ลุงเปี๊ยก ช่างวัยเก๋า จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักฯ ปลอดภัย ส่งห้าง makro สุโขทัย

โฆษณา
AP Chemical Thailand

จากจุดเริ่มต้นเข้าสู่อาชีพเกษตรกรในวัย 60 ปี ของชายที่ชื่อว่า ลุงเปี๊ยก พรมพุก ที่มีอาชีพรับเหมางานก่อสร้างมาทั้งชีวิต ด้วยเหตุผลเพราะต้องการหลีกหนีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจากการบริโภค

จึงเริ่มต้นลงมือปลูก ผักไฮโดรโปนิกส์ กระทั่งประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จึงต่อยอดมาปลูกผักออร์แกนิคในโรงเรือนกางมุ้ง กระทั่งได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคในพื้นที่จำนวนมาก อีกทั้งมีออร์เดอร์ผักออร์แกนิคให้กับห้างสรรพสินค้าจนผลิตไม่ทัน

1.ลุงเปี๊ยก พรมพุก กำลังบรรยายในงานออกบูธให้นักเรียนที่สนใจปลูกผัก
1.ลุงเปี๊ยก พรมพุก กำลังบรรยายในงานออกบูธให้นักเรียนที่สนใจปลูกผัก

จุดเริ่มต้นการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์

ลุงเปี๊ยกให้ข้อมูลว่า จุดเริ่มต้นมาทำผักอินทรีย์ ก็คือ มีความตั้งใจที่อยากจะทำฟาร์มปลอดสารอยู่แล้ว เพราะว่าการบริโภคผักที่ใช้สารเคมีเป็นเวลานาน เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งคนปลูกและผู้บริโภค  จึงเรียนรู้วิธีการปลูกผักออร์แกนิค โดยยึด ตามหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” มาโดยตลอด และไปอบรม ดูงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเกษตรหลายโครงการ

จึงเป็นจุดเริ่มต้นปลูกผักไร้ดิน หรือ ไฮโดรโปนิกส์ หลายโรงเรือน เริ่มจากปลูกผักแบบยกโต๊ะใช้แผ่นกระเบื้องรอง โดยใช้ระบบน้ำหมุนเวียน และใช้ผ้าสแลนคลุมเป็นหลังคาก่อน  ซึ่งลุงเปี๊ยกยอมรับว่า ตอนแรกก็ไม่รู้จะไปหาซื้ออุปกรณ์ในการปลูกผักไฮโดรฯที่ไหน แต่เพราะหลานทำงานที่กรุงเทพฯ กับบริษัท เกี่ยวกับอุปกรณ์ และการปลูกผักไฮโดรฯ

จึงได้สอบถามข้อมูล และนำมาทำ ด้วยความเป็นช่างอยู่แล้วจึงนำมาประยุกต์สร้างโรงเรือนเกือบ 600 ตารางเมตร และระบบปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ วางระบบน้ำ ภาชนะปลูกและกางมุ้ง ลงทุนไปประมาณ 300,000 บาท ซึ่งประหยัดกว่าไปจ้างช่างที่คิดค่าปลูกสร้างเกือบล้านบาท

2.การปลูกผักสลัด ไฮโดรโปรนิกส์
2.การปลูกผักสลัด ไฮโดรโปรนิกส์

สภาพพื้นที่ปลูกผักออร์แกนิค

การปลูกผักออร์แกนิคของลุงเปี๊ยกมีทั้งหมด 4 โรงเรือนๆ ละ 200 ตารางวา แบ่งเป็นโรงเรือนปลูกผักไร้ดินไฮโดรโปรนิกส์ 1 หลัง และโรงเรือนปลูกผักออร์แกนิคบนดินอีก 3 โรงเรือน  แต่ละโรงเรือนจะแบ่งโซนปลูกผักออกเป็น 4 รุ่น เพื่อให้มีผักหมุนเวียนออกจำหน่ายทุกสัปดาห์ โดยเน้นปลูกทั้งพืชสมุนไพร ผักสวนครัว อายุเก็บเกี่ยวสั้นไม่เกิน 45-50 วัน เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง  และ ผักสลัด ได้แก่ กรีนโอ๊ค, เรดโอ๊ค, กรีนคอส และ เรดคอรอล  เป็นต้น

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“ผักสลัดที่เราปลูกก็จะมี กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค กรีนคอส และ เรดคอรอล ซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าผักทั่วไป เพราะราคาเมล็ดพันธุ์สูง ส่วนใหญ่ก็ยังซื้อเมล็ดพันธุ์มาเพาะปลูกตลอด ซึ่งปัจจุบันเรากำลังทดลอง เก็บเมล็ดพันธุ์เองก็พอใช้ได้” ลุงเปี๊ยกเผยถึงการเก็บเมล็ดพันธุ์ผักไว้ใช้เองเพื่อลดต้นทุน

3.การเพาะกล้าผักสลัดในถาดเพาะ
3.การเพาะกล้าผักสลัดในถาดเพาะ

การบำรุงดูแลผักออร์แกนิค

การดูแลผักออร์แกนิคที่ปลูกบนดิน ถ้าเป็น “ผักพื้นบ้าน” เช่น คะน้า ผักบุ้ง กวางตุ้ง ผักกาดขาว  หรือ กะหล่ำปลี จะปลูกช่วงฤดูหนาว จะเตรียมแปลงดินในโรงเรือน ยกร่องขนาดกว้าง 1.20 เมตร ลึก 15 ซม. นำดินปลูกจาก “ใบฉำฉา” มารองพื้นปลูก ก่อนหว่านเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านลงในแปลง พร้อมใช้ฟางคลุมเพื่อกักเก็บความชื้นและช่วยการงอกของเมล็ด

ส่วน “กลุ่มผักสลัด” จะนำไปเพาะในถาดเพาะให้ได้ต้นกล้าอ่อน โดยนำดินปลูกมาโรยบนถาดเพาะแล้วใช้เมล็ดหว่านในถาดเพาะกล้า เมื่อเริ่มงอกแล้วมีใบ 1-2 ใบ จะย้ายมาลงถาดเพาะหลุม และอนุบาลต้นกล้าสักระยะ แล้วนำมาปลูกลงแปลงดินที่ได้เตรียมไว้ เมื่อผักทั้ง 2 กลุ่ม เริ่มเจริญเติบโตจะใส่ปุ๋ยอินทรีย์ผงที่ได้จากการหมักกองเอง มาหว่านในแปลงผักทดแทนปุ๋ยเคมี พร้อมกับการฉีดพ่นปุ๋ยน้ำหมักทางใบควบคู่ ทำให้ผักเจริญเติบโตได้ดี และใบเขียว

4.การปลูกผักบนดินแบบยกโต๊ะ
4.การปลูกผักบนดินแบบยกโต๊ะ

ขั้นตอนการทำปุ๋ยหมัก

ซึ่งลุงเปี๊ยกเผยถึงขั้นตอนการทำปุ๋ยหมักกองว่าจะทยอยทำหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ส่วนปุ๋ยก็ผลิตเอง ได้แก่ ปุ๋ยอินทรีย์แบบผงหมักกอง หมักแห้ง โดยการใช้มูลวัวเนื้อ มูลไก่ไข่ ไก่เนื้อ แล้วก็ใช้น้ำปลาหมัก ผักตบชวา ฟางแห้ง ใบไม้แห้ง ซึ่งวัสดุในการหมักกองแต่ละครั้งจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ใบไม้แห้ง ต้นข้าวโพด ฟางข้าว และ วัสดุอื่นๆ จะทำเป็นกองๆ ละ 10-20 ตารางเมตร แล้วทำหลายกอง ใช้กากน้ำตาล และพด.1 จากกรมพัฒนาที่ดิน ราดบนกอง 5-7 วัน/ครั้ง และใช้พลาสติกคลุม เพื่อไม่ให้อากาศเข้า หลังจากนั้นก็ใช้เวลาหมัก 2-3 เดือน จะได้ปุ๋ยหมักกองแบบผงมาใส่แปลงผัก

ยกตัวอย่าง การทำปุ๋ยหมักกองจากเศษข้าวโพดหรือฟางข้าว ปริมาณ 4 ส่วน ผสมกับมูลสัตว์ 1 ส่วน นำมาวางสลับกันเป็นชั้นบางๆ ความสูงไม่เกินชั้นละ 10 ซม. จำนวน 10-15 ชั้น รดน้ำแต่ละชั้นให้มีความชื้น และให้จุลินทรีย์ที่อยู่ในมูลสัตว์ได้ใช้ทั้งธาตุคาร์บอน (มีอยู่ในเศษพืช) และธาตุไนโตรเจน (มีในมูลสัตว์) ในการเจริญเติบโตและสร้างเซลล์ของจุลินทรีย์ ทำให้การย่อยสลายวัตถุดิบได้รวดเร็ว

ส่วนการนำสารเร่งพด.1 ประกอบด้วยเชื้อจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ที่มีประโยชน์ เช่น รา บักเตรี และ แอคติโมมัยซีส สามารถย่อยสลายเศษพืชให้เป็นปุ๋ยหมักอย่างรวดเร็ว เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จะช่วยประหยัดเวลาในการทำปุ๋ยหมัก และสามารถทำปุ๋ยหมักได้ทันกับความต้องการ ได้ปุ๋ยหมักคุณภาพดี เชื้อจุลินทรีย์บางชนิดที่ผสมอยู่จะทำการย่อยเศษพืชได้ดี ในสภาพที่กองปุ๋ยมีความร้อนสูงจะช่วยทำลายเมล็ดวัชพืชหรือเชื้อโรคที่ปะปนอยู่ได้

โฆษณา
AP Chemical Thailand
5.การวางสายน้ำหยดในโรงเรือน
5.การวางสายน้ำหยดในโรงเรือน

การให้ปุ๋ยและน้ำผักออร์แกนิค

เรื่องการให้น้ำ โดยรดน้ำช่วงแรกๆ ในแปลงเพาะต้นกล้าผัก จะใช้บัวรดน้ำ เมื่อผักเริ่มลงแปลงปลูกแล้วจะให้น้ำผ่านสายน้ำหยด บางครั้งก็ลากสายยางรดน้ำ ส่วน “น้ำหมักไล่แมลง” ได้สูตรจากการอบรมต่างๆ มาประยุกต์ใช้หมักเองด้วย โดย นำเชื้อจุลินทรีย์ เช่น ไตรโคเดอร์มา  พด.1 ใบสะเดา และ ใบยาสูบ ฯลฯ มาหมัก แล้วนำมาฉีดป้องกันและกำจัดแมลงหรือศัตรูพืช จำนวน 1 ครั้ง/สัปดาห์ อีกทั้งนำเชื้อไตรโคเดอร์มาเข้ามาฉีดร่วมด้วย เพื่อป้องกันในเรื่องของเชื้อแบคทีเรียนั่นเอง

 “ส่วนใหญ่เป็นผักกินใบ ก็จะงาม ใบเขียว ถ้าใช้ขี้วัวเยอะๆ ในการหมักปุ๋ย แล้วนำมาใส่ผักจะงามมาก ส่วนสีเขียวของใบผักที่ปลูกในระบบอินทรีย์ สีของใบผักจะแตกต่าง จากผักที่ใช้ปุ๋ยเคมี ใบผักจะมีสีเขียวเข้ม เขียวดำ แต่ถ้าใช้ปุ๋ยหมักจะใบเขียวตองอ่อน เขียวสวย รสชาติก็จะแตกต่างจากผักที่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี ซึ่งผมเองก็ทานเอง รสชาติก็จะตามต้นฉบับของผัก”ลุงเปี๊ยกเปรียบเทียบสีของใบผักจากการใช้ปุ๋ย

6.การจัดส่งผักส่งห้าง makro
6.การจัดส่งผักส่งห้าง makro

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายผัก

ด้านการตลาด ช่วงแรกๆ ลุงเปี๊ยกจะนำไปออกบูธตามหน่วยงานราชการต่างๆ หรือตามโรงพยาบาล ราคาจำหน่ายเฉพาะผักสลัด  100-105 บาท ส่วนผักพื้นบ้านราคา 50 บาท/กิโลกรัม ตลาดหลักส่งขายในเมืองสุโขทัย ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่รักสุขภาพ ผักจึงขายหมดแบบวันต่อวัน สร้างรายได้ทุกวัน เมื่อผู้บริโภคในพื้นที่ตอบรับมากขึ้น ทำให้ “ห้างแมคโคร” เข้ามาติดต่อเพื่อให้ส่งผักไปจำหน่ายในห้าง

ซึ่งราคาขายผักจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ผักพื้นเมือง เช่น ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง  หรือ ผักบุ้ง ราคา 50 บาท/กิโลกรัม ส่วนผักสลัดที่ปลูกระบบไฮโดรโปนิกส์ ส่งห้างแมคโคร ราคา 100-105 บาท/กิโลกรัม สำหรับผักออร์แกนิคปลูกบนดิน ซึ่งผ่านมาตรฐานระบบ GAP จะแพ็คใส่ถุงขนาด 300 กรัม ราคา 48 บาท/แพ็ค โดยทยอยเก็บผัก และแพ็คผักส่งแมคโคร 1 ครั้ง/สัปดาห์

เมื่อความต้องการผักทั้ง 2 กลุ่ม เพิ่มขึ้น ลุงเปี๊ยกจึงได้รวมกลุ่มสมาชิกในพื้นที่จำนวน 12 ราย จัดตั้งกลุ่ม ชื่อ “วิสาหกิจชุมชนผักปลอดภัยจากสารพิษ ต.เกาะตาเลี้ยง”  มีสมาชิก 12 ราย พื้นที่ปลูกผัก 5 ไร่ 2 งาน เพื่อให้สมาชิกผลิตผัก ส่งตลาดผู้บริโภคผักปลอดภัยใน จ.สุโขทัย และขยายปริมาณผักส่งเพิ่มให้กับห้างแมคโคร อีก 2 สาขา จำนวน 150-300 กิโลกรัม/สัปดาห์

โฆษณา
AP Chemical Thailand
7.คุณอดิศักดิ์ พรมพุก
7.คุณอดิศักดิ์ พรมพุก

การแปรรูปผัก

นอกจากนี้ลุงเปี๊ยกยังได้ คุณอดิศักดิ์  พรมพุก เข้ามาช่วยต่อยอดการแปรรูปเพิ่มมูลค่า อาทิ น้ำผัก ผักอบกรอบ เยลลี่ผัก อยู่ในขั้นตอนการขอจด อย. ซึ่งมีหน่วยงานราชการและมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาสนับสนุน ให้ความรู้เรื่องการแปรรูปสร้างมูลค่า อีกทั้งสนับสนุน อุปกรณ์  เครื่องอบแห้ง โรงตากแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ห้องเย็นแช่ผัก จาก บริษัท ประชารัตน์รักสามัคคี จำกัด ห้องแพ็คผักแบ่งออกเป็น 2 ห้อง ได้แก่ ห้องแพ็คผักสด และ ห้องแพ็คผักแปรรูป เป็นต้น

ปัจจุบันลุงเปี๊ยกกำลังทดลองปลูกผักสลัดกลางแจ้งจำนวน 200 ตารางวา เพื่อลดต้นทุน แต่ผักพื้นบ้านยังปลูกในโรงเรือนเพราะป้องกันโรคและแมลงได้ดี

สนใจรายละเอียดติดต่อได้ที่ ลุงเปี๊ยก พรมพุก บ้านหนองยาว 39/1 ม.6 ต.เกาะตาเลี้ยง อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย โทร.086-067-9022

อ้างอิง : นิตยสารพลังเกษตร ฉบับที่ 32