สมาคมกุ้งไทยใช้กลไกการเมือง หยุดมหันตภัยโรคกุ้ง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ในที่สุด รมต.เกษตร ก็จับมือกับสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งไทย และภาคีกุ้ง รวมทั้ง กรมประมง ประกาศทาร์เก็ตผลิตกุ้งเพื่อส่งออก ปี 65 ให้ถึง 400,000 ตัน วันที่ 2 ก.พ. 65 จนถึง 31 ธ.ค. 65 ส่งออกได้ 300,000 ตัน ก็เก่งมากแล้ว

การพลาดเป้า จนหน้าแตก หมอไม่กล้าเย็บ ก็เพราะภาคการเมือง รมต.เกษตร ขาดเจตนารมณ์ในเรื่อง “กุ้งเศรษฐกิจ” จึงไม่สร้าง ACTION PLAN ให้เกิดการทำงานแบบคลัสเตอร์ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะได้รับหนังสือจากสมาคมกุ้งไทย ที่เสนอให้สินค้ากุ้งเป็นวาระแห่งชาติ แต่นายกรัฐมนตรีก็ไม่กล้าบัญชา เพราะ รมต.เจ้าภาพ คือ รมต.เกษตร ใส่เกียร์ว่าง

1.ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช
1.ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช

การผลิตกุ้ง

เรื่องอุตสาหกรรมกุ้งไทย แหล่งผลิตใหญ่อยู่ในภาคใต้ทั้ง 2 ฝั่งทะเล ซึ่งอยู่ในพื้นที่อดีตพรรคการเมืองเก่าแก่ยึดครอง จึงเป็นเรื่องแปลกที่ รมต.เกษตร ใส่เกียร์ว่าง หรือมองว่า เรื่องโรคกุ้งเป็นเรื่องยาก และอ่อนไหว มีกลไกธุรกิจบางอย่างซ่อนอยู่

อย่างไรก็ดี แม้ศักราช 65 จะมีปัจจัยลบด้านตลาดโลก ทั้งโควิด 19 สงคราม พลังงาน และเงินเฟ้อ จะรุนแรง แต่ผู้บริโภคกุ้งขาววานาไมไม่ได้ลดลง ซึ่งเรื่องนี้ ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมแช่เยือกแข็งไทย ยืนยัน เพียงแต่เกษตรกรไม่สามารถผลิตกุ้งให้บรรลุทาร์เก็ต เพราะ “โรคกุ้ง” 5 อย่าง ระบาดตลอดเวลา หลายฟาร์มไม่กล้าลงกุ้ง โดยเฉพาะ “พันธุ์กุ้ง” ที่ถูกผลิตให้โตไว เลี้ยงแบบหนาแน่น ถ้าเกษตรกรไม่เก๋า หรือเซียนจริงๆ มักจะพลาดเจอโรคทำลาย ซึ่งเรื่องนี้ กรมประมง เข้าใจถึง “สาเหตุ” มาตลอด

2.สมาคมกุ้งไทย02

สถานการณ์การผลิตกุ้ง

ในที่สุดแกนนำผู้เลี้ยงกุ้งของประเทศ สมาคมกุ้งไทย ก็เหลืออด จัดแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำปี โดยพุ่งเป้าที่กระตุ้น หัวหน้าพรรคการเมือง ทุกพรรค ให้ใส่ใจเรื่องอุตสาหกรรมกุ้งไทย เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 65 ณ โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กทม.

คณะกรรมการบริหารสมาคมกุ้งไทย ได้แก่ คุณเอกพจน์ ยอดพินิจ นายก คุณปกครอง เกิดสุข อุปนายก และประธานที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งกระบี่ คุณพัชรินทร์ จินดาพรรณ นายกสมาคมกุ้งตะวันออก และเลขาธิการสมาคมกุ้งไทย คุณพิชญพันธุ์ สลิลปราโมทย์ กรรมการบริหารสมาคมกุ้งไทย และประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี และ คุณปรีชา สุขเกษม กรรมการบริหารสมาคมกุ้งไทย ได้นำเสนอสถานการณ์การผลิตกุ้งระดับประเทศว่า มีผลผลิต 280,000 ตัน เท่ากับปี 64

โฆษณา
AP Chemical Thailand

โดยแยกผลผลิตตามรายภาค ดังนี้ จากภาคใต้ตอนบน 32% ของผลผลิต จากภาคใต้ตอนล่างฝั่งอันดามัน 21% จากภาคใต้ตอนล่างฝั่งอ่าวไทย 10% และจากภาคตะวันออก 25% โดยส่งออกเดือน ม.ค.-ต.ค. ปริมาณ 122,208 ตัน มูลค่า 42,812 ล้านบาท ต่างจากปี 64 ส่งออก 128,758 ตัน มูลค่า 39,251 ล้านบาท ปริมาณลดลง 5% แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น 9% และอีก 2 เดือน (พ.ย. ธ.ค.) ไทยจะผลิตกุ้งทั้งปี 65 ไม่น่าจะต่ำกว่า 300,000 ตัน

ในส่วนอันดามัน ผลผลิตปี 65 ลดลง 2% จากปี 64 เพราะเจอโรคตัวแดงดวงขาว ต้นปีตามมาด้วยโรค EHP และโรคขี้ขาว หลายรายต้องจับกุ้งก่อนกำหนด และหันไปเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ทั้งใน ตรัง พังงา กระบี่ และภูเก็ต ส่วนกุ้งตะวันออก ผลผลิตเพิ่มกว่าปี 64 ทั้งๆ ที่ปี 65 ก็เจอโรคตัวแดงดวงขาว ฝนมาเร็ว น้ำท่วมหลายจังหวัด ต้องชะลอการเลี้ยง เพราะความเค็มต่ำ คุณภาพน้ำไม่เหมาะสม และบางฟาร์มเจอโรคขี้ขาวระหว่างเลี้ยง ต้องจับกุ้งก่อนกำหนดเช่นกัน

ขณะที่กุ้งภาคกลาง ผลผลิตประมาณ 34,100 ตัน เพิ่มขึ้น 3% แต่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อากาศแปรปรวน และเกิดโรคขี้ขาว ต้องจับกุ้งก่อนกำหนด ภาคใต้ตอนบน ผลผลิตปี 65 ประมาณ 89,402 ตัน เจอโรคตัวแดงดวงขาว และโรคขี้ขาว หลายรายหันไปเลี้ยงกุ้งกุลาดำแทน สำหรับภาคใต้ตอนล่างฝั่งอ่าวไทย ผลผลิตลดลง 21% เจอโรค EHP ขี้ขาว และตัวแดงดวงขาว ระบาด ฝนตกหนัก เกษตรกรเจอปัญหามากกว่าทุกปี

จากสภาพปัญหาการคุกคามของโรคต่างๆ และยังไม่มีแนวทางแก้ปัญหาที่ชัดเจน ถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ จะทำให้คนในห่วงโซ่อุตสาหกรรมกุ้งจำนวนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน หมดอาชีพ และผู้ประกอบการหมดศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจ เม็ดเงินก็จะหายไปจากประเทศไทยแสนล้านบาท/ปี

เหตุนี้ สมาคมกุ้งไทย ต้องยื่นหนังสือถึงพรรคการเมืองทุกพรรค ให้เห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมกุ้งไทย โดยเฉพาะการแสวงหาแนวทางพิชิตโรคกุ้ง ที่เป็นมหันตภัยของอุตสาหกรรมกุ้งไทยโดยเฉพาะ

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับที่ 401