ฟาร์มปูนิ่ม ราคาขายได้ 470 บาท/กก. ผลผลิตไม่พอส่งตลาดโรงแรม ร้านอาหาร

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การเลี้ยงปูนิ่ม

ปัจจุบันต้องยอมรับว่าการทำธุรกิจสัตว์น้ำนั้นจะรอหวังพึ่งการเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา อย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะเท่าที่ผ่านมาจะเห็นว่าทั้งราคาผลผลิต และการเลี้ยงนั้น ไม่ได้ง่ายดังเดิม คำพูดที่ว่าอยากรวยให้เลี้ยงกุ้ง คงใช้ไม่ได้แล้วในยุคสมัยนี้ ด้วยราคาและต้นทุนการจัดการที่เพิ่มมากขึ้น  ฟาร์มปูนิ่ม

ส่งผลให้เกษตรกรหลายรายต้องหาวิธีปรับเปลี่ยนการเลี้ยงบางลง เลี้ยงผสมสัตว์น้ำชนิดอื่น หรืออาจจะเปลี่ยนชนิดสัตว์น้ำในการเลี้ยงไปเลยก็มี ดังเช่นฟาร์มเกษตรกรที่เราจะเสนอในฉบับนี้ เธอและครอบครัวเรียกว่าอยู่ในวงการการเลี้ยงกุ้งมาโดยตลอด ตั้งแต่ยุคกุ้งกุลาดำ แต่เมื่อการเลี้ยงกุ้งไม่ประสบความสำเร็จ  จึงต้องหาสัตว์น้ำชนิดใหม่เข้ามาเลี้ยงเพื่อสร้างรายได้มาจุนเจือครอบครัว

1.คุณเหมี่ยวชูผลผลิตปูนิ่มที่ทางฟาร์มผลิตได้
1.คุณเหมี่ยวชูผลผลิตปูนิ่มที่ทางฟาร์มผลิตได้

เกษตรกรท่านนี้ คือ คุณกฤษชนก สุวรรณโชติ หรือคุณเหมี่ยว เจ้าของ Mee D ฟาร์มปูนิ่ม” ฟาร์มเลี้ยงปูนิ่มรายแรกของจังหวัดระยอง คุณเหมี่ยวได้เผยถึงเรื่องราวในการทำฟาร์มแห่งนี้ว่า เกิดจากความล้มเหลวในการเลี้ยงกุ้ง ทั้งกุ้งขาว กุ้งดำ และกุ้งก้ามกราม ถึงขั้นติดหนี้ร่วมล้านบาท เพราะไม่สามารถเลี้ยงกุ้งได้ผลผลิตที่ดี

“เลี้ยงกุ้งมาแทบทุกชนิด แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งๆ ที่เลี้ยงตามแบบที่บริษัทกำหนด อัดทั้งอาหาร อัดทั้งยา อัดทั้งแร่ธาตุ ช่วงเลี้ยงกุ้งลงทุนเยอะมาก แต่ผลลัพธ์ที่ออกมามันไม่ได้ตามที่เราตั้งเป้าไว้ ลงกุ้ง100,000 ตัว จับได้ 500 กิโล  กุ้งไม่โตบ้าง กุ้งตายบ้าง จนสุดท้ายเราเลือกที่จะถอยออกมา จนวันหนึ่งเจอกับผู้ใหญ่ที่เคารพ ท่านได้แนะนำให้ทดลองเลี้ยงปูนิ่ม ก็เลยตัดสินใจลองลี้ยงดู”

2.กล่องเลี้ยงปูนิ่ม
2.กล่องเลี้ยงปูนิ่ม

จุดเริ่มต้นการเลี้ยงปูนิ่ม

“ปูนิ่ม (Soft-Shell Crab) คือ ปูที่ถูกนำมาเลี้ยงจนกระทั่งลอกคราบ เมื่อลอกคราบใหม่ๆ กระดองปูจะนิ่มจนรับประทานได้ทั้งกระดอง เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีปริมาณแคลเซียมสูง คอเลสเตอรอลต่ำ ต้นทางของการทำปูนิ่มส่วนมากมาจากจังหวัดชายฝั่งอันดามัน เช่น ระนอง หรือสตูล พื้นที่ที่มีการทำ ฟาร์มปูนิ่ม จะคล้ายกับการทำฟาร์มกุ้ง คือ มีบ่อขนาดใหญ่เรียงรายกันอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ที่แตกต่างจากการเลี้ยงกุ้ง คือ จะมีตะกร้าใบเล็กๆ วางเรียงรายกันเป็นแพอยู่เต็มบ่อ”

เมื่อตัดสินใจจะเลี้ยงปูนิ่มแล้ว คุณเหมี่ยวจึงลงทุนขุดบ่อขึ้นมาใหม่ ขนาด 5 ไร่ เมื่อปี 2557 เมื่อได้บ่อที่ต้องการแล้ว ด้วยความที่คุณเหมี่ยวเคยล้มเหลวจากการเลี้ยงกุ้ง จึงทำให้รู้ว่าสาเหตุที่เจ๊งกุ้งส่วนหนึ่งมาจากคุณภาพดินที่ไม่ดี ดินไม่มีแร่ธาตุ เพราะใส่แต่ยาทำให้ดินเสีย ดังนั้นสำหรับบ่อเลี้ยงปูนิ่ม คุณเหมี่ยวจึงเลือกที่จะเลี้ยงปูแบบไม่ใช้สารเคมี ใช้วิธีทางธรรมชาติ ตามที่ “ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตรัสว่า ทุกอย่างจะต้องมาจากดิน ดินดี ทำอะไรก็ดี”

โฆษณา
AP Chemical Thailand
3.แพเลี้ยงปูนิ่มภายในฟาร์ม
3.แพเลี้ยงปูนิ่มภายในฟาร์ม
ปูนิ่มใน ฟาร์มปูนิ่ม นั้นจะแบ่งออกเป็น 3 เพศ คือ ตัวเมีย ตัวผู้ และปูกระเทย
ปูนิ่มใน ฟาร์มปูนิ่ม นั้นจะแบ่งออกเป็น 3 เพศ คือ ตัวเมีย ตัวผู้ และปูกระเทย

สภาพพื้นที่เลี้ยงปู

ขั้นตอนการเตรียมบ่อ เริ่มต้นจากการเปิดหน้าดินบ่อใหม่ ลงปุ๋ยไส้เดือนจำนวน 1 ตัน จากนั้นตากบ่อประมาณ 7-10 วัน พอดินเริ่มแห้ง เติมน้ำเข้าบ่อสูง 1-1.5 เมตร ซึ่งน้ำที่นำมาเลี้ยงปูนั้นจะต้องมีความเค็มตั้งแต่ 7-25 แต้ม ค่าอัลคาไลน์ 110 ค่า pH 7.5 จะเหมาะสมที่สุด ในส่วนของน้ำนั้นคุณเหมี่ยวแนะนำว่าให้เตรียมน้ำเหมือนการเลี้ยงกุ้ง

เมื่อเติมน้ำเข้าบ่อเลี้ยงแล้วจึงเริ่มสร้างแพปู ในช่วงเริ่มแรกคุณเหมี่ยวยอมรับว่าด้วยข้อจำกัดทางด้านเงินทุน ทำให้วัสดุอุปกรณ์ในการสร้างแพปูมาจากไม้ไผ่แทบทั้งหมด เพราะมีต้นทุนต่ำ ในเบื้องต้นคุณเหมี่ยวนำลูกปูจำนวน 500 ตัว ขนาด 13-15 ตัว/กิโลกรัม ใส่กล่องเลี้ยง อัตรา 1:1 ซึ่งลูกปูที่เลี้ยงเป็นปูนิ่มนั้นจะต้องใช้ลูกปูตัวผู้ และปูกระเทยเท่านั้น

การบริหารจัดการบ่อเลี้ยง

ส่วนปูตัวเมียจะปล่อยลงพื้นบ่อ เพื่อเลี้ยงให้เป็นปูไข่ เนื่องจากปูตัวเมียจะต้องใช้แร่ธาตุในการดำรงชีพสูง เพื่อปูจะตั้งท้องและให้ไข่ที่มีคุณภาพ คุณเหมี่ยวย้ำว่าการเลี้ยงปูนิ่มนั้นสิ่งสำคัญที่สุด คือ เรื่องของสายพันธุ์ ซึ่งปูที่นำมาเลี้ยงนั้นจะต้องเป็น “ปูดำ” สายพันธุ์มาจาก “อินเดีย” เท่านั้น จึงจะได้ปูนิ่มคุณภาพที่ดี เนื่องจากปูจะโตเร็ว แข็งแรง และทนต่อโรค หรือสภาพน้ำที่ไม่สมบูรณ์

หลังจากนำปูใส่กล่องเลี้ยงแล้ว จะเริ่มให้เศษปลาสดเป็นอาหารปู ซึ่งจะต้องให้อาหารทุกๆ 3 วัน และในระหว่างเลี้ยงจะต้องคอยสาวแพปู เพื่อดูการลอกคราบของปูทุกๆ 4 ชั่วโมง เนื่องจากลักษณะของปูดำที่นำมาเลี้ยงนั้นจะมีการลอกคราบทุกๆ 4 ชั่วโมง หมุนเวียนกันไป ปูตัวไหนสมบูรณ์เร็วก็จะลอกคราบเร็ว

และเมื่อพบว่าปูลอกคราบแล้วต้องรีบนำตัวปูนิ่มขึ้นมาแช่น้ำจืดให้เร็ว เพื่อให้ปูคายน้ำเค็มและแร่ธาตุต่างๆ ออก จากนั้นนำเข้าแช่แข็ง หรือนำส่งลูกค้า ซึ่งปูนิ่มที่คายน้ำแล้วสามารถอยู่บนบกได้นาน 2-3 วัน เลยทีเดียว ปูดำ  1 ชุด จำนวน 500 ตัว จะใช้เวลาในการเลี้ยงประมาณ 3 เดือน ถึงจะลอกคราบเป็นปูนิ่มทั้งหมด

สาเหตุที่ต้องดูการลอกคราบของปูทุกๆ 4 ชั่วโมงนั้น เนื่องจากหากปูมีการลอกคราบแล้ว ในทุกๆ วินาที กระดองจะค่อยๆ แข็งตัว และจะแข็งสมบูรณ์แบบภายใน 6 ชั่วโมง ดังนั้นในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ คุณเหมี่ยวยอมรับว่าแทบจะกินนอนก็ปูเลยก็ว่าได้

โฆษณา
AP Chemical Thailand
4.ปูนิ่มแบบฟรีซแช่แข็ง
4.ปูนิ่มแบบฟรีซแช่แข็ง

ปัญหาและอุปสรรคของการเลี้ยงปูนิ่ม

ปัจจุบัน Mee D ฟาร์มปูนิ่ม มีการเลี้ยงปูนิ่มกว่า 10,000 ตัว/ไร่ แต่กว่าที่จะประสบความสำเร็จอย่างที่เห็นทุกวันนี้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการเลี้ยงปูนิ่มเป็นงานที่ค่อนข้างจุกจิก มีปัญหาเข้ามาให้แก้ไขตลอด อาทิเช่น การลอกคราบของปูไม่หมด

ซึ่งคุณเหมี่ยวมีวิธีแก้ไขโดยการสาดปูนร้อนลงบ่อเพื่อกระตุ้นให้ปูลอกคราบ ในกรณีที่ปูลอกคราบไม่หมดทั้งตัว สิ่งสำคัญของฟาร์มแห่งนี้ คือ ทางฟาร์มจะไม่ใช้ยาในการเลี้ยงปูเด็ดขาด เช่น สารเร่งการลอกคราบ เป็นต้น เพราะทางฟาร์มต้องการเลี้ยงปูแบบธรรมชาติเท่านั้น

5.ปูนิ่มแบบสดๆ เก็บขึ้นจากแพแบบวันต่อวัน
5.ปูนิ่มแบบสดๆ เก็บขึ้นจากแพแบบวันต่อวัน
ปูนิ่มไข่ดอง เมนูฮอตฮิตในช่วงนี้
ปูนิ่มไข่ดอง เมนูฮอตฮิตในช่วงนี้

ช่องทางจำหน่ายปูนิ่ม

ซึ่งในช่วงแรกของการเลี้ยง ผลผลิตปูนิ่มที่ออกมาจากฟาร์ม คุณเหมี่ยวนำไปขายตามร้านอาหารเป็นหลัก ซึ่งได้กระแสตอบรับค่อนข้างดี ตลาดมีความต้องการสูง แต่แน่นอนว่าผลผลิตที่ส่งร้านอาหารต้องเป็นปูนิ่มที่สมบูรณ์ แขนขาครบ ขนาดตัวค่อนข้างใหญ่ จะทำให้ขายได้ราคาดี

แต่สำหรับผลผลิตที่ตกเกรด คุณเหมี่ยวได้นำมาแปรรูปเป็นอาหาร โดยนำพื้นที่บ่อปูด้านหน้าติดถนน มาสร้างเป็นร้านอาหาร เริ่มแรกจากเมนู “ก๋วยเตี๋ยวปูนิ่ม” ซึ่งหลังจากที่เปิดร้านคุณเหมี่ยวได้การตอบรับจากทั้งนักท่องเที่ยวและชาวบ้านในละแวกพื้นที่แวะเวียนเข้ามาชิมรสชาติอาหารเมนูปูนิ่มเป็นอย่างดี หากนับเวลาย้อนกลับไปก็ร่วม 5 ปีแล้ว ที่ฟาร์มแห่งนี้เดินหน้าผลิตปูนิ่มส่งตลาดทั้งในจังหวัดระยอง และจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย

“การเลี้ยงปูนิ่มต้องบอกว่า ลงทุนครั้งแรกใช้ทุนค่อนข้างสูง เพราะอุปกรณ์ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะกล่องใส่ปู ท่อน้ำ แต่ลงทุนแล้วสามารถใช้ได้นานเป็น 10ปี  ส่วนต่อมา คือ ลูกพันธุ์ ราคากิโลกรัมละ 175 บาท 13-15 ตัว/โล  ซึ่งหากรวมค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้ว ต้นทุนการเลี้ยงจะอยู่ที่ประมาณ 300 บาท/กิโลกรัม แต่สามารถขายได้ตั้งแต่ 470 บาท/กิโลกรัมขึ้นไป”

6.เมนูปูนิ่มจากเชฟชุมพล
6.เมนูปูนิ่มจากเชฟชุมพล

การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การทำ ฟาร์มปูนิ่ม

นอกจากการเป็นผู้ผลิตแล้ว ปัจจุบัน Mee D ฟาร์มปูนิ่ม ยังได้ผันตัวเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการเลี้ยงปูนิ่มให้กับผู้ที่สนใจ โดยใช้พื้นที่ของทางฟาร์มเป็นศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงปูนิ่ม ซึ่งคุณเหมี่ยวพร้อมที่จะเป็นวิทยากรมอบองค์ความรู้ให้กับผู้ที่สนใจ สามารถเข้ามาเยี่ยมชมที่ฟาร์มได้ และหากเกษตรกรศึกษาการเลี้ยงปูนิ่มและสนใจอยากเลี้ยงจริง มีสถานที่พร้อมในการเลี้ยง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ซึ่งในส่วนของสถานที่ คุณเหมี่ยวย้ำว่าควรจะเป็นบ่อที่ใกล้ป่าชายเลน หรือคลองที่มีน้ำขึ้น น้ำลง ไหลเข้า-ออก ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตปูนิ่มที่มีคุณภาพ ปูโตเร็ว แข็งแรง เพราะได้รับธาตุอาหารครบถ้วน หากเกษตรกรมีองค์ประกอบหลักครบถ้วนแล้ว สนใจการเลี้ยงปูนิ่มจริงๆ ทางฟาร์มก็มีวัสดุอุปกรณ์ และลูกปู จำหน่ายแบบครบวงจรเลยทีเดียว

7.ปูนิ่มขนาดมาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ
7.ปูนิ่มขนาดมาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ
ปูนิ่มคุณภาพพร้อมส่งให้ลูกค้า
ปูนิ่มคุณภาพพร้อมส่งให้ลูกค้า

ด้านตลาดผลผลิตปูนิ่ม

ในส่วนด้านการตลาด คุณเหมี่ยวยอมรับว่าตลาดปูนิ่มมีค่อนข้างมาก ซึ่งปัจจุบันผลผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งประเทศ ทำให้วันนี้ Mee D ฟาร์มปูนิ่ม ต้องผันตัวจากผู้ผลิตมาตั้งโต๊ะรับซื้อผลผลิตปูนิ่ม รวมถึงสร้างเครือข่ายผู้เลี้ยง เพื่อเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น ให้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค

“ตลาดตอนนี้ไม่ต้องมองถึงต่างประเทศเลย แค่ในไทยเองก็ไม่พอที่จะส่งแล้ว โรงแรม ร้านอาหาร บ้านเรามีเยอะแค่ไหน ทุกร้านต้องการผลผลิต เหนือ ใต้ อีสาน กลาง ทำให้ผลผลิตเราไม่พอส่ง วันนี้เราต้องหันมาผลักดันให้เกษตรกรที่สนใจให้หันมาเลี้ยงปูนิ่ม เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตให้มากขึ้น แล้วเราจะเป็นคนรับซื้อผลผลิตนั้นเอง คนผลิตก็ผลิตไป ส่วนเราจะรับซื้อและส่งออกไปยังตลาดต่างๆ เอง ซึ่งตอนนี้เรามีฟาร์มในเครือข่ายแล้ว 4 ฟาร์ม กำลังการผลิตก็ยังไม่เพียงพอกับตลาดที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากเกษตรกรท่านใดสนใจอยากเลี้ยงปูนิ่ม ก็สามารถเข้ามาสอบถามรายละเอียดที่ร้านได้เลย”

ขอขอบคุณข้อมูล

คุณกฤษชนก สุวรรณโชติ

หรือสนใจอยากศึกษาการเลี้ยงปูนิ่ม สามารถเข้าไปเยี่ยมชมฟาร์ม รับประทานอาหารเมนูปูนิ่ม ได้ที่

โฆษณา
AP Chemical Thailand

Mee D ฟาร์มปูนิ่ม

98/1 หมู่ 5 ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

โทร : 089-834-6898