เทคนิค เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น ในบ่อดิน ให้ผลผลิตสูง 6-8 สัปดาห์ ตัดเก็บขาย

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ลักษณะของสาหร่าย

ปัจจุบันอาหารเพื่อสุขภาพและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติเพื่อความงามได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากกลุ่มผู้รักสุขภาพทั่วโลก ผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายทะเลจัดอยู่ในหมวดดังกล่าว ทั้งนี้สาหร่ายทะเลเป็นพืชชั้นต่ำอาศัยอยู่ในทะเลมีประมาณ 12,000 ชนิด เป็นสาหร่ายสีเขียว 4,000 ชนิด สาหร่ายสีแดง 6,000 ชนิด สาหร่ายสีน้ำตาล 2,000 ชนิด

หลายชนิดสามารถนำไปทำเป็นอาหาร และเป็นที่นิยมบริโภคในหลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฟิลิปปินส์ สาหร่ายทะเลชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Caulerpa lentillifera  J.Agaud เป็นสาหร่ายทะเลสีเขียวที่มีใบเป็นเม็ดทรงกลม สีเขียวใส (คล้ายไข่คาเวียร์) มีแขนงตั้งขึ้นคล้ายพวงองุ่น จึงมีชื่อเรียกสามัญว่า Sea Grapes หรือ Green Caviar ชาวญี่ปุ่นเรียก umibudo ประเทศไทยเรียก สาหร่ายพวงองุ่น

ในธรรมชาติสามารถพบสาหร่ายพวงองุ่นเจริญเติบโตบนโขดหิน ก้อนกรวด และเม็ดทราย ในเขตน้ำขึ้น น้ำลง ไปจนถึงเขตน้ำลงต่ำสุด บริเวณชายฝั่งที่มีคลื่นไม่รุนแรง อยู่รวมกันเป็นกระจุก หรือปนกับสาหร่ายชนิดอื่นตามซอกหิน หรือปะการัง ปัจจุบันสามารถพบสาหร่ายพวงองุ่นในเขตประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม ญี่ปุ่น เคนยา มาดากัสการ์ โมแซมบิก แทนซาเนีย และปาปัวนิวกินี

1.สาหร่ายพวงองุ่น
1.สาหร่ายพวงองุ่น
2.เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นด้วยวิธีแขวน
2.เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นด้วยวิธีแขวน

ประโยชน์และสรรพคุณของสาหร่ายพวงองุ่น

สาหร่ายพวงองุ่นจัดเป็นอาหารสุขภาพที่มีราคาแพง เนื่องจากสาหร่ายมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ชาวญี่ปุ่นนิยมบริโภค มีการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ที่เกาะโอกินาว่าตั้งแต่ปี ค.ศ.1986 ชาวโอกินาว่าเชื่อว่ารับประทานสาหร่ายจะช่วยให้หายป่วยเร็วขึ้น เนื่องจากสาหร่ายพวงองุ่นมีแร่ธาตุหลากหลายชนิด ได้แก่ ไอโอดีน ป้องกันและรักษาโรคคอพอก, แมกนีเซียม บำรุงกล้ามเนื้อและระบบประสาท, โปแทสเซียม ควบคุมการทำงานของเซลล์และสมดุลของน้ำในร่างกาย รวมทั้งพบวิตามิน บี ซี อี และกรดอมิโนหลายชนิด มีแคลอรี่ต่ำ เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิต และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ

จึงมีหลายประเทศเพาะเลี้ยงเป็นการค้า เช่น จีน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เวียดนาม แคนาดา บางประเทศใช้สาหร่ายพวงองุ่นเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง อุตสาหกรรมอาหาร ยารักษาโรค และอาหารสัตว์

ปัจจุบันประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นเชิงพาณิชย์แล้วเช่นกันที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรี และได้รับการยอมรับจากประเทศที่มีการเพาะเลี้ยงก่อนหน้านี้ พร้อมยกย่องให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการเพาะ เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น เชิงพาณิชย์ ทั้งที่ประเทศไทยเพิ่งเริ่มการเพาะเลี้ยงอย่างจริงจังไม่นาน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“สาหร่ายพวงองุ่นนิยมรับประทานสด เช่น ทำเป็นสลัด หรือนำไปตกแต่งจานอาหารให้สวยงาม เป็นอาหารเฉพาะกลุ่มคนรักสุขภาพ และมีราคาแพง ปัจจุบันหารับประทานได้ไม่ยาก เพราะสามารถเพาะเลี้ยงได้ในประเทศไทย  สาหร่ายพวงองุ่นสามารถเจริญเติบโตได้ดีในน้ำความเค็มช่วง 30-40 ppt. และจะตายลงถ้าความเค็มของน้ำต่ำกว่า 25 ppt.

ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรีเริ่มมีการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2556 แต่การวิจัยทำมานานตั้งแต่ปี 2536” คุณมนทกานติ ท้ามติ้น (เบอร์โทร.081-861-8118) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรีกล่าว

3.ต้นพันธุ์สาหร่าย เพื่อการ เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น
3.ต้นพันธุ์สาหร่าย เพื่อการ เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น
สาหร่ายที่เริ่มเติบโตโผล่จากตาข่าย
สาหร่ายที่เริ่มเติบโตโผล่จากตาข่าย
ระบบปั๊มลมสู่ท่อราวลมที่พื้นบ่อ
ระบบปั๊มลมสู่ท่อราวลมที่พื้นบ่อ

สภาพพื้นที่เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น

รูปแบบการเพาะ เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น ที่ต่างประเทศยอมรับว่าล้ำหน้ากว่าประเทศอื่น เป็นการเพาะเลี้ยงในบ่อดินด้วยวิธีแขวน เพราะบางประเทศยังเลี้ยงแบบธรรมชาติ หรือหว่านพันธุ์สาหร่ายลงเลี้ยงในบ่อ การจัดการจึงต่างกัน และคุณภาพของสาหร่ายก็ต่างกันไปด้วย

การเพาะ เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น แขวนในบ่อดินที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรี ทำโดยนำต้นพันธุ์สาหร่ายใส่ในแผงที่ทำจากท่อพีวีซีสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 50×50 เซนติเมตร  เย็บตาข่ายดำช่องตา  1 เซนติเมตร ที่ด้านบนและด้านล่างให้ชิด ป้องกันสาหร่ายที่ใส่ไว้หลุดรอดจากตาข่าย และไปกองรวมเป็นกระจุก พร้อมทั้งใช้อิฐมอญถ่วงน้ำหนักทั้ง 4 ด้าน นำไปแขวน 50-60 แผง ในบ่อดิน ขนาด 1 งาน

“แผงขนาด 50×50 เซนติเมตร ใส่ต้นพันธุ์ครึ่งกิโลกรัม โดยเลือกต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์ ลักษณะเม็ดถี่ ใหญ่ สีเขียว กระจายบางๆ ให้ทั่วแผง สาหร่ายจะไม่หลุดจากแผง เพราะคลุมด้วยตาข่ายช่องตา 1 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่พอเหมาะ หากเล็กกว่านี้สาหร่ายที่แทงช่อใหม่ออกมาจะติดช่องตา หากช่องตาใหญ่สาหร่ายจะหลุดออกมาตามรูตาข่าย”

ภายในบ่อดินวางระบบราวลมที่พื้นบ่อเพื่อเติมออกซิเจน และทำให้น้ำกระเพื่อม ระดับน้ำทะเลที่เติมในบ่อ 1-1.50 เมตร แขวนแผงเลี้ยงสาหร่ายลึกพอประมาณ ดูจากอุณหภูมิและแสงเป็นเกณฑ์ เนื่องจากสาหร่ายต้องการแสงเพื่อช่วยในการสังเคราะห์อาหาร ทั้งนี้สาหร่ายทะเลไม่แตกต่างจากพืชทั่วไปที่เติบโตด้วยปุ๋ยและการสังเคราะห์แสง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ซึ่งปุ๋ยมีในน้ำทะเลอยู่แล้ว หากสังเกตว่าสาหร่ายเติบโตไม่ดี แคระแกร็น เหลือง สามารถใส่ปุ๋ยหมักจากเศษสาหร่ายที่หมักไว้ลงในบ่อเพิ่มปุ๋ยให้สาหร่าย เลี้ยงในบ่อประมาณ 6-8 สัปดาห์ เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิต จากสาหร่ายครึ่งกิโลกรัม/แผง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตสาหร่ายได้ 8-10 กิโลกรัม/แผง

“ระหว่างการเลี้ยงต้องควบคุมปัจจัย ได้แก่ ความเค็มของน้ำ อุณหภูมิ ปุ๋ย แสงแดด ถ้าเราควบคุมได้สาหร่ายจะไม่มีปัญหา อย่างบ่อกลางแจ้งช่วงหน้าร้อนอุณหภูมิจะสูง ถ้าแขวนผิวน้ำ เราก็ต้องแขวนให้ลึกลงไปอีกหน่อย ระดับความลึกที่แขวนบอกไม่ได้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิน้ำ และปริมาณแสงส่องถึง เพราะสาหร่ายต้องการแสงช่วยในการสังเคราะห์แสง

อย่างช่วงที่ฤดูน้ำขุ่นเราก็ต้องแขวนให้ตื้นขึ้นมาหน่อยเพื่อให้แสงส่องถึง แต่ระดับน้ำในบ่อระดับที่เราเลี้ยงอยู่ความลึกประมาณ 1-1.50 เซนติเมตร ส่วนอุณหภูมิเราจะสังเกตได้ ถ้าแสงแดดส่องตรงๆ ผิวน้ำจะร้อน ซึ่งสาหร่ายพวกนี้จะไม่ค่อยชอบอุณหภูมิที่สูงมากนัก”

4.บ่อเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น
4.บ่อ เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น

การบริหารจัดการบ่อ เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น

การจัดการระหว่างเลี้ยง คนงานต้องลงไปเขย่าตะกอนที่เกาะแผงสัปดาห์ละครั้ง เพื่อไม่ให้ตะกอนบดบังการสังเคราะห์แสง คนงานที่มีความชำนาญเมื่อสัมผัสน้ำจะรู้ว่าอุณหภูมิน้ำเหมาะสมหรือไม่ ถ้าอุ่นหรือร้อนเกินไป จะปรับระดับการแขวนตะแกรงสาหร่ายลดลงไปอีก

แต่ปกติอุณหภูมิค่อนข้างคงที่ 25-30 องศา ระดับน้ำที่แขวนสาหร่ายประมาณ 30-40 เซนติเมตร จากผิวน้ำลงไป ช่วงฤดูฝนเมื่อฝนตกจะมีการชะล้างตะกอนลงบ่อ ก็ต้องคอยปรับระดับแผงเลี้ยงสาหร่ายให้เหมาะสม สาหร่ายสามารถเติบโตได้ดี สวย เม็ดใหญ่ น่ารับประทาน

5.การเก็บสาหร่ายพวงองุ่น
5.การเก็บสาหร่ายพวงองุ่น
ผลผลิตสาหร่ายพวงองุ่น
ผลผลิตสาหร่ายพวงองุ่น

การเก็บเกี่ยวผลผลิตสาหร่ายพวงองุ่น

การเก็บเกี่ยวผลผลิตสามารถยกแผงสาหร่ายขึ้นมาทั้งแผงนำมาตัด ซึ่งสาหร่ายจะสวยเหมือนกันหมด อายุการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 6-8 สัปดาห์ (ถ้าเกิน 8 สัปดาห์ สาหร่ายจะเริ่มเหลืองเป็นสีน้ำตาล ไม่น่ารับประทาน) คุณภาพของสาหร่ายเม็ดใหญ่ ความถี่ห่างของข้อไม่ต่างกัน เพียงแต่ช่อสั้นยาวขึ้นอยู่กับอายุ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ถ้า 6 สัปดาห์ จะสั้นกว่า 8 สัปดาห์ เท่านั้นเอง เมื่อคัดเลือกสาหร่ายคุณภาพที่ต้องการได้แล้วนำมาพักในถังน้ำเค็มที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วในถังใส่ออกซิเจนช่วยดึงคราบสกปรกออกก่อนนำบรรจุใส่แพ็คจำหน่าย

สาหร่ายพวงองุ่นนอกจากมีประโยชน์เป็นอาหารสุขภาพ หากนำมาเลี้ยงร่วมกับระบบเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสามารถลดสารอินทรีย์ได้อย่างดี ทั้งนี้การเพาะ เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น ในระบบบ่อดินที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรี เลี้ยงร่วมกับระบบเลี้ยงปลากะพงขาวในบ่อดินที่อยู่ใกล้กัน  เป็นการนำอินทรีย์สารจากบ่อปลานำมาเติมเป็นปุ๋ยแก่สาหร่ายพวงองุ่นไปในตัว

นอกจากนี้ยังสามารถนำสาหร่ายพวงองุ่นไปเลี้ยงในบ่อพักน้ำเพื่อบำบัดน้ำให้มีคุณภาพดี ก่อนนำไปใช้เลี้ยงกุ้งซึ่งก็ได้ผลดีเช่นกัน สาหร่ายพวงองุ่นจึงเป็นทั้งอาหารสุขภาพ และสาหร่ายเพื่อสิ่งแวดล้อม