การปลูกเมล่อน แคนตาลูป
คุณภานุวัฒน์ อรุณโรจน์ศิริ ตอนนั้นคุณภานุวัฒน์ดูเรื่องขององุ่น พริกหวาน และแคนตาลูป หลังจากได้ศึกษาว่าพื้นที่ที่ตนอยู่เหมาะสมและควรจะปลูกพืชตัวไหน สุดท้ายก็ได้คำตอบว่า การปลูกเมล่อน และแคนตาลูป ที่จะสามารถปลูกในภาคกลาง และสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองได้
ตอนแรกคุณภานุวัฒน์เริ่ม การปลูกเมล่อน กับแคนตาลูปในเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ จากเนื้อที่ที่มีอยู่ 15 ไร่ เนื้อที่ที่เหลือใช้ปลูก เช่น ถั่วฝักยาว พริก แตงกวา บวบ และก็ผักทั่วไป และขยายปลูกแคนตาลูปและเมลอนมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกแคนตาลูปและเมลอนประมาณ 140 ไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี
ซึ่งคุณภานุวัฒน์ได้ลองผิดลองถูก และศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล เรียนรู้ด้วยตัวเองบ้าง หาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ของต่างประเทศบ้าง ไปดูพื้นที่ผลิตแคนตาลูปและเมลอนแหล่งใหญ่ๆ ในประเทศบ้าง แล้วนำความรู้สื่อวิชาการทั้งหลายที่ได้ข้อมูลมาทดลองใช้ในสวนของตน จนประสบผลสำเร็จมาเป็น “วาสนาฟาร์ม” และใช้ชื่อแบรนด์ทางการค้าว่า “ฟาร์มเฟรช (FARM FRESH)” ในปัจจุบันนี้
ด้านตลาดผลผลิตแคนตาลูปและเมลอน
ปัจจุบันคุณภานุวัฒน์เน้นส่งตลาดบน ส่งขายบนห้างสรรพสินค้าชั้นนำ อาทิ บิ๊กซี เดอะมอล์ และตามซุปเปอร์มาเก็ต เป็นต้น ในเครือเดอะมอลล์มีการขาย 2 แบบ คือ ขายขาด กับฝากขาย ขายขาด คือ ขายให้กับห้างเลย แต่ฝากขาย คือ มีหน้าร้านของคุณภานุวัฒน์เองอยู่ในห้าง หน้าร้านที่ฝากขายจะมีอยู่ที่เอ็มโพเรียม โกลเด้นเพลส ท๊อป ซุปเปอร์มาเก็ต ร้านขายของโครงการหลวง เป็นต้น
อีกส่วนหนึ่งขายอยู่ที่ฟาร์มทั้งหมด ขายภายใต้แบรนด์ “ฟาร์มเฟรช” ราคาที่ขายจะเป็นราคาขายขาดมีตั้งแต่ 55-96 บาท ต่อกิโลกรัม หรืออาจจะสูงกว่านั้นขึ้นอยู่กับแต่ละชนิด แต่ละสายพันธุ์ วิธีการสั่งซื้อ คือ แต่ละสาขาต่างๆ ของห้างจะรวมตัวเลขยอดสั่งซื้อแล้วส่งมาทางวาสนาฟาร์ม จากนั้นคุณภานุวัฒน์ก็ต้องมาดูอีกว่าสามารถส่งตามที่เขาสั่งได้หรือเปล่า มีการเจรจากันในเรื่องการสั่งซื้อ เพื่อให้มีการกระจายสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการ
การปลูกเมล่อน และ การปลูกแคนตาลูป ค่อนข้างจะทำได้ยาก และมีความเสี่ยงสูง แต่ถ้ามีคนดูแลและการจัดการที่ดี ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นก็สามารถกำหนดได้ เรื่องของรายได้ก็จะเป็นไปในทิศทางที่ดี และเกษตรกรสามารถอยู่ได้ แต่เมื่อไหร่ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาและควบคุมความเสียหายได้ สิ่งที่คาดหวังว่ามันจะได้รับก็ต้องจบลง ทุกอย่างมันถูกกระบวนการคิดของคนส่วนใหญ่ จะดูรายได้เป็นหลัก แต่ลืมคิดไปว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดภายในก็ต้องจัดการแก้ไขไปพร้อมๆ กัน
การลงทุน การปลูกเมล่อน และ แคนตาลูป ในระยะแรกๆ จะเริ่มใช้ทุนประมาณ 300,000-400,000 บาท ต่อไร่ เริ่มทำโดยแบบยังไม่มีโรงเรือน แต่เป็นที่ทราบว่าทำแบบนอกโรงเรือนจะควบคุมการดูแลยาก และผลิตตอนฤดูฝนได้ยาก หลังจากนั้นคุณภานุวัฒน์มีการสร้างโรงเรือนขึ้นอีก 2 โรงเรือน ใช้ทุนประมาณ 1 ล้านบาท ต่อไร่
คุณภานุวัฒน์จะแยกต้นทุนการผลิตเป็น 2 แบบ คือ ต้นทุนถาวร และต้นทุนแปรผันของการผลิต
- ต้นทุนถาวร เช่น ในเรื่องของระบบน้ำ โรงเรือนเพาะต้นกล้า แทรกเตอร์ บ่อน้ำ เป็นต้น เป็นการลงทุนที่สำคัญ เพราะเป็นการลงทุนกับสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้ และต้องมีเพื่อให้การผลิตเป็นไปตามกระบวนการ
- ต้นทุนแปรผันของการผลิต เช่น น้ำมันใช้ในเครื่องจักร แรงงานคนในการทำแปลงปลูก จนสุดท้ายเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น การลงทุนแปรผันอาจมีการลงทุนก็ได้ ถ้ามีความจำเป็น หรืออาจไม่มีการลงทุนก็ได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่างๆ ณ ปัจจุบัน
ลักษณะเด่นของแคนตาลูปและเมลอน
เป็นคำถามที่ผู้เขียนก็ยังสงสัย และคิดว่าหลายๆ คนก็คงจะยังไม่รู้ คุณภานุวัฒน์เฉลยคำตอบให้ ทีมงาน นิตยสาร เมืองไม้ผล&พืชสุขภาพ ดังนี้ แคนตาลูปมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศอินเดีย แล้วมีผู้นำเข้าไปปลูกที่เมือง “แคนตาลูป” ซึ่งอยู่ใกล้กับกรุงโรม ประเทศอิตาลี จึงได้รับการตั้งชื่อว่า “แคนตาลูป” แต่ได้ถูกพัฒนาสายพันธุ์โดยประเทศญี่ปุ่น จนมีลักษณะเด่น คือ มีความหวาน หอม อร่อย และเปลือกด้านนอกมีลักษณะขรุขระเป็นตาข่าย
จึงเป็นสายพันธุ์หนึ่งของแคนตาลูปที่เรียกว่า “แคนตาลูป มัสค์เมลอน” ต่อมาก็ใช้เรียกเป็นชื่อเฉพาะว่า “เมลอน” อย่างเดียว เมลอนใช้เรียกเฉพาะประเทศไทย ญี่ปุ่น และโซนเอเชียบางโซน แต่ถ้าเป็นทางทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาจะเรียกว่าแคนตาลูปอย่างเดียว ไม่มีเมลอน ให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายๆ ว่า
แคนตาลูปจะมีลักษณะผิวเรียบ แต่เมลอนจะมีลักษณะผิวเป็นตาข่าย ไม่ว่าจะเป็นแคนตาลูปหรือเมลอนก็ผลไม้ชนิดเดียวกัน แต่เมลอนเป็นเพียงชื่อเรียกสายพันธุ์หนึ่งของแคนตาลูปเท่านั้นเอง
สายพันธุ์ ของแคนตาลูปและเมลอน
จากความพยายามในการคัดสรรพันธุ์แคนตาลูปและเมลอนที่ดี จากบริษัทที่ขายเมล็ดพันธุ์และบริษัทเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด และสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี จากอดีตจนถึงปัจจุบันที่วาสนาฟาร์มได้ทดลองปลูกแคนตาลูปและเมลอนมากว่า 30-40 สายพันธุ์
แต่ที่ปลูกใช้จำหน่ายในปัจจุบันมี 6 สายพันธุ์ ได้แก่
- เมลอนเนื้อส้ม,
- เมลอนเนื้อเขียว,
- เมลอนญี่ปุ่นพันธุ์ไซตรมะ,
- แคนตาลูปเนื้อเขียว,
- แคนตาลูปเนื้อส้ม,
- แคนตาลูปสีทองเนื้อขาว เป็นต้น
คุณภานุวัฒน์กล่าวว่า “แต่ละสายพันธุ์ที่ใช้ในอดีตจนถึงปัจจุบันเรามีการเปลี่ยนไปหลายสายพันธุ์ เพราะการทดลองพันธุ์น่าจะมากกว่า 30 สายพันธุ์ แล้ว เราจะดูว่าสายพันธุ์ไหนที่ตอบโจทย์ได้ดีที่สุด สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านฝน และสามารถปลูกในพื้นที่นี้ได้ เพราะเราต้องการความต่อเนื่องในการผลิตจำหน่ายส่งลูกค้า เราพยายามหาสายพันธุ์เอง ทั้งของไทย ไต้หวัน และญี่ปุ่น”
โรงเรือนปลูกแคนตาลูปและเมลอน
โรงเรือนที่วาสนาฟาร์มจะทำการปลูกแคนตาลูปและเมลอนอยู่ 2 แบบ คือ ปลูกทั้งนอกโรงเรือน และด้านในโรงเรือน สมัยก่อนปลูกข้างนอกอย่างเดียว จะมีปัญหาในเรื่องฤดูฝนเจอเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ทำให้ดูแลรักษายาก จึงต้องมีโรงเรือนขึ้นมาเพื่อควบคุมการผลิต และเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
ข้อเสียในการทำโรงเรือน คือ ต้นทุนสูง อากาศร้อน แสงจากภายนอกเข้าไปในโรงเรือนไม่พอ ทำให้พืชเจริญเติบโตช้า ต้นพืชจะไม่สมบูรณ์เต็มที่ เพราะคลอโรฟิลด์ไม่ได้รับเต็มที่ และต้องพยายามปลูกให้ได้ตลอด เพราะทุนที่ใช้ครั้งแรกจะค่อนข้างสูง โรงเรือนมีหลายขนาด ตั้งแต่รุ่นมินิ กว้างxยาว = 6×3 เมตร จนไปถึงขนาดใหญ่ 1-2 ไร่
ราคาของโรงเรือนแต่ละรุ่น แต่ละแบบ
ราคาของโรงเรือนแต่ละรุ่น แต่ละแบบ มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก ผ้ามุ้ง โครงเหล็ก เป็นต้น การนำวัสดุจากต่างประเทศมาใช้อาจมีราคาแพง เช่น อิสราเอล ไต้หวัน ออสเตรเลีย อินเดีย เป็นต้น แต่ที่วาสนาฟาร์มนำเข้าแต่พลาสติกจากอิสราเอลเท่านั้น
นอกนั้นคุณภานุวัฒน์บอกว่าทำเอง และซื้อจากในประเทศไทย ณ ปัจจุบันที่วาสนาฟาร์มมีโรงเรือนอยู่ 2 โรงเรือน แต่ในอนาคตก็คิดจะขยายโรงเรือนเพิ่มอีก แต่ต้องดูกำลังเงินลงทุนก่อนว่าสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะการทำโรงเรือนขนาดพื้นที่ 1 ไร่ ต้องใช้เงินทุนประมาณ 1-2 ล้านบาท เลยทีเดียว แต่ถ้าใช้วัสดุจากต่างประเทศราคาก็จะสูงเพิ่มขึ้นไปอีก
สภาพพื้นที่ปลูกแคนตาลูปและเมลอน
ที่สำคัญที่สุดของการทำเกษตรกรรมในการปลูกพืชทุกชนิด คือ โครงสร้างของดินที่ดี เราต้องตรวจสอบค่า pH และ N P K เป็นอันดับแรก pH ที่ต้องการอยู่ที่ 6.5 ส่วน N P K ให้อยู่ในระดับกลาง วิธีการสุ่มตัวอย่างดินควรตรวจสอบทุกครั้งที่มีการเตรียมแปลง
วิธีการปรับสภาพดิน
วิธีการปรับสภาพดินก็จะใช้ปูนขาว ขี้เถ้าดำ โดโลไมท์ ร็อคฟอสเฟต ตามแต่จังหวะที่เราสามารถหามาได้ หลังจากการเตรียมดิน ถ้า N P K ผิดปกติก็สามารถใส่พวกขี้ไก่ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ลงไปในดิน เพื่อปรับโครงสร้างในดิน ค่า pH ก็จะถูกปรับด้วยตัวปูนต่างๆ ข้อดีของปูนขาว คือ ทำให้ค่า pH เปลี่ยนแปลงได้เร็ว
ข้อเสีย คือ จะทำให้โครงสร้างดินจับตัวกันแน่น ทำให้ดินแข็ง ฉะนั้นต้องเติมอินทรียวัตถุลงไปเพื่อช่วยทำให้โครงสร้างดินโปร่งขึ้น หลังจากที่ปรับสภาพของดินให้ดีแล้วก็สามารถเตรียมแปลงปลูกได้ ที่วาสนาฟาร์มจะยกร่องให้สูงจากระดับพื้นถึงหลังแปลงอยู่ประมาณ 50 เซนติเมตร ความกว้างของแปลงอยู่ประมาณ 1.50 เมตร ความห่างระหว่างอยู่ที่ 3.80 เมตร ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนมาตรฐาน
การให้น้ำและปุ๋ยแคนตาลูปและเมลอน
หลังจากตกแต่งแปลงดินเรียบร้อยแล้วก็จะมีการวางเทป คือ การวางระบบน้ำในแปลงปลูก จะมีท่อเมนเดินทั้งหมดทุกโซน มีท่อประธาน และท่อย่อยๆ แยกไปตามหัวแปลง หัวแปลงจะมีจุดจ่ายน้ำ และจะมีสาย PE สีดำๆ ไปเจอกับเทปที่ส่งตามแปลง
หลังจากนั้นก็นำพลาสติกมาคลุมที่แปลง การให้น้ำในแปลงปลูกจะควบคุมเวลาการให้น้ำ และอัตราการไหลของน้ำ แรงดันที่อยู่ในเทป ในท่อ แล้วนำมาจดบันทึก และก่อนที่จะมีการเตรียมหลุมปลูกต้องมีการเพาะต้นกล้าของแคนตาลูปและเมลอนก่อน พอต้นกล้าอายุได้ประมาณ 12 วัน ก็สามารถย้ายลงแปลงได้ ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 40 เซนติเมตร ระยะห่างแถวประมาณ 60 เซนติเมตร และมีทำค้าง เพื่อให้ต้นแคนตาลูปและเมลอนได้เลื้อยขึ้นไป
ในการเตรียมแปลง ไถตาก ไถยกร่อง ปรับสภาพดิน ให้ใส่ปุ๋ยหมัก ใส่อินทรียวัตถุ ในขั้นตอนแรกไปทีเดียวเลย แต่พอแต่งแปลงเสร็จจะไม่ใส่วัตถุอินทรีย์อีก แต่จะใส่เป็นปุ๋ยน้ำอย่างเดียว การให้ปุ๋ยน้ำจะให้ไปพร้อมกับระบบน้ำ เป็นการดูดผ่านเข้าท่อแล้วส่งเข้าไปในแปลง ไม่ว่าปุ๋ยหรือน้ำก็จะหยดตรงโคนต้นของแปลงนั้นเลย ขั้นตอนนี้สามารถที่จะควบคุมคุณภาพน้ำและปุ๋ยได้ ความเสถียรในแปลง 1 แปลง จะมีความสม่ำเสมอ และสมบูรณ์ ใกล้เคียงกัน
การป้องกันกำจัดโรคและแมลง
โรคและแมลงที่พบส่วนใหญ่จะเป็นแมลงหวี่ขาว เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ที่สร้างปัญหาและความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกแคนตาลูปและเมลอนเป็นจำนวนมาก การแก้ปัญหาคุณภานุวัฒน์บอกว่าเน้นเรื่องการตรวจสอบและจดบันทึกประวัติที่เคยสร้างความเสียหายของแต่ฤดูกาล ทุกฤดูกาลก็จะมีความเสียหายต่างกันไป
จากนั้นนำสิ่งที่จดบันทึกไว้มาวิเคราะห์เพื่อหาวิธีป้องกัน โดยมีการขึงสแลนทำรั้วรอบๆ สวน เพื่อป้องกันแมลงและเชื้อโรคเข้ามา ลดการปนเปื้อนจากสารเคมีได้ในระดับหนึ่ง การวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับพื้นที่ใกล้เคียง คือ ถ้ามีการปลูกกันเยอะ หลังการเก็บเกี่ยวแมลงก็จะเยอะ ถ้าพื้นที่ของเรามีผลผลิตอยู่ แมลงจะมาระบาดมากในแปลงของเรา
ฉะนั้นต้องหยุดการผลิต วัฎจักรของแมลง คือ มีที่อยู่อาศัย มีอาหาร แสงแดดส่องไม่ถึง ฉะนั้นต้องกำจัดแหล่งที่อยู่อาศัยก่อน คือ ตามยอด แขนง ดอก และสิ่งที่เราไม่ต้องการนำออกจากพื้นที่ เพื่อลดที่อยู่อาศัย ลดอาหาร ทำให้วัฎจักรไม่สมบูรณ์
ในช่วงฤดูฝนก็จะเจอกับเชื้อแบคทีเรีย วัฎจักรของเชื้อแบคทีเรียเกิดขึ้นจากความชื้น แสงน้อย ไม่มีลม ดังนั้นก็ต้องกำจัดสิ่งที่ทำให้เกิดความชื้น อย่าง ตัดต้นหญ้าบริเวณนั้นให้หมด ขยับแปลงให้ห่างขึ้น ขุดร่องน้ำ ให้ความชื้นระบายให้หมด ทำให้พื้นที่โปร่ง เพื่อที่ลมจะได้ผ่านได้
“การเข้าถึงวัฎจักรของสถานการณ์นั้นๆ ได้เมื่อไหร่ เราจะถึงตัวแปรของปัญหานั้นออกทีละตัว เพราะฉะนั้นปัญหาจะไม่เกิดรุนแรง เพราะเราจัดการวัฎจักรของมันแล้ว หรือถ้าเราต้องการความสำเร็จมันจะมีองค์ประกอบ เราต้องใส่องค์ประกอบนั้นเข้าไปให้ครบ
เมื่อตัวแปรครบความสำเร็จมันก็จะเกิด รอพึ่งคนอื่นไม่ได้ เราต้องก้าวไปด้วยตัวของเราเอง ถ้าเราสามารถที่จะปรับทัศนคติได้เมื่อไหร่ เราจะประสบความสำเร็จ คนส่วนใหญ่มักรอคอยในสิ่งต่างๆ อันนี้จะทำให้สูญเสียโอกาส และก็ยังไม่ก้าวไปถึงความสำเร็จอย่างแน่นอน” คุณภานุวัฒน์กล่าว
การเก็บเกี่ยวแคนตาลูปและเมลอน
โดยปกติแคนตาลูปกับเมลอนจะปลูกกันช่วงฤดูร้อน ปลายฤดูหนาว เป็นช่วงฤดูกาลที่เหมาะสมกับการปลูกแคนตาลูปและเมลอน ส่วนฤดูฝนคนส่วนใหญ่จะไม่ปลูก เพราะว่าปลูกแล้วเกิดการเสียหายกันเยอะ แต่ที่วาสนาฟาร์มจะมีผลผลิตตลอดทั้งปี รวมถึงในฤดูฝนด้วยเช่นกัน
การเก็บเกี่ยวผลผลิตของแคนตาลูปและเมลอนจะเฉลี่ยที่ 70-75 วัน แต่ละสายพันธุ์จะมีอายุการเก็บผลผลิตไม่เท่ากัน บางสายพันธุ์ 65 วัน แต่บางพันธุ์ยาวนานถึง 90 วัน เลยทีเดียว ที่วาสนาฟาร์มจะมีการเก็บผลผลิตทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ เพราะเป็นวันหยุดของคนงาน ผลผลิตที่ได้ต่อวันประมาณ 1 ตัน เฉลี่ยเดือนละ 30 ตัน
ช่วงแรกที่คุณภานุวัฒน์เริ่ม การปลูกเมล่อน และ แคนตาลูป ผลผลิตที่ได้ก็นำไปขายที่ตลาดไท ปรากฏว่าราคาที่ส่งผลผลิตถูกมากประมาณ 10 บาท ต่อกิโลกรัม สูงสุดก็ประมาณ 25 บาท ต่อกิโลกรัม ตรงนี้เป็นจุดความคิดของเกษตรกรนักพัฒนา อย่าง คุณภานุวัฒน์ ว่าจะทำอย่างไรให้ผลผลิตมีราคาคุ้มค่ากับการลงทุน ลงแรง ที่เสียไป
คุณภานุวัฒน์ตอบโจทย์ปัญหาเรื่องนี้ให้เราฟัง 4 ข้อ ด้วยกัน
- สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ถ้าไม่สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปีควรกำหนดช่วงเวลาที่ชัดเจนในการขาย เพราะจะสามารถกำหนดราคาขายได้ด้วย
- สามารถรักษาคุณภาพได้ การที่เรารักษาคุณภาพของสินค้าจะทำให้ผู้บริโภคจดจำในสินค้าแต่ละชนิดได้ ทางวาสนาฟาร์มจะรักษาคุณภาพของความหวาน มาตรฐาน คือ 14 บริกซ์+ไม่เกิน 1 บริกซ์ ฉะนั้นถ้าความหวานเสียไป 1 บริกซ์ เหลืออยู่ 13 บริกซ์ ก็ยังไม่เสียโอกาสในการส่งสินค้า เพราะการรับซื้อจะอยู่ที่ความหวาน 12 บริกซ์ เท่านั้น
- มีมาตรฐานการรับรองความปลอดภัย ปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่หันมาสนใจความปลอดภัยในเรื่องของอาหารมากขึ้น ฉะนั้นต้องมีการรับรองความปลอดภัยจากสารเคมี ดังนั้นการทำ GAP ก็มีส่วนสำคัญ ซึ่งหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสารเคมีจากการทำ GAP และเป็นสื่อกลางทางสังคมที่ทุกส่วนยอมรับ
- การสร้างแบรนด์ทางการค้า คือ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในกระบวนการผลิตสู่มาตรฐานในระดับสากล กระบวนการผลิตจะมีการจดบันทึก มีการรันรหัสล็อคการผลิตนั้น และจะมีหมายเลขกำกับติดไปกับผลทุกผล สามารถตรวจสอบย้อนกลับมาได้ ฉะนั้นต้องมีชื่อสินค้า ชื่อผู้ผลิต ชื่อทางการค้า เลยเป็นที่มาของคำว่า “แบรนด์”
“นี่คือโจทย์ทางการตลาด ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่มีไม่ถึง 4 ข้อ ถ้าเกษตรกรท่านใดสามารถเข้าถึง 4 ข้อนี้ได้ ก็จะสามารถสร้างธุรกิจเกษตรได้แน่นอน เราเริ่มจากการทำเกษตรเล็กๆ น้อยๆ จนเติบโตมาจนทุกวันนี้กลายเป็นธุรกิจเกษตร นี่คือความแตกต่าง เพราะเราใส่ใจปัญหาทางการเกษตร พอมีโจทย์ปัญหาต่างๆ เราต้องพยายามหาคำตอบ ทำยังไงให้โจทย์ที่มันเป็นปัญหามันหายไป” คุณภานุวัฒน์กล่าว
ปัญหาและอุปสรรค
– วิกฤตทางการผลิต การเจอปัญหาของโรคและแมลงระบาดอย่างรุนแรง เช่น เพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เป็นต้น ปัญหาพวกนี้กระทบผลการผลิตอย่างรุนแรง สร้างความเสียหาย บางครั้งแทบผลิตผลผลิตไม่ได้เลย เพราะมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง
– วิกฤตทางการตลาด ก่อนที่คุณภานุวัฒน์จะเข้ามาอยู่ในตลาดบนอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน เริ่มแรกตอนเริ่มปลูกใหม่ผลผลิตที่ได้จะนำไปขายตลาดไท ซึ่งราคาค่อนข้างถูก เจอวิกฤติทางการผลิต คือ ผลผลิตที่ได้มีเยอะเกินไป แต่ไม่มีตลาดรับซื้อ และทำให้ขายไม่ได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้คุณภานุวัฒน์แก้ปัญหาโดยการใช้หลัก 4 ข้อ เพื่อสามารถนำผลผลิตของตนเข้าสู่ตลาดบน ส่งขายบนห้างสรรพสินค้าได้ คือ 1.ต้องปลูกได้ตลอดทั้งปี 2.รักษาคุณภาพ 3.มีมาตรฐานการรับรองความปลอดภัย 4.มีแบรนด์ทางการค้า เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มผู้บริโภค สร้างความมั่นใจให้กับผู้รับซื้อสินค้า เป็นกระบวนการผลิตสู่มาตรฐานในระดับสากล
– วิกฤตทางการเงิน 2 วิกฤต นี้ คือ วิกฤติทางการผลิต และวิกฤติด้านการตลาด จะทำให้เราเจอวิกฤติทางด้านการเงิน ตรงนี้จะทำให้เกิดการหมดกำลังใจของคนทำงานทั้งระบบ ซึ่งเชื่อว่าเจ้าของกิจการหลายๆ คน คงเคยเจอสถานการณ์แบบนี้ ถ้าเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ บุคคลส่วนใหญ่ก็จะล้มเลิกกิจการนี้ไป แต่ถ้าสามารถตอบโจทย์กับปัญหาเหล่านี้ได้เราก็จะได้มาซึ่งความสำเร็จที่เราต้องการ
คุณภานุวัฒน์จะพัฒนาเรื่องของเทคโนโลยีให้ดีขึ้น เพราะในเรื่องการจัดการจะมีการผิดพลาดน้อยลง และมองไปถึงเรื่องของแบรนด์สินค้า คือ ทำให้แบรนด์ตรงนี้มันยั่งยืนให้ต่อเนื่อง ให้ทุกคนนึกถึงว่าถ้าเป็น แคนตาลูป หรือเมลอนต้องเป็นวาสนาฟาร์ม หรือฟาร์มเฟรช
ฝากถึง…เกษตรกรที่สนใจ การปลูกเมล่อน และ แคนตาลูป
ในเรื่องของสถานที่จะจัดเป็นการฝึกอบรมแก่บุคคลภายนอก และเกษตรกรที่สนใจเรื่อง การปลูกเมล่อน และ แคนตาลูป เพื่อให้เข้ามาเรียนรู้ดูวิธีการจัดการต่างๆ ที่วาสนาฟาร์ม เพื่อเป็นประโยชน์ และให้เกษตรกรสามารถนำประโยชน์จากการที่มาเรียนรู้ไปใช้ได้ในสวนของตัวเอง ในการเพิ่มผลผลิต แนวทางการหาตลาด หรือว่าจะเป็นการจัดการรูปแบบองค์กรของตน และในด้านการท่องเที่ยว
วาสนาฟาร์มแห่งนี้จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรอย่างเต็มรูปแบบ และมีสินค้าเพิ่มขึ้นมากมายหลายอย่าง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกด้วย ส่วนมาตรฐานที่มีอยู่แล้วก็จะพยายามสร้างมาตรฐานให้ยกระดับสู่ระบบสากล และในเรื่องการส่งออก แคนตาลูป และเมลอนออกไปต่างประเทศนั้นอาจจะเพิ่มสูงขึ้นในขั้นต่อไป
เกษตรกรต้องเน้นสร้างคุณภาพของตัวเองก่อน ทั้งสินค้าที่ต้องมีคุณภาพ ไม่จำเป็นต้องเป็นแคนตาลูปหรือเมลอนจะเป็นพืชตัวไหนก็ได้ที่มีความเชี่ยวชาญหรือชำนาญอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องต่อยอดให้เป็นธุรกิจที่รักษาคุณภาพได้ สร้างมาตรฐานทางการค้าขึ้นมา ในเรื่องของความปลอดภัยจากกรมวิชาการเกษตรกำหนดช่วงเวลาการขาย และเจรจากับสถานที่ที่เราต้องการขายให้ได้ ถ้าเราสามารถเจรจาการขายได้นั้นก็ถือว่าเป็นโอกาสทางการค้าของเกษตรกรด้วยเหมือนกัน
คุณภานุวัฒน์ยกตัวอย่างให้เราฟังว่า “สมมติว่าผลผลิตจะออกในช่วงมีนาคม เมษายน พฤษภาคม มิถุนายน เราสามารถจะควบคุมไว้ได้แค่นี้ แล้วก็นำเอาไปเสนอขายกับตลาดที่เราคิดว่าจะได้ราคาที่สูง นำเสนอขายผลผลิตให้ได้ หลังจากเสนอขายได้แล้วก็สร้างแบรนด์การค้าขึ้นมา ฉะนั้นองค์ประกอบก็จะค่อยๆ ครบ ค่อยๆ พัฒนาจากจุดนี้ขึ้นมา แล้วมันจะกลายเป็นธุรกิจเกษตร
“เราทำจากเกษตรเล็ก เราไม่ได้เป็นนักลงทุน เราไม่มีเงินอะไรมากมาย เรามาจากเกษตรกรธรรมดาทั่วไป ทำกันแรกๆ แค่ 2 ไร่ ขยายมาเป็น 10 ไร่ และขยายเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ 140 ไร่ เราเริ่มจากเล็กๆ เราเห็นปัญหา เราก็แก้ปัญหากันไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันก็คือ ความชัดเจน โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาใคร อย่ารอคนอื่น เราต้องตัดสินใจแล้วก้าวเดินด้วยตัวเองให้มากที่สุด” คุณภานุวัฒน์กล่าวอย่างภาคภูมิใจ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณภานุวัฒน์ อรุณโรจน์ศิริ 67 ม.5 ต.หนองปลิง อ.หนองแค จ.สระบุรี สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.08-1994-8868, 08-1801-8845