คาร์กิลล์หนุนชลประพัฒน์ฟาร์มได้กำไร ปลาทับทิม – นิล เพราะกล้าลงทุนไฮเทค

โฆษณา
AP Chemical Thailand

คาร์กิลล์หนุนชลประพัฒน์ฟาร์มได้กำไร ปลาทับทิม – นิล เพราะกล้าลงทุนไฮเทค

เทคโนโลยีกับเกษตรกรรม ในอดีต 2 สิ่งนี้อยู่คนละแขนง ไม่สามารถนำมาอยู่ร่วมกันได้ เพราะหลายคนมักคิดว่าต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ และอีกฝ่ายต้องเสียเปรียบเสมอไป แต่ในยุคปัจจุบันการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในภาคเกษตรกรรม ส่งผลดีต่อภาคเกษตรเป็นอย่างมาก เพราะสามารถเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ช่วยควบคุมปัจจัยการผลิต ลดความเสี่ยง และ ความเสียหาย จากปัจจัยทางธรรมชาติ

ที่สำคัญยังเพิ่มความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลกได้  แม้ในปัจจุบันสินค้าเกษตรที่ส่งออกของไทย เริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากต้นทุนและสูงกว่าคู่แข่ง ดั้งนั้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้จะสามารถช่วยลดต้นทุน  โดยใช้ปัจจัยการผลิตที่มีประสิทธิภาพมาเพิ่มผลผลิต ทำให้สินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น  รวมถึงสินค้าใหม่ๆ ตามความต้องการของตลาดได้

1.เฮียเก่ง เจ้าของ ชลประพัฒน์ฟาร์ม
1.เฮียเก่ง เจ้าของ ชลประพัฒน์ฟาร์ม

สภาพพื้นที่เลี้ยง ปลาทับทิม ปลานิล

ทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำ ได้ลงพื้นที่ไปถึงถิ่นอีสานใต้ มีโอกาสไปเยี่ยมชม และร่วมพูดคุยกับเกษตรกรผู้เลี้ยง ปลาทับทิม และ ปลานิล ซึ่งเป็นฟาร์มที่ควบคุมการเลี้ยงทั้งหมดด้วยเทคโนโลยีทันสมัย มีระบบการจัดการที่ดีเยี่ยม ภายใต้การบริหารงานโดย คุณพัฒน์นธี แป้นทอง หรือ เฮียเก่ง เจ้าของ ชลประพัฒน์ฟาร์ม ตั้งอยู่ที่ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์

ชลประพัฒน์ฟาร์มเป็นฟาร์มที่ได้รับมาตรฐาน GAP จากกรมประมง มีพื้นที่ฟาร์มทั้งหมด 100 ไร่ แบ่งเป็น 22 บ่อเลี้ยง 3 บ่ออนุบาล 2 บ่อพักน้ำ เป็นฟาร์มที่มีการเลี้ยงแบบระบบปิด และปูด้วย PE ทั้งหมด 100%  สำหรับการเลี้ยงปลาทับทิมและปลานิลของฟาร์ม มีการวางแผนการจัดการตั้งแต่เริ่มเลี้ยง จนกระทั่งจับขาย มีการวางโปรแกรมการเลี้ยงร่วมกับทีมนักวิชาการ บริษัท คาร์กิลล์สยาม จำกัด เพื่อให้ได้ผลผลิตปลาทับทิมและปลานิลที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด และคุ้มค่ากับการลงทุนมากที่สุด

2.เครื่องตีน้ำ อุปกรณ์ให้อากาศภายในบ่อเลี้ยง
2.เครื่องตีน้ำ อุปกรณ์ให้อากาศภายในบ่อเลี้ยง

การอนุบาลลูกปลาทับทิม ปลานิล

การเลี้ยงปลาทับทิมและปลานิลของฟาร์ม มีการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อที่จะสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ให้ได้มากที่สุด เริ่มตั้งแต่เทคนิคการเลือกลูกพันธุ์ปลา เฮียเก่งกล่าวว่า “สายพันธุ์เป็นสิ่งสำคัญ เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” การคัดเลือกสายพันธุ์ลูกปลาที่นำมาเลี้ยง ต้องเป็นลูกพันธุ์ที่มีคุณภาพ จากแหล่งผลิตลูกพันธุ์ที่ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ ปลาต้องทรงป้อม อ้วน และ สันหนา เพราะเป็นที่ต้องการ จากนั้นนำปลามาอนุบาลในบ่อ ขนาดประมาณงานกว่าๆ อนุบาลครั้งละ 80,000-100,000 ตัว ใช้เวลา 40-50 วัน จะได้ปลาไซซ์ 20 กรัม

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เทคนิคการอนุบาลลูกปลาให้มีอัตรารอดสูงขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ออกซิเจนที่ให้ต้องถึง แร่ธาตุต้องได้ อาหารที่ให้ต้องเหมาะสมกับปลาแต่ละช่วง ทางฟาร์มจะมีการวางโปรแกรมการดูแลอนุบาลลูกปลา ผ่านการปรึกษากับนักวิชาการของ บริษัท คาร์กิลล์สยาม จำกัด  มีการใช้ด่างทับทิมสำหรับการฆ่าเชื้อในน้ำ การใช้ปูนมาร์ลเพื่อเพิ่มค่าอัลคาไลน์

การให้จุลินทรีย์เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในปลา อาทิตย์ละ 2 วัน และการเติมเกลือ เพื่อปรับค่า pH ให้เหมาะสม เป็นการเพิ่มแร่ธาตุ ช่วยลดความเครียดในปลาได้ หลังจากช่วง 40-50 วันไปแล้ว จะได้ปลาขนาด 20 กรัม สำหรับนำไปลงบ่อเลี้ยง เป็นระบบการเลี้ยงแบบหนาแน่น ปลานิลไม่ต่ำกว่า 22,000 ตัว และปลาทับทิมไม่ต่ำกว่า 18,000 ตัว ใช้เวลาเลี้ยงอีก 60 วัน จะได้ปลาขนาด 200 กรัม หลังจากนั้นจะย้ายบ่อนำไปเลี้ยงต่ออีก 120 วัน จนได้ปลาขนาด 0.7-1 กิโลกรัม ซึ่งเป็นขนาดตามความต้องการของตลาดในปัจจุบัน

3.บ่อเลี้ยงปลาทับทิม และ ปลานิล ระบบปู PE 100% ช่วยควบคุมคุณภาพน้ำ
3.บ่อเลี้ยงปลาทับทิม และ ปลานิล ระบบปู PE 100% ช่วยควบคุมคุณภาพน้ำ

การบริหารจัดการบ่อปลาทับทิม ปลานิล

การเลี้ยงปลาทับทิมมีหลายรูปแบบ ทั้งการเลี้ยงในกระชัง หรือ บ่อดิน ซึ่งการเลี้ยงรูปแบบนี้มีความเสี่ยงหลายๆ ปัจจัย ทั้งเรื่องของคุณภาพดิน บางพื้นที่มีแร่ธาตุในดินไม่เหมาะกับการเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือเรื่องคุณภาพน้ำ สำหรับปลาที่เลี้ยงในกระชังแม่น้ำ ที่ไม่สามารถควบคุมคุณภาพน้ำได้ ซึ่งส่งผลโดยตรงกับคุณภาพของปลา

ฟาร์มได้มองเห็นปัญหาในการเลี้ยงในบ่อธรรมชาติ จึงมีการพัฒนาและลงทุนเลี้ยงในรูปแบบบ่อ PE 100% ทั้ง บ่อเลี้ยง บ่ออนุบาล และ บ่อเก็บน้ำ โดย PE ที่ใช้มีความหนา 2.75 มิลลิเมตร สามารถใช้งานได้ถึง 10 ปี ซึ่งการเลี้ยงแบบบ่อ PE พร้อมด้วยเทคโนโลยีแบบเต็มระบบ สามารถแก้ปัญหาปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติได้ ส่งผลดีต่อคุณภาพและปริมาณปลาที่ได้ สร้างกำไรให้เกษตรกรได้อย่างแน่นอน

การใช้เทคโนโลยีในภาคการเกษตร ไม่เพียงแต่เป็นการเพิ่มต้นทุนให้เกษตรกร แต่หากมองในระยะยาวแล้ว ถือเป็นการช่วยลดต้นทุนได้ และยังสามารถเพิ่มผลผลิต สร้างกำไรได้อีกหลายเท่าตัว หากแต่เพียงต้องใช้ให้ถูกที่ ถูกเวลา และต้องมีความปลอดภัยเป็นที่ตั้ง สำหรับฟาร์มมีการควบคุมการเลี้ยงด้วยระบบอัตโนมัติทั้งหมด

เฮียเก่งกล่าวว่า “การลงทุนการทำเกษตร เรื่องแรกที่ต้องทำ คือ ระบบไฟฟ้า” เนื่องจากทุกระบบจะต้องมีกำลังไฟฟ้าเดินอยู่ตลอด ไฟฟ้าดับแม้แต่วินาทีเดียวก็สร้างความเสียหายได้  ฟาร์มจึงมีระบบสำรองไฟ พร้อมทั้งระบบสัญญาณเตือนภัย (Alarm) ถ้าหากระบบไหนมีปัญหา ห้องควบคุมซึ่งมีพนักงานดูแลอยู่ 24 ชั่วโมง จะทราบทันที

โฆษณา
AP Chemical Thailand

สาเหตุที่ต้องมีการวางแผนระบบไฟฟ้าให้รอบคอบ เนื่องจากเฮียเก่งมีประสบการณ์ทำฟาร์มไก่มาก่อน อย่างไก่ เมื่อไฟดับแค่ 15 นาที ไก่ก็สามารถตายยกเล้าได้ ส่วนปลาก็ไม่ต่างกัน ไฟดับถึง 1 ชั่วโมง ก็ตายยกบ่อเช่นกัน ดังนั้นการวางแผนระบบไฟฟ้าตั้งแต่แรก เป็นเรื่องสำคัญที่เกษตรกรทุกคนควรจะทำ นอกจากระบบไฟแล้ว ฟาร์มก็มีระบบตัดไฟ (Safe-T-Cut) เพื่อความปลอดภัยของพนักงานอีกด้วย

4.ลักษณะตัวปลา ทรงอ้วน สันหนา ตัวป้อม สีแดงสด ตามที่ตลาดต้องการ
4.ลักษณะตัวปลา ทรงอ้วน สันหนา ตัวป้อม สีแดงสด ตามที่ตลาดต้องการ

การให้อาหารปลาทับทิม ปลานิล

การจะได้ผลผลิตปลาทับทิมและปลานิลที่มีคุณภาพ ปลอดภัย เป็นที่ต้องการของตลาด ขึ้นอยู่กับลูกพันธุ์ปลาที่ดี การบริหารจัดการฟาร์ม การควบคุมคุณภาพน้ำ รวมไปถึงอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ คือ อาหาร สำหรับอาหารปลาทับทิมและปลานิล การให้อาหารแต่ละช่วงขนาดปลาก็มีความแตกต่างกัน เนื่องจากในลูกปลาขนาดเล็ก มีความต้องการโปรตีนในอาหารสูง และค่อยๆ ลดลงในปลาขนาดโต

ทางฟาร์มจึงเลือกใช้อาหารของ บริษัท คาร์กิลล์สยาม จำกัด ใช้ตั้งแต่ปลาฟายจนถึงปลาไซซ์ หรือขนาดที่ตลาดต้องการ โดยใช้อาหาร Aqua Boost 998 (อะควา บูสท์ 998) ในปลาขนาดเล็ก เป็นการให้สารอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการเฉพาะด้านของปลาเล็กที่กำลังเติบโต ซึ่งช่วงนี้ถือเป็นช่วงสำคัญที่สุด ช่วยเสริมสร้างให้อวัยวะทุกส่วนมีพัฒนาการที่แข็งแรง มีวิตามินซี และ วิตามินอี สูง ช่วยปรับสภาพการทำงานของลำไส้ ส่งผลให้ระบบการย่อยและการดูดซึมทำงานได้ดี ปลามีสุขภาพแข็งแรงขึ้น เพิ่มอัตราการรอดสูง

และในปลาขนาดโต  ใช้ Aqua Pond 843-T (อะควา พอนด์ 843-ที) ซึ่งเน้นความสมดุลของโปรตีนและพลังงานที่ใช้ประโยชน์ได้เพียงพอต่อความต้องการของปลา ช่วยในเรื่องการย่อยอาหารให้ย่อยง่าย ทำให้ปลาสามารถดูดซึมอาหารได้มีประสิทธิภาพ ลดปริมาณไนโตรเจนสะสมในน้ำจากขี้ปลา ลดการเกิดแอมโมเนียจากไนโตรเจนส่วนเกินที่เป็นสาเหตุทำให้น้ำเสีย เมื่อน้ำไม่เสียก็ลดการเปลี่ยนถ่ายน้ำ ทำให้ลดต้นทุนอีกด้วย

และที่สำคัญอาหารปลาของคาร์กิลล์ทั้ง 2 ตัว มี โปรไบโอติก คือ จุลินทรีย์ที่มีชีวิต ซึ่งเมื่อปลากินเข้าไปในปริมาณที่เหมาะสม จะส่งผลดีต่อสุขภาพปลา ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน เสริมสร้างความต้านทานโรคจากสภาพแวดล้อม และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยอาหาร มีความปลอดภัยต่อปลาและผู้บริโภค เนื่องจากโปรไบโอติกลดการใช้ยา และปัญหาเชื้อดื้อยา ถือเป็นอาหารอีกหนึ่งตัวที่ช่วยในการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร และเพิ่มผลผลิตปลาทับทิมและปลานิลอีกด้วย

5.ปลาทับทิมคุณภาพ ไซซ์ปลาจาน ที่ตลาดต้องการมากที่สุด
5.ปลาทับทิมคุณภาพ ไซซ์ปลาจาน ที่ตลาดต้องการมากที่สุด

เทคนิคการเลี้ยงปลาทับทิม ปลานิล

การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ในภาคเกษตร เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร พร้อมทั้งช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้แรงงานคน และก็ยังสามารถช่วยควบคุมคุณภาพปลาทับทิม/ปลานิลที่เลี้ยงให้ได้คุณภาพดีตามที่ฟาร์มต้องการด้วยเครื่องให้อาหารปลาอัตโนมัติ (Auto Feed) ซึ่งเครื่อง Auto Feed ของฟาร์มแตกต่างจากที่อื่นตรงที่เป็นการประยุกต์เทคโนโลยีหลายๆ แบบมารวมกัน คือ ระบบไซโล ของฟาร์มหมู ถังบรรจุอาหาร (Hopper) ของฟาร์มไก่ และเครื่อง Auto feed ของปลา

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ซึ่งการนำข้อดีของเทคโนโลยีของ 3 อย่าง เข้าด้วยกัน จะได้เครื่อง Auto Feed ที่สามารถตอบโจทย์การให้อาหารปลาที่เหมาะสมกับปลาแต่ละช่วงวัย ไม่มากหรือน้อยเกินไป เฮียเก่งกล่าวว่า “การให้อาหารตามเปอร์เซ็นต์ Feed ที่ควรจะเป็น คือ หลักการเลี้ยงสัตว์น้ำที่แท้จริง จะต้องคอยเช็ค ถ้าอาหารเหลือจะหยุดให้ทันที แต่ถ้าอาหารไม่พอ เราจะให้แค่นี้ ฟาร์มใช้หลักนี้มาตลอด ส่งผลดีต่อปลา ทำให้ค่า FCR ของปลาต่ำ และก็ยังช่วยลดต้นทุนค่าอาหารไปได้อีกเยอะ”

คุณภาพของอาหารปลาจำเป็นต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการวัดคุณภาพของอาหารวัดได้จากค่า FCR (Feed Conversion Ratio) หรืออัตราการแลกเนื้อ คือ อัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อของปลา เนื่องจากฟาร์มมีการเลี้ยงในระบบปิดที่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ ประกอบกับการใช้อาหารที่มีคุณภาพสูง ส่งผลให้ฟาร์มได้ผลผลิตปลานิล มีค่า FCR ต่ำถึง 1.1-1.2 และปลาทับทิม มีค่า FCR 1.3-1.4

เหตุผลที่ทางฟาร์มสามารถทำ FCR ได้ต่ำ เนื่องจากประกอบด้วย 3 เหตุผลหลัก คือ 1. ทางฟาร์มมีอัตราการรอดของปลาค่อนข้างสูง 90-95% ขึ้นไป 2. ฟาร์มมีการควบคุมคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของปลา ลดการถ่ายน้ำ ส่งผลให้ต้นทุนลดต่ำลง และ 3. ทางฟาร์มมีการออกแบบโปรแกรมฟีดอาหารที่เหมาะสำหรับการเลี้ยงปลาบ่อ PE โดยเฉพาะ จึงทำให้ได้ปริมาณผลผลิตปลาทับทิมต่อบ่อที่ 15-16 ตัน และปลานิลได้ผลผลิตต่อบ่อที่ 20 ตัน และ FCR ค่อนข้างดี

การเลี้ยงปลาให้มีอัตรารอดสูง ก็เป็นหนึ่งจุดประสงค์ของเกษตรกรผู้เลี้ยงทุกคน เพราะเมื่อปลาที่เลี้ยงมีอัตรารอดที่สูง นั่นหมายถึงผลกำไรที่จะได้สูงขึ้นเช่นกัน แต่การเลี้ยงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัยร่วมกัน ทั้งเรื่องของลูกพันธุ์ปลา คุณภาพน้ำ อาหาร ออกซิเจน และ ปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย

สำหรับฟาร์ม อัตรารอดของปลานิลสูงถึง 99% ต่ำสุดที่เคยเจอ คือ 95% ส่วนปลาทับทิมมีอัตรารอดอยู่ที่ 95% ทั้งปลานิลและปลาทับทิมของฟาร์ม ถือว่ามีอัตรารอดสูงมาก ซึ่งการที่ปลามีอัตรารอดสูงสามารถนำมาทดแทนกับต้นทุนการเลี้ยงได้ เมื่อมาคำนวณกำไรที่ได้กับต้นทุนที่เสียไป จะได้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำ คุ้มค่ากับการลงทุน

6.เนื้อปลาทับทิมแบบแร่ ผลิตภัณฑ์แปรรูปเพิ่มมูลค่าจากทางฟาร์ม
6.เนื้อปลาทับทิมแบบแร่ ผลิตภัณฑ์แปรรูปเพิ่มมูลค่าจากทางฟาร์ม

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย ปลาทับทิม ปลานิล

ผู้บริโภคในปัจจุบันมีพฤติกรรมการเลือกสินค้าละเอียดกว่าในอดีตขึ้นมาก เนื่องจากเทรนด์ปัจจุบัน ผู้บริโภคหันมาดูแลสุขภาพตัวเองกันมากขึ้น เรื่องอาหารจึงเป็นสิ่งแรกๆ ที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สำหรับสินค้าประเภทปลาก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้บริโภค ทางฟาร์มจึงพยายามพัฒนาคุณภาพ และปรับตัวเข้าหาผู้บริโภค โดยการแปรรูปผลผลิต ภายใต้แบรนด์ “ปลาทับทิมภูเขาไฟ” โดยมีการส่งตรงจากฟาร์มถึงมือผู้บริโภคโดยไม่ผ่านคนกลาง เน้นปลาทับทิมที่มีความสด คุณภาพสูง ไร้สารตกค้าง และ ยาปฏิชีวนะ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เฮียเก่งกล่าวว่า “การเลี้ยงปลาในพื้นที่อีสานใต้ยังไปได้อีกไกล แม้ตอนนี้จะประสบปัญหาราคาปลาตกต่ำ ดังนั้นเราต้องมีการจัดการและการวางแผนเพื่อลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด การลดต้นทุนไม่ได้หมายความว่าเราไม่ลงทุน แต่ต้องลงทุนให้ได้ผลผลิตที่คุ้มค่ามากที่สุด จึงเป็นที่มาของการทำฟาร์มเลี้ยงแบบระบบปิด เพื่อที่เราจะควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้ และการเลี้ยงปลาแบบใส่ใจผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องกินปลาที่เราเลี้ยงเองได้ แล้วผู้บริโภคจะมั่นใจในคุณภาพปลาของฟาร์มเรา”

ขอขอบคุณข้อมูล คุณพัฒน์นธี แป้นทอง (ชลประพัฒน์ฟาร์ม)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม บริษัท คาร์กิลล์สยาม จำกัด สำนักงานใหญ่ โทร.02-263-2929 130-132 อาคารสินธรทาวเวอร์ 3 ชั้น 24 ถ.วิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพ 10330

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับที่ 387