เลี้ยง ปลากะพง 3 ไร่/บ่อ ผลผลิต 13 ตัน รวยได้ด้วยอาหาร “ยูนิ-เพรสซิเดนท์”

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ช่วงต้นปี 2564 เป็นต้นมา สถานการณ์ราคา ปลากะพง ขาวในไทยมีราคาที่ตกต่ำในรอบหลายปี อันเนื่องมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างหนักในไทย ส่งผลให้ ร้านค้า ร้านอาหาร ปิดกิจการลง ทั้งชั่วคราว และ ถาวร เป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบให้ปลากะพงขาวล้นตลาด เกินความต้องการของผู้บริโภค ราคาโดยรวมของตลาดปลากะพงขาวไทยจึงลดลงตามอย่างเลี่ยงไม่ได้

ประกอบกับการนำเข้าปลากะพงขาวจากมาเลเซียที่มีราคาต่ำกว่าของไทยเข้ามาตีตลาด ทำให้ราคาตกต่ำ จากเดิมที่เคยขายได้ในราคากิโลกรัมละ 150-170 บาท แต่ในช่วงกลางปี 2564 เหลือเพียงกิโลกรัมละ 100 บาท  ซึ่งช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศเปิดประเทศ ยกเลิกเคอร์ฟิว ทำให้ ร้านค้า ร้านอาหาร ตลาด กลับมาคึกคัก เริ่มมีนักท่องเที่ยว ทั้ง ชาวไทย และ ต่างชาติ เข้ามาจับจ่ายใช้สอยในประเทศเพิ่มขึ้น ตลาดปลากะพงขาวเองก็ขยับราคาขึ้นมา  แม้จะยังไม่ได้ราคาเท่าเดิมก่อนโควิด 19 ระบาด  แต่ก็มีแนวโน้มความต้องการของ ร้านค้า และ  ผู้บริโภค มากขึ้นเรื่อยๆ

ข้อมูลจากกรมประมงระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผลผลิตจากฟาร์มปลาน้ำกร่อยปริมาณรวม 48,988.8 ตัน โดย ร้อยละ 96.4 เป็นผลผลิตจากปลากะพง และมีฟาร์มเลี้ยงปลากะพงขาว จำนวน 7,083 ฟาร์ม พื้นที่แหล่งเลี้ยงที่สำคัญ ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สงขลา และ สมุทรปราการ คิดเป็นร้อยละ 43.5 ของจำนวนฟาร์มเลี้ยงทั้งหมดในไทย

จะเห็นได้ว่าแหล่งเพาะเลี้ยงปลากะพงขาวกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค เนื่องจากเป็นปลาที่สามารถเจริญเติบโตได้ ทั้งใน น้ำเค็ม น้ำกร่อย และ น้ำจืด เลี้ยงค่อนข้างง่าย โตไว มีเนื้อรสชาติสัมผัสดี เป็นที่ต้องการของตลาด และเป็นหนึ่งในปลาเศรษฐกิจที่กรมประมงส่งเสริมให้เกษตรกรไทยเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย

1.เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาว และทีมงานอะเมซอน
1.เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาว และทีมงานอะเมซอน

การเพาะเลี้ยงปลากะพงขาว

ทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำ เดินทางมาที่ อ.เมือง จ.ราชบุรี  มาร่วมพูดคุยกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาว คุณเมธี กุฒิเนตรเนติรักษ์ หรือ คุณกิ้ว แม้จะเพิ่งเริ่มเลี้ยงปลากะพงขาวมาเพียงไม่กี่ปี แต่สามารถทำกำไรต่อครอปการเลี้ยงได้ไม่น้อย ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่บ่อกุ้งมาก่อน คุณกิ้วเห็นโอกาส มองว่าการเลี้ยงปลาดูแลง่ายกว่าการเลี้ยงกุ้ง และการเลี้ยงปลาสร้างกำไรได้ค่อนข้างมาก แนวโน้มราคาปลาก็เริ่มกลับมาพอๆ กับช่วงก่อน

จึงเริ่มทำการปรับปรุงสภาพบ่อ โดยอาศัยองค์ความรู้เรื่องการเลี้ยงปลากะพงจากการอ่านหนังสือ และถามจากคนที่เลี้ยงมาก่อน กล้าลองผิดลองถูก เคยผิดพลาดครั้งใหญ่ทำให้ปลาตายยกบ่อ จนในที่สุดวันนี้สามารถเลี้ยงปลากะพงเป็นอาชีพ และประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งได้แล้ว

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ขั้นตอนแรก คือ การปรับพื้นที่บ่อ เนื่องจากในอดีตเป็นพื้นที่บ่อกุ้ง ความลึกอยู่ที่ 1 เมตรกว่า แต่เลี้ยงปลาบ่อจำเป็นต้องลึก จึงทำการขุดบ่อเพิ่มเป็น 2 เมตร แม้บ่อจะเป็นรูปตัวแอล (L) ก็ไม่ได้มีปัญหาต่อการเลี้ยง เลี้ยงเหมือนกับบ่อสี่เหลี่ยมทั่วไป บ่อเลี้ยงมีพื้นที่ 3 ไร่ และมีบ่อเก็บน้ำสำหรับเก็บน้ำดีไว้ใช้ ในขั้นตอนการถ่ายเทน้ำระหว่างการเลี้ยง  น้ำที่ใช้ก็มาจากคลองธรรมชาติรอบๆ บ่อ

เทคนิคการเลี้ยงของคุณกิ้วจะเลี้ยงเป็นน้ำจืด 100%  หลังจากที่ปรับบ่อ เตรียมบ่อ เตรียมน้ำ เสร็จ จะนำลูกปลาขนาด 3 นิ้ว มาลงบ่อครั้งละ 15,000 ตัวต่อบ่อขนาด 3 ไร่ การอนุบาลจะเลี้ยงในคอกขนาด ยาว 30 เมตร กว้าง 10 เมตร เลี้ยงประมาณ 1 เดือนครึ่ง ก่อนปล่อยเข้าสู่บ่อเลี้ยง  แต่หากปลายังโตไม่ได้ขนาดที่ต้องการ  หรือยังไม่แข็งแรงพอ ก็จะอนุบาลต่อในคอกจนถึง 2 เดือน

2.อาหารปลา ยูนิ-เพรสซิเดนท์
2.อาหารปลา ยูนิ-เพรสซิเดนท์

ข้อดีของอาหาร ยูนิ-เพรสซิเดนท์

อาหารปลาเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตของปลา อาหารที่ใช้ คือ อาหารปลายูนิ-เพรสซิเดนท์ ของ บริษัท อะเมซอน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งมีโปรตีนสูงถึง 44%  เน้นใช้วัตถุดิบจากปลาป่นคุณภาพสูง ซึ่งเป็นโปรตีนที่จำเป็นต่อปลา ช่วยให้ปลาแข็งแรง โตไว ได้น้ำหนัก FCR ต่ำ ซึ่งปัจจุบันวัดค่า FCRได้ 1.1-1.15  คุณกิ้วกล่าวว่า “ผมเลือกใช้อาหารปลาของอะเมซอนมาตั้งแต่เริ่มเลี้ยง ข้อดี คือ สังเกตได้จากปลา คือ ปลาจะกินอาหารดี แข็งแรง และ โตไวมาก เวลาจับขายตลาด สีปลาจะออกทองๆ เนื้อขาว แม่ค้าที่รับซื้อชอบมาก เพราะทำราคาขายได้ดี ”

การให้อาหารใช้สูตรเดียว ตั้งแต่ขั้นตอนอนุบาลลูกปลาจนวันจับขาย คือ จะให้อาหารวันละ 2 มื้อ คือ ช่วงเช้า 07.00 น. และช่วงเย็น 17.00 น. การให้แต่ละครั้งจะสังเกตุการกินของปลา และให้อาหารจนกว่าปลาจะอิ่ม แต่ถ้าหากปลาผิดปกติ มีโรค จะหยุดให้ทันที และจะมีทีมงานของอะเมซอนเข้ามาให้คำปรึกษา ช่วยแก้ปัญหาทันที โรคส่วนใหญ่ในตอนนี้ คือ มาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ฝนตกหนัก บางวันร้อนจัด การตรวจค่าน้ำก็สามารถช่วยป้องกันความเสียหายตรงนี้ได้

3.บ่อเลี้ยงปลากะพง
3.บ่อเลี้ยงปลากะพง

การบริหารจัดการบ่อปลากะพง

การตรวจค่าน้ำระหว่างการเลี้ยงเป็นประจำ เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่เกษตรกรหลายคนไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก การตรวจค่าน้ำ หาค่าของเสีย ค่าแอมโมเนีย ค่าไนไตรท์ จะช่วยป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ คุณกิ้วเล่าว่า  “ที่นี่จะมีน้องๆ ทีมงานของอะเมซอนเข้ามาตรวจน้ำเป็นประจำ ถ้ามีค่าอะไรผิดปกติก็จะรีบโทรมาบอก แล้วจะมีทีมงานเข้ามาช่วยแก้ไขทันที ทำให้เราไม่กังวล”

ระหว่างการเลี้ยงมีการใส่จุลินทรีย์น้ำแดง สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ซึ่งจุลินทรีย์น้ำแดงมีคุณสมบัติในการช่วยลดก๊าซไช่เน่า (ไฮโดรเจน ซัลไฟด์) ลดแอมโมเนีย ไนไตรท์ และช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ เลน เศษอาหาร ที่ตกค้างในบ่อ ซึ่งเป็นสาเหตุในการเกิดโรค โดยจุลินทรีย์น้ำแดงจะไม่ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การเลี้ยง 1 ครอป ลงปลาทั้งหมด 15,000 ตัวต่อบ่อขนาด 3 ไร่ ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 5 เดือน ผลผลิตที่ได้กว่า 10 ตัน สำหรับค่า FCR วัดได้ 1.1-1.15 ซึ่งถือว่าต่ำมากสำหรับปลากะพง  เนื่องจากเลี้ยงด้วยอาหารที่มีคุณภาพสูง นอกจากอาหารยังมีการให้วิตามินเสริม เป็นกลุ่มวิตามินซี ใช้คลุกรวมกับอาหาร

4.ตู้ควบคุมไฟฟ้า
4.ตู้ควบคุมไฟฟ้า

ปัญหาและอุปสรรคในบ่อ ปลากะพง

การเลี้ยงปลากะพงในครอปที่แล้ว ถือเป็นประสบการณ์ครั้งใหญ่ของคุณกิ้วก็ว่าได้ เนื่องจากก่อนวันที่จะจับขายเพียง 7 วัน เกิดไฟฟ้าดับในตอนกลางคืน ตอนนั้นใช้กล่องแมกเนติกรุ่นเก่า พอไฟฟ้าดับ กล่องก็ตัดไฟฟ้าทั้งหมด เครื่องให้ออกซิเจน เครื่องต่างๆ ก็ดับหมด พอไฟกลับมาเป็นปกติ กล่องรุ่นเก่าก็ไม่เปิดให้อัตโนมัติ คุณกิ้วเองก็ไม่ทราบ เนื่องจากเป็นเวลากลางคืน พอตอนเช้ามาเจอปรากฏว่าปลาตายยกบ่อแล้ว ความเสียหายมูลค่ากว่า 8 แสนบาท

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น จึงมีการวางระบบไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด ติดตั้งเครื่องตั้งเวลาเปิด-ปิดไฟฟ้า (Timer) ระบบสัญญาณเตือน (Alarm)  และกล้องวงจรปิดบริเวณบ่อเลี้ยง เพื่อดูการทำงานของใบพัด และตรวจเช็คสีน้ำบางครั้ง หลังจากผ่านเหตุการณ์ไฟฟ้าดับทำให้ปลาตายยกบ่อ คุณกิ้วเองก็ได้หาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยควบคุมการเลี้ยง และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แม้การลงทุนเรื่องเทคโนโลยีจะเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง แต่ถือเป็นการลงทุนในระยะยาว

และอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่นำมาปรับใช้ คือ การควบคุมระบบการเลี้ยง ผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ สามารถเปิด-ปิดเครื่องตีน้ำ  ควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ทั้งหมด ทั้งง่าย และสะดวก  เหมาะกับเกษตรกรไทยยุค 4.0  เป็นอย่างมาก คุณกิ้วกล่าวว่า “การมีเทคโนโลยีมาช่วย มันสะดวกกับตัวคนเลี้ยงเอง เลี้ยงปลาก็เหมือนกับการเลี้ยงน้ำ น้ำดี ให้อากาศถึง ยังไงปลาก็รอด ระบบต่างๆ ที่เราลงทุน จะช่วยให้เราไม่ต้องกังวลว่าไฟฟ้าจะดับ หรือปลาจะตายไหม”

ขอขอบคุณเกษตรกร คุณเมธี กุฒิเนตรเนติรักษ์ 293/1-2 ถ.ศรีสุริยวงค์ ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี  70000 โทร.099-782-5695 (คุณกิ้ว) และหากสนใจอาหารปลากะพง ยี่ห้อ “ยูนิ-เพรสซิเดนท์” ติดต่อได้ที่ บริษัท อะเมซอน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 89/7 ม.2 ต.กาหลง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร 74000 โทร.091-740-0584 (คุณอัลเบิร์ต), 083-247-4400 (คุณโอ๊ต)

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับที่ 388