มะขามยักษ์ แปรรรูป แกะเมล็ด ทำ”มะขามเปียก” ขายราคา 30-40 บาท/กก.

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การปลูกมะขามเปรี้ยวยักษ์

มะขามยักษ์  “มะขามเปรี้ยวยักษ์ เป็นไม้ผลยืนต้นที่มีอายุหลายร้อยปี และสามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ ทุกภาค ทุกฤดูกาล เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภท และทนแล้งสูง ต้นที่ได้รับการบำรุงดีๆ จะมีผลผลิตให้เราเก็บตลอดทั้งปี

1.คุณครูนิเวช กุลทรัพย์ศักดิ์
1.คุณครูนิเวช กุลทรัพย์ศักดิ์

เมื่อพูดถึง “มะขามเปรี้ยวยักษ์” ในวงการเกษตรคงไม่มีใครไม่รู้จัก คุณครูนิเวช กุลทรัพย์ศักดิ์ แห่งสวนมะขามเปรี้ยวยักษ์ในจังหวัดกาญจนบุรี อดีตข้าราชการครูที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเองเป็นเกษตรกร ที่มีความรู้ ความชำนาญ เกี่ยวกับพันธุ์ไม้ขนาดยักษ์มากมาย เช่น มะขามเปรี้ยวยักษ์ ขนุนยักษ์ กล้วยยักษ์ เป็นต้น แต่ไม่เคยทิ้งจิตวิญญาณของความเป็นครู มีการส่งเสริมให้ขยายพันธุ์ไปปลูกเป็นอาชีพและทำธุรกิจกันเป็นจำนวนมาก ในสวนของครูนิเวชได้ปลูกมะขามเปรี้ยวยักษ์ไว้หลากหลายสายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์กระทูน สทิงพระ นครศรีธรรมราช พระเจ้าตากสิน สุพรรณบุรี และไชยโกมินทร์ รวมถึงมีมะขามป้อมที่ปลูกไว้ด้วย ภายใต้เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่

2.มะขามเปรี้ยวยักษ์พันธุ์ไชยโกมินทร์
2.มะขามเปรี้ยวยักษ์พันธุ์ไชยโกมินทร์

สภาพพื้นที่ปลูกมะขามเปรี้ยวยักษ์

ครูนิเวชเกิดความสนใจและหลงใหลในมะขามเปรี้ยวยักษ์ โดยมีการปรับปรุงพันธุ์มะขามเปรี้ยวยักษ์ด้วยตัวเอง ด้วยการนำเมล็ดมะขามเปรี้ยวยักษ์ของพันธุ์ไชยโกมินทร์มาเพาะเป็นจำนวนมาก แล้วนำตาของต้นที่เพาะเมล็ดไปติดตากับต้อตอต้นใหญ่ แต่มีต้นพันธุ์มะขามเปรี้ยวยักษ์ต้นหนึ่งกลายเป็นมะขามเปรี้ยวยักษ์ฝักกลม จึงเป็นพันธุ์ฝักกลมพันธุ์แรกของเมืองไทย

ต่อมาครูนิเวชยังคงพัฒนาสายพันธุ์มะขามเปรี้ยวอย่างจริงจังตลอดมา เขาได้เพาะเมล็ดมะขามเปรี้ยวพันธุ์ไชยโกมินทร์ประมาณ 30 ต้น และก็ได้มะขามเปรี้ยวยักษ์พันธุ์ดีออกมาอีกหนึ่งสายพันธุ์ได้เพียงต้นเดียวจากจำนวนที่เพาะ 30 ต้น

ต้นนี้แตกต่างจากต้นแม่พันธุ์เดิม คือ มีลักษณะฝักกลมและใหญ่มาก ซึ่งต้นแม่พันธุ์เดิมฝักจะแบนโค้งและใหญ่ ทรงต้นมะขามเปรี้ยวยักษ์ฝักกลมจะพุ่งสูงขึ้น ไม่แตกทรงออกพุ่มด้านข้าง ต่างจากพันธุ์ไชยโกมินทร์ที่ทรงพุ่มออกรูปตัววี และแตกพุ่มออกด้านข้าง ยอดอ่อนของมะขามเปรี้ยวพันธุ์ไชยโกมินทร์จะออกสีแดง  แต่ยอดอ่อนของมะขามเปรี้ยวยักษ์ฝักกลมจะออกสีเขียวตองอ่อนคล้ายมะขามหวาน

ขั้นตอนในการปลูกมะขามเปรี้ยวยักษ์โดยขุดหลุมความลึกประมาณ 50 เซนติเมตร กว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร ระยะห่างของต้นประมาณ 10-12 เมตร จากนั้นนำปุ๋ยคอกรองก้นหลุม แล้วนำต้นพันธุ์ที่เตรียมไว้ลงปลูก ควรหาไม้รวกมาค้ำต้นไว้เพื่อกันการล้มของต้นมะขามปลูกใหม่

โฆษณา
AP Chemical Thailand
3.ต้นมะขามเปร๊็ยวยักษ์อายุ 1 ปี
3.ต้นมะขามเปร๊็ยวยักษ์อายุ 1 ปี
ต้นมะขามเปรี้ยวยักษ์อายุ 3 ปี
ต้นมะขามเปรี้ยวยักษ์อายุ 3 ปี

การให้ปุ๋ยและน้ำมะขามเปรี้ยวยักษ์

การให้ปุ๋ยคอกควรให้ช่วงต้นฝน 1 ครั้ง และปลายฝน 1 ครั้ง ถ้าเป็นปุ๋ยเคมีจะเป็นสูตรเสมอ วิธีการให้ คือ ให้ปุ๋ยเคมีครึ่งหนึ่งของอายุต้น เช่น ถ้าอายุต้นมะขามเปรี้ยวยักษ์ 1 ปี ก็ใช้ปุ๋ยครึ่งกิโลกรัม แบ่งใส่ 5 ครั้ง ใน 1 ปี ก็ควรใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 1 ขีด ต่อต้นต่อครั้ง ถ้า 2 ปี ก็ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 1 กิโลกรัม ต่อต้นต่อปี เป็นวิธีคิดง่ายๆ ของครูนิเวช

การให้น้ำต้องมีวางระบบน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการทำน้ำหยด การใช้สปริงเกลอร์ หรือสายยางรดน้ำ ก็ตามแต่เจ้าของสวนไหนสะดวกแบบไหน แต่ไม่ควรดูแลแบบธรรมชาติ หรือที่เราเรียกกันว่า “ให้เทวดาดูแล” เพราะผลผลิตที่ได้จากมะขามเปรี้ยวยักษ์จะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นหลายเท่า ถ้าเปรียบเทียบกับการปล่อยแบบธรรมชาติช่วงแรกๆ ที่ปลูกมะขามเปรี้ยวยักษ์ควรรดน้ำหรือให้น้ำวันละครั้ง สังเกตดูว่าดินบริเวณนั้นแห้งหรือเปล่า หลังจากรดน้ำไปแล้ว ถ้าแห้งก็รดน้ำซ้ำอีกได้ แต่ถ้าไม่แห้งก็เว้นการรดน้ำออกไปอีก 1 วัน เพราะดินแต่ละท้องที่ไม่เหมือนกัน

พออายุต้นมะขามเปรี้ยวยักษ์ได้ 1 ปี อาจจะหยุดให้น้ำ หรืออาจเว้นการให้น้ำไม่ต้องสม่ำเสมอได้ เพราะต้นมะขามเปรี้ยวยักษ์สามารถหาอาหารและอยู่ด้วยตัวเองได้แล้ว แต่ก็สามารถให้น้ำต่อไปเรื่อยถึงอายุต้น 3 ปี แต่พอเข้าช่วงต้นมะขามเปรี้ยวยักษ์ 3 ปี

ในช่วงเดือนธันวาคม มกราคม กุมภาพันธ์ ควรหยุดให้น้ำทันที เพื่อที่ต้นจะได้สะสมตาดอกในช่วงนั้น พอเข้าเดือนมีนาคม เมษายน ต้นมะขามจะทิ้งใบ ช่วงนี้พอมีฝนตกต้นมะขามก็จะแตกใบอ่อน ดอกก็จะออกตามมา ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนจะติดฝักในหน้าฝน และฝักจะแก่ในหน้าหนาว

การปลูกมะขามเปรี้ยวยักษ์ช่วงก่อนหน้าฝน หลังเดือนเมษายนก็สามารถปลูกได้ พอปลูกไปช่วงนั้นฝนก็จะตก ก็จะช่วยในเรื่องการรดน้ำต้นไม้ได้เป็นอย่างดี แต่ไม่ควรปลูกมะขามเปรี้ยวยักษ์หลังเดือนตุลาคมไป เพราะเป็นช่วงที่หมดฝนไปแล้ว ลมหนาวก็เริ่มจะเข้ามา ช่วงนั้นจะเป็นหน้าแล้ง หากปลูกแบบทิ้งๆ ขว้างๆ หรือให้เทวดาดูแลก็ยังไม่ควรลงปลูก เพราะช่วงแรกที่ปลูกต้นมะขามต้องการน้ำมากพอสมควร

4.ยอดมะขามเปรี้ยวเลยแตกจากต้นตอที่ตัด
4.ยอดมะขามเปรี้ยวเลยแตกจากต้นตอที่ตัด

การขยายพันธุ์มะขามเปรี้ยวยักษ์

การขยายพันธุ์มะขามเปรี้ยวยักษ์ที่ทำกันส่วนใหญ่ คือ การทาบกิ่ง ไม่นิยมขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะเมล็ดเพราะจะเกิดการกลายพันธุ์ ยกเว้นทำเพื่อการปรับปรุงพันธุ์มะขามเปรี้ยวยักษ์ สำหรับวิธีการทาบกิ่งและการเสียบยอดเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด เพราะเนื่องจากต้นพันธุ์ที่ได้จะมีลักษณะเหมือนต้นเดิมตามที่ต้องการทุกประการ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การทาบกิ่ง

การเตรียมต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี ต้นตอเป็นส่วนที่สำคัญสำหรับการขยายพันธุ์ เพราะทำหน้าที่เป็นระบบรากของกิ่งพันธุ์ ดูดน้ำและธาตุอาหารมาเลี้ยงต้นมะขามเปรี้ยวยักษ์ ตลอดจนค้ำยันลำต้น มะขามเปรี้ยวยักษ์มีรากจำนวนมาก จึงหาอาหารเก่ง โตได้เร็ว สำหรับต้นตอมักจะเพาะด้วยเมล็ดมะขามเปรี้ยวยักษ์ เพราะจะได้ต้นตอที่มีความสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรค และแมลงทำลาย ส่วนกิ่งพันธุ์ดีควรเลือกกิ่งพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ และมีขนาดเท่ากับต้นตอที่จะนำมาทาบกิ่ง ควรมีความยาวประมาณ 50-100 เมตร

วิธีการทาบกิ่งมะขามเปรี้ยวยักษ์

1.เลือกต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี

2.ใช้มีดเฉือนกิ่งพันธุ์ดี เฉียงเข้าไปในเนื้อเล็กน้อยยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว ควรเฉือนจากด้านล่างขึ้นด้านบน

3.ใช้มีดเฉือนต้นตอให้เฉียงลักษณะเป็นปากฉลามให้ยาวเท่ากับแผลของกิ่งพันธุ์ที่เตรียมไว้

4.จากนั้นทำการประกบแผลของต้นตอกับกิ่งพันธุ์ดี โดยให้เปลือกข้างใดข้างหนึ่งอยู่ในแนวเดียวกัน

5.ใช้พลาสติกพันแผลให้รอบมิดรอยทาบ โดยพันจากข้างล่างขึ้นข้างบน แล้วมัดให้แน่นเพื่อให้เนื้อเยื่อเจริญติดกันเร็วขึ้น

โฆษณา
AP Chemical Thailand

หลังจากนั้นทำการรดน้ำ สังเกตอย่าให้ต้นตอแห้งประมาณ 45-60 วัน ตัดกิ่งที่ทาบออกจากต้นพันธุ์นำไปดูแลในเรือนเพาะชำประมาณ 6 เดือน จึงนำไปปลูกได้

5.ผลผลิตมะขามเปรี้ยวยักษ์พันธุ์ไชยโกมินทร์
5.ผลผลิตมะขามเปรี้ยวยักษ์พันธุ์ไชยโกมินทร์
กิ่งพันธุ์มะขามเปรี้ยวยักษ์พร้อมจำหน่าย
กิ่งพันธุ์มะขามเปรี้ยวยักษ์พร้อมจำหน่าย

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายมะขามเปรี้ยวยักษ์ ทั้งในและต่างประเทศ

ตลาดส่งออกมะขามเปรี้ยวที่สำคัญของไทย คือ สหรัฐอเมริกา และแถบประเทศตะวันออกกลาง ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปากีสถาน เป็นต้น ส่วนประเทศในแถบตะวันออกกลางนิยมบริโภคมะขามเปรี้ยว เนื่องจากมะขามเปรี้ยวมีรสเปรี้ยวที่เป็นนิยมในการบริโภคเพื่อดับกระหายน้ำได้

ส่วนตลาดในประเทศของมะขามเปียกนั้นเป็นที่นิยมอย่างมาก มะขามเปรี้ยวแกะเมล็ดแล้วจะมีราคากิโลกรัมละ 30-40 บาท (มะขามเปียก) มะขามฝักใหญ่แบบสดจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 6-10 บาท นอกจากนี้ยังมีการบริโภคในรูปของผลิตภัณฑ์มะขาม ไม่ว่าจะเป็นมะขามคลุกน้ำตาล มะขามดอง มะขามแช่อิ่ม ฯลฯ

เนื่องจากการทำมะขามเปียกน้ำหนักจะหายไปเยอะ หลังจากแกะเปลือกและเมล็ดออกแล้วน้ำหนักจะหายไปประมาณ 4:1 กิโลกรัม คือ ชั่งฝักดิบได้ 4 กิโลกรัม สามารถทำมะขามเปียกได้ 1 กิโลกรัม ราคารับซื้อก็ไม่เกิน 30 บาท ต้องจ้างคนมาเก็บฝัก และแกะเปลือกกับเมล็ดมะขามออกอีก

ถ้าทำมะขามเปียกได้ประมาณ 100 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 30 บาท จะได้ 3,000 บาท (ราคานี้ยังไม่หักค่าแรง) ส่วนฝักสดของ มะขามยักษ์ มะขามเปรี้ยวยักษ์ราคาขายอยู่ที่ 30-40 บาท ต่อกิโลกรัม ถ้าเก็บได้ 100 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 10 บาท จะได้ 1,000 บาท แต่ถ้าเป็นมะขามฝักสดจะไม่ต้องจ้างแรงงานคนเก็บ เพราะจะมีคนมารับซื้อถึงสวน พ่อค้า แม่ค้า จะมาเหมาเก็บ และมีคนงานเก็บให้เลย เกษตรกรเจ้าของสวนรับเงินอย่างเดียว

6.มะขามยักษ์ มะขามเปรี้ยวยักษ์ฝักกลม
6.มะขามยักษ์ มะขามเปรี้ยวยักษ์ฝักกลม

การแปรรูป มะขามยักษ์ มะขามเปรี้ยว

ปัจจุบันกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรมีการคิดค้นการแปรรูปมะขามเปรี้ยวในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการแปรรูปเป็นเครื่องสำอาง โดยเฉพาะครีมมะขามสำหรับล้างหน้าซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก นับว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมะขามเปรี้ยวมากกว่าการบริโภค

โฆษณา
AP Chemical Thailand

สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง โดยใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยา และเครื่องใช้ในครัวเรือน และยังทำเป็นในรูปอุตสาหกรรมได้อีก เช่น โรงงานน้ำพริก เครื่องปรุงน้ำพริกมะขามเปียกสำเร็จรูป สมุนไพรบำรุงผิวพรรณ เครื่องสำอาง ไวน์ แยม ซอสมะขาม ลูกอม เครื่องดื่มชามะนาว เยลลี่ ยาระบาย ยาลูกกลอน เป็นต้น

7.มะขามเปรี้ยวยักษ์ฝักใหญ่มาก
7. มะขามยักษ์ มะขามเปรี้ยวยักษ์ฝักใหญ่มาก

ฝากถึงเกษตรกรที่สนใจปลูก มะขามยักษ์

หากเกษตรกรท่านใดที่สนใจปลูก มะขามยักษ์ มะขามเปรี้ยวยักษ์ ครูนิเวชอธิบายว่ามะขามเปรี้ยวพันธุ์ไชยโกมินทร์พันธุ์นี้ไม่เหมาะจะปลูกทำมะขามเปียก เพราะรสชาติจะเปรี้ยวมาก ทำแกงส้มหรือเครื่องแกงไม่อร่อย แต่จะเน้นทำพวกน้ำพริกเผา ทำเกี่ยวกับอุตสาหกรรมฟอกหนัง ทำสปา หรือทำเป็นในรูปของมะขามแช่อิ่ม หรือมะขามดอง

แต่ มะขามยักษ์ มะขามเปรี้ยวยักษ์ฝักกลมเหมาะจะทำเป็นมะขามเปียก เพราะรสชาติดีเหมือนมะขามพื้นบ้านทั่วๆ ไป ครูนิเวชยังเสริมอีกว่าข้อเสียของพันธุ์ไชยโกมินทร์ คือ ออกผลผลิตปีเว้นปี แต่ความดกและเรื่องของน้ำหนักดีกว่าพันธุ์อื่นแน่นอน

สนใจสอบถามข้อมูลได้ที่ ครูนิเวช กุลทรัพย์ศักดิ์ (สวนมะขามเปรี้ยวยักษ์) 170 ม.6 ต.วังกระแจะ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี 71150 โทร.08-1801-6379