ม.มหิดล เปิดโลกมหัศจรรย์ ศึกษาวิจัยโรคเมตาบอลิกในมนุษย์ ด้วยโมเดลของปลาม้าลาย (Zebrafish model)

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“โรคอ้วน” เป็นหนึ่งในโรคเมตาบอลิก (Metabolic Syndrome) ที่เกิดจากระบบการเผาผลาญที่ผิดปกติของร่างกาย เป็นโรคที่ไม่เพียงก่อให้เกิดปัญหาภาวะไขมันพอกตับ แต่ยังทำให้เกิดภาวะเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ และความผิดปกติอื่นๆ ของร่างกายเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้ศึกษาวิจัยโรคเมตาบอลิกในมนุษย์ ด้วยโมเดลของปลาม้าลาย (Zebrafish model)

1.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์เฉลิมชัย มิตรพันธ์ อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาชีวเคมี
1.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์เฉลิมชัย มิตรพันธ์ อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

การวิจัยโรคเมตาบอลิกด้วยโมเดลของปลาม้าลาย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์เฉลิมชัย มิตรพันธ์ อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะผู้ศึกษาวิจัยโรคเมตาบอลิกด้วยโมเดลของปลาม้าลายในระดับโมเลกุลว่า โมเดลปลาม้าลายถูกนำมาใช้เป็นโมเดลสัตว์ทดลองอย่างเป็นระบบเพื่อศึกษาการทำงานของระบบประสาท โดย ศ.จอร์จ สไตรซิงเกอร์ (Prof. George Streisinger) แห่งมหาวิทยาลัยโอเรกอน (University of Oregon) สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา

หลังจากนั้นปลาม้าลายเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่มนำไปเป็นโมเดลศึกษา การทำงานของระบบอวัยวะต่างๆ ครอบคลุมไปถึงการศึกษาพยาธิวิทยา และการเกิดโรคต่างๆ แม้ปลาโดยทั่วไปจะอยู่ในประเภทสัตว์เลือดเย็น ต่างจากมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์เลือดอุ่นเลี้ยงลูกด้วยนม ข้อมูลจากโครงการถอดรหัสแผนที่พันธุกรรมของปลาม้าลาย

2.ปลาม้าลาย02

คุณสมบัติของปลาม้าลาย

โดยสถาบันวิจัยจีโนม (Wellcome Trust Sanger Institute) พบว่า ปลาม้าลาย ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่ถูกจัดเป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังที่มีการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย มีลำดับเบสพันธุกรรม (Genome Sequence) ที่เหมือนกับรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ถึงร้อยละ 70 และถ้าใช้เทคนิคทางโมเลกุล เพื่อยับยั้งการแสดงออก (gene knockdown) ของยีนในกลุ่มนี้ จะมีลักษณะที่ตรวจสอบได้ (phenotype) ที่เหมือนกับลักษณะที่พบในโรคที่เกิดขึ้นในมนุษย์ถึงร้อยละ 80

นอกจากนี้สาเหตุที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์เฉลิมชัย มิตรพันธ์ ได้เลือกศึกษาวิจัยโดยใช้ปลาม้าลายเป็นสัตว์ทดลอง  เพื่อการศึกษาวิจัยโรคเมตาบอลิก  เนื่องจากสามารถทำการทดลองได้ในจำนวนที่มากกว่า และเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการทดลองโดยใช้หนู ซึ่งเป็นสัตว์เลือดอุ่นเลี้ยงลูกด้วยนมเช่นเดียวกันมนุษย์ เป็นสัตว์ทดลอง โดยได้เลือกใช้ปลาม้าลาย อายุ 3-7 เดือน ซึ่งเป็นตัวเต็มวัย (adult) มาเลี้ยงให้อ้วน หรือมีน้ำหนักเกินกว่าปกติ ก่อนนำเนื้อเยื่อจากตับ ไต และไขมัน มาทำการศึกษาวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันที่สะสมในตับ ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นโดย กลุ่มวิจัย Metabolomics and Systems Biology ศูนย์ชีวโมเลกุลและฟีโนมศิริราช (Siriraj Metabolomics and Phoenomics Center, SiMPC) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ปลาม้าลาย2.1

ซึ่งการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ทำเพื่อประโยชน์ในการค้นหาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biological marker) สำหรับทำนายการเกิดโรคเมตาบอลิกในมนุษย์ ภายใต้ทุนสนับสนุนวิจัยหลักจากมหาวิทยาลัยมหิดล โดยทำการทดลองอย่างถูกต้อง และเท่าที่จำเป็น ตามหลักจริยธรรม ตามพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ.2558 โดยก้าวต่อไปเตรียมต่อยอดขยายผลสู่การศึกษาโรคทางเมตาบอลิกที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับโรคอ้วน เช่น ภาวะไตเสื่อม (chronic kidney disease) ในมนุษย์ต่อไปด้วยในอนาคต

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ซึ่งการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา เพียงหันมาติดตามเฝ้าระวัง BMI ไม่ให้เกิน 25 ค่า BMI นี้ เราสามารถคำนวณได้เอง โดยใช้น้ำหนักตัวที่เป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงยกกำลังสอง และรู้จักป้องกันโดยระวังไม่ให้น้ำหนักตัวมากเกินไป จากการรับประทานอาหารแต่พอดี และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร.0-2849-6210