พาไปดูกันเหมือง โพแทสเซียม ที่ใหญ่ที่สุดในลาว!

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เปิดเหมืองโปแตสใหญ่ที่สุดของลาว สุดยอดเทคโนโลยีเยอรมัน

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ทาง นิตยสาร พืชพลังงาน และ ข้าวเศรษฐกิจ ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมเหมืองโปแตซ ที่ใหญ่ที่สุดของลาว ณ เมือง เวียงจันทร์ และได้มีโอกาสพบ Mr. Zhou ZhiHui General Manager กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ บริษัท Shinohydro Mining (Lao) Co.,Ltd ชิโนไฮโดร ลาว และมอบหมายหน้าที่การสัมภาษณ์ให้ คุณ หม่า  Mr.Ma Anyi  รองผู้จัดการบริษัท โดยมี คุณ สถาพร สุรพัฒน์ ผู้ดูแลด้านการตลาดฝั่งไทย เป็นผู้ช่วยดำเนินการให้ การเปิดให้สัมภาษณ์เป็นการเปิดตัวครั้งแรกกับสื่อไทย สิ่งที่สามารถเห็นได้ชัดเจน คือเหมืองโปแตซ ของชิโนไฮโดร ที่ลาวนั้น เป็นรูปธรรมเรียบร้อยแล้ว มีการดำเนินงาน มากว่า 10 ปี แต่คนไทยหลายล้านคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า โปแตซ ที่เรียกกันนี่ แล้วกำลังอยู่ในกระแส แท้จริงมันคืออะไรกันแน่

แร่โปแตซคุณภาพสูง
แร่โปแตซคุณภาพสูง

โปแตซ ส่วนผสมหลักของปุ๋ยเคมีทั่วไปที่เราใช้กัน

แร่โปแตซ หรือ Potash  ชื่อทางเคมีของมันคือ “โพแทสเซียมคลอไรด์ (Potassium Chloride)” มีองค์ประกอบหลักอยู่ 2 ชนิด คือ โพแทสเซียมคลอไรด์ (สูตรทางเคมี คือ KCI) มากถึงประมาณ 95-100% ที่เหลืออีก 0-0.5% คือ โซเดียมคลอไรด์ (สูตรทางเคมีคือ NaCI)  หรือ เรียกง่ายๆ เกลือ นี่เอง  โปแตซ จัดอยู่ในกลุ่ม อนินทรีย์ (Inorganic Salt)

แร่โปแตซ สามารถนำมาสกัดและนำไปเป็นวัตถุดิบหลักของการ ทำปุ๋ยเคมี ได้ เพราะเมื่อสกัดเสร็จแล้ว จะได้สารที่เรียกว่า “โพแทสเซียม  (สูตรทางเคมีคือ K)” ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของสารอาหารหลัก ของพืช หลายคนคงชินกับสูตรปุ๋ยต่างๆ กับคำที่ว่า N-P-K แต่ตัว K ตัวนี้ ช่วยในการเพิ่มผล เร่งผล และเพิ่มคุณภาพ ให้แก่พืช พูดง่ายๆว่าเหมือน รถอีแต๋น ที่คอยบรรทุกนำพาแร่ธาตุอาหารต่างๆไปสู่พืช เพื่อให้พืชสามารถใช้และกินได้ จึงทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มากยิ่งขึ้นนั่นเอง

นิตยสาร พืชพลังงาน
นิตยสาร พืชพลังงาน

สัดส่วนพื้นที่การทำเกษตรและปริมาณการนำเข้าปุ๋ยเคมีของไทย

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ประเทศไทย มีพื้นที่รวมถึง 51 ล้านเฮคเตอร์ แบ่งเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตร 24 ล้านเฮคเตอร์ หรือประมาณ 47% ของพื้นที่ทั้งหมด พื้นที่เกือบ 70% ใช้ในการปลูกพืช ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกข้าว ประมาณ ร้อยละ 45 ที่เหลือรองลงมาปลูก อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด และยางพารา ที่เหลือ อีก 17 ล้านเฮคเตอร์ เป็นพื้นที่ป่าไม้  ประเทศไทยจึงถูกจัดว่าเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งอัตราส่วน ในการนำเข้าปุ๋ยเคมีของไทยนั่น เป็นอันที่ 5 ของโลก ใน ปี 2556 นำเข้าประมาณ 5.638 ล้านตัน เป็นเงินมูลค่าสูงถึง 72,259 ล้านบาท ซึ่งปรับลดลงมาแล้วจากปี 2555 ที่สูงสุดถึง 5.58 ล้านตัน หรือมูลค่า 83,947 ล้านบาท สาเหตุที่ประเทศไทย ต้องนำเข้า เนื่องด้วย ประเทศไทย นั่น ไม่มีเหมืองแร่โปแตซ เป็นของตัวเอง กล่าวง่ายๆ คือ ตัว K ในถุงปุ๋ยเคมี ที่เป็น1 ใน 3 สารอาหารหลักของพืชที่เกษตรกรส่วนใหญ่ของเทศใช้นั้น ประเทศไทยต้องนำเข้าทั้งหมด  ในเรื่องของราคาขาย โปแตซ ปัจจุบันราคาประมาณ 300 เหรียญดอลล่าห์/ตัน หรือประมาณ 9,000 – 15,000 บาท/ตัน ขึ้นอยู่กับอัตราการขึ้นลงของเงินด้วย ซึ่งปรับลดลงมาแล้วจาก 2 ปีก่อนที่สูงถึง  400 – 555 เหรียญดอลล่าห์/ตัน หรือ ประมาณ 12,000-19,000 บาท/ตัน ซึ่งต้นทุนการผลิตของเหมืองโปแตซโลกจะอยู่ที่ประมาณ 58-236 เหรียญดอลล่าห์/ตัน ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพของ โปแตซด้วย

ปัจจุบัน Uralkali ผู้ผลิต และส่งออก แร่โปแตซ อันดับหนึ่งของโลก ประเมินความต้องการแร่โปแตซ ในตลาดโลก ปี 2557-2558 จะเพิ่งขึ้นถึง 56-58   ล้านตันในปี 2557 เฉลี่ยเติบโตประมาณ 5%   และจะโตเพิ่มขึ้นในปี 2558 ประมาณ 58-60   ล้านตัน

โพแทสเซียมคลอไรด์(KCI)
โพแทสเซียมคลอไรด์(KCI)

ทำไมต้องเหมืองแร่ โปแตซ ในลาว??

คำถามคือ ทำไมต้องไป ลาว เพราะแท้จริงแล้ว เหมืองโปแตซ นั่นมีหลากหลายที่ในโลก หลักๆ ก็จะมีในส่วนรัสเซีย ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง และ ในเอเซียก็จะมีทั้ง จีน ลาว และไทยเอง ก็มีโปแตซอยู่มหาศาล

ในประเทศไทยนั้น เมื่อปี 2536 “บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC)” เป็นบริษัท ที่ได้รับสัมปทานให้สำรวจ แร่โปแตซ ในประเทศไทย และในปี 2541 APPC พบว่าประเทศไทยมีแหล่งแร่ อยู่ 4 จังหวัดหลักๆคือ อุดรธานี ชัยภูมิ โคราช และ สกลนคร โดย โปแตซที่พบใน อุดรธานี ถือเป็นแร่โปแตซ ที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก ณ เวลานั้น คุณภาพ K2O   ถึงร้อยละ 60.3 เมื่อเข้าสู่กระบวนการลอยแร่ที่ถูกต้อง มีเนื้อที่รวมอุดรเหนือและใต้ถึง 74,437 ไร่ และมีปริมาณแร่โปแตซสำรองมากถึง 1,000 ล้านตัน โดยมีความลึกที่ 300-400 เมตร ต่อมาเหมืองโปแตซก็ได้เริ่มโครงการขึ้น จากความร่วมมือ และเงินทุนของประเทศอาเซียนต่างๆจากสนธิสัญญาการช่วยเหลือ และส่งเสริมโปรเจ็คของอาซียน แต่สาเหตุที่ต้องหยุดไปเนื่องด้วยสาเหตุฟองสบู่แตก และขาดเงินทุนหมุนเวียน ในเวลาต่อมา ทำให้โครงการที่ได้เริ่มดำเนินการขุดเจาะในระยะที่ 1 ต้องชะงักไป เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า เนื่องด้วยวิธีการทำเหมืองแบบ “ช่องสลับค้ำยัน” ซึ่งจะขุดเจาะแร่ออกไปบางช่อง และเหลือบางช่องเอาไว้ ขุดเจาะแบบสลับกับเสาหิน คล้ายตารางหมากรุก ทำให้มีส่วนที่เจาะขึ้นมาพักไว้บนพื้นผิวดิน รอคอยกระบวนการแยกแร่ และลอยแร่ เพื่อกัดเอาโพแทสเซียม ออกมา ส่วน หางแร่ที่เหลือ ก็ต้องกองไว้ก่อนที่จะกลับไปถมในช่องดินที่ขุดเจาะขึ้นมา แต่เนื่องด้วยโครงการจำเป็นต้องหยุดชะงักไป ทำให้ มีส่วนที่ กองไว้บนผิวดินเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นลักษณะเป็นบ่อๆ นั้นไม่มีอะไรกั้น ทำให้น้ำเกลือ ซึมเข้าพื้นที่ชุมชนและชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตร ส่งผลให้ดินในพื้นที่นั้น กลายเป็น ดินเค็ม กินพื้นที่หลายตำบล และชาวบ้านได้รวมตัวและเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหานี้ ซึ่งก็ยังอยู่ในช่วงระยะเจรจากัน มาจนถึงทุกวันนี้

เมื่อทางทีมงานทราบว่า เหมืองโปแตซของชิโนไฮโดร ในลาวนี้ เป็นเหมืองโปแตซ แห่งเดียว ที่นำเทคโนโลยีของการขุดเจาะน้ำมันมาใช้ และเรียกได้ว่า ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเลย ทางทีมงานจึงได้มีโอกาสเข้าชมเหมืองโปแตซในลาวครั้งนี้

โฆษณา
AP Chemical Thailand
Mr. Zhou ZhiHui General Manager กรรมการผู้จัดการใหญ่
Mr. Zhou ZhiHui General Manager กรรมการผู้จัดการใหญ่

เปิด เหมืองแร่ โปแตส ในลาว

คุณหม่า รองผู้จัดการใหญ่  เปิดเผยว่า เหมืองโปแตซ ของ บริษัท Shinohydro Mining (Lao) Co.,Ltd ในลาว แห่งนี้ ตั้งอยู่ใจกลาง นครเวียงจันทร์ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตร โดยบริษัท Shinohydro เรียกง่ายๆ “ชิโนโปแตซ” ในลาว เป็นผู้ได้รับสัมปทานเหมืองโปแตซนี้ จากรัฐบาลลาว เริ่มโครงการนี้ ตั้งแต่ปี 2007 โดยมีบริษัทแม่คือ China Power ถือหุ้นหลัก 90% และ อีก 10% ถือหุ้นโดยรัฐบาลลาว โดยมีทุนจดทะเบียนที่ 28.40ล้านดอลล่าห์สหรัฐฯ มีจุดประสงค์หลักคือ เป็นผู้ผลิต และ ขาย สินค้า 3 ประเภท ได้แก่ โพแทสเซียมคลอไรด์(KCI) โซเดียมคลอไรด์ (NaCI) และ แมกนีเซียมคลอไรด์ (MgCI2)  และ มีเนื้อเหมืองโปแตซที่ได้รับสัมปทานในลาวทั้งหมด 581.35 km2 และเนื้อที่ขุดเจาะเหมืองแร่ ระยะที่ 1 ตั้งอยู่ที่เวียงจันทร์ ขนาด 39 km2

ณ ปัจจุบันของระยะที่ 1 ของโปรเจ็ค จาก ทั้งหมด 3 ระยะ ถูกดีไซด์มาเพื่อกำลังการผลิต ต่อปีอยู่ที่ โพแทสเซียมคลอไรด์(KCI) 120 กิโลตัน โซเดียมคลอไรด์ (NaCI) 50 กิโลตันตัน และ แมกนีเซียมคลอไรด์ (MgCI2) 70 กิโลตัน ณ ปัจจุบันอยู่ในเดือนที่ 7 ของปี สามารถผลิต โพแทสเซียมคลอไรด์(KCI) ได้แล้วที่ 58 กว่ากิโลตัน โดยทางกลุ่มชิโนไฮโดร หวังว่ากำลังการผลิตจะมากขึ้นถึง  5 แสนตัน/ปี ในระยะที่ 2  และ 1 ล้านตัน/ปี ในระยะที่ 3 ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเตรียมแผนงาน

ถังเก็บน้ำยา พร้อมที่จะเข้าโรงงานเพื่อการลอยแร่
ถังเก็บน้ำยา พร้อมที่จะเข้าโรงงานเพื่อการลอยแร่

การใช้เทคโนโลยี กึ่งประยุกต์น้ำมัน จากเยอรมัน มาใช้ เพื่อให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

คุณหม่า กล่าวว่า เพราะคนไทย โดยเฉพาะคนอุดร เคยเป็นประสบปัญหาและเป็นผู้เสียหายจาก ดินเค็ม ชองการทำเหมืองโปแตซ ที่อุดร ก็คงต้องถามถึงเทคโนโลยีแบบไหนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้จริงๆ อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นถึงวิธีการทำเหมืองแร่แบบเดิม จะมีส่วนที่เป็นหางแร่ กองไว้เป็นบ่อๆ บนผิวดิน แล้วเลยไปถึงที่ดินของชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเทคโนโลยี “Selective Solution Technology” หรือที่เรียกว่า “Environmentally Friendly Mining Technology” เป็นเทคโนโลยีจากเยอรมัน โดยใช้วิธีเหมือนขุดเจาะน้ำมัน คือ จะมี หัวสว่าน ขุดเจาะ ที่จะมีระบบ เซ็นเซอร์ และกล้อง ที่จะส่งภาพไปที่ตึกควบคุม หลังจากนั้นจะเจาะลงลึกไปที่ชั้นดิน ประมาณ 400 เมตร ที่ทางคนควบคุมสามารถคุมได้จากตึก หลังจากขุดเสร็จก็จะเทน้ำร้อนที่เป็นน้ำยาสูตรเฉพาะที่สามารถแยกชั้นดิน และแยกแร่ เอาเฉพาะ โพแทสเซียมคลอไรด์(KCI) โซเดียมคลอไรด์ (NaCI) และ แมกนีเซียมคลอไรด์ (MgCI2) ภายในชั้นดินได้เลย จากนั้นก็จะรอให้มีการแยกแร่ และลอยแร่ ภายในชั้นดิน เมื่อแร่ถูกแยกแล้ว คนควบคุมก็ใช้ปั้ม สามารถเลือกสูบเอาเฉพาะ โพแทสเซียมคลอไรด์(KCI) โซเดียมคลอไรด์ (NaCI) และ แมกนีเซียมคลอไรด์ (MgCI2)  ขึ้นมา โดยจะส่งผ่านท่อ ตรงเข้าโรงงานเข้าเตาเผาที่ถูกออกแบบมาเพื่อแยกน้ำออกจากแร่ ได้ “โพแทสเซียมคลอไรด์ แบบผง” ออกมา น้ำส่วนที่เหลือจะถูกนำกลับไปบำบัด เพื่อรีไซเคิลให้สามารถนำกลับมาใช้ในโรงงานได้ จุดดีคือ จะไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ 3 ตัวหลักๆขึ้นมาเหนือผิวดินเลย เทคโนโลยีนี้จึงเรียกได้ว่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ไม่สร้างมลพิษ หรือสิ่งของเหลือจากอุตสาหกรรมเลย

ตึกควบคุม
ตึกควบคุม

คุณภาพของ โปแตส ที่ได้

โฆษณา
AP Chemical Thailand

นอกจากเทคโนโลยีนี้จะช่วยในเรื่องของสิ่งแวดล้อมแล้ว นอกเหนือกว่านั้นที่ได้คือ สามารถควบคุมปริมาณของแร่ที่จะขุดเจาะขึ้นมาได้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพต่อการทำงานที่ได้ออกแบบให้ตรงและเหมาะสมกับกำลังการผลิต และด้วยน้ำยาสูตรเฉพาะที่สามารถขยาย และแยกชั้นแร่ได้ ทำให้ สามารถขุดเจาะเอาเฉพาะแร่โปแตซขึ้นมาเท่านั้น พอส่งผ่านท่อเข้าโรงงาน ทำให้คุณภาพของ โปแตซที่ได้นั้น เป็นคุณภาพแร่ที่ดีที่สุด ทางชิโน ไฮโดร ได้ส่ง แร่โปแตซที่ได้ เข้าแล็ป เพื่อวัดเปอร์เซ็นต์ โปแตซ ปรากฏว่า มี K2O คือ โพแทสเซียม หรือที่รู้จักกันในปุ๋ยคือ ตัว K สูงสุดถึง 63% ซึ่งหลักๆทั่วไปที่ขายกันในตลาดก็มีอยู่หลายเกรดแต่จะอยู่ที่ประมาณแตะ60% ก็ถือว่าสูงแล้ว  และในส่วนของเกลือ หรือ โซเดียมคลอไรด์ (NaCI) คุณภาพสูงถึง 99.4%   นอกเหนือจากส่งวัดตรวจกับทางแล็ปที่ลาวแล้ว ชิโน ไฮโดร ยังส่งเข้าอีกหลายแล็ป อาทิ SGS Lab ของ สิงคาโปร์ ที่แจ้งผล K20 อยู่ที่ 62.8%, VINACONTROL Lab ของเวียดนาม ที่แจ้งผล K20 อยู่ที่ 62.25% และ HALLOBURTON Lab ของ USA ที่แจ้งผล K20 อยู่ที่ 62.28% ซึ่งปรากฏตรงกันว่าคุณภาพโปแตซที่ได้ไม่มีแล็ปไหน ต่ำกว่า 60% ซึ่ง จัดอยู่ในกลุ่มคุณภาพโปแตซชั้นดี

ตลาด ณ ปัจจุบันของ โปแตซ ที่ได้จากเหมืองลาว

ขณะนี้บริษัทเรามีผู้ซื้อหลักๆ คือ เวียดนาม เกาหลีใต้ จีน ลาว มาเลเซีย และอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ทำเกษตร มีออร์เดอร์กันยาวถึงปีหน้า ซึ่งถ้าหากซื้อกับทางชิโน ไฮโดรที่ลาว นอกจากจะได้เปรียบ เวลาสั้นในการส่งของ ไม่ต้องรอการขนเรือเป็นอาทิตย์หรือเดือน เพราะว่าซื้อจากลาว ราคาอาจจะถูกกว่าหากซื้อในปริมาณมาก ซึ่งอาจจะทำให้ปัจจัยการผลิตปุ๋ยเคมีลดลง ส่งผลดีต่อพี่น้องเกษตรกรได้ทางตรง แต่ออร์เดอร์จากไทยวันนี้นั่นยังนิ่งสนิทอยู่

ชิโนไฮโดร
ชิโนไฮโดร

ความร่วมมือกับรัฐบาลลาว และชุมชน

คุณหม่า กล่าวว่า เนื่องจากรัฐบาลลาวถือหุ้น ถึง 10% ของบริษัท ชิโน ไฮโดรฯ และก็ทำงานกับผู้ว่าเวียงจันทร์อยู่แล้ว ทำให้การดำเนินงานหรือการตัดสินใจ ดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งทางภาครัฐเอง เป็นตัวแทนของบริษัท จัดให้ความรู้และความเข้าใจกับชาวบ้าน ถึงข้อดีและประโยชน์ต่อการเหมืองแร่โปแตซในลาว แห่งนี้ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ พร้อมทั้งเชิญแกนนำหลักของแต่ละหมู่บ้านมาดูงานในเหมืองแร่ และภายในโรงงานกันจริงเลย พร้อมทั้งมีผู้บรรยายให้ความรู้ ความเข้าใจตลอด พอไปดูพื้นที่ภายนอกและละแวกใกล้เคียงกับเหมืองนั้น เกษตรกรก็ยังสามารถปลูกข้าว และทำการเกษตรของตนได้ตามปกติ

ผลตอบแทนของธุรกิจ จากแร่ โปแตซและเกลือ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

คุณหม่ายอมเปิดเผยว่า จากที่ประมาณการไว้ว่า ระยะที่ 1 ของโปรเจ็ค จาก ทั้งหมด 3 ระยะ ถูกดีไซด์มาเพื่อกำลังการผลิต ต่อปีอยู่ที่ โพแทสเซียมคลอไรด์(KCI) 120 กิโลตัน โซเดียมคลอไรด์ (NaCI) 50 กิโลตัน และ แมกนีเซียมคลอไรด์ (MgCI2) 70 กิโลตัน ณ ปัจจุบันอยู่ในเดือนที่ 7 ของปี สามารถผลิต โพแทสเซียมคลอไรด์(KCI) ได้แล้วที่ 58 กว่ากิโลตัน นั้นถูกจองและขายหมดแล้ว ราคาขายนั้นขึ้นลง ตามราคาตลาดโพแทสเซียมโลก แต่โดยรวมแล้วก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จในระยะที่ 1 เรียบร้อยแล้ว ในส่วนของเกลือ ก็มีผู้ซื้อ รายหลาย หลักๆก็คงยังเป็น ประเทศเวียดนาม และมีทั้งผู้ซื้อจากไทยด้วยก็เยอะ แต่ก็ยังมีของสต็อคอยู่พร้อมรอขายได้ทันที แต่กำไรที่ได้จากการขายแร่ และเกลือ ก็ถือว่ายังอยู่ในระยะคืนทุนจากการตั้งโรงงาน พร้อมที่ดิน ต่อไปที่เหลือก็คงจะเป็นกำไรแก่ผู้ลงทุน

Mr.Zhou Zhihui รองผู้จัดการบริษัท
Mr.Zhou Zhihui รองผู้จัดการบริษัท

สรุปคือ ถ้าหากเมืองไทยต้องการ ลดต้นทุนการผลิตปุ๋ย และลดการนำเข้าอีก 7 หมื่นกว่าล้าน ก็อาจจะกลับมาผลักดันเรื่องเหมืองโปแตซให้เกิด แต่ควรคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และควรเลือกใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ พร้อมทั้งให้ความรู้ ความเข้าใจกับชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ เพราะต้องอยู่ร่วมกันในระยะยาว แต่หากโปรเจ็คนี้ ยังไม่สามารถเกิดได้ในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยเปรียบเสมือน เสือหลับ ในอุตสาหกรรมเหมืองโปแตซเนื่องด้วยทรัพยากรมีมากมายนั้น  ก็อาจจะหันไปดูในเรื่องของการลดต้นทุน ของแร่โปแตซที่ซื้อในปัจจุบันจากประเทศในกลุ่ม EU หรือ North America เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้บริโภค

ใครที่สนใจขอข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อ คุณ สถาพร สุรพัฒน์ 02-631-711, 081-661-9930 หรือ 087-764-6336

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Division of Technology Industry and Economics. International Fertilizer Industry Association., สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, www.Uralkali.com, Shinohydro Mining (Lao) Co.,Ltd

tags: โพแทสเซียม โพแทสเซียมคลอไรด์(KCI) Shinohydro Mining (Lao) แมกนีเซียมคลอไรด์ โซเดียมคลอไรด์ เหมืองโปแตส ลาว โพแทสเซียม โพแทสเซียมคลอไรด์(KCI) เหมืองโปแตส ลาว

โฆษณา
AP Chemical Thailand

[wpdevart_like_box profile_id=”997990286914613″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]