เลี้ยง กุ้ง ง่ายๆ สไตล์ อรอนงค์ฟาร์ม

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การเลี้ยง กุ้ง ปัจจุบันจะเห็นว่ามีเทคนิคการเลี้ยงในอัตราหนาแน่นที่เบาบางลง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง พื้นที่เลี้ยงด้วยน้ำจืด อีกทั้งยังมีการผสมผสานเลี้ยงกุ้งขาว และกุ้งก้ามกราม ในบ่อเดียวกันอีกด้วย เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยง และเป็นการสร้างรายได้ทั้งสองทาง

กุ้งก้ามกรามตัวใหญ่ ได้คุณภาพ
กุ้งก้ามกรามตัวใหญ่ ได้คุณภาพ

เราเดินทางมาพบกับ คุณอรอนงค์ ธนพันธุ์ภูวเดช เกษตรกรคนเลี้ยงกุ้งมืออาชีพคนดัง และยังดำรงตำแหน่งเป็นประธาน “ชมรมผู้เพาะเลี้ยง กุ้ง คุณภาพ จังหวัดกาญจนบุรี” อีกด้วย เธอเก่งขนาดนี้ เราถึงต้องขอเข้าพูดคุยถึงแนวคิด และเทคนิคการเลี้ยงกุ้ง แบบที่ว่า “เลี้ยงง่ายๆ สไตล์อรอนงค์” นั้นเป็นอย่างไร

1.คุณอรอนงค์ ธนพันธุ์ภูวเดช เกษตรกรคนเลี้ยงกุ้ง
1.คุณอรอนงค์ ธนพันธุ์ภูวเดช เกษตรกรคนเลี้ยงกุ้ง

จุดเริ่มต้นการเลี้ยงกุ้ง

แต่กว่าที่คุณอรจะเลี้ยง กุ้ง สร้างรายได้ สร้างฐานะ ได้อย่างทุกวันนี้นั้น เดิมทีเธอเป็นเกษตรกรชาวไร่อ้อยมาก่อน เพราะเป็นอาชีพตั้งแต่บรรพบุรุษ และผูกพันมาแต่เด็ก เมื่อโตขึ้นจึงไม่ทิ้งอาชีพเดิม ยังคงสานต่อธุรกิจของตระกูล ซึ่งเธอทำได้ดีเลยทีเดียว ในแต่ละปีสามารถสร้างเม็ดเงินมาดูแลครอบครัวได้เป็นอย่างดี

จนเมื่อนานวันเข้าเริ่มเห็นแปลงอ้อยหลายๆ แปลงละแวกบ้าน ที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่เลิกปลูกอ้อย แต่มาขุดบ่อเพื่อเลี้ยงกุ้ง จาก 1 บ่อ ก็เริ่มขยายมากขึ้นเป็น 10 เป็น 100 บ่อ ด้วยกุ้งสมัยนั้นเลี้ยงง่าย มีราคาดี คุณอรจึงเริ่มสนใจ และเข้าไปศึกษาการเลี้ยง และเมื่อเอามาเทียบกับการปลูกอ้อยแล้ว ปรากฏว่าเลี้ยงกุ้งสามารถสร้างกำไรได้ดีกว่า และใน 1 ปี สามารถเลี้ยงกุ้งได้มากถึง 3 รอบ เลยทีเดียว

เมื่อคิดเช่นนี้คุณอรจึงเริ่มหันมาศึกษาการเลี้ยงกุ้งอย่างจริงจัง โดยช่วงนั้นจะเป็นการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามล้วน จากการเข้าไปเยี่ยมชมบ่อต่างๆ ทำให้เธอตัดสินใจขุดบ่อเลี้ยงบ้างในพื้นที่ของตนเอง เริ่มแรกที่ 3 บ่อ บนพื้นที่กว่า 20 ไร่

หลังจากทดลองเลี้ยงกุ้งครั้งแรก คุณอรยอมรับว่าทำกำไรได้มากมาย ประสบความสำเร็จมาก ส่วนหนึ่งเพราะกุ้งสมัยนั้นเลี้ยงง่าย โรคก็ยังไม่มี กุ้งโตเร็ว แข็งแรง ยิ่งเจอน้ำใหม่ยิ่งโตดี เมื่อประสบความสำเร็จคุณอรจึงขยายพื้นที่บ่อเพิ่มเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่ทิ้งไร่อ้อยไปซะทีเดียว ยังคงกันพื้นที่บางส่วนปลูกอ้อยอยู่ เพราะเป็นอาชีพของพ่อแม่

โฆษณา
AP Chemical Thailand
2.บ่อเลี้ยงกุ้ง
2.บ่อเลี้ยงกุ้ง

ปัญหาและอุปสรรคการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม

จนกระทั่งเข้าสู่ปี 2550 ถือว่าเป็นยุคล่มสลายของกุ้งก็ว่าได้ เพราะกุ้งเลี้ยงยากขึ้น เลี้ยงแล้วไม่โต ส่วนหนึ่งเกิดจากสายพันธุ์กุ้งที่ไม่ได้คุณภาพ  จึงทำให้เจ้าของบ่อหลายที่ขาดทุนไปตามๆ กัน แต่ไม่นานก็มีกุ้งสายพันธุ์ใหม่เข้ามาจากต่างประเทศ นั่นคือ “กุ้งขาววานาไม”

เมื่อไม่มีทางเลือก กุ้งก้ามกรามที่คุณอรเลี้ยงอยู่เริ่มเลี้ยงยากขึ้นทุกวัน เธอจึงตัดสินใจทดลองเลี้ยงกุ้งขาววานาไมดูบ้าง เผื่อเป็นทางเลือกที่ดี และเธอคิดไม่ผิด การเลี้ยงกุ้งขาวสามารถสร้างเม็ดเงินให้เธอได้มากทีเดียว เพราะเลี้ยงง่าย ประกอบกับสภาพพื้นที่บ่อของคุณอรมีดินดี ลักษณะดินทรายปนดินเหนียว สามารถอุ้มน้ำได้ดี และที่สำคัญบ่อเลี้ยงยังติดกับลำคลองธรรมชาติที่น้ำไหลตรงจากเขื่อน และมีให้ใช้ตลอดทั้งปี

ด้วยเหตุนี้คุณอรจึงเลี้ยงกุ้งได้อย่างไร้ปัญหา ขอเพียงลูกพันธุ์กุ้งที่เลี้ยงมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เพียงเท่านี้การเลี้ยงกุ้งให้ประสบความสำเร็จก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

3.คนงานจับกุ้งขึ้นจากบ่อ
3.คนงานจับกุ้งขึ้นจากบ่อ

การบริหารจัดการบ่อเลี้ยงกุ้ง

ปัจจุบันคุณอรมีบ่อเลี้ยงหลายบ่อในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี โดยเน้นการเลี้ยงกุ้งขาววานาไมผสมผสานกับกุ้งก้ามกราม เพราะมองว่าการเลี้ยงแบบนี้กุ้งทั้งสองชนิดสามารถเกื้อกูลกันได้ โดยกุ้งขาวจะว่ายน้ำกินอาหารช่วงกลางน้ำ ส่วนกุ้งก้ามกรามจะคอยเก็บกินอาหารบ่อพื้น ซึ่งถือว่าเป็นการทำความสะอาดพื้นบ่อไปในตัว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องอัตราการให้อาหารก็ต้องพอดี ไม่น้อยหรือมากจนเกินไป จนทำให้น้ำเลี้ยงเสียได้

เทคนิคการผลิตกุ้งคุณภาพของคุณอร เริ่มต้นจากคัดเลือกลูกพันธุ์ที่มีคุณภาพ มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และ ที่สำคัญต้องเป็นฟาร์มที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมงแล้ว ซึ่งจะช่วยทำให้รู้ว่าฟาร์มแห่งนี้มีตัวตนจริง และมีกระบวนการผลิตลูกกุ้งที่ได้มาตรฐานตามที่ประมงกำหนด

จากนั้นจะเริ่มทำการปรับบ่อ โดยสาดปูนขาวเพื่อปรับสภาพดิน แล้วจึงสูบน้ำตรงจากคลองธรรมชาติเข้าบ่อเลี้ยง ให้น้ำสูงประมาณ 1:3 ของบ่อ จากนั้นจะลงลูกกุ้ง โดยไม่กำหนดว่าจะต้องลงกุ้งก้ามกราม หรือกุ้งขาว ก่อน ขึ้นอยู่กับว่าจะได้กุ้งอะไรก่อน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

หากเป็นกุ้งขาวก่อนปล่อยจะทำการกั้นคอกล้อมผ้าใบ และลงน้ำเค็มเตรียมไว้ สำหรับปล่อยลูกกุ้ง จากนั้นเลี้ยงในคอกนาน 7 วัน พร้อมๆ กับปรับน้ำจืดไปในตัว แล้วจึงจะเอาผ้าใบออก ส่วนกุ้งก้ามกราม ทางฟาร์มจะทำการซื้อกุ้งพีมาอนุบาลในบ่อชำก่อน เพื่อให้ได้ไซซ์กุ้งชำขนาด 180-200 ตัว/กก แล้วจึงจะปล่อยลงในบ่อเลี้ยง เพื่อช่วยเพิ่มอัตราการรอดของลูกกุ้งได้

เมื่อลงกุ้งทั้ง 2 ชนิด แล้ว จะเริ่มค่อยๆ เติมน้ำครั้งละ 10 ซม. จนเต็มบ่อเลี้ยง ความสูงประมาณ 1.5-2 เมตร อัตราหนาแน่นของกุ้งที่เลี้ยง ถ้าเป็นกุ้งขาวจะปล่อยจำนวน 40,000-50,000 ตัว/ไร่ และปล่อยลูกกุ้งก้ามกรามชำจำนวน 1,000 ตัว/ไร่

การให้อาหารกุ้ง

“การเลี้ยงกุ้งสองชนิดพร้อมกันมันช่วยลดต้นทุนได้มากนะ จากที่เราเลี้ยงเองเพราะเราเลี้ยงไม่แน่น เลี้ยงแบบบางๆ การจัดการดูแลก็จะง่ายขึ้น ให้อาหาร 2 มื้อ เช้า-เย็น ที่สำคัญอาหารทุกเม็ดที่เราให้กุ้ง กุ้งต้องได้กินทุกเม็ด เพราะอาหารราคาสูง

อีกทั้งถ้าเหลือมากมันจะทำให้น้ำเสียได้ เพิ่มต้นทุนจากปัญหาเรื่องน้ำอีก ตรงนี้พี่จะค่อนข้างเข้มกับลูกน้อง ให้คนงานเดินหว่านรอบบ่อ แล้วก็พายเรือให้กลางบ่อด้วย ผลิตภัณฑ์เสริมต่างๆ แทบไม่ได้ใช้เลย เพราะเราใช้จุลินทรีย์ที่หมักเอง มีกากน้ำตาล+น้ำปลา+สับปะรด หมักโดยไม่ใช้ออกซิเจน พอได้หัวเชื้อแล้วก็มาขยายต่อใส่สารพัดผักเข้าไป หมักต่ออีก 1 คืน ก็ใช้ได้แล้ว

จุลินทรีย์พวกนี้จะไปช่วยกำจัดของเสียที่อยู่ในบ่อ ช่วยควบคุมคุณภาพน้ำได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญเราใช้จุลินทรีย์ ปม.ของกรมประมงที่ชมรมเราทำอยู่ควบคู่ไปด้วย ก็ได้ผลดี ลดต้นทุนไปได้เยอะมาก นอกจากนี้ยังมีจุลินทรีย์คลุกกับอาหารให้กุ้งกินด้วย โดยใช้ กากน้ำตาล+รำ+เกลือ เอามารวมกัน หมักไว้นาน 24 ชม. เสร็จแล้วเอาไปคลุกกับอาหารให้กุ้งกินได้ทุกมื้อ มันจะช่วยทำให้กุ้งตัวใส และ ลำไส้ใหญ่”

4.ผลผลิตกุ้งก้ามกรามพร้อมจำหน่าย
4.ผลผลิตกุ้งก้ามกรามพร้อมจำหน่าย

การจำหน่ายผลผลิต กุ้งขาว และกุ้งก้ามกราม

หลังจากลงกุ้งไปได้ประมาณ 2-3 เดือน ก็จะเริ่มลากกุ้งขาวจับขึ้นมาขาย และเลี้ยงกุ้งก้ามกรามต่ออีก 2 เดือน ก็จะเริ่มคัดไซซ์ขายเช่นเดียวกัน และในอนาคตอรอนงค์ฟาร์มอาจจะต่อยอดผลิตกุ้งก้ามกรามชำจำหน่ายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ที่สนใจอีกด้วย

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“การเลี้ยงกุ้งให้ประสบความสำเร็จได้ ต้องอย่าโลภ อย่าฝืน ให้เป็นไปตามธรรมชาติ ทำยังไงก็ได้ก็ให้เรารู้สึกว่าเลี้ยงกุ้งแล้วไม่เครียด อย่าคิดมาก ถ้าเราลงกุ้งแล้วคิดว่าไปไม่รอดก็ชักทิ้ง  ลงใหม่ดีกว่า ดีกว่าฝืนไปแล้วเจ็บตัวเปล่า อีกอย่างอาชีพการเลี้ยงกุ้งในปัจจุบันยังถือว่าเป็นอาชีพที่ดี เป็นอาชีพที่สร้างผลกำไรได้ดีกว่าทำเกษตรอย่างอื่น แต่อย่างไรเสียขอให้เกษตรกรอย่าประมาท หมั่นสังเกต และหาความรู้อยู่ตลอดเวลา”

ขอขอบคุณข้อมูล คุณอรอนงค์ ธนพันธุ์ภูวเดช 87 หมู่ 13 ต.รางหวาย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี 71170 โทร : 091-935-4694

รายชื่อสมาชิก ชมรมผู้เพาะเลี้ยงกุ้งคุณภาพ จังหวัดกาญจนบุรี

นางอรอนงค์ ธนพันธุ์ภูวเดช ประธานกลุ่ม, นายวีระ ยิ้มประเสริฐ รองประธานกลุ่ม, นายธวัชชัย คิ้วศรีประเสริฐ รองประธานกลุ่ม, นางสาวพิทยาภรณ์ ธนพันธุ์ภูวเดช เหรัญญิก, นายวศินพงษ์ ล้อทองพานิชย์ เลขานุการ, นายเสวย สืบบุก ประชาสัมพันธ์, นายณัฐพัชร์ ล้อทองพานิชย์ นายทะเบียน, นายสมโภชน์ พรหมชนะ ปฏิคม, นายธวัช อยู่โต กรรมการ, นายสมพงษ์ แย้มศักดิ์ กรรมการ

ทำเนียบสมาชิก

นายธาเนตร์ ภูฆัง, นายภูมิ สังข์ทอง, นายสุทิน สระทองอ้วน, นางกัลยา สิบานเย็น, นายฉลอง แก้วบังเกิด, นางชุติมา ล้อทองพานิชย์, นางชญาญ์นันท์ เขียวชอุ่ม, นายจีรศักดิ์ สุภาพ, นายสิงหา วิหค, นายเทิดศักดิ์ พรหมมา, นายบำรุง ทับทอง, นางเล็ก ทองนุ่ม, นายนัฐพงษ์ ภู่ระหงษ์, นายนัฐพงษ์ ธนพันธุ์ภูวเดช, นายจิระบูลย์ ล้อทองพานิชย์, นายละเอียด แช่มช้อย, นายอำนวย พรทิพย์ศิริกุล, นายสุทธิ วงษ์น้อย, นายทองสุข พุฒเอก, นางสาวแววตา ต่อแก้ว, นายรุ่ง แก้วภมร, นางจันจิรา อินทสด, นายชูชาติ หุ่นปาน, นายสมพร ไทยวิจิตร, นายสมเจตน์ สมบูรณ์, นางสุชิน หนามแดง, นางสมส่วน แดงรักษ์,นางมณี ดอกเทียน, นายสำนวน พรหมชนะ, นายสุนทร รอดแทน, นายธรรมะ เที่ยงธรรม, นายศิรพงศ์ ธนพันธุ์ภูวเดช, นายประยูร ยิ้มประเสริฐ, นายสุทธิศักดิ์ เต่าทอง, นางสาวณัฐชนก สุภาพ, นางจริยา พรหมชนะ, นางจันเพ็ญ ชมชื่น, นางสาวเตือนจิตร คุ้มสมุทร, นางชำเลือง ขาวโต, นายเสนาะ พรหมชนะ, นายหฤษฎ์ สระทองอ้วน, นายบัญชา พรหมชนะ, นายสมยศ วังหิน, นางนันทวรรณ ออมสิน, นายอมรศักดิ์ ดีกิจเฮง, นายนิติพงษ์ มะนะมติ, นางเบญจา แก้วบังเกิด และนายภูมิจักษ์ ล้อทองพานิชย์

โฆษณา
AP Chemical Thailand

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับที่ 374