความต้องการมาก นิยมนำไปประกอบอาหารและมีประโยชน์คุณค่าทางอาหารมาก ทางกลุ่มส่งขายที่ตลาดในเมือง จังหวัดขอนแก่น ตลาดศรีเมือง และตลาดบางลำภู ที่ส่งประจำ ออเดอร์ที่สั่งแล้วแต่ความต้องการของตลาด ราคาที่ทางกลุ่มส่งขายปลีก กก. 100 บาท ขายส่ง กก. 90 บาท สูงสุดที่เคยขายมา กก. 120 บาท ต่ำสุด กก. 90 บาท

พี่คำตันมีข้อเสนอเพิ่มเติมถึงเรื่องกระถางดินเผาที่ใช้ครอบกระถางละ 80 บาท แปลงหนึ่งจะใช้ครอบอยู่ประมาณ 120-200 กอ/กระถาง ต้นทุนส่วนใหญ่จะอยู่ที่กระถางดินเผา แต่ลงทุนเพียงครั้งเดียว พอครอบกระถางนี้เมื่อได้เวลาตัดก็ทำการย้ายกระถางไปครอบแปลงใหม่ต่อไป แต่ภายในกลุ่มจะนำผลผลิตมารวมกันเพื่อให้เพียงพอตามออเดอร์ตลาด

กุยช่ายขาว จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการประกอบอาชีพสร้างรายได้อีกทาง และขั้นตอนการผลิตก็ไม่ยุ่งยากนัก ซึ่ง กุยช่ายขาว มักมีมูลค่าดีกว่ากุยช่ายเขียว

ขอขอบคุณข้อมูลอันน่าสนใจนี้ และหากใครสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณคำตัน ส่วยนนท์ 45 ต.สำราญ อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40000 โทร.08-6671-7017, 08-0357-1286 หรือฝ่ายการตลาดกลุ่มคุณบุญถม บุญศรี 08-5744-9019