เลี้ยงตะพาบ น้ำ…ต้นทุนการเลี้ยงยังสูง อยู่รอด และมีกำไร ต้องทำครบวงจร

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ตลอดระยะเวลาที่ทางนิตยสารสัตว์น้ำเราได้เสนอข่าวคราวการ เลี้ยงตะพาบ แวดวงตะพาบน้ำ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ หรือสภาวการณ์ด้านตลาดทั่วๆ ไป จะเห็นได้ว่าวงการนี้มีการเคลื่อนไหว ขึ้นบ้าง ลงบ้าง ตลอดเวลา ส่วนในศักราช 2540 ตลาดของตะพาบน้ำก็มีแนวโน้มที่จะยืนโดดเด่นอยู่ได้ในระดับหนึ่ง เพราะจำนวนของผู้บริโภคตะพาบน้ำนับวันจะมีอัตราเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ

โดยเฉพาะแถบจีน ไต้หวัน ที่เห็นความสำคัญของเนื้อสัตว์ประเภทนี้ว่าเป็นยาบำรุงชั้นเยี่ยม แต่ประชาชนจีน 50% ที่นิยมบริโภค ก็พอที่จะทำให้ตะพาบน้ำติดตลาดได้อย่างสบาย นอกจากนี้ยังมีคนจีนที่อยู่ตามประเทศต่างๆ นับไม่ถ้วน ที่ถือว่าเป็นผู้บริโภคอีกส่วนหนึ่ง

ถึงแม้ว่าตอนปลายปี 2539 ที่ผ่านมา วงการของตะพาบน้ำจะลุ่มๆ ดอนๆ อยู่บ้าง แต่เกษตรกรไทยก็ยังได้ให้ความสนใจในอาชีพการเพาะเลี้ยงอยู่ไม่น้อย ซึ่งจะเห็นได้ดีจากมีการขยายตัวของเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงตะพาบน้ำไปถึงภาคอีสานไล่ไปตั้งแต่เมืองย่าโมจนถึงบุรีรัมย์

1.เลี้ยงตะพาบ ในบ่อดิน
1.เลี้ยงตะพาบ ในบ่อดิน

การเพาะเลี้ยงตะพาบน้ำ

ซึ่ง คุณนรินทร์ บุญธาราม ผู้เลี้ยงตะพาบน้ำรายสำคัญท่านหนึ่ง ได้เปิดเผยกับนิตยสารสัตว์น้ำว่า ถึงแม้ว่าการเลี้ยงตะพาบน้ำจะขยายตัวไปสู่ภาคอีสานไม่น้อยก็ตาม แต่ก็ยังมีข้อได้เปรียบ เสียเปรียบ ระหว่างภาคอีสาน กับภาคตะวันออก  โดยเฉพาะแหล่งหลัก อย่าง ระยอง ก็คือ เรื่องของอาหารโปรตีนจากปลาสดที่จำเป็นมากต่อการเลี้ยงตะพาบน้ำ จะหาง่ายในทางภาคตะวันออกเพราะติดกับชายฝั่งทะเล

แต่ภาคอีสานเป็นเรื่องลำบากที่จะจัดหา ถ้ามีก็ราคาสูง อีกประเด็น คือ อัตราการไข่ของตะพาบน้ำในรอบปี เนื่องจากว่าภาคอีสานฤดูหนาวจะมีช่วงระยะเวลายาวนานกว่าภาคอื่นๆ มีผลทำให้อัตราการผลิตจะลดลงกว่าปกติ

แต่การแก้ไขตรงนี้ คุณนรินทร์แนะต้องอาศัยการเลี้ยงแบบครบวงจรก็พอจะช่วยได้ เพราะการเลี้ยงตะพาบน้ำไม่ใช่ว่าเลี้ยงตามป่าก็เลี้ยงได้ มันต้องมีสถานที่เลี้ยงกว้างพอ มีแหล่งน้ำที่เหมาะสม มีการศึกษาถึงวิธีการจัดการต่างๆ อีกมากมาย ไม่ใช่อยากทำก็ทำ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ส่วนการเลี้ยงตะพาบน้ำของคุณนรินทร์ที่ระยองเจ้าของกิจการแห่งนี้ ได้เปิดเผยถึงกลยุทธ์ในการจัดการของตนเองว่าตอนแรกมีอาชีพทำประมงออกเรือมาเมื่อปี 2535-2536 เป็นช่วงที่ว่างไม่ได้ออกเรือ พรรคพวกที่เลี้ยงอยู่เขาชักชวนให้เลี้ยง บังเอิญช่วงนั้นราคาลูกตะพาบน้ำตัวหนึ่งราคาตกประมาณ 10-12 บาท จึงได้ลองซื้อมาเลี้ยงดู 3 บ่อ ประมาณ 2,000 ตัว

แต่จากการขาดประสบการณ์ในการเลี้ยงทำให้ตะพาบน้ำตายเกือบหมด เหลือไม่กี่ร้อยตัว แต่เนื่องจากสืบดูแล้วทราบว่าราคายังถีบตัวสูงขึ้นไปอีก ยังพอลุ้นอยู่ ทำให้มีกำลังใจลองใหม่อีกครั้ง โดยหาซื้อตะพาบน้ำรุ่น 2-3 ตัวต่อกิโลกรัม มาเลี้ยงประมาณพันกว่าตัว ซื้อมาตัวละประมาณร้อยกว่าบาทในตอนนั้น

การบริหารจัดการบ่อเลี้ยงตะพาบน้ำ

ส่วนวิธีการเลี้ยง คุณนรินทร์กล่าวว่าเมื่อก่อนเลี้ยงในบ่อดินซึ่งมีปัญหามากเหมือนกัน เพราะไม่มีการเตรียมบ่อ พอขุดบ่อเสร็จลงน้ำก็ปล่อยตะพาบได้เลย ขาดการเตรียมบ่อ พอมาระยะหลังๆ ก็เริ่มเรียนรู้มาเรื่อยๆ ทำให้ประสบการณ์พอกพูนขึ้น

จนปัจจุบันการเลี้ยงตะพาบน้ำของคุณนรินทร์เต็มไปด้วยเทคนิควิธีการใหม่ๆ เช่น การเตรียมบ่อที่เป็นบ่อดิน หรือบ่อปูน จะทำการตากบ่อใช้ปูนขาวโรย หรือหว่านฆ่าเชื้อ ล้างเลนต่างๆ ออก หลังจากนั้นก็ดันน้ำเข้าบ่อ กักน้ำไว้สักระยะหนึ่งประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก็ลงผัก

นอกจากนี้คุณนรินทร์ยังเน้นว่าควรจะให้มีเลนในบ่อบ้าง เพราะปกติตะพาบน้ำมันจะมุดตัวอยู่ในเลน แต่ไม่ควรใช้ทราย เพราะทรายมูลโมเลกุลจะหยาบกว่า หมายถึงว่ามีช่องว่างระหว่างเม็ดมาก เวลาอาหารเหลือก็จะแทรกฝังตัวลงไปหมักในทราย เกิดการเน่าเหม็น สาเหตุของการเน่าเสียน้ำในบ่อเลี้ยง แต่ถ้าใช้ดินเหนียวหน้าดินจะแน่น ทำให้อาหารที่เหลือยากต่อการแทรกตัวลงดิน นี่คือข้อแตกต่างที่เกษตรกรควรคำนึงถึง

และอีกประการที่ไม่ควรลืม ก็คือ เรื่องของบ่อดินกับบ่อปูน บ่อดินปัญหาเรื่องโรคจะน้อยกว่าบ่อปูนมาก แถมใช้ทุนในการสร้างก็น้อย ถ้าเราสร้างบ่อปูน ทุนการสร้างไม่คุ้ม ต้องปล่อยเยอะๆ แล้วก็จะเกิดปัญหาเรื่องของการหนาแน่น เป็นโรคง่าย เครียด และหนีไม่พ้น ก็คือ ปัญหาเรื่องน้ำตามมาอีก ตรงนี้ธรรมชาติจริงๆ แล้วจะสู้บ่อดินไม่ได้ เพราะบ่อดินธรรมชาติจะดีกว่า การเจริญเติบโตจึงดีกว่า

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การเปลี่ยนถ่ายน้ำของคุณนรินทร์จะใช้ระบบน้ำล้น คือ ปล่อยน้ำเข้าไปในบ่อจนล้นออกมา ซึ่งตรงนี้น้ำที่ใช้อยู่ประจำถ้าเราจะเปลี่ยนถ่ายหมดก็ได้ แต่บางทีมันอยู่ที่แหล่งน้ำด้วย อีกอย่างก็คือ ความคุ้นเคยกับสภาพน้ำของตัวตะพาบน้ำ ส่วนของคุณนรินทร์ไม่มีการหว่านยาผสมกับอาหาร เป็นยาปฏิชีวนะ ประมาณ 2-3 วันต่อครั้ง

2.พ่อแม่พันธุ์ตะพาบน้ำ
2.พ่อแม่พันธุ์ตะพาบน้ำ

การให้อาหารตะพาบน้ำ

การให้อาหาร ถ้าจะเลี้ยงเนื้อควรให้วันละ 2 มื้อ จะดีกว่า คือ ให้เช้า-เย็น แต่ช่วงหน้าหนาวควรให้อาหารมื้อเดียว เนื่องจากว่าหน้าหนาวตะพาบน้ำจะกินอาหารลดลงไปถึงประมาณ 70% อีกอย่างถ้าตะพาบน้ำกินอาหารมากเกินไปมักจะมีปัญหาเรื่องอ้วน แล้วเกิดโรคมากในหน้าหนาวเกี่ยวเนื่องมาจากอากาศที่เปลี่ยนไป

จริงๆ แล้วสัตว์จำพวกธรรมชาติมักชอบผึ่งแดด ซึ่งจะช่วยฆ่าเชื้อโรคได้เยอะ ถ้าเป็นไปได้เรื่องบ่อเลี้ยงควรจะปิด ถ้าห้ามคนดูได้ก็จะดี เพราะจะทำให้ตะพาบน้ำตื่นตระหนก การกินอาหารก็ลดลง ไม่ยอมขึ้นมาผึ่งแดด แล้วจะเกิดการหมักหมมเชื้อโรคได้

การบำรุงดูแลพ่อแม่พันธุ์ตะพาบน้ำ

ส่วนด้านการดูแลพ่อแม่พันธุ์ตะพาบน้ำ ปกติแล้วคุณนรินทร์จะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ตะพาบน้ำในบ่อปูน อัตราการปล่อยจะปล่อยแม่พันธุ์ 5 ตัว ต่อพ่อพันธุ์ 1 ตัว บ่อเลี้ยงก็จะพยายามจัดให้เหมือนธรรมชาติมากที่สุด นำดินเหนียวมาใส่ในบ่อ หนาประมาณ 10-20 เซนติเมตร ใส่น้ำในบ่อประมาณ 50-60 เซนติเมตร ลงผักตบชวาประมาณครึ่งบ่อ ส่วนการให้อาหารให้เพียง 1 มื้อ ช่วงบ่ายไม่ควรให้อาหารมากเกินไป จะทำให้ตะพาบน้ำอ้วนซึ่งเป็นอันตรายมาก

สำหรับอัตราการไข่ของแม่พันธุ์ นอกจากหน้าหนาวแล้วในสภาวะปกติไข่จะเฉลี่ย 50% ของจำนวนตัว แต่ตะพาบไม่ได้ไข่ทุกวัน ประมาณ 20 วัน ให้ไข่ครึ่งหนึ่งก็ประมาณ 15-20 ฟอง ก็ขึ้นอยู่กับอัตราการปล่อยระหว่างพ่อแม่พันธุ์ที่เหมาะสมด้วย และการดูแลลูกตะพาบน้ำที่ฟักออกมา คุณนรินทร์บอกว่าหลังจากที่ฟักออกมาแล้วภายในบ่อฟักจะต้องพยายามรักษาอุณหภูมิอย่าให้ชื้นมากเกินไป หรือแห้งเกินไป อาจจะใช้พวกยาปฏิชีวนะละลายในน้ำเป็นการฆ่าเชื้อโรคในบ่อ

หลังจากนั้นก็นำไปปล่อยในบ่ออนุบาล บ่อนี้ควรใช้น้ำน้อยๆ สำคัญที่การจัดการสภาพบ่อที่ดี ให้อาหารสำเร็จรูป ใช้วิธีการหว่านแล้วสังเกตการณ์กินอาหารของลูกตะพาบน้ำด้วย ส่วนการเปลี่ยนถ่ายน้ำจะสังเกตที่ความขุ่นของน้ำ ถ้ามีตะกอนมากก็ให้เปลี่ยนถ่าย การเปลี่ยนถ่ายน้ำของบ่อลูกตะพาบน้ำต้องถ่ายน้ำออกหมดเลย เพราะลักษณะบ่อเป็นบ่อเล็ก ไม่ได้ใช้น้ำปริมาณมากนัก

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การป้องกันและกำจัดโรค ในบ่อตะพาบน้ำ

เรื่องโรคมันเป็นธรรมดา มันก็มีบ้าง  แต่ปัญหาเหล่านี้ส่วนมากก็ควบคุมกันได้  มันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้เลี้ยงแต่ละคน การจัดการจะแตกต่างกัน เอาแน่นอนไม่ได้ แต่เท่าที่ผ่านมาจะพบว่าสภาวะแวดล้อมในบ่อดินจะทำให้ปริมาณการเกิดโรคน้อยกว่าบ่อปูน แต่ก็ขึ้นอยู่กับการจัดการภายในบ่อเป็นอันดับแรก ที่จะช่วยทำให้อัตราการเกิดโรคลดลงบ้าง

3.ตะพาบน้ำพร้อมจำหน่าย
3.ตะพาบน้ำพร้อมจำหน่าย

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายตะพาบน้ำ

ด้านตลาดยังเป็นปัญหาหนักของผู้เลี้ยงอยู่ เนื่องจากความตกต่ำของราคา แต่ก็ยังพอมีผู้บริโภคอยู่ คุณนรินทร์เปรยว่าแม้ตลาดจะตกในช่วงนี้ แต่ก็ยังพอเลี้ยงไปได้ ต่อไปคิดว่าน่าจะอยู่ได้อีกนาน แต่การจับเป็นอาชีพหลักเราต้องมีการแก้ไขให้ทันลูกเล่นของตลาดด้วย คือ การเลี้ยงให้ครบวงจรไปเลย เช่น กรณีของคุณนรินทร์เองเมื่อถึงตอนนั้นแล้วคาดว่าจะทำให้มีตะพาบน้ำสำหรับจำหน่ายได้ทุกเดือน เมื่อหักรายได้เดือนๆ หนึ่งหักค่าใช้จ่ายแล้วแสนกว่าบาท เกือบ 2 แสนบาท แน่นอน

ฝากถึงเกษตรกรที่สนใจ เลี้ยงตะพาบ

นอกจากนี้คุณนรินทร์แนะนำกับเกษตรกรผู้สนใจว่า “ผู้ที่จะเริ่มเลี้ยงใหม่การลงทุนค่อนข้างสูง แต่การทำให้ครบวงจรจะต้องหาข้อมูลให้ดี หาประสบการณ์นำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของตนเอง ต้องมีความมั่นใจในอาชีพนี้”

ขอขอบคุณ คุณนรินทร์ บุญธาราม 15/5 ม.3 ต.บ้านเพ อ.เมือง จ.ระยอง โทร.08-1949-3681, 038-651-912

เครดิต  นิตยสารสัตว์น้ำ