อธิภัทรฟาร์ม เมืองประจวบฯ จำหน่ายแพะสายพันธุ์คุณภาพ ฟาร์มมาตรฐาน GFM

โฆษณา
AP Chemical Thailand

หากพูดถึงมาตรฐานในการทำฟาร์มปศุสัตว์ เรามักจะรู้จัก “ GAP ” Good Agricultural Practices หรือ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี แต่ด้วยข้อจำกัดที่ค่อนข้างจะยุ่งยาก และมักจะไม่เอื้อให้กับเกษตรกรรายย่อย ทำให้ปัจจุบันมีการปรับมาตรฐาน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคมากที่สุด คือ “ GFM ” Good Farming management หรือ ระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม

1.คุณอธิภัทร พรสิริโชติรัตน์ เจ้าของอธิภัทรฟาร์ม
1.คุณอธิภัทร พรสิริโชติรัตน์ เจ้าของอธิภัทรฟาร์ม

จุดเริ่มต้นการเลี้ยงแพะ

นิตยสารสัตว์บกฉบับนี้ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณอธิภัทร พรสิริโชติรัตน์ “อธิภัทรฟาร์ม” ฟาร์มแพะเมืองประจวบฯ มาตรฐาน GFM มาดูกันว่าทางฟาร์มมีการดูแลจัดการอย่างไรให้ได้มาตรฐาน GFM ซึ่งมาตรฐานฟาร์มที่ถูกกำหนดขึ้นนั้น เพื่อประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ต่อตัวสัตว์ และที่สำคัญ คือ ผู้ที่นำสัตว์ไปพัฒนาต่อยอดสายพันธุ์ รวมถึงผู้บริโภคเนื้อสัตว์ด้วย

แม้อธิภัทรฟาร์มจะเริ่มทำมาได้เพียง 1 ปี แต่ตัวคุณอธิภัทรนั้นได้ศึกษาและเริ่มเลี้ยงแพะมาตั้งแต่ตอนที่ตนเรียนปี 1 ภาควิชาสัตวศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และได้ขอกับทางอาจารย์เพื่อยืมพื้นที่ในการเลี้ยงแพะ โดยใช้เวลาว่างหลังจากเรียนเสร็จมาเลี้ยงและศึกษาเรียนรู้ไปในตัว

“ผมเริ่มชอบแพะมาตั้งแต่ตอนเรียน เลยได้ขออาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเลี้ยง แต่ตอนนั้นผมยังไม่มีทุน เลยขายทองที่มีแล้วเอาไปซื้อแพะมาเลี้ยง ตอนนั้นเรียนไปด้วย และเลี้ยงแพะไปด้วย ในช่วงที่ว่างจากการเรียนและทำกิจกรรมต่างๆ เมื่อเรียนจบพี่สาวเห็นถึงความตั้งใจเลยให้ทุนสร้างคอกแพะที่บ้านเพื่อต่อยอดจากที่เลี้ยงที่มหาวิทยาลัย” คุณอธิภัทรกล่าวเพิ่มเติมถึงที่มาของการเลี้ยงแพะ

เมื่อเรียนจบจึงได้ย้ายแพะที่เลี้ยงจากมหาวิทยาลัยกลับมาเลี้ยงต่อที่บ้านประมาณ 20 ตัว ปัจจุบันที่ฟาร์มมีแพะพ่อพันธุ์ 2 ตัว แม่พันธุ์ 24 ตัว แพะหนุ่ม 11 ตัว แพะสาว 42 ตัว และลูกแพะ 16 ตัว โดยทางฟาร์มจะจำหน่ายสายพันธุ์เป็นแพะบอร์เลือดสูง และแพะบอร์สายพันธุ์แท้ เริ่มจำหน่ายตั้งแต่แพะหย่านมอายุ 3 เดือน ราคาเริ่มต้น 12,000 บาท

2.ใบรับรองฟาร์มมาตรฐาน GFM
2.ใบรับรองฟาร์มมาตรฐาน GFM

ข้อดีของการทำฟาร์มมาตรฐาน

ในการทำมาตรฐาน GFM มีเป้าหมายหลัก คือ ต้องมีผลผลิตที่ดี มีคุณภาพมากขึ้น และลดปัญหาโรคระบาด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการผลิตสัตว์ โดยการทำระบบการป้องกันโรค การจัดการสุขภาพสัตว์ (เช่น การเฝ้าระวังโรค การสร้างภูมิคุ้มกันโรค การถ่ายพยาธิ เป็นต้น) นอกจากนี้ภายในฟาร์มต้องมีรั้วรอบขอบชิด คอกกักสัตว์ คอกสัตว์ป่วย อ่างจุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อ เป็นต้น

โฆษณา
AP Chemical Thailand

สร้างความเชื่อมั่น ความปลอดภัย ในการนำแพะไปพัฒนาสายพันธุ์ต่อ ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงที่มาของสัตว์ โดยทางฟาร์มต้องมีการบันทึกที่มาของสัตว์ ทะเบียนฟาร์ม ข้อมูลสัตว์ สุขภาพสัตว์ บุคคล และยานพาหนะเข้า-ออกสถานที่

เมื่อสามารถลดปัญหาในการผลิตสัตว์ และสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ซื้อได้ ก็จะทำให้สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตและคุณภาพของสัตว์ที่ผลิตออกมาให้ดีมากขึ้น สำหรับฟาร์มแพะที่สนใจในการขอตรวจรับรองมาตรฐานฟาร์ม GFM สามารถดำเนินการได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอของท่าน

“พอฟาร์มมีมาตรฐานก็ทำให้มีคนติดตามเยอะขึ้น ขายดีขึ้น เพราะแพะที่ฟาร์มเรามีคุณภาพ ลูกค้าที่มาซื้อก็มั่นใจได้ ซึ่งมาตรฐานฟาร์มไม่ใช่ภาระของเกษตรกรครับ แต่มันคือประโยชน์ต่อเกษตรกรและสังคม เพื่อให้สัตว์มีคุณภาพ และปลอดโรค เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีอาชีพที่มีความมั่นคง” คุณอธิภัทรเผยถึงข้อดีของการทำฟาร์มมาตรฐาน

3.การให้อาหารแพะ
3.การให้อาหารแพะ

การบริหารจัดการภายในฟาร์มแพะ

เมื่อถามถึงการดูแลจัดการฟาร์ม คุณอธิภัทรได้เล่าให้ฟังว่า ทางฟาร์มจะเน้นเรื่องความสะอาด อาหาร และสุขภาพสัตว์ ในทุกๆ วันตอนเช้าก่อนให้อาหารจะทำความสะอาดคอก กวาดรางอาหาร เปลี่ยนน้ำให้ทุกวันในตอนเช้า และตรวจสอบอีกรอบในตอนเย็นว่ามีสิ่งแปลกปลอมในน้ำหรือไม่ มีการตรวจสอบสุขภาพสัตว์หลังให้อาหาร และบันทึกการใช้ยาทุกครั้ง

ส่วนอาหารจะให้ 3 มื้อ เช้า เที่ยง และเย็น เป็นอาหารสำเร็จรูป กากแยมสับปะรด และหญ้าเนเปียร์ที่ปลูกเองจำนวน 2 ไร่ และจะปล่อยแพะออกมาเดินเล่นในช่วงบ่ายๆ เย็นๆ เพื่อให้แพะได้ออกกำลังกาย และลดความเครียดจากการขังคอก โดยมีการล้อมรอบพื้นที่สำหรับวิ่งเล่นเป็นสัดส่วน เพื่อป้องกันแพะหลุด และอันตรายจากภายนอก

สำหรับพ่อพันธุ์จะแยกให้อยู่คอกละตัว  ส่วนแม่พันธุ์จะอยู่รวมกัน  และแบ่งเป็นโซนแม่พันธุ์  แพะสาว  และลูกแพะหย่านม เมื่อแม่พันธุ์ หรือแพะสาว เป็นสัด จึงจะนำมาอยู่คอกพ่อพันธุ์เป็นคู่ๆ เพื่อทำการผสม เมื่อผสมเสร็จจะแยกออกไปอยู่คอกเดิมทันที ทิ้งระยะห่าง 3-4 ชั่วโมง แล้วนำเข้ามาผสมพันธุ์ซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้อัตราการผสมติดดีขึ้น และป้องกันแพะโทรมเร็ว

โฆษณา
AP Chemical Thailand

นอกจากเลี้ยงสายพันธุ์แพะเนื้อแล้ว ทางฟาร์มได้มีการเลี้ยงแพะนมเสริม เพราะบางครั้งแพะคลอดลูกแฝดสาม แฝดสี่ ทำให้มีน้ำนมเลี้ยงลูกแพะไม่เพียงพอ จึงต้องมีการเลี้ยงแพะนมเสริม เพื่อให้ลูกแพะได้รับน้ำนมอย่างเพียงพอต่อการเจริญเติบโต

“แพะในฟาร์มบางตัวผมทำสายประกวดด้วย ถ้าเราต้องการให้แพะโครงสร้างดี ตัวใหญ่ ตั้งแต่เด็ก นอกจากดื่มนมแม่เองแล้วเราต้องป้อนนมเสริมด้วย ส่วนการจะเลือกลูกแพะมาทางสายประกวด ต้องดูตั้งแต่โครงสร้างแม่แพะ มีโครงสร้างใหญ่  สมส่วน เป็นสายพันธุ์แท้ ลูกที่ออกมาตัวใหญ่ ลำตัวหนา เราก็จะเลือกลูกแพะตัวนั้นมาทางสายประกวด”  คุณอธิภัทรกล่าวเพิ่มเติมถึงแพะสายประกวดในฟาร์ม

4.คอกแพะ
4.คอกแพะ

ปัญหาและอุปสรรคภายในฟาร์มแพะ

เมื่อถามถึงปัญหาภูมิอากาศกับการเลี้ยงแพะ คุณอธิภัทรได้ให้ความเห็นว่า ถ้าอากาศคงที่ เช่น ร้อนทุกๆ วันก็จะไม่มีปัญหา แต่ถ้าอากาศแปรปรวน วันนี้ร้อน พรุ่งนี้ฝน ทำให้การจัดการยากขึ้น ซึ่งเรื่องภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่สามารถป้องกันได้

“ถ้าผมรู้ว่าสภาพอากาศค่อนข้างแปรปรวนช่วงนี้ ผมจะฉีดยาบำรุงให้ก่อน และผสมวิตามินละลายน้ำให้กินเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งป้องกันไว้ก่อน ดีกว่าแพะป่วยแล้วมารักษาทีหลัง ทำให้แพะที่ฟาร์มไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ส่วนเรื่องโรคปากและเท้าเปื่อยก็ไม่มีปัญหา เพราะที่ฟาร์มผมมีการฉีดวัคซีนป้องกันตามโปรแกรมอย่างสม่ำเสมอ” คุณอธิภัทรกล่าวเพิ่มเติมถึงการดูแลจัดการสุขภาพแพะ

และทางฟาร์มจะมีการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทุกๆ 1-2 เดือน บริเวณรอบฟาร์ม และในโรงเรือน ส่วนเรื่องกลิ่น และของเสียนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยง เนื่องจากทำเป็นโรงเรือนยกสูงจากพื้น 2 เมตร ทำให้อากาศค่อนข้างถ่ายเท ปลอดโปร่ง จึงไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นหรือแอมโมเนียที่จะลอยขึ้นมาทำให้แพะเจ็บตา หรือเกิดโรคอื่นๆ ส่วนมูลแพะจะนำไปจำหน่ายเป็นปุ๋ย

5.ปล่อยแพะออกมาเดินเล่น เพื่อให้แพะได้ออกกำลังกาย
5.ปล่อยแพะออกมาเดินเล่น เพื่อให้แพะได้ออกกำลังกาย

เป้าหมายในอนาคต

เมื่อถามถึงเป้าหมายในอนาคต คุณอธิภัทรได้เผยว่า “ตอนนี้ทางฟาร์มกำลังสร้างโรงเรือนเพิ่มเพื่อรองรับพ่อแม่พันธุ์ที่จะนำเข้ามาในอนาคต เพื่อนำมาพัฒนาสายพันธุ์เองในฟาร์ม ส่วนตลาดแพะกำลังไปได้ไกลมาก เพราะตั้งแต่ตอนที่ผมเลี้ยงในมหาวิทยาลัย ตอนนั้นแพะกิโลละ 103 บาท ตอนนี้กิโลละ 150 บาท ส่วนแพะสายพันธุ์ตอนนั้นผมขายอยู่ 4,000 บาท ตอนนี้ผมขาย 12,000 บาท ถือว่าราคาดีมากในระยะเวลาเพียง 4 ปีซึ่งตอนนี้แพะที่ฟาร์มก็ไม่พอขาย”

โฆษณา
AP Chemical Thailand
6.ใบฟาร์มปลอดโรคบรูเซลโลซิส
6.ใบฟาร์มปลอดโรคบรูเซลโลซิส

ฝากถึงผู้ที่สนใจเลี้ยงแพะ

สุดท้ายคุณอธิภัทรได้ฝากทิ้งท้ายถึงอาชีพนี้ว่า“ผมเชื่อว่าตลาดแพะยังสามารถไปได้ไกลอีก สำหรับใครที่สนใจก็อยากให้ศึกษาให้ดีก่อนจะลงมือเลี้ยง และลองศึกษาตลาดว่าเราเหมาะกับแพะขุนขายเนื้อ แพะสายพันธุ์ หรือจะเป็นแพะนม และเลือกซื้อแพะจากฟาร์มที่เราไว้ใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีใบรับรองมาตรฐานฟาร์มปลอดโรคบรูเซลโลซิส ถ้าเป็นไปได้อยากให้ไปดูเองที่ฟาร์มก่อนตัดสินใจซื้อ หากใครสนใจแพะที่ฟาร์มก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่เฟสบุ๊ค อธิภัทร ฟาร์ม เมืองประจวบฯ หรือโทร.087-997-9547

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณอธิภัทร พรสิริโชติรัตน์ ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ประจวบคีรีขันธ์ 77210 โทร.087-997-9547

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 336