รวมกลุ่ม 254 ราย เลี้ยงกุ้งและปลา ชูธง 3 รูปแบบการเลี้ยงเชิงธุรกิจ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

จากผู้ส่งออกกุ้งอันดับ 1 ของโลก วันนี้กลับต้องมานำเข้ากุ้งแทน เห็นได้ชัดว่าอาชีพการเลี้ยงกุ้งมีความเสี่ยงรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาสภาพแวดล้อม อากาศ ไม่เอื้ออำนวย แต่ละพื้นที่ความพร้อมต่างกัน ปัญหาเรื่องโรคระบาด การเลี้ยงยากขึ้น ลงทุนสูง ส่งผลให้ปริมาณกุ้งไม่แน่นอน การหาแนวทางฟื้นฟูการผลิตกุ้งจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายฝีมือ

1.วิสาหกิจผู้เลี้ยงกุ้ง1

จุดเริ่มต้นการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาผู้เลี้ยงกุ้งเกษตรพอเพียง 49

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาผู้เลี้ยงกุ้งเกษตรพอเพียง 49 ต.โรงเข้ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เป็นกลุ่มหนึ่งที่เกิดจากการรวมตัวของผู้มีอาชีพเลี้ยงกุ้ง เพื่อต้องการบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องแหล่งเงินทุน และสานต่ออาชีพให้อยู่รอดและยั่งยืน โดยมี คุณจำนงค์ สุขรัตน์ เป็นประธานกลุ่ม และ คุณสนิท แดงพยนต์ เป็นเลขากลุ่ม

คุณสนิทให้ข้อมูลว่า ทางกลุ่มวิสาหกิจฯ ได้เริ่มต้นรวมตัวกันขึ้นในปี 2548 โดยมีจุดเริ่มต้นเพื่อต้องการบรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องเงินทุนลงลูกกุ้งของสมาชิก เพราะอาชีพเลี้ยงกุ้งเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ ขอให้เพิ่มหุ้นครั้งละ 1,000 บาท จึงใช้วิธีระดมหุ้น หุ้นละ 1,000 บาท เพื่อเป็นกองทุนกู้ยืมภายในกลุ่ม และมีเงื่อนไขไว้ว่าหากใครลงหุ้น 5,000 บาท กับกลุ่ม จะสามารถกู้เงินได้ 30,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ใช้สมาชิกค้ำประกัน เริ่มต้นจากสมาชิกประมาณ 40 ราย

2.วิสาหกิจผู้เลี้ยงกุ้ง2

การบริหารจัดการภายในกลุ่มฯ

การบริหารงานมุ่งเน้นสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้สมาชิกเป็นหลัก จนกลายเป็นที่ยอมรับ และมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จำนวน 394 ราย จนได้รับโล่พระราชทานในปี 2556 ต่อมาเมื่อจำนวนเงินหุ้นมีจำนวนมากขึ้น จึงจดทะเบียนเป็น “กลุ่มเกษตรกรทำประมงพัฒนาเกษตรพอเพียง 49” ซึ่งกลุ่มพัฒนาฯ จะรับผู้มีอาชีพเลี้ยงกุ้งทั้งหมดจำนวน 256 ราย โดยสมาชิกไม่จำเป็นต้องถือหุ้น

ซึ่งในการดำเนินงานปีแรกได้อำนวยความสะดวกแก่สมาชิกด้วยวงเงินกู้และขยายวงเงินกู้ ปีต่อมาจึงเพิ่มเป็นเครดิตน้ำมัน เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ยังใช้เครื่องยนต์ในการตีน้ำเพิ่มออกซิเจนและสูบน้ำ จึงอำนวยความสะดวกให้สมาชิก และการดำเนินงานปีที่ 3 จึงได้นำสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาชีพเลี้ยงกุ้งมาวางจำหน่าย อาทิ เครื่องสูบน้ำ ใบพัดตีน้ำ และอุปกรณ์ต่างๆ และในปีที่ 4 จึงได้เสนอในที่ประชุมกับสมาชิกเพื่อต้องการนำอาหารกุ้งมาจำหน่ายและให้เครดิตกับสมาชิก โดยคุณสนิทได้คัดเลือกบริษัทผู้ผลิต และคุณภาพราคาของอาหารกุ้ง และเสนอเข้าที่ประชุม มีมติเห็นชอบเลือกใช้อาหารกุ้งและอาหารปลาสลิด ของบริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ลีพัฒนา ฯ นอกจากนี้ยังได้คัดเลือกผู้ผลิตลูกกุ้งหรือ ฟาร์มแฮชเชอรี่ต่างๆ ที่มีคุณภาพ เพื่อให้สมาชิกได้เลือกซื้อในราคาย่อมเยา

ทั้ง 2 กลุ่ม วิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาผู้เลี้ยงกุ้งเกษตรพอเพียง 49 และ กลุ่มเกษตรกรทำประมงพัฒนาเกษตรพอเพียง 49 ดำเนินงานโดยอาศัยหลักปรัชญาพอเพียงของ ร.9 มุ่งบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ และให้ความสำคัญกับสมาชิกทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาให้สมาชิก ทั้งหุ้นเงินกู้ระยะสั้น  หุ้นเครดิตน้ำมัน หุ้นขายสินค้า และหุ้นขายอาหารกุ้ง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

นอกจากนี้ยังมีบริการตรวจวัดคุณภาพน้ำแก่สมาชิก ในวันจันทร์-วันศุกร์ เพราะเล็งเห็นว่าการตรวจวัดคุณภาพน้ำ การเติมแร่ธาตุ และตรวจเช็คสุขภาพกุ้ง เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นมาก โดยมีบริษัทพันธมิตรให้ความร่วมมือหมุนเวียนเข้ามาคอยบริการสมาชิก

3.วิสาหกิจผู้เลี้ยงกุ้ง3

การจัดทำโครงการเลี้ยงกุ้ง

ท่ามกลางปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม และเรื่องโรคระบาดในกุ้ง ทางกลุ่มฯได้จัดทำโครงการเพื่อให้สมาชิกเลี้ยงกุ้งรอด ผลผลิตสม่ำเสมอ มีกำไรทุกรอบ แบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ 1.แบบพัฒนา 2.แบบกึ่งพัฒนา และ 3. แบบผสมผสาน สมาชิกให้ความสนใจเข้ามาสมัครในโครงการทั้ง 3 แบบ จำนวน 15 ราย

ซึ่งทั้ง 3 กลุ่ม จะได้รับความรู้และการถ่ายทอดการเลี้ยงกุ้งเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการเลี้ยง อุปกรณ์ต่างๆ สามารถนำไปปรับใช้กับตนเองได้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละคนด้วย แต่ทางกลุ่มมีเป้าหมาย คือ ต้องการให้สมาชิกเลี้ยงกุ้งได้ และผลผลิตสม่ำเสมอ ได้เงินทุกรอบ การจัดทำโครงการนี้มาช่วยเหลือสมาชิก เพื่อเน้นย้ำและให้ความสำคัญอยู่เสมอ ทั้งเรื่องคุณภาพน้ำ และแร่ธาตุ

“ทางกลุ่มเราได้ปรึกษาหารือกัน เพราะเห็นว่าส่วนใหญ่สมาชิกมีอาชีพเลี้ยงกุ้งอยู่แล้วตั้งแต่สมัยกุ้งกุลาดำ ซึ่งปัญหาของคนเลี้ยงกุ้งมีอยู่เสมอ และได้เสนอเข้าที่ประชุม เพื่อจัดทำโครงการให้สมาชิกเลี้ยงกุ้งได้ผลผลิตสม่ำเสมอ มีกำไร โดยแบ่งเป็น 3 แบบ แต่และแบบจะมีพี่เลี้ยงที่คอยให้คำปรึกษาแนะนำวิธีการเลี้ยง กระทั่งได้จับกุ้ง สมาชิกที่เห็นว่าจะช่วยเหลือได้ก็เข้ามาสมัครในโครงการ สมาชิกจะได้รับการถ่ายทอดการเลี้ยงกุ้งทั้ง 3 แบบ และนำไปปรับใช้กับตนเอง อยู่ที่ความพร้อมของแต่ละคน” คุณสนิท ได้กล่าวถึงโครงการช่วยเหลือสมาชิก

4.วิสาหกิจผู้เลี้ยงกุ้ง4

การเพาะเลี้ยงกุ้ง

โครงการฯ แบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ

แบบพัฒนา บ่อ ปู PE 100% เป็นการลงทุนในระบบการเลี้ยงสูง มี คุณจรูญ  ทรัพย์ศิริ ที่มีความชำนาญการเลี้ยงกุ้งแบบบ่อ PE 100%  จึงเชิญมาเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำสมาชิกตลอดการเลี้ยง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

คุณบุญรวม โทร.092-248-8656 สมาชิกที่ยึดแนวทางการเลี้ยงแบบพัฒนามา 3 ปีแล้ว พี่บุญรวมให้ข้อมูลว่า เธอและครอบครัวมีอาชีพเลี้ยงกุ้งมานานแล้วตั้งแต่สมัยกุ้งกุลาดำ พอกุ้งกุลาดำเจ๊ง ก็เปลี่ยนมาเลี้ยงกุ้งขาว แรกเริ่มก็เลี้ยงได้ดี แต่มาเจอโรค EMS ก็เลี้ยงยากขึ้น จึงหันมาเลี้ยงกุ้งขาวปนกุ้งก้ามกราม เพื่อประคองอาชีพ แค่พอกินพอใช้ แต่รายได้ไม่ขยับตามต้นทุน ถ้ามีหนี้สินก็เป็นอยู่อย่างนั้น ไม่มีเงินเหลือ

หลังจากตัดสินใจเข้าโครงการกับกลุ่ม อีกทั้งได้ไปดูการเลี้ยงบ่อแบบพัฒนาที่ภาคตะวันออก ก็ยอมรับว่ายังไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่นักว่าจะสามารถนำมาเลี้ยงได้ในพื้นที่ของตนเอง“ไปดูงานที่จันทบุรีที่เขาเลี้ยงกุ้งแบบ PE ประสบความสำเร็จ ก็ดูเป็นแนวทาง เรารู้สึกว่าพื้นที่มันต่างกัน  ซึ่งพี่จรูญก็ไปดูด้วย แล้วเขามาทำเลยประสบความสำเร็จ ก็ตอกย้ำว่าที่นี่เลี้ยงได้ ทำได้ ก็ทำตามพี่จรูญมา 3 ปี ก็เลี้ยงกุ้งรอดและสำเร็จมาตลอด

เปรียบเทียบกับการเลี้ยงกุ้งเมื่อก่อน ต่างกันราวฟ้ากับเหว ตอนนั้นดีที่สุดของการเลี้ยงกุ้ง คือ ได้กำไรนิดหน่อย แต่พอมาทำแบบพัฒนาตามแนวทางพี่จรูญ เลี้ยงกุ้งขาวล้วน บ่อขนาด 2 ไร่ สามารถหยิบเงินล้านจากบ่อได้ ซึ่งต่างจากเลี้ยงแบบเดิมกำไรหลักหมื่น ถ้าได้กำไรหลักแสนถึงสุดยอดแล้ว” พี่บุญรวมให้ข้อมูล

การเลี้ยงกุ้งขาวล้วนของพี่บุญรวม เลี้ยงแบบพัฒนา และแบบกึ่งพัฒนา (บ่อดิน) ควบคู่ไปด้วย เนื่องจากถ้าปรับบ่อมาปู PE ทั้งหมด ต้นทุนสูง จึงค่อยๆ ปรับไปตามกำลังเงินในกระเป๋า ส่วนการเลี้ยงกุ้งขาวในบ่อพัฒนา บ่อ 2 ไร่ พี่บุญรวมเลือกใช้ลูกกุ้งของ CP ขนาด P12 อัตรา 100,000 ตัว/ไร่ ติดตั้งใบพัดตีน้ำ 4 แขนยาว 2 แขนสั้น  อายุการเลี้ยงไม่เกิน 90 วัน ได้ไซซ์ 35 ตัว/กก.

5.วิสาหกิจผู้เลี้ยงกุ้ง5

การบริหารจัดการบ่อกุ้ง

แบบกึ่งพัฒนา เป็นบ่อดิน แต่มีวิธีการจัดการให้ทันสมัยขึ้น อาทิ นำ PE ปูบริเวณสะดือหรือหลุมรวมเลน การจัดการตั้งใบพัดตีน้ำเพื่อให้เลนและของเสียไหลมารวมที่สะดือกลางบ่อ การเลี้ยงแบบทั่วไปตามปกติ มีเครื่องตีน้ำ มีการให้อาหาร ตรวจเช็คคุณภาพน้ำ แต่ไม่มีเทคโนโลยีเพิ่ม การจัดการบ่อ มีบ่อเก็บน้ำ บ่อทิ้งเลน ตามมาตรฐานฟาร์ม

ซึ่งมี คุณวุฒิ ทิ้งประเสริฐ โทร.080-426-9990 เป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เดิมตนมีอาชีพเลี้ยงกุ้งมานานแล้วตั้งแต่ยุคเก๋ารุ่นกุลาดำ ซึ่งเชื่อมั่นว่าอาชีพเลี้ยงกุ้งเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้ แต่ต้องศึกษาและอัพเดทข้อมูลอยู่เรื่อยๆ อยู่นิ่งไม่ได้ “เมื่อก่อนผมเลี้ยงกุ้งกุลาแล้วก็เลิกไป เพราะตลาดไม่มีคน ที่นี่ส่วนใหญ่ก็ยังนิยมเลี้ยงกุ้งขาว บางคนเลี้ยงกุ้งขาวปนก้ามกรามอยู่ แต่ว่ารายได้มันน้อย เลี้ยงแค่พออยู่ได้” คุณวุฒิ ท้าวความถึงอดีต

โฆษณา
AP Chemical Thailand

โดยปกติสมาชิกของกลุ่มฯเป็นคนเลี้ยงกุ้งอยู่แล้ว แต่ยังขาดเทคนิคการเลี้ยงและการจัดการ บางอย่างที่ทำให้เลี้ยงกุ้งไม่ได้ ส่วนบ่อเลี้ยงก็เป็นบ่อดินแบบเดิม แต่จะปรับมาปู PE แค่หลุมเลน เพื่อไม่ให้เลนพังหรือเข้าหลุม  ให้ระบบดูดเลนทำงานได้ดี และทำความสะอาดได้ง่าย ซึ่งบ่อเลี้ยงต้องพร้อม มีบ่อเก็บน้ำ เพื่อเอาไว้ถ่ายน้ำ-เติมน้ำเข้าบ่อเลี้ยง เครื่องไม้เครื่องมือต้องพร้อม

คุณวุฒิบอกว่า “การเลี้ยงกุ้งในยุคนี้ยากขึ้น คุณภาพน้ำไม่ได้ เมื่อก่อนดึงน้ำเข้าอย่างเดียวก็เลี้ยงได้แล้ว   ตอนนี้ต้องทำครบรูปแบบและมาตรฐานฟาร์ม GAP ไม่งั้นซื้อลูกกุ้งก็ไม่ได้ หมายถึง ถ้าซื้อลูกกุ้งกับบริษัทนะ เพราะระเบียบของกรมประมงต้องให้บ่อเป็นแบบนั้นหมด มีบ่อเก็บเลน บ่อทิ้งเลน บ่อพักน้ำ บ่อน้ำพร้อมใช้ จะทิ้งน้ำเลี้ยงแบบเดิมไม่ได้ เติมน้ำ ถ่ายน้ำ ตลอดเวลา ถ้าเราเติมและถ่ายน้ำน้อย โอกาสที่จะเป็นขี้ขาวเยอะ กุ้งโตช้าด้วย  เติมน้ำต่อวันให้ได้ 40% และถ่ายออกแต่น้ำหมุนวนขึ้นมาใช้ ควบคู่กับการตรวจคุณภาพน้ำ ก็ตรวจว่าแร่ธาตุครบหรือไม่ และใช้ความชำนาญบวกกับวิทยาศาสตร์แล้วแก้ไขหรือปรับใช้ ถ้าเราพบเชื้อก็หาทางแก้ไข

เมื่อก่อนเลี้ยงกุ้งไม่ต้องตรวจน้ำ แต่ตอนนี้ตรวจทุกขั้นตอน คุณภาพน้ำ เชื้อแบคทีเรีย เพื่อป้องกัน ไม่ใช่รักษา เราต้องป้องกันเพื่อไม่ให้เกิด ถ้าเป็นแล้วจบอย่างเดียว ข้อดี คือ กลุ่มฯ เรามีบริการตรวจน้ำ เราอยู่ได้เพราะตรวจน้ำ ส่วนรูปแบบการจัดการของเราก็ 100% แต่แค่เราไม่ปู PE ในบ่อทั้งหมด ผมแนะนำให้สมาชิกทำบ่อแบบนี้ทุกบ่อ และการจัดตั้งใบตีน้ำก็จะไปบอกว่าตั้งแบบไหน เพื่อให้เลนลงหลุม ถ้าตั้งใบตีน้ำผิดเลนไม่ลงหลุม โอกาสเกิดโรคขี้ขาวถึง 90%

ผมให้ความรู้แบบไม่มีกั๊กเลย เพราะผมคิดว่าอยู่ได้ไม่นาน ความรู้ต้องตายไปกับเรา ผมจึงอยากถ่ายทอดได้เท่าที่จะทำได้ แค่ผมเห็นเขาเลี้ยงได้เงิน เขามีความสุข ผมก็มีความสุข  เพราะผมเคยขาดทุนมาก่อน พอจับกุ้งแล้วมันเหงา คุยกับใครไม่มีความสุข เห็นบ่ออื่นเลี้ยงได้กำไร 500,000-600,000 บาท/บ่อ ก็ดีใจกับเขาไปด้วย”  

6.วิสาหกิจผู้เลี้ยงกุ้ง6

การให้อาหารกุ้ง

นอกจากให้ความสำคัญกับน้ำเลี้ยงแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การให้อาหาร ซึ่งการให้อาหาร คุณวุฒิจะสอนให้อาหารอย่างไร FCR จะได้ต่ำ กำไรต่อรอบจะได้เยอะ ส่วนใหญ่สมาชิกที่ไปสอนจะเลี้ยงกุ้งขาวล้วน จากเดิมอัตราการปล่อยลูกกุ้งขนาด P12 อยู่ที่ 100,000-120,000 ตัว/ไร่ ปัจจุบันโรคขี้ขาวระบาดหนัก และกุ้งเลี้ยงยากขึ้น จึงปรับลดเหลือ 80,000 ตัว/ ระยะเวลาในการเลี้ยง 90 วัน ซึ่งถือว่านานแล้ว ได้ไซซ์ 25-26 ตัว/กิโลกรัม ก็ไม่ใช่ว่าจะได้กุ้งได้ทุกบ่อ มีร่วงบ้างเหมือนกัน ตอนนี้ก็ 87 วัน กุ้ง 25 ตัว กิน 200 กิโลกรัม FCR อยู่ที่ 1.3-1.4 ในระยะเวลา 3 เดือน

“ผมสอนการให้อาหารและเช็คยอด้วย สอนตั้งแต่วันปล่อยกุ้งเลย และอาหารแบบนี้พอทำตามที่บอกก็ไม่พลาด เช่น ไล่อาหารแบบนี้ การเช็คยอ ก็ไม่ให้อาหารติดยอ เราเช็คออโต้ฟีด พอฟีด 1 นาที ต้องไปตรวจดูอาหารในยอต้องไม่ติดยอ และเพิ่มอาหารขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าฟีดแล้วอาหารติดยอก็จะเบรค แล้วปรับลดเพิ่มปริมาณอาหารเท่าไหร่ เช่น กุ้ง 2 แสนตัว กิน 6-7 วัน /กระสอบ ในช่วงท้ายๆ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

แต่ช่วงแรกก็ให้ตามโปรแกรมคู่มือของซีพี มีอยู่ในคู่มือมาให้ 100% แล้วเอามาปรับแต่ง เราตอนนี้ 60% ก็เพิ่มมา 80% ตอนนี้เต็ม 100% เพราะลูกกุ้งเขาพัฒนาขึ้น ผมใช้ของซีพี เป็นแหล่งที่ค่อนข้างมาตรฐาน กุ้งถ้าหน้าโรคระบาดก็มีเจอบ้าง แต่ส่วนมากจะบอกกันว่าอย่าเพิ่งลงเลี้ยง หยุดเลี้ยง แล้วตากบ่อรอไป จากที่ไปแนะนำมีสมาชิกเชื่อและทำตามวิธีที่บอก ทำแล้วเลี้ยงกุ้งได้ดี ได้เงิน เกิดเป็นความศรัทธา ที่ผมดูแลก็เลี้ยงได้เงินทุกคน ไม่มีคนไหนที่ไม่เชื่อ เพราะเขากลัวขาดทุน เพราะลงทุนไปแล้วไม่มีใครอยากขาดทุน” คุณวุฒิกล่าว

7.วิสาหกิจผู้เลี้ยงกุ้ง7

สภาพพื้นที่เลี้ยงกุ้ง

คุณปุ๊ก โทร.087-084-4559 สมาชิกที่หันมาเลี้ยงแบบกึ่งพัฒนา จากเดิมเคยเลี้ยงกุ้งขาวปนก้ามกราม บ่อขนาด 5 ไร่ “ก่อนมาใช้ระบบคุณวุฒิ การจัดการของเสียไม่มีเลย เลี้ยงน้ำเดียวจบ ดูดน้ำจากข้างนอกมาเลี้ยง ในบ่อขนาด 5 ไร่ ไม่มีบ่อพัก บ่อดูดเลน หรือบ่อเก็บน้ำ ความเสี่ยงเยอะ เลี้ยงกุ้งบ่อดินเดิมๆ กุ้งขาวปนก้ามกราม ไม่มีระบบอะไรเลย เลี้ยงมา 4 ปีผ่านมา คือ ไม่ประสบความสำเร็จ ได้เท่าทุน กำไรน้อย พอระบบการเงินเข้าที่ ก็มาทำบ่อและปรับตามพี่วุฒิบอก ครอปนี้เป็นครอปแรกที่เลี้ยงระบบพี่วุฒิ ตอนนี้กุ้งอายุ 72 วัน กุ้งโตดี” คุณปุ๊ก ได้อธิบายถึงการปรับมาใช้การเลี้ยงวิธีแบบที่2

8.วิสาหกิจผู้เลี้ยงกุ้ง8

การเลี้ยงกุ้งแบบผสมผสาน

แบบผสมผสาน ร่วมกับสัตว์น้ำชนิดอื่น เช่น เลี้ยงกุ้งขาวร่วมกับปลานิล หรือร่วมกับกุ้งก้ามกราม ซึ่งจะได้ผลผลิตกุ้งขาวต่อไร่ต่ำกว่าสองแบบแรก แต่จะได้ผลผลิตสัตว์น้ำชนิดอื่นมาทดแทน ซึ่งมีคุณสนิท แดงพยนต์ ดูแลเอง สมาชิกกลุ่มนี้จะได้รับความรู้เท่าเทียมเหมือนกับแบบที่ 1-2 แต่ด้วยความไม่พร้อมจึงอยู่ในลำดับท้ายสุด และมีการแนะนำให้ใช้จุลินทรีย์ผลไม้ ควบคู่ไปกับการใช้จุลินทรีย์ ปม. 1 ของกรมประมง เพื่อลดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการเลี้ยง เพราะจุลินทรีย์ช่วยให้สภาพน้ำดินในบ่อไม่เสื่อมโทรม ซึ่งเป็นการเลี้ยงกุ้งที่กระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

โดยมีสูตรการทำน้ำหมักจุลินทรีย์ผลไม้ ประกอบด้วย สับปะรด 10 กิโลกรัม ปอกเปลือกบางๆ มะละกอสุก 2 กิโลกรัม เอาเมล็ดออก ฟักทองแก่ 2 กิโลกรัม เอาเม็ดออก กล้วยน้ำว้าสุก 2 กิโลกรัม เอาเปลือกออก นำผลไม้ทั้งหมดสับให้ละเอียด เติมกากน้ำตาล และจุลินทรีย์  EM อย่างละ 250 ซีซี. คลุกเคล้าให้เข้ากัน โดยไม่ใช้น้ำเพิ่ม นำส่วนผสมทั้งหมดใส่ในถังสะอาด ปิดฝาให้สนิท ระหว่างหมักให้เปิดฝาระบายก๊าซบ้าง

เมื่อได้กำหนด 30 วัน จะได้จุลินทรีย์ผลไม้หมักนำมาใช้เลี้ยงกุ้งได้ โดยใช้จุลินทรีย์ผลไม้กับน้ำสะอาดในอัตราส่วน 1:1 มาปั่นให้ละเอียด คลุกอาหารกุ้งให้กุ้งกินทุกวัน “จุลินทรีย์ผลไม้” ไว้ใช้คลุกกับอาหารเลี้ยงกุ้ง เพื่อช่วยให้บ่อไม่เน่าเสีย จุลินทรีย์ทำหน้าที่ย่อยสลายเศษอาหาร และปรับสภาพน้ำให้ดีขึ้น กุ้งไม่เป็นโรค หรือเป็นโรคน้อย กุ้งสุขภาพดี แข็งแรง และโตเร็ว เนื้อกุ้งไม่มีกลิ่นเลน สะอาด รสชาติอร่อย หวาน เหมือนกุ้งธรรมชาติ

ผลการใช้จุลินทรีย์ผลไม้กับบ่อกุ้งเป็นที่น่าพอใจ ทำให้ช่วยลดรายจ่าย ไม่ต้องซื้อวิตามินมาเพิ่มต้นทุน เมื่อกุ้งขับถ่ายของเสียออกมาจุลินทรีย์ยังทำงานได้ดี ยังช่วยรักษาสภาพน้ำในบ่อ ลดปัญหาน้ำเน่าเสีย เป็นวิธีปลอดภัยต่อผู้เลี้ยง และผู้บริโภค เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ในการเลี้ยงแบบผสมผสาน คุณสนิทบอกว่า “สามารถเพิ่มมูลค่าให้ กุ้ง ปลา เมื่อเลี้ยงแบบที่ 1-2 ได้ดี และสามารถทำตลาดได้สำเร็จ ต้องใช้แนวทางแบบที่ 3 มาช่วยเพิ่มคุณภาพของกุ้ง ปลา ซึ่งตอนนี้ทางกลุ่มเรายังไม่ทำตลาด เน้นผลิตอย่างเดียว เพื่อให้ผู้เลี้ยงสามารถเลี้ยงได้ มีรายได้ จึงเน้นเรื่องรายได้ไว้ก่อน” โดยผลผลิตกุ้ง/ไร่ แต่ละพื้นที่จะแตกต่างกัน อยู่ที่การปล่อยกุ้ง แต่ผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

ทิ้งท้ายด้วย คุณพิกุล ที่ยึดแนวทางทั้ง 3 แบบ กับการเลี้ยงกุ้งจำนวน 60 ไร่ แบ่งเป็นบ่อของตนเอง และบ่อเช่า ขนาดแต่ละบ่อไม่เกิน 3 ไร่ ได้ให้ข้อมูลว่า “ตั้งเแต่ปรับมาใช้ทั้ง 3 ระบบ พัฒนาผลผลิตดีขึ้น กำไรดีขึ้น โดยเฉพาะแบบพัฒนาเห็นได้ชัดว่าผลผลิตดีขึ้น อายุการเลี้ยง 70-80 วัน” คุณพิกุลให้ความเห็น

9.วิสาหกิจผู้เลี้ยงกุ้ง9

วิสาหกิจผู้เลี้ยงกุ้ง9.1

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย กุ้ง และปลา

นอกจากการเลี้ยงกุ้งขาวเป็นผลผลิตหลักของกลุ่มแล้ว ยังมีการเลี้ยง ปลาสลิด ปลานิล และ ปลากะพง ด้วย ทางกลุ่มฯ ไม่หยุดนิ่งด้านการพัฒนา เพื่อให้ได้สินค้าประมงตรงตามความต้องการของตลาด เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของสมาชิก และเน้นย้ำอยู่เสมอ เรื่องการพึ่งพาตนเอง การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหัวใจหลักในการดำเนินงานของกลุ่มฯ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มเกษตรกรทำประมงพัฒนาเกษตรพอเพียง 49 16/2 หมู่ 7 ต.โรงเข้ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับที่ 398