เมื่อกล่าวถึงเรื่องยาง และปาล์ม ทุกคนต่างต้องนึกถึงพี่น้องเกษตรทางใต้ เนื่องจากเป็นต้นกำเนิดของการปลูกยาง และปาล์ม นิตยสารพลังเกษตร ได้มีโอกาสลงไปพบกับพี่น้องทางใต้ ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากราคายาง และปาล์ม ตกต่ำ ได้มีการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน เราจะนำเสนอแนวความคิดของ “พรรัตภูมิฟาร์ม” ตั้งอยู่ที่ตำบลกำแพงเพชร อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ซึ่งมี คุณแผ้ว ฆังคะมะโน เป็นเจ้าของฟาร์ม การเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ได้เปิดใจเล่าถึงประสบการณ์ต่างๆ ก่อนจะผ่านวิกฤติมาได้จนถึงทุกวันนี้
การปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมัน
คุณแผ้วเปิดใจเล่าถึงอดีตว่า เมื่อก่อนสมัยวัยเด็กโตขึ้นมาพร้อมๆ กับสวนยางที่คุณพ่อ-คุณแม่ ปลูกไว้ จุดเริ่มต้นเพียง 10 ไร่ และค่อยๆ สะสมพื้นที่ปลูกเรื่อยๆ มาจน ณ ปัจจุบัน มีพื้นที่ปลูกยางโดยรวมประมาณ 150 ไร่ นอกจากนี้ก็ยังมีการปลูกปาล์มจำนวน 20 ไร่ เพื่อนำมาเปรียบเทียบในเรื่องรายได้ ผลปรากฏว่ายางให้ผลผลิตดีกว่า และทำรายได้ดีกว่า
การบำรุงดูแลยางพารา และปาล์มน้ำมัน
คุณแผ้วเล่าต่อว่าเนื่องจากยางช่วงนี้ราคาไม่ค่อยดี จึงลดต้นทุนในเรื่องปุ๋ย จะใช้มูลไก่ไข่ที่ได้จากฟาร์มมาใส่ในสวนยาง โดยใส่รอบๆ โคนต้น ซึ่งจะดูจากทรงพุ่มของต้นยาง เพื่อให้รากของต้นยางสามารถดูดซึมปุ๋ยได้ดี และให้น้ำยางที่ดี มีคุณภาพ ขายได้ราคา
ในการใส่ปุ๋ยก็จะใส่ 2 ครั้ง/ปี คือช่วงต้นฝน และปลายฝน (ประมาณปลายเดือนพฤษภาคม และปลายเดือนธันวาคม ของทุกปี) การใส่ปุ๋ยในช่วงนี้เพราะเป็นช่วงฝน และต้นยางสามารถดูดซึมอาหารได้ดี
ในส่วนของการกรีดยางจะกรีดวันเว้นวัน แต่เนื่องด้วยช่วงนี้ราคายางไม่ดี จึงหยุดกรีดก่อน แต่ก็ยังมีการดูแลและบำรุงต้นยางเป็นอย่างดี
ในส่วนของสวนปาล์มก็เช่นกัน จะดูแลเหมือนกับสวนยางเลย คือ จะใส่ปุ๋ยจากมูลไก่ไข่ของฟาร์ม และใส่ปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วงต้นฝน และปลายฝน (ประมาณปลายเดือนพฤษภาคม และปลายเดือนธันวาคม ของทุกปี) และก็ไม่ค่อยได้ดูแลอะไรมากมายเช่นกัน เพราะเนื่องด้วยราคาปาล์มไม่ค่อยดี
สภาพพื้นที่เลี้ยงไก่ไข่
คุณแผ้วเล่าต่อถึงสาเหตุที่มองธุรกิจไก่ไข่เพิ่มอีก 1 ตัว เนื่องจากราคายาง และปาล์ม ไม่ดี จึงปรับมาเลี้ยงไก่ไข่เพื่อเพิ่มรายได้อีก 1 ช่องทาง เริ่มแรกเลี้ยงเป็นแบบไล่ทุ่ง โดยนำเข่งวางเพื่อให้ไก่มาไข่ เริ่มเลี้ยงตั้งแต่เป็นลูกไก่ แรกๆ เลี้ยงประมาณ 300 ตัว สายพันธุ์ที่เลี้ยง คือ ฮาร์โก้ (สีดำ)
ปัจจุบันการเลี้ยงแบบไล่ทุ่งนั้นไม่มีแล้ว เพราะการเลี้ยงแบบนี้ดูแลจัดการยาก ผลผลิตไม่แน่นอน เกิดความเสียหายมาก เนื่องจากไก่ลงไปเหยียบในเข่งทำให้แตกร้าวมาก ต่อมาในปี 2547 เริ่มพัฒนาการเลี้ยงเป็นแบบไก่ยืนกรงจำนวน 30,000 ตัว สายพันธุ์อาร์เบอร์
คุณแผ้วเผยว่า “ตอนนั้นได้กำไรดี อาหารเลี้ยงไก่ก็ไม่แพง รัฐบาลยังเข้ามาควบคุมเรื่องอาหาร ซึ่งหากจะมีการขึ้นราคากระทรวงพาณิชย์จะต้องตรวจสอบก่อน แต่ปัจจุบันไม่ใช่ราคานั้น ขึ้น-ลงตามผู้ประกอบการรายใหญ่จะประกาศ” ปัจจุบันคุณแผ้วมีไก่ไข่กว่า 40,000 ตัว และได้ส่งต่อธุรกิจนี้ให้ลูกชาย คือ คุณพิสุทธิ์ ฆังคะมะโน ซึ่งจบทางด้านไอที จึงนำองค์ความรู้มาพัฒนาระบบการเลี้ยงไก่ไข่ของคุณพ่อให้ง่ายยิ่งขึ้น
คุณพิสุทธิ์เปิดใจว่า “เราเลี้ยงด้วยความรู้เท่าที่มี ไม่ได้เลี้ยงแบบมีนักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสัตว์โดยตรงมาดูแลอย่างใกล้ชิด ต่างจากฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีกำลังทรัพย์มากพอจะจ้างผู้เชี่ยวชาญมาดูแล ผมจึงต้องหาทางออกว่าจะต้องทำยังไงให้มีระบบการเลี้ยงที่เป็นสากล ได้ผลผลิตดีขึ้น หรือบางครั้งเกิดไก่ตาย หรือผลผลิตลดลง จะได้สามารถหาคำตอบจากนวัตกรรมใหม่ตัวนี้”
นวัตกรรมใหม่ตัวนี้คุณพิสุทธิ์นำเสนอในโครงการของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญ 2 ข้อ คือ
1.ต้องเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ยังไม่เคยใช้มาก่อน
2.เป็นนวัตกรรมที่ทำแล้วสามารถแบ่งปันให้คนอื่นใช้ได้
การบริหารจัดการฟาร์มไก่ไข่
ซึ่งนวัตกรรมของคุณพิสุทธิ์สร้างมาเพื่อแก้ปัญหาในฟาร์มของตนเอง แต่ก็สามารถนำไปติดตั้งกับฟาร์มอื่นได้ด้วย นวัตกรรมใหม่นี้สามารถดูทุกอย่างผ่านมือถือได้ ทั้งอุณหภูมิภายในและภายนอกโรงเรือน แสงสว่าง ระบบไฟฟ้า การให้อาหารและน้ำตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดความผิดปกติจะมีการส่งข้อความมาเตือนมายังมือถือผู้ดูแลทันที และสามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้ ข้อมูลต่างๆ นี้จะถูกเก็บรวบรวมไว้ที่ส่วนกลาง
ซึ่งจะมีทีมงานคอยดูแล ทั้งสัตวแพทย์ สัตวบาล และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ คอยสังเกตการณ์ และดูภาพรวมทั้งหมด เพื่อช่วยประเมินความเสี่ยงในด้านต่างๆ แก่ผู้เลี้ยง เพื่อให้ทุกฟาร์มมีมาตรฐาน และช่วยประหยัดต้นทุนในด้านแรงงานสำหรับฟาร์มที่ไม่มีเงินทุนที่จะจ้างบุคลากรเหล่านี้ประจำฟาร์ม
นวัตกรรมใหม่นี้เป็นเพียงต้นแบบที่คุณพิสุทธิ์และพี่ชายคิดค้นขึ้นมา และนำมาทดลองใช้กับฟาร์มของตน โดยใช้ไก่ทดลอง 10,000 ตัว การเลี้ยงนั้นอ้างอิงตามช่วงอายุของไก่ เช่น ไก่ในช่วงอายุ 17 สัปดาห์ เป็นช่วงสร้างระบบสืบพันธุ์ควรให้ไฟระดับใด ทางคุณพิสุทธิ์ได้ขอคำแนะนำจากนักวิชาการของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านปศุสัตว์ของไทย โดยส่งข้อมูลเบื้องต้นให้ช่วยวิเคราะห์ และได้รับคำแนะนำกลับมา
เมื่อนำไก่ทดลองมาตรวจสุขภาพพบว่าไก่ทดลองไม่ต้องทำวัคซีนอีก เพราะภูมิคุ้มกันในตัวไก่ยังไม่ตก นั่นหมายความว่า ถ้าได้รับการดูแลที่ดี ไก่สุขภาพดี ภูมิคุ้มกันมันก็ดี เราก็สามารถลดค่าวัคซีนลงไปได้ อันนี้คือสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน
“นวัตกรรมนี้ ผมมีเป้าหมายเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิต และช่วยเพิ่มทางรอดให้เกษตรกรรายย่อย และรายกลาง ตอนนี้ผมกำลังนำเสนอผลงานนวัตกรรมไปยังบริษัทต่าง ๆ เพื่อร่วมทุนเปิดบริษัท ร่วมกันสร้างอนาคตที่ดีขึ้น เพื่อพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ของประเทศไทยครับ” คุณพิสุทธิ์เปิดใจถึงเป้าหมายทางธุรกิจ
คุณพิสุทธิ์กล่าวต่อว่า นวัตกรรมตัวนี้ได้รับเลือกจากทาง สนช. แล้ว และอยู่ในกระบวนการดำเนินเอกสารและรอการจดสิทธิบัตร โดยทางสนช.ให้ระยะเวลาในการพัฒนานวัตกรรมตัวนี้ให้สมบูรณ์แบบเป็นเวลา 1 ปี แล้วจะให้ไปออกบูธต่างๆ ที่จัดให้ เพื่อแชร์องค์ความรู้ให้ผู้อื่นได้รับรู้ และเข้าร่วมโครงการมากขึ้น “ผมมองว่าในอนาคตถ้าข้อมูลเหล่านี้ถูกรวบรวมไว้เป็นที่เดียวได้แล้ว ผมอยากจะต่อยอดให้บริการทางด้านสุกรเพิ่ม โดยมีนักวิชาการทางด้านสุกรเพิ่มเข้ามา และผู้เลี้ยงไม่ต้องรอเซอร์วิสจากการบริการหลังการขายจากต่างประเทศ เพราะเรามีระบบมาตรฐานที่สามารถดูแลได้เช่นกัน”
การเก็บผลผลิตไข่ไก่
คุณแผ้วยังได้ให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ไข่ 2 ระบบว่า ถ้าเป็นระบบเปิดการออกไข่จะไม่สม่ำเสมอ แต่ถ้าระบบปิดจะได้ผลผลิตไข่เพิ่มขึ้น 15% เพราะไก่ยืนอยู่กับที่ ต่างจากระบบเปิดที่ไก่สามารถเดินไปมาได้ ในส่วนค่าอาหารระบบปิดคำนวณได้ตามอายุไก่ ถ้าระบบเปิดจะคำนวณอาหารได้ยาก ต้องขึ้นกับสภาพอากาศ ถ้าร้อนไก่กินน้อย อาหารเหลือ ไข่ก็เล็ก ระบบปิดสามารถใส่ไก่ได้มากกว่าขึ้น ต้นทุนค่าไฟเท่าเดิม ค่าโรงเรือนเท่าเดิม แต่ว่าได้กำไรมาก
สิ่งสำคัญ คือ การจัดการน้ำ เนื่องจากระบบเปิดน้ำจะมีอุณหภูมิสูงกว่าระบบปิดที่มีการควบคุมอุณหภูมิ ส่งผลให้น้ำร้อน ไก่ไม่กินน้ำ ทำให้ไข่ที่ได้มีขนาดเล็ก แก้ไขโดยการเปิดน้ำทิ้งวันละประมาณ 3-4 ครั้ง (10.00, 12.00, 13.30, 15.00 น.) ในระบบปิดอุณหภูมิน้ำประมาณ 22-25 องศา โดยถ้าเย็นเกินไประบบก็จะตัดเลย มีเซ็นเซอร์ให้ดับพัดลมลง นอกจากนี้อัตราการให้ไข่ในระบบปิดประมาณ 75-80% คุณพิสุทธิ์เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องการจัดการ จึงพัฒนาโรงเรือนให้เป็นระบบปิด และคิดค้นนวัตกรรมเพื่อช่วยให้ง่ายต่อการจัดการมากขึ้น
ด้านโรคระบาด
ในด้านโรคระบาดได้รับการยืนยันว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากอากาศที่ร้อนทำให้เชื้อโรคต่างๆตายหมด แต่ถ้าช่วงฤดูฝนก็อาจจะต้องเฝ้าระวังกันเป็นพิเศษ ตอนนี้ทางพรรัตภูมิฟาร์มมีโรงเรือนมากถึง 8โรงเรือน โรงเรือนละ 5,000 ตัว ซึ่งทางฟาร์มก็มีแนวคิดจะทำโรงเรือนใหม่ และเลือก บริษัท ท็อปโปรดักส์ฯ เป็นผู้ช่วยในการสร้างโรงเรือนทั้งหมด โดยคุณแผ้วได้ให้เหตุผลว่าทาง บริษัท ท็อป โปรดักส์ฯ เป็นผู้ผลิตเองทั้งหมด
คุณแผ้วยืนยันว่าคนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าไข่ไก่เบอร์ 3 และเบอร์ 4 มีโปรตีนสูงกว่าไข่ไก่เบอร์ 0, 1, 2 เพราะไข่เบอร์เล็กมาจากไก่สาว ไข่แดงกลมใหญ่ ส่วนไข่ใหญ่เป็นไก่แก่ที่จะปลดขายแล้ว ถึงจะใบใหญ่แต่ภายในก็มีน้ำเปล่ามากกว่า และเมื่อนำมาเทียบกันด้วยการทอดระหว่างไข่ไก่เบอร์ 4 กับเบอร์ 1 จะสังเกตได้ว่าเบอร์ 4 จะมันกว่า ไข่แดงจะเข้มสวย มีน้ำหนัก ส่วนเบอร์ 1 จะเป็นน้ำมากกว่า แต่คนส่วนใหญ่ก็คำนึงเรื่องราคาเป็นหลักมากกว่า ทำให้ไม่ค่อยรู้เรื่องพวกนี้นัก
ปัญหาและอุปสรรคใน การเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่
สุดท้ายคุณแผ้วและลูกชายยังฝากข้อคิดเห็นถึงทางภาครัฐว่า “เรื่องการขอใบเคลื่อนย้าย (ร.4) ที่ต้องมีเอกสารประกอบในกรณีที่ฟาร์มที่ไม่มีการรองรับมาตรฐานฟาร์ม (GAP) คือ ผลการตรวจโรคแนบก่อนการเคลื่อนย้าย ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการค่อนข้างนาน เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งหากต้องใช้เงินทุนค่อนข้างสูงสำหรับปรับปรุงฟาร์มเพื่อให้ได้มาตรฐาน
ซึ่งทางกรมปศุสัตว์ควรจะมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยทางด้านแหล่งเงินทุน หรือสินเชื่อพิเศษ ให้เกษตรกรรายย่อยเหล่านี้ หากมีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายซากสัตว์อย่างจริงจัง จะส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยประกอบอาชีพได้ยากขึ้น ทำให้มีโอกาสเลิกกิจการได้ค่อนข้างสูงครับ”
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก
นายแผ้ว ฆังคะมะโน (เจ้าของพรรัตภูมิฟาร์ม)
โทร.093-109-6918
นายพิสุทธ์ ฆังคะมะโน (Project Manager)
โทร.080-224-0008
470 ม.11 ต.กำแพงเพชร อ.รัตภูมิ จ.สงขลา 90180
อ้างอิง : นิตยสารพลังเกษตร ฉบับที่ 05/2562