ดนหลีม สุนทรมาลาตี รวยด้วย ส้มจุก ขายกิโลละ 200 ทำเงิน หลายแสนบาท/ปี

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“พลังเกษตร” ด้วยสโลแกนที่ว่าส่งเสริมพืชเศรษฐกิจครบวงจร ฉบับนี้ลงใต้ไปดู ส้มจุก ไม้ผลเศรษฐกิจ ของชาวจะนะ จังหวัดสงขลา เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงพอจะรู้จักส้มจุกกันบ้างแล้ว ตามสื่อแขนงต่างๆ ที่นำเสนอกันอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่น้อยคนนักที่จะทราบประวัติและข้อมูลเชิงลึกของไม้ผลชนิดนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรจนกลายเป็นไม้ผลทำเงินให้ชาวสวนจะนะ

1.บังหลีม หรือคุณดนหลีม สุนทรมาลาตี เจ้าของสวนส้มจุกคุ้งคลองวัว
1.บังหลีม หรือคุณดนหลีม สุนทรมาลาตี เจ้าของสวนส้มจุกคุ้งคลองวัว

การปลูกส้มจุก

ความจริงแล้วส้มจุกจะนะเป็นไม้ผลที่มีชื่อเสียงมากว่า 100 ปี เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค จนมีคำกล่าวที่ว่า “คนซื้อไม่ได้กิน คนกินไม่ได้ซื้อ” ยุคก่อนๆ เชื่อว่าส้มจุกเป็นสินค้าที่ซื้อเป็นของฝาก เนื่องจากมีรสชาติที่หวาน  หอม มีเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่เหมือนส้มชนิดอื่น ผลใหญ่ เปลือกล่อน

ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวนี้เองทำให้ปัจจุบันมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้น ผลผลิตออกมาจำหน่ายไม่ต่ำกว่า 1,000 ตัน ต่อปี โดยมีชาวสวน ทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ ร่วมมือกันพัฒนาการทำสวนส้มจุกเชิงการค้า เน้นทำปลอดสาร ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ บังหลีม หรือ คุณดนหลีม สุนทรมาลาตี ชาวสวนส้มจุกบ้านแค อำเภอจะนะ บนพื้นที่ 12 ไร่ ปลูกส้มจุก 600 ต้น ทำเงินหลายแสนบาทต่อปี

2.ส้มจุกจะนะ Neck orange chana หรือ Somjook chana
2.ส้มจุกจะนะ Neck orange chana หรือ Somjook chana

ประวัติความเป็นมาของส้มจุก

ทำความรู้จัก กับส้มจุกให้มากขึ้น ประวัติความเป็นมาส้มจุกจะนะ ต้องบอกว่าเป็นส้มเปลือกล่อนชนิดหนึ่งที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สำหรับการระบุแหล่งที่มานั้นไม่ชัดเจนมากนัก แต่พอจะมีประวัติกล่าวสืบทอดกันต่อๆ มาว่าเมื่อครั้งสมัยเจ้าเมืองจะนะ พระมหานุภาพปราบสงคราม (ขวัญจง) ปี พ.ศ.2358-2380 ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงเพื่อสัมพันธภาพระหว่างเจ้าเมืองสงขลา พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) เจ้าเมืองสงขลาคนที่ 4  กับเจ้าเมืองมลายู (ไทรบุกลันตัน และเจ้าตรังกานู)

ภายหลังจากรับประทานอาหารคาว หวาน ตามด้วยผลไม้ หนึ่งในนั้นมีส้มชนิดหนึ่งมีสีเขียว ขั้วผลมีจุกยื่นออกมา เปลือกล่อน แกะง่าย ไส้กลวง เนื้อสีเหลืองนวลคล้ายน้ำผึ้ง รสชาติหวานอมเปรี้ยวนิดๆ และมีกลิ่นไม่เหมือนส้มทั่วไป จึงเก็บเมล็ดไว้ และได้นำเมล็ดให้ผู้รับใช้ (บิดาของหะยีรน ราษฎร ตำบลบ้านแค) นำกลับไปเพาะ จนกระทั่งขยายพันธุ์แพร่หลาย

ต่อมา ในปี พ.ศ.2400-2490 ส้มจุกจะนะได้รับความนิยมและแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว มีเกษตรกรปลูกส้มจุกมากขึ้น ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้นเช่นกัน ขณะนั้นทางอำเภอจะนะมีการจัดตั้งตลาดกลาง เพื่อเป็นแหล่งรองรับซื้อขายส้มจุก และเป็นแหล่งนัดพบ ผู้ซื้อ ผู้ขาย โดยตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟจะนะ เพื่อสะดวกในการขนส่งไปยังจังหวัดต่างๆ รวมถึงผู้เดินทางผ่านเส้นทางสายดังกล่าว นิยมซื้อเป็นของฝาก

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ตลอดจนนำไปใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น วันสารทเดือนสิบ เป็นเครื่องไหว้หน้าโต๊ะบูชา ชาวไทยเชื้อสายจีน การจำหน่ายและการบรรจุ จะมี 2 ลักษณะ คือ การใช้ชะลอมไม้ไผ่ และการขายพวงร้อยตรงบริเวณจุก ส่วนการขนส่งทางรถไฟนิยมใช้เข่งไม้ไผ่ที่มีการระบายอากาศได้ดี จึงทำให้ส้มจุกจะนะ เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงไปทั่ว

ราวปี พ.ศ.2492 อำเภอจะนะ ได้จัดงานมหกรรมการเกษตร และของดีจะนะ มีการประกวดผลผลิตส้มจุกจะนะที่มีคุณภาพ ขณะนั้นมีเกษตรกรส่งผลผลิตเข้าประกวดจำนวนมาก  ทำให้ส้มจุกจะนะเป็นที่รู้จัก และมีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ จนกลายเป็นคำขวัญอำเภอจะนะ คือ “นกเขาเงินล้าน หอมหวานส้มจุก แดนมรดกสองวัฒนธรรม”

ต่อมาส้มจุกจะนะประสบปัญหาผลผลิตลดลง โรคและแมลงมีมากขึ้น ทำให้เกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกพืชอย่างอื่นแทนที่ส้มจุก เช่น ยางพารา ลองกอง มังคุด และ ทุเรียน ทำให้พื้นที่ปลูกลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่ง ปี พ.ศ.2554 ทางอำเภอได้ส่งเสริมและฟื้นฟูการปลูกส้มจุก โดยร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอจะนะ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ร่วมกันพัฒนาส้มจุกจะนะจนถึงปัจจุบัน (ข้อมูลกรมทรัพย์สินทางปัญญา)

จุดเด่นของส้มจุก (Neck orange chana หรือ Somjook chana)

ความจริงแล้วส้มจุกมี 2 สายพันธุ์ ส้มจุกพันธุ์เปลือกบาง และพันธุ์เปลือกหนา มีผิวมันวาว เมื่อสุกมีสีเหลือง หรือเขียวอมเหลือง หรือเขียวอมส้ม เปลือกล่อน มีกลิ่นหอมจากต่อมใต้เปลือก เนื้อกุ้งฉ่ำ นุ่ม รสชาติหวานอมเปรี้ยว  รูปทรงผลมีขนาดใหญ่ ทรงผลกลมยาวรี มีจุกที่ขั้วผลสูง ผิวเปลือกหนา หยาบขรุขระเล็กน้อย ผิวมันวาว กลีบมีจำนวน 7-9 กลีบ ต่อผล ความหวานไม่ต่ำกว่า 8 องศาบริกซ์

3.ผู้ดูแลสวน (ลูกชายบังหลีม)
3.ผู้ดูแลสวน (ลูกชายบังหลีม)

การบริหารจัดการสวนส้มจุก

บังหลีม หรือ นายดนหลีม สุนทรมาลาตี อาศัยบ้านเลขที่ 25 หมู่ 4 ตำบลแค อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ต้องบอกว่าบุคคลท่านนี้อุทิศเวลาทุ่มเทให้กับการทำสวนส้มจุกมาอย่างยาวนาน จนเข้าใจและรู้จักส้มจุกได้เป็นอย่างดี  จากการพูดคุยบังหลีมย้ำตลอดว่า “ส้มจุกจะนะเป็นไม้ผลประจำถิ่น ควรค่าต่อการอนุรักษ์  ส่งต่อให้ลูก ให้หลาน

“ส้มจุกวันนี้ของจะนะ” ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ (GI) ส้มจุกจึงกลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม  จากเดิมจำหน่ายกิโลกรัมละ 80 บาท เป็น 200 บาทต่อกิโลกรัม  สามารถสร้าง รายได้ให้ผู้ปลูกได้เป็นอย่างดี

โฆษณา
AP Chemical Thailand

บังหลีมบอกว่าการทำสวนส้มจุกของที่นี่อาศัยภูมิปัญญาล้วนๆ สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ปลูกตามชายคาบ้าน หัวไร่ปลายนา จนกระทั่งช่วงหลังๆ จะเน้นปลูกเป็นสวนมากขึ้น เมื่อถามถึงพื้นที่ปลูกส้มจุก บังหลีมบอกว่าตนมีเนื้อที่ 12 ไร่ เดิมทีเป็นที่นาเก่า ซึ่งขณะนั้นเกษตรกรหลายๆ คนหันไปปลูกยางพารา และไม้ผลต่างๆ เช่น ลองกอง มังคุด และ ทุเรียน

แต่ด้วยความที่เป็นคนสนใจส้มจุก เพราะเห็นต้นส้มจุกตั้งแต่เล็กจนโต มีแนวคิดที่จะทำสวนส้มจุกอย่างจริงจัง “จุดประสงค์ของผม คือ ต้องการอนุรักษ์ส้มจุกเอาไว้ อย่าให้หายไปจากพื้นที่” บนพื้นที่ 12 ไร่ ปลูกส้มจุก 600 ต้น รุ่นแรก 12 ปี 200 ต้น รุ่นที่ 2 อายุ 10 ปี 200 ต้น รุ่นที่ 3 อายุ 7 ปี 200 ต้น

4.ผลผลิตส้มจุก ของทางสวนคุ้งคลองวัว
4.ผลผลิตส้มจุก ของทางสวนคุ้งคลองวัว

สภาพพื้นที่ปลูกส้มจุก

บังหลีมบอกว่าดินที่นี่จัดเป็นดินร่วนปนทราย สีดินเป็นสีน้ำตาล สีเหลือง หรือสีแดง เป็นดินที่เกิดจากการ ทับถมของตะกอน แม่น้ำฤดูแล้งกักเก็บน้ำไม่ดี ซึ่งเหมาะต่อการชักนำให้ต้นส้มจุกแตกตาดอกได้ดี ส่วนสภาพอากาศที่นี่เนื่องจากติดทะเลอ่าวไทย มีมรสุมตะวันออกเฉียงใต้พัดผ่าน สร้างความอุดมสมบูรณ์ได้เป็นอย่างดี รวมถึงมี แม่น้ำ ลำคลอง หลายๆ สายในพื้นที่ เรื่องของแหล่งน้ำจึงไม่ใช่อุปสรรค

การปลูกส้มจุกที่นี่จะเน้นยกร่องสูง  ป้องกันน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน  และให้ระบายน้ำได้ดีในฤดูแล้ง  สำหรับต้นพันธุ์ส้มจุก บังหลีมบอกว่าจะใช้กิ่งตอน ติดตา เสียบยอด หรือกิ่งทาบ ก็ได้ แล้วแต่ความชอบ กิ่งทาบส่วนใหญ่ จะนิยมใช้ตอส้มป่า เช่น ส้มมัดถัง ส้มจันกระ เป็นต้น ระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการปลูกจะอยู่ในช่วงเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ให้ดูสภาพอากาศในช่วงนั้นๆ เป็นหลัก

ระยะการปลูก บังหลีมแนะนำว่าพื้นที่ดอน ระยะ 6×6 เมตร หรือ 5×5 เมตร พื้นที่ลุ่ม อย่างเช่น ที่สวนของตน บังหลีมจะยกร่อง และจะใช้ระยะปลูก 6×7.5 เมตร โดยจะทำคันกั้นน้ำรอบ มีทางระบายน้ำเข้าออก การขุดหลุม แนะนำให้มีขนาด กว้างxยาว ลึก 50 เซนติเมตร กลบหลุมด้วย แกลบ หน้าดิน และปุ๋ยคอก

ซึ่งในส่วนปุ๋ยคอก บังหลีมแนะนำให้ใช้ปุ๋ยคอกที่ซื้อจากชาวบ้าน ไม่แนะนำปุ๋ยคอกระบบฟาร์มใหญ่ เพราะมีสารเคมีต่างๆ ปะปนอยู่เยอะ ส่งผลเสียต่อต้นส้ม หลังจากนั้นให้นำต้นพันธุ์ลงปลูก ใช้ไม้ไผ่ค้ำกันลมโยก หรือจะกั้นพรางแสงด้วยสแลนเป็นร่มเงา ช่วงแรกปลูก 2-3 เดือน บังหลีม กล่าว

โฆษณา
AP Chemical Thailand

บังหลีมบอกว่าที่นี่จะเน้นทำสวนส้มจุกปลอดสาร เน้นใช้ปุ๋ยคอกเป็นหลัก ซึ่งจะเน้นมูลวัว มูลแพะ ที่หาได้ในพื้นที่ ใส่อย่างสม่ำเสมอ หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตจะใช้ปุ๋ยเคมีช่วยเสริม ในสัดส่วนปุ๋ยคอก 80% ปุ๋ยเคมี 20 % ปุ๋ยเคมีที่ใช้เน้นสูตร 15-15-15  และสูตร 13-13-21 เป็นหลัก ใส่อย่างสม่ำเสมอ ในสัดส่วนดังกล่าว

5.ห่อผลด้วยตาข่าย ช่วยลดแมลงเข้าทำลายผิวส้มได้เป็นอย่างดี
5.ห่อผลด้วยตาข่าย ช่วยลดแมลงเข้าทำลายผิวส้มได้เป็นอย่างดี

การเก็บเกี่ยวผลผลิตส้มจุก

ผลผลิตส้มจุกในฤดูจะเริ่มเก็บเกี่ยวช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม จะคลาดเคลื่อนอย่างไรนั้นจะขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศแต่ละปี แต่จะห่างกันเพียงเล็กน้อยกับนอกฤดูกาล อย่างไรก็ตามจะขึ้นอยู่กับความแห้งแล้งที่มีอิทธิพลต่อการชักนำออกดอก ติดผล  กล่าวคือหากปีไหนฝนแล้งเร็ว การติดดอก ออกผล ก็จะเร็วกว่าปรกติ หากปีไหนฝนตกต่อเนื่อง การทำดอกก็จะยาก ช้ากว่าปรกติ อย่าง นอกฤดูกาลจะไปเก็บเกี่ยวในช่วงเมษายนไปจนถึงพฤษภาคมของทุกปี

อย่างไรก็ตามบังหลีมบอกว่าการทำสวนส้มจุก ให้ได้คุณภาพ แม้จะมีประสบการณ์มาหลายปี แต่ทุกๆ ปีจะแตกต่างออกไป บางปีโรค แมลงศัตรู รบกวนอย่างหนัก ก็จำเป็นต้องห่อผล ซึ่งจะเพิ่มต้นทุน บางปีปริมาณฝนตกเยอะ อย่างเช่นปีนี้ การทำดอกยากมากๆ เมื่อเทียบกับทุกปี บังหลีมกล่าว

6.ผลใหญ่ เปลือกล่อน รสชาติหวานอมเปรี้ยว
6.ผลใหญ่ เปลือกล่อน รสชาติหวานอมเปรี้ยว

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายส้มจุก

ผลผลิตส้มจุกของที่นี่บนเนื้อที่ 12 ไร่ ในแต่ละปีผลิตส้มจุกออกสู่ตลาดได้ไม่ต่ำกว่า 1 ตัน  ตลาดหลักๆ ของสวน จะเน้นขายออนไลน์เป็นหลัก รวมถึงลูกค้าในจังหวัด และใกล้เคียง ราคาขายที่นี่เกรดเอจะจำหน่าย 200บาท/ กิโลกรัม เกรดรองลงมามีราคาตั้งแต่ 180-150 บาท ตามขนาดของผลเป็นหลัก

เมื่อถามถึงอนาคตของส้มจุกจะนะ บังหลีมบอกว่าวันนี้ส้มจุกจะนะได้กลายเป็นสินค้าประจำถิ่น ที่มีรสชาติ เฉพาะถิ่น นำไปปลูกที่อื่นก็ไม่ได้รสชาติ แบบที่นี่ คือ หอม หวานอมเปรี้ยว เนื้อกุ้งสีสวยสด ผิวเปลือกมันวาว  ตนมองว่านี่คือ จุดเด่นที่สามารถดึงดูดให้ผู้บริโภคหลงใหลในรสชาติของส้มจุก เมื่อได้ลิ้มลองต้องกลับมาซื้ออีกแน่นอน

แต่ทั้งนี้ชาวสวนผู้ปลูกเองต้องเน้นการทำสวนแบบปลอดสารเคมี ต้องพัฒนารูปแบบการทำสวนให้มากกว่าเดิม ส้มจุกมีอนาคตไกลอย่างแน่นอน เป็นไม้ผลเศรษฐกิจของชาวจะนะ ทำเงินสร้างรายได้ให้ผู้ปลูกได้เป็นอย่างดี “ชาวสวนทุกคน ต้องร่วมมือกัน ผลิตส้มจุก คุณภาพจริงๆ  ไม่หลอกลวงผู้บริโภค ใส่ใจทุกขั้นตอนการผลิต ส่งถึงมือลูกค้า ต้องรับประกัน  แค่นี้ส้มจุกก็มีอนาคตได้อีกไกล” บังหลีม หรือคุณดนหลีม  สุนทรมาลาตี กล่าวทิ้งท้าย

โฆษณา
AP Chemical Thailand

สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม หรือจะเยี่ยมชมสวน สามารถติดต่อได้ที่ 25 หมู่ 5 ตำบลแค อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โทร.089-878-0382 โดยสมบัติ ทัพไทย 093-028-6750

อ้างอิง : นิตยสารพลังเกษตร ฉบับที่ 27