เป็ดไข่กากีแคมเบล เทคนิคผลิตลูกเป็ดคุณภาพ และบริหารจัดการฟาร์มเพาะเลี้ยงพ่อ-แม่ กว่า 50 ปี

โฆษณา
AP Chemical Thailand

บนพื้นที่กว่า 20 ไร่ ต.ไผ่ขวาง จ.สุพรรณบุรี ที่ เจริญพันธุ์ฟาร์ม ได้ประกอบอาชีพเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งพื้นเมืองมานานกว่า 50 ปี โดยเริ่มตั้งแต่รุ่นอากง-อาม่า มาจนถึงรุ่นคุณพ่อ-คุณแม่ และปัจจุบันบริหารจัดการโดยทายาทรุ่นที่ 3 คุณฉัตรชัย นิธิเศรษฐิยกุล หรือคุณเบิร์ด หนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง ที่เมื่อเรียนจบก็กลับมาสานต่อธุรกิจที่บ้าน จนปัจจุบันคุณเบิร์ดได้เข้ามาบริหารอย่างเต็มตัว เป็ดไข่กากีแคมเบล

1.คุณฉัตรชัย นิธิเศรษฐิยกุล หรือคุณเบิร์ด และครอบครัว
1.คุณฉัตรชัย นิธิเศรษฐิยกุล หรือคุณเบิร์ด และครอบครัว

จุดเริ่มต้นเลี้ยงเป็ดและ ทำฟาร์มเพาะเลี้ยงพ่อ-แม่เป็ดไข่กากี

“เป็ดพันธุ์กากีแคมป์เบลล์ เป็นเป็ดที่ให้ผลผลิตไข่ดี ไข่ดก ไข่ใหญ่ และเป็นพันธุ์ที่ทนต่อโรค และส่วนตัวผมก็คลุกคลีกับการเลี้ยงเป็ดกากีมาตั้งแต่รุ่นอากง อาม่า และรุ่นคุณพ่อ คุณแม่ จึงอยากสานต่ออาชีพและกิจการของครอบครัวต่อไป เนื่องจากเรามีฐานลูกค้า รวมไปถึงลูกเล้า ที่ครอบครัวได้สร้างเอาไว้แล้วจำนวนไม่น้อย ซึ่งมีอยู่ในหลายจังหวัด” คุณเบิร์ดได้ให้เหตุผลที่หันมาเลี้ยงเป็ดกากีแคมป์เบลล์

โดยพัฒนาการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งสู่โรงฟัก และฟาร์มเพาะเลี้ยงพ่อ-แม่เป็ดไข่ พันธุ์กากีแคมป์เบลล์ (Khaki Campbell) ที่ได้มาตรฐาน และระบบที่ทันสมัย ส่งจำหน่ายให้กับลูกค้าทั่วประเทศ พร้อมส่งออกกัมพูชา โดยบริหารจัดการอย่างครบวงจร

2.โรงเรือนเป็ด
2.โรงเรือนเป็ด

สภาพพื้นที่เลี้ยงเป็ด

สำหรับโรงเรือนเลี้ยงเป็ดมีทั้งหมด 2โรงเรือน แบ่งเป็นคอกเล็กๆ โดยกั้นออกเป็นโซนๆ เพื่อลดการแออัด ป้องกันการเกิดโรค และการติดเชื้อ หากเป็ดเกิดการติดเชื้อจะส่งผลให้เป็ดไม่แข็งแรง ซึ่งมีผลต่อไข่เป็ดที่ออกมาฟองเล็ก ไม่ได้มาตรฐาน ขายไม่ได้ราคา

ในส่วนของแม่พันธุ์จะมีประมาณ 2 หมื่นตัว ใช้ระยะเวลาเลี้ยงประมาณ 5 เดือน จนกระทั่งคลอดลูกเป็ดออกมา ส่วนกรณีที่ซื้อเป็ดกลับจากลูกเล้า ซึ่งเลี้ยงแบบไล่ทุ่งประมาณ 5 เดือน หลังจากนั้นจะซื้อกลับมาทำเป็นแม่พันธุ์ต่อไป ส่วนพ่อพันธุ์จะใช้อัตราส่วน 10 ตัว ต่อแม่พันธุ์ 100 ตัว เพื่อการผสมติดที่ดี

วิธีการแยกเพศตัวผู้ ตัวเมีย

วิธีการแยกเพศตัวผู้ ตัวเมีย เมื่อโตเต็มวัยตัวผู้จะมีหัวสีเขียวเข้ม ขนปลายหางม้วนงอ ส่วนตัวเมียจะมีขนสีน้ำตาลตลอดลำตัว หัวสีน้ำตาลเข้ม ขนที่ปลายหางชี้เรียบ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันชัดเจน ส่วนการคัดแยกเพศตอนแรกเกิดนั้นก็ไม่ยาก ใช้วิธีบีบๆ คลำๆ บริเวณก้นลูกเป็ด

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ถ้าเป็นตัวผู้เมื่อบีบจะเจอเม็ดที่มีลักษณะเล็กกว่าถั่วเขียว แต่ใหญ่กว่าเมล็ดงา เมื่อคลำแล้วจะรู้สึกแข็งๆ ซึ่งตรงนั้นจะพัฒนาเป็นอวัยวะเพศของตัวผู้ ส่วนตัวเมียเมื่อบีบจะรู้สึกเหลวๆ ไม่เจอเม็ดอะไร

3.ลูกเป็ดจะเจาะเปลือกไข่ออกมา
3.ลูกเป็ดจะเจาะเปลือกไข่ออกมา

การฟักไข่

ส่วนการจัดการในแต่ละวันจะเก็บไข่ทุกวัน แล้วนำไปเข้าตู้ฟัก 18 วัน (แต่ใช้ระยะเวลาฟักจริงทั้งหมด 28 วัน) 4 วัน หลังจากนำเข้าตู้ฟักจะนำออกมาส่องดูเชื้อ ถ้ามีเชื้อจะเห็นตัวอ่อนอยู่ข้างใน ส่วนไข่ที่ไม่มีเชื้อจะถูกคัดออกไป พอถึง 18 วัน หลังจากนำเข้าตู้ฟักจะนำออกมาส่องดูเชื้ออีกครั้ง และคัดไข่เสียที่ 2 ออก หลังจากนั้นก็จะย้ายไปที่ตู้เกิดอีก 10 วัน จนครบ 28 วัน ตู้ฟักจะมีการตั้งอุณหภูมิมาตรฐานอยู่ที่ 99 องศาฟาเรนไฮต์ ระหว่างนั้นถ้าอุณหภูมิในตู้สูงเกินไปจะฉีดน้ำเพื่อลดอุณหภูมิ

เมื่อครบกำหนดลูกเป็ดจะเจาะเปลือกไข่ออกมา โดยมีอัตราการฟักและสูญเสียน้อยที่สุด คือ ถ้าฟักออกมาต้องไม่ต่ำกว่า 80-85% เมื่อลูกเป็ดฟักออกมาจะนำไปคัดแยกเพศ แล้วนับใส่กล่องส่งลูกค้า โดยใส่กล่องละประมาณ 100 ตัว ตัวเมียจะใส่กล่องในปริมาณน้อยกว่าตัวผู้เพื่อลดการสูญเสีย เพราะตัวเมียมีราคาสูงกว่าตัวผู้

“ในการส่งแต่ละครั้งเราจะใส่ลูกเป็ดเพิ่มเข้าไปในกล่องไปเผื่อไว้ด้วย เผื่อมีความเสียหายระหว่างขนส่ง ลูกเป็ดตายระหว่างขนส่ง เป็นการแถมให้กับลูกค้า เช่น ถ้าสั่ง 10,000 ตัว จะต้องเตรียมเผื่อไปแถมประมาณ 1-2 กล่อง กล่องละประมาณ 80-100 ตัว และทางฟาร์มมีบริการจัดส่งให้ลูกค้าทั่วประเทศ” คุณเบิร์ดเปิดเผยถึงรูปแบบการขนส่ง

4.ลูกเป็ดแข็งแรงสมบูรณ์
4.ลูกเป็ดแข็งแรงสมบูรณ์

การบำรุงดูแลลูกเป็ด

ส่วนการดูแลลูกเป็ดช่วงแรกคลอด เริ่มตั้งแต่การจัดเตรียมคอกเลี้ยง จะต้องทำพื้นให้แห้งสนิท ด้วยการโรยแกลบหรือฟาง และพื้นที่การเลี้ยงที่เหมาะสมเฉลี่ย 6-8 ตัว/ตารางเมตร ต้องเตรียมไฟกกให้เหมาะสม

ซึ่งคุณเบิร์ดให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า “ผมไม่มีอุณหภูมิไฟกกที่แน่นอน ผมจะใช้ประสบการณ์และการสังเกต เช่น ถ้าลูกเป็ดนอนสุมกันหลายๆ ตัว แสดงว่าความร้อนในคอกนั้นไม่เพียงพอ ต้องเสริมไฟกกเข้าไป เพื่อให้ได้อุณหภูมิดีขึ้นสำหรับลูกเป็ด โดยลักษณะของอุณหภูมิที่ดี คือ ลูกเป็ดจะต้องนอนราบไปกับพื้นคอก ไม่นอนทับกัน”

โฆษณา
AP Chemical Thailand
5.อาหารสำหรับเป็ด
5.อาหารสำหรับเป็ด

การให้อาหารเป็ด

เมื่อถามถึงเคล็ดลับในการเลี้ยงเป็ดพันธุ์กากีแคมป์เบลล์ให้ประสบความสำเร็จในอาชีพและธุรกิจนี้ได้อย่างยั่งยืน คุณเบิร์ดเปิดเผยว่าอยู่ที่การดูแลเอาใจใส่ของเกษตรกรผู้เลี้ยง และปัจจัยอื่นๆ ประกอบกัน ซึ่งหนึ่งในหัวใจสำคัญ คือ “อาหาร” ซึ่งเป็นต้นทุนหลัก

ในปัจจุบันฟาร์มจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเป็ดสำเร็จรูปที่มีคุณภาพ อาหารสูตรปัจจุบันที่ใช้อยู่นั้น ได้แก่ เบอร์ 18 โปรตีน และแบบธรรมดา นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์อาหารอีกตัวที่เหมาะสำหรับใช้เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง ได้แก่ 21โปรตีน ซึ่งหลักๆ จะมีผลิตภัณฑ์อาหารทั้งหมด 3 ตัว ที่ใช้สำหรับเป็ดไข่อยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ยังมีอาหารสำหรับลูกเป็ดที่ใช้เฉพาะต่างหาก เช่น อาหารเบอร์ 1, เบอร์21-โปรตีน , เบอร์ 2 และเบอร์ 18 โปรตีน เป็นต้น

การจัดการแม่พันธุ์

ซึ่งคุณเบิร์ดได้ให้เหตุผลที่เลือกใช้อาหารสำเร็จรูปว่า “การจัดการแม่พันธุ์ให้ได้คุณภาพ ปัจจัยแรกที่สำคัญเลย คือ อาหาร ที่ฟาร์มเราจะใช้อาหารสำเร็จรูปเพราะว่าเคยใช้มานานกว่า 8 ปีแล้ว จากเดิมที่เคยใช้มาแล้วหลายยี่ห้อ แต่ยี่ห้อนี้ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ คือ ไข่เป็ดมีลักษณะเปลือกใหญ่ ไข่หนามากยิ่งขึ้น เหมาะสมที่จะนำไปเข้าตู้ฟัก เพื่อคลอดออกมาได้ลูกเป็ดที่สมบูรณ์แข็งแรง”

6.จัดการดูแลในฟาร์มเป็ด
6.จัดการดูแลในฟาร์มเป็ด เป็ดไข่กากีแคมเบล เป็ดไข่กากีแคมเบล เป็ดไข่กากีแคมเบล เป็ดไข่กากีแคมเบล เป็ดไข่กากีแคมเบล เป็ดไข่กากีแคมเบล

การบริหารจัดการฟาร์ม เป็ดไข่กากีแคมเบล

นอกจากเรื่องอาหารแล้ว การทำวัคซีนก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ทางฟาร์มจะทำวัคซีนให้เป็ดตามโปรแกรมวัคซีนมาตรฐาน และมีการเสริมวิตามินให้เป็ดกิน โดยเลือกวัคซีน และวิตามิน ของ “เวทโปรดักส์” โดยทางบริษัทฯ ได้ให้การดูแลเป็นอย่างดี และสนับสนุน โดยการส่งสัตวแพทย์มาช่วยดูแลในการทำวัคซีนให้อีกด้วย ซึ่งการทำวัคซีนก็เพื่อกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกัน โดยจะให้ตามโปรแกรมและตามช่วงอายุของเป็ด

ตารางแสดงโปรแกรมวัคซีนเป็ดที่ฟาร์ม

อายุเป็ด

วัคซีน

วิธีใช้

หมายเหตุ

14 วัน

วัคซีนกาฬโรคเป็ด

ฉีดเข้าผิวหลังคอ

เข็มที่ 1

28 วัน

วัคซีนกาฬโรคเป็ด

ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหน้าอก

เข็มที่ 2

45 วัน

วัคซีนอหิวาต์เป็ด

ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

ทำตามความเหมาะสม

63 วัน

วัคซีนกาฬโรคเป็ด

ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหน้าอก

เข็มที่ 3

105 วัน

วัคซีนกาฬโรคเป็ด

ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหน้าอก

เข็มที่ 4

ระยะไข่

วัคซีนกาฬโรคเป็ด

ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหน้าอก

ทุก 3 เดือน

ระยะไข่

วัคซีนอหิวาต์เป็ด

ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

ทุก 6 เดือน

เมื่อกล่าวถึงปัจจัยที่สำคัญของการเลี้ยงเป็ด โดยสรุปมีอาหาร, น้ำ, การจัดการภายในฟาร์ม และสภาพอากาศ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญทั้งหมด เช่น เป็ดชอบฤดูหนาว จะไม่เครียด กินอาหารได้เยอะ ออกไข่ดก ฟองใหญ่ ตรงกันข้ามกับฤดูฝน เป็ดมักจะป่วยเป็นโรค ยิ่งถ้าการจัดการไม่ดี พื้นคอกชื้นแฉะ เกิดแก๊สแอมโมเนีย ส่งผลให้เป็ดป่วย และเสี่ยงต่อการตายสูง

“ส่วนตัวผมประคบประหงมการเลี้ยงเป็ดเหมือนเป็นลูกแท้ๆ ซึ่งในแต่ละวันผมและคนงานจะเดินตรวจเช็คเล้าเป็ดไม่ต่ำกว่าวันละ 3-4 รอบ ในส่วนของโรงฟัก ผมจะแบ่งงานคนงานเป็น 2 ส่วน โดยชั้นบนดูแล 2 คน และชั้นล่างดูแล 2 คน และมีแผนกคัดแยกเพศเป็ดอีก 1-2 คน ส่วนตัวผมเองก็จะเป็นคนดูแลทุกอย่างทั้งหมดภายในฟาร์ม” คุณเบิร์ดยอมรับว่าการเอาใจใส่เป็นเรื่องสำคัญ

โฆษณา
AP Chemical Thailand
7.ไข่เป็ดฟองใหญ่ เปลือกหนา
7.ไข่เป็ดฟองใหญ่ เปลือกหนา เป็ดไข่กากีแคมเบล เป็ดไข่กากีแคมเบล เป็ดไข่กากีแคมเบล เป็ดไข่กากีแคมเบล เป็ดไข่กากีแคมเบล เป็ดไข่กากีแคมเบล

ฝากถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ด   

ส่วนในเรื่องผลกระทบจากโควิด-19 ทางฟาร์มก็ได้รับผลกระทบในทางอ้อมเหมือนกัน ถ้าปัญหาจริงๆ คือ เรื่องไข่สด ราคายังไม่สู้ดีนัก แต่อย่างไรก็ตามก็เป็นไปตามกลไกของตลาด ทั้งนี้ในอนาคตได้วางแผนจะขยับขยายทั้งโรงเลี้ยงและโรงฟักอย่างแน่นอน

“สุดท้ายผมขอฝากถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดว่า อาชีพเลี้ยงเป็ด เป็นอาชีพที่ยั่งยืน เพราะประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม ชาวนาปลูกข้าวและเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งอยู่คู่กัน เอื้อประโยชน์กันมาอย่างช้านาน เข้าทำนอง น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า โดยผมเชื่อว่าอาชีพเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งสามารถเลี้ยงครอบครัวเราได้ และยังช่วยส่งเสริมคนในท้องถิ่นให้มีอาชีพ มีงานทำในพื้นที่ ได้อยู่ใกล้บ้าน ใกล้ครอบครัว อีกด้วย” คุณเบิร์ดให้ความเห็นถึงข้อดีของเป็ดไล่ทุ่ง

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณฉัตรชัย นิธิเศรษฐิยกุล หรือคุณเบิร์ด

หากผู้อ่านท่านใดสนใจลูกเป็ดจากเจริญพันธุ์ฟาร์ม สามารถติดต่อได้ที่ เจริญพันธุ์ฟาร์ม ที่อยู่ 79/1 ม.4 ต.ไผ่ขวาง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี โทร.091-515-9441 เฟสบุ๊คแฟนเพจ โรงฟักลูกเป็ด เจริญพันธุ์ฟาร์ม-ไผ่ขวางสุพรรณบุรี

8.ลูกเป็ดพันธุ์กากีแคมป์เบลล์
8.ลูกเป็ดพันธุ์กากีแคมป์เบลล์ เป็ดไข่กากีแคมเบล เป็ดไข่กากีแคมเบล เป็ดไข่กากีแคมเบล เป็ดไข่กากีแคมเบล เป็ดไข่กากีแคมเบล เป็ดไข่กากีแคมเบล

ลักษณะเด่นของเป็ดพันธุ์กากีแคมป์เบลล์

เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักเป็ดไข่พันธุ์กากีแคมป์เบลล์ (Khaki Campbell) มากขึ้น ทางนิตยสารสัตว์บกมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเป็ดไข่พันธุ์กากีแคมป์เบลล์ (Khaki Campbell) มาฝากกันค่ะ

เป็ดไข่พันธุ์กากีแคมป์เบลล์ (Khaki Campbell) เป็ดสายพันธุ์นี้พัฒนาพันธุ์โดย Adele Campbell ในประเทศอังกฤษตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 จนได้เป็นเป็ดพันธุ์ที่ให้ไข่ดกที่สุดในโลกพันธุ์หนึ่ง โดยให้ไข่ประมาณ 300 ฟอง/ปี เป็ดกากีแคมป์เบลล์มีขนสีน้ำตาล แต่ขนที่หลังและปีกมีมีสลับอ่อนกว่า ปากสีดำค่อนข้างไปทางเขียว จะงอยปากต่ำ ตาสีน้ำตาลเข้ม คอส่วนบนสีน้ำตาล

โฆษณา
AP Chemical Thailand

แต่ส่วนล่างเป็นสีกากี ขาและเท้ามีสีเดียวกันกับขน แต่เข้มกว่าเล็กน้อย ตัวเมียเมื่อโตเต็มที่หนักประมาณ 2.0 -2.5 กิโลกรัม เริ่มให้ไข่เมื่ออายุประมาณ 4 เดือนครึ่ง ตัวผู้จะมีขนบนหัว คอ ไหล่ และปลายปีกสีเขียว ขนปกคลุมตัวสีกากีและน้ำตาล ขาและเท้าสีกากีเข้ม เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ 2.5-2.7 กิโลกรัม

ที่มา : การผลิตสัตว์ปีก (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประภากร ธาราฉาย)

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 327