ไร่ชวนฝัน ทำยางก้อนถ้วย กำไรกว่ายางแผ่น
ราคายางตกต่ำ ทำให้เกษตรทำยางคุณภาพน้อยลง คือเรื่องจริง…!!!
เพราะการผลิตยางคุณภาพสูง อย่างยางแผ่นดิบ ใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง กระบวนการผลิตตั้งแต่เก็บน้ำยาง ไปจนถึงการขายยังตลาด ทุกขั้นตอนเป็นเงินเป็นทอง เป็นต้นทุนทั้งสิ้น
ขณะที่ราคายางไม่สูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
กลายเป็นว่า ยางประเภทยางก้อนถ้วย หรือ น้ำยางสด มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน ใช้ต้นทุนแรงงานเป็นหลัก แม้ราคาซื้อขายต่ำกว่ายางคุณภาพ แต่เมื่อขมวดบัญชีแล้ว ปรากฏว่ามีกำไรเหลือกว่าทำยางคุณภาพ
ถ้าราคายางเป็นอยู่อย่างปัจจุบัน เชื่อว่า ยางคุณภาพ อย่างยางแผ่นดิบคุณภาพชั้นต่างๆ จะน้อยลง
เพื่อให้เรื่องที่กล่าวถึงมีน้ำหนักมากขึ้น ผู้เขียนจะเล่าถึงสวนยางชื่อดังแห่งหนึ่งใน จ.ลำปาง นามว่า “ไร่ชวนฝัน” ของ นายสายัณห์ ปานพินิจ เกษตรกรชาวสวนยางระดับเซียนของภาคเหนือ
สวนยางขนาด 150 ไร่แห่งนี้ ขึ้นชื่อเรื่องการบริหารจัดการสวนยางอย่างมีระบบ ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ขึ้นค้นเองมาจัดการสวนยาง และยังผลิตยางแผ่นดิบคุณภาพ ซึ่งมีอยู่ไม่มากนักในภาคเหนือ ก่อนจะกลายเป็นสวนยางต้นแบบ หรือ เป็น “โรงเรียน” ของชาวสวนยางมือใหม่
แต่ล่าสุดทราบว่า ไร่ชวนฝัน ปรับเปลี่ยนการผลิตยางครั้งใหญ่ เพื่อ “ทำสงคราม” กับราคายางตกต่ำ ด้วยการหยุดทำยางแผ่นดิบ แล้วหันมาทำยางก้อนถ้วย และจากการเก็บตัวเลขรายรับ-รายจ่ายเบื้องต้น พบว่าทำยางประเภทหลังมีกำไรกว่า
นอกจากปรับเปลี่ยนการทำยางแล้ว ไร่ชวนฝันยังเดินหน้า “ปฏิรูป” สวนด้วยการลดต้นทุนแรงงาน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของสวน โดยแนวทางต่างๆ เช่น เปลี่ยนจากจ้างแรงงานรายวัน เป็นระบบหุ้นส่วน และใช้ระบบเจาะอัดฮอร์โมนเอทธิลีน ลดปัญหาขาดแคลนแรงงานกรีดยาง เป็นต้น
ส่วนรายละเอียดทั้งหมดเป็นอย่างไร ติดตามเนื้อหาดังต่อไปนี้
ต้นทุนทำยางแผ่นสูง แต่ราคายางต่ำ จนขาดทุน
“ที่ผ่านมาทำยางแผ่นคุณภาพมาโดยตลอด และใช้แรงงานในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานผู้หญิง ทำงานไม่หนัก ถ้าหนักจะทำงานไม่ไหว ด้วยเหตุนี้ทางสวนจึงจำเป็นต้องใช้แรงงานมากเพื่อกระจายงายไม่ให้หนัก
“อย่างการกรีดยาง จะคิดเป็นรายต้น ในช่วงยางราคาดีก็พอไปได้ แต่พอราคายางลดลง แต่ต้นทุนกลับคงที่ นอกจากคนกรีด ต้องมีแรงงานเก็บน้ำยาง คนงานทำยางแผ่น ต้องใส่สารกันบูด เพราะแรงงานเข้างานตอน 8 โมงเช้า จากนั้นนำมาผสมกรดผสมน้ำ รีดแผ่น หมดไป 1 วัน เช้าอีกวันก็นำไปตากประมาณ 2 วัน แล้วนำมาผึ่งในร่ม ชั้นเดียวไม่พอ ต้องทำชั้นสูง 3-4 ชั้น
“เสร็จแล้วกว่าจะขายได้ก็ 20 วัน เพราะสหกรณ์ซื้อทุก 20 วัน ทำให้ราขึ้นแผ่น โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน เราก็ต้องขัดเชื้อราออกจากแผ่น ราขาวง่ายหน่อย แต่ถ้าราเขียวราดำยากเลย จากนั้นเย็บมัด ขนขึ้นรถ บรรทุกไปสหกรณ์ กว่าจะถึงสหกรณ์ต้นทุนทั้งนั้น
“สรุปการทำยางแผ่นของเราต้นทุนไม่ลดลงเลย ขณะที่ราคายางตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ราคาหายไป 3 เท่าตัว แต่ต้นทุนเรากลับเพิ่มขึ้นถ้านับจากอดีต”
นายสายัณห์ ปานพินิจ เจ้าของไร่ชวนฝันร่ายยาวถึงการผลิตยางแผ่นดิบที่มีต้นทุนสูงลิ่ว แต่มูลค่าต่ำติดต้นทุน และมีแนวโน้มจะขาดทุน เพราะต้นทุนของสวนกระจุกตัวอยู่ที่ค่าแรงงาน เป็นหลัก ซึ่งเขาจ้างเป็นรายวัน ส่วนคนกรีดยางจ้างเป็นรายต้นๆ ละ 35 สตางค์
เขาบอกว่าหากเป็นเจ้าของสวนทำเองอาจจะอยู่ได้ แต่สวนใหญ่ๆ อย่างเขาถ้าไม่รีบเฉือนต้นทุนแรงงานจะเกิดวิกฤติภายในสวนแน่นอน
นอกจากแรงงานเก็บน้ำยาง และทำยางแผ่นแล้ว เมื่อต้นฤดูกรีดยางปีที่แล้ว สวนยางขนาด 150 ไร่ ของเขาที่ใช้คนกรีดยาง 7 คน ประสบปัญหาคนงานขอค่ากรีดเพิ่ม หลังจากที่รัฐบาลประกาศค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท แน่นอนว่าสถานการณ์ตอนนั้นการเพิ่มต้นทุนมีค่าเท่ากับขาดทุนมากขึ้น แรงงานส่วนหนึ่งจึงแพ็กกระเป๋าออกจากสวนไปทำงานอื่น
ผลิตยางก้อนถ้วย คำนวณแล้ว กำไรมากกว่าทำแผ่น และใช้ระบบเจาะแทนกรีด ลดแรงงานฝีมือ
“เมื่อต้นฤดูนี้ทางสวนนำระบบการแบ่งปันสัดส่วนรายได้มาใช้แทนการจ้างรายวัน เพราะระบบรายวันมีข้อดีข้อเสีย แต่ข้อเสียเยอะ โดยประสิทธิภาพของแรงงานไม่เท่ากัน บางคนทำงานได้มากได้น้อย ความละเอียดไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเข้าระบบแบ่งปันรายได้ คนงานจะมีความละเอียด ระมัดระวังมากขึ้น เพราะเป็นส่วนหนึ่งในรายได้ของเขา จึงเปลี่ยนระบบ 60 : 40 แล้วเปลี่ยนจากทำยางแผ่นดิบมาทำยางก้อนถ้วยเปียก
“ระบบนี้ตัดค่าแรงไป 100% เลย เพราะเราไม่ต้องเสียค่าแรง แต่คนทำจะได้รายได้จากส่วนแบ่ง 40% ส่วนปุ๋ย ยาฆ่าหญ้า น้ำกรด เจ้าของจ่ายเท่านั้นเอง” เจ้าของไร่ชวนฝันเล่า
ประเด็นสำคัญคือ หยุดทำยางแผ่นมาทำยางก้อนถ้วย เพื่อลดต้นทุนแรงงาน เพราะจากการทดลองเปรียบเทียบต้นทุนและรายได้ระหว่างยางแผ่นดิบและยางก้อนถ้วยชนิดเปียก 50 กก. เท่ากัน ปรากฏว่า ยางแผ่นดิบขายได้เงิน 1,183 บาท ขณะที่ยางก้อนถ้วย 1,150 บาท ตัวเลขแทบไม่ต่างกันมาก แต่เมื่อหักต้นทุนคนกรีดยาง คนทำยางแผ่น และขึ้นตอนต่างๆ จนถึงขาย ยางก้อนถ้วยได้กำไรมากกว่า
ไร่ชวนฝัน จึงหันมาทำยางก้อนถ้วยชนิดเปียกทั้งสวน เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มกำไรในห้วงสถานการณ์ราคายางเช่นนี้
ส่วนปัญหาแรงงานกรีดในสวนยาง ซึ่งต้องใช้แรงงานผู้ชาย และต้องมีความชำนาญสูง เจ้าของสวนแก้ปัญหาโดย ใช้วิธี “อัดฮอร์โมนเอทธิลีน” แล้วใช้วิธี “เจาะยาง” แทนกรีด
“เมื่อปีที่แล้วเราแก้ปัญหาแปลงไหนที่ไม่มีคนกรีด จะด้วยการใช้วิธีอัดฮอร์โมนเอทธิลีน แล้วเจาะแทนการกรีด โดยใช้แรงงานผู้หญิงที่มีอยู่ เพราะการเจาะไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานฝีมือ เป็นแม่บ้านทำงานกลางวัน หาง่ายในพื้นที่ ส่วนที่ไม่มีคนกรีดเราก็ใช้วิธีเจาะมาเรื่อย ปีที่แล้วทำกว่า 2,500 ต้น ทั้งฤดู”
ทั้งนี้เมื่อใช้วิธีเจาะแทนกรีด นอกจากจะแก้ปัญหาแรงงานฝีมือในสวนยางแล้ว ยังช่วยเพิ่มผลผลิตยางไปพร้อมๆ กัน
อย่างที่นายสายัณห์บอกว่า การเจาะยาง ไม่ต้องใช้แรงงานฝีมือ เหมือนการกรีด ซึ่งมีต้นทุนสูง แต่ใช้แรงงานผู้หญิงที่จ้างระบบรายวัน และยังไม่ต้องทำงานกลางคือ ทำช่วงกลางวัน การเจาะทำร่วมกับอัดฮอร์โมนเอทธิลีน ช่วยให้น้ำยางไหลนานขึ้น จึงเจาะเวลาไหนก็ได้ โดยทางสวนเลือกเจาะเวลาบ่าย
“เราพยายามหาทางเพิ่มผลผลิตให้ได้ พร้อมกับลดต้นทุน ไม่อย่างนั้นอยู่ไม่ได้ เราต้องทดลองหาวิธี ไม่ปิดกั้น แต่ต้องศึกษาอย่างดี ดูของจริง อย่างการเจาะเราทดลองอยู่หลายเดือน มันแก้ปัญหาในสวนยางได้
“แต่ถึงจุดหนึ่ง เราพบว่าต้นยางเปลือกแตก ตอนนั้นนึกว่ายางหน้าแห้ง จึงหยุดทำเลย แล้วไปดูสวนที่เขาทำมานานๆ ใหม่ พอไปดูเขาก็แตกเหมือนกัน แต่เป็นการแตกเพราะต้นยางขยายตัว แต่มันจะสร้างเปลือกและท่อน้ำยางสมบูรณ์ขึ้นมาใหม่ หลังจากนั้นก็กลับมาเริ่มทำอีกครั้ง มันไม่ใช่ยาหน้าแห้ง เจาะไปแล้วมีน้ำยาง”
ปัจจุบันไร่ชวนฝัน ใช้ระบบเจาะ ร่วมกับฮอร์โมนเอทธิลีน จำนวน 2,500 ต้น
จากการคำนวณความแตกต่างระหว่างระบบกรีดกับเจาะ พบว่า ระบบเจาะและอัดฮอร์โมนให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงกว่าระบบกรีดปกติ 1.3 – 2.8 เท่า
“สวนยางระบบเจาะ เรายังไม่ปรับระบบแรงงานเป็นแบบแบ่งสัดส่วน ยังเป็นจ้างรายวัน จึงยังแก้ปัญหาแรงงานไม่ได้ พอจ้างเป็นรายวันประสิทธิภาพการทำงานไม่เต็มที่ แต่เรากำลังจะผลักดันให้เข้าสู่ระบบแบ่งสัดส่วนเหมือนแปลงที่กรีด ส่วนระบบเจาะจะคุ้มค่าในภาพรวมหรือไม่ ต้องเก็บข้อมูล แต่หากมองในแง่ของผลผลิตเจาะยางสูงกว่ายางกรีดปกติ”
ทดลองเทคนิคเพิ่มผลผลิตใหม่ๆ ต่อเนื่อง ไม่ยอมคุกเข่าให้ราคายาง
ขณะเดียวกันไร่ชวนฝัน ยังคงไม่หยุดนิ่งกับแนวทางลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตในสวนยาง ยังศึกษา และทดลองแนวทางใหม่ๆ เสมอ ไม่เว้นแม้กระทั่งการใช้ยาทาหน้ายางเพื่อเร่งน้ำยาง ซึ่งเกษตรกรขยายและกลัวยิ่งกว่า “ผี”
“ผมกำลังลองทำคือ ใช้สารเร่งน้ำยางช่วย ด้วยวิธีทาหน้ายาง โดยมีการควบคุมอย่างเข้มงวด เรามองว่าสวนยางที่นี่ค่อนข้างสมบูรณ์ มีการใส่ปุ๋ยต่อเนื่องใส่เพิ่มมากขึ้น จาก 2 ครั้ง เป็น 3 ครั้ง/ปี มีระบบน้ำให้ช่วงหน้าแล้งทุกเดือน จึงลองใช้สารเร่งทา โดยควบคุมด้วยตัวผมเอง เพราะต้องมีการผสมอัตราที่เหมาะสม ความเข้มข้นต่ำ มีระยะการทากำหนด ตอนนี้กำลังเปรียบเทียบผลผลิตที่ได้ว่าสูงขึ้นหรือไม่ ยังอยู่ในขั้นทดลองเก็บข้อมูล”
ระบบน้ำได้มรรคผลเต็มที่ อย่างช่วงหน้าแล้วที่ผ่านมา ภาคเหนือแล้งยาวนานกว่าทุกปี อานิสงส์ เต็มที่ช่วยชีวิตต้นยางมาตลอด จึงได้น้ำ ผมจึงไม่ห่วงต้นยางโทรมจากการอัดฮอร์โมน ทั้งๆ ที่มันน่าจะโทรม แต่มันกลับสมบูรณ์กว่า
คนเจาะไม่เลือกเพศ เลือกวัย ทำให้หาคนงานง่าย คนงานกลางวัน
[wpdevart_like_box profile_id=”112152085551102″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]
tags: การผลิตยางพารา การเจาะยางพารา ถ้วยยางพารา สายัณห์ ปานพินิจ น้ำยางพารา น้ํายางพาราเจาะยางพารา ไร่ชวนฝัน การผลิตยางพารา การเจาะยางพารา ถ้วยยางพารา เจาะยางพารา