“สุขเจริญทรัพย์ฟาร์ม” ฟาร์มโคนมของคนรุ่นใหม่

โฆษณา
AP Chemical Thailand

 

เจ้าของฟาร์มและเจ้าหน้าที่บริษัทซีพี
เจ้าของฟาร์มและเจ้าหน้าที่บริษัทซีพี

หลายคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมักมีปณิธานอันแน่วแน่ กล้าคิด กล้าทำ เพราะอาชีพเกษตรกรรมและปศุสัตว์กว่าจะสำเร็จได้นั้นต้องอาศัยความมุ่งมั่นและอดทนสูง อีกทั้งต้องยอมรับว่าความแตกต่างระหว่างคนประสบความสำเร็จกับคนล้มเหลว เก่งกว่าหรือด้อยกว่า มี “วิธีคิด”เป็นตัวแปรหลักซึ่งไม่เหมือนกัน

โคนม

   “สุขเจริญทรัพย์ฟาร์ม” ฟาร์มตัวอย่างที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเกษตรกรโคนมรุ่นใหม่ดีเด่น ประจำปี 2557   จากกรมปศุสัตว์ โดยฟาร์ม ตั้งอยู่ที่ 62/36 ม.15 ต.ทับช้าง อ.สอยดาว จ.จันทบุรี มีคุณนุสรา รุนสูงเนิน หรือคุณตุ๊กตาเจ้าของฟาร์มเป็นคนรุ่นใหม่หัวใจเกษตรที่ผันชีวิตจากมนุษย์เงินเดือนมาประกอบอาชีพเลี้ยงโคนม สร้างรายได้ให้กับครอบครัวอย่างมั่นคง

เดิมทีคุณตุ๊กตาเป็นพนักงานตรวจสอบคุณภาพน้ำนมของสหกรณ์โคนมสอยดาว จำกัด รู้จักและคลุกคลีกับการเลี้ยงโคนมเป็นอย่างดี ส่วนคุณธนชาต สุขเปรมปรี หรือคุณหมี สามีของคุณตุ๊กตา มีอาชีพทำไร่และดูแลฟาร์มโคนมให้พ่อ เนื่องจากพ่อของเขาเลี้ยงโคนมอยู่แล้ว กระทั่งทางสหกรณ์มีโครงการให้พนักงานกู้เงินในวงเงิน 30,000 บาท เลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการกู้เงิน จึงตัดสินใจซื้อโคนมมา 1 ตัว โดยฝากฟาร์มพ่อของคุณหมีเลี้ยง ปรากฏว่าในเดือนแรกสามารถสร้างกำไรได้ถึง 2,000 บาท/เดือน ทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบระหว่างเงินเดือนที่ได้รับในช่วงนั้นเพียง6,000 กว่าบาท/เดือนกับกำไรสุทธิจากการเลี้ยงโคนม ถือว่าดีกว่ามาก  กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่อยากจะมีฟาร์มเลี้ยงโคนมตั้งแต่นั้นมา หลังจากนั้นได้สะสมเงินจากการทำไร่มันสำปะหลังและข้าวโพดรวมถึงรายได้อื่นๆนำไปซื้อแม่โคมาเลี้ยง

“ไม่เคยคิดเลยว่าจะมีอาชีพเลี้ยงโคนมเป็นของตัวเอง เนื่องจากการเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพที่พ่อแม่ทำอยู่ แต่เมื่อได้เห็นผลกำไรแล้ว จึงกลับมาคิดทบทวนว่านี่แหละคืออาชีพที่สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัว”จึงมาทำฟาร์มโคนมของตัวเอง

ก่อนตัดสินใจลงมือทำฟาร์มเลี้ยงโคนม คุณตุ๊กตาได้ศึกษาหาความข้อมูลต่างๆเป็นอย่างดีจนทราบว่าโคที่เลี้ยงสามารถควบคุมและวางระบบได้ เช่น การให้อาหาร การดูแลสุขภาพโค การจดบันทึก การวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆเพื่อนำมาปรับปรุงและแก้ไขให้มีประสิทธิภาพซึ่งแตกต่างจากการทำไร่ที่ไม่สามารถควบคุมราคาและสภาพอากาศได้

ด้านการจัดการฟาร์มเรื่องความสะอาดและสิ่งแวดล้อม(จากประสบการณ์ของคุณตุ๊กตาตอนเป็นพนักงานตรวจสอบคุณภาพน้ำนม) มีความสำคัญอย่างยิ่งและถือเป็นอันดับแรกที่ต้องนึกถึง เพราะสามารถลดปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้นตามมาเช่นแมลงและเชื้อโรค ดังนั้นการออกแบบโรงเรือนเพื่อง่ายต่อการจัดเก็บมูลโคและการทำความสะอาดของตัวโคอย่างมีประสิทธิภาพนั้นต้องทำพื้นเป็น 2 ระดับ เพื่อแยกพื้นที่นอนและพื้นที่ขับถ่าย

โฆษณา
AP Chemical Thailand

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ฟาร์มพัฒนาได้อย่างรวดเร็วคือ องค์ความรู้จากกรมปศุสัตว์ หนังสือ อินเตอร์เน็ตและฝ่ายส่งเสริมของซีพีเอฟที่คอยให้คำปรึกษาถึงแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง

ปัญหาและอุปสรรคที่พบในช่วงแรกคือ ปัญหาอาหารหยาบ เนื่องจากไม่สามารถหาอาหารหยาบให้โคกินได้ต่อเนื่องตลอดปี เช่น เปลือกข้าวโพด ระยะทางไปซื้อค่อนข้างไกล อีกทั้งต้องใช้เวลาในการรอคิวนานและราคาไม่แน่นอน จึงหันมาใช้เปลือกมันสำปะหลังล้าง ซึ่งเป็นของโรงงานแป้งมันสำปะหลังในพื้นที่ แต่ก็ประสบปัญหาบางช่วงโรงงานหยุดผลิต 2-3 เดือน ต้องไปหาซื้อจากโรงงานนอกพื้นที่ทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงคุณภาพของแต่ละที่จะแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำนมและโคโดยตรง

แม่โคนม

จึงเริ่มคิดหาวิธีการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารหยาบขึ้น เนื่องจากคุณตุ๊กตาไม่สามารถควบคุมปริมาณ คุณภาพและราคาได้ จึงทำการศึกษาพบว่าหญ้าเนเปียร์มีคุณค่าทางอาหารและโปรตีนสูง สามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี

การจัดการแปลงหญ้าเพื่อให้เพียงพอต่อการกินของโค เนื่องจากหญ้าเนเปียร์ต้องการน้ำตลอดปี จึงมีการวางระบบน้ำในแปลงหญ้า ประกอบกับโรงงานแป้งฯ ในพื้นที่ปล่อยน้ำทิ้งหลังจากการบำบัด ทำให้ทางฟาร์มสามารถต่อใช้น้ำจากท่อน้ำของโรงงานมาเข้าระบบน้ำสำหรับแปลงหญ้าเนเปียร์ ทำให้มีน้ำใช้ตลอดปี

ส่วนแปลงหญ้ามีการจัดการวางแผนการผลิตอย่างเป็นระบบ บนเนื้อที่ประมาณ 18 ไร่ แบ่งเป็น 6 แปลง โดยใช้เครื่องตัดหญ้าแบบ Double Chop ตัดทีละแปลง หมุนเวียนตั้งแต่ 1-6 ตามลำดับ เพื่อให้มีหญ้าให้โคกินได้ตลอดทั้งปี เป็นการบริหารและควบคุมปัญหาด้านอาหารหยาบได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน และที่สำคัญสามารถลดต้นทุนการผลิต

ปัจจุบันทางฟาร์มจะใช้อาหารหยาบให้โคกินมากกว่า 30 กิโลกรัม/ตัว/วัน ซึ่งทางฟาร์มมีโคนมทั้งหมด 36 ตัว เป็นโครีดนม 26 ตัว โคพักรีดนม 2 ตัว ที่เหลือเป็นโคสาวทดแทนและลูกโค โดยลักษณะการให้เป็นหญ้าเนเปียร์ที่หมักไว้ประมาณ 10 วันขึ้นไป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมเพื่อให้มีกลิ่นหอมและช่วยลดปัญหาในช่วงหน้าฝนที่ไม่สามารถตัดหญ้าให้โคกินได้ ซึ่งหญ้าเนเปียร์ที่ใช้หมักจะตัดที่อายุ 60 วัน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ส่วนอาหารข้นจะใช้อาหารสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงโคนมของซีพีเอฟ ที่มีสูตรโปรตีนเหมาะกับโคนมแต่ละรุ่นซึ่งมีความต้องการปริมาณโปรตีนที่แตกต่างกัน โดยให้อาหาร 2 เวลา เช้า-เย็น และเสริมด้วยมันเส้นเพื่อเพิ่มพลังงานให้กับโค

ผลผลิตน้ำนมดิบของฟาร์มอยู่ที่มากกว่า 300 กิโลกรัม/วัน หรืออัตราการให้น้ำนมเฉลี่ย 14-15 กิโลกรัม/ตัว/วัน

ด้านการจัดการลูกโค หากเป็นลูกโคเพศผู้ หลังจากที่คลอด จะจำหน่ายให้กับฟาร์มที่ซื้อไปเลี้ยงเป็นโคขุน ส่วนลูกโคเพศเมีย ต้องดูแม่โคด้วยว่าให้ปริมาณน้ำนมเหมาะสมหรือไม่ หากมีลักษณะเป็นแม่พันธุ์ที่ดีก็จะเก็บลูกไว้เป็นแม่พันธุ์ต่อไป แต่ถ้าแม่พันธุ์ไม่ดีก็จะจำหน่ายลูกโคออก ไม่เก็บไว้เป็นแม่พันธุ์

ด้านการปรับปรุงพันธุ์ ทางฟาร์มเริ่มใช้น้ำเชื้อโคพ่อพันธุ์จากซีพีเอฟเข้ามาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตน้ำนม

สำหรับความร่วมมือระหว่างซีพีเอฟกับทางฟาร์ม ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมทางด้านองค์ความรู้และหลักวิชาการต่างๆที่เป็นประโยชน์ ตลอดจนคุณภาพของอาหาร โดยใช้หลักให้ทางฟาร์มเป็นผู้คิด วิเคราะห์และเก็บข้อมูลคำนวณความคุ้มค่าและผลกำไร ส่วนทางซีพีเอฟจะคอยให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษา แต่ที่สุขเจริญทรัพย์ฟาร์มสำเร็จได้เพราะเป็นคนรุ่นใหม่ ที่พร้อมจะเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ สำหรับการจัดการฟาร์มโคนม โดยการศึกษาจากทุกภาคส่วน เช่น ภาครัฐ (กรมปศุสัตว์) สหกรณ์ฯ ซีพีเอฟ หนังสือ และสื่อออนไลน์ต่างๆ

ด้านตลาดรับซื้อน้ำนมดิบ ส่วนใหญ่เกษตรกรที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์โคนมจะมีตลาดรองรับที่แน่นอน โดยราคารับซื้อจะอิงราคากลางที่ทางรัฐบาลเป็นผู้กำหนด “แต่สิ่งสำคัญคือความรับผิดชอบและจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพ ถ้ารักษาคุณภาพน้ำนมได้ คนรับซื้อก็อยากซื้อและให้ราคาดี”

โฆษณา
AP Chemical Thailand

อนาคตจะขยายฟาร์มเพิ่มจากเดิมและแบ่งเป็นสัดส่วนมากขึ้น เพื่อการจัดการง่ายขึ้น การนำระบบการรีดนมอัตโนมัติแบบ pipe line มาใช้ เพื่อประหยัดเวลาและประสิทธิภาพในการรีดนม รวมถึงการพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบให้มีคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าของน้ำนมและเป็นการขยายตลาดของตนเองสู่ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากน้ำนมโค ส่วนอาหารหยาบจะผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการหรือหากมีมากพอจะจำหน่ายให้กับเกษตรกรที่สนใจ

“การที่จะเป็นเกษตรกรโคนมรุ่นใหม่ที่ดีได้ ต้องมีการวางแผนที่รอบคอบทั้งด้านการเงิน และการจัดการภายในฟาร์ม เพราะทุกอย่างสอดคล้องและเชื่อมโยงกัน และสิ่งสำคัญในการทำฟาร์ม คือตัวเรา ถ้าไม่รู้จักป้องกันหรือใช้ความระมัดระวัง ผลลัพธ์เกิดจากสิ่งที่เรากระทำ เหมือเงาติดตามตัว ดังนั้นถ้าจะประสบความสำเร็จในชีวิต จะต้องมีใจรักและมีวินัย”
นิตยสารสัตว์บก

[wpdevart_like_box profile_id=”1414452475453135″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]