ผลิต “อาหารสูตรเดียว” เลี้ยง กุ้งก้ามกราม ปน กุ้งขาว กำไรหลายครอป เสี่ยเหียน ดอนยายหอม เซียนวิเคราะห์ต้นทุนการเลี้ยง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ด้วยข้อจำกัดในการเลี้ยงกุ้งให้ “ยั่งยืน” หลายประการ ส่งผลให้ประเทศไทยลดประสิทธิภาพ การผลิต และ การตลาด ปล่อยให้ประเทศคู่แข่ง อย่าง เวียดนาม เอกวาดอร์ และ อินเดีย แซงหน้า ทั้งๆ ที่ไทยเคยเป็นแชมป์โลกมาก่อน จุดอ่อน ตลอดห่วงโซ่การผลิตหลายเรื่อง ยังเป็นดินพอกหางหมู และ “จุดแข็ง” บางอย่าง ก็ยังไม่ขยายผล เช่น พื้นที่ ภาคกลาง-ตะวันออก สามารถเลี้ยง กุ้งก้ามกราม และ กุ้งขาว ในบ่อเดียวกันสำเร็จ มีตัวอย่างมากมาย แต่รัฐ โดย กรมประมง ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่ พันธุ์ และ ปัจจัยการผลิต เอื้ออำนวย นิตยสารสัตว์น้ำ จึงต้องหยิบเกษตรกรคนเก่ง เมืองยอดแหลม ที่ประสบความสำเร็จ มานำเสนอ หวังว่าแกนนำผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง และ สัตว์น้ำ ทั้ง 2 ภาค จะได้สนใจขยายผล

1.กุ้งก้ามกรามไซซ์ใหญ่
1.กุ้งก้ามกรามไซซ์ใหญ่

ปัญหาและอุปสรรคการเลี้ยงกุ้ง

ย้อนไปในปี 2555 ชาวกุ้งเจอ โรค EMS (ตายด่วน) ส่งผลให้ผลผลิตลดลงมาตลอด และเมื่อถูก โรคขี้ขาว และ โรคตัวแดงดวงขาว กระหน่ำ ก็ยิ่งทำให้ผลผลิตไม่ถึง 3 แสนตัน/ปี จนขยับอันดับส่งออกกุ้ง จากที่ 1 มาเป็นที่ 6 ของโลก ปล่อยให้คู่แข่ง อย่าง เอกวาดอร์ อินเดีย และ เวียดนาม แซงไม่เห็นฝุ่น

วันนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้ง กรมประมง เป็นคณะทำงาน แก้ปัญหาและพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งให้เป็นระบบ

องค์กรชาวนากุ้งระดับชาติ อย่าง สมาคมกุ้งไทย ที่มี นายเอกพจน์ ยอดพินิจ เป็นนายก ได้พบ รมต.เกษตรฯ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เพื่อให้บัญชาคณะทำงาน เพราะปัญหา 3 โรค ทำให้ ต้นทุน การผลิต ขนาด 100 ตัว/กก. เพิ่มขึ้น 160 บาท ใกล้เคียงกับราคากุ้ง ทำให้เกษตรกรไม่กล้าลงลูกกุ้ง

จากเคยส่งออก 6.4 แสนตัน ปี 53 นำรายได้เข้าประเทศกว่าแสนล้านบาท/ปี วันนี้ผลิตกุ้งได้เพียง 2.8 แสนตัน/ปี เท่านั้น

ยังกระทบต่ออุตสาหกรรมห้องเย็น ต้องหยุดกิจการหลายแห่ง ซึ่งเรื่องนี้ ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ยืนยัน ห้องเย็นที่ยังดำเนินการไม่เกิน 20 แห่ง แต่ถ้าไทยผลิตกุ้งได้ 4 แสนตัน/ปี ห้องเย็นจะกลับมาทำธุรกิจ โดยไม่ต้องนำกุ้งจากต่างประเทศมาแปรรูปอย่างที่เป็นอยู่

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การเลี้ยงกุ้งขาววานาไม แหล่งผลิตหลักอยู่ในภาคใต้ เมื่อยังแก้เรื่องโรคไม่ได้ ทำไมรัฐไม่หาทางแก้ไข หรือทำไมไม่หันมาส่งเสริมเลี้ยงในภาคกลาง-ตะวันออก??

ต้องยอมรับว่า วันนี้พื้นที่น้ำจืดภาคกลางมีการเลี้ยง กุ้งก้ามกราม ปน กุ้งขาว ในบ่อ ประสบความสำเร็จ หลายครอป และหลายราย

วิกฤตโควิด 19 ผสมกับ วิกฤตเศรษฐกิจไทย 2 เด้ง เล่นงานเกษตรไทยล้มหายตายจากกันถ้วนหน้า

2.คุณเหียน ปัญญาวานิชกุล
2.คุณเหียน ปัญญาวานิชกุล

การเพาะเลี้ยงกุ้ง

แต่ เสี่ยเหียน เกษตรกรรุ่นเดอะ วัย 76 ปี ดอนยายหอม นครปฐม กลับผงาดในวงการ กุ้ง ไก่ชน และ พืชอินทผลัมบาฮีเนื้อเยื่อ ที่หาตัวจับยาก

รวย 3 เด้ง ด้วยเงินสดๆ ที่ไหลเข้าทุกวัน หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว กำไรดีกว่าเล่นหุ้น หรือขายทองคำ

บนเนื้อดิน 200 กว่าไร่ ถูกพัฒนาเป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นหลัก

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เนื่องจากจังหวัดนครปฐมได้ “น้ำจืด” คุณภาพดีจากเขื่อนศรีนครินทร์ ที่ถูกป้อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยกรมชลประทาน

เสี่ยเหียน เป็นลูกกตัญญูของเตี่ย ที่มุ่งมั่นการเลี้ยง กุ้งก้ามกราม เป็นหลัก ทั้งๆ ที่กุ้งน้ำจืดพันธุ์นี้ไม่ได้ทำกำไรให้ทุกครอป

แน่นอน กุ้งก้าม ถูกผูกติดไว้กับตลาดในประเทศเป็นหลัก เมื่อคนไทยมีเงินกินกุ้ง คนเลี้ยงก็กำไร แต่บางปีตลาดกุ้งก้ามก็ตก เพราะคนกินน้อยลง กระทั่งปัจจุบันคนจีนมาเที่ยวเมืองไทยน้อย และคนไทยจนลง ย่อมกระทบต่อกุ้งก้ามโดยตรง

แต่เสี่ยเหียนก็ไม่ท้อ หาแนวทางเลี้ยงให้รอด และมีกำไรคุ้มค่าแก่การลงทุน

จังหวะกับที่มีบุตรสาวเข้ามาช่วย และมีลูกน้องชาวเมียนมา ผู้ซื่อสัตย์ หลายคน ทำงานด้วยใจ เพราะเถ้าแก่ใจดี มีเมตตา ให้ค่าแรงคุ้มค่า มีเงินส่งกลับเมียนมา ไปสร้างสวนยางอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เป็นต้น

แรงงานมีฝีมือ จำเป็นมากๆ ในภาคเกษตร ปศุสัตว์ และ ประมง เสี่ยเหียนเข้าถึงเรื่องนี้ จึงปั้นชาวเมียนมา ผู้ภักดี ให้มีฝีมือ ดังนั้นจึงต้องหักกำไร จ่ายเป็นโบนัส พร้อมเงินเดือนประจำ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

จากเตี่ยสู่ลูก ยืนหยัดเลี้ยงกุ้งก้ามมาตลอดกว่า 4 ทศวรรษ ด้วย สายพันธุ์ และ รูปแบบการเลี้ยง ที่เปลี่ยนมาตลอด จากการเลี้ยงแบบธรรมชาติสู่การเลี้ยงแบบพัฒนา

30 ปี ของ เสี่ยเหียน ที่มุ่งเลี้ยงกุ้งก้าม มันเป็นเวลาที่ยาวนานมาก เมื่อเทียบกับคนเลี้ยงกุ้งอีกหลายๆ คน

นั่นเพราะเขาเลี้ยงกุ้งแบบธุรกิจ คิด “ต้นทุน” ทุกเรื่อง ตั้งแต่ น้ำเลี้ยง พันธุ์กุ้ง อาหารกุ้ง แรงงาน อุปกรณ์ และ พลังงาน เป็นต้น

3.อาหารกุ้งที่ตากแห้งแล้วพร้อมนำไปให้กุ้งที่เลี้ยงในบ่อ
3.อาหารกุ้งที่ตากแห้งแล้วพร้อมนำไปให้กุ้งที่เลี้ยงในบ่อ

สภาพพื้นที่เลี้ยงกุ้ง

บ่อเลี้ยงขนาด 4-5 ไร่ จำนวน 22 บ่อ 8 ไร่ 3 บ่อ และ บ่อ 21 ไร่ 1 บ่อ ต้องใช้ทุน/บ่อ/ครอป เท่าไหร่ ต้องได้ตัวเลขชัดเจน จากนั้นก็บริหารต้นทุนให้นิ่ง หากเกิดอุบัติเหตุนำไปสู่ความเสียหาย จะต้องแก้ปัญหาให้เจ็บตัวน้อยที่สุด

วันนี้เสี่ยเหียนเลี้ยงกุ้งก้ามปนกุ้งขาวเหมือนกับหลายๆ คน เพราะทั้ง 2 กุ้ง ล้วนเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และแน่นอนเป็นการกระจายความเสี่ยงในเรื่อง “ราคา” ที่ผันผวนตลอด

การเลี้ยงกุ้งขาวที่ต้องใช้ความเค็ม 5 ppt. (5 แต้ม) เสี่ยเหียนได้ซื้อน้ำเค็มคันรถละหลายบาท มาเลี้ยง โดยปล่อยลูกกุ้ง P ที่โตมาจากน้ำเลี้ยง 5 ppt. ของโรงเพาะฟัก และปล่อยลูกกุ้งลงในคอกที่กั้นไว้ในบ่อด้วยผ้า ให้อาหารเม็ด 2 ยี่ห้อ หลังจากสัปดาห์ ก็นำ ลูกกุ้งก้ามกราม 300 ตัว/กก.ๆ ละ 200 บาท มาปล่อยในบ่อน้ำ ความเค็ม 0 เมื่อกุ้งขาวปรับตัวได้แล้ว ก็ปล่อยจากคอกไปดำเนินชีวิตในบ่อรวมกับกุ้งก้าม

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“เนื่องจากบ่อของผมเยอะ หาสายพันธุ์ที่ดีจากฉะเชิงเทรา มาปล่อยวัดดวง ตัวละ 6 สตางค์ ถ้าซื้อตัวผู้ล้วนมาปล่อย รอดไม่หมด อากาศไม่ดี ปีไหนเป็นโรคก็ตาย ผมเลี้ยง 22-23 บ่อ ถ้าเลี้ยงตัวผู้ต้นทุนสูง” เสี่ยเหียน เปิดเผยถึงการไม่ซื้อลูกกุ้งก้ามตัวละ 3 บาท มาเลี้ยง โดยปล่อยบ่อละ 4-5 หมื่นตัว

แต่ละบ่อปล่อยกุ้งขาว 1 แสนตัว แต่ช่วงหลังปล่อย 2 แสนตัว เพราะกุ้งโตดี ทนโรค เป็นลูกกุ้ง P12 ราคาตัวละ 9 สตางค์ ของ เสาวลักษณ์ฟาร์ม ฉะเชิงเทรา

ในการเลี้ยงกุ้งขาวปนก้ามกรามนั้น เสี่ยเหียนเลี้ยง 6 รอบ 6 ชุดๆ ละ 6 บ่อ เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ และเกิดผิดพลาดน้อยที่สุด

4.การจับกุ้งก้ามกราม
4.การจับกุ้งก้ามกราม

การบริหารจัดการบ่อกุ้ง

ในการเลี้ยงกุ้ง เรื่อง “อาหาร” คือ ต้นทุนหลัก เสี่ยเหียนยึดมั่นหลักการผลิตอาหารใช้เองมาตลอด

แน่นอนคนในวงการมองว่ายุ่งยาก ถ้าผิดพลาดจะเสียหาย แต่เสี่ยเหียนมั่นใจในความสามารถของตัวเอง จึงต้องศึกษาคิดค้นวัตถุดิบต่างๆ เพื่อผลิตอาหารสูตรเดียว เลี้ยงกุ้งขาวและก้ามกราม ซึ่งเป็นงานท้าทายนักโภชนศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง

สูตรอาหารเน้น “โปรตีน” สูง จึงต้องใช้ ปลาเป็ด หรือ ปลาป่น เป็นหลัก ตามด้วย รำละเอียด กากถั่วเหลือง และ วิตามิน เป็นต้น ผสมด้วยเครื่องขนาด 2 ตัน เครื่องยนต์ 2 ตัว แบ่งเป็นใช้สำหรับเครื่องบดหยาบ 1 ตัว และ เครื่องปั้นเม็ด 1 ตัว จากนั้นก็นำไปตากแดดให้แห้ง ซึ่งเลี้ยงกุ้ง 22 บ่อ ต้องผสมอาหารวันเว้นวัน แม้เป็นภาระ แต่เสี่ยเหียนยืนยันว่าคุ้มค่าในทางธุรกิจ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เนื่องจากเสี่ยเหียนเลี้ยงกุ้งแบบวิเคราะห์ต้นทุนตลอดเวลา แม้แต่ “ลูกกุ้ง” เมื่อมาถึงฟาร์มจะนับทันที “ผมนับลูกกุ้งตลอด ใช้คนนับ 2 คน นับ 100 ใส่ยาง 1 เส้น ทุกครั้ง ใส่กะละมังดำนับ ถ้ากุ้งตัวขาว เราก็เห็นแล้วว่ากุ้งเป็นโรคหรือเปล่า” เสี่ยเหียน เปิดเผยถึงข้อดีของการนับลูกกุ้ง ซึ่งผู้เลี้ยงส่วนใหญ่ไม่นับ พอเลี้ยงไปแล้วได้กุ้งน้อย ก็หาสาเหตุไม่เจอ

การนับลูกกุ้ง นอกจากตรวจสอบคู่ค้าถึง “ความซื่อสัตย์” แล้ว ยังเป็นการเช็คโรคไปในตัว

แม้แต่ “น้ำเค็ม” คันรถละ 1,200 บาท ก็เลี้ยงลูกกุ้งขาวได้ถึง 3 คอกๆ ละ 400 บาท เท่านั้นเอง แต่เลี้ยงลูกกุ้งได้ถึง 1-2 แสนตัว แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ยอมกั้นคอก เพราะขี้เกียจ จึงไม่ได้คำนึงถึงต้นทุน

การใช้อาหารสูตรเดียวเลี้ยงทั้ง กุ้งขาว และ ก้ามกราม ในบ่อเดียว ก็เป็นการลดต้นทุนโดยตรง ซึ่งถ้าใช้อาหารเป็ดของบริษัท จะต้องใช้อาหารไม่ต่ำกว่า 3 สูตร แม้จะต้องเสียเวลาจัดหาวัตถุดิบ และการลงทุนอุปกรณ์ผสม แต่ทั้ง 22 บ่อ ใช้คนงานเพียง 10 คน จึงต้องเพิ่มงานให้คุ้มค่ากับค่าแรง “ปกติต้อง 3 สูตร ตามหลักวิชาการ อาหารถุง 3 สูตร ของผมสูตรเดียวจบ กุ้งก็โต ก้ามกราม 120 วัน 8-9 ตัว/กก.” เสี่ยเหียน ยืนยันถึงจุดแข็งอาหารสูตรเดียว

แม้แต่ “เครื่องเติมอากาศ” บ่อละ 2 แขน แต่ก็ใช้แขนเดียวตีน้ำ พอกุ้งได้อายุจึงจะตี 2 แขน เน้นกลางคืน กลางวันตีน้ำช่วงหน้าร้อน เป็นการประหยัดพลังงาน

เมื่อถามถึง “โรคกุ้ง” เสี่ยเหียน ยืนยันว่าไม่เจอ ปีนี้เลี้ยงง่าย และลูกกุ้งก็มีคุณภาพ อึดมากๆ

โฆษณา
AP Chemical Thailand
5.กุ้งก้ามกราม ขนาดไซซ์ 7-8 ตัว กิโลกรัม น้ำหนักดี
5.กุ้งก้ามกราม ขนาดไซซ์ 7-8 ตัว กิโลกรัม น้ำหนักดี

รายได้จากผลผลิตกุ้ง

ดังนั้นเมื่อกุ้งขาวเริ่มโตก็จับพาเชียน โดยใช้ “ไอ้โง่” เป็นเครื่องมือ ปล่อยแสนตัว 60 วัน จับได้ 700 กก. ได้ไซซ์ 100 ตัว/กก. พอใจแล้ว ดักจับรุ่นละ 2-3 รอบ จากนั้นก็คว่ำบ่อ พร้อมๆ กับจับกุ้งก้ามกราม ใช้เวลาทั้งหมด 120 วัน ในจำนวน 6 บ่อ มีการดักจับทุกๆ 10-20 วัน ทยอยจับ “ผมดักไอ้โง่กุ้งขาวของเสาวลักษณ์ 6 บ่อ ขายได้ 520,000 บาท ปล่อย 6 แสน อีกชุดดักแล้วขายได้ 520,000 บาท เหมือนกัน ถือว่าลูกกุ้งดี” เสี่ยเหียน ยืนยันถึงรายได้จากการขายกุ้งขาว ลูกกุ้งเสาวลักษณ์

ส่วนรายได้จากกุ้งขาว ก็ขายได้ราคากว่าที่อื่น เพราะกุ้งเนื้อแน่น สีสวย ราคาสูงกว่าที่อื่น กก.ละ 10 บาท

สรุปได้ว่า คุณเหียน ปัญญาวานิชกุล ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามปนกุ้งขาว เพราะมีการพัฒนาองค์ความรู้ หรือ กล้าปรับตัว นำสิ่งใหม่ๆ มาใช้ ภายใต้การบริหาร “ต้นทุน” อย่างรัดกุม แม้นกุ้งราคาตกต่ำ ก็พอมี “กำไร” ประคองธุรกิจ มีการกระจายความเสี่ยง ไม่ยึดติดกับกุ้งก้ามกราม แต่กล้าเลี้ยงกุ้งขาวในบ่อเดียวกัน จนประสบความสำเร็จมาตลอด

เมื่อดู “บทบาท” ของนักเลี้ยงกุ้ง ที่เกื้อกูลแลกเปลี่ยน องค์ความรู้ และ ปัจจัยการผลิต ซึ่งกันและกัน จะพบว่าเขาเป็นเลือดจีน ที่ต้องสู้ไม่ถอยง่ายๆ แม้ เสี่ยเหียน วัยใกล้เลข 8 แต่มันสมองและประสบการณ์สุดยอด เข้มงวดอยู่กับการบริหารต้นทุนการเลี้ยงให้สัมพันธ์กับรายได้แต่ละช่วง และได้ “กำไร” ที่คุ้มค่า ซึ่งเขาได้คลุกคลีอยู่กับบริษัทผลิต “อาหาร” ชื่อดัง ในฐานะผู้ใช้ แต่ยังไม่มีใครหยิบยกบทบาทของเขาในการเลี้ยงกุ้งแบบยั่งยืนในภาคกลาง เพื่อให้เป็นต้นแบบต่อการถ่ายทอดทักษะไปสู่เกษตรกร ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับที่ 391