“กรเกียรติฟาร์ม” จับมือ “ซีเจฟาร์ม” ลุยธุรกิจปลานิล-ปลาทับทิมปักษ์ใต้

โฆษณา
AP Chemical Thailand

วงการเกษตรกรเลี้ยงปลานิลและปลาทับทิม หากเอ่ยชื่อ “กรเกียรติฟาร์ม” น้อยรายที่จะไม่รู้จัก เพราะที่นี่คือฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาทับทิมและปลานิลครบวงจรรายใหญ่ใน จ.กำแพงเพชร และโซนภาคเหนือของประเทศก็ว่าได้

แต่ปัจจุบันความท้าทายใหม่ของ “กรเกียรติฟาร์ม” คือ การขยายตลาดและสร้างฐานลูกค้าใหม่ในภาคใต้  ทั้งนี้ก็เพื่อมุ่งมั่นผลิตลูกปลาคุณภาพป้อนสู่ตลาดและส่งมอบพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศนำไปเพาะเลี้ยงจับขายได้ราคาดี

โดยการเริ่มทำตลาดในสถานที่ใหม่ๆ นั้นยากเสมอ แต่หากได้คู่ค้าหรือพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีเข้ามาช่วยเกื้อหนุน ย่อมนำพาธุรกิจให้ขยับขยายและเติบโตได้ดีกว่า รวดเร็ว และแข็งแรงกว่า เช่นเดียวกับ “กรเกียรติฟาร์ม” ที่สามารถไขว่คว้าโอกาสเอาไว้ได้ หรืออาจจะเป็นโชคชะตาอะไรก็ตาม ทำให้ได้มารู้จักกับ บริษัท ซีเจฟาร์มพัฒนา จำกัด (CJ FARM) ซึ่งประกอบธุรกิจเพาะเลี้ยงและจำหน่ายปลาเนื้อคุณภาพ ตลอดจนทำตลาดผลิตภัณฑ์ปลานิลบรรจุกระป๋อง, ปลานิล-ทับทิมครบวงจร ซึ่งเป็นรายใหญ่ใน นครศรีธรรมราช อยู่แล้วเช่นกัน

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ทั้งสองจับมือเป็นคู่ค้าและร่วมกันขยายตลาดปลาคุณภาพ เจาะตลาดทางภาคใต้และขยายไปอีกหลายๆ จังหวัดทั่วประเทศ

1.กรเกียรติฟาร์ม01

จุดเริ่มต้นการขยายตลาด ปลานิล ปลาทับทิม

“บริษัท กรเกียรติฟาร์ม 789 จำกัด” บริหารงานโดย คุณกรเกียรติ พรมจวง ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 เริ่มจากทำฟาร์มเลี้ยงปลาเล็กๆ แล้วก็พัฒนาจากฟาร์มเลี้ยงขึ้นมาเป็นฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาทับทิม ปลานิล ครบวงจร ทำตลาดส่งขายลูกค้าโซนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน ไล่เรียงมา จนปัจจุบันส่งปลาให้ลูกค้ากว่า 5,000 กระชัง ในหลายจังหวัดทั่วทุกภูมิภาค

จนกระทั่งคิดจะเริ่มต้นทำตลาดทางภาคใต้อย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งก็ได้มีโอกาสรู้จักกับ คุณชัยศักดิ์ พรามน้อย หรือคุณผึ้ง และ คุณจริยาวดี สุขสวัสดิ์ หรือคุณเบิ้ม  บริษัท ซีเจ ฟาร์ม พัฒนา จำกัด ทำให้เหมือนได้เปิดโลกเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ได้ความรู้และคำแนะนำที่เป็นประโยชน์มากในหลายๆ เรื่องของการทำฟาร์มปลานิล-ปลาทับทิม ซึ่ง “พี่เบิ้มและพี่ผึ้ง” ถนัดเรื่องทำการตลาดอยู่แล้ว จึงทำให้เริ่มต้นหาลูกค้าและขยายตลาดทางภาคใต้ได้สะดวกขึ้นมาก

โฆษณา
AP Chemical Thailand

2.กรเกียรติฟาร์ม02

“บริษัท กรเกียรติฟาร์ม 789 จำกัด” ฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาทับทิม/นิล ครบวงจร

คุณกรเกียรติ เล่าย้อนให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นที่ได้ร่วมงานกับ ซีเจฟาร์ม โดยย้อนกลับไป พี่เบิ้มและพี่ผึ้ง สั่งลูกปลาเป็นช่วงเวลาร่วมปีเศษๆ แรกๆ สั่งจำนวนแสนตัว ต่อมาก็ค่อยๆ สั่งเยอะขึ้นประมาณ 3-4 แสนตัว จนกระทั่งตนเองต้องขอเดินทางไปหา พี่เบิ้มและพี่ผึ้ง ด้วยตัวเองอยากไปดูให้เห็นกับตา และเพื่อปรึกษาถึงกระบวนการเลี้ยงให้มีอัตรารอดสูงๆ เพราะอยากให้เกษตรกรรับปลาจากเราไปเลี้ยง อัตรารอดสูง เติบโตดี ได้ขนาดหรือไซส์ที่สม่ำเสมอ รูปทรง/น้ำหนักดี เป็นที่ต้องการของตลาด

ทั้งนี้ ปลาของ กรเกียรติ ฟาร์ม 789 เป็นสายพันธุ์ที่แข็งแรง โตเร็ว ซึ่งต้องย้อนกลับไปบอกว่า ลูกปลาที่ออกจาก “กรเกียรติฟาร์ม 789” กินฮอร์โมนแปลงเพศ วันละ 6-8 มื้อ โดยให้อาหารโปรตีนไม่ต่ำกว่า 40% เมื่อกินอาหารฮอร์โมนครบ 21 วัน ตักขึ้นมาคัดขนาดเพื่อจำหน่ายให้เกษตรกรนำไปอนุบาลลงเลี้ยงในกระชังต่อไป ซึ่งขั้นตอนนี้สำคัญมาก เพราะเป็นการส่งไม้ต่อไปให้เกษตรกร

ปัจจุบัน “กรเกียรติฟาร์ม 789” พัฒนาลูกพันธุ์ปลานิลและปลาทับทิมจากการปรับปรุงพันธุ์ เป็นรุ่น F2 ส่วนปี 67 ก็จะมีรุ่น F3, F4, F5 ต่อไปเรื่อยๆ อย่างที่บอกว่า กรเกียรติฟาร์ม อยู่กับอาชีพทำฟาร์มปลามากว่า 20 ปี มีองค์ความรู้ และประสบการณ์ในทางปฏิบัติ และในทางวิชาการ จากการที่ได้ไปสัมมนาที่ต่างๆ จากประสบการณ์ที่ได้สะสมมาทั้งหมด นำมาต่อยอดสายพันธุ์ปลาและกระบวนการเลี้ยงให้ได้คุณภาพกว่าเดิม อย่างไรก็ตามในพื้นที่เลี้ยงก็ยังมีปัญหาให้แก้อยู่เสมอเป็นเรื่องปกติ เช่น

1.การเตรียมกระชังหรือบ่อในการเลี้ยงและอนุบาล โดยพื้นที่ภาคใต้ ส่วนใหญ่เป็นอ่าว ซึ่งเวลาน้ำนิ่งๆ มันจะเหมือนเป็นระเบิดเวลา จะเป็นบ่อเกิดของพวกปรสิตต่าง ๆ (parasite), ทั้งพวก ปลิงใส และพาหะต่างๆ ซึ่งจะเข้ามาในกระชังเลี้ยงสร้างความเสียหายให้ปลาที่เลี้ยงได้ง่าย เพราะจริงๆ แล้วการอนุบาลปลาควรจะอยู่ในบ่อดินจะดีกว่า และเราสามารถใส่ฟอร์มาลีน หรือสาดกูตาราดีไฮด์ หรือจะใส่จุลินทรีย์ ช่วยในเรื่องการรักษาคุณภาพน้ำได้

2.การลงลูกปลาให้เหมาะสม โดยเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้หลายราย ยังลงลูกปลาในอัตราหนาแน่น ซึ่งเราก็ต้องคอยให้คำแนะนำกับเกษตรกร สำหรับอัตราการลงลูกปลาที่เหมาะสม

3.การเลี้ยง/การให้อาหาร การให้อาหารไม่ถูกต้อง ทำให้ลูกปลาไม่โต หรือโตไม่เต็มที่ ไม่สมบูรณ์ ซึ่งต้องให้คำแนะนำผู้เลี้ยงเกี่ยวกับขนาดเม็ดอาหาร, ชนิดอาหาร หรือจำนวน % โปรตีน และให้ตามโปรแกรมที่ถูกต้อง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“การแก้ไขปัญหาที่เราทำได้ คือ การแนะนำวิธีเลี้ยงและการจัดการตามพื้นที่ที่เกษตรกรมี แต่ก็ไม่ได้สามารถทำได้ทุกครั้ง เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่, น้ำ และปัญหาอื่นๆ รวมถึงเรื่องเส้นทางการขนส่งที่ไกลกัน และปัจจัยอีกหลายๆ อย่างประกอบกัน ทั้งนี้ทางฟาร์มจึงต้องเตรียมลูกปลาที่แข็งแรง รวมถึงการขนส่ง ที่ตอบโจทย์กับเกษตรกร ซึ่งส่วนใหญ่เราจะใช้วิธีขนส่งแบบใส่ถังปรับอุณหภูมิด้วยน้ำแข็ง 24-25 องศาฯ ตลอดการเดินทาง หรือให้อยู่ราว ๆ 24-25 องศาฯ ตลอดการเดินทาง เพื่อให้ลูกปลาถึงบ่อของเกษตรกรนั้นแข็งแรงและสูญเสียน้อยที่สุด”

คุณกรเกียรติ ได้พูดถึงว่า ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่า ตนเองมองว่าเป็นประสบการณ์ เพื่อเราจะช่วยส่งเสริมเกษตรกรที่นี่ให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน เช่นเดียวกับ ทางพี่เบิ้มและพี่ผึ้ง ซีเจฟาร์ม ที่เราต่างก็มองเหมือนกันว่า เป็นการเรียนรู้และพัฒนาร่วมกันกับพี่น้องเกษตรกร ตรงจุดนี้ คือ ข้อดีด้วยซ้ำ ที่เกษตรกรมองว่า เราไม่ทอดทิ้ง อยากจะพัฒนาและยกระดับวงการเลี้ยงปลานิลของชาวปักษ์ใต้ให้ได้คุณภาพกว่าเดิมอย่างแท้จริง

3.กรเกียรติฟาร์ม03

CJ FARM หนุนเลี้ยงปลานิลคุณภาพ ยกระดับภาคใต้ สู่ตลาดส่งออก

สำหรับ ซีเจฟาร์ม มีโอกาสได้รู้จักกับทาง “กรเกียรติฟาร์ม” โดยผ่านงานสมาคมต่าง ๆ ที่เคยได้เข้าร่วมไปศึกษาดูงานตามที่ต่างๆ รวมถึงช่องทางโซเชียลก็ด้วย เพราะ “กรเกียรติฟาร์ม” เขามีชื่อเสียง ฟาร์มได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับและรู้จักอย่างกว้างขวาง จึงได้รู้จักและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้เรื่องการทำฟาร์มปลานิล-ปลาทับทิม และอาจจะด้วย Mind-Set และที่มีเป้าหมายเดียวกัน จึงร่วมกันทดลองขยายพันธุ์ปลานิลในภาคใต้

แรกเริ่มก็ทดลองสั่งลูกปลาขนส่งเต็มคันรถร่วมแสนตัว  เพื่อนำไปเลี้ยงอนุบาลและจำหน่ายต่อให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดโซนภาคใต้ แรกๆ ก็มีสูญเสียบ้าง อัตรารอดประมาณ 40-50% แต่ก็ค่อยๆ ลองผิดลองถูก ช่วยกันแก้ไขข้อผิดพลาดและอุดช่องโหว่ของปัญหา มีอะไรก็จะปรึกษาและพูดคุยกับทาง กรเกียรติฟาร์ม จากนั้นก็ค่อยๆ  เริ่มต้นไปพร้อมๆ กัน ทั้งเรื่องกระบวนการขนส่ง การเพาะเลี้ยง การทำตลาด พอช่วยสนับสนุนกัน มันก็ค่อยๆ ดีขึ้น

พี่เบิ้มและพี่ผึ้ง เล่าว่า บทบาทหน้าที่ของ ซีเจฟาร์ม ในปัจจุบัน คือ การส่งเสริมการเลี้ยงปลาให้กับเกษตรกรควบคู่กับการทำตลาดครบวงจร คือ เราหาตลาดให้เกษตรกรด้วย ไม่ใช่แค่ขายปลาอย่างเดียว และเรายังถ่ายทอด, ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านวิชาการให้เกษตรกรด้วย เพราะเรามุ่งหวังให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงปลาแล้วจับขายได้ราคาดี มีกำไร มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เราพัฒนาลูกปลาให้ได้คุณภาพ เพื่อส่งมอบให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงต่อ ส่วนเรื่องของอาหารเราก็สนับสนุนเกษตรกรเช่นกัน และอีกด้านหนึ่งที่สำคัญ คือ การทำตลาดและยกระดับความมีมาตรฐานของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อปลาสด ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมปลากระป๋อง หรือ ปลาแดดเดียว ซึ่ง ซีเจฟาร์ม ทำมาตั้งแต่แรกเริ่มอยู่แล้ว

โฆษณา
AP Chemical Thailand

4.กรเกียรติฟาร์ม04

ข้อมูลฟาร์มเลี้ยงปลาของ ซีเจฟาร์ม

  • ปัจจุบันมีประมาณ 240 กระชัง รวมเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาอีก 300-400 กระชัง รวมทั้งหมดประมาณ 500-600 กระชัง โดยเลี้ยงทั้งรูปแบบกระชังและบ่อดิน
  • กระชังมีทั้งขนาด 4×4 และ 5×5 เมตร
  • อัตราเลี้ยงปลา สำหรับกระชัง 5×5 เมตร ปล่อยประมาณ 1,800-2,500 ตัว (แล้วแต่ฤดูกาล) และกระชัง 4×4 เมตร ปล่อยเลี้ยงประมาณ 800-1,500 ตัว (แล้วแต่ฤดูกาล)
  • ค่า FCR ประมาณ 1.3-1.5 แล้วแต่ฤดูกาล
  • อัตรารอด อยู่ประมาณ 80% ขึ้นไป ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ถ้าฤดูแล้งก็จะลดลงมาเฉลี่ย 60-70%

5.กรเกียรติฟาร์ม05

ด้านกระบวนการเพาะเลี้ยงปลา ของ ซีเจฟาร์ม โดยพี่เบิ้มและพี่ผึ้ง บอกว่า ก็เลี้ยงตาม Step ตามโปรแกรมมาตรฐานทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น

-นำลูกปลา 7-10 วัน ที่ได้มา ลงบ่ออนุบาล ให้อาหารแบบผง

-พออายุได้ 10 วัน จึงให้อาหารขนาดเม็ดบัว และเพิ่มความถี่หรือมื้อในการให้ระหว่างวันในแต่ละวัน

-เพิ่มโปรตีนของสารอาหาร (ให้สมมติว่า เรากำลังเลี้ยงเด็กอ่อน)

-พอลูกปลาเริ่มโตขึ้น ให้ใช้การสังเกต และทำการร่อนเพื่อคัดแยกไซส์หรือขนาดปลา และเลี้ยงไปตามลำดับขั้นตอน และให้อาหารปลาตามโปรแกรม ได้แก่ อาหารเม็ดเบอร์ 1, เบอร์ 2 ตามลำดับ หลังจากนั้นก็เลี้ยงจนได้ระยะ 4 เดือน

6.กรเกียรติฟาร์ม06

แปรรูป-เพิ่มมูลค่าปลานิล สร้างแบรนด์ “ซีเจ เบญจรงค์”

เรื่องการทำตลาดทางภาคใต้ โดย พี่เบิ้มและพี่ผึ้ง บอกว่า ซีเจฟาร์ม เราจับปลาตั้งแต่ขนาดไซส์ประมาณ 0.6-2 กิโลกรัม โดยจะมีตลาดรองรับที่กว้างกว่าเจ้าอื่น และเพื่อให้เป็นตัวเลือกสำหรับลูกค้าอีกด้วย

ยกตัวอย่าง เช่น ปลาเนื้อ เราก็จะบริการส่งให้แม่ค้าจนถึงหน้าแผงหรือหน้าบ้านที่ตลาดเลย อย่างเดียวกันกับโรงแรมหรือร้านอาหารที่จะมีบริการแปรรูปให้ ซึ่งแล้วแต่การคุยข้อตกลงร่วมกันของโรงแรมกับเรา โดยตลาดของแต่ละกลุ่มจะเลือกใช้ปลาที่แตกต่างกัน เพื่อตอบโจทย์การนำไปใช้มากที่สุด และการตลาดอีกส่วนหนึ่งที่กำลังพัฒนา คือ ส่วนของ ‘แปรรูปผลิตภัณฑ์’  ซึ่งเรา R&D เรื่องนี้อย่างต่อเนื่องเพราะเป็นเป้าหมายหลักของ ซีเจฟาร์ม นั่นเอง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

สำหรับแนวคิดการทำแปรรูปโดย ซีเจฟาร์ม ทำมาแล้วกว่า 3 ปี เกิดจากเรามองเห็นถึงคนที่เป็นเกษตรกรจะรู้เลยว่า เลี้ยงปลาทำกำไร 2 รอบ ขาดทุนรอบเดียวเท่ากับขาดทุนหมด เลยเท่ากับทำงานฟรีทั้งปีเลย จึงเป็นเหตุต้องกลับมามองเรื่องการตลาด เรื่องปัจจัยการผลิต คือ เราต้องสร้างโอกาส และมีสิทธิ์เลือกได้บ้าง เพราะเกษตรกรไม่มีโอกาสที่จะกำหนดราคาเป็นของตัวเอง จึงทำให้เราศึกษาและพัฒนาเรื่องแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า และระบายผลผลิตได้มากขึ้น และเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองให้พี่น้องเกษตรกรกับผู้รับซื้อหรือพ่อค้าคนกลาง

7.กรเกียรติฟาร์ม07

ผลิตภัณฑ์ปลาเนื้อ หรือปลาน้ำจืดที่แปรรูปบรรจุกระป๋องนั้น ขณะนี้ ซีเจฟาร์ม ผ่านทำเรื่องผ่านการรับรองจาก อย.และ  SCACCP เป็นที่เรียบร้อย และกำลังเดินหน้าขอเครื่องหมายฮาลาล (HALAL) ในขั้นตอนต่อไป

ปัจจุบันตลาดปลานิลแข่งขันกันสูงเลย มองว่าน่าจะเอาปลานิลที่ได้คุณภาพ ข้ามตลาดแข่งขันไปบุกในตลาดอื่นๆ เช่น การแปรรูปอย่างที่บอก หรือแม้แต่ยกระดับคุณภาพการเลี้ยงให้ทัดเทียมกับตลาดปลากะพง เป็นต้น ส่วนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลานิลบรรจุกระป๋อง วันนี้สามารถผลิตและจำหน่ายในตลาด โดยสินค้าพื้นฐานมี 5 รสชาติได้แก่ รสเทอริยากิ รสต้มยำ รสหมาล่า รสมัสมั่น และ ปลาราดพริก ภายใต้แบรนด์ “ซีเจ เบญจรงค์”

“เรามองว่า หากสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลานิลไปสู่มาตรฐานสากลได้ ผ่านช่องทางการตลาดในยุคปัจจุบัน และการขนส่งที่ทันสมัย รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น ก้าง เกล็ด หัว ส่วนขี้ปลา ไส้ปลา คือ เราจะพยายามทำให้มันมีมูลค่า หรือแม้แต่การแล่เนื้อปลาส่งห้องเย็น เราก็ต้องผ่านห้องเย็นที่ได้มาตรฐาน ถ้าหากทำได้ เราก็สามารถส่งปลากระป๋องออกได้ทั่วโลก ที่เหลือก็ขอรับรองเครื่องหมาย HALAL อย่างเดียว ไปได้ทั่วโลกเลย นี่แหละคือสิ่งที่ ซีเจฟาร์ม ต้องการและทำอยู่

ส่วนช่องทางจำหน่ายและการตลาดในประเทศ ตอนนี้ก็จะเป็นขายผ่านออนไลน์อย่างเดียว ยังไม่ได้ขึ้นโมเดิร์นเทรด เพราะของเรามันต้นทุนสูง การตัดเปอร์เซ็นต์ ตัด GP มีในห้างสรรพสินค้า คือ สิ่งที่เราต้องเจอแน่นอน เพราะฉะนั้นเราจึงเลือกที่จะทำการตลาดแบบออนไลน์ก่อน ซึ่งหากมีความพร้อมและเราแข็งแรงพอ การจำหน่ายขึ้นห้างฯ ชั้นนำ ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป” พี่เบิ้มและพี่ผึ้ง กล่าว

เมื่อถามถึง ปลาทับทิม ทำไมไม่แปรรูปด้วย ซึ่งพี่เบิ้มและพี่ผึ้ง บอกว่า ต้นทุนปลาทับทิมสูงกว่าปลานิล โดยปลานิลต้นทุนกระบวนการผลิตต่างๆ ก็ว่าสูงแล้ว แต่ปลาทับทิมมีต้นทุนสูงกว่าเยอะมาก คือโจทย์ท้าทายให้เราต้องคิดค้นและพัฒนาต่อไป

8.กรเกียรติฟาร์ม08

พร้อมเปิดรับคู่ค้า มั่นใจตลาดปลานิลปักษ์ใต้ อนาคตสดใส

เมื่อถามถึงมุมมองส่วนตัว คิดว่าประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน สำหรับการเริ่มทำตลาดปลานิลในจังหวัดทางภาคใต้ โดย คุณกรเกียรติ บอกว่า อย่างที่บอกไปว่า “กรเกียรติฟาร์ม” ดำเนินธุรกิจผลิตลูกปลาจำหน่ายมาหลายสิบปี ได้ศึกษาและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ปลาอย่างถูกต้องตามหลักพันธุศาสตร์ และมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษา และก็มีศูนย์ปรับปรุงพันธุ์ที่ได้มาตรฐาน ภายใต้การพัฒนาอย่างชัดเจนถูกต้องและก็เติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

อย่างเช่น ช่วงเกิดโควิด-19 เราไปไหนไม่ได้ แต่ถือเป็นโอกาสที่เรามุ่งมั่นผลิตลูกปลาที่ได้คุณภาพ จนกระทั่งได้รับโอกาสจากทาง ซีเจฟาร์ม ที่ได้นำลูกปลาเข้ามาขยายและช่วยการทำตลาดทางภาคใต้ ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อมั่นว่าตลาดปลานิลสำหรับภาคใต้ยังมีโอกาส และเราก็พร้อมเปิดรับคู่ค้าที่สนใจมาร่วมเติบโตไปด้วยกัน

เพราะทาง ซีเจฟาร์ม ก็ได้ปูทางตลาดปลาเนื้อ และตลาดแปรรูป เอาไว้เรียบร้อยแล้ว ในส่วนการขนส่งและปัญหาเรื่องกระจายสินค้า ก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้หลักผู้ใหญ่และนักธุรกิจในพื้นที่หลายๆ ท่าน เพราะทุกคนที่เกี่ยวข้องมองว่าเป็นเรื่องดี ที่เพิ่มช่องทางและเพิ่มโอกาสในการที่จะขายของ ได้ผลักดันของดี หรือสินค้าที่ดีและมีคุณภาพของเกษตรกรในท้องถิ่นสู่ตลาดทั่วประเทศ เพราะเป็นทางเลือกใหม่ เป็นสินค้าที่เป็นน้องใหม่ที่จะเข้ามาในภาคใต้ ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน

ขอบคุณ บริษัท กรเกียรติฟาร์ม 789 จำกัด ติดต่อสอบถาม โทร.065-6289391 / 065-6289454

ขอบคุณ บริษัท CJ ฟาร์ม พัฒนา จำกัด ติดต่อสอบถาม โทร.096-7979128 / 097-0709825

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับที่ 410