ปลูกมันอินทรีย์ ระบบน้ำหยด ยกร่องปลูกให้ใหญ่แบบแปลงผัก ผลผลิต 30 ตัน/ไร่/ปี

โฆษณา
AP Chemical Thailand

สภาพพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง

จังหวัดสระแก้วมีพื้นที่การทำเกษตรราว 2.5 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 52 ของพื้นที่ทั้งจังหวัดสระแก้ว ประชากรร้อยละ 80 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์ม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไม้ยูคาฯ และผลไม้ โดยเฉพาะมันสำปะหลังมีผลผลิตมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังประมาณ 4 แสนไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 3.4 ตัน/ไร่/ปี

อีกทั้งจังหวัดสระแก้วยังมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดี โดยมุ่งเพิ่มศักยภาพการผลิตพืชพลังงานทดแทนอย่างมันสำปะหลังให้มีผลผลิตที่เพิ่มขึ้น เป็นพืชพลังงานบนดินที่มีศักยภาพ และเหมาะสมกับการเพาะปลูกในพื้นที่จังหวัดสระแก้วเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งผลผลิตยังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

1.ไร่มันสำปะหลัง
1.ไร่มันสำปะหลัง
2.คุณธนาวุฒิกับไร่มันสำปะหลังด้วยระบบน้ำหยด
2.คุณธนาวุฒิกับไร่มันสำปะหลังด้วย ระบบน้ำหยด

การปลูกมันสำปะหลัง ด้วยระบบน้ำหยด

ดังนั้นจังหวัดสระแก้วจึงได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังในมิติใหม่ ที่ให้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ตัน/ไร่/ปี ภายใต้หลักการ ดินดี น้ำดี พันธุ์ดี การจัดการดี และนำมาซึ่งผลผลิตที่ดี ซึ่งเป็นที่มาในการจัดทำแปลงต้นแบบด้านการปลูกมันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ตัน/ไร่/ปี มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 10,000 บาท/ไร่/ปี ในนาม “ไร่นี้ทำเพื่อแม่

โดยมี คุณธนาวุฒิ ยุวรัตน์ เกษตรกรดีเด่นสาขาทำไร่ของจังหวัดสระแก้วเป็นเจ้าของสวน เป็นเกษตรกรต้นแบบที่คิดใหม่ ทำใหม่ เปิดให้ใหญ่ เปิดใจให้กว้าง ปลูกมันร่องใหญ่ หัวมันก็จะหัวดก หัวใหญ่ หัวยาว ปลูกห่าง ปลูกด้วย ระบบน้ำหยด ให้ผลผลิต 30 ตัน/ไร่/ปี

คุณธนาวุฒิเล่าว่าเดิมทีครอบครัวทำการเกษตร ในขณะที่ตนเองไม่อยากทำการเกษตร แต่อยากทำธุรกิจและค้าขายมากกว่า จึงได้พยายามศึกษาเล่าเรียนจนกระทั่งมีงานทำและมีโอกาสได้เดินทางไปทำงานและค้าขายในหลายประเทศทั่วมุมโลกที่ได้เปิดโลกทัศน์ให้ได้เห็น

ได้เรียนรู้การทำเกษตรกรในแต่ละประเทศได้เป็นอย่างดี ว่าทำไมประเทศอิสราเอลจึงต้องปลูกพืชส่งอเมริกาทุกอาทิตย์ ทำไมประเทศซาอุฯ ปลูกข้าวกินเอง ทั้งที่ประเทศเขาเป็นทะเลทราย แต่เขาต้องใช้พลาสติกปูพื้นแล้วต้องซื้อดินจากต่างประเทศใส่เครื่องบินมาเพื่อนำดินมาปลูกข้าวกินเอง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

และทำไมเกษตรกรชาวเขาที่อาศัยอยู่บนภูเขาสูงปลูกชา แต่ไม่มีน้ำจะรดต้นชา ยังต้องเดินขึ้นไปบนเขาไกลกว่า 20 กิโล เพื่อที่จะนำน้ำมารดต้นชาให้ได้ นี่จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมานะ พยายาม ความขยัน การเอาใจใส่ ที่สะท้อนให้เห็นถึงการพึ่งพาตนเองของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ และเป็นแรงบันดาลใจให้คิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนที่มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ทุกอย่างอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการใช้พื้นที่และทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เกษตรกรส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาผู้อื่นมากกว่าการพึ่งพาตนเอง ตามคำสอนของ “พ่อหลวง” ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ ทำเกษตรแบบอินทรีย์  เอาใจใส่ดูแลอย่างขยันหมั่นเพียร พยายามลดต้นทุนให้มากที่สุด พึ่งพาตนเองให้มากที่สุด “ที่สำคัญที่สุด คือ ใจ ต้องกล้าเปิดใจ กล้าเปลี่ยนแปลง เปิดใจให้กว้าง และต้องทำใจให้ใหญ่” เพราะการทำอะไรก็แล้วแต่ต้องเริ่มที่ใจก่อนเสมอ

เช่นเดียวกับคุณธนาวุฒิที่เปิดใจยอมรับ พร้อมที่จะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้พบเจอมาปรับใช้กับการทำเกษตรในพื้นที่ของพ่อและแม่ เนื้อที่กว่า 80 ไร่ ที่รู้จักกันดีในนาม “ไร่นี้ทำเพื่อแม่” ที่ตั้งอยู่ 18 หมู่ 6 บ.ธารนพเก้า ต.หนองหว้า อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว ที่กล้าเปลี่ยนแปลงทำในสิ่งที่ดีกว่า เริ่มตั้งแต่การแสวงหาองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตร

โดยเฉพาะการ “ปลูกมันสำปะหลัง” ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศไทยที่สามารถผลิตมันสำปะหลังได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ ผลผลิตที่หลายประเทศที่ขึ้นชื่อด้านการผลิตสินค้าเกษตรทำไม่ได้ เป็นการดึงจุดเด่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

3.ดินดีมันสำปะหลังมีรากฝอย
3.ดินดีมันสำปะหลังมีรากฝอย
ปลูกระบบร่องคู่-ร่องใหญ่-ปลูกระบบร่องคู่ ร่องใหญ่ แบบแปลงผักด้วย ระบบน้ำหยด
ปลูกระบบร่องคู่-ร่องใหญ่-ปลูกระบบร่องคู่ ร่องใหญ่ แบบแปลงผักด้วย ระบบน้ำหยด

ขั้นตอนการปลูกมันสำปะหลัง ระบบน้ำหยด

หัวใจการทำเกษตร ก็คือ “ดิน” ตามที่พ่อหลวงบอก ดินดีปลูกอะไรก็ดี ปลูกอะไรก็งาม โดยเฉพาะการปลูกมันสำปะหลังด้วย ระบบน้ำหยด โดยไม่ต้องรอเทวดา และการทำเกษตรต้องขยัน ต้องเอาใจใส่ ดินไม่ดีก็ต้องปรับปรุงดินให้ดีขึ้น

เพราะ “การทำเกษตรเราไม่ดูแลดิน เราไม่ทำตาม พ่อหลวงบอกว่าอินทรีย์ดี แต่ถ้าอินทรีย์มันช้าก็เอาเคมีมาใส่ ถ้าไม่มีก็ทำเอง ถ้าดินไม่ดีใช้ปุ๋ยเทวดาก็ไม่ดี ใช้พันธุ์อะไรก็ไม่ดี ถ้าดินดี ใช้ปุ๋ยอะไรก็ดี การปลูกพืชทุกชนิดทำให้ดินเสื่อม แต่เสื่อมมาก เสื่อมน้อย แต่เรามีแต่เอาอย่างเดียว ไม่เคยให้แผ่นดินกลับไป ไม่เคยแทนคุณแผ่นดิน ปุ๋ยนี้ผมทำเอง ทำปุ๋ยหมักตามที่ในหลวงบอก เพราะเราต้องช่วยเหลือตนเองให้มากที่สุด ลดต้นทุน เราต้องประหยัด ทำแบบผสมผสาน” คุณธนาวุฒิให้เหตุผลในการทำเกษตรเชิงอินทรีย์ที่มั่นคงและยั่งยืนกว่า

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เริ่มตั้งแต่การปรับปรุงดินให้ดีก่อน ปรับค่าความเป็นกรด เป็นด่าง ที่เหมาะสม การใช้พื้นที่ทำเกษตรมานานแล้วจะต้องไถระเบิดดินดานก่อนเพื่อให้มีความร่วนซุย “พลิกแผ่นดิน พลิกเงิน พลิกทอง” ขึ้นมาก่อน เพราะธาตุอาหารที่ใส่ลงไปจะสะสมอยู่ตรงนี้ ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์

หลังจากนั้นไถผาน 3 และตามด้วยการไถผาน 7 ก่อนจะทำการยกร่องให้มีขนาดใหญ่ 2.20 เมตร เหมือนแปลงผัก ระยะห่างระหว่างต้น 1 เมตร ผลิตพันธุ์มันสำปะหลังใช้เอง (พันธุ์นพเก้า) มีการคัดท่อนพันธุ์ และมีความยาว 20 ซม. ปลูก 2 ท่อน ในระบบร่องคู่ วางตามระยะร่องปลูก หรือประมาณ 1,500 กอ/ไร่

ก่อนจะใช้พลาสติกคลุมระหว่างร่องป้องกันหญ้าวัชพืช และรักษาความชื้นในดิน มีการให้น้ำด้วย ระบบน้ำหยด มีการให้ปุ๋ยกับมันสำปะหลังผ่าน ระบบน้ำหยด ทั้งหมด ทำให้ประหยัดต้นทุนและแรงงานในการใส่ปุ๋ย อีกทั้งมันสำปะหลังจะได้รับธาตุอาหารอย่างทั่วถึงทุกต้น

4.ร่องมันใหญ่-รากหากินได้มากขึ้น
4.ร่องมันใหญ่-รากหากินได้มากขึ้น
ขุดมันอายุ-5-เดือน-หัวใหญ่และยาว
ขุดมันอายุ-5-เดือน-หัวใหญ่และยาว

การบำรุงดูแลต้นมันสำปะหลัง

การทำน้ำหมักชีวภาพจากใบยาสูบ การใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียและแตนเบียนเพื่อป้องกันแมลงและกำจัดศัตรูพืช อย่าง เพลี้ยแป้งสีชมพู ลดการใช้สารเคมี รักษาสิ่งแวดล้อม ส่งผลดีต่อสุขภาพ มีการทำถนนภายในไร่มันสำปะหลังอย่างเป็นสัดส่วน เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ

ตลอดจนมีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เข้ามาช่วยเก็บเกี่ยวผลผลิต ที่มี อายุครบ 1 ปี เพื่อคุณภาพผลผลิตที่ดีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ประหยัดเวลาและค่าแรงในการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ดี ผลผลิตที่ได้ในแต่ละต้นไม่ต่ำกว่า 5 กก./ต้น การปลูกในระบบร่องคู่ 1 กอ จะมี 2 ต้น นั่นหมายความว่าจะได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 10 กก./กอ ปลูกในระบบห่างเพียง 1,500 ต้น จะให้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 15 ตัน/ไร่/ปี

5.ผลผลิตมันสำปะหลัง
5.ผลผลิตมันสำปะหลัง
ผลผลิตที่ได้เข้าสู่การผลิตมันเส้นสะอาด
ผลผลิตที่ได้เข้าสู่การผลิตมันเส้นสะอาด

การบริหารจัดการไร่มันสำปะหลัง

“ดึงจุดเด่นบ้านเรามาใช้ให้เกิดประโยชน์ อย่าปลูกพืชตามกระแส เอาความเหมาะสมของพื้นที่เป็นหลัก ปลูกผสมผสาน ผมปลูกทั้งข้าว เผือก อ้อย สับปะรด ปลูกบ้าน สร้างแหล่งน้ำ เจาะบ่อบาดาล เราบริหารจัดการเอง  ผมต้องจ่ายองค์ความรู้ จ่ายค่าวิชาเพื่อเรียนรู้ ประสบการณ์สอนเราเอง ผมชอบทดลอง แต่เกษตรกรบ้านเราเขาได้มาฟรีเพราะมีคนป้อนให้ตลอด โดยที่เกษตรกรไม่คิดอะไรเลย รออย่างเดียว

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ผมปลูกห่างแค่ 1,500-2,000 กอ/ไร่ แต่เกษตรกรปลูกถี่ 3,000-4,000 กอ/ไร่ จะได้หัวเยอะ ผมไม่เถียง หัวเยอะแต่ไม่ใหญ่ ไม่มีน้ำหนัก เพราะมันแย่งอาหารกัน แต่เขาหาว่าผมบ้า ปลูกห่าง เสียบเอียง ปลูกร่องคู่ ร่องใหญ่ แต่ร่องใหญ่รากมันหากินได้มากกว่า เพราะรากมันฉลาดมาก

เราปลูกร่องคู่เพราะมันสำคัญที่สุด คือ การสังเคราะห์แสง ตรงกลางร่องให้น้ำหยด รากมันก็จะมาหากินตรงนี้ ให้ปุ๋ย หว่านปุ๋ยตรงกลางมันกินได้หมด อาหารอยู่ตรงไหนรากมันจะวิ่งมากินอาหารเอง รากฝอยเล็กๆ คือ ทหารเอกของมัน การใช้ยาฆ่าหญ้ามันจะไม่มีรากฝอย หัวก็ไม่ใหญ่ ตามหลักใช้แค่เผาไหม้ก็พอ แต่ผมปลูกด้วยระบบอินทรีย์ ทำให้มันผมทั้งหัวใหญ่ หัวดก หัวยาว น้ำหนักดี เปอร์เซ็นต์แป้งสูง

ถ้ามี ระบบน้ำหยด ยังไงก็สำเร็จ ถ้ารอเทวดาไม่มีทางสำเร็จ ผมทำปลูกเอง ทำปุ๋ยหมักใช้เอง มีเงินไม่เยอะ แต่ต้นทุนเราต่ำ เราใช้ทุนน้อย ผมได้ต้นละ 5 กก./ต้น 1 กอ ก็เท่ากับ 2 ต้น ก็ 10 กก./กอ 1,500 กอ/ไร่ ก็ 15 ตัน/ไร่/ปี ถ้าผมทำได้ 20 กก./กอ 1,500 กอ/ไร่ ผมก็ได้ 30 ตัน/ไร่/ปี  บางกอผมได้ 30-40 กก. ก็มี แต่เราขอแค่ 10 กก./กอ ขอแค่ 10 ตัน/ไร่ ก็พอ

เกษตรกรทุกคนทำได้ ทุกอย่างอยู่ที่ใจ เปิดใจให้กว้าง ทำใจให้ใหญ่” คุณธนาวุฒิเผยถึงการผลิตมันสำปะหลังให้ได้ 30 ตัน/ไร่/ปี ด้วย ระบบน้ำหยด ที่อาจจะมีต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างถึง 10,000 กว่าบาท/ไร่ ในปีแรก แต่ผลผลิตมีรายได้ขั้นต่ำ 30,000 บาท/ไร่ /ปี หักค่าใช้จ่ายแล้วจะเหลือขั้นต่ำ 20,000 บาท/ไร่/ปี

หลังจากนั้นต้นทุนการผลิตจะค่อยๆ ลดลงในปีถัดมา เหลือเพียง 5,000 บาท/ไร่ แต่ยังมีรายได้เท่าเดิม และมีกำไรมากกว่า 25,000 บาท/ไร่/ปี และทำให้มีรายได้พอมี พอกิน พอใช้ และเหลือเก็บ ซึ่งผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่จะถูกพัฒนาให้เป็นมันเส้นสะอาด ตากให้แห้งด้วยระบบธรรมชาติ ที่อนาคตอาจจะมีการพัฒนาเป็นตู้อบมันเส้นสะอาดเพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพมากขึ้น

6.คุณธีระศักดิ์-สิทธิชัย-เกษตรอำเภอเขาฉกรรจ์
6.คุณธีระศักดิ์-สิทธิชัย-เกษตรอำเภอเขาฉกรรจ์

แนวโน้มในอนาคต

 ล่าสุด “ไร่นี้ทำเพื่อแม่” ได้รับเกียรติใน “วันสาธิตพืชพลังงานบนดิน ถิ่นสระแก้ว” ที่มีโอกาสได้ต้อนรับท่านทูตของไนจีเรีย เพื่อการศึกษาดูงาน ซึ่งไนจีเรียเป็นประเทศที่มีการปลูกมันสำปะหลังมากที่สุดในโลก ในขณะที่ประเทศไทยมีการแปรรูปมันสำปะหลังมากที่สุดในโลก ที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศ ทั้งในด้านการลงทุน และการพัฒนาพืชพลังงาน ในอนาคต อีกทั้งยังได้รับคัดเลือกจาก คสช.ให้เป็นไร่มันสำปะหลังต้นแบบ 1 ใน 800 ไร่ ทั่วประเทศอีกด้วย

โฆษณา
AP Chemical Thailand

คุณธนาวุฒิจึงเป็นเกษตรกรต้นแบบที่มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพด้านการปลูกมันสำปะหลังให้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพผลผลิต สมดั่งความตั้งใจที่ต้องการกลับมาดูแลพ่อ-แม่ อยากมีโอกาสดูแลพ่อ-แม่ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ ให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น ตามชื่อ “ไร่นี้ทำเพื่อแม่” นับจากนี้อยากใช้เวลาพักผ่อน และขอเป็นผู้ให้ ทั้งดูแลพ่อ-แม่ ให้เกษตรกร ให้สังคม ประเทศชาติ และให้มันสำปะหลังเป็นพืชพลังงานบนดิน ให้เกษตรกรอยู่ดี มีสุข ต่อไป

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ทุกส่วนราชการจังหวัดสระแก้ว หรือคุณธนาวุฒิ ยุวรัตน์ โทร.081-744-6941 และคุณธีระศักดิ์ สิทธิชัย เกษตรกรอำเภอเขาฉกรรจ์ โทร.089-831-1736