โมเดลผลิต “ปลายข้าว” จากมันสำปะหลังแบบไตรภาคี รศ.ดร.เยาวมาลย์ ค้าเจริญ นำทัพปฏิวัติสำเร็จ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

โมเดลผลิต “ปลายข้าว” จากมันสำปะหลังแบบไตรภาคี รศ.ดร.เยาวมาลย์ ค้าเจริญ นำทัพปฏิวัติสำเร็จ

ยังไงๆ มนุษย์ก็ต้องบริโภค เนื้อ นม ไข่ จากปศุสัตว์ เพราะเป็นโปรตีนที่ขาดไม่ได้ ภายใต้วิกฤตต่างๆ ของการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะสารพัดโรค ที่ทำลายสัตว์เลี้ยง ก็ต้องป้องกันและแก้ปัญหาด้วยมาตรการต่างๆ ตราบใดที่ตลาด หรือ “ผู้บริโภค” ยังต้องการ ก็ฉุดให้ห่วงโซ่อุปทานต้องขับเคลื่อนต่อไป

การเลี้ยงสัตว์เชิงธุรกิจ “อาหาร” คือ ต้นทุนหลัก ดังนั้นการวิจัยพัฒนาวัตถุดิบ เพื่อค้นหาธาตุอาหารที่จำเป็นของสัตว์ ภายใต้ต้นทุนที่ต่ำกว่า จึงเป็นงานท้าทายของ นักวิจัย หรือ นักโภชนศาสตร์ มาตลอด

1.รศ.ดร.เยาวมาลย์ ค้าเจริญ
1.รศ.ดร.เยาวมาลย์ ค้าเจริญ

การวิจัยและพัฒนามันสำปะหลัง

ประเทศไทยมีนักวิจัยเรื่องนี้ จนกระทั่งสากลยอมรับ มีไม่มากนัก

แต่พอเอ่ยนาม รศ.ดร.เยาวมาลย์ ค้าเจริญ และ รศ.ดร.สาโรช ค้าเจริญ คนในวงการปศุสัตว์ และ นักอาหารสัตว์ ทั้งไทย และ ต่างประเทศ ยอมรับในความสามารถ

เพราะมีผลงานเชิงประจักษ์ในการวิจัยด้านอาหารสัตว์ และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในด้านอาหารสัตว์ เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจที่ชัดเจน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ล่าสุด รศ.ดร.เยาวมาลย์ ได้วิจัยและพัฒนานำมันสำปะหลังมาทดแทน “ปลายข้าว”ได้สำเร็จ กลายเป็นแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน โดย ดร.พิทยา สุนทรประเวศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นนทพันธ์ฟีด จำกัด ได้กล่าวถึง

รศ.ดร.เยาวมาลย์ ค้าเจริญ และ รศ.ดร.สาโรช ค้าเจริญ ที่คิดค้นผลิตภัณฑ์ตัวนี้  เพื่อช่วยเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง และช่วยเกษตรกรคนเลี้ยงสัตว์ เพื่อนำมาใช้ทดแทนปลายข้าว หรือ ข้าวโพด ที่ขาดตลาด และมีต้นทุนที่สูงกว่า” ดร.พิทยา ให้ความเห็น

เหตุที่ปลายข้าวขาด เพราะชาวนาปลูกพืชอื่นแทนข้าว หรือทำอาชีพอื่นแทน เนื่องจากราคาข้าวเปลือกไม่แน่นอน รวมถึงปัญหาภัยแล้ง และการขาดแคลนแรงงานในการทำนา

ขณะที่มันสำปะหลังในประเทศราคาตก เพราะผลผลิตมากกว่าความต้องการ อันเนื่องมาจากอียูลดการสั่งซื้อ

เหตุนี้ รศ.ดร.เยาวมาลย์ และ รศ.ดร.สาโรช จึงคิดค้นและพัฒนาเป็นปลายข้าววิทยาศาสตร์ในช่วงแรก เพื่อนำมาใช้ในการลดต้นทุนในการผลิตสัตว์

ขณะเดียวกัน  “ข้าวโพด”  ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของอาหารไก่เนื้อพ่อแม่พันธุ์  เมื่อราคาแพงขึ้น ก็สามารถนำปลายข้าววิทยาสตร์มาทดแทนได้ ปัญหาการบุกรุกภูเขาหัวโล้นเพื่อปลูกข้าวโพดก็จะลดลง เป็นการแก้ปัญหาตรงกับเหตุ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ดังนั้นการนำ “มันสำปะหลัง” มาพัฒนาเป็นปลายข้าววิทยาศาสตร์

นอกจากสัตว์จะได้โภชนาการที่ดีแล้ว ยังก่อให้เกิดการพัฒนาตลอดห่วงโซ่อุปทาน ในทางลดต้นทุน / เพิ่มผลผลิต สัตว์โดยตรง

2.ดร.พิทยา สุนทรประเวศ
2.ดร.พิทยา สุนทรประเวศ

การส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลัง

ในรูปธุรกิจเพื่อให้เกิดการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ตอบสนองความต้องการได้อย่างเพียงพอ ดร.พิทยา ได้จับมือกับภาคเอกชน เช่น สหกรณ์การเกษตรด่านขุนทดจำกัด ที่มี คุณสุระ ด่านขุนทด เป็น ประธาน / ผู้จัดการ เพื่อผลิตปลายข้าววิทยาศาสตร์ เนื่องจากสหกรณ์แห่งนี้มีสมาชิกปลูกมันฯ และมีผู้เลี้ยงสัตว์ มีความพร้อมพอสมควร

“บริษัทเราได้ทำ MOU กำหนดว่าต้องการมันสำปะหลังที่คุณภาพดี ตามมาตรฐานกระทรวงพาณิชย์ และกำหนดส่วนผสมอื่นๆ เพื่อเป็นปลายข้าววิทยาศาสตร์” ดร.พิทยา เปิดเผย และยอมรับว่า ระยะแรกๆ  พุ่งเป้าไปที่ผู้เลี้ยงสุกรเป็นหลัก เพราะต้องใช้ปลายข้าวมากกว่าสัตว์อื่นๆ

เป็นเวลา 1 ปีเต็ม ที่ 2 องค์กรธุรกิจ ทำงานร่วมกันอย่างมีเป้าหมาย สหกรณ์สามารถผลิตปลายข้าววิทยาศาสตร์ เพื่อใช้ทดแทนในสูตรอาหารสัตว์

“เมื่อก่อนผมผลิตอาหารสุกรจากข้าวโพดเป็นหลัก  พอทาง รศ.ดร.เยาวมาลย์  และ ดร.พิทยา ได้เข้ามาแนะนำ ได้เปลี่ยนเป็นปลายข้าววิทยาศาสตร์แทน เพราะเป็นวัตถุดิบที่ดี ทดแทนข้าวโพด และต้นทุนต่ำ ทำให้เราไปสู้กับตลาดภายนอกได้ ก็เลยตัดสินใจร่วมด้วย” คุณสุระ เปิดเผยถึงสาเหตุเข้าร่วมธุรกิจ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

สหกรณ์การเกษตรด่านขุนทดจำกัด มีสมาชิก 12,000 กว่าคน มีธุรกิจหลายอย่าง ทั้ง พืช ปศุสัตว์ ได้แก่  ธุรกิจสินเชื่อ รับฝากเงิน จัดหาปัจจัยการผลิต ผลิต – ขาย ปุ๋ยเคมี รวบรวมผลผลิต ปั๊มน้ำมัน และ ธุรกิจอาหารสัตว์ เป็นต้น

ธุรกิจที่โดดเด่น ก็คือ มันสำปะหลัง เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นดินร่วนปนทราย แหล่งน้ำถาวร ไม่สมบูรณ์ การส่งเสริมสมาชิกให้ปลูกมัน ทางสหกรณ์รับซื้อ แล้วขายต่อให้เอกชนไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดังนั้นเมื่อมาจับมือกับ ดร.พิทยา งานจึงเดินหน้าได้ดี เพราะมีฐานอยู่แล้ว

สมาชิกที่มีเครดิตดี มืออาชีพด้านการปลูกมันฯ จะได้รับสินเชื่อจากสหกรณ์ ซื้อปัจจัยต่างๆ เช่น ปุ๋ย และ พันธุ์มันเกษตรศาสตร์ 50 ระยอง 60 หรือ พันธุ์แขกดำ ไปปลูก ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่กระจายอยู่ในอำเภอด่านขุนทด และ อำเภอเทพารักษ์ เป็นหลัก

3.ประธานสุระ พาขุนทด
3.ประธานสุระ พาขุนทด

การบริหารจัดการมันสำปะหลัง

ทั้ง 3 สายพันธุ์ มีคุณสมบัติต่างกัน เกษตรศาสตร์ 50 ลำต้นโค้งเล็กน้อย สีเขียวเงิน สูง 80-150 ซม. ผลผลิตเฉลี่ย 4.4 ตัน / ไร่ มีเชื้อแป้งเฉลี่ย 23% ในฤดูฝน และ 28% ฤดูแล้ง เก็บต้นพันธุ์ไว้ได้ 30 วัน หลังจากตัดต้น

ระยอง 60 เป็นพันธุ์ที่สะสมน้ำหนักหัวสดได้ไว อายุ 8 เดือน เก็บเกี่ยว ผลผลิตหัวสดสูงกว่า ระยอง 1 ถึง 24.5% ผลผลิตแป้งสูงกว่า ระยอง 1 ถึง 31.3% ผลผลิตมันเส้นสูงกว่า ระยอง 1 ถึง 24.8% และค่าดัชนีการเก็บเกี่ยวสูงกว่า ระยอง 1 ถึง 21.8% ยอดอ่อนสีม่วง เขียวปนม่วง ก้านใบสีเขียวปนม่วง ยาว 25-30 ซม. ใบหอก ลำต้นสีน้ำตาลอ่อน เปลือกของหัวส่วนนอกสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในสีขาวครีม ต้นสูง 275 ซม. แตกกิ่ง 3 ระดับ อายุเก็บเกี่ยว 8-12 เดือน ขยายพันธุ์ด้วยลำต้น หัวสด อายุ 8 เดือน 3,148 กก. / ไร่ มันฯ แห้ง 1,217 กก. / ไร่ ถ้าเก็บในช่วงฤดูฝน เปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ เนื้อสีครีม โรงงานตัดราคา

ส่วนพันธุ์ แขกดำ กรมวิชาการเกษตรยังไม่รับรอง สหกรณ์นำมาทดลองปลูกโซนด่านขุนทด โดยปลูกหมุนเวียนกับ ข้าว ข้าวโพด และ อ้อย เพื่อเปรียบเทียบรายได้ ในการส่งเสริมสมาชิก สหกรณ์ต้องใช้นักวิชาการด้านเกษตรให้คำแนะนำในเรื่องโรค และ ศัตรูพืชต่างๆ รวมทั้ง การให้น้ำ ให้ปุ๋ย เป็นต้น

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ในการปลูกมันฯ สหกรณ์ได้วางไว้ 3 ช่วง 1. ข้ามแล้ง (พ.ย. – ม.ค.) จะปลูกโซนเทพารักษ์ 15-20% เพราะดินร่วนปนทราย 2. ต้นปี (ม.ค. – มี.ค.) เก็บผลผลิตเดือน ต.ค. – พ.ย. เป็นมันฯ ที่น้ำหนัก / ไร่ สูง เฉลี่ย 4-5 ตัน / ไร่ เชื้อแป้ง 28-30% และ 3. มันน้ำหยด ปลูกในพื้นที่แล้ง โดยใช้ระบบน้ำหยดส่งทางรูเล็กๆ ทางท่อน้ำ หรือ สายยาง ซึ่งชาวไร่ที่ปลูกระบบน้ำหยดจำนวนไม่ถึง 10% เนื่องจากต้องมีแหล่งน้ำถาวร พร้อมติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ดูดน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้

คุณสุระยืนยันว่า คุณสมบัติของมันฯ ที่จะผลิตเป็น ปลายข้าววิทยาศาสตร์ ต้องมีเชื้อแป้ง 25% ขึ้นไป เพราะถ้าต่ำกว่า เมื่อเข้ากระบวนการแปรรูป เป็น “มันฯ แห้งสะอาด” จะสูญเสียเยอะ ราคาต่ำ ขาดทุน แต่ถ้า 25% ขึ้นไป เมื่อตากแห้ง แป้งหายไปเพียง 40%

“ตอนนี้เราพัฒนาเรื่องทำมันสำปะหลังให้เท่าเทียมข้าวโพด และนำไปแทนปลายข้าวในอาหารหมู โอเคแล้ว ผลิตไม่ทัน เรากำลังมองเรื่องอาหารไก่ เพราะเมื่อมองที่ประชากรไก่กับสุกร” คุณสุระมองตลาดไก่อย่างมีความหวัง ซึ่งถ้าตีตลาด 2 กลุ่ม ได้มากขึ้น มั่นใจว่าชาวไร่มันฯ จะมีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะสหกรณ์จะนำ “กำไร” มาแบ่งสมาชิก ซึ่งเป็นพลเมืองฐานรากของประเทศ

จึงเห็นได้ว่าการทำงานแบบทีมเวิร์ค “ไตรภาคี” นักวิชาการ บริษัท และ สหกรณ์ จะเกิดการเรียนรู้ ปิดจุดอ่อน ขยายจุดแข็ง ต่อการผลิต เพื่อให้ได้ทั้ง ปริมาณ และ คุณภาพ ปลายข้าววิทยาศาสตร์ ที่ชาวนาต้องการมากขึ้น

4.มันสำปะหลังหัวใหญ่ ได้น้ำหนัก
4.มันสำปะหลังหัวใหญ่ ได้น้ำหนัก

การผลิตปลายข้าวจากมันสำปะหลัง

สำหรับ “ปลายข้าว” เป็นวัตถุดิบที่นำมาใช้ในสูตรอาหารสัตว์ประมาณ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ในอนาคตปลายข้าวอาจจะไม่มีโอกาสได้ใช้ เพราะถูกนำไปเป็นอาหารมนุษย์ วัตถุดิบที่จะสามารถนำมาใช้ทดแทนปลายข้าวได้ คือ “มันสำปะหลัง”

รศ.ดร.เยาวมาลย์ ค้าเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้าน โภชนศาสตร์อาหารสัตว์ ถึงแนวทางการนำมันสำปะหลังมาทดแทนปลายข้าว ก่อนหน้านี้มีการนำมันสำปะหลังมาทดแทนปลายข้าว โดยใช้ผลิตภัณฑ์ว่า ปลายข้าววิทยาศาสตร์ (Bartech –  G) และได้ทำการจดสิทธิบัตร

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ต่อมา รศ.ดร.เยาวมาลย์ จึงได้ปรับปรุงและพัฒนาปลายข้าววิทยาศาสตร์มาเป็น “ปลายข้าวนาโนเทค” หรือ Broken Rice NANO Tech ให้มีคุณสมบัติที่ดียิ่งขึ้นไปกว่าปลายข้าววิทยาศาสตร์ที่ได้ผลิตในช่วงแรก โดยใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ว่า ปลายข้าวนาโนเทค (Broken Rice NANO Tech)

“มีการนำมันสำปะหลังมาใช้แทนปลายข้าวมานานแล้ว ไม่ต่ำกว่า 30 ปี แต่ต้องรู้จักวิธีในการนำไปใช้ เพราะมันสำปะหลังนั้นมีหลายเกรด แม้ในพรบ.อาหารสัตว์จะไม่มีการแบ่งเกรด แต่ต้องติดตามการแบ่งเกรดจากกระทรวงพาณิชย์” รศ.ดร.เยาวมาลย์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการนำมันสำปะหลังมาทดแทน

ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรจะไม่ค่อยเน้นเรื่องคุณภาพของมันสำปะหลัง ทำให้มันที่ได้มาแต่ละครั้งอาจมีการปนเปื้อนของทราย มันแก่ หรือส่วนแข็งของเปลือกมันและลำต้น สิ่งปนเปื้อนเหล่านี้จะไปสร้างความเสียหายในขั้นตอนการบด จะทำให้เครื่องบดสึกหรอเร็วขึ้น และปัญหาใหญ่เลย คือ เกษตรกรยังไม่รู้คุณภาพของมันสำปะหลังที่ชัดเจน

5.ต้นมันสำปะหลัง
5.ต้นมันสำปะหลัง

ความเป็นมาของผลิตภัณฑ์

มันสำปะหลัง (cassava, tapioca, manioc, mandioca หรือ yuca)มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Manihotesculenta (L.) Crantz มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ แถบประเทศบราซิล ปัจจุบันได้ขยายออกไปประเทศร้อนทั่วโลก สำหรับประเทศไทย มันสำปะหลังเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง เกษตรกรได้ปลูกมันสำปะหลังกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมันสำปะหลังปลูกง่าย ทนต่ออากาศแห้งแล้ง และต้านทานต่อโรคและแมลงได้ดี

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของมันสำปะหลังส่วนใหญ่ส่งไปขายประเทศยุโรป และมีเพียงส่วนน้อยที่ใช้บริโภคในประเทศในรูปของแป้งมันสำปะหลัง ส่วนการนำมาเป็นอาหารสัตว์นั้นมีปริมาณน้อยมาก ทั้งนี้เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ยังไม่รู้จักวิธีการนำมันสำปะหลังมาเลี้ยงสัตว์ และไม่กล้าทดลองเลี้ยง เพราะกลัวสารพิษของ กรดไฮโดรไซยานิคประกอบกับประเทศไทยมีอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด รำข้าว ปลายข้าว และอื่นๆ อุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว

จนกระทั่งได้เกิดปัญหามันสำปะหลังล้นตลาดในเมืองไทย เนื่องจากกลุ่มประเทศตลาดร่วมยุโรป (EEC) ได้ลดการสั่งซื้อมันสำปะหลัง ประกอบกับคุณภาพมันสำปะหลังของไทยที่ส่งออกนั้นมีคุณภาพต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ผลิตประเทศอื่นๆ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ดังนั้นจึงได้มีการวิจัยเริ่มขึ้นเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับมันสำปะหลังที่ปลูกในเมืองไทย โดยมีจุดประสงค์ ดังนี้ คือ

-ศึกษาและปรับปรุงคุณค่าทางโภชนะของมันสำปะหลังไทยให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ

-ทำการวิจัยและศึกษาค้นคว้าเพื่อนำมันสำปะหลังมาประกอบสูตรอาหารเลี้ยงสัตว์

-ศึกษาค้นคว้าหาลู่ทางในการลดต้นทุนในการผลิตสัตว์ โดยการนำมันสำปะหลังมาประกอบเป็นสูตรอาหารเลี้ยงสัตว์

-ส่งเสริมให้เกษตรกรรู้จักใช้มันสำปะหลังเลี้ยงสัตว์ในประเทศ เพื่อเป็นการแก้ปัญหามันสำปะหลังซึ่งอาจจะล้นตลาดขึ้นได้ในอนาคต

6.ลานตากมันสำปะหลัง
6.ลานตากมันสำปะหลัง

สิ่งที่ควรรู้ก่อนนำมันสำปะหลังมาทดแทน

สำหรับมันสำปะหลังที่เหมาะสมจะนำมาทดแทนปลายข้าวต้องมีอายุการปลูก 10 เดือนขึ้นไป แต่ไม่เกิน 14 เดือน ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ที่ขายมันจะเก็บช่วง 8 เดือน ทำให้ความเป็นแป้งลดน้อยลง จะมีส่วนของ หิน กรวด ทราย ปนเปื้อนมาเยอะ เป็นเรื่องที่ต้องระวัง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ต่อมาต้องรู้ว่านำไปเลี้ยงสัตว์ประเภทไหน ช่วงอายุเท่าไหร่ เพื่อหาค่าโภชนะที่สัตว์ชนิดนั้นควรได้รับอย่างเหมาะสม และข้อจำกัดในอาหารสัตว์ชนิดนั้น ซึ่งในสุกรและสัตว์ปีกไม่ชอบอาหารที่มีความฟ่ามมาก ในการจะนำมันสำปะหลังมาประกอบสูตรอาหารจะต้องรู้ข้อบกพร่อง คือ มันสำปะหลังมีความเบาและฟ่าม ซึ่งความฟ่ามจะตีความได้สองอย่าง คือ ส่วนประกอบข้างในของเนื้อแป้งมันสำปะหลัง จะประกอบด้วยแป้ง 2 ชนิด ได้แก่ อะไมโลส และ อะไมโลเพกทิน

“อย่างในข้าวจ้าวกับข้าวเหนียว ในข้าวเหนียวจะมีอะไมโลเพกทินสูงกว่าข้าวจ้าว จากสัดส่วนเนื้อในของตัวแป้ง จึงมีผลมาว่าแป้งที่มีอะไมโลเพกทินมากจะทำให้กินน้ำมากกว่าปกติ เพราะฉะนั้นในสัตว์วัยอ่อนจะไม่ไหว หากมีอะไมโลเพกทินสูง เพราะต้องกินน้ำมาก จะทำให้กระเพาะมีจำกัด จึงกินเนื้ออาหารได้น้อยลง”  รศ.ดร.เยาวมาลย์  อธิบาย เพิ่มเติมถึงคุณสมบัติแป้ง 2 ชนิด

จึงต้องมีวิธีการเลือกใช้มันสำปะหลังในสูตรอาหารไม่ว่าจะช่วงไหนก็ตาม อย่างเช่น ในไก่เนื้อ หากจะใช้มันสำปะหลังในสูตรอาหารมากกว่า 10% ขึ้นไป จะต้องอัดเม็ด แต่หากจะใช้เป็นผงไม่ตีเม็ด จะต้องระวังในเรื่องของ ความหนาแน่นรวม (bulk density) 

ข้อบกพร่องอีกข้อ คือ เมื่อมีอะไมโลเพกทินสูง ก็จะมีความหนืดสูง เพราะฉะนั้นมันสำปะหลังที่ดีจะต้องทำให้มีความ กึ่งสุก กึ่งดิบ เพราะหากสุกเต็มที่แล้วนำไปผสมในสูตรอาหารจะนำไปอัดเม็ดไม่ได้

7.ปลายข้าวนาโนเทค
7.ปลายข้าวนาโนเทค

ข้อดีของปลายข้าวนาโนเทค

การจะใช้มันสำปะหลังมาแทน ปลายข้าว และ ข้าวโพด มีข้อจำกัดมากมาย รศ.ดร.เยาวมาลย์ จึงได้พัฒนาและจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดจากปลายข้าววิทยาศาสตร์ออกมา คือ ปลายข้าวนาโนเทค (Broken Rice NANO Tech)เป็นการนำเอามันสำปะหลังที่มีคุณภาพดี มาดำเนินการปรับคุณค่าทางโภชนะของมันสำปะหลังให้เทียบเท่า ปลายข้าว และ ข้าวโพด

หากถามว่าจะทำมันสำปะหลังให้เทียบเท่า ปลายข้าว หรือ ข้าวโพด ได้หรือไม่ คำตอบ คือ ได้ แต่ต้องมีความรู้ทางโภชนะ ต้องทำการปรับคุณค่าทางโภชนะของมันสำปะหลังให้ดีเท่า ปลายข้าว และ ข้าวโพด เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ต้องเทียบเท่า คือ โปรตีน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

โปรตีนในมันสำปะหลังจะต่ำกว่า ปลายข้าว และ ข้าวโพด เราต้องทำโปรตีนให้สูงเท่า ปลายข้าว และ ข้าวโพด โดยการหาแหล่งโปรตีนมาเติมลงไป เช่น โปรตีนจากถั่ว เมล็ดทานตะวัน เมล็ดงา ฯลฯ

ใน “ปลายข้าว” มี อะไมโลส และ อะไมโลเพกทิน ไม่สูงเท่ามันสำปะหลัง เพราะฉะนั้นมันสำปะหลังที่จะนำมาทดแทนปลายข้าวต้องทำให้สุก จะทำให้แป้งผ่านการย่อย สามารถนำไปใช้ในสัตว์วัยอ่อน และสามารถย่อยได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากการปรับโปรตีนให้เทียบเท่าปลายข้าวแล้ว ข้อต่อมา คือ ปลายข้าวไม่มีน้ำมัน ในสูตรอาหารที่ใช้ปลายข้าวจึงต้องผสมรำสด จึงต้องหาน้ำมันมาเติมเพื่อให้มีคุณภาพเทียบเท่าข้าวโพด ซึ่งน้ำมันข้าวโพดเป็นยอดของน้ำมันเทียบเท่าน้ำมันจากถั่วเหลือง

เพราะสิ่งนี้เราต้องหาน้ำมันมาเติมให้กับปลายข้าวนาโนเทค เพื่อให้มีโภชนะดีกว่าปลายข้าว โดยการเติมน้ำมันคุณภาพดี 2-3 % และในสัตว์วัยอ่อนส่วนใหญ่จะมีปัญหาขาดธาตุเหล็ก จึงมีการเติมธาตุเหล็กออร์แกนิค และเติมกรดซิตริกเข้าไปด้วย

ข้อดีอย่างหนึ่งของ “ปลายข้าว” คือ มีอะฟลาท็อกซินต่ำ เมื่อเทียบกับข้าวโพด ถ้าอะฟลาท็อกซินสูงจะส่งผลต่อสุกรวัยอ่อน รศ.ดร.เยาวมาลย์ จึงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ปลายข้าวนาโนเทค (Broken Rice NANO Tech) มีอะฟลาท็อกซิน ไม่เกิน 40 พีพีบี (ppb, part per billion)

8.โรงเรือนไก่เนื้อ
8.โรงเรือนไก่เนื้อ

คุณสมบัติของปลายข้าวนาโนเทค

ปลายข้าวนาโนเทค (Broken Rice NANO Tech) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมา เพื่อให้มีคุณสมบัติดี เทียบเท่าปลายข้าว และดีกว่าข้าวโพด และมีราคาที่ถูกกว่า เพื่อช่วยเกษตรกรคนเลี้ยงสัตว์ ช่วยลดต้นทุนด้านอาหารสัตว์ นอกจากนี้ยังช่วยเกษตรกรคนปลูกมันสำปะหลังอีกด้วย

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เกษตรกรที่เลี้ยงไก่เนื้อ ส่วนใหญ่จะมีการใช้ข้าวโพด เพราะมีปริมาณ แคโรทีนอยด์ สูง เพื่อเป็นแหล่งสารสีในอาหารไก่เนื้อ และสิ่งที่ทำให้ตัวผลิตภัณฑ์สามารถเทียบกับข้าวโพดได้ คือ ใบมันสำปะหลัง จึงมีการนำใบมันเข้ามาเสริมในส่วนนี้

ผลิตภัณฑ์ ปลายข้าวนาโนเทค ตัวนี้จะช่วยลดความยุ่งยากของผู้เลี้ยงในการจัดซื้อวัตถุดิบหลายตัว “ปลายข้าวนาโนเทค” จึงเป็นวัตถุดิบที่ตอบโจทย์ในปัจจุบันสำหรับผู้เลี้ยงสัตว์ในการลดต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยได้ และการใช้ประโยชน์ของโภชนะให้สูงขึ้น

สำหรับท่านใดที่สนใจผลิตภัณฑ์ ปลายข้าวนาโนเทค (Broken Rice NANO Tech) สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท นนทพันธ์ ฟีด จำกัด (ดร.พิทยา) โทร.089-826-1133 และ 085-288-8888 มีจัดจำหน่าย แบบถุง บรรจุ 50 กก. และแบบ Bulk

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก

รศ.ดร.เยาวมาลย์ ค้าเจริญ

ดร.พิทยา สุนทรประเวศ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ประธานสุระ พาขุนทด

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 340