ระบบอีแวป เลี้ยงไก่เนื้อพันธุ์อาร์เบอร์ดาฟาร์มฯ ให้ผลตอบแทนดีกว่าพันธุ์คอบบ์

โฆษณา
AP Chemical Thailand

จากอาชีพเกษตรกร ทำไร่ ทำนา สู่การทำธุรกิจฟาร์มไก่เนื้อในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง หรือระบบประกันราคา จากคำแนะนำของเพื่อนบ้าน และได้ศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม จนได้มาเปิดฟาร์มเลี้ยงไก่แบบเต็มตัว ต้องยอมรับว่าเป็นธุรกิจที่สามารถทำรายได้เป็นที่น่าพึงพอใจ และเป็นธุรกิจที่มั่นคงต่อยอดสู่อนาคตได้ ระบบอีแวป

1.คุณนุชดา โกลากุล เจ้าของฟาร์มไก่เนื้อ
1.คุณนุชดา โกลากุล เจ้าของฟาร์มไก่เนื้อ

จุดเริ่มต้นการเลี้ยงไก่เนื้อ

วันนี้ทางนิตยสารสัตว์บกได้มีโอกาสมาพูดคุยกับ คุณนุชดา โกลากุล หรือคุณอ๊อด เจ้าของฟาร์มไก่เนื้อ “นุชดาฟาร์ม” อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี เดิมคุณอ๊อดเคยทำการเกษตร ทำไร่ ทำนา แต่เจอปัญหาเรื่องสภาพอากาศ จึงได้เลิกทำการเกษตร แล้วไปทำงานโรงงานไก่ที่ดอนเจดีย์ ประจวบกับช่วงนั้นเพื่อนบ้านได้หันมาเลี้ยงไก่เนื้อ แล้วเกิดความสนใจ จึงได้ขอคำแนะนำและศึกษาเพิ่มเติม จึงตัดสินใจหันมาเลี้ยงไก่เนื้อในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งกับ บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) และได้เข้าอบรมการเลี้ยงกับปศุสัตว์อำเภออยู่ตลอดเวลา

ในปี 2546 ได้เริ่มเลี้ยงไก่เนื้อในโรงเรือนหลังแรกขนาด 16×88 เมตร บรรจุไก่ได้ 1.5 หมื่นตัว ต่อมาได้มีการพัฒนาสร้างเพิ่มอีก 1 โรงเรือน ขนาด 18×100 เมตร บรรจุไก่ได้ 2 หมื่นตัว คุณอ๊อดเผยถึงสาเหตุการเลี้ยง“เริ่มเลี้ยงกับทางบริษัท ไทยฟู้ดส์ ตั้งแต่แรกเลย เพราะมีคนแนะนำ ซึ่งทางบริษัทจะมีสัตวบาลส่งเสริมมาคอยช่วยดูแลแนะนำ และจะมีคนติดต่อเรื่องเอกสารให้ เราไม่ต้องทำอะไรเลย มีหน้าที่เลี้ยงอย่างเดียว ส่วนเรื่องลูกไก่ อาหาร และวัคซีน ทางบริษัทก็จัดหามาให้”

2.โรงเรือนไก่เนื้อ
2.โรงเรือนไก่เนื้อ
ถังไซโลอาหาร
ถังไซโลอาหาร

การบริหารจัดการโรงเรือนไก่เนื้อ ระบบอีแวป

หากกล่าวถึงโรงเรือน ทางฟาร์มจะเลี้ยงในโรงเรือนระบบปิด หรือ ระบบอีแวป (Evap) ซึ่งตอนแรกวิธีให้อาหารในโรงเรือนยังไม่ได้ใช้ระบบออโต้ฟีด จะใช้แบบถังห้อย เริ่มมาใช้ในปี 2550 โดยใช้ถังไซโลของ บริษัท การุณบราเธอร์ส จํากัด ซึ่งมีคุณภาพดี มอเตอร์ไม่มีปัญหา และราคาไม่แพง ส่วนอุปกรณ์ภายในฟาร์มจะใช้ของ บริษัท K.S.P. EQUIPMENT CO.,LTD. เพราะมีคุณภาพดี จับต้องได้ ราคาไม่แพง ส่วนโรงเรือนจะหาซื้อวัสดุเอง และจ้างช่างรับเหมามาทำ

เมื่อลูกไก่มาถึงฟาร์มจะนำไปชั่งน้ำหนัก ตรวจดูสภาพลูกไก่ ให้อาหาร ให้น้ำ จะกกลูกไก่ประมาณ 7 วัน แต่ฤดูหนาวจะกกประมาณ 10 วัน เพราะถ้าอากาศเย็นต้องกกนานกว่าปกติ เพื่อให้ไข่แดงในกระเพาะหมด ส่วนเรื่องแสง ลูกไก่ต้องการแสงที่ค่อนข้างสว่างในช่วงอายุสัปดาห์แรก  เพื่อให้ลูกไก่เห็นน้ำ และอาหาร อย่างชัดเจน และเป็นการกระตุ้นการกินน้ำและอาหารของลูกไก่ด้วย

อาหารที่ใช้เลี้ยง และวัคซีน ทางบริษัทจะจัดหามาให้ โดยวัคซีนจะใช้แบบละลายน้ำให้กิน จะให้ไก่อดน้ำ 3 ชม. ก่อนให้วัคซีน และล้างท่อน้ำให้สะอาดก่อนให้วัคซีน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสารเคมีตกค้างในท่อ ส่วนแหล่งน้ำที่ใช้จะเป็นน้ำบาดาล ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยง 37-42 วัน จะได้น้ำหนักตัวผู้อยู่ที่ 3.0 กก. และตัวเมีย 2.8 กก.

โฆษณา
AP Chemical Thailand
3.อาหารสำหรับไก่เนื้อ
3.อาหารสำหรับไก่เนื้อ

การให้อาหารไก่เนื้อ

ในเรื่องให้อาหาร คุณอ๊อดกล่าวว่า “อาหารที่ใช้มี 3 เบอร์ เราจะมาคำนวณการให้เอง เพราะเราให้แบบออโต้ฟีด มันจะฟิคปริมาณไม่ได้ บางทีอาจมีเกินมาบ้าง ต้องคำนวณเองให้ปริมาณใกล้เคียงที่บริษัทกำหนด และไม่มีการเสริมอะไรในอาหาร มีแค่การผสมพวกวิตามินในน้ำให้ไก่กิน เพราะทางบริษัทควบคุมเรื่องการใช้ยา จะมีการตรวจเนื้อไก่ที่อายุประมาณ 22 วัน ตรวจหาสารตกค้าง ถ้าตรวจเจอสารตกค้างจากยาจะโดนปรับ”

ในส่วนของสัตว์ป่วย และไก่ตัวที่แตกไซส์ จะนำไปเลี้ยงแยกที่คอกสัตว์ป่วยอยู่ท้ายโรงเรือน มีการดูแลจัดการเป็นพิเศษ มีน้ำและอาหารให้กินอย่างสมบูรณ์ และเสริมวิตามินในน้ำ “เนื่องจากเราให้อาหารในระบบออโต้ฟีด รางน้ำและอาหารจะเอาขึ้นเท่ากันหมด ไก่ตัวเล็กก็จะกินไม่ถึง จึงต้องนำมาเลี้ยงแยก ซึ่งเราจะให้คนงานตรวจดูตลอดเวลาตอนให้อาหาร แล้วจับแยกออกมา” คุณอ๊อดให้ความเห็น

ทางฟาร์มจะมีการพักเล้าประมาณ 1 เดือน เพื่อทำความสะอาดโรงเรือน โดยการเก็บมูลไก่ออกทันที แซะเศษมูลไก่ เศษแกลบ ออกจากโรงเรือน เพื่อเป็นการกำจัดกลิ่น และการสะสมของเชื้อโรค จากนั้นทำความสะอาดพวกอุปกรณ์ และพ่นยาฆ่าเชื้อบริเวณพื้น หลังคา และทุกซอกทุกมุมของโรงเรือน ก่อนจะนำลูกไก่รุ่นต่อไปมาเลี้ยง

เรื่องการสูญเสียมีเปอร์เซ็นต์ไม่เยอะ แต่ก็ขึ้นกับพันธุกรรมไก่ด้วย ถ้ามีการสูญเสียเกิน 2% ในหนึ่งสัปดาห์แรก ทางบริษัทจะมีการเคลมให้ ส่วนไก่ที่นำมาเลี้ยงจะเป็นพันธุ์อาร์เบอร์ เอเคอร์ (Arbor Acres) จะให้ลักษณะของเนื้อที่นุ่ม ไม่เหนียว และไม่ค่อยเจอปัญหาในการเลี้ยง ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยเลี้ยงพันธุ์คอบบ์ (Cobb) จะมีปัญหาเรื่องกระเพาะอักเสบ คือ จะมีลักษณะกระเพาะโต พอส่งโรงเชือดก็จะมีปัญหาเรื่องอาหารตกหล่น

ส่วนปัญหาด้านอื่น คุณอ๊อดให้ความเห็นว่า “ปัญหาเรื่องโรคไม่ค่อยมี เพราะเราเลี้ยงใน ระบบอีแวป แต่จะมีปัญหาเรื่องสภาพอากาศมากกว่า ในช่วงฤดูหนาวจะมีปัญหามากกว่าฤดูร้อน เพราะระบบที่ฟาร์มช่วยให้ความเย็น ให้ความร้อนไม่ได้ ถ้าอากาศร้อนเราก็สามารถปรับการให้สเปรย์น้ำให้บ่อยขึ้น และปรับพัดลมได้ แต่ถ้าอากาศเย็นระบบช่วยให้อุ่นไม่ได้”

4.ระบบอีแวป เลี้ยงไก่เนื้อพันธุ์อาร์เบอร์ดาฟาร์มฯ ให้ผลตอบแทนดีกว่าพันธุ์คอบบ์
4.ระบบอีแวป เลี้ยงไก่เนื้อพันธุ์อาร์เบอร์ดาฟาร์มฯ ให้ผลตอบแทนดีกว่าพันธุ์คอบบ์

ข้อดีของการเลี้ยงแบบประกันราคา

คุณอ๊อดยอมรับว่า “การทำฟาร์มไก่เนื้อในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งค่อนข้างสะดวก เพราะได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท ไทยฟู้ดส์ฯ อาหารและวัคซีนทางบริษัทฯ ก็จัดหามาให้ เราเพียงแค่ดำเนินธุรกิจตามขั้นตอน ตามระบบที่ทางบริษัทฯ วางไว้ แล้วศึกษาและพัฒนาตัวเอง และต้องคอยดูแลเอาใจใส่ เพราะเราเลี้ยงสิ่งมีชีวิต จึงต้องใส่ใจเป็นพิเศษ หากใครสนใจอาชีพเลี้ยงไก่เนื้อ ถือว่าเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มั่นคง และสามารถต่อยอดได้ในอนาคตแน่นอน”

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณนุชดา โกลากุล ที่อยู่ 99 ม.9 ต.สระกระโจม อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี โทร.089-550-9828

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 325