บ้านแพะดี สุพรรณบุรี จากอาชีพเสริม การเลี้ยงแพะ สู่อาชีพหลัก กำไรถึง 100 บาท/ตัว

โฆษณา
AP Chemical Thailand

จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นจังหวัดในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำ หรือสัตว์บก และในปัจจุบันมีสัตว์อีก 1 ชนิด ที่มีความน่าสนใจในการเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม และอาจสามารถพัฒนาเป็นอาชีพหลักได้ คือ การเลี้ยงแพะ

พ่อแม่พันธุ์แพะ
พ่อแม่พันธุ์แพะ

นิตยสารสัตว์บกฉบับนี้จะพามารู้จักกับเกษตรกรท่านหนึ่งที่เริ่มต้นจาก การเลี้ยงแพะ เป็นอาชีพเสริม จนปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นอาชีพหลัก ได้กำไรถึง 100 บาท/ตัว

1.คุณกรกต ศรีท้าว เจ้าของฟาร์มแพะ
1.คุณกรกต ศรีท้าว เจ้าของฟาร์มแพะ

จุดเริ่มต้นของ การเลี้ยงแพะ

คุณกรกต ศรีท้าว หรือพี่แมว เจ้าของฟาร์มแพะ บ้านแพะดี อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เดิมครอบครัวพี่แมวเป็นเกษตรปลูกพืชไร่ และได้เลี้ยงแพะเป็นอาชีพเสริม หลังจากที่ การเลี้ยงแพะ แล้วเห็นว่าได้กำไรดีกว่าการทำพืชไร่ ปัจจุบันอาชีพเลี้ยงแพะจึงได้กลายมาเป็นอาชีพหลัก

ในตอนแรกที่เริ่มสร้างโรงเรือน มีเสาอยู่แค่ 9 ต้น มีโรงเรือน 2 ห้อง ต่อมาก็ค่อยๆ ขยายเพิ่ม โดยเงินทุนจากกำไรที่ขายแพะ ไม่ได้กู้ยืม ค่อยๆ ขยายทีละนิดตามกำลังตัวเองเท่าที่ไหว ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้คิดจะทำเป็นอาชีพหลัก เพราะตอนนั้นเป็นเกษตรกรพืชไร่ แต่พอได้มาลองทำฟาร์มแพะ เห็นว่าได้กำไรดีกว่าการทำพืชไร่ ปัจจุบันอาชีพเลี้ยงแพะจึงได้กลายมาเป็นอาชีพหลัก พี่แมวกล่าวเพิ่มเติม

2.โรงเรือนแพะ
2.โรงเรือนแพะ

การบริหารจัดการภายในฟาร์มแพะ

ปัจจุบันพี่แมวเลี้ยงแพะมาได้ 15 ปี เริ่มแรกเลี้ยงเป็นแพะปล่อยไล่ทุ่งทั่วไป เริ่มเลี้ยงตอนนั้นยังไม่มีความรู้อะไร ก็ปล่อยไล่ทุ่งไป แพะมีปัญหาเจ็บป่วยอะไรก็เรียกแต่หมอตลอด ต่อมาได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาเรียนรู้จากกรมปศุสัตว์

ทางฟาร์มจะจำหน่ายแพะแม่พันธุ์ และแพะขุน บ้างจำนวนหนึ่ง แต่เพราะในช่วงนี้ราคาแพะขุนไม่ค่อยนิ่ง จึงหยุดแพะขุน และมีปัญหาในช่วงโควิด จากที่เคยขุน 3 เดือน ก็ต้องขุนต่อไปถึง 5 เดือน เพราะไม่สามารถขายออกไปได้ ทำให้ต้องลดจำนวนการขุนแพะ แล้วมาเพิ่มการดูแลจัดการแพะแม่พันธุ์

โฆษณา
AP Chemical Thailand

โดยทางฟาร์มจะซื้อแพะหย่านมจากที่อื่นเข้ามา แล้วนำมาคัดเลือกอีกที ก่อนที่จะนำมาเลี้ยงเพื่อจำหน่ายเป็นแพะแม่พันธุ์ให้เกษตรกร จะเลี้ยงแพะจนอายุได้ประมาณ 7 เดือน หรือพร้อมผสม จะได้น้ำหนักประมาณ 22-35 กิโลกรัม

นอกจากนี้พี่แมวยังรับประกันอีกว่าแพะที่ฟาร์มมีใบอนุญาตคอกกักระหว่างประเทศทุกตัว มีการเจาะเลือดตรวจโรคแท้งติดต่อ ก่อนนำไปส่งให้ลูกค้า และรับทำแพะตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่งเข้ามา ซึ่งแพะที่ฟาร์มส่วนใหญ่จะเป็นแพะลูกผสมสายพันธุ์บอร์ และแองโกล

พี่แมวได้ให้เหตุผลที่เลือกซื้อแพะจากที่อื่นแทนการที่จะผลิตเองว่า เนื่องจากพื้นที่ของเรามีไม่เพียงพอ และความต้องการของตลาดสูง ถ้าเราผลิตเองจะไม่ทันความตามต้องการของตลาด แต่ในอนาคตก็มีความคิดที่จะผลิตลูกแพะเอง หากไม่สามารถพึ่งลูกแพะจากภายนอกไม่ได้ วางแผนไว้ที่แม่พันธุ์ของตัวเอง 500 ตัว

แพะทุกตัวที่ซื้อเข้ามาทางฟาร์มต้องมีการนำมาปรับสภาพก่อน เพราะบางฟาร์มที่ซื้อมามีการเลี้ยงแบบไล่ทุ่ง เมื่อนำมาเลี้ยงแบบขังคอกที่ฟาร์ม ทำให้แพะเครียด อาหารที่ให้ไม่เหมือนกัน แพะไม่กินอาหาร ก็ต้องมีการนำมาปรับสภาพ ให้แพะอยู่โรงเรือนที่กว้าง มีพื้นที่ในการวิ่งเล่น ค่อยๆ ปรับอาหาร โดยปกติจะใช้เวลาปรับสภาพแพะประมาณ 1 เดือน

เมื่อแพะมาถึง วันแรกจะถ่ายพยาธิภายในผิวหนัง ฉีดยาแก้เครียด หลังจากนั้นอีก 15 วัน ก็จะถ่ายพยาธิลำไส้ แต่ยังไม่ทำวัคซีน เนื่องจากแพะอาจจะยังเครียดอยู่ หากแพะเริ่มชิน และสุขภาพแข็งแรงดี จึงเริ่มทำวัคซีนตามโปรแกรม นอกจากนี้พี่แมวยังได้แนะนำวิธีการสังเกตว่าหากแพะขนดูลื่นขึ้น ไม่ดูหยิกหยอง แปลว่าพยาธิหมด

เมื่อปรับสภาพครบ 1 เดือน ทางฟาร์มจะเลือกแพะตัวที่ขนสวย สุขภาพแข็งแรง คัดเลือกมา 30 ตัว เพื่อย้ายไปให้ครบ 1 ห้อง ให้เป็นชุดเดียวกัน หลังจากขายแพะออก ทางฟาร์มจะพักคอกเพื่อล้างทำความสะอาด และโรยปูนขาวเพื่อฆ่าเชื้อ ก่อนนำแพะชุดใหม่ลง

โฆษณา
AP Chemical Thailand
3.การให้อาหารแพะ
3.การให้อาหารแพะ
หญ้าแพงโกล่าแห้ง
หญ้าแพงโกล่าแห้ง

การให้อาหารแพะ

ในช่วงแรกที่เริ่มเลี้ยงนั้น พี่แมวได้เผยว่ายังไม่มีความรู้เกี่ยวกับ การเลี้ยงแพะ อาหารที่ให้แพะกินก็จะเป็นพวกกระถิน และอาหารสัตว์สำเร็จรูปทั่วไป ที่ไม่ใช่อาหารสำเร็จของแพะ ทำให้ผลผลิตออกมาไม่ดี พี่แมวจึงได้ศึกษาเพิ่มเติมมาเรื่อยๆ ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาใช้อาหารแพะเอราวัณของ ซีพี กระถินหมัก และเสริมด้วยหญ้าแพงโกล่าแห้ง เพื่อกระตุ้นการเคี้ยวเอื้อง

โดยพี่แมวจะตัดกระถินต้นอ่อนนำมาโม่ แล้วนำไปหมักใส่ถัง ข้อดีของการทำกระถินหมัก คือ 1.แมลงตายไม่มีตัวที่แพ้ 2.เมื่อแพะกินเข้าไปแล้วท้องไม่อืด เมื่อพี่แมวได้เปลี่ยนรูปแบบอาหาร ก็ช่วยให้การจัดการง่ายขึ้น เพราะสามารถรู้ว่าแพะกินอะไร เมื่อแพะป่วยเป็นเพราะอาหารชนิดไหน ช่วยให้รักษาได้ง่ายขึ้น

โดยให้กินกระถินสลับกับอาหารสำเร็จรูป ในแพะสาวจะให้กินอาหารสำเร็จรูป 3 กรัม/ตัว/วัน ปริมาณกระถินหมักจะอยู่ที่ 10% ของน้ำหนักตัว ส่วนใหญ่จะให้ไม่เกิน 1.5-2 กิโลกรัม/ตัว/วัน จะให้กิน 2 เวลา เช้า/เย็น โดยจะให้อาหารสำเร็จรูปก่อน แล้วตามด้วยกระถินหมัก และมีเสริมหญ้าแพงโกล่าแห้งให้กินตลอดทั้งวัน

ส่วนมูลแพะที่ได้ทางฟาร์มจะนำมาตากไว้ แล้วกรอกใส่ถุงกระสอบเพื่อนำไปจำหน่ายต่อไป แต่หากมีการหมักเพิ่มจะช่วยเพิ่มมูลค่าของมูลแพะ จากกระสอบละ 20 บาท เป็นกระสอบละ 60 บาท จะใช้เวลาหมัก 1 เดือน จะหมักมูลแพะรวมกับพวกเศษหญ้าต่างๆ

4.มีพื้นที่ในการวิ่งเล่น
4.มีพื้นที่ในการวิ่งเล่น

ปัญหาและอุปสรรคของแพะ

เมื่อถามถึงปัญหาเรื่องสภาพอากาศ พี่แมวได้บอกว่าช่วงปลายฝนต้นหนาวเป็นช่วงที่ดูแลจัดการยากสุด เพราะแพะไม่ชอบอากาศชื้น รวมทั้งโรคระบาดต่างๆ และเป็นช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้แพะป่วยได้ง่าย

ตลอด การเลี้ยงแพะ 15 ปี ปัญหาที่พี่แมวพบเจอ คือ เรื่องของโรค ซึ่งพี่แมวได้เผยว่า อุปสรรคที่เจอก็คงเป็นเรื่องโรค แต่เราก็เรียนรู้กับมันไปเรื่อย และหาทางป้องกันมาตลอด เพราะแพะไม่สามารถบอกเราได้ว่าเขาป่วยเป็นอะไร ไม่ว่าจะเป็นหวัด หรือท้องเสีย เราต้องคอยสังเกตอยู่ตลอด ดูพฤติกรรมของแพะ ทั้งการกินอาหาร การขับถ่าย

โฆษณา
AP Chemical Thailand
5.ลูกแพะแข็งแรงดี ขนสวย
5.ลูกแพะแข็งแรงดี ขนสวย

ฝากถึงผู้ที่สนใจเลี้ยงแพะ

สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจแพะของทางฟาร์ม สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณกรกต หรือพี่แมว หมายเลขโทรศัพท์ 086-018-7975 หรือติดต่อเข้ามาเยี่ยมชมแพะที่ฟาร์มได้ พี่แมวยินดีให้คำแนะนำ

สุดท้ายพี่แมวได้พูดถึงอาชีพการเลี้ยงแพะว่า ถ้าถามว่าการทำอาชีพเลี้ยงแพะรายได้ดีมั้ย ก็ถือว่าดีในระดับหนึ่ง ถ้าหักต้นทุนทุกอย่างออกไปแล้ว พี่ได้กำไรตัวละ 100 บาท/เดือน ถ้าเดือนหนึ่งขายได้ 300 ตัว ได้เงิน 30,000 บาท ก็ถือว่าโอเคนะ ทำงานที่บ้านเป็นเจ้านายตัวเอง ไม่ได้เป็นลูกน้องใคร แต่ในช่วงแรกอาจต้องลงทุนสูงนิดนึงในการสร้างโรงเรือน แต่เราก็ค่อยๆ ขยายตามกำลังของเรา เอากำไรที่ได้มาลงทุน ไม่ต้องไปกู้ยืมใคร

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณกรกต ศรีท้าว (พี่แมว) 331 ม.4 ต.ดอนคา อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โทร.086-018-7975

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 333