กรมพัฒนาที่ดิน เจ้าภาพงานวันดินโลก 2566 ชูดินดี น้ำสมบูรณ์ เกื้อกูลชีวิต ณ ศูนย์ฯ เขาหินซ้อนฯ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

กระถางต้นไม้ P&U 336x280

ในทุกๆ ปี พื้นที่กว่า 30 ล้านไร่ เกิดการเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2523 ถึงปัจจุบัน

ประชาชนกว่า 500 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากการแปรสภาพเป็น “ทะเลทราย” อันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้ศึกษาพบว่า การแปรสภาพเป็นทะเลทราย ความเสื่อมโทรมของดิน และ ภัยแล้ง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตของคนกว่า 650,000 คน กว่า 90% เกิดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ประมาณ 55 ล้านคน ประสบปัญหาทุพภิกขภัย อันเกิดจากภัยแล้งเป็นหลัก

สำหรับ ประเทศไทย มีการจัดทำเป้าหมายตัวชี้วัดความสมดุลของการจัดการทรัพยากรดิน (Land Degradation Neutrality : LDN) เพื่อจัดการดินเสื่อมโทรมในพื้นที่ 13 จังหวัด ทั่วประเทศ และจากการดำเนินงาน พบว่า ผลิตภาพของดินเสื่อมโทรมประมาณ 17,293 ตร.กม. หรือ 12.37% ของพื้นที่ทั้งหมด ผลิตภาพของที่ดินดีขึ้น ประมาณ 17,055 ตร.กม. หรือ 12.20% และผลิตภาพที่ดินคงที่ ประมาณ 93,963 ตร.กม. หรือ 67.19% ส่วนสาเหตุของปัญหาเกิดจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากป่าไม้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม จากความต้องการที่ดินที่เพิ่มขึ้น

1.กรมพัฒนาที่ดิน01

การฟื้นฟูทรัพยากรดินและน้ำ

กรมพัฒนาที่ดิน หน่วยงานหลักในการดำเนินงานตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพที่ดินเป็นทะเลทราย ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติของอนุสัญญา UNCCD ปี 2564-2573 ด้วยการเพิ่มสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้ ปรับปรุงฟื้นฟูทรัพยากรดินที่เสื่อมโทรม ลดการสูญเสียคาร์บอนในดิน และเพิ่มปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในดิน ขับเคลื่อนการจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดความสมดุลของการจัดการทรัพยากรดิน (LDN) ในพื้นที่ควบคุมทั้งประเทศ สร้างความร่วมมือกับ ภาคประชาสังคม และ ผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อเชื่อมโยงการจัดการทรัพยากรที่ดิน การถือครองที่ดินและภัยแล้ง พัฒนาแผนงานที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ และพัฒนาความร่วมมือให้สอดคล้องกับแนวทางการทำงานกับหน่วยงานภาคีและองค์กรระหว่างประเทศ ภารกิจของกรมพัฒนาที่ดินดังกล่าว มีการเผยแพร่สู่การรับรู้ของสาธารณชนอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรม วันดินโลก

2.กรมพัฒนาที่ดิน02

การรณรงค์เรื่องดิน

วันดินโลก 5 ธันวาคม เป็นวาระแห่งการรณรงค์เรื่องดิน ที่มีความหมายต่อมวลมนุษย์ นั่นก็เพราะดิน หรือ “แม่ธรณี” คือ แหล่งให้กำเนิดสรรพสิ่งของโลก เป็นที่รับรู้กันว่า ดิน คือ ทรัพยากรธรรมชาติ ที่สำคัญต่อการดำรงอยู่ของทุกชีวิตบนโลก เพราะดินก่อเกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยให้ระบบนิเวศยั่งยืน ดูดซับก๊าซคาร์บอน บรรเทาผลกระทบจากสภาวะโลกเดือด และดินยังเป็นแหล่งกำเนิดปัจจัย 4  เป็นแหล่งพัฒนาจุลินทรีย์หลากหลายสายพันธุ์ให้เกิดดุลยภาพ เป็นแหล่งกักเก็บน้ำและความชื้นเพื่อความสมบูรณ์ของดิน และเป็นฐานรากให้ต้นไม้ยึดเกาะเพื่อเป็นผืนป่าอันอุดม

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เนื่องจาก ทรัพยากรดิน มีจำกัด และถูกทำให้เสื่อมโทรม หากปราศจากการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบนิเวศ และความมั่นคงของมนุษย์

สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ หรือ IUSS ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัล นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม แด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงชนชาวไทย พระราชทานแนวพระราชดำริด้านการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรดิน ผ่านโครงการพระราชดำริต่างๆ ก่อเกิดประโยชน์สุขต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

ต่อมาองค์การสหประชาชาติได้ประกาศพระเกียรติคุณให้การรับรอง ให้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ เป็นวันดินโลก (World Soil Day) ส่งผลให้วันดินโลกได้รับการบรรจุในปฏิทินขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ (FAO) ซึ่งประเทศสมาชิกจะร่วมกันจัดกิจกรรมวันดินโลกเป็นประจำทุกปี เพื่อใช้วันนี้เป็นวันรณรงค์ให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดินที่มีต่อชีวิตมนุษย์ทุกคน เป็น แหล่งอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และพลังงาน ดินที่ดีมีคุณภาพ มีแหล่งน้ำสมบูรณ์ ก็จะเกื้อกูลคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีได้

3.นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน
3.นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน

การจัดงานวันดินโลก

นายปราโมทย์  ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ให้สัมภาษณ์ว่า ส่วนประเทศไทย กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานหลัก จัดกิจกรรมวันดินโลกเป็นประจำทุกปี องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) ได้กำหนดหัวข้อหลักการจัดงานวันดินโลก ซึ่ง ปี 2566  ในหัวข้อ “Soils and water : a source of life” ซึ่งให้ความสำคัญกับบทบาทของดินและน้ำที่ผูกพันกับการดำรงชีวิตของ มนุษย์ สัตว์ และ พืช และเกื้อกูลเชื่อมโยงไปสู่การมีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและปลอดภัย

กรมพัฒนาที่ดินจัดงานวันดินโลก เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหา วชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชปณิธานแห่งพระบรมราชนกนาถเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรดินอย่างต่อเนื่อง

โดยบูรณาการเครือข่ายการพัฒนาที่ดินที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ชุมชน เกษตรกร ประชาชนทั่วไป และหน่วยงานต่างประเทศ ขับเคลื่อน และรณรงค์กิจกรรมวันดินโลกตลอดเดือนธันวาคม เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดินและน้ำ ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต และความยั่งยืนของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม

โฆษณา
AP Chemical Thailand

4.กรมพัฒนาที่ดิน04

การให้ความรู้แก่เกษตรกร และผู้ที่สนใจ

การจัดงานดินโลกปี 2566 5-10 ธันวาคม 2566 ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากเดิมพื้นที่มีสภาพเสื่อมโทรม ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ มีธาตุอาหารในดินต่ำ เนื้อดินเป็นทราย ไม่อุ้มน้ำ ดินรองรับน้ำได้เพียง 30 มิลลิเมตร มีการชะล้างพังทลายของดินสูง ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมองเห็นถึงปัญหา จึงได้มีพระราชดำริให้กรมพัฒนาที่ดินปรับปรุงบำรุงดินที่เสื่อมโทรมให้อุดมสมบูรณ์และปลูกพืชทำกินได้ โดยแก้ไขปัญหาดินทรายให้เป็นดินดี จัดสร้างแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง สร้างสภาพป่าและไม้ยืนต้นในบริเวณโครงการและพื้นที่ข้างเคียง เป็นการปรับสภาพแวดล้อมและเพิ่มความชุ่มชื้นให้มากขึ้น สร้างระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ มีการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และปรับปรุงบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ขึ้น จนสามารถปลูกพืชทำการเกษตรได้

เมื่อมีการพัฒนาปรับปรุงบำรุงดินจนมีความอุดมสมบูรณ์ สามารถใช้ประโยชน์ในทางการเกษตรได้เป็นอย่างดีแล้ว พระองค์ทรงมีพระราชดำริต่อยอดความสำเร็จให้ศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นแหล่งรวบรวมการศึกษาเพื่อการเกษตรกรรม มีการบริหารจัดการในลักษณะบูรณาการร่วมกันระหว่างส่วนราชการ โดยมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลักในการประสานการดำเนินงาน มีการศึกษา หาเทคโนโลยีพัฒนาการ ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ การอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยเน้นวิธีการผสมผสานเป็นการรักษาสมดุลธรรมชาติ เพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรเข้าศึกษาหาความรู้ นำไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเองได้ ตลอดจนใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมศึกษาดูงานของประชาชนที่สนใจ

5.กรมพัฒนาที่ดิน05

การแสดงนิทรรศการวันดินโลก

สำหรับงานวันดินโลก “Soil and Water : a source of life หรือ ดินดี น้ำสมบูรณ์ เกื้อกูลชีวิต” แบ่งการแสดงนิทรรศการหลักเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่

1.นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและนิทรรศการกลาง  ซึ่งจะแสดงนิทรรศการเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเผยแพร่พระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาทรัพยากรดินเพื่อการเกษตร ประกอบด้วยการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับวันดินโลก การจัดแสดงผลงานประเทศที่ได้รับรางวัล King Bhumibol World Soil Day Award ในแต่ละปีจากอดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงการจัดแสดงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้นิทรรศการ “สานต่อที่พ่อทำ” ที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชปณิธานแห่งพระบรมราชนกนาถเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรดินอย่างต่อเนื่อง

และนิทรรศการกลางซึ่งจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการน้อมนำพระราชดำริในด้านการจัดการดินและน้ำ ซึ่งทำให้เกิด “ดินดี น้ำสมบูรณ์” ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน  6 แห่ง ซึ่งมีสภาพทางภูมิศาสตร์และสังคมวิทยาแต่ละท้องถิ่นมีลักษณะปัญหาที่แตกต่างกันไป โครงการตามแนวพระราชดำริที่ดำเนินการอยู่หลายพื้นที่ทั่วประเทศในปัจจุบันนั้นล้วนแล้วแต่มีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่การพึ่งตนเองได้ของราษฎรทั้งสิ้น ตรงกับความหมาย “เกื้อกูลชีวิต”

2.นิทรรศการมีชีวิต ซึ่งจะสาธิตการบริหารจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง เรียนรู้ตัวอย่างการจัดสรรพื้นที่เพื่อทำเกษตรทฤษฎีใหม่ และการทำเกษตรแบบผสมผสาน การจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ถ่ายทอดความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การใช้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์เพื่อการตรวจสุขภาพดิน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การใช้เทคโนโลยีชีวภาพด้านจุลินทรีย์ดินผสมผสานกับรูปแบบการให้น้ำแบบอัจฉริยะเพื่อการปลูก พืชไร่ พืชผัก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และสามารถพึ่งพาตนเองได้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เรียนรู้รูปแบบการทำการเกษตรที่มีการผสมผสาน การจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ร่วมกับการตรวจสุขภาพดิน เพื่อการจัดการดิน ธาตุอาหารพืช และระบบการให้น้ำอัจฉริยะ ร่วมกับการใช้จุลินทรีย์ดินเพื่อการปลูกพืชไร่ เพื่อนำไปปรับใช้ในการทำการเกษตรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

3.นิทรรศการนวัตกรรมการเกษตร และนิทรรศการวิชาการหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งจะจัดแสดงนิทรรศการภายใต้หัวข้อ ดินดี น้ำสมบูรณ์ ด้วยนวัตกรรมการเกษตร โดยจะแสดงนวัตกรรมทางการเกษตรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการอนุรักษ์ดินและน้ำ จากภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภายในกรมพัฒนาที่ดิน ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีในการจัดการดิน

การบริหารจัดการแปลงโดยใช้ระบบ ioT การใช้ sensor ในการบริหารจัดการน้ำ นวัตกรรมข้อมูลและสารสนเทศทางการเกษตร นวัตกรรมในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร  มาตรการในการจัดการปัญหาดินเสื่อมโทรม (LDN) โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Model) การปรับตัวเพื่อรับสภาพกับสภาวะโลกร้อน (Climate Change) เป็นต้น เพื่อให้เกษตรกร และประชาชนทั่วไป ได้รับความรู้ เข้าถึงเทคโนโลยีที่สามารถจับต้องได้ นำไปสู่การปรับใช้กับพื้นที่เกษตรกรรมของตนเอง และเป็นช่องทางในการสร้างภาคีเครือข่ายการทำงานร่วมกันในอนาคต

กรมพัฒนาที่ดิน5.1

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมงานยังสามารถนั่งรถรางเพื่อเข้าชมและศึกษาหาความรู้ในบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เช่น แปลงสาธิตการผลิตมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองนอกฤดู การสาธิตการปลูกเมล่อนในโรงเรือน พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต สวนไม้หอม สวนสมุนไพร กิจกรรม DIY ย้อมผ้าย้อมใจ มัดย้อมธรรมชาติ และการทำกระถางปลูก ที่ให้ผู้เข้าร่วมงานมีส่วนร่วมลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังมีเสวนาวิชาการ กิจกรรมหมอดินอาสา รวมทั้งกิจกรรมประกวดแข่งขันถ่ายภาพ จัดทำ E-Poster แข่งขันประกอบอาหารจากสมุนไพร รวมถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์การเกษตรจากเกษตรกร ในช่วงเย็นจะมีการจัดกิจกรรมดนตรีในสวน และการฉายภาพยนตร์กลางแจ้งหรือหนังกลางแปลง ในบริเวณงานอีกด้วย

6.กรมพัฒนาที่ดิน06

คุณสมบัติของหมอดินอาสา

สำหรับ กรมพัฒนาที่ดิน ได้สนองพระราชดำริพ่อหลวง ร.9 ด้วยการพัฒนาที่ดินเสื่อมโทรมให้สมบูรณ์ และปลูกพืชกินได้ จัดสร้างแหล่งเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง สร้างสภาพป่าและไม้ยืนต้นในบริเวณโครงการ และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อปรับสภาพแวดล้อม และเพิ่มความชุ่มชื้นให้มากขึ้น สร้างระบบอนุรักษ์น้ำและดิน เช่น การปลูกหญ้าแฝกป้องกันการพังทลายของดิน และปรับปรุงดินให้สมบูรณ์ จนสามารถปลูกพืชได้ โดยขับเคลื่อนโครงการหมอดินอาสา เพื่อให้เป็นตัวแทนของกรมฯ หรือเป็นครู เป็นเพื่อนที่ดี ของเกษตรกร

คุณสมบัติของคนที่จะถูกคัดเลือกต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี มีความสมัครใจ มีภูมิลำเนาในท้องที่ที่ทำเกษตร พร้อมทำเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ของกรม สุขภาพแข็งแรง เคยผ่านการฝึกอบรมความรู้ด้านการพัฒนาที่ดินจากกรม พร้อมจะประสานงานร่วมกับหมอดินอาสา และเครือข่ายประจำตำบล และได้รับความยินยอมจากครบรส โดยไม่ต้องครบทุกข้อ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหัวหน้าหน่วยพัฒนาที่ดิน

โฆษณา
AP Chemical Thailand
โครงการอบรมหมอดินอาสา
โครงการอบรมหมอดินอาสา

บทบาทของหมอดินอาสา มี 4 ระดับ ตามรูปแบบการปกครอง ได้แก่ หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน หมอดินอาสาประจำตำบล หมอดินอาสาประจำอำเภอ และ หมอดินอาสาประจำจังหวัด มี ภารกิจ ร่วมกับกรม เพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้เกิดความเข้าใจที่ดี และปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์ดิน และการจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน ด้วยการนำเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ของกรมไปส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดินต้นแบบ หรือช่วยเกษตรกรจัดทำแผนการเกษตรและการจัดการอื่นๆ  เป็นต้น

ดังนั้นทางกรมจึงต้องอบรมหรือติดอาวุธทางปัญญาให้หมอดินอาสาด้วยรูปแบบต่างๆ  เช่น เข้าร่วมงานวันดินโลก 5 ธันวาคม การจัดเสวนาหมอดินอาสา  4.0 การจัดทำ “ถังความรู้” ผ่านเว็บไซต์หมอดินอาสา และในปี 2564 ทางกรมได้เน้นหมอดินอาสาที่มีศักยภาพสูง เพื่อเรียนรู้ และเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ในหลักสูตรการเรียนรู้ ระบบน้ำ ระบบปุ๋ย ในแปลงไม้ผล การปรับปรุงดินด้วยวัสดุอินทรีย์ เทคโนโลยีชีวภาพของกรม หรือหลักสูตรแยกขยายเชื้อจุลินทรีย์จากแหล่งธรรมชาติ และหลักสูตรการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น นอกจากนี้ทางกรมได้ร่วมกับ มูลนิธิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สถานีวิทยุ มก. จัดทำโครงการนำร่องหมอดินอาสาทางอากาศ เพื่อเป็นทางเลือกในการอบรมหมอดินอาสา และผู้สนใจ

7.วันหมอดินอาสา
7.วันหมอดินอาสา

การจัดตั้งหมอดินอาสา

จึงเห็นได้ว่า หมอดินอาสา ที่ได้รับการจดทะเบียนกับกรมพัฒนาที่ดิน และได้รับใบรับรอง จะได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณในการจัดหาวัตถุดิบสำหรับแปลงตัวอย่าง หรือได้ค่าตอบแทนในการรวบรวมข้อมูล ติดต่อประสานงานในเครือข่ายและกรม ฟรี ได้ค่าตอบแทนเมื่อเป็นวิทยากร และได้สิทธิ์ในการผลิตวัสดุปรับปรุงดิน และการอนุรักษ์ดินและน้ำ เช่น การปลูกหญ้าแฝก

กว่า 2 ทศวรรษ ที่ กรมพัฒนาที่ดิน จัดตั้งหมอดินอาสากว่า 77,000 คน จึงกำหนดให้วันที่ 10 กุมภาพันธ์ เป็น “วันหมอดินอาสา” ผู้นำพาอาหารปลอดภัย ด้วยการถือธงนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พ่อหลวง ร.9 ของ หมอดินอาสา ทำให้เกษตรกรกลายเป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนา เพื่อขับเคลื่อนให้ผลิตผลการเกษตรของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ซึ่งยุทธศาสตร์ กรมพัฒนาที่ดิน พ.ศ.2560-2579 ที่มีเป้าหมายการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอย่างเหมาะสม โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน และเกษตรกร เป็นศูนย์กลางการพัฒนา และที่ดินมีความอุดมมากขึ้น แน่นอน หมอดินอาสา คือ กองกำลังของกรมโดยแท้

อ้างอิง : นิตยสารพลังเกษตร ฉบับที่ 36