การเพาะเลี้ยงกบ ผลิตลูกกบสร้างรายได้ 20,000 บาท ต่อเดือน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การเพาะเลี้ยงกบ

อาชีพ การเพาะเลี้ยงกบ ยังคงเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมจากเกษตรทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ ตั้งแต่ภาคกลาง เหนือ อีสาน หรือแม้แต่ภาคใต้ ก็เช่นกัน ซึ่งในแต่ละภูมิภาคก็จะมีเทคนิคการเลี้ยงและเพาะพันธุ์ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละฤดูกาล

โดยทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำจะพาทุกท่านไปยังภาคอีสาน ที่ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เกษตรกรให้ความสนใจประกอบธุรกิจเพาะพันธุ์กบเป็นจำนวนมาก โดยจะพากันไปที่ฟาร์มเพาะพันธุ์กบของ ร.ต.ทรงพล ชมภูนาวัฒน์ หรือจ่าป๊อก เจ้าของกิจการ “ฟาร์มกบจ่าป๊อก” ณ ต.เดิด อ.เมือง จ.ยโสธร ที่ปัจจุบันได้เกษียณตัวเองออกมาประกอบกิจ การเพาะเลี้ยงกบ ขายอย่างจริงจัง จนสามารถเลี้ยงครอบครัว

1.การเพาะเลี้ยงกบ
1.การเพาะเลี้ยงกบ

ฤดูกาลเพาะเลี้ยงกบ

ก้าวเข้าสู่เดือนกรกฎาคม ถึงพฤษภาคม เป็นช่วงที่บรรยากาศของฤดูฝนได้เริ่มเข้ามาให้เกษตรกรหลายๆ พื้นที่ได้ชุ่มช่ำ และเริ่มต้นทำการเกษตร ซึ่งแน่นอนว่าต้องรวมไปถึงเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกบในหลายๆ พื้นที่ ที่จะได้เริ่มเตรียมบ่อสำหรับเพาะพันธุ์ เพราะเป็นช่วงที่อุณหภูมิ และสภาพภูมิอากาศต่างๆ  เหมาะสม และจะช่วยให้กบเจริญพันธุ์ได้เป็นอย่างดี

2.ร.ต.ทรงพล-ชมภูนาวัฒน์-และภรรยา
2.ร.ต.ทรงพล-ชมภูนาวัฒน์-และภรรยา

เทคนิคการเลี้ยงกบ

เทคนิคการเลี้ยงของจ่าป๊อกส่วนใหญ่ได้จากการเสาะหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต หนังสือ รวมถึงการสอบถามจากผู้เพาะเลี้ยงกบเจ้าอื่นๆ ที่มีประสบการณ์ ทำให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ประสบความสำเร็จ โดยฟาร์มของจ่าป๊อกนั้นตอนช่วงเริ่มต้นจะซื้อลูกพันธุ์มาจากทางอีสานตอนใต้ ตัวสีดำ จาก อ.ขุขันธ์ จ.ศรีษะเกษ โดยเป็นพันธุ์กบนา

แต่ต่อมาได้ไปเจอฟาร์มใกล้เคียงใช้พ่อแม่พันธุ์ที่มีตัวสีเหลืองใหญ่ ซึ่งเป็นสายพันธุ์บลูฟร๊อก ทำให้เมื่อนำมาผสมพันธุ์กับกบนาแล้วได้กบที่มีขนาดใหญ่ และสามารถทนโรคได้เป็นอย่างดี

ถ้าเป็นช่วงน้ำแล้ง หรืออากาศค่อนข้างร้อน ทางฟาร์มจะต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวัน ยกเว้นในช่วงฤดูฝน ที่กบจะมีไข่ค่อนข้างมาก หากเปลี่ยนน้ำบ่อยจะทำให้ไข่กบเกิดการทะลักได้ และที่สำคัญอีกอย่างก็คือ ต้องให้กบมีการพักจำศีล เพื่อป้องกันไม่ให้พ่อแม่พันธุ์เกิดการตายในช่วงน้ำแล้ง หรือฤดูร้อน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

โดยจะเก็บไว้ในบ่อปูนขนาดประมาณ 3×2 เมตร สูง 1 เมตร และอาศัยใช้ร่มเงาจากต้นไม้เพื่อลดแสงที่จะส่องลงไปในบ่อ เพื่อไม่ให้มีแสงเข้ามากเกินไป เพราะอาจทำให้กบอยู่ในสภาวะเครียดได้ อีกทั้งยังช่วยควบคุมอุณหภูมิในบ่อพ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์ ให้คงที่

ในส่วนของการให้อาหารจะต้องมีการให้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นฤดูใดๆ โดยจะให้วันละ 2 เวลา เช้าและเย็น และเมื่อช่วงผสมพันธุ์จึงจะมีการเพิ่มฮอร์โมนเข้าไปเพื่อกระตุ้นให้กบมีการเจริญพันธุ์ที่ดีมากยิ่งขึ้น

3.บ่อเก็บพ่อแม่พันธุ์กบ
3.บ่อเก็บพ่อแม่พันธุ์กบ
พ่อพันธุ์กบ
พ่อพันธุ์กบ
แม่พันธุ์กบ
แม่พันธุ์กบ

 

4.บ่อเพาะพันธุ์-และอนุบาลลูกกบ
4.บ่อเพาะพันธุ์-และอนุบาลลูกกบ

การเพาะพันธุ์กบ

บ่อสำหรับเพาะพันธุ์นั้นจะมีขนาด 2.5 x5 เมตร ทั้งหมด 4 บ่อ โดยจะใช้ทั้งสำหรับเพาะพันธุ์ รวมถึงอนุบาลลูกกบด้วย การเพาะพันธุ์ของจ่าป๊อกจะเริ่มในช่วงเดือนมีนาคม ทำให้เมื่อถึงช่วงเดือนเมษายน ซึ่งถึงแม้จะเป็นช่วงที่น้ำแล้งแต่ทางฟาร์มก็จะเริ่มมีลูกกบออกจำหน่ายได้

เพราะทางฟาร์มจะใช้เทคนิคการใส่น้ำแข็งเพื่อลดอุณหภูมิในบ่อ เพื่อให้น้ำในบ่อใกล้เคียงกับอุณหภูมิของน้ำฝนที่ตกใหม่ๆ ให้มากที่สุด และการสเปรย์น้ำลงไปเพื่อให้กบพร้อมสำหรับการผสมพันธุ์ ซึ่งเทคนิคนี้จ่าป๊อกกล่าวว่าได้มาจากการสังเกตพฤติกรรมของกบในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่อุณหภูมิต่ำ ทำให้ทราบว่าหากสามารถลดอุณหภูมิของน้ำลงได้ จะทำให้กบพร้อมสำหรับการผสมพันธุ์นอกฤดูกาล

ส่วนการดูความสมบูรณ์ของพ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์ ถ้าเป็นตัวเมียจะต้องมีลักษณะท้องที่ใหญ่ ข้างลำตัวต้องมีลักษณะเป็นผิวสากเหมือนใบข่อย ยิ่งสากมากยิ่งสมบูรณ์มาก ส่วนตัวผู้ถ้าลูบกลางท้องจะต้องตอบสนองด้วยการใช้ขาหลังทั้งสองข้างโอบรัด ซึ่งแสดงว่าพร้อมที่จะผสมพันธุ์แล้ว จากนั้นจึงจะนำพ่อแม่พันธุ์ไปใส่ไว้ในบ่อสำหรับเพาะพันธุ์

โดยจะใช้พ่อพันธุ์ 1 ตัว ต่อแม่พันธุ์ 1 ตัว โดยรอบหนึ่งจะใช้พ่อแม่พันธุ์อยู่ที่ 10-15 คู่ และในบ่อจะต้องมีการเติมอากาศเอาไว้ตลอด 24 ชั่วโมง และทำการสเปรย์น้ำไปด้วยตลอดเวลา โดยภายในบ่อจะใช้การถ่ายน้ำออกด้วยระบบน้ำล้น และรักษาความสูงของระดับเอาไว้ไม่ให้เกินกว่า 7 เซนติเมตร หลังจากทิ้งพ่อแม่พันธุ์เอาไว้แล้ว 1 คืน จึงจะนำพ่อแม่พันธุ์ออก แล้วเพิ่มระดับน้ำขึ้นอีก 4-5 เซนติเมตร เติมอากาศไว้อีก

โฆษณา
AP Chemical Thailand
5.ลูกพันธุ์กบ
5.ลูกพันธุ์กบ
ลูกกบตัวสมบูรณ์
ลูกกบตัวสมบูรณ์

การให้อาหารกบ

เมื่อตัวอ่อนฟักออกมาเป็นตัวแล้ว จะปล่อยเอาไว้อีก 2-3วัน เพื่อให้ตัวอ่อนกิน Yolk ที่ติดมาจนหมด จากนั้นจึงจะเริ่มย้ายลูกอ๊อดขยายออกไป โดยในการเพาะ 1 รอบ จะสามารถนำลูกอ๊อดไปขยายต่อได้อีกถึง 3 บ่อ จากนั้นจึงจะเริ่มให้อาหาร โดยจะใช้เป็นไข่ไก่ผสมน้ำอุ่น สาดให้รอบบ่อวันละ 2 มื้อ เช้าและเย็น

แต่ระยะหลังมานี้ทางฟาร์มได้เริ่มทดลองเปลี่ยนเป็นอาหารฝุ่นผง ซึ่งให้อัตราการเจริญเติบโตที่ค่อนข้างดีกว่า เมื่อเลี้ยงผ่านไป 2 สัปดาห์ จึงจะเริ่มเปลี่ยนเป็นอาหารเม็ดไปจนครบ 1 เดือน จึงจะสามารถนำไปแยก อนุบาลอีก 1 สัปดาห์ จึงจะสามารถนำไปขายได้ ซึ่งในระหว่างการเลี้ยง

ทางฟาร์มจะมีการเสริมวิตามินลงในอาหาร แทนการใช้พืชน้ำ รวมถึงเปลี่ยนถ่ายน้ำทุก 1 สัปดาห์ โดยจะใช้เป็นน้ำบาดาลหมุนเวียนน้ำออกไป เพื่อเสริมให้กบมีการเจริญเติบโตดี และแข็งแรง ซึ่งการใช้วิตามินแทนนั้นจะช่วยตัดปัญหาเรื่องการเน่าเสียของน้ำที่จะเกิดขึ้นเสมอ เมื่อใช้พืชน้ำเข้ามาเสริม

6.คัดไซส์กบ
6.คัดไซส์กบ

การจำหน่ายกบ

กบที่ขายในฟาร์มจะเริ่มต้นอยู่ที่ตัวละ 1 บาทโดยเป็นกบระยะสมบูรณ์ อวัยวะครบ แต่ถ้าลูกค้าต้องการไซส์ที่ใหญ่ขึ้นก็จะอยู่ที่ 1.50-2 บาท มีไปจนถึงกิโลกรัมละ 100 บาท โดยปริมาณที่ผลิตในแต่ละเดือนนั้นจะผลิตตามปริมาณออเดอร์ที่ลูกค้าสั่ง

โดยในอนาคตจ่าป๊อกวางแผนไว้ว่าจะขยายฟาร์มออกไป และเพิ่มกำลังการผลิตและขยายตลาดให้มากขึ้น รวมถึงส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ให้มีความรู้ ความสามารถ ในการทำเกษตรแบบพอเพียง

7.กบที่เลี้ยงในฟาร์ม
7.กบที่เลี้ยงในฟาร์ม
ฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด
ฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด

ฝากถึง…เกษตรกรที่สนใจเลี้ยงกบ การเพาะเลี้ยงกบ

“การเอาจริงเอาจัง คือ สิ่งสำคัญ เวลาจะทำอะไร อย่าไปทำเล่นๆ ลองเบิ่งดู!!!และตั้งใจทำให้ดีที่สุด” จ่าป๊อกกล่าว ซึ่งทุกวันนี้นอกจากการเพาะพันธุ์กบแล้ว จ่าป๊อกยังได้เริ่มธุรกิจใหม่อีกอย่างหนึ่ง คือ การเลี้ยงจิ้งหรีด ซึ่งถือว่าเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง และต้องใช้ความทะนุถนอมยิ่งกว่าการเลี้ยงกบ ทำให้ต้องหาข้อมูล และพยายามศึกษาอย่างจริงจัง และทำรายได้งาม พอๆ กับการเลี้ยงกบเลยทีเดียว ดังนั้น “หากเราไม่ยอมแพ้ ยังไงความสำเร็จก็จะไม่ไปไหนแน่นอน” จ่าป๊อกกล่าวปิดท้าย

โฆษณา
AP Chemical Thailand

หากเกษตรกรท่านใดมีความสนใจต้องการสั่งซื้อลูกพันธุ์กบจาก “ฟาร์มกบบ้านจ่าป๊อก” สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 081-600-7512 หรือ Facebook :พ่อจ่าป๊อก ร.ต.ทรงพล ชมภูนาวัฒน์