กุ้งกุลาดำ ไซซ์ใหญ่พรีเมียม ตลาดจีนโตจริงหรือ??

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ในที่สุดประเทศไทยก็ยูเทิร์นไปหา กุ้งกุลาดำ เหมือนในอดีต

โดยมีบุคคลกลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วย ผู้ผลิตพ่อแม่พันธุ์ ผู้ผลิตนอเพลียส ผู้อนุบาลลูกกุ้ง ผู้เลี้ยงกุ้งเนื้อ ผู้ผลิตอาหารกุ้ง และ ผู้ส่งออก เป็นต้น ขับเคลื่อนจากฝั่งอันดามัน โดยเฉพาะในจังหวัด กระบี่ และ ภูเก็ต เป็นต้น ไปสู่ฝั่งอ่าวไทย จนเกิดกระแสด้วยการจัดสัมมนา ส่งสัญญานบอกถึงคนในวงการที่อยู่ในพื้นที่ความเค็มสูง

1.กุ้งกุลาดำ01

การจัดสัมมนางานกุ้งดำเพชรบุรี

ถ้านำเรื่องนี้มาวิเคราะห์ภายใต้ 3 ทฤษฎี ได้แก่ BUTTERFLY EFFECT KAOS และ TURBO DYNAMIC จะพบว่า ผลการวิเคราะห์ชัดเจนว่าเกิด “ลมใต้ปีก” ของ ผีเสื้อกุลาดำ หลายตัว ที่ขยับปีกพร้อมกัน แล้ว “รวมตัว” กระพือปีกในรูปของงานสัมมนา ล่าสุดเกิดที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 65 ณ ม.ราชภัฎฯ เพชรบุรี งานนี้ชาวกุ้งดำและกุ้งขาว หลายจังหวัด หลายร้อยคน มาร่วมงาน จนสามารถดูดที่ปรึกษา รมต.เกษตร มาขึ้นเวที สนับสนุนอย่างออกหน้าออกตา

กุ้งกุลาดำ กุ้งทะเลที่เกิดและเติบโตในทะเลหลายประเทศ เป็นอาหารโปรตีนสะอาดของนักกินกระเป๋าหนัก เนื่องจากรสชาติดี เนื้อแน่น อร่อย ในหลายๆ เมนู

ยุคที่กุ้งดำเฟื่องฟูในไทย ส่งผลให้ประเทศเป็นแชมป์โลกด้านการส่งออก โดยแลกด้วย ป่าชายเลน ที่วอดวายหลายจังหวัด

วันนี้คณะบุคคลจุดประกายกุ้งดำ เพราะเล็งเห็นคนกินที่เป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่คลั่งไคล้กับกุ้งเป็นๆ ที่อยู่ในรูป กุ้ง อ๊อก จากประเทศไทย แม้ราคาแพงก็ต้องกิน โดยเฉพาะกุ้งไซซ์ใหญ่ หน้า 2 ที่เป็นกุ้งระดับพรีเมียม กลายเป็นอาหารจานโปรดของคนมีระดับ จากนั้นก็นำกุ้งดำไซซ์กลางมาต้ม หรือแช่แข็ง ยืดอายุให้นานขึ้น เพื่อเปิดตลาดผู้บริโภคเกรด B ซึ่งมีปริมาณมาก ทำให้กุลาดำในจีนมีคน 2 กลุ่ม บริโภค

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การเป็น นกฟีนิกซ์ ของกุ้งกุลาดำครั้งนี้ มีข้อสังเกตหลายอย่าง เช่น 1.ความเบื่อหน่ายกุ้งขาวของเกษตรกร ที่สู้รบปรบมือกับสารพัดโรคไม่ไหว ตัดสินใจนำบ่อและเครื่องมือมาเลี้ยงกุลาดำ 2.ความง่ายในการเลี้ยงกุลาดำ ตอบโจทย์ทางธุรกิจชัดเจน 3.มีตัวอย่างของผู้สำเร็จให้ศึกษา และ 4.ความพร้อมของคนในคลัสเตอร์กุ้งกุลาดำ ในการแบกรับความเสี่ยง เป็นต้น

2.กุ้งกุลาดำ02

การผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำ

ในอุตสาหกรรมต้นน้ำ 6 หน่วยงานธุรกิจ ที่ผลิตพ่อแม่พันธุ์ ได้แก่ ซีพีเอฟ เทอร์โบ “ลายทอง” ม.บูรพา บจ.มารีน เอ็มไพร์ MOANAฯ เชนแฮทเชอรี่ และ BLACKGEV เป็นต้น ล้วนใส่เกียร์ห้าเดินหน้าทางธุรกิจ เช่นเดียวกับผู้ผลิตอาหารกุ้งกุลาดำ ทำธุรกิจเต็มรูปแบบ หลายบริษัทประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่าจะสู้ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้น และธุรกิจห้องเย็น รวมทั้ง ผู้ส่งกุ้งอ๊อก ก็ตะลุยลงพื้นที่ส่งเสริมการเลี้ยงเต็มตัว ซึ่งพื้นที่ความเค็มสูง หลายจังหวัดจะคึกคักมากขึ้นในปีหน้า

ระยอง จันท์ ตราด แปดริ้ว สมุทรปราการ เมือง 3 สมุทร เพชรบุรี และ ประจวบฯ ที่มีบ่อกุ้งร้างๆ มานาน จะถูกพัฒนาเป็นบ่อกุ้งกุลาดำอีกครั้ง แม้ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ แต่เงินนอกระบบจะหลุดมาเข้าวงการกุ้งดำแน่นอน

3.มือตลาดโกลด์ คอยน์ โชว์ความหอมของอาหาร
3.มือตลาดโกลด์ คอยน์ โชว์ความหอมของอาหาร

การบริหารจัดการบ่อกุ้ง

บริษัทอาหารกุ้งกุลาดำ ที่ จัดตั้ง ผู้เลี้ยงกุ้งให้ได้ผลผลิตคุ้มค่าต่อการลงทุน ถึงขนาดพิมพ์สมุดจดบันทึกการเลี้ยงกุ้ง พิมพ์ 4 สี คือ บริษัท โกลด์ คอยน์ สเปเชียลิตี้ส์ (ประเทศไทย) จำกัด ทุ่มสุดตัว เพื่อผลักดันอาหารกุ้งกุลาดำ 4 ชนิด ได้แก่ โกลด์ สุพรีม โกลด์ คลาสสิก โกลด์ แอดวานซ์ และ โกลด์ เอสเซนส์

ซึ่งมีโปรตีนตั้งแต่ 35-42 ให้ยึดตลาดมากที่สุด ได้ระบุโปรแกรมการใช้อาหาร น้ำหนักกุ้ง ตารางบันทึกการเลี้ยง สูตรการคำนวณหาผลผลิตของบ่อเลี้ยง ตารางผลบันทึกการเลี้ยงกุ้ง เป็นต้น และสรุปผลการเลี้ยงที่ระบุ “ต้นทุน” ทั้งหมด เพื่อให้เกษตรกรไปหักจากรายได้ขายกุ้ง เห็น “กำไร” ต่อครอปได้ชัดเจน และบริษัทอาหารกุ้งอีกหลายแบรนด์ ก็จะตะลุยฟาร์มมากขึ้น

แม้กระทั่ง คุณภาพน้ำ โกลด์ คอยน์ฯ ก็ไม่ละเลย ต้องให้เกษตรกรตรวจค่าตั้งแต่เดือนที่ 1-3 ทั้งในเรื่อง pH DO ความเค็ม อัลคาไลน์ แอมโมเนีย ไนไตรท์ ปริมาณแร่ธาตุ และ ชนิดของแพลงก์ตอน เป็นต้น

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เพื่อสร้างเกษตรกรต้นแบบ เป็นตัวอย่างการเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบยั่งยืนนั่นเอง

4.คุณชยานันท์ อินทรัตน์ (เสี่ยจอย) กล่าววัตถุประสงค์ของการจัดงาน
4.คุณชยานันท์ อินทรัตน์ (เสี่ยจอย) กล่าววัตถุประสงค์ของการจัดงาน

สภาพพื้นที่เลี้ยงกุ้ง

เกษตรกรหัวก้าวหน้าบางราย อย่าง คุณชยานันท์ อินทรัตน์ (เสี่ยจอย) ประธานชมรมกุ้งกุลาดำ เพชรบุรี ลงทุนเลี้ยงกุ้งกุลาดำ 10 บ่อ และกุ้งขาว 20 บ่อ ที่หาดเจ้าสำราญ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว กับ นิตยสารสัตว์น้ำ ว่า ตนเลี้ยงกุลาดำ โดยใช้ลูกกุ้งหลายบริษัท เช่น ไทยลักซ์ และ โมน่า เป็นต้น โดยลงกุ้งเฉลี่ยไร่ละ 1 แสนตัว บ่อขนาด 3-4 ไร่ ความเค็มของน้ำประมาณ 10-15 แต้ม น้ำลึกประมาณ 1.5-1.8 เมตร ให้อาหารประเภทอาร์ทีเมีย ใช้หลายบริษัท ส่วนอาหารเม็ดก็ใช้หลายบริษัทเช่นกัน ให้ออกซิเจนด้วยใบพัดผิวน้ำ ไม่ต้องให้ใต้น้ำ เพื่อเพิ่มต้นทุนแต่อย่างใด

พออายุ 75 วัน ก็สุ่มไซซ์เพื่อพาเชียล เอาไซซ์ใหญ่ขาย กุ้งที่เหลือจะโตไว เพราะไม่แน่น พอได้ไซซ์ 30 ตัว/กก. หรือ 40 ตัว/กก. ก็จับคว่ำบ่อ ราคาหน้าบ่อ 30 ตัว/กก. 300 บาท หรือ 40 ตัว/กก. ราคา 250 บาท ซึ่งผู้ซื้อเพื่ออัดอ๊อกส่งจีนไม่ต่ำกว่า 4 บริษัท ยืนยันว่าตลอด 5 ปี ที่เลี้ยงกุ้งกุลาดำไม่เจอปัญหาเรื่องโรคแต่อย่างใด

ในด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจ จะเห็นได้ว่า เสี่ยจอยใช้ปัจจัยการผลิตกับบริษัทที่มีชื่อเสียงอย่างน้อย 4 บริษัท เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพ และการบริการหลังการขาย เป็นการกระจายความเสี่ยง และวัดความรับผิดชอบของบริษัท ผ่าน “เซลล์” ประจำฟาร์ม ซึ่งกุ้งกุลาดำที่สายพันธุ์นิ่งแล้ว มักจะไม่มีปัญหาด้านการเลี้ยง เมื่อลงกุ้งแล้วมักจะคาดหวัง วัน เวลา การขายในราคาที่ชัดเจนได้นั่นเอง

5.กุ้งดำคุณภาพ ตัวสวยจัด แบบที่ตลาดต้องการ
5.กุ้งดำคุณภาพ ตัวสวยจัด แบบที่ตลาดต้องการ

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายกุ้ง

กุ้งกุลาดำพรีเมียมไซซ์ใหญ่ ปลอดสาร สีสวย เลี้ยงด้วยเจ้าของฟาร์มมืออาชีพ ในพื้นที่ความเค็มสูงหลายจังหวัด หากปริมาณเยอะขึ้น จะมีปัญหาด้านโลจิสติกส์ และผู้ซื้อ หรือไม่ โดยเฉพาะผู้นำเข้าใน จีน ฮ่องกง หรือที่กวางเจา แต่ละปีจะมีออเดอร์มากน้อยแค่ไหน??

จึงมีคำถามว่า ถ้าผู้ผลิตในนาม คลัสเตอร์กุ้งกุลาดำ จะวางแผนการผลิต/ปี ด้วยกุ้งพรีเมียมไซซ์ใหญ่ แล้วตั้ง “ราคา” ล่วงหน้า ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงตลาดจีนที่ผันผวน เหมือนสินค้าเกษตรตัวอื่น หรือจะวางแผนการผลิต กุ้งกุลาดำพรีเมียม ป้อน ญี่ปุ่น ยุโรป หรือ อเมริกา เป็นต้น ด้วยไซซ์ต่างๆ ในระบบกุ้งแช่แข็ง เพื่อแข่งกับ อินเดีย หรือ มาเลเซีย ที่ต้นทุนต่ำกว่าไทย จะเป็นไปได้หรือไม่??

โฆษณา
AP Chemical Thailand

คำตอบโปรดติดตามสัตว์น้ำฉบับหน้า รับรองว่าตาสว่างแน่นอน

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับที่ 399