ฟาร์มโคนมบุญชู GAP แปลงทุกส่วนจาก “น้ำนม” เป็นเงิน อย่างน่าทึ่ง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เด็กน้อยตัวเล็กๆ แห่งเมืองมะขามหวาน Young Smart Farmer เด็กรุ่นใหม่ หัวใจแกร่งที่ไม่เคยยอมแพ้ในเรื่องการทำฟาร์ม สายเลือดลูกเกษตรกรโดยแท้จริง โดย นิตยสารสัตว์บก ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นางสาวบุษบง งีสันเทียะ หรือ คุณแจง ซึ่งเป็นลูกสาว เจ้าของ ฟาร์มโคนมบุญชู หลังจากเรียนจบกลับมาบุกเบิกและพัฒนาฟาร์มโคนมให้มั่นคงกว่าเดิม

1.คุณบุษบง งีสันเทียะ หรือ คุณแจง และครอบครัว
1.คุณบุษบง งีสันเทียะ หรือ คุณแจง และครอบครัว

จุดเริ่มต้นการเลี้ยงวัวนม

คุณแจงได้เล่าให้ทางทีมงานฟังว่า เมื่อก่อนช่วงที่คุณแจงยังเด็ก คุณพ่อ-คุณแม่ ได้ทำฟาร์มโคนมมาโดยตลอด แต่ประสบปัญหาในเรื่องโคเป็นโรคใหม่ระบาด ยังหาทางรักษาไม่ได้ และทางปศุสัตว์ยังเข้าไม่ถึง ทำให้เกิดความเสียหายกับทางฟาร์มเป็นอย่างมาก คุณพ่อ-คุณแม่จึงได้ปรึกษากันว่าจะเลิกทำฟาร์มโคนมอย่างถาวร

ในขณะนั้นมีโรงงานอ้อยมาก่อสร้างขึ้นใกล้ๆ ฟาร์ม ทางครอบครัวจึงหันไปทำไร่อ้อย แต่ก็ยังประสบปัญหาในเรื่องแรงงานตัดอ้อย จึงต้องไปจ้างคนงานจากจังหวัดอื่นเข้ามา แต่ก็พบปัญหา จ่ายเงินให้คนงานตัดอ้อยไปแล้ว ก็ไม่มาตัดอ้อยดังที่สัญญาเอาไว้ ทำให้สูญเงินไปอยู่บ่อยครั้ง

เมื่อคุณแจงเรียนจบ ทุกคนในครอบครัวจึงปรึกษากันว่าจะทำอาชีพอะไรกันดี จึงลงความเห็นกันว่าจะกลับมาบุกเบิกและพัฒนาฟาร์มโคนมใหม่อีกครั้ง จึงเป็นจุดเริ่มตัวของ “ฟาร์มโคนมบุญชู” ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

คุณแจงเล่าต่อว่า สาเหตุในการกลับมาทำฟาร์มโคนม เพราะครอบครัวมีองค์ความรู้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ที่สำคัญนมมีการประกันราคาจากผู้ซื้อ  และประกันราคาจากรัฐบาลอยู่แล้ว  ทำให้มีรายได้ที่แน่นอน ถ้าคุณภาพนมเราดี  เราก็มีรายได้มากขึ้น

2.โรงเรือนวัว
2.โรงเรือนวัว

ปัญหาและอุปสรรคในฟาร์มวัว

ในการกลับมาทำฟาร์มเมื่อเดือนตุลาคม 2560 ได้ซื้อโคนมมาจากฟาร์มเกษตรกรด้วยกันหลากหลายพื้นที่ ซึ่งทางคุณแจงก็ไม่ทราบว่าโคนมที่ซื้อมานั้นเป็น “โรคไข้เห็บ” ซึ่งโรคนี้แพร่เชื้อได้ง่าย ทำให้โรคแพร่กระจายไปทั้งฟาร์ม ต้องทำการรักษาด้วยการฉีดยาปฏิชีวนะให้กับแม่โคทั้งฟาร์ม ส่งผลให้ต้องงดส่งนมเป็นเวลา 3 วัน ต่อมาก็พบปัญหาเรื่องโรคเต้านมอักเสบ ในการดูแลจัดการโรคนี้ก็ไม่ได้ยุ่งยาก เพียงแต่ต้องรู้ถึงสาเหตุในการเกิดโรค และทำการรักษาให้ตรงจุด ทำความสะอาดเต้านม และพื้นคอกให้สะอาด

โฆษณา
AP Chemical Thailand

คุณแจงเล่าต่อว่าทางฟาร์มได้รับมาตรฐานฟาร์ม GAP จากกรมปศุสัตว์ เข้าร่วมประกวดเกษตรกรโคนมรุ่นใหม่ดีเด่น ประจำปี 2564 (Young Dairy Farmer) และรางวัลล่าสุดได้รางวัลรองชนะเลิศ Community Success Case ในโครงการ Agro Journey Hunter เส้นทางวิสาหกิจชุมชนเกษตรอุตสาหกรรม สู่การท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์

3.การให้อาหารวัว
3.การให้อาหารวัว

การบริหารจัดการฟาร์มวัว

คุณแจงเล่าว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของทางฟาร์มที่รังสรรค์ขึ้นมาได้ ใส่ใจทุกขั้นตอนการผลิต เช่น การผลิตนมสดรสชาติต่างๆ เนย และ เบเกอรี่

การผลิตนมสด  เริ่มจากการดูแลในเรื่อง อาหารข้น และ อาหารหยาบ ที่ดี มีคุณภาพ เหมาะสำหรับแม่โค เพื่อแม่โคจะได้ผลิตน้ำนมที่ดี มีคุณภาพ มีค่า MB และองค์ประกอบในน้ำนมดิบ ตรงตามมาตรฐานที่กรมปศุสัตว์กำหนด

ขั้นตอนการรีดนม ทางฟาร์มจะทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกครั้ง ทั้ง ก่อนรีดนม และ หลังรีดนม แม่โคทุกตัว, ทำความสะอาดเต้านมแม่โคก่อนรีดทุกครั้ง, ทำการฉีดน้ำยาจุ่มเต้าเพื่อทำการฆ่าเชื้อ ทั้ง ก่อนรีด และ หลังรีดนม ที่สำคัญมีการทำความสะอาดหัวไลเนอร์ซึ่งเป็นชุดรีดนมด้วยน้ำคลอรีนเพื่อทำการฆ่าเชื้อก่อนรีดนมแม่โคตัวถัดไปทุกครั้ง ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าน้ำนมโคที่ได้ สด สะอาด รสชาติดี ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการครบ

การผลิตนมโคพาสเจอร์ไรซ์ เมื่อได้น้ำนมสดที่ดี มีคุณภาพ แล้ว จะนำมาพาสเจอร์ไรซ์ด้วยการใช้หม้อ 2 ใบ โดยหม้อใบที่ 1 จะใส่น้ำ และหม้อใบที่ 2 จะใส่นมวางไว้ด้านในของหม้อใบที่ 1 เนื่องจากนมเป็นสารแขวนลอย ไม่สามารถโดนไฟโดยตรงได้ ถ้าโดนไฟโดยตรงนมจะไหม้ก่อนสุก ด้วยทางฟาร์มของเราทำแบบโฮมเมด นมที่พาสเจอร์ไรซ์จะไม่ได้ผ่านขั้นตอนการโฮโมจีไนซ์เพื่อทำการตีผสมโปรตีนและไขมันนมให้รวมเป็นเนื้อเดียวกัน ทำให้เมื่อทำการพาสเจอร์ไรซ์นมเสร็จเแล้ว นมจะเกิดการแยกชั้นไขมันดีออกบางส่วน

4.เนย
4.เนย

การแปรรูปนมวัว

หลังจากนั้นก็จะนำมาปรุงรสชาติต่างๆ เช่น รสหวาน รสชาไทย รสชาเขียว รสโกโก้ และ นมชมพู หลังจากนั้นนำมาบรรจุขวด โดยขวดบรรจุจะต้องทำฆ่าเชื้อก่อนทุกครั้ง เมื่อบรรจุใส่ขวดเรียบร้อยแล้วจะนำมาแช่ในน้ำผสมน้ำแข็งเพื่อทำการน็อคให้เย็น เพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์นม ทางฟาร์มมีนมทั้งหมด 6 รสชาติ ให้เลือก รสธรรมชาติ (จืด) รสหวาน รสชาไทย รสชาเขียว รสโกโก้ และ นมชมพู ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี ในเรื่อง ความหอม อร่อย คุณค่าตามโภชนาการ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การผลิตเนยแข็ง ดังที่กล่าวข้างต้นว่า คุณแจงได้ไขมันดีของนมมาบางส่วนจากการทำนมพาสเจอร์ไรซ์ จึงนำมาปั่นเป็นเนยแข็ง ซึ่งเนยตัวนี้สามารถนำไปทากับขนมปัง เป็นส่วนผสมสำหรับทำเบเกอรี่ หรือนำไปใส่ในกาแฟแทนครีมเทียมได้ เพื่อเพิ่มรสชาติ ความหอม อร่อย ให้กับกาแฟ

ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ คุณแจงกล่าวว่า “เราได้นำเนยที่ทางฟาร์มผลิตเองมาทำเป็นเบเกอรี่ เช่น คุกกี้เนยสด เป็นต้น ซึ่งตนเองเป็นคนที่ชอบทำเบเกอรี่อยู่แล้ว จึงนำองค์ความรู้ต่างๆ มาใช้ปรับปรุง และพัฒนา สร้างเป็นรายได้ให้กับทางฟาร์ม ทุกอย่างในฟาร์มตนไม่เคยทิ้งออกนอกฟาร์มเลย จะนำกลับมาสร้างมูลค่าทุกอย่าง

ด้วยแนวคิดการทำฟาร์มแบบ Zero Waste เช่น มูลโค บางส่วนตากแห้งแล้วนำไปขายให้กับเกษตรกร หรือร้านขายต้นไม้ และนมโคที่คุณภาพไม่ตรงตามมาตรฐาน ก็จะนำมาหมักเป็นน้ำหมักนมสด แบ่งใส่แกลลอนขายให้กับเกษตรกรที่ทำการปลูกผักอินทรีย์ เพื่อนำไปรดพืชผักที่ปลูก ช่วยเพิ่มรสชาติที่หวาน กรอบ ให้กับพืชผัก”

5.นมโคพาสเจอไรซ์
5.นมโคพาสเจอไรซ์

การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชาวฟาร์ม

เนื่องจากคุณแจงเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เร่งเห็นความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรที่อยู่โดยรอบ จึงมีแนวความคิดรวบรวมเกษตรกรในพื้นที่ จัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชาวฟาร์ม” ซึ่งวิสาหกิจนี้จะนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของพี่น้องเกษตรกรมารวมกันขาย เช่น บ้านไหนมีผักปลอดสาร ก็จะนำมาขาย, บ้านไหนมีองค์ความรู้ในเรื่องทำฟาร์ม หรือเกษตรแนวใหม่ ก็จะนำองค์ความรู้นั้นมาแจกจ่ายให้กับผู้สนใจในองค์ความรู้นั้นๆ เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาฟาร์มของตนเอง หรือผู้ที่ต้องการเข้ารับการอบรม

ณ ตอนนี้ คุณแจงมีแนวความคิดจะเปิดเป็นโฮมสเตย์ เพื่อให้ผู้ที่สนใจในการแปรรูปผลิตภัณฑ์นม หรือบางท่านอยากผลิตนมดื่มเอง จากแม่โคอารมณ์ดีในฟาร์ม โดยท่านสามารถเลือกแม่โคที่ชื่นชอบ และให้ทางฟาร์มรีดนมให้ แล้วนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมในรูปแบบต่างๆ ที่ท่านชื่นชอบได้เลย

ทางทีมงานขอขอบพระคุณ คุณแจง สำหรับเรื่องราวดีๆ แง่คิดดีๆ ในมุมมองของเด็กรุ่นใหม่ หัวใจเกษตร ที่เข้ามาพัฒนาฟาร์ม พัฒนาชุมชน ให้มั่นคง และยั่งยืน ก้าวไปพร้อมกัน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

สำหรับท่านที่สนใจผลิตภัณฑ์นมโค หรือเบเกอรี่ และต้องการนั่งดื่มนมในบรรยากาศฟาร์ม สามารถติดต่อได้ที่ เพจ : เด็กขายนม-Boonchu Dairy Farm หรือ ติดต่อ นางสาวบุษบง งีสันเทียะ (น้องแจง) โทร.090-920-9750 ฟาร์มโคนมบุญชู เลขที่ 84 หมู่ 11 หมู่บ้านร่องหอย ตำบลสระกรวด อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ 67170

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 347