หยุด “ กรดซัลฟิวริค ” ก่อนตลาดยางไทยพัง…!!!

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ตามที่สมาคมยางพาราไทยได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเมื่อต้นเดือนกันยายน 2558 เหตุที่โรงงานยางรายใหญ่ของโลก สั่งยกเลิกออเดอร์ยางอีสานในไทย

เนื่องจากมีผู้ประกอบการจำหน่ายสารจับตัวยางชนิดกรดซัลฟิวริค ในการผลิตยางก้อนถ้วยส่งผลให้ปริมาณซัลเฟต ตกค้างในยางสูงจนกลายเป็นปัญหาใหม่ที่กระทบต่ออุตสาหกรรมยางในภาคอีสาน

นอกจากนี้การใช้กรดดังกล่าวยังก่อมลพิษต่อสุขภาพของแรงงานตามสวนยางและสถานที่รับซื้อ รวมถึงปัญหาน้ำยางเหม็นไหลลงตามถนนจนสร้างความเดือดร้อนต่อผู้ใช้รถใช้ถนนและชุมชน นั้น

ยางแผ่นจากการจับตัวกรดออร์แกนิค ยางอ่อนตัวย้วย
ยางแผ่นจากการจับตัวกรดออร์แกนิค ยางอ่อนตัวย้วย

เรื่องดังกล่าว นางปรีดิ์เปรม ทัศนกุล นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา ได้ทำการศึกษาสารจับตัวยางที่มีจำหน่ายทางภาคอีสานพบว่า สารส่วนใหญ่มักเป็นสารปลอมปน ทั้งที่อยู่ในรูปสารละลายและที่เป็นผง สารเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของยางก้อนถ้วยที่นำไปผลิตเป็นยางแท่งแทบทั้งสิ้น

โดยพบว่าสารจับตัวที่จำหน่ายในรูปสารละลายมักจะอ้างชื่อต่าง ๆ นานา เช่น กรดออร์แกนิค กรดชีวภาพ  และน้ำส้มควันไม้ ให้เกษตรกรหลงเชื่อถึงความปลอดภัยต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม

จากการศึกษาพบว่าสารจับตัวตามที่อ้างมีส่วนผสมของกรดซัลฟิวริค นอกจากนี้ยังพบองค์ประกอบของเกลือแคลเซียม แมกนีเซียม และโซเดียมอีกด้วย ส่งผลให้ยางมีความยืดหยุ่นต่ำลง ปริมาณความชื้นมีค่าสูงเกินกว่ามาตรฐานที่ระบุ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

หากสารจับตัวยางชนิดที่เป็นผงมักอยู่ในรูปเกลือแคลเซียมจะส่งผลให้ยางมีความยืดหยุ่นต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งยังทำให้ค่าความหนืดสูงขึ้น ยิ่งนำสารปลอมปนต่าง ๆ เหล่านี้ไปผลิตเป็นยางแผ่นดิบจะเห็นผลชัดเจนขึ้นคือยางจะย้วยและอ่อนตัว ไม่สามารถจัดเป็นยางแผ่นดิบคุณภาพดีได้

ตัวอย่างของสารออร์แกนิคตามที่อ้างถึงยี่ห้อหนึ่ง ระบุว่า “สามารถใช้แทนกรดน้ำส้มได้เป็นอย่างดีมีราคาถูกกว่า ปลอดภัยกว่า น้ำยางสามารถจับตัวแข็งตัวไวกว่า ก้อนยางสีสวย ไม่ติดก้นถ้วย ไม่มีกลิ่นของสารระเหยที่รุนแรงกับจมูก ไม่แสบคันเมื่อสัมผัส ขี้ยางไม่มีกลิ่นเหม็น” 

จากที่ นางปรีดิ์เปรม ทัศนกุล ได้ทำการศึกษาพบว่า มีองค์ประกอบของกรดซัลฟิวริคเป็นหลัก นอกจากนี้ยังประกอบด้วยกรดอะซีติกในปริมาณเล็กน้อยและกรดฟอร์มิคในปริมาณที่น้อยมาก และเมื่อทดลองใช้กรดออร์แกนิคตามที่อ้างเปรียบเทียบกับการใช้กรดฟอร์มิคเกรดทางการค้าพบว่า สมบัติทางกายภาพของยางแผ่นที่ใช้กรดออร์แกนิคนี้มีสมบัติทางกายภาพต่ำกว่ามาตรฐานยางแท่ง STR 20

โดยเฉพาะค่าความอ่อนตัวเริ่มแรก (Po) ต่ำกว่าการใช้กรดฟอร์มิคประมาณ 8 หน่วย มีค่าความหนืดต่ำกว่าประมาณ 10 หน่วย และมีปริมาณความชื้นที่เกินกว่ามาตรฐานที่ระบุในมาตรการยางแท่ง STR

ยางก้อนถ้วยจับตัวด้วยกรดฟอร์มิค หลังจากทิ้งไว้นาน 1 เดือน ยางแห้งเป็นสีน้ำตาล
ยางก้อนถ้วยจับตัวด้วยกรดฟอร์มิค หลังจากทิ้งไว้นาน 1 เดือน ยางแห้งเป็นสีน้ำตาล

นอกจากนี้ยังไม่มีความสามารถในการดึงปริมาณแคลเซียมออกจากเนื้อยาง ทั้ง ๆ กรดออร์แกนิคตามที่อ้างพบว่ามีแคลเซียมเป็นองค์ประกอบ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ยางเกิดการเสื่อมสภาพเร็วขึ้นกว่าปกติ และสีของยางก้อนถ้วยยังคงขาวขุ่นทั้ง ๆ ที่ตั้งทิ้งไว้นานนับเดือน

นอกจากนี้ยางแผ่นดิบที่ใช้กรดออร์แกนิคชนิดนี้ในการจับตัวยางเนื้อยางไม่แข็งแรงส่งผลให้แผ่นยางเกิดการย้อยตัว จึงสรุปได้ว่าไม่แนะนำให้ใช้กรดออร์แกนิคตามที่อ้างในการผลิตยางดิบทุกประเภท รวมทั้งสารอื่น ๆ ที่มักพบทั้งในรูปสารละลายและที่เป็นผง ซึ่งมักจะส่งผลต่อการนำยางก้อนถ้วยไปผลิตเป็นยางแท่ง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

โดยเฉพาะสารซัลเฟตที่ตกค้างก่อให้เกิดผลเสียหายต่อกระบวนการผลิตทำให้เครื่องจักรสึกกร่อนเร็วขึ้น ส่วนน้ำเสียที่เกิดขึ้นมีสีคล้ำยากต่อการบำบัดและส่งกลิ่นเหม็นกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผลิตภัณฑ์จากยางแห้งที่ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น

คุณปรีดิ์เปรม  กล่าวอีกด้วยว่าตามที่สถาบันวิจัยยางได้แนะนำให้ใช้เป็นสารจับตัวยางคือ กรดฟอร์มิค หรือที่เรียก “กรดมด” เนื่องจากเป็นสารอินทรีย์ที่ระเหยได้ง่าย มีสูตรโครงสร้างทางเคมี HCOOH    มีคาร์บอนเพียงตัวเดียวจึงนับว่าเป็นกรดอ่อนที่มีความแรงของกรดไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับกรดชนิดอื่น ในทางการค้ามีความเข้มข้น 94% หรือ 90% ขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิต กรดฟอร์มิคนับว่าเป็นกรดอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่จับตัวเนื้อยางได้อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ตกค้างในยางมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง

ยางแผ่นจากการจับตัวกรดฟอร์มิค ยางจับตัวดี ความยืดหยุ่นดี
ยางแผ่นจากการจับตัวกรดฟอร์มิค ยางจับตัวดี ความยืดหยุ่นดี

ในวงการอุตสาหกรรมด้านยางพารา กรดฟอร์มิคเป็นสารจับตัวยางใช้ในการผลิตยางแผ่นดิบ ยางก้อนถ้วย และยางแท่ง STR 5L ทำให้สีของยางที่แห้งแล้วเหลืองสวย ไม่คล้ำ ยางแห้งเร็ว  ไม่เหนียวเหนอะหนะ เนื้อยางยืดหยุ่นดี 

แต่ยังพบเกษตรกรรายย่อยยังคงใช้กรดซัลฟิวริค หรือที่เรียก กรดกำมะถัน ในการทำยางแผ่น กรดชนิดนี้เป็นกรดแก่ค่อนข้างอันตราย มีกลิ่นเหม็นแสบจมูก หากจะใช้ในการทำยางก้อนถ้วยจะส่งผลกระทบต่อหน้ายางเกิดสีดำคล้ำ เพราะไอของกรดมีเกลือซัลเฟตจะเปลี่ยนสภาพเป็นซัลไฟด์ที่มีสีคล้ำ

นอกจากนั้นยังพบว่าเกษตรกรมักใช้ในอัตราที่มากกว่ากำหนด ส่งผลให้แผ่นยางมีสีคล้ำ เกิดฟองอากาศ แผ่นยางเหนียว แห้งช้า เนื้อแข็งกระด้าง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกษตรกรนำยางไปตากแดด ยิ่งทำให้ยางเสื่อมคุณภาพเร็วขึ้นจัดเป็นยางคุณภาพคละ ขายได้ราคาต่ำกว่ายางคุณภาพดีเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.20 บาท ในท้องตลาดมักพบสารละลายกรดซัลฟิวริคที่เจือจางแล้วเข้มข้น 5-10% พร้อมใช้บรรจุในขวดขนาด 750 ซีซี ราคาจำหน่ายขวดละ 15-20 บาท หากจะเปรียบเทียบกับกรดฟอร์มิคเกรดทางการค้าแล้วพบว่ามีราคาสูงกว่าถึง 5 เท่าเลยทีเดียว

ยางก้อนถ้วยจับตัวด้วยกรดชีวภาพ หลังจากทิ้งไว้นาน 1 เดือน ก้อนยางยังขาวขุ่นคล้ายยางสด
ยางก้อนถ้วยจับตัวด้วยกรดชีวภาพ หลังจากทิ้งไว้นาน 1 เดือน ก้อนยางยังขาวขุ่นคล้ายยางสด

ส่วน “กรดอะซีติก” หรือที่เรียก “กรดน้ำส้ม” สามารถจับตัวยางได้เช่นกัน แต่กรดชนิดนี้เป็นกรดอ่อนกว่ากรดฟอร์มิค มาก มีกลิ่นฉุน กรดอะซีติกทางการค้าความเข้มข้น 99.85% แกลลอนขนาด 30 กิโลกรัม ราคา 900 บาท ส่วนกรดฟอร์มิคความเข้มข้น 94% แกลลอนขนาด 35 กิโลกรัม ราคา 1,300 บาท

โฆษณา
AP Chemical Thailand

แต่ในการทำแผ่นต้องใช้ปริมาตรของกรดอะซีติกมากกว่าฟอร์มิคถึง 3 เท่า จึงทำให้ต้นทุนการผลิตสูงกว่า และในการจับตัวยางยังต้องใช้ระยะเวลาการจับตัวนานกว่าปกติประมาณ 4 เท่า

หากเกษตรกรจะใช้ระยะเวลาในการจับตัวเท่ากับที่เคยใช้กรดฟอร์มิคจับตัวยางแล้วเนื้อยางจะจับตัวไม่สมบูรณ์ น้ำเซรั่มยังคงขาวขุ่นจะได้เนื้อยางอ่อน ส่วนสีของแผ่นจะมีสีเหลืองใสเช่นเดียวกับฟอร์มิค แต่น้ำเสียที่เกิดจากการใช้กรดอะซีติกมีกลิ่นเหม็นฉุนจากกรดน้ำส้มที่ยังคงตกค้างอยู่ 

ยางแผ่นจากการจับตัวกรดชีวภาพ ยางเปื่อย ขาด
ยางแผ่นจากการจับตัวกรดชีวภาพ ยางเปื่อย ขาด

ดังนั้นหากเกษตรกรต้องการซื้อสารจับตัวยางควรศึกษาองค์ประกอบของสารเคมีและความเข้มข้นที่ระบุข้างขวดเท่านั้น แต่หากไม่แน่ใจก็ไม่ควรใช้ และจากการที่ใช้สารจับตัวยางชนิดที่ไม่เหมาะสมจะส่งผลกระทบต่อการนำยางก้อนถ้วยไปแปรรูปยางแท่งและผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะที่มีปริมาณการใช้จากยางแห้งมากที่สุดและควรรณรงค์มาใช้กรดฟอร์มิคซึ่งปัจจุบันยังไม่พบว่ามีสารจับตัวยางที่มีราคาถูกกว่าและคุณภาพดีกว่า นอกจากนี้ควรนึกถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยางที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก

เรื่อง : ปรีดิ์เปรม ทัศนกุล นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา

[wpdevart_like_box profile_id=”112152085551102″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]