หมูเถื่อน…ทำลาย ผู้เลี้ยง และ คนกิน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

โรค ASF ทำลาย “หมู” ทั่วโลก ราคาหมูเนื้อแดงพุ่งขึ้น กก.ละ 200 บาท หมูเป็น กก.ละ 100 บาท ส่งผลให้มาเฟียเมืองไทยกล้านำ เนื้อหมู และเครื่องใน จาก อเมริกา บราซิล เยอรมัน แคนาดา และ เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น โดยสำแดงเท็จต่อกรมศุลฯ ว่าเป็น อาหารสัตว์ หรือ อาหารทะเลแช่แข็ง เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้เจ้าหน้าที่กรมศุลฯ แกล้งตาบอด แล้วรวยพร้อมกับเจ้านาย

1.นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร
1.นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร

นายกสมาคมหมูอีสาน ต้องเร่งปราบหมูเถื่อน

ซึ่งเรื่องนี้ นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ และ กรมศุลกากร พยายามปราบหมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามาในหลายช่องทาง แล้วนำมากระจายขายทั่วทุกภูมิภาค ในราคาที่ต่ำกว่าราคาเนื้อหมูในประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องตัดตอนโดยเร็ว เพื่อป้องกันการระบาดของโรคที่อาจปนเปื้อนเข้ามากับเนื้อหมูและเครื่องในที่ลักลอบนำเข้า ที่จะกลายเป็นอุปสรรคในการเร่งเพิ่มซัพพลายเนื้อหมูในประเทศ ตามที่สมาคมฯได้เร่งส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงรายย่อยทยอยกลับเข้าสู่ระบบอีกครั้ง

“เป็นข่าวดีที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ทั้งกรมปศุสัตว์ และ กรมศุลกากร เร่งปราบปรามการนำเข้าหมูเถื่อน ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการกับกลุ่มคนที่ฉวยโอกาสและหาประโยชน์จากคนไทย เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างมากสำหรับผู้เลี้ยงสุกร ที่ขณะนี้เพิ่งกลับมาเลี้ยงหมูรอบใหม่ให้มีความมั่นใจ และยังเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมหมูทั้งระบบ เนื่องจากหมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามามีความเสี่ยงที่จะเป็นพาหะนำโรคระบาดเข้ามาด้วย” นายสิทธิพันธ์ กล่าว

นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า การลักลอบนำเข้าหมูจากหลายแหล่ง อาทิ สหรัฐฯ แคนาดา เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน บราซิล ทำกันเป็นขบวนการ ด้วยการสำแดงการนำเข้าเป็นเท็จ เช่น อาหารทะเล หรืออาหารสัตว์ ทำให้ไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบโรคสัตว์ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ของกรมปศุสัตว์ และไม่มีเอกสารใบอนุญาตนำเข้า

นอกจากนี้หลายประเทศทางตะวันตกอนุญาตให้สามารถใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสัตว์ได้ ซึ่งสารนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงเป็นความเสี่ยงสำหรับผู้บริโภคคนไทย และผิดกฎหมายไทยที่ประกาศ “ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมูอย่างเด็ดขาด” มานานกว่า 20 ปี ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2545 กระทั่งมีการปรับปรุงประกาศฯ เมื่อ พ.ศ.2559 เรื่องกำหนดวัตถุดิบที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ รวมถึงประกาศ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2546

2.นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ
2.นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ จี้รัฐบาลเร่งปราบผู้ร้าย “หมูเถื่อน” เบียดผู้เลี้ยงรายย่อยจนตรอก

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า แม้จะมีการเรียกร้องให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมศุลกากร และ กรมปศุสัตว์ เร่งดำเนินการ แต่การปราบปรามและจับกุมยังไม่ดำเนินการอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง ทำให้ขบวนการลักลอบนำเข้าไม่เกรงกลัว ทั้งยังมีการลักลอบนำเข้ามาในหลายรูปแบบ และมีการทำตลาดทั้งแบบออนไลน์ และขายหน้าร้าน โดยมีราคาขายปลีกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 135-145 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าราคาในประเทศมาก

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“หากภาครัฐปล่อยให้หมูลักลอบนำเข้าเพิ่มมากขึ้นทุกภาค และวางจำหน่ายกันอย่างเปิดเผย ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่าย ภายในระยะเวลา 18 เดือน ผู้เลี้ยงรายย่อยและรายเล็กไม่รอดแน่ เพราะทุกคนมีภาระต้องกู้เงินมาฟื้นฟูกิจการ ถ้าต้องขายหมูขาดทุนจะไปต่อได้อย่างไร รัฐบาลต้องทำทุกวิถีทางให้เกษตรกรมั่นใจ” นายสุรชัย กล่าวยืนยัน

หลังกรมปศุสัตว์ประกาศพบโรคระบาด ASF เป็นทางการเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 พร้อมแจงตัวเลขผลผลิตแม่หมูหายไปจากระบบ 50% ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูในประเทศปรับสูงขึ้นตามลำดับ โดยราคาหมูเนื้อแดงขยับขึ้นไปสูงสุดที่กิโลกรัมละ 200 บาท จากราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มที่กิโลกรัมละ 100 บาท

ทำให้กลุ่มมิจฉาชีพเห็นช่องทางฉวยโอกาสทำกำไรจากส่วนต่างหมูนำเข้ามีต้นทุนต่ำกว่า และเป็นชิ้นส่วนที่ประเทศต้นทางไม่บริโภค จึงส่งออกมายังไทยในราคาถูก แต่หมูชิ้นส่วน และเครื่องใน ที่นำเข้าถูกต้องตามกฎหมาย ต้องผ่านการตรวจโรคและได้รับใบอนุญาตเคลื่อนย้ายซากสัตว์จากกรมปศุสัตว์ ทำให้ผู้ลักลอบนำเข้าหลบหลีกขั้นตอนดังกล่าว โดยการสำแดงเท็จเป็นอาหารทะเล และสินค้าอื่นๆ แอบแฝงมาในตู้สินค้า

นายสุรชัย กล่าวว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมาภาครัฐร่วมมือกันตรวจสต๊อก “ห้องเย็น” เกือบทุกวัน พบหมูผิดกฎหมายจำนวนมาก พอการปราบปรามทิ้งช่วง หมูเถื่อนก็กลับมาอาละอาดอีก ที่สำคัญหมูเถื่อนราคาถูก ทุบราคาหมูในประเทศ ล่อใจผู้บริโภคให้ซื้อเนื้อสัตว์ที่ราคาถูกกว่า เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งผู้บริโภคควรรับทราบถึงผลร้ายที่จะตามมาจากการซื้อหมูลักลอบนำเข้าจากพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ ว่าเนื้อหมูผิดกฎหมายเหล่านั้นเต็มไปด้วย “สารเร่งเนื้อแดง” ที่ประเทศต้นทางยังอนุญาตให้ใช้อยู่ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชั้นดี กินมากก็สะสมมาก

“สมาคมฯ เป็นห่วงว่าหากหมูเถื่อนยังคงแพร่หลายและกระจายอยู่ทั่วประเทศแบบนี้ จะกระทบกับผลผลิตหมูของไทยที่จะออกในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ แต่ไม่มีตลาดให้กับหมูไทยแน่นอน ปัญหาหนักตกกับเกษตรกร คือ ของมีแต่ขายไม่ได้” นายสุรชัย กล่าวย้ำด้วยความเป็นห่วง

นายสุรชัย กล่าวด้วยว่า แม้กรมปศุสัตว์จะออกมากวาดล้างอย่างจริงจัง แต่จำนวนที่จับกุมได้ยังคงเป็นส่วนน้อย จึงอยากให้การปราบปรามมีความชัดเจนและต่อเนื่อง หากเป็นไปได้ควรออกตรวจสอบห้องเย็นทุกวัน ซึ่งสมาคมฯ พร้อมให้ความร่วมมือเพื่อปกป้องเกษตรกร เนื่องจากปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงที่เสียหายจากปัญหา ASF ได้เริ่มกลับมาเข้าขุนใหม่แล้วกว่า 1 ล้านตัว ดังนั้นก่อนที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาด ต้องหยุดการลักลอบนำเข้านี้ให้หมด ซึ่งเครือข่ายผู้เลี้ยงสุกรพยายามหาเบาะแสมาตลอด

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ต้นทุนการผลิตสุกรปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น มี supply น้อยกว่าความต้องการ และถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้การเลี้ยงสุกรในปัจจุบัน ผู้เลี้ยงต้องแบกรับภาระต้นทุนสูงอยู่ที่ 98-101 บาท/กิโลกรัม ในขณะที่ราคาขายสุกรหน้าฟาร์มต้องให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อดูแลผู้บริโภคในประเทศ

“ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากร้านค้าที่มีตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำหรับสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ ว่าเป็นผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขลักษณะ และมีความปลอดภัยในอาหาร” นายสิทธิพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย

3.นายสัตวแพทย์ วรวุฒิ ศิรีปุณย์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกร
3.นายสัตวแพทย์ วรวุฒิ ศิรีปุณย์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกร

หมูเถื่อนปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง ทำลายห่วงโซ่การผลิต

นายสัตวแพทย์วรวุฒิ ศิริปุณย์ รองเลขาธิการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า หมูเถื่อนที่มีการลักลอบนำเข้ามาเป็นจำนวนมาก และมีการจับกุมต่อเนื่องโดยเจ้าหน้าที่รัฐ มีโอกาสปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง เนื่องจากหมูลักลอบนำเข้าผิดกฎหมายเป็นเนื้อหมูและชิ้นส่วนที่คนอเมริกาและยุโรปไม่บริโภค ไม่ว่าจะขา หัว และเครื่องในหมู เป็นชิ้นส่วนที่คนในประเทศทางตะวันตกไม่บริโภค การลักลอบนำเข้าจึงเป็นการสร้างมูลค่าให้กับขยะเหลือทิ้ง แทนที่จะต้องทำลาย ซึ่งชิ้นส่วนต่างๆ ที่มีการนำเข้ามานี้ เต็มไปด้วยสารแรคโตพามีน ที่ผู้เลี้ยงหมูสหรัฐฯ และบางประเทศของยุโรปสามารถใช้ในการเลี้ยงได้อย่างเสรี

สำหรับประเทศไทยมีการประกาศในกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมูอย่างเด็ดขาด” ผู้ใดลักลอบใช้ถือว่าผิดกฎหมายมีโทษหนักทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นไปตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2545 จนกระทั่งมีการปรับปรุงประกาศฯ เมื่อ พ.ศ.2559 เรื่องกำหนดวัตถุดิบที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ รวมถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2546

“หมูเถื่อน เป็นหนึ่งในภัยใกล้ตัวพวกเรามาก เนื่องจากเป็นอันตรายทั้งต่อผู้บริโภค ผู้เลี้ยง และอุตสาหกรรมโดยรวม ซึ่งผู้บริโภคซื้อเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างไปรับประทาน อาจก่อให้เกิดอันตราย อาทิ อาการหัวใจเต้นผิดปกติ นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน และจะแสดงอาการอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกับกลุ่มสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ ซึ่งในสถานการณ์เงินเฟ้อสูง ผู้บริโภคจะเลือกของถูก แต่อาจไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่จะได้รับสารสะสมในอนาคต” นายสัตวแพทย์วรวุฒิ กล่าว

4.คอกหมู
4.คอกหมู
เนื้อหมู
เนื้อหมู

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายเนื้อหมู

นอกจากนี้ หมูเถื่อน ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่บิดเบือนกลไกราคา เพราะเป็นชิ้นส่วนที่ตลาดต่างประเทศไม่ต้องการ ทำให้สามารถขายในราคา 135-145 บาทต่อกิโลกรัมได้ เทียบกับหมูเนื้อแดงไทยขณะนี้ที่ราคา 200 บาทต่อกิโลกรัม ราคาหมูผิดกฎหมายล่อใจผู้บริโภคมาก ซึ่งเป็นราคาที่ไม่สะท้อนต้นทุนแท้จริงของเกษตรกรไทยที่มีต้นทุนสูงมาก จากการทำระบบไบโอซีเคียวริตี้เพื่อป้องกัน ASF และยังต้องแบกรับภาระวัตถุดิบอาหารที่ปรับสูงขึ้น 30% ราคาน้ำมัน จากผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือแม้แต่ค่าไฟฟ้า รวมถึงค่าแรงที่มีแนวโน้มปรับขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบั่นทอนความมั่นคงในอาชีพของผู้เลี้ยงหมู

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“ต้นทุนการเลี้ยงหมูในต่างประเทศต่ำกว่าของไทยมาก ภาครัฐจึงควรปกป้องและดำเนินการกับหมูเถื่อนอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้ผู้เลี้ยงหมูไทยกว่า 2 แสนคน ที่เลี้ยงหมูได้ 22 ล้านตัวต่อปี ต้องล้มหายตายจากไปกันหมด และไม่ให้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ รวมถึงภาคอาหารสัตว์ และเวชภัณฑ์สัตว์ไทย ที่ทั้งหมดในอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ต่างเชื่อมโยงกัน” นายสัตวแพทย์วรวุฒิ ย้ำ

นายสัตวแพทย์วรวุฒิ กล่าวด้วยว่า ปกติคนเอเชียกินหมูทุกส่วน ทั้งเนื้อหมู หัว เครื่องใน หนัง ฯลฯ โดยเฉพาะคนไทยที่มีวัฒนธรรมการกินที่แตกต่างออกไป ทั้งการกินหมูแบบสุก แบบดิบ กึ่งดิบกึ่งสุก เช่น ลาบ หลู้ และเนื้อแดงๆ ผิดกับชาวยุโรปและอเมริกันที่รับประทานเฉพาะเนื้อหมู ความพยายามส่งผลิตภัณฑ์หมูที่เคลือบสารเร่งเนื้อแดงเป็นของแถมมาให้คนไทยกินนี้ ยังโชคดีที่รัฐบาลไทยยังคงยืนหยัดปกป้องคนไทย ด้วยใช้เหตุผลด้านผลกระทบต่อสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชน ในการคัดค้านการนำเข้าชิ้นส่วนหมูมาตลอดจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 354