ไก่เบตง เลี้ยงเชิงพาณิชย์ พันธุ์แท้จากยะลา อนาคตอันใกล้ขึ้นห้างดัง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“ไก่เบตง” คือไก่เนื้อพื้นเมืองของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีต้นกำเนิดมาจากไก่พันธุ์แลนซาน มณฑลกวางไส ประเทศจีนไก่เบตงเป็นไก่เนื้อที่ขึ้นชื่อในเรื่องของรสชาติความอร่อย จุดเด่นของไก่พันธุ์นี้ คือ เนื้อแน่น หนังกรอบ ไขมันน้อย ทำให้ ไก่เบตง มีชื่อเสียงจนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำอำเภอเบตงมาจนถึงทุกวันนี้

1.คุณภิญโญ เอื้อรักษ์โอฬาร
1.คุณภิญโญ เอื้อรักษ์โอฬาร

การเลี้ยงไก่ไข่ และแปรรูปไข่ไก่

“คุณภิญโญ เอื้อรักษ์โอฬาร” หรือรู้จักกันในชื่อ “จี๊ด ตระกูลหยาง” แห่ง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ได้เปิดเผยว่า ก่อนที่จะมาเลี้ยง ไก่เบตง เคยเลี้ยงไก่ไข่มานานกว่า 34 ปี แต่ก่อนทำงานเป็นช่างปูนมาก่อน ต้องย้ายที่ทำงานไปทั่ว จึงเกิดความรู้สึกเบื่อ อยากหาอะไรทำให้เป็นที่เป็นหลักเป็นแหล่ง ประจวบกับเมื่อปี 2528 มีญาติเลี้ยงเป็ดอยู่ จึงไปขอความรู้เรื่องการเลี้ยง แต่ทางญาติแนะนำให้เลี้ยงไก่ไข่แทน ตนจึงไปปรึกษาผู้รู้เกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ไข่ และเริ่มเลี้ยงไก่สาวจำนวน 2,000 ตัว จากนั้นก็ขยายการเลี้ยงมาเรื่อยๆ จนมีไก่สาวมากถึง 20,000 ตัว ก่อนที่จะเลิกเลี้ยงไปเมื่อปี 2562

ด้วยสาเหตุเพราะมีปัญหาทางด้านราคา การแข่งขันที่สูง และมีคนเลี้ยงจำนวนมาก จึงทำให้ราคาไข่ไก่ผันผวนราคาตก ยิ่งทำยิ่งขาดทุน แล้วยังมีปัญหาเรื่องโรค และปัญหาด้านแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว เป็นแรงงานที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ เพราะแรงงานเหล่านี้ไปทำงานที่ไหนไม่ได้แล้วก็มาลงที่ปศุสัตว์ หรือฟาร์มไก่ไข่ บางคนก็เป็นแรงงานเถื่อนที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย

เต้าหู้ไข่ไก่
เต้าหู้ไข่ไก่

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะเลิกเลี้ยงไก่ไข่ไปแล้ว แต่คุณภิญโญได้นำไข่ไก่ที่ขายไม่ออกมาแปรรูปเป็น“เต้าหู้ไข่ไก่ ส่งขายตลาดทั่วไปในภาคตะวันออก และได้ผันตัวจากผู้เลี้ยงเป็นคนรับซื้อแทน

2.ให้อาหารลูกไก่เบตง
2.ให้อาหารลูกไก่เบตง

จุดเริ่มต้นการเลี้ยง ไก่เบตง

ต่อมาเมื่อปี  2562  คุณภิญโญสนใจการเลี้ยงไก่เบตงเป็นพิเศษ  เพราะไก่เบตงเป็นไก่พื้นเมืองที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อม  สามารถปรับตัวได้ดี  ทนโรค  และเหมาะสำหรับคนจะเลี้ยงไก่เนื้อ  และมองว่าเป็นโอกาสที่ดีเนื่องจากไก่สายพันธุ์นี้ยังมีคนเลี้ยงไม่มาก ตลาดยังเปิดกว้าง มีราคาดีกว่าไก่สามสาย และไก่บ้านทั่วไป อีกทั้งรสชาติความอร่อย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไก่เบตงเอง และคุณภิญโญก็มีอุปกรณ์เดิมจากการเลี้ยงไก่ไข่อยู่แล้ว จึงนำมาประยุกต์ใช้กับการเลี้ยงไก่เบตง

สิ่งที่ต้องลงทุนเพิ่ม คือ “ตู้ฟักไข่” และไก่เบตงโดยสั่งตรงมาจากต้นกำเนิดที่ อ.เบตง ไม่ได้สั่งจากฟาร์มที่เลี้ยงโดยทั่วไป ลูกไก่ที่มาอายุประมาณ 1 เดือน จำนวน 450 ตัว ในราคาตัวละ 80 บาท โดยขนส่งมาทางรถโดยสารสาธารณะ ปัจจุบันทางภิญโญฟาร์มมีไก่พ่อแม่พันธุ์ และลูกไก่เบตงรวมกันประมาณ 1,000 กว่าตัว

โฆษณา
AP Chemical Thailand
3.พื้นที่เลี้ยงไก่เบตง
3.พื้นที่เลี้ยงไก่เบตง

การบริหารจัดการโรงเรือนไก่เบตง

ในส่วนของการเลี้ยงและการจัดการ ไก่ทั้งหมดจะถูกเลี้ยงในโรงเรือนเดิมของไก่ไข่ โดยจะแบ่งเป็นบล็อกๆ (แยกรุ่น) ในอัตราส่วน ตัวผู้ต่อตัวเมีย คือ 1:1 และไข่ที่ได้จะนำไปเข้าตู้ฟัก การดูแลจัดการเรื่องวัคซีนจะใช้โปรแกรมเช่นเดียวกับไก่ไข่

ในส่วนการจัดการเรื่องอาหารจะใช้อาหารที่ผสมเอง เนื่องจากมีอุปกรณ์อยู่แล้วและไก่สามารถกินได้ดีกว่าอาหารสำเร็จรูปที่เคยใช้ ซึ่งจะดัดแปลงจากสูตรอาหารของไก่ไข่ โดยการลดแคลเซียม และเพิ่มโปรตีน เพื่อเน้นการเจริญเติบโตของไก่

“อาหารเราจะเน้นใช้วัตถุดิบหลัก จำพวกข้าวโพด ถั่ว รำ และปลาป่น แล้วคำนวณโปรตีนผสมเพิ่ม บางทีซื้อจากคนอื่นโปรตีนไม่ถึง แต่ที่เราผสมเองถึงแน่นอน” คุณภิญโญให้ความเห็น

4.ตัวใหญ่ ได้น้ำหนัก
4.ตัวใหญ่ ได้น้ำหนัก

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายไก่เบตง

สำหรับด้านการตลาด คุณภิญโญเปิดเผยว่า ตนเพิ่งเริ่มเลี้ยง ทำให้ผลผลิตไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะขายให้กับคนในละแวกใกล้เคียง และคนที่สนใจ แต่ในอนาคตวางแผนไว้ว่าหากมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจะเน้นขายที่ตลาด Modern Tradel อาทิ ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ภัตตาคารระดับ 5 ดาว และตลาดโรงแรม เป็นต้น เพราะไก่เบตงมีต้นทุนการผลิตที่สูง ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงนาน โดยตัวผู้น้ำหนักที่จะส่งตลาดอยู่ที่ 2.5-3.0 กิโลกรัม จะต้องใช้เวลาเลี้ยงนาน 6-7 เดือน ขณะที่ตัวเมียระยะเวลาเลี้ยง 6-7 เดือน จะได้น้ำหนักเพียง 1.5-2.0 กิโลกรัม เท่านั้น ดังนั้นหากขายตามตลาดทั่วไปจะได้กำไรน้อย หรืออาจจะไม่ได้เลย แต่ถ้าเป็นตลาดระดับModern Tradel จะสามารถขายได้ไม่ต่ำกว่าตัวละ 250-500 บาท

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“หากกิจการไปได้ดี มีตลาดมากขึ้น มีฐานลูกค้ากว้างขึ้น ก็อาจจะวางแผนส่งเสริมการเลี้ยงไก่เบตงในพื้นที่รอบๆ และให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจ โดยการเปิดรับลูกเล้า ขายลูกไก่ให้นำไปเลี้ยงแล้วรับซื้อคืน ภายใต้ระบบคอนแทรคของภิญโญฟาร์มเอง แต่อย่างไรก็ตามทั้งหมดเป็นเพียงแนวคิดและแผนที่วางไว้ จะได้ผลหรือไม่ได้อาจต้องใช้ระยะเวลาในศึกษาเรื่องนี้ประมาณ 2 ปี หากเรามีความพร้อมก็จะเดินหน้าอย่างเต็มที่” คุณภิญโญยืนยันถึงการวางแนวทางการตลาดของไก่เบตงในอนาคต

5.เลี้ยงง่าย แข็งแรง โตเร็ว
5.เลี้ยงง่าย แข็งแรง โตเร็ว

ฝากถึงผู้ที่สนใจเลี้ยงไก่เบตง

คุณภิญโญฝากทิ้งท้ายถึงคนในแวดวงปศุสัตว์ว่า ไก่เบตง นอกจากขึ้นชื่อเรื่องของความอร่อย ซึ่งจะมีลักษณะหนังกรอบ เนื้อแน่น ไขมันน้อยแล้ว การเลี้ยงการจัดการก็ง่าย เพราะเป็นไก่พื้นเมืองที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม ปรับตัวได้ดีกับทุกสภาพพื้นที่ ทนโรค ไม่เจ็บป่วยง่าย เหมือนไก่ไข่ หรือไก่เนื้อ ทั่วไป แต่รสชาติความอร่อยเหนือกว่า จึงมองว่านี่คือโอกาสที่จะทำให้อาชีพการเลี้ยงไก่เบตงเป็นอาชีพที่มั่นคงได้ เช่นกัน

สำหรับท่านใดสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ ภิญโญฟาร์ม 080-567-2156 เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักไก่เบตงมากขึ้น นายประสิทธิ์ ต้อยติ่ง ปศุสัตว์จังหวัดยะลา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ไก่เบตง  หรือ Betong Chicken มีชื่อวิทยาศาสตร์ Gallus gallus เป็นพันธุ์ไก่พื้นเมืองที่สำคัญของภาคใต้ มีแหล่งกำเนิดจากไก่พันธุ์แลงซาน (Langshans) ของประเทศจีน ถูกนำมาเลี้ยงครั้งแรกในอำเภอเบตง โดยชาวจีนที่อพยพจากเมืองกวางไส กว่า 80 ปีที่ผ่านมา จึงทำให้เป็นที่นิยมเลี้ยงทางภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส

6.ไก่เบตง เลี้ยงเชิงพาณิชย์ พันธุ์แท้จากยะลา อนาคตอันใกล้ขึ้นห้างดัง
6.ไก่เบตง เลี้ยงเชิงพาณิชย์ พันธุ์แท้จากยะลา อนาคตอันใกล้ขึ้นห้างดัง

ลักษณะเด่นของไก่เบตง

ลักษณะประจำพันธุ์ของไก่เบตง คือ มีขนสีเหลืองอ่อนตลอดทั้งตัว ทั้งในเพศผู้และเพศเมีย ปากและแข้งสีเหลือง  ผิวหนังสีขาว หงอนจักร และให้เนื้อคุณภาพดี รสชาติดี หอมหวาน เนื้อเหนียวนุ่ม ไม่เละ จึงทำให้เป็นที่นิยมของผู้บริโภค

ไก่เบตงทนต่อสภาพอากาศร้อน โรคและแมลงได้ดี เป็นไก่ประเภทปล่อยเลี้ยง ชอบคุ้ยเขี่ยอาหารจากธรรมชาติ มีความสามารถพิเศษในการหาอาหารเองตามธรรมชาติ ชอบหากินอิสระบริเวณลานบ้าน ในสวนยางพารา อาหารของไก่เบตง ได้แก่ มด แมลง ไส้เดือน ตัวปลวก ผักต่างๆ หญ้าสด ปลายข้าวโพด ข้าวเปลือก และอาหารสำเร็จรูป โดยทั่วไปไก่เบตงสามารถส่งขายตลาด และชำแหละที่อายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยมีน้ำหนักตัวประมาณ 1.5-2.0 กิโลกรัม

ด้านศักยภาพการผลิตของไก่เบตง จากข้อมูลการประกาศขึ้นทะเบียนพันธุ์สัตว์พื้นเมืองประจำถิ่น มีรายงานว่า ไก่เบตงมีน้ำหนักตัวเมื่อให้ไข่ฟองแรก เท่ากับ 1,690 กรัม น้าหนักตัวเมื่ออายุ 12 และ 16 สัปดาห์ เท่ากับ 1,090 และ 1,610 กรัม ตามลำดับ และน้ำหนักตัวเมื่อโตเต็มที่ของไก่เบตงเพศผู้ และเพศเมีย เท่ากับ 2,500 และ 2,000 กรัม ตามลำดับ และมีผลผลิตไข่ 63 ฟอง/ปี

โฆษณา
AP Chemical Thailand
7.โรงเรือนไก่เบตง
7.โรงเรือนไก่เบตง

สภาพพื้นที่เลี้ยงไก่เบตง

รูปแบบการเลี้ยงไก่เบตง ในอดีตชาวบ้านนิยมเลี้ยงแบบปล่อย ให้หากินพวกมด แมลง ไส้เดือน ผักต่างๆ หญ้าสดเองตามอิสระในบริเวณลานบ้าน และบางครั้งอาจเสริมข้าวเปลือก ข้าวโพด ข้าวสาร รา หรือเศษเหลืออาหาร ใช้เวลาเลี้ยงนานกว่า 6 เดือน เช่นเดียวกับไก่พื้นเมือง จึงจะสามารถนำไปบริโภคในครัวเรือน หรือนำไปต้อนรับแขกที่มาบ้าน หรือเพื่อนำมาประกอบพิธีในเทศกาลตรุษจีน เชงเม้ง สารทจีน เป็นต้น

แต่ปัจจุบันไก่เบตงได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพเนื้อที่มีความหอม นุ่ม ทั้งจากประชาชนในท้องถิ่น และจากนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะหนังที่มีความกรอบ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของไก่เบตง จึงทาให้ไก่เบตงเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ

ดังนั้นปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่จึงหันมาเลี้ยง ไก่เบตง เชิงพาณิชย์ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยง ไก่เบตง ให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น ใช้เวลาเลี้ยงสั้นลง อีกทั้งรอบการผลิตสูงขึ้น เช่นเดียวกับการเลี้ยงไก่พื้นเมืองชนิดอื่นๆ ที่มีรูปแบบการเลี้ยงหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ การเลี้ยงแบบขังคอก หรือเล้า หรือในโรงเรือน (intensive) การเลี้ยงแบบปล่อยลาน (free range) และการเลี้ยงแบบกึ่งขังกึ่งปล่อย (semi free range) ซึ่งแต่ละรูปแบบการเลี้ยงมีการจัดการที่แตกต่างกัน

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณภิญโญ เอื้อรักษ์โอฬาร ที่อยู่ 98/1 ม.5 ต.มาบไผ่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับ ไก่เบตง สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดยะลา 28 วงเวียน 3 สะเตง อำเภอเมืองยะลา ยะลา 95000 โทรศัพท์ : 073-203-787

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก