สวนมะละกอ แซม สวนทุเรียน ทำรายได้ 2ล้านบาท มะละกอ1ต้นผลผลิตถึง 100 กก.

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร เพราะประเทศไทยของเราอุดมสมบูรณ์เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร อีกทั้งมีความหลากหลายด้านชีวภาพ นี่คือสิ่งสำคัญที่ทำให้พืชพรรณของประเทศไทยมีความหลากหลาย เมื่อปลูกผลไม้ทำให้มีรสชาติที่ถูกปาก และคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ต้องยอมรับว่าไม่แพ้ชาติใดในโลกแน่นอน

นอกจาก สวนทุเรียน และสวนส้มโอทับทิมสยาม แล้ว สวนมะละกอ แห่งนี้เป็นสวนหนึ่งของอาณาจักรด้านการเกษตรของกำนันตุ๊ก ประยุทธ พานทอง โดยมีผู้ใหญ่ภาณุ อ้นสุวรรณ เป็นคนดูแล สวนมะละกอ แห่งนี้ ด้วยประสบการณ์ที่ตนเองเป็นเกษตรกร และเคยทำ สวนมะละกอ สร้างรายได้มาก่อน ผู้ใหญ่ภาณุยอมรับว่าก่อนที่จะมาเป็นผู้ใหญ่บ้านอย่างทุกวันนี้นั้น เดิมทีตนเป็นคนพื้นที่จังหวัดจันทบุรี แต่ต้องย้ายมาอยู่ที่ระยอง เนื่องจากได้แฟนเป็นคนที่นี่ ซึ่งนับเวลาก็ได้ 25 ปี มาแล้ว

1.ต้นมะละกอแซมในสวนทุเรียน
1.ต้นมะละกอแซมใน สวนทุเรียน

ด้านตลาดมะละกอ

“สวนที่แล้วเก็บขายได้เดือนละ 2 แสน โดยจะมีแม่ค้า พ่อค้า ประจำ เข้ามารับซื้อถึงหน้าสวน เหมาส่ง คัดเกรด A B ราคาเดียวกัน ซึ่งแต่ละรอบราคาจะขึ้นลงตามท้องตลาด”

ในการทำ สวนมะละกอ ให้ได้คุณภาพแบบนี้ เรื่องค่าใช้จ่ายในการลงทุน ผู้ใหญ่ภาณุบอกว่าคิดต้นทุนเพียงต้นละ 500 บาท เท่านั้น เฉลี่ยประมาณกิโลกรัมละ 5 บาท ซึ่งมะละกอ 1 ต้น สามารถขายผลผลิตได้ถึง 100 กิโลกรัม

“ไม่ใช่เพียงมะละกอเท่านั้นที่ปลูกยาก ทุกสิ่งทุกอย่างมันยากหมด แต่สิ่งที่สำคัญที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จ คือ ปัจจัยในการปลูกมะละกอที่ดี คือ ดินต้องดี น้ำต้องเพียงพอ ทุนต้องถึง มีความรู้ และที่ขาดไม่ได้เลย คือ ความใส่ใจ ถ้าขาด 5 อย่างนี้ การปลูกมะละกอไม่สำเร็จแน่นอน”

2.กำนันประยุทธ-พานทอง
2.กำนันประยุทธ-พานทอง
ผู้ใหญ่ภาณุ-อ้นสุวรรณ
ผู้ใหญ่ภาณุ-อ้นสุวรรณ

ประวัติก่อนที่ผู้ใหญ่ภาณุจะเข้ามาดูแล สวนมะละกอ และ สวนทุเรียน ให้กำนันตุ๊กนั้น เริ่มต้นจากการที่ตนมีความสนใจในเรื่องเกษตรอยู่แล้ว และได้ศึกษาเรื่องการปลูกมะละกอ เนื่องจากเป็นพืชที่ราคาดี ปลูกง่าย ได้ผลผลิตเร็ว ด้วยเหตุนี้ผู้ใหญ่ภาณุจึงสอบถามข้อมูลการปลูกมะละกอจากผู้รู้ระดับเซียนหลายท่าน และได้รับคำตอบว่า “อย่าปลูกเลย”

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เนื่องจากมะละกอเป็นพืชที่ปลูกยาก เป็นพืชอวบน้ำ ทำให้โรคและแมลงชุก โดยเฉพาะเชื้อ “ไวรัส” ที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดโรคใบด่างจุดวงแหวน (PRV) แต่ผู้ใหญ่ภาณุก็ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และคิดว่าหากเราดูแลพืชดี เอาใจใส่การปลูก หรือโรคต่างๆก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ผู้ใหญ่ภาณุจึงตัดสินใจปลูกมะละกอ และเอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างดี เพื่อให้ได้ผลผลิตเป็นที่น่าพึงพอใจ

เมื่อผู้ใหญ่ภาณุย้ายมาอยู่ที่จังหวัดระยอง ก็ได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้านประจำหมู่ที่ 2 ต.กองดิน อ.แกลง จ.ระยอง นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้รู้จักกับกำนันตุ๊ก ด้วยความรู้และประสบการณ์ทำให้กำนันตุ๊กสนใจในตัวของผู้ใหญ่ภาณุ ประกอบกับกำนันต้องการจะปลูกมะละกอแซมใน สวนทุเรียน

จึงได้ทาบทามให้ผู้ใหญ่ภาณุมาเป็นผู้ดูแลสวนแห่งนี้ จากนั้นผู้ใหญ่ภาณุได้แสดงฝีมือในการปลูกมะละกอจนประสบความสำเร็จในแปลงที่ 1 และกำนันได้มอบพื้นที่ สวนทุเรียน ใหม่ บนพื้นที่ 75 ไร่ ให้ผู้ใหญ่ภาณุมาปลูกมะละกอแซมเพื่อสร้างรายได้ในช่วงรอทุเรียนโตเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

3.ต้นมะละกอแซมในสวนทุเรียน-พื้นที่-75-ไร่
3.ต้นมะละกอแซมใน สวนทุเรียน -พื้นที่-75-ไร่

สภาพพื้นที่ปลูกมะละกอแซมใน สวนทุเรียน

การทำ สวนมะละกอ ของผู้ใหญ่ภาณุนั้นเริ่มต้นด้วยการปรับปรุงดินโดยจะวัดค่า pH ของดินก่อน ซึ่งค่าที่ดีจะต้องอยู่ที่ pH 5-6 ซึ่งสวนแห่งนี้ดินค่อนข้างสมบูรณ์ ค่า pH อยู่ที่ 5 กว่า จากนั้นจะเริ่มออกแบบวางแปลง และยกโคกให้หลุมที่จะปลูกมะละกอให้สูงขึ้น เพื่อป้องกันน้ำขัง ไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรค จากนั้นขุดหลุมกว้างประมาณ 1 ศอก ระยะการปลูก 2.5-3 เมตร ตามพื้นที่ปกติ แต่สวนของกำนันตุ๊กมีต้นทุเรียนอยู่

ดังนั้นจะปลูก 4 มุม รอบต้นทุเรียน แต่ก่อนที่จะลงเมล็ดมะละกอลงไปจะต้องทำการเพาะเมล็ดให้งอกก่อน เริ่มต้นจากการผ่ามะละกอสุก โดยตัดหัวและท้ายออก และนำเมล็ดที่อยู่ตรงกลางมาแช่น้ำ โดยนำเมล็ดที่ลอยน้ำทิ้งให้หมด และใช้เฉพาะเมล็ดที่จมน้ำ จากนั้นนำมาบี้เพื่อเอาเมือกออก จะนำไปผึ่งลมให้แห้งประมาณ 2 วัน จะไม่นำไปตากแดด เนื่องจากจะทำให้อัตรางอกน้อยลง จากนั้นนำเมล็ดที่แห้งแล้วมาห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์แล้วนำไปแช่ตู้เย็น เมื่อต้องการใช้ก็สามารถนำเมล็ดมาใช้ได้ทันที ซึ่งวิธีการนี้สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ใช้ได้ทั้งปี

เมื่อจะนำเมล็ดไปปลูกจะต้องห่อเมล็ดด้วยผ้าขาวบาง แช่ในน้ำยาอาโทนิก และโพลีอาร์ ซึ่งเป็นน้ำยาเร่งราก และกันเชื้อรา แช่เมล็ดนาน 1-2 วัน จากนั้นเมล็ดจะเริ่มแตกตาออกมาก็สามารถนำไปหยอดลงถุงปลูกได้ ซึ่งใน 1 ถุงปลูก จะหยอด 3 เมล็ด เพื่อลดอัตราเสี่ยงต้นที่ไม่งอกขึ้นมา ซึ่งการปลูกมะละกอ 5,000 ต้น จะต้องเพาะต้นกล้ามากถึง 20,000 ต้น เพื่อนำมาคัดต้นตัวผู้ ตัวเมีย และกระเทย 1 หลุม จะปลูก 4 ต้น และคัดต้นที่สมบูรณ์ที่สุดไว้เพียงต้นเดียว

โฆษณา
AP Chemical Thailand

แต่ในช่วงหลังมาปรับเปลี่ยนวิธีการปลูก โดยนำเมล็ดใส่พีทมอส และนำไปหยอดลงหลุม และกลบดินเสมอปากหลุม แต่ก่อนที่จะนำเมล็ดลงปลูกจะต้องรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยขี้ไก่ หรือขี้หมู ตากแดดให้แห้งประมาณ 15 วัน หลังลงปลูก 1 เดือนไปแล้ว เตรียมเพาะเมล็ดลงถาดหลุมรอไว้สำหรับซ่อมต้นที่มีปัญหาอีกด้วย และหลังจากลงปลูกไปได้ 2-3 เดือน จะเริ่มคัดต้นตัวผู้ ตัวเมีย และกระเทย โดยสังเกตจากคอดอก ถ้าเป็นกระเทยดอกจะใหญ่ แต่ถ้าเป็นตัวเมียดอกจะเรียวสวย แต่วิธีนี้ต้องใช้ประสบการณ์ในการสังเกต ซึ่งถือว่าค่อนข้างยาก และเสียเวลา ซึ่งผู้ใหญ่ภาณุจะเป็นคนคัดดอกเองทั้งสวน

4.การให้น้ำแบบสปริงเกลอร์
4.การให้น้ำแบบสปริงเกลอร์

การให้น้ำและปุ๋ย สวนมะละกอ

จากนั้นให้น้ำทุกวัน แบบสปริงเกลอร์หัวเล็กพ่นฝอย ข้อดีของการให้น้ำแบบพ่นฝอย คือ ช่วยเพิ่มผลผลิตได้เป็นอย่างดี เพราะช่วยรักษาระดับความชื้นในดินอยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะตลอดเวลา ทำให้พืชงอกงาม และได้ผลผลิตดีที่สุด ส่วนการให้ปุ๋ยจะให้ปุ๋ยทุก 10 วัน สูตร 17-17-17 และ 15-0-0 ผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ขี้ค้างคาว

เมื่อต้นมะละกออายุ 1 เดือน จะใส่ปุ๋ย 1 ช้อนโต๊ะ ให้ปุ๋ยทุกๆ 10 วัน ถ้าอายุ 2-3 เดือน มะละกอจะเริ่มเป็นดอก และติดดอก ในช่วงนี้จะฉีดพ่นยาฆ่าแมลง เชื้อรา และไรแดง ทุกๆ 7 วัน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีแมงมุมแดงเข้ามาทำลายดอก

5.ต้นมะละกอที่เริ่มแทงดอกออกมาให้เห็น
5.ต้นมะละกอที่เริ่มแทงดอกออกมาให้เห็น

การเก็บเกี่ยวผลผลิตมะละกอ

มะละกอจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เมื่อครบอายุประมาณ 8 เดือน ซึ่งในช่วงใกล้เก็บเกี่ยวจะต้องเพิ่มการให้น้ำเป็น 20 นาที และก่อนเก็บเกี่ยวประมาณเดือนครึ่ง จะเปลี่ยนสูตรปุ๋ยเป็นสูตร 13-13-21 สำหรับขยายลูก ซึ่งสวนแห่งนี้จะไม่เน้นฉีดยาเร่งสี และความหวาน ผู้ใหญ่ภาณุให้เหตุผลว่าหากดูแลต้นสมบูรณ์แข็งแรงก็จะส่งผลให้ผลผลิตสมบูรณ์เช่นกัน

แต่ในช่วงอากาศร้อนจะใช้ปุ๋ยเกล็ดช่วย เพราะในช่วงนี้ต้นพืชจะต้องการอาหารไปเลี้ยงต้น ความร้อนจะส่งผลให้พืชคลายน้ำทางปากใบมากกว่าปกติ จะทำให้ใบเหี่ยว ส่งผลให้พืชเจริญเติบโตช้าลง ดังนั้นการให้ปุ๋ยเกล็ด พืชจะสามารถดูดธาตุอาหารทางใบได้เร็วกว่าทางราก ต้นไม้จึงนำธาตุอาหารไปใช้ได้เร็วกว่าทางราก สวนแห่งนี้จะเก็บผลผลิตแล้วเสร็จประมาณปีกว่า หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วโค่นต้นมะละกอทิ้ง จากนั้นปรับสภาพดิน และทำการปลูกใหม่อีกรอบ

6.สวนมะละกอ แซม สวนทุเรียน ทำรายได้ 2ล้านบาท มะละกอ1ต้นผลผลิตถึง 100 กก.
6.สวนมะละกอ แซม สวนทุเรียน ทำรายได้ 2ล้านบาท มะละกอ1ต้นผลผลิตถึง 100 กก.

สนใจความรู้การปลูกมะละกอสามารถสอบถามได้ที่ ผู้ใหญ่ภาณุ อ้นสุวรรณ 081-9456214 50/1 หมู่ 2 ต.กองดิน อ.แกลง จ.ระยอง 22160

โฆษณา
AP Chemical Thailand