อบจ.ตรัง ถือธงนำ ถนนยางพารา ภาคใต้

โฆษณา
AP Chemical Thailand

นายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ผู้ถือธงนำ “ถนนยางพารา” ภาคใต้[/caption]

            ราคายางที่เคยโจนทะยานเกิน 100 บาท/กก. ในอดีต ทำให้วันนี้ประเทศไทยมีสวนยาง 20 ล้านไร่ มีผลผลิตกว่า 4.5 ล้านตัน

            หากแต่ราคายางวันนี้ 50 บาท/กก. ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับวันนั้น

            จึงเป็นที่ประจักษ์แจ้งแล้วว่า ราคายางสูง มิได้อยู่ค้ำฟ้า…!!!

            นักวิชาการด้านยาง เซียนยาง หรือแม้กระทั่งเกษตรกรชาวสวนยาง ต่างรู้ดีว่า การจะเพิ่มมูลค่ายางให้สูงขึ้นเท่าเดิม นาทีนี้ เป็นเรื่องยากพอๆ กับ “เข็นครกขึ้นภูเขา”

หากแต่ความฝันอาจจะกลายเป็นความจริงได้ หากนำไปแปรรูปเป็น “ผลิตภัณฑ์” หรือ นำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่ใช่การขายเป็นวัตถุดิบ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

            หนึ่งในแนวทางที่ได้รับความสนใจมาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี คือ การนำยางพาราไปผสมยางมะตอยทำถนน

หากถนนทุกเส้น ทั้งสายหลักสายรอง นำยางพาราไปใช้งาน ปริมาณยางในประเทศจะลดน้อยลง ส่งผลให้ปริมาณยางในตลาดโลกลดลง เพราะประเทศไทยเป็นผู้ถือดุลอันดับหนึ่งของโลก ด้านการผลิตยาง และสุดท้ายราคายางจะขยับขึ้นตามกลไก

            เรื่องน่าเศร้าก็คือ นโยบายการนำยางพาราไปทำพื้นถนนไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นเพียงงานวิจัยใส่พานวางไว้บนหิ้ง เพราะต้นทุนสูงกว่าถนนปกติ 15-20%

            รวมถึงการขาดเทคโนโลยีการผลิตระหว่างยางพารากับยางมะตอยในเชิงอุตสาหกรรม

            เหล่านี้เป็นปัญหาทำให้ ยางพาราถูก “ทำหมัน” ไม่ให้เกิด บนถนนของประเทศไทย

            หากแต่ภาพของถนนยางพาราถูก “ถ่ายทำ” ขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว เมื่อไม่นานมานี้  โดยการกำกับ ของ นายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ที่มีนโยบายสร้างผิวถนนผสมยางพาราขึ้นในงบประมาณปี 2558 เริ่มด้วยการอนุมัติงบประมาณสร้างถนน 2 เส้น งบประมาณ 10 ล้านบาท

โฆษณา
AP Chemical Thailand

            แม้จะเป็นเพียงถนนสายสั้นๆ ใช้งบประมาณไม่มากนัก และอาจจะไม่มีพลังพอที่จะสะกิดให้ราคายางในพื้นที่ขยับขึ้น หากแต่นี่คือ “แสงไฟ” จาก “ปลายไม้ขีด” ที่ถูกจุดขึ้นกลางความมืด จึงมีพลังพอที่จะส่องทางให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศศึกษา และทำเป็นตัวอย่าง

            และเชื่อว่าแสงไฟจะส่องไปถึง กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ที่มีงบประมาณ รวมกันต่อปีกว่า 1 แสนล้านบาท

            กระตุกกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันมาดำเนินนโยบายถนนยางพาราอย่างจริงจัง

            เรื่องเด่นจากปกฉบับนี้ ทีมงานสัมภาษณ์พิเศษ นายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ผู้ถือธงนำ ถนนยางพารา แห่งเมืองตรัง ต้นกำเนิดยางพาราต้นแรกของประเทศไทย เกี่ยวกับ นโยบายถนนยางพารา และการสนับสนุนการใช้ยางพาราในพื้นที่

            ต่อด้วยการลงพื้นที่ดูการทำถนนยางพาราตัวอย่าง ที่เชิญ อบจ. 14 จังหวัดภาคใต้มาศึกษาดูงาน และเชื่อว่าจะถูกนำไปปฏิบัติในภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรมในปีนี้และปีต่อๆ ไป

 

4
ถนนยางพาราแบบ “พาราแอสฟัลต์คอนกรีต” ถนนตัวอย่างของ อบจ.ตรัง

 

  • ที่มาของนโยบายสร้างถนนผสมยางพารา ของ อบจ.ตรัง

สืบเนื่องจากการประชุมของสมาพันธ์องค์การบริหารส่วนจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ ทุกจังหวัดมีพืชเศรษฐกิจหลักคือ ยางพารา กำลังอยู่ในช่วงราคาตกต่ำ ชาวสวนยางภาคใต้ได้รับผลกระทบหนัก ในยามที่ประชาชนเดือนร้อน ท้องถิ่นได้ช่วยอะไรบ้าง พวกเราจึงคิดหาวิธีการอย่างไรทำให้ราคายางดีขึ้น

โฆษณา
AP Chemical Thailand

จากการศึกษาเมื่อนำยางพาราไปผสมทำถนน จะเป็นส่วนหนึ่งในการนำยางพาราไปใช้ประโยชน์ และส่งผลให้ราคายางสูงขึ้น กรมวิชาการเกษตรมีงานวิจัยว่า ถ้านำยางมาผสม 5% ถนนจะมีความยืดหยุ่น การยึดเกาะ และทนทานขึ้น แม้ราคาจะเพิ่มขึ้น แต่คุณภาพเพิ่มขึ้น 2 เท่า ที่ประชุมจึงให้ดำเนินนโยบาย ถนนยางพารา ผสมยางมะตอย เพื่อช่วยเหลือชาวสวนยาง

ในฐานะที่ จ.ตรัง เป็นเมืองยางพาราต้นแรก พระยารัษฎานุประดิษฐ์เป็นผู้นำมาปลูก จึงเป็นจังหวัดแรกๆ ที่ต้องดำเนินนโยบายนี้อย่างเร่งด่วน  และสนับสนุนสร้างสนามกีฬาที่ปูพื้นด้วยคอนกรีตเปลี่ยนเป็นยาง แม้จะไม่มากแต่มีความสำคัญ

            อบจ.ตรัง ตั้งงบประมาณสร้างถนน ปีงบประมาณ 2558  ประมาณ 250 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นถนนลาดยาง พอเรื่องนี้เข้ามาเราจึงนำนโยบายนี้ไปดำเนินการในส่วนที่ยังไม่ดำเนินการกับ ถนน 40 สาย  ทำถนนผสมยางพารา ในปีงบประมาณนี้

  • งบประมาณสร้างถนนยางพารา ของ อบจ.ตรังมูลค่าเท่าไหร่ 

            เริ่มต้นด้วยถนน 2 สายทาง 2 อำเภอ ซึ่งเป็นถนนเครือข่ายการมีส่วนร่วมระหว่าง อบต. กับ อบจ. ใช้งบ อบจ. 7.19 ล้านบาท งบ อบต. 2.2 ล้านบาท ต้องเพิ่มงบ 1.4 ล้านบาท นายก อบจ. ขออนุมัติงบที่เพิ่มต่อสภา เมื่อวันที่ 18 มีนาคม เป็นงานเร่งด่วน และได้เรียนท่านผู้ว่าราชการจังหวัดไว้ล่วงหน้า ว่าขอให้ท่านอนุมัติจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ เพื่อให้ทันวันเปิดงานพระยารัษฎาฯ บิดายางพาราไทย และงานวันยางพาราแห่งชาติ ในวันที่ 3 เมษายน 2558 ที่ท่านอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรฯ มาเป็นประธานในพิธีเปิด

หนังสือ อบจ. ไปนอนรออยู่หน้าห้องผู้ว่าฯ รองนายก อบจ. ไปติดตาม 31 มีนาคม ยังไม่ถึงผู้ว่าฯ ท่านผู้ว่าฯ ลงนามเมื่อไหร่ จะจัดจ้างทันทีเพราะมีงบพร้อมแล้ว

  • รายละเอียดของถนนยางพาราทั้ง 2 สาย

ถนน 2 สาย อยู่ในอำเภอกันตัง และอำเภอเมืองตรัง สายแรกคือ ถนนเคียมงาม-ไสเตย-บางสัก หมู่ที่ 8 บ้านเคี่ยมงาม ต.บ่อน้ำร้อน อ.กันตัง  สร้างด้วยการเสริมผิวจราจรพาราแอสฟัลต์คอนกรีตหนา 4 เซนติเมตร ผิวจราจรกว้าง 6 เมตร ระยะทาง 945 เมตร พื้นที่ไม่น้อยกว่า 5,670 ตารางเมตร งบประมาณทั้งสิ้น 3,400,000 บาท

โฆษณา
AP Chemical Thailand

อีกสายคือ ถนนบ้านหัวถนน-วัดโพธาราม หมู่ที่ 1 ต.บ้านโพธิ์ อ.เมืองตรัง เชื่อมเทศบาลนครตรัง อ.เมืองตรัง ด้วยการเสริมผิวจราจรพาราแอสฟัลติกคอนกรีตหนา 4 เซนติเมตร ผิวจราจรกว้าง 6 เมตร ระยะทาง 2,290 เมตร พื้นที่ไม่น้อยกว่า 13,740 ตารางเมตร งบประมาณทั้งสิ้น 5,990,000 บาท

            ทั้ง 2 สายจะเป็นถนนสายนำร่องให้ องค์การปกครองท้องถิ่นภาคใต้ศึกษาเป็นแบบอย่างและแนวทาง

  •  เป้าหมายของการสร้างถนนยางพารา

            ความประสงค์ต้องการให้จังหวัดที่มียางพารา มีการนำไปใช้งานเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการนำไปขายยังตลาดยางอย่างเดียว เมื่อมีการนำยางไปทำถนน ราคายางจะได้ปรับตัวสูงขึ้นในที่สุด คือ ความหวังสูงสุด แม้จะใช้ยางเพียง 5% ก็ตาม แต่ถ้ามีการใช้ยางพาราทำถนนกันทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ปริมาณยางจะถูกใช้งานเพิ่มขึ้นมหาศาล

7

  •  ถนนยางพาราจากตรังจะเป็นต้นแบบของ อบจ.ภาคใต้ 14 จังหวัด

            ถนนผสมยางพาราจะมีการทำอย่างต่อเนื่องทุกปีนับจากนี้ แม้ต้นทุนจะสูงขึ้น 15-20% แต่เมื่อพิจารณาด้านความคุ้มค่าและคุณภาพถนนสูงกว่าปกติ 2 เท่า ถนนช่วยให้การยึดเกาะถนนดีขึ้น ช่วยด้านความปลอดภัย และลดอุบัติเหตุ นี่คือความสำคัญ ชีวิตคนมีความสำคัญมากกว่าเงินงบประมาณที่เพิ่มขึ้น

            ในสถานการณ์คับขัน ผมรู้สึกว่าพระยารัษฎาฯ บิดายางพาราไทยท่านมาช่วยเรา โดย ดร.ณพรัตน์ วิชิตชลชัย ดร.ณพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการกลุ่มอุตสาหกรรมยาง สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นวิทยากรที่มาให้ความรู้กับพวกเราเหล่านายก อบจ.ภาคใต้ ที่ จ.สตูล เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 และผู้คิดค้นทำโครงการนี้ ดร.ณพรัตน์ นำทีมงานกับรถบรรทุกเครื่องผสมยางพาราแบบแอสฟัลต์ เดินทางมาถึงตรัง เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 และแพลนท์ที่จะผสมยางได้แพลนท์ ที่ทุ่งค่าย อ.ย่านตาขาว

            เราเตรียมงานกันตั้งแต่บ่ายวันที่ 2 เมษายน จนถึงดึกดื่น เพื่อสาธิตการทำถนนยางพาราแอสฟัลต์ ในบ่ายวันที่ 3 เมษายน โดยใช้ถนนสายสนามกีฬารังนกอีแอ่น หมู่ที่ 4 ต.บ้านควน อ.เมืองตรัง ซึ่งอยู่ในสภาพที่จะต้องซ่อมบำรุง และอยู่ใกล้แพลนท์ เป็นถนนสาธิตกับโครงการนี้แทนถนน 2 สาย ที่ติดระบบราชการล่าช้า

โฆษณา
AP Chemical Thailand

            ถนนยางพาราสาธิตนี้นำน้ำยางข้น  60% น้ำหนัก 800 กิโลกรัม มาผสมกับยางมะตอย น้ำหนัก 9,500 กิโลกรัม และใช้ความร้อนที่อุณหภูมิกว่า 150 องศา นานกว่า 3 ชม จนได้ยางพาราผสมยางมะตอย เรียกว่า “พาราแอสฟัลต์” น้ำหนักประมาณ 10 ตัน เพื่อนำมาเทลาดถนนเนื้อที่  2,000 ตารางเมตร  หลังจากการบดอัดอีกประมาณ 30 นาที ก็สามารถเปิดใช้ถนนได้ทันที ทำให้ช่วยลดเวลาการทำงาน ลง

นอกจากนั้น ถนนพาราแอสฟัลต์คอนกรีตยังมีความคงทน และยืดหยุ่นกว่าถนนแอสพัลติกทั่วไป ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุทางถนนได้ และที่สำคัญการนำยางพารามาเป็นส่วนผสมจะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

แต่ปัญหาที่เกิดคือ บริษัทผลิตยางพาราแอสฟัลต์ เมื่อรู้ว่ารัฐบาลส่งเสริมให้มีการสร้างถนนยางพารา บริษัทผู้รับจ้างทำถนนมีการปรับราคาสูงขึ้น ตรงนี้รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลทันที ให้เกิดการแข่งขันหลายๆ บริษัท เพราะการทำถนนยางพาราใช้เทคโนโลยีสูง มีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่ทำได้ จึงอยากให้เกิดการแข่งขันมากกว่านี้  ไม่ใช่เอื้อให้บางบริษัทหาผลประโยชน์

  • ยางพารามีความสำคัญต่อคนตรังอย่างไร

            ยางพารากับคนตรัง เป็นวิถีชีวิต คนตรังมี 6 แสนคน เป็นเจ้าของสวนยาง 6 หมื่นกว่าครัวเรือน ประมาณ 4 คน/ครัวเรือน หรือ 2.4 แสนคน ยังไม่รวมคนกรีดยาง และคนที่ทำงานอยู่ในสวนยาง ในภาพรวมแล้วชาวตรังเกินครึ่งอยู่ในอาชีพสวนยาง

            ขณะเดียวกันความโชคดีของ จ.ตรัง คือ มี บริษัท ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) เป็นโรงงานผลิตถุงมือยางส่งออกอยู่ในพื้นที่ ซึ่งใช้น้ำยางสดเป็นวัตถุดิบปริมาณมาก เพื่อผลิตถุงมือประมาณ 14,000 ล้านชิ้น/ปี เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการใช้ยางแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในพื้นที่สูงขึ้น

อุตสาหกรรมยางในพื้นที่ยังมีครบวงจร มีโรงงานแปรรูปยางพาราส่งออกอยู่ในพื้นที่หลายโรงงาน มีโรงงานไม้ยางส่งออก และแปรรูปเป็นสินค้า อย่างของเล่นเด็ก “แปลนทอยส์” จากไม้ยางส่งออกทั่วโลก และยังมีโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล โดยใช้รากไม้ยางพาราและเศษไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิง เผาแบบระบบปิดจนเกิดควัน และเกิดแก๊ส จากนั้นนำไปกลั่นเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า

โฆษณา
AP Chemical Thailand

            ปกติรากยางต้องเผาทิ้ง ไม่มีราคา แต่พอมีโรงไฟฟ้า รากยางมีราคาขึ้นทันที

            ส่วนหนึ่งเศษไม้ยางนำไปเป็นไม้บอร์ด เมล็ดยางเมื่อก่อนเก็บไปเป็นอาหารหมู แต่ตอนนี้นำไปผลิตกล้ายาง  ใบก็นำไปหมักทำเป็นปุ๋ย หรือทำเป็นสิ่งประดิษฐ์ ทั้งต้นของยางพาราตั้งแต่รากและใบเป็นมูลค่า ทำเงิน

บริษัท ศรีตรัง เป็นโรงงานผลิตถุงมือยางส่งออกอยู่ในพื้นที่ ใช้น้ำยางสดเป็นวัตถุดิบปริมาณมาก เพื่อผลิตถุงมือประมาณ 14,000 ล้านชิ้น/ปี เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการใช้ยางแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในพื้นที่สูงขึ้น
บริษัท ศรีตรัง เป็นโรงงานผลิตถุงมือยางส่งออกอยู่ในพื้นที่ ใช้น้ำยางสดเป็นวัตถุดิบปริมาณมาก เพื่อผลิตถุงมือประมาณ 14,000 ล้านชิ้น/ปี เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการใช้ยางแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในพื้นที่สูงขึ้น

ทีมงานยังพูดคุยกับ นายสมชาย สุธรรม ผู้อำนวยการกองช่าง อบจ.ตรัง เพื่อขอความรู้เรื่องถนนผสมยางพาราอย่างละเอียด

  • ปกติการทำถนนลาดยาง เขาทำอย่างไร

ปกติถนนทำมาจาก ยางแอสฟัลต์ (Asphalt Cemant : AC) หรือยางมะตอย เดิมที อบจ.ตรัง จัดสรรงบประมาณสำหรับปรับปรุงถนนลาดยาง มี 2 อย่าง คือ ลาดยางแบบเรียบ เราเรียกว่าถนน แบบ สเลอรี ซีล  (Slurry Seal)  อีกแบบ คือ แอสฟัลต์คอนกรีต ( Asphalt Concrete)  ทั้ง 2 อย่างนี้ต่างกันอยู่นิดหน่อย คือ

  1. แบบสเลอรี ซีล เป็นการใช้ยางแอสฟัลต์ ผสมหินย่อย ฉาบหน้าผิวจราจรบางๆ  ประมาณ 1 เซนติเมตร

หลังจากขั้นตอนบดอัดหินคลุก แล้วการลาดยางแอสฟัลต์ เพื่อให้เกิดการยึดเกาะ เรียกว่า ไพรมโค้ท (Prime Coat) จากนั้นทำผิวชั้นแรก (Single Surface Treatment) ต่อด้วย Frog Sprays และ สเลอรีซีล หรือใช้ลาดพื้นผิวถนนเดิมเพื่อปรับปรุงผิวจราจร

บางครั้งเราจะเรียกว่าแบบHot mix” ใช้ลาดผิวถนนหนา 4-5 เซนติเมตร ซึ่งเป็นผิวถนนเดิม หรือ พื้นที่ผ่านการตกแต่งแล้ว

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ความแตกต่างกันของถนนลาดยาง 2 ประเภทนี้ แอสฟัลติกคอนกรีต จะราคาสูงกว่า แบบสเลอรี ซีล แต่ความทนทานจะมากกว่า และกระจายการรับน้ำหนักของยวดยานที่ผ่านไปมาได้ดีกว่า เราจะเลือกทำประเภทไหนนี่อยู่ที่ การจราจร และเงินงบประมาณ  ถ้าเป็นแบบผิวเรียบ สเลอรี ซีลก็จะก่อสร้างได้ระยะทางยาวกว่าในงบประมาณที่เท่ากัน

 

นายสมชาย สุธรรม ผู้อำนวยการกองช่าง อบจ.ตรัง
นายสมชาย สุธรรม ผู้อำนวยการกองช่าง อบจ.ตรัง
  • ถนนทั้ง 2 รูปแบบใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมใช่ไหม

นโยบายของท่านนายก อบจ. ให้สร้างถนนทั้ง 2 รูปแบบ ในปีงบประมาณนี้ โดยจะมีส่วนผสมของยางพาราเข้าไปอัตราส่วน 5% คือ แอสฟัลต์ประมาณ 95% ยางพารา 5%  มันก็มีกระบวนการของมัน ซึ่งตอนนี้ก็มีบริษัทผลิตอยู่แล้ว บริษัท ไทย บิทูเมน จำกัด เป็นบริษัทในเครือ ทิปโก้ แอสฟัลต

  • พอนำยางพารามาผสมความยากมันอยู่ตรงไหน????

ความยากง่ายก็คือ การผสมยางแอสฟัลต์ ให้เข้ากับยางพารา ต้องมีเครื่องผสมพิเศษ ยางที่ใช้เป็นน้ำยางข้น 60%  ในเครื่องจะมีใบกวนยางแอสฟัลต์ กับยางพาราให้เป็นเนื้อเดียวกัน จึงต้องใช้เวลาในการกวนผสม การผสมจะทำอัตราส่วนยางพารา 5% อย่าง สมมุติเครื่องผสมได้ครั้งละ 5 ตัน เท่ากับมียางพารา 250 กก. ยางแอสฟัลต์ 4,750 กก.

            วิธีผสมต้องทำอุณหภูมิความร้อนในการผสมให้ได้ 160 องศา จากนั้นเปิดใบกวนให้การผสมทั่วถึง ความร้อนจะทำให้น้ำและแอมโมเนียที่อยู่ในน้ำยางข้นระเหยออกไปเหลือแต่เนื้อยาง 100%

            ข้อควรระวังก็คือ น้ำจากน้ำยางข้นจะทำให้เกิดการเดือด ดังนั้นเวลาใส่น้ำยางข้นลงไปผสมต้องทำทีละน้อย หรือเติมเป็นช่วงๆ ไป จนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน จะได้เป็น พาราแอสฟัลต์ (Para  Asphalt)

  • เมื่อผสมจนได้ยางพาราแอสฟัลต์แล้ว ก็นำไปผสมตามกับวัตถุทำถนนตามปกติได้เลย

สำหรับการทำสเลอรี ซีล กระบวนการจะอยู่บนรถทั้งหมด เราจะเห็นว่ามันปล่อยมาทางท้ายรถสเลอรี แล้วก็จะมีกระสอบปาดให้เรียบ บางๆ กระบวนการจะผสมอยู่บนรถเลย ซึ่งจะต่างกับแอสฟัลติกคอนกรีตจะผสมที่ แพลนท์ (โรงงานหรือสถานที่ผสม) แล้วใส่รถสิบล้อมา แล้วเอามาเทลงในเครื่องปูแอสฟัลต์ แล้วก็ปูให้ได้ตามระดับความหนาที่ต้องการ

โฆษณา
AP Chemical Thailand
รถปูถนนแบบ พาราสเลอรีชีส ความหนา 1 ซ.ม.
รถปูถนนแบบ พาราสเลอรีชีส ความหนา 1 ซ.ม.

เราจะเรียกแบบลาดยางผิวเรียบที่ใช้ยางพาราเป็นส่วนผสม มี คำว่า “พารา” นำหน้า เช่น เรียกว่าพาราสเลอรี ซีล (Para Slurry Seal) และพาราแอสฟัลต์คอนกรีต (Para  Asphal Concrete) ยางที่มีส่วนผสมของยางพาราทั้ง 2 รูปแบบจะใช้เฉพาะส่วนที่ฉาบผิวข้างหน้า เช่น พาราสเลอรี ซีล ใช้หลังจากงานไพรมโค้ท ชั้นนี้จะประกอบไปด้วย ยางพาราผสมแอสฟัลต์  และหิน นี่คือผิวที่เราเรียกว่า ชั้นสเลอรี หนาประมาณ 1 เซนติเมตร

ส่วนงานพาราแอสฟัลต์คอนกรีต พอมีงานลงหินคลุกแล้ว จะลงไพรมโค้ด จากนั้นปูด้วยพาราแอสฟัลต์คอนกรีต หนาประมาณ 4 เซนติเมตร

เครื่องผสมยางพารา (น้ำยางข้น 60%) กับยางแอสฟัลต์ซีเมนต์ (AC) ขนาด 5 ตัน ออกแบบโดยสถาบันวิจัยยาง
เครื่องผสมยางพารา (น้ำยางข้น 60%) กับยางแอสฟัลต์ซีเมนต์ (AC) ขนาด 5 ตัน ออกแบบโดยสถาบันวิจัยยาง
  • อบจ.ตรัง เลือกทำถนนยางพาราประเภทไหน

ท่านนายก อบจ.ตรัง ก็มีนโยบายที่จะปรับปรุงถนนทั้ง 2 ประเภท มีนโยบายว่าไม่ต่ำกว่า 50% ของโครงการทั้งหมด ในปีงบประมาณนี้มีโครงการประมาณ 60 โครงการ  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงบประมาณปรับปรุงพื้นผิวถนนเดิม เพื่อซ่อมพื้นผิวถนนให้มีความปลอดภัยขึ้น ท่านนายกก็คิดว่าจะใช้วิธีพาราสเลอรี ซีล และพาราแอสฟัลต์คอนกรีต

  • งบประมาณถนนผสมยางพาราเพิ่มสูงขึ้นมากไหม

ในส่วนนี้ที่ผมคำนวณไว้ สำหรับการทำถนนแบบพาราสเลอรี ปูหนา 1 ซม. ประมาณการณ์ไว้ 1 ตารางเมตร จะใช้พาราแอสฟัลต์ ประมาณ 1 กิโลกรัม อย่างที่ อบจ.กำลังจะสร้าง ถนน 1 กิโลเมตร กว้างประมาณ 6 เมตร 1 กิโลเมตร = 6,000 ตารางเมตร จะใช้พาราแอสฟัลต์ ประมาณ 6,000 กิโลกรัม ในนี้มียางพาราผสมอยู่  5%  หรือ 300 กิโลกรัม

แต่พาราแอสฟัลต์คอนกรีต จะปูหนา 4-5 ซม.ใช้ปริมาณมากกว่าประมาณ 5 เท่า 1 ตารางเมตรจะใช้ยางพาราแอสฟัลต์ 5 กิโลกรัม  ตรงนี้ต่างกันแล้ว  ทีนี้พื้นที่ถนน 1 กิโลเมตร หรือ 6,000 ตารางเมตร จะใช้ยางพาราแอสฟัลต์  30,000 กิโลกรัม หรือ  30 ตัน เท่ากับจะใช้ยางพาราล้วนๆ 1,500 กิโลกรัม หรือ 1.5 ตัน เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ถนนพาราแอสฟัลต์คอนกรีต จะแพงกว่า พาราสเลอรี

อบจ.ตรัง ขออนุมัติงบประมาณผ่านสภา อบจ.ทำตัวอย่าง 2 โครงการแรก ความยาวรวมกัน 3 กิโลเมตร งบประมาณเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาท  หรือกิโลเมตรละเกือบ 5 แสนบาท ขึ้นอยู่กับระยะทางการสร้างถนน และราคายาง ตอนนี้ราคายางแอสฟัลต์ ธรรมดา กับ พาราแอสฟัลต์ ต่างกันประมาณ 10,000 บาท/ตัน

โฆษณา
AP Chemical Thailand
  • คุณภาพถนนปกติกับถนนผสมยางพารา แตกต่างกันอย่างไร

แม้ต้นทุนจะสูงกว่า แต่สิ่งที่ได้คือ นำยางพารามาใช้ทำถนน เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการใช้ยางในประเทศ แม้จะทำกันมาเยอะแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลาย

ที่สำคัญเลย ถนนเมื่อมีส่วนผสมของยางพาราแล้วทำให้ถนนได้คุณภาพดีขึ้น การยึดเกาะระหว่างผิวจราจรกับล้อยางรถยนต์ดีขึ้น ทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ อายุการใช้งานนานขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่มักจะมองเป็นนามธรรม แต่เรื่องจริงมันช่วยลดได้

นอกจากนี้ ถนนยางพาราแห้งตัวไว จากเดิมประมาณครึ่งวัน แต่เมื่อมียางพาราเป็นส่วนผสม 1 ชั่วโมงก็ใช้ได้เลย

อบจ. ตรัง มีโครงการปรับปรุงผิวถนนใน ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง 2,290 เมตร งบประมาณที่บ้านโพธิ์เกือบ  6  ล้านบาท เป็นการโอเวอร์เลย์ผิวจราจรเดิม เนื่องจากครบรอบการบำรุงรักษา ปกติถนนอายุการใช้งาน 5-6 ปีผิวจราจรจะเสีย ถ้าไม่รีบซ่อมจะกลายเป็นหลุมเป็นบ่อแล้วจะซ่อมยาก และใช้งบประมาณสูง ถ้าซ่อมผิวหน้าจะยืดอายุได้อีก 4-5 ปี

แต่ที่ผ่านมาถนนยางพาราไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ส่วนหนึ่งมาจากที่ผ่านมายางพาราราคาสูง แต่ตอนนี้ราคาตันละ 40,000 บาท กก.ละ 40 บาท เปรียบเทียบกับเมื่อก่อนราคา 100 กว่าบาท จึงไม่มีการนำมาผสมทำถนนมากนัก กระบวนการผสมก็ซับซ้อนใช้เวลานาน

DSC_9884
ถนนที่มีส่วนผสมของยางพารา 5% ช่วยให้การยึดเกาะล้อยางรถยนต์ดีขึ้น มีผลต่อความปลอดภัยของคนตรัง

        “แสงไฟ” จาก “ปลายไม้ขีด” ที่ถูกจุดขึ้นท่ามกลางความมืด ของ “ถนนยางพารา” โดย อบจ.ตรัง แม้จะทำกับถนนสายสั้นๆ ใช้ยางพาราไม่มากนัก

โฆษณา
AP Chemical Thailand

            แต่เชื่อว่าจะเป็นแบบอย่างของหน่วยงานอื่นๆ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินนโยบายปลุกกระแส “ถนนยางพารา” ขึ้นทั่วประเทศ

 

ขอขอบคุณ

            นายกิจ หลีกภัย

            นายสมชาย สุธรรม

            องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง

            ถนนพัทลุง อ.เมือง จ.ตรัง 92000 โทรศัพท์ 0-7521-8262

โฆษณา
AP Chemical Thailand

3

DSC_0046

DSC_0045

tags: ถนนยางพารา เป็นตัวอย่างการนำ ยางพารา มาทำประโยชน์ อบจ.ตรัง นำร่องสร้าง ถนนยางพารา ภาคใต้ ขยายผลชัดเจน ถนนยางพารา มีความคงทนมากกว่าถนนทั่วไป ถนนยางพารา

[wpdevart_like_box profile_id=”112152085551102″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]