การจัดการฟาร์มโคนม แบบเป็นระบบ เลี้ยงโคนมโฮลส์ไตน์เลือด 75 ได้ผลผลิตดี

โฆษณา
AP Chemical Thailand

นิตยสารสัตว์บก ได้แนะนำจิลัดดาฟาร์ม อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ธุรกิจฟาร์มโคนมที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น…เป็นครอบครัวที่เติบโตมาพร้อมกับฟาร์มโคนมมานานกว่า 30 ปี มาพูดคุยกับ “คุณจิรายุทธ์ กลัดทอง” หรือ “คุณแล็ค” ทายาทรุ่นที่ 2 ที่ได้เข้ามาสานต่อธุรกิจฟาร์มโคนมของ คุณพ่อชูชาติ กลัดทอง ถึงประวัติความเป็นมาของฟาร์ม และเทคนิคการจัดการฟาร์ม ที่จะสร้างรายได้ด้วยนมจากเต้า การจัดการฟาร์มโคนม

1.คุณจิรายุทธ์ กลัดทอง ผู้เลี้ยงโคนม
1.คุณจิรายุทธ์ กลัดทอง ผู้เลี้ยงโคนม

จุดเริ่มต้นการเลี้ยงโคนม

แต่เดิมคุณพ่อทำไร่ข้าวโพด และมาเริ่มเลี้ยงโคนมในปี พ.ศ.2532 เริ่มจากการเลี้ยงโคนม 3 ตัว และโคนมพระราชทาน 5 ตัว จากโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย เดิมมีชื่อฟาร์มว่า “ชูชาติฟาร์ม” ซึ่งตนได้เห็นอาชีพการเลี้ยงโคนมมาตั้งแต่เด็กๆ จึงมีความคุ้นเคยกับอาชีพนี้ และอยากจะสานต่อธุรกิจครอบครัว

“แต่หลังจากเรียนจบก็ได้เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ทำงานออกแบบบรรจุภัณฑ์ และรับงานเสริมเขียนเว็บไซต์เพราะอยากทำงานประจำก่อนเพื่อหาประสบการณ์ และเก็บเงินมาขยายฟาร์ม แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงของโรคระบาดปากและเท้าเปื่อย (FMD) คุณพ่อดูแลจัดการไม่ไหวเลยเรียกให้กลับมาช่วย จึงลาออกจากงานประจำแล้วมาทำฟาร์มอย่างเต็มตัว ณ ตอนนั้นจนถึงปัจจุบันทำมาได้ 5 ปีแล้ว ซึ่งในปัจจุบันมีโคนมประมาณ 200 ตัว” คุณแล็คเปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นของตน

2.เครื่องรีดนมโคนม
2.เครื่องรีดนมโคนม

การบริหารโรงเรือน การจัดการฟาร์มโคนม

ในช่วงแรกๆ ยังมีโคไม่เยอะ จึงทำโรงเรือนแบบธรรมดา และใช้ระบบรีดแบบถังเดี่ยว (Bucket type) ใช้เครื่องรีดนมของ บริษัท InterPulsSpA“เริ่มเปลี่ยนมาใช้ได้ 6 ปีแล้ว ซึ่งคุณภาพก็ยังดีเหมือนเดิม แต่ตอนนี้กำลังสร้างโรงรีดนมใหม่เป็นระบบรีดแบบท่อ (Pipeline milking) และได้มีการปรับระบบใหม่ทั้งฟาร์ม เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ และเพื่อรองรับจำนวนโคนมที่เพิ่มขึ้น” ทายาทจิลัดดาฟาร์มเปิดเผย

โคนมมีการจัดการค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร สุขภาพ ระบบสืบพันธุ์ โรคต่างๆ และความต้องการอาหารของโคนมแต่ละตัวต้องการอาหารที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับช่วงอายุการให้นม น้ำหนักตัว ปริมาณการให้นม และอื่นๆ จะนำมาคำนวณหาปริมาณและคุณค่าทางโภชนาการ ส่วนเรื่องสุขภาพจะมีเรื่องของกีบเท้า เต้านม ระบบสืบพันธุ์ และโรคต่างๆ

ซึ่งกีบเท้าของโคต้องมีการตัดแต่งอยู่เสมอ เพื่อให้มีรูปร่างลักษณะปกติและแข็งแรง หากกีบมีความผิดปกติหรืออักเสบจะส่งผลต่อสุขภาพของโค ส่วนเรื่องเต้านมต้องระวังปัญหาโรคเต้านมอักเสบ เพราะจะส่งผลต่อคุณภาพน้ำนม เพราะฉะนั้นกระบวนการรีดนมต้องสะอาด และต้องตรวจ CMT ก่อนรีดทุกครั้ง และแรงดูดของเครื่องต้องเหมาะสมเพื่อไม่ให้เต้านมเกิดการอักเสบ ส่วนการจัดการในเรื่องของโรคต่างๆ จะทำวัคซีนป้องกันตามโปรแกรม และป้องกันไม่ให้เชื้อจากข้างนอกเข้าสู่ฟาร์ม โดยรถที่ใช้ขนส่งน้ำนมในฟาร์มกับขนส่งไปโรงรับน้ำนมจะใช้คนละคันกัน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ระยะเวลาในการเลี้ยงที่จะให้นมได้จะอยู่ประมาณ 3 ปี โดยปกติอายุประมาณ 1 ปี 8 เดือน โคต้องผสมได้แล้ว ต้องจัดการให้ได้ตามแผนเพื่อเป็นการลดต้นทุนการเลี้ยง ปัจจุบันที่ฟาร์มมีแม่รีดอยู่ 80 แม่ จะมีคนงานทั้งหมด 5 คน 4 คน ดูแลในเรื่องของการรีดนม อีกคนหนึ่งจะดูแลในส่วนของอาหาร และตัวเราเองก็ต้องดูแลทุกอย่าง ในส่วนของค่าจ้างนั้นจะจ่ายเป็นรายเดือน มีที่พักให้ ค่าน้ำ ค่าไฟ ฟรี

ที่ฟาร์มจะรีดนมวันละ 2 รอบ แม่โคจะเข้ารีตนมช่วงเช้าประมาณตี 5 และช่วงบ่าย 2 ในช่วงเช้าแม่โคจะให้ปริมาณน้ำนมมากกว่าช่วงบ่าย เพราะมีระยะเวลาการสร้างน้ำนมนานกว่า แม่โคที่ฟาร์มจะให้นมเฉลี่ยตัวละ 16.25กิโลกรัม น้ำนมที่ได้จะนำไปส่งที่ศูนย์ส่งเสริมโคนมซับสนุ่น นมของฟาร์มจะได้กิโลกรัมละ 18 บาท แต่ราคาจะบวก-ลบก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพน้ำนม โดยจะมีเกณฑ์ตามมาตรฐานกำหนด ซึ่งราคามาตรฐานกลางจะอยู่ที่ประมาณ 17 บาท

3.การจัดการฟาร์มโคนม
3.การจัดการฟาร์มโคนม

การให้อาหารโคนม

ในส่วนของอาหาร ทางฟาร์มจะให้อาหารข้น และอาหารหยาบ อาหารข้นจะเป็นพวกอาหารสำเร็จรูป และอาหารผง ส่วนของอาหารหยาบที่ฟาร์มจะให้เป็นข้าวโพด ฟางแห้ง แล้วจะนำทั้งหมดมาผสมกันเป็นอาหาร TMR ให้โคนมกิน อาหารสำเร็จรูปจะใช้ของ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และบริษัท ราชาฟีดส์ จำกัด ซึ่งจะให้อาหารสูตรที่แตกต่าง เพื่อให้โปรตีนและพลังงานเหมาะสมกับโคนมแต่ละรุ่น

การคำนวณสูตรอาหารของฟาร์มจะใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบหลัก แล้วเสริมด้วยอาหารข้น เพื่อให้ค่าโปรตีนและพลังงานเพียงพอต่อความต้องการของโคแต่ละกลุ่ม ซึ่งแต่ก่อนเคยใช้หญ้าเนเปียร์ แต่เลิกใช้แล้ว เพราะเมื่อคำนวณออกมาแล้วหญ้าเนเปียร์เป็นกลุ่มที่ให้พลังงานน้อย แต่ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบหลักของแหล่งโปรตีนและพลังงาน ทำให้ไม่ต้องเสริมอาหารข้นเยอะ และมีการเสริมวิตามิน แร่ธาตุต่างๆ ส่วนแหล่งน้ำที่ใช้เป็นน้ำบาดาล จะเจาะทั้งหมด 3 บ่อ 2 บ่อสำหรับใช้ในฟาร์มโคนม อีกบ่อใช้ในไร่ข้าวโพด

ลักษณะของโรงเรือนจะเป็นลักษณะโคอยู่สองฝั่ง และทางตรงกลางให้รถจ่ายอาหารสามารถเข้าจ่ายอาหารได้ เพื่อลดการใช้แรงงานคน การจัดการมูลสัตว์ของที่ฟาร์มจะนำไปตากให้แห้ง แล้วจะมีรถสิบล้อมารับซื้อ ตากประมาณ 1-2 อาทิตย์ ได้หนึ่งคัน ขายได้คันละ 5 พันบาท

การขยายพันธุ์ของฟาร์มจะมีทั้งผสมเทียมและผสมจริง โดยจะมีพ่อพันธุ์อยู่ 1 ตัว แต่หลักๆ เลยจะเน้นที่ผสมเทียมมากกว่า แต่จะมีบางตัวที่ผสมติดยาก จะนำไปแยกไว้ พอเป็นสัดจะให้พ่อพันธุ์เข้าผสมจริง วันถัดมาจะทำการผสมเทียมซ้ำอีกรอบ

โฆษณา
AP Chemical Thailand
4.สายพันธุ์โคนม
4.สายพันธุ์โคนม การจัดการฟาร์มโคนม การจัดการฟาร์มโคนม การจัดการฟาร์มโคนม การจัดการฟาร์มโคนม

สายพันธุ์โคนม

สายพันธุ์ที่เลี้ยงส่วนใหญ่จะเป็นโคนมพันธุ์โฮลส์ไตน์ฟรีเชี่ยน (Holstein Friesian) จะมีค่าสายพันธุ์อยู่ประมาณ 75% ซึ่งโคเลือดต่ำๆ จะทนต่อสภาพอากาศประเทศไทยมากกว่าเลือดสูงๆ แต่จะให้ปริมาณน้ำนมน้อย แต่ถ้าเป็นเลือดร้อยจะได้ปริมาณน้ำนมเยอะ แต่จะไม่เหมาะกับสภาพอากาศบ้านเรา ทางฟาร์มจึงมีการปรับปรุงค่าสายพันธุ์ โดยนำโฮลส์ไตน์ฟรีเชี่ยนพันธุ์แท้เลือดร้อยมาผสมเพื่อให้ค่าสายพันธุ์เพิ่มขึ้น ในปัจจุบันที่ฟาร์มมีค่าสายพันธุ์อยู่ประมาณ 80-85% จะมีค่าสายพันธุ์กลางๆไม่ต่ำ ไม่สูง จนเกินไป

แต่เลือดร้อยคุณแล็คกล่าวว่า“แต่ถ้าต่อไปในอนาคตเราจะปรับสายพันธุ์เพิ่ม เราต้องมีระบบการจัดการที่ดี ปรับโรงเรือนของเราให้พร้อมก่อน เพราะโคนมเลือดร้อยจะไม่เหมาะกับสภาพอากาศประเทศไทย เรื่องของอุณหภูมิ ความชื้น จะมีผลอย่างมาก”

5.โรงเรือนโคนม
5.โรงเรือนโคนม การจัดการฟาร์มโคนม การจัดการฟาร์มโคนม การจัดการฟาร์มโคนม การจัดการฟาร์มโคนม

สภาพพื้นที่เลี้ยงโคนม

ถ้าถามถึงสภาพอากาศที่โคให้ผลผลิตดีสุดก็คงไม่พ้นช่วงปลายฝนต้นหนาวเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว นอกจากได้ผลผลิตน้ำนมดีแล้ว ยังมีอาหารหยาบเพียงพอ เพราะเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวโพดเก็บได้เยอะ ส่วนในช่วงหน้าร้อนต้องทำโรงเรือนให้โปร่ง มีช่องระบายอากาศ ให้อากาศถ่ายเทสะดวก ถ้ามีความชื้นสูง อากาศไม่ถ่ายเท โคนมจะเครียด แล้วจะกินอาหารน้อยลง ส่งผลต่อผลผลิต ในช่วงที่อากาศร้อนที่ฟาร์มจะมีการสเปรย์น้ำ และเปิดพัดลมเพื่อช่วยระบายความร้อน

ปัญหาและอุปสรรคการเลี้ยงโคนม “ก็มีเยอะนะครับ แต่แก้ไปหมดแล้ว ก็เริ่มจากตอนแรกที่เริ่มเลี้ยง คือ เราไม่รู้อะไรเราเลย ไม่กล้าที่จะลองทำ ไม่กล้าตรวจท้อง ไม่กล้าผสมเทียม พอไม่กล้าทำ เราก็จะไม่รู้ว่าปัญหามันคืออะไร ไม่รู้ว่าจะเอาคำถามอะไรไปถามหมอ แต่พอเราลองทำเราก็จะรู้ว่าปัญหาคืออะไร พอไปถามหมอเราก็จะได้ความรู้มาต่อยอดมาเรื่อยๆ และศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เข้าอบรมต่างๆ ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันเราสามารถทำได้ทุกอย่าง และสอนคนงานในฟาร์มได้” คุณแล็คยอมรับปัญหาการเลี้ยงโคนม

6.อาหารสำหรับโค
6.อาหารสำหรับโค การจัดการฟาร์มโคนม การจัดการฟาร์มโคนม การจัดการฟาร์มโคนม การจัดการฟาร์มโคนม

แนวโน้มในอนาคต

วางแผนไว้ว่าภายใน 3 ปี มีการจัดการเรื่องแรงงาน จะใช้แรงน้อยลง แล้วมาเน้นเรื่องเทคโนโลยี ต้องมีการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบภายในฟาร์ม เรื่องอาหารหยาบต้องเพียงพอต่อความต้องการ เพื่อลดการซื้อจากข้างนอกเพิ่ม ตอนนี้มีการวางแผนขยายแปลงปลูกข้าวโพด ทำบังเกอร์ไว้เก็บอาหาร เรื่องการทำระบบจัดเก็บประวัติโคนม

และในส่วนของน้ำนมดิบคิดว่าปริมาณและราคาการรับซื้อน้ำนมดิบอาจมีการเปลี่ยนแปลง จึงได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะทำอย่างไร ภายใน 3 ปี ถ้าราคาน้ำนมดิบอยู่ที่ 15 บาท/กิโลกรัม และการสร้างผลิตภัณฑ์จากนมที่จะวางตัวให้อยู่ในจุดไหนของตลาดนม เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของผู้บริโภคให้นิยมบริโภคนมมากขึ้น เป็นอีกโจทย์ที่ต้องคิดต่อไป

โฆษณา
AP Chemical Thailand

สุดท้ายคุณแล็คสรุปว่า “อาชีพการเลี้ยงโคนมถือว่าเป็นอีกอาชีพที่ดี ที่สามารถเลี้ยงดูเราได้ และได้อยู่กับธรรมชาติ ได้ดูแลจัดการด้วยตนเอง เป็นอาชีพอิสระ เป็นนายตัวเอง ไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร เป็นอาชีพที่มีการเรียนรู้อยู่ตลอด และสิ่งที่สำคัญที่สุดเลย คือ ต้องมีใจรักในอาชีพนี้ เพราะโคนมต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด”

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณจิรายุทธ์ กลัดทองโทร.084-973-1498 ที่อยู่ บ้านเลขที่ 61 หมู่ 10 ตําบลซับสนุ่น อําเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี 18220

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 325