ลัดดาวัลย์ เกษตรกรพนมสารคาม รวยด้วยเป็ดไข่พันธุ์ปากน้ำ แปรรูปเป็น ไข่เค็ม เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ในปัจจุบันไข่เป็ดกำลังเป็นที่นิยม เพราะมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู และสีไข่แดงของไข่เป็ดจะมีสีสันสดสวยกว่าไข่ไก่ นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดได้โดยการนำมาแปรรูปเป็น ไข่เค็ม เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาได้อีกด้วย

การทำไข่เค็มที่คนส่วนใหญ่นิยม คือ การนำไปต้มในน้ำเกลือ แต่สำหรับเกษตรกรท่านนี้ที่ทางนิตยสารสัตว์บกจะพาทุกท่านไปรู้จัก เธอได้เน้นสร้างมูลค่าของไข่ด้วยการนำมาแปรรูปทำเป็นไข่เค็มดินสอพอง ทำให้ได้ ไข่เค็ม ที่มีรสชาติดี ถูกใจผู้บริโภค

1.คุณลัดดาวัลย์ อึงสวัสดิ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไข่
1.คุณลัดดาวัลย์ อึงสวัสดิ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไข่

จุดเริ่มต้นการเลี้ยงเป็ดไข่

คุณลัดดาวัลย์ อึงสวัสดิ์ เกษตรกรชาวพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้เปิดเผยว่า เดิมมีพื้นที่กว่า 200 ไร่ปลูกมันสำปะหลัง ต่อมาพอทำไปเรื่อยๆ เริ่มรู้สึกว่าทำรายได้ไม่ค่อยดี จึงได้หันมาเลี้ยงโคขุน แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ต่อการสร้างรายได้ ทำให้ได้มองเห็นอีกหนึ่งช่องทาง คือ การเลี้ยงเป็ดไข่พันธุ์ปากน้ำ ในปี 56 ของโครงการพระราชดำริ เขาหินซ้อน

“ช่วงที่ปลูกมันแล้วไม่ประสบความสำเร็จ พี่ก็ได้ไปซื้อไข่เค็มเขามาขายเพื่อหารายได้ ไปขายที่ตลาดเขาหินซ้อน ก็มีพี่ที่สำนักงานปศุสัตว์มาแนะนำให้เลี้ยงเป็ด แล้วก็ทำไข่เค็มขาย ต่อมาทางศูนย์วิจัยและบำรุงสัตว์ กบินทร์บุรี มีการสนับสนุนแจกเป็ดให้มาเลี้ยง 20 ตัว ก็เลี้ยงแบบปล่อยไว้หน้าบ้าน เอาตาข่ายกั้นไว้ จาก 20 ตัว ก็มาเป็น 100 ตัว 200 ตัว ขยายมาเรื่อยๆ ปัจจุบันมีประมาณ 2,000 ตัว” คุณลัดดาวัลย์เผยถึงที่มาของการเลี้ยงเป็ดไข่

2.สายพันธุ์เป็ด
2.สายพันธุ์เป็ด

สายพันธุ์เป็ดไข่

เป็ดไข่ที่เลี้ยงเป็นสายพันธุ์ปากน้ำ ลักษณะประจำพันธุ์ เพศเมียจะมีขนสีดำตลอดลำตัว หน้าอกสีขาว ปาก แข้ง และเท้า สีดำ ส่วนเพศผู้จะมีหัวสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนอื่นๆ เหมือนเพศเมีย จึงทำให้รู้สึกชอบและหลงใหล เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คุณลัดดาวัลย์เลือกเลี้ยงเป็นสายพันธุ์นี้ และเป็นสายพันธุ์ที่เลี้ยงง่าย ต้านทานโรค และแข็งแรง

3.โรงเรือนเป็ด
3.โรงเรือนเป็ด

สภาพพื้นที่เลี้ยงเป็ด

เมื่อได้ตัดสินใจที่จะเลี้ยงเป็ด คุณลัดดาวัลย์และครอบครัวก็ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเลี้ยงเป็ด คือ ปรับให้เป็นพื้นที่ปลอดโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก โดยแบ่งภายในโรงเรือนให้มีคอกกั้นเป็น 3 เล้า เพื่อเลี้ยงเป็ด ให้มีขนาดรุ่นที่แตกต่างกันไปประมาณ 3 รุ่น โดยเริ่มเลี้ยงจากลูกเป็ด เมื่อลูกเป็ดมาถึงต้องมีการเตรียมเล้าเพื่อทำการกก จะใช้ระยะเวลากกประมาณ 7- 10 วัน ตามสภาพอากาศ เมื่อครบกำหนดก็ย้ายออกมาข้างนอก

โฆษณา
AP Chemical Thailand
4.ให้อาหารเป็ด
4.ให้อาหารเป็ด

การให้อาหารเป็ด

ส่วนอาหารที่ใช้เลี้ยงลูกเป็ดก็จะเป็นอาหารสำเร็จรูปที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีน 20 ขึ้นไป เพราะจะช่วยทำให้โครงสร้างของเป็ดดีขึ้น จากนั้นนำลูกเป็ดไข่ที่แข็งแรงมาเลี้ยงในคอกที่เตรียมไว้ แล้วเปลี่ยนอาหาร ประหยัดต้นทุน คือ ให้เป็ดกินรำข้าว ต้นกล้วยสับ แหน และหญ้าทั่วไป ที่สามารถหาได้ตามท้องถิ่น ให้กินวันละ 3 มื้อ และให้วิตามินบี 12 ผสมกับน้ำเสริม เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง

เมื่อเป็ดอายุได้ประมาณ 2 เดือน จะสลับเล้าปล่อยให้ลงเล่นน้ำในสระที่เตรียมไว้ โดยจะไม่ขังให้อยู่ภายในเล้าเพียงอย่างเดียว  จึงเป็นสิ่งสำคัญ  เวลาที่เลี้ยงเป็ดควรแบ่งพื้นที่สำหรับเดินเล่นและว่ายน้ำให้ด้วย  จะยิ่งทำให้เป็ดมีความแข็งแรงและต้านทานต่อโรคได้ดี

5.พื้นที่สำหรับให้เป็ดลงเล่นน้ำ
5.พื้นที่สำหรับให้เป็ดลงเล่นน้ำ

การบริหารจัดการโรงเรือนเป็ด

นอกจากการดูแลจัดการที่ดีแล้ว อาหารก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยคุณลัดดาวัลย์ได้เผยเทคนิคว่า “เมื่อเป็ดอายุประมาณ 4-5 เดือน จะเริ่มให้ไข่ฟองแรกออกมา ซึ่งอาหารที่ให้เป็ดกินนี่ถือว่าสำคัญมาก ถึงเราจะเลี้ยงด้วยกล้วยสับ รำข้าว แต่ก็ต้องให้กินอาหารข้นด้วยในทุกวัน เพื่อเป็นการเสริมการออกไข่ที่ดี ส่วนแหนถ้าหามาได้มากก็ใส่ทิ้งในบ่อน้ำได้เลย เป็ดก็จะหากินเอง จะทำให้เป็ดอารมณ์ดี เป็ดก็จะออกไข่ให้เราได้ดีไม่ขาดช่วง สามารถให้ไข่ได้เป็น 1 ปีขึ้นไป ถ้าเราเลี้ยงดูแลดี”

สำหรับการดูแลจัดการฟาร์ม คุณลัดดาวัลย์และครอบครัวช่วยกันดูแลจัดเองทั้งหมด จึงสามารถดูแลเป็ดทุกตัวได้อย่างทั่วถึง จะหมั่นดูอาการของเป็ดทุกวันว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ เช่น ถ้าจำนวนไข่ที่เก็บในแต่ละวันมีจำนวนลดลง ก็จะหาสาเหตุแล้วว่ามาจากอะไร เพื่อแก้ไขทันที

ส่วนการทำวัคซีนจะทำปีละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันโรคเพล็ก (Duck plague) และโรคอหิวาต์เป็ด (Duck cholera) ซึ่ง 2 โรคนี้ ถือว่ามีความรุนแรงมากถ้าเกิดขึ้นกับเป็ด

คุณลัดดาวัลย์ได้บอกถึงอีกสาเหตุที่ทำให้เป็ดป่วย คือ ปัญหาน้ำแห้ง เป็ดมีน้ำกินไม่เพียงพอ เมื่อเติมน้ำให้เป็ดก็จะแย่งกันกิน พอกินน้ำเข้าไปเยอะก็ทำให้เป็ดท้องเสีย วิธีป้องกัน คือ หมั่นเติมน้ำให้เป็ดมีน้ำกินตลอด ถ้าเป็ดมีอาการท้องเสียก็ต้องแยกตัวที่ป่วยออก ตักมูลทิ้งแล้วโรยปูนขาว และที่ฟาร์มยังมีคอกว่างเตรียมไว้เสมอ เมื่อพื้นคอกแฉะเกินไป จะย้ายเป็ดไปอีกคอกแล้วโรยแกลบใหม่ และทำความสะอาดคอกเติม

โฆษณา
AP Chemical Thailand
6.เป็ดแข็งแรงสมบูรณ์ โตไว
6.เป็ดแข็งแรงสมบูรณ์ โตไว

การฟักไข่เป็ด

เนื่องจากฟาร์มที่คุณลัดดาวัลย์รับซื้อลูกเป็ดมาเลี้ยงผลิตออกมาไม่ทันตามความต้องการ จึงได้ผันตัวเองมาจำหน่ายเป็ดสาวให้เกษตรกรในกลุ่มแทน โดยมีการตั้งกลุ่มใช้ชื่อว่า “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านคุณณณัฐ” และรับซื้อไข่เป็ดจากเกษตรกรในกลุ่มเพื่อนำมาแปรรูปเป็นไข่เค็ม ปัจจุบันกลุ่มนี้มีสมาชิกทั้งหมด 15 ราย

ในปัจจุบันทางฟาร์มได้เปลี่ยนมาทำโรงฟัก โดยจะเลี้ยงตั้งแต่ลูกเป็ดจนพร้อมให้ไข่ แล้วจึงจำหน่ายให้แก่เกษตรกร ได้เปลี่ยนมาเลี้ยงเป็ดปากน้ำทั้งเพศผู้และเพศเมีย โดยใช้อัตราส่วน ตัวผู้ : ตัวเมีย 2:10 ตัว ช่วงอายุเป็ดที่จะนำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์จะอยู่ที่ 4-8 เดือน เมื่อนำมาเลี้ยงรวมกันได้ 15 วัน ไข่ที่ได้ในช่วงนั้นจะเก็บทิ้งไปก่อน ยังไม่นำมาฟัก เพราะเชื้ออาจยังไม่สมบูรณ์

เมื่อได้ไข่ที่พร้อมฟักแล้วจะเก็บมาเรียงไว้ที่อุณหภูมิห้อง 5-7 วัน แล้วจึงนำเข้าตู้ฟัก พอครบ 10 วัน จะนำออกมาส่องเชื้อ เมื่อได้ไข่มีเชื้อจะนำเข้าตู้ฟักต่ออีก 28-30 วัน เมื่อลูกเป็ดฟักออกมาก็นำมากกไฟอนุบาลต่อ และเลี้ยงจนเป็นเป็ดสาวประมาณ 4 เดือนครึ่ง พร้อมไข่ และจำหน่ายแก่เกษตรกรในกลุ่มตัวละ 180 บาท

นอกจากนี้คุณลัดดาวัลย์ยังได้บอกเทคนิคการแยกเพศลูกเป็ดว่า “การแยกเพศลูกเป็ดต้องดูตั้งแต่แรกเกิดเลยนะ ถ้าเลย 7วันไปแล้วจะแยกยาก วิธีแยก คือ เปิดใต้ท้องดูแล้วปลิ้น ถ้าเป็นตัวผู้จะมีเดือยโผล่ออกมานิดนึง ถ้าเป็นตัวเมียจะไม่มีอะไร”

7.ไข่เค็มพร้อมจำหน่าย
7.ไข่เค็มพร้อมจำหน่าย
ไข่แดงจะมีสีสันสดสวย
ไข่แดงจะมีสีสันสดสวย

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายไข่เค็ม

นอกจากนี้คุณลัดดาวัลย์ยังได้นำผลผลิตที่ได้มาต่อยอดด้วยการแปรรูปเป็น ไข่เค็ม แต่ไม่ใช่ไข่เค็มธรรมดาเป็น ไข่เค็ม พอกดินสอพอง ไข่แดงจะมีรสชาติที่กลมกล่อม มันๆ ส่วนไข่ขาวจะไม่เค็มเกินไป โดยจะนำไข่เป็ดมาพอกดินสอพองทิ้งไว้ 20 วัน แล้วนำมาล้างให้สะอาดก่อนไปต้ม และที่สำคัญไข่เค็มดินสอพอง บ้านคุณณณัฐ เป็นไข่เค็มสดใหม่ ต้มตอนกลางคืน แล้วนำไปขายที่ตลาดนัดตอนเช้า หรือรับทำตามออเดอร์ที่สั่งเข้ามา

“พอลูกค้าได้ชิม เขาก็ติดใจนะ เพราะไข่ขาวมีรสชาติที่ไม่เค็มเกินไป ไข่แดงจะออกมันๆ และไข่แดงมันจะค่อนข้างสีแดงสด จึงทำให้ลูกค้าชอบ ซึ่งตอนนี้ไข่เค็มที่ผลิตเองขายทุกวัน ขายหมดเราก็รีบมาต้ม เพื่อให้มีของขายในวันพรุ่งนี้ ซึ่งไข่ที่ใช้ทำไข่เค็มเลือกไข่ไซซ์ใหญ่ตั้งแต่ 60-70 กรัมขึ้นไป ลูกค้าเลยติดใจ ราคาขายอยู่ที่ฟองละ 7บาท”

โฆษณา
AP Chemical Thailand
8.ไข่เป็ดที่พอกดินสอพองแล้ว
8.ไข่เป็ดที่พอกดินสอพองแล้ว

ฝากถึงผู้ที่สนใจเลี้ยงเป็ดไข่

สุดท้ายคุณลัดดาวัลย์แนะนำสำหรับผู้ที่อยากจะเลี้ยงเป็ดไข่ให้ประสบผลสำเร็จว่า “การเลี้ยงเป็ดไม่มีอะไรยาก เพียงศึกษาอุปนิสัยและมีการจัดการที่ดี ซึ่งการทำเป็นอาชีพต้องเลี้ยงแล้วให้ธุรกิจของเราไปได้ ไม่ใช่เลี้ยงเพราะเห็นว่าเขาเลี้ยงแล้วได้เงินเลยจะเลี้ยงตาม แต่ไม่ได้ดูเลยว่าตัวเองมีความชอบแค่ไหน

เพราะเป็ดไข่สามารถเลี้ยงเป็นได้ทั้งอาชีพเสริมและหลัก ถ้ามีใจรักที่จะทำจริงๆ และที่สำคัญต้องนำไข่ที่ได้มาทำการแปรรูปด้วย ก็จะทำให้สินค้าเรามีมูลค่ามากขึ้น ไข่ขายได้ทุกไซซ์ ไม่มีเรื่องล้นตลาดแน่นอน

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณลัดดาวัลย์ อึงสวัสดิ์ 186/1 หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 331