การท้าทายครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้ง
อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งของประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหญ่ ผลผลิตกุ้งประสบปัญหาซบเซาและมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหลักๆ คือ ราคากุ้งที่ผันผวน สภาพอากาศแปรปรวน และคุณภาพตัวอ่อนหลังคลอดที่ตกต่ำลง จุดเหล่านี้ถือเป็น “Pain Point” หรือจุดเจ็บปวดร้าวของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งในประเทศไทย และท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเลือกสายพันธุ์กุ้งที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม หรือปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับสายพันธุ์ ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งการเสวนาที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นอย่างมากในงานวันกุ้งจันท์ ครั้งที่ 28 เพราะได้รวมเหล่าชั้นนำในวงการพัฒนาสายพันธุ์ลุกกุ้ง มาร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมองในการพัฒนาสายพันธุ์ของแต่คน เพื่อให้เป็นแนวทางให้กับเกษตรกรในวงการต่อไป
แลกเปลี่ยนมุมมองกับตัวแทนจาก 4 สายพันธุ์ที่สำคัญของประเทศไทย
เสวนา “ลูกพันธุ์กุ้ง, ปรับการเลี้ยงให้เหมาะสมกับสายพันธุ์” นี้ได้รวบรวมตัวแทนจาก 4 สายพันธุ์กุ้งที่สำคัญของประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งในปัจจุบัน ท่ามกลางความท้าทายด้านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ราคากุ้งที่ไม่ดีนัก และปัญหาโรคระบาด ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย , คุณคำรณ ไวยครุฑธา ตัวแทนสายพันธุ์บูรพา,คุณเจษฎา พงศ์พานิช ตัวแทนสายพันธุ์ API, ดร.ณัฏฐินี มั่นคงวงศ์ศิริ ตัวแทนสายพันธุ์ซายอาคควา และคุณกฤษฎา หงส์รัตน์ ตัวแทนสายพันธุ์ก้ามกรามเพศเมียล้วนเอ็นซูติก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ทางเลือกที่มีศักยภาพสูงในปัจจุบัน ในบรรยากาศแห่งความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของอุตสาหกรรมกุ้ง ทุกฝ่ายจึงได้แลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางการพัฒนาสายพันธุ์ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายที่กำลังรออยู่ข้างหน้า
สายพันธุ์ยอดนิยมเลี้ยงในน้ำกร่อย สายพันธุ์บูรพา
คุณคำรณ ไวยครุฑธา ตัวแทนสายพันธุ์บูรพา แนะนำวิธีการเลี้ยงกุ้งสายพันธุ์นี้ให้ประสบความสำเร็จไว้ว่า สายพันธุ์บูรพาเป็นทางเลือกยอดนิยมสำหรับการเลี้ยงกุ้งในพื้นที่น้ำกร่อยหรือน้ำที่มีความเค็มต่ำ โดยในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ได้รับผลตอบรับที่ดีจากเกษตรกรที่เลี้ยงปนกับกุ้งก้ามกรามหรือกุ้งขาวล้วนสำหรับการเลี้ยงในน้ำจืดที่ไม่มีความเค็มเลย จำเป็นต้องใช้น้ำทะเลผสมในช่วงแรก แล้วค่อยปรับสภาพน้ำ โดยอัตราการปล่อยพันธุ์ต้องไม่หนาแน่นมาก ประมาณไร่ละ 50,000 ตัว
สำหรับพื้นที่น้ำกร่อยที่มีความเค็ม 2-5 ppt นั้น สามารถเพิ่มความหนาแน่นในการปล่อยพันธุ์ได้ แต่หากความเค็มสูงขึ้นตั้งแต่ 5-40 ppt ก็สามารถปล่อยพันธุ์ได้หนาแน่นมากขึ้นราว 100,000-300,000 ตัวต่อไร่อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดสำคัญของสายพันธุ์นี้คือ การไม่ทนต่อความหนาแน่นสูงมากนัก หากบ่อมีปริมาณกุ้งเกินกว่า 3 ตันต่อไร่ ต้องทยอยระบายน้ำพร้อมพาเชี่ยนกุ้งออกบางส่วน มิฉะนั้นจะส่งผลให้การเจริญเติบโตชะงักงัน เนื่องจากถูกจำกัดด้วยความหนาแน่นสูงเกินไป เพราะเมื่อเราระบายออกไปแล้ว ส่วนที่เหลือก็จะเลี้ยงได้ และอัตราการเติบโตก็จะดีขึ้น
“ สายพันธุ์บรูพาออกแบบมาให้เลี้ยงแบบง่ายๆ ไม่ต้องการ การดูแลอะไรมากมายก็คือทุกคนสามารถจะเลี้ยงได้ ขึ้นอยู่แล้วแต่ความพร้อมของแต่ละฟาร์ม ถ้าเราพร้อมมากเราก็ปล่อยแน่นได้ถ้าเราไม่ค่อยพร้อมเราก็ปล่อยบางลงได้หรือเราอยากจะลดความเสี่ยงแล้วก็ปล่อยบางลงได้แล้วก็ทำไซส์ใหญ่ สามารถเลี้ยงได้ในน้ำที่มีความเค็มตั้งแต่ 0-40โดยไม่มีผลกับการเจริญเติบโตหรือว่าอัตรารอด ”คุณคำรณ ชี้จุดเด่นของการพัฒนาสายพันธุ์บูรพา
สายพันธุ์ที่พัฒนาโดยนวตกรรมใหม่ กุ้งสายพันธุ์ API
คุณเจษฎา พงศ์พานิช ตัวแทน สายพันธุ์APIแนะนำสายพันธุ์กุ้ง API ว่าเป็นสายพันธุ์ที่พัฒนาโดยนวัตกรรมใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปและตอบโจทย์การเลี้ยงกุ้งของเกษตรกรไทย เพราะด้วยปัญหาของการเลี้ยงกุ้งในประเทศไทยปัจจุบัน ได้แก่ ผลผลิตกุ้งย่ำแย่อยู่กับที่และมีแนวโน้มลดลง ราคากุ้งผันผวน สภาพอากาศแปรปรวน ตัวอ่อนกุ้งมีคุณภาพลดลง และโรคระบาด นอกจากนี้ต้นทุนการผลิตก็เพิ่มสูงขึ้นจากค่าเสี่ยงต่างๆ ที่เกษตรกรมักมองข้าม
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวAPIจึงนำเสนอสายพันธุ์กุ้งที่มุ่งเน้นความแข็งแรงและอัตรารอดที่สูงบน DNA ระดับพันธุศาสตร์ ซึ่งตรงกับแนวโน้มตลาดกุ้งที่ต้องการสีเนื้อต่ำ โดยสายพันธุ์ API สามารถให้สีเนื้อ 26-29 ซึ่งถือว่าดีมากอย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการเปิดตัวในประเทศไทย สายพันธุ์ API ประสบปัญหาจากความไม่เข้าใจพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของกุ้งชนิดนี้ ทำให้ไม่ได้ผลผลิตตามเป้า แต่หลังจากนั้นทีมงานได้เดินทางไปศึกษาพฤติกรรมจากฟาร์มกุ้งขนาดใหญ่ในอินเดีย และนำมาปรับใช้ จนสามารถผลิตลูกกุ้งรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพดีตามต้องการ โดยมีจุดเด่นคือ1.) ความแข็งแรง – กุ้งสายพันธุ์นี้ทนต่อปัจจัยต่างๆ ได้ดี เช่น แอมโมเนียสูงถึง 5 ppm ก็ยังมีชีวิตอยู่ได้2.) ขนาดใหญ่ – หนวดกุ้งจะยาวกว่ากุ้งทั่วไป3.) กระโดดดี – เป็นนักกระโดดทำให้ต้องระวังเวลาจับ นับได้ว่าสายพันธุ์ API เป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ด้วยความแข็งแรงและคุณสมบัติพิเศษที่ตอบโจทย์การเลี้ยงกุ้งในสภาพแวดล้อมปัจจุบันของประเทศไทย
“หลังจากประสบการณ์ที่เคยผิดพลาดในวันนั้น เราก็กลับมาปรับเปลี่ยนเริ่มทำตัวนี้ ซึ่งต้องมีรันเวย์ให้เขา เพราะเขาเป็นกุ้งตัวเดียวที่ผสมแนวดิ่ง และผมเลยตั้งใจผลิตกุ้งอีกชุดหนึ่งเพราะแม่กุ้งมันจะหมดอายุแล้วเราตั้งใจตามเป้าหมาย เรากำหนดเป้าหมายใหม่ผลิตกุ้งนี้ออกมา 20 ล้าน PL ลงทั้งหมดไม่ว่าจะน้ำจืดหรือน้ำเค็มผ่านช่วงปีใหม่มา ซึ่งได้ผ่านสภาพแวดล้อมต่างๆมา และสิ่งที่เราได้มันเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่มันตอบโจทย์กับผู้เลี้ยงในประเทศไทย เราไม่เสียหายแม้กระทั่งบ่อเดียว และที่สำคัญมันตอบโจทย์กับสภาวะการตลาดวันนี้ก็คือเรามุ่งเน้นกุ้งไปที่มีอัตราความแกร่งสูงเมล็ดพันธุ์ต้องมีอัตราการรอดตายที่สูง ก็คือสายทน วันนี้ดีใจกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในประเทศไทย สงครามทางสายพันธุ์กำลังเกิด เราจะประสบความสำเร็จช้าหรือเร็วเราก็จะประสบความสำเร็จด้วยกันสำหรับผมคิดว่าวันนี้สายพันธุ์ออกมา แกร่ง และที่สำคัญกุ้ง API มันสามารถตอบโจทย์กับสภาวะราคากุ้งที่ผันผวนได้ และวันนี้ถ้าจะซื้อต้องเข้าใจก่อนว่า API ต้องดูความพร้อมก่อน ให้อาหารมื้อเช้า-มื้อเย็น 60 วันแรกมันก็ไปตามปกติเขา ที่สำคัญคือกุ้ง 1 แสนตัว ใน 1 เดือน ให้อาหาร 15 กิโลกรัม เท่านั้นเอง ไม่จำเป็นต้องให้อาหารเขาเยอะ หลังจาก 90 วัน เราจะเห็นความต่อเนื่องไม่มีสะดุดเลย ลักษณะเหมือนลานบินจะบินขึ้นๆไปตลอด แล้วเขาจะนิ่งตลอด ในขณะที่เราจำกัดเวลาไว้ที่ 120 วันตั้งเป้าหมายไว้ทุกบ่อที่ 20 ล้านPL ชุดที่เราปล่อยชุดหลังนี้จะเห็นหน้า 3 ทุกบ่อ มันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์อย่างที่ผมบอกลักษณะตัวกุ้ง หนวดกุ้งไม่มีความบาลานซ์หนวดเขาจะยาวกว่ากุ้งทั่วไปประมาณ 1.5-3ซม.เลยและเป็นกุ้งที่มีการดีดตัวหรือนักกระโดด จะกระโดดตัวสูงแรงมากซึ่งตรงนี้เองระหว่างผู้เลี้ยงที่เอาไปเลี้ยงถ้าออโต้ฟีดท่านการเหวี่ยงอาหารต่ำกว่า 5-6 เมตรท่านไม่ต้องซื้อ API แต่ถ้าฟีดท่านกว้างสัก10-15 เมตรท่านเลือกเลยวันนี้ตอบโจทย์ที่สุด”คุณเจษฎา เปิดเผยถึงจุดเด่นของการพัฒนาสายพันธุ์API
สายพันธุ์กุ้งที่สมดุล สายพันธุ์ซายอาคควา
ดร.ณัฏฐินี มั่นคงวงศ์ศิริ ตัวแทนสายพันธุ์ซายอาคควาได้นำเสนอข้อมูลสายพันธุ์กุ้งสายอาคควาไว้ว่า จุดเด่นหลักของบริษัทซายอาคควา สยาม จำกัดเป็นบริษัทที่ปรับปรุงพันธุ์กุ้งอย่างแท้จริง โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการก่อตั้งบริษัทเพื่อการปรับปรุงพันธุ์กุ้ง โดยทำงานร่วมกับนักพันธุศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญ ประยุกต์ใช้เทคนิคการปรับปรุงพันธุ์ทันสมัยทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ อาทิ การใช้เทคโนโลยีจีโนมิกส์เพื่อการคัดเลือก ช่วยให้สามารถวางแผนการปรับปรุงพันธุ์ได้อย่างแม่นยำ พร้อมทั้งเพิ่มความสม่ำเสมอของพันธุกรรมได้ดียิ่งขึ้น
ดร.ณัฏฐินี ให้ข้อมูลต่อว่าสายพันธุ์ซายอาคควาถือเป็นสายพันธุ์กุ้งที่สมดุล โดยไม่ได้เน้นไปที่อัตราการเจริญเติบโตหรือความทนทานเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่มีจุดเด่นในเรื่องของอัตราการเจริญเติบโตที่ดี อัตราการรอดสูง และมีความทนทานต่อโรค เช่น EMS ได้ดี ในช่วง 1 เดือนแรกหลังจากลงเลี้ยงนั้น กุ้งซายอาคควาจะมีอัตราการเจริญเติบโตค่อนข้างช้า (ADG ประมาณ 0.1) แต่ภายหลังจากนั้น จะกลับเร่งอัตราการเจริญเติบโตมากขึ้น โดย ADG ที่ 60 วันจะอยู่ที่ 0.19-0.2 และ เมื่อถึง 90 วัน ADG เฉลี่ยจะอยู่ที่ 0.28 และที่สำคัญย้ำอีกว่าหากเกษตรกรรู้สึกว่ากุ้งซายอาคควาโตช้าในช่วงแรก ก็ไม่ควรตกใจ นั่นคือลักษณะเฉพาะของสายพันธุ์นี้ โดยการให้อาหารควรพิจารณาจากความต้องการของกุ้งตามสภาพแวดล้อม ไม่จำเป็นต้องให้อาหารอย่างเต็มที่ในช่วงแรก เมื่อกุ้งเข้าสู่เดือนที่ 2 จึงค่อยเพิ่มปริมาณและความถี่ในการให้อาหารมากขึ้น และเมื่อถึงช่วง 60-90 วัน ก็สามารถให้อาหารและปรับระดับการให้อาหารได้เต็มที่ตามความต้องการ
“ บริษัทเราเป็นบริษัทปรับปรุงพันธุ์จริงๆเรามีนักพันธุศาสตร์ของเราที่ทำหน้าที่ในการปรับปรุงพันธุ์และร่วมกับวิธีการปรับปรุงพันธุ์ที่ทันสมัยในปัจจุบันนี้ปัจจุบันมันมีเทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้นอย่างเช่นการใช้จีโนมิกซ์ Selectionซึ่งเข้ามาช่วยในระบบปรับปรุงพันธุ์เชิงปริมาณของเราทำให้ทุกวันนี้เวลาเราตั้งเป้าหมายของการปรับปรุงพันธุ์ไว้ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มันทำให้เรามีการวางแผนการปรับปรุงพันธุ์ได้แม่นยำแล้วก็ความสม่ำเสมอของพันธุกรรม ที่สำคัญสายพันธุ์ซายอาคควาเป็นสายพันธุ์สมดุล เราไม่ได้หนักว่าโตเร็ว เราไม่ได้หนักว่าทนมาก คือเรามีอัตราโตที่ดี มีอัตรารอดที่สูง มีการทนโรคEMSที่ดี เวลาเกษตรกรเลี้ยงกุ้งซายอาคควาช่วงต้นของการเลี้ยงอาจจะเห็นว่ากุ้งเหมือนไม่โตกุ้งไม่เห็นในยอเพราะว่าลักษณะของเขาเป็นแบบนั้นการให้อาหารก็มีส่วนคือเราไม่จำเป็นจะต้องอัดอาหารเขาตั้งแต่เริ่ม แต่ให้เขาที่เขาพอกินเท่านั้นพอแล้วพอเข้ามาถึงเดือนที่ 2เราค่อยเริ่มรันโปรแกรมอาหารและระดับที่ 3 ก็คือพอช่วง 60-90 ให้รันได้เลยและเปลี่ยนปรับอาหารได้ตลอด ”ดร.ณัฏฐินี บอกถึงความเป็นมาและชี้ถึงจุดแข็งของสายพันธุ์ซายอาคควา
สายพันธุ์ทางเลือกใหม่ สายพันธุ์กุ้งก้ามกรามเพศเมียล้วน
คุณกฤษฎา หงส์รัตน์ ตัวแทนสายพันธุ์กุ้งก้ามกรามเพศเมียล้วนมาเปิดเผยถึงความน่าสนใจของกุ้งก้ามกรามสายพันธุ์เพศเมียล้วน ทางเลือกใหม่ในการเพิ่มผลผลิต ซึ่งบริษัท เอ็นซูติก บรีดดิ้ง จำกัด ผู้นำเข้าสายพันธุ์กุ้งก้ามกรามเพศเมียล้วน เสนอทางเลือกใหม่ที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตกุ้งก้ามกรามต่อพื้นที่เลี้ยง โดยการใช้สายพันธุ์เพศเมียล้วนแทนการใช้สายพันธุ์ผสมทั้งผู้และเมียแบบดั้งเดิม เพราะสาเหตุหลักของการพัฒนาสายพันธุ์เพศเมียล้วนนี้เนื่องมาจากพฤติกรรมก้าวร้าวของกุ้งก้ามกรามเพศผู้ ซึ่งส่งผลต่อการจำกัดอัตราการปล่อยลงในบ่อได้เพียงประมาณ 3,000-4,000 ตัวต่อไร่เท่านั้น แต่เมื่อใช้สายพันธุ์เพศเมียล้วนแทน พฤติกรรมก้าวร้าวจะลดลง สามารถเพิ่มอัตราปล่อยได้ถึง 15,000 ตัวต่อไร่
การเพิ่มอัตราปล่อยทำให้ได้ผลผลิตกุ้งสูงถึง 500-600 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากเดิมจากที่ทำได้เพียง 100 กว่ากิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น นอกจากนี้ ยังสามารถเลี้ยงกุ้งให้ได้ขนาดใหญ่ถึง 15 ตัวต่อกิโลกรัมได้ด้วย ซึ่งเป็นขนาดที่ใหญ่กว่ากุ้งก้ามกรามธรรมดาที่ได้ขนาด 20-22 ตัวต่อกิโลกรัมอย่างไรก็ตาม การใช้สายพันธุ์เพศเมียล้วนนี้ต้องคำนึงถึงการขยายตลาดรองรับผลผลิตที่เพิ่มขึ้นด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด ซึ่งจะทำให้ราคากุ้งตกต่ำได้ เพราะฉะนั้นสายพันธุ์กุ้งก้ามกรามเพศเมียล้วนเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตและขนาดของกุ้ง แต่ต้องมีการวางแผนการตลาดเพื่อรองรับผลผลิตที่มากขึ้นด้วย ถือเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในปัจจุบัน
“ เมื่อบริษัทเห็นปัญหาเมื่อ10ปีที่แล้วเรายกเลิกโปรเจคในเรื่องพัฒนาต่อในเรื่องสายพันธุ์เพศผู้ แล้วย้อนกลับมาพัฒนาสายพันธุ์เพศเมียล้วน เพราะจริงๆปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวเมียปัญหาอยู่ที่ตัวผู้อันนี้คือจุดมุมมองที่แตกต่างกันไปแต่จุดอ่อนของตัวเมียก็มีไม่ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีอย่างเดียวในการเพิ่มอัตราการปล่อยจุดอ่อนของเขาคือไม่สามารถที่จะเลี้ยงให้ใหญ่ขนาด3-4ตัว/กิโลกรัม ปัจจุบันไซส์ใหญ่ที่สุดที่เราทำอยู่ก็คือตัวเมียไซส์อยู่ที่ประมาณสัก 10 ตัว/ 1กิโลกรัมอันนี้คือจากฟาร์มของเกษตรกรของเราที่ปล่อยอยู่และเราเห็นว่าเขาสามารถทำได้ตรงนั้นทีนี้ข้อดีของเราเมื่อทำเทคโนโลยีนี้แล้วปรากฏว่าสามารถเพิ่มอัตราการปล่อยได้เนื่องจากพฤติกรรมของกุ้งก้ามกรามเมื่อมันไม่มีเพศผู้อยู่ในบ่อความก้าวร้าวมันน้อยลงเราเพิ่มอัตราการปล่อยได้แล้วทำให้เราสามารถเลี้ยงแล้วมีผลผลิตต่อไร่ได้ถึง500-600กิโลกรัม/ไร่ จากในอดีตที่เราเคยเลี้ยงกุ้งก้ามกรามได้เพียงประมาณ 100กว่ากิโลกรัม/ไร่อันนี้คือเป็นวิธีคิดว่าทำไมเราถึงมาผลิตสายพันธุ์เพศเมียทั้งที่คนอื่นเขาทำสายพันธุ์ผู้ล้วนกันหมด
ต่อมาต้องเข้าใจพื้นฐานของกุ้งก้ามกรามคือโดยธรรมชาติกุ้งก้ามกรามเป็นสัตว์น้ำจืดแต่จริงๆแล้วกุ้งก้ามกรามเป็นสัตว์2น้ำ เขาสามารถที่จะทนความเค็มได้ในระดับหนึ่งทดลองในฟาร์มของเราเอง ระดับที่เราเลี้ยงอยู่ณปัจจุบันเราดันขึ้นไปถึงประมาณ 13 ppt บางฟาร์มของลูกค้าเรา 18 -22pptก็ปล่อยมาแล้วที่ระยอง เพราะสายพันธุ์ของเราเมื่อมันเป็นสายพันธุ์เพศเมียล้วนแล้วพื้นที่น้ำจืดสามารถปล่อยได้ถึง 15,000 ตัว/ไร่จาก 3,000 กระโดดขึ้นเป็น 15,000 ตัวต่อไร่ ส่วนเรื่องการชำอัตราการชำที่เหมาะสมอยู่ที่ 50,000-100,000ตัว/ไร่จะเห็นได้ว่าจริงๆแล้วกุ้งก้ามกรามกับกุ้งขาวก็ไม่ได้ต่างกันในเรื่องความหนาแน่น ถ้าเกิดเราปล่อยมากเกินไซส์ก็จะเล็กลง เราปล่อยน้อยไซส์ก็จะใหญ่ เพราะฉะนั้นจุดที่เหมาะสมคือความสำคัญถ้าเกิดว่าเราใช้ลูกกุ้งที่ชำมาแล้ว แนะนำให้ปล่อยอยู่ที่ประมาณ 8,000 -12,000ตัว/ไร่ หรือประมาณ10,000 ตัวต่อ/ไร่ชำแล้วปล่อยเลี้ยงต่ออีก 3 เดือนจะได้ไซส์ประมาณ 20-22ตัว/กิโลกรัมถ้าเกิดว่าลากไปอีกสักนิดอีกสักครึ่งเดือนมีโอกาสได้เห็น 15ตัว/กิโล ซึ่งต้องบอกตรงๆว่าไซส์นี้ไม่เคยเห็นเพราะโดยปกติกุ้งก้ามกราม20-22ตัว/กิโลกรัม ซึ่งเป็นเบอร์ที่ใหญ่ที่สุดของกุ้งก้ามกรามในตลาด แต่กุ้งก้ามกรามของเราสามารถที่จะใหญ่ขึ้นไปในระดับ15ตัว/กิโลกรัมได้ ”คุณกฤษฎา หงส์รัตน์เปิดเผยถึงความน่าสนใจของกุ้งก้ามกรามสายพันธุ์เพศเมียล้วน เอ็นซูติก
บทสรุปส่งท้ายจากตัวแทน 4 สายพันธุ์
การเสวนาของเหล่าผู้พัฒนาสายพันธุ์ชั้นนำมองให้เห็นถึงการประสบความสำเร็จนั้นมีปัจจัยสำคัญหลายประการ โดยเฉพาะลูกพันธุ์และสายพันธุ์กุ้งที่ดี หากสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ก็จะทำให้การเลี้ยงกุ้งมีเสถียรภาพ มีผลผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเผชิญกับปัญหาโรคระบาดเข้ามาเรื่อยๆ แต่เหล่าผู้ประกอบการเชื่อว่าสามารถปรับตัวและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ โดยมีความมั่นใจว่าผลผลิตกุ้งของประเทศจะสามารถกลับไปสูงถึง 5-6 แสนตันได้อีกครั้งในอนาคตอันใกล้ สุดท้ายนี้แต่ละท่านทิ้งท้ายถึงเกษตรกรไว้แต่ละท่านดังนี้
คุณคำรณ ไวยครุฑธา ตัวแทนสายพันธุ์กุ้งบูรพา มีความเชื่อมั่นว่าการเลี้ยงกุ้งจะเป็นอาชีพที่ยั่งยืน แม้จะมีปัญหาบ้างเรื่องสายพันธุ์และสิ่งแวดล้อม แต่คนไทยสามารถปรับตัวได้ โดยสายพันธุ์บูรพาที่เขาดูแลนั้น ได้พยายามปรับปรุงให้มีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้นในแต่ละรุ่น แต่ยังคงข้อดีของความทนทาน การเลี้ยงง่าย ต้นทุนต่ำ และอัตรารอดสูง
คุณเจษฎา พงศ์พานิช ตัวแทนสายพันธุ์ APIกล่าวว่า แม้ก่อนหน้านี้การเลี้ยงกุ้งและการเก็บเกี่ยวผลผลิตตามฤดูกาลไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ปัจจุบัน API พยายามส่งมอบสายพันธุ์กุ้งที่มี DNA แข็งแกร่งจากนวัตกรรมล้ำสมัย โดยมุ่งเน้นความแกร่งสูงสุดเพื่อให้กุ้งที่เกษตรกรเลี้ยงมีอัตราการรอดชีวิตสูงสุด ซึ่งนี่คือเป้าหมายหลักของสายพันธุ์ API
ดร.ณัฏฐินี มั่นคงวงศ์ศิริ ตัวแทนสายพันธุ์ซายอาคควา ฝากถึงเกษตรกรไว้ว่า บริษัทมองถึงความยั่งยืนของธุรกิจกุ้ง โดยธุรกิจที่ยั่งยืนต้องมีกำไร เกษตรกรเลี้ยงกุ้งจึงต้องมีกำไรในทุกรอบการผลิต คำนึงถึงผลกระทบจากโรคระบาดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในปัจจุบันและอนาคต สายพันธุ์ของซายอาคควาปัจจุบันเน้นการเจริญเติบโตดี เกษตรกรพึงพอใจกับผลผลิต ต่อไปจะเพิ่มการคัดเลือกให้กุ้งทนทานต่อสภาพแวดล้อมและโรคมากขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโรครุนแรงในอนาคต มุ่งหวังให้เกษตรกรยังคงพึงพอใจกับอัตรารอดสูงและมีกำไรจากการใช้สายพันธุ์ของซายอาคควา
คุณกฤษฎา หงส์รัตน์ ตัวแทนสายพันธุ์กุ้งก้ามกรามเพศเมียล้วน ฝากถึงเกษตรกรว่า บริษัทมีกระบวนการผลิตกุ้งก้ามกรามแบบครบวงจร ตั้งแต่การนำเข้าพ่อแม่พันธุ์จากอิสราเอล การใช้เทคโนโลยีพิเศษในการคัดเลือกและขยายพันธุ์ การควบคุมคุณภาพแหล่งน้ำโดยใช้น้ำบาดาลลึกและเกลือวิทยาศาสตร์ รวมถึงการมีระบบหมุนเวียนน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อควบคุมต้นทุนและราคาขายจุดสำคัญคือบริษัทตระหนักดีว่า ความเสี่ยงหลักในการเลี้ยงกุ้งตกอยู่กับเกษตรกรผู้เลี้ยงในระยะยาว ดังนั้นจึงมุ่งมั่นที่จะส่งมอบลูกกุ้งที่มีคุณภาพและปลอดภัย 100% เพื่อลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกรมากที่สุด โดยมีการตรวจสอบและควบคุมกระบวนการผลิตอย่างเข้มงวด
เพราะฉะนั้นทั้งหมดที่เหล่าตัวแทนผู้พัฒนาสายพันธุ์ชั้นนำกล่าวไว้ คือ การจัดการการเลี้ยงกุ้งตามลักษณะเฉพาะของสายพันธุ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ หากเข้าใจและคำนึงถึงจุดเด่นและข้อจำกัดของสายพันธุ์นั้นๆ จะช่วยให้เกษตรกรประสบความสำเร็จในการเลี้ยงได้มากขึ้น เพื่อคุณภาพและผลผลิตที่ดีที่สุดสำหรับเกษตรกรทุกท่าน
ขอบคุณข้อมูล : ส่วนหนึ่งการบรรยายใน งานวันกุ้งจันท์ ครั้งที่ 28
หัวข้อการบรรยาย “เสวนาลูกพันธุ์กุ้ง, ปรับการเลี้ยงให้เหมาะสมกับสายพันธุ์”โดย
คุณคำรณ ไวยครุฑธา ตัวแทนสายพันธุ์กุ้งบูรพา
คุณเจษฎา พงศ์พานิช ตัวแทนสายพันธุ์ API
ดร.ณัฏฐินี มั่นคงวงศ์ศิริ ตัวแทนสายพันธุ์ซายอาคควา
คุณกฤษฎา หงส์รัตน์ ตัวแทนสายพันธุ์กุ้งก้ามกรามเพศเมียล้วน
อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับ 417