ปลาดุก รัสเซีย ตลาดกว้าง เลี้ยงปีละ 4 รุ่น

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ปลาดุก เป็นปลาที่คนไทยรู้จักกันดี และนิยมบริโภคในอัตราที่สูง ปลาดุกเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด สำหรับประเทศไทยสามารถพบได้ในคลอง หนอง บึง ต่างๆ ทั่วทุกภาค หรือแม้แต่หนองน้ำที่มีน้ำเพียงเล็กน้อย เพราะเป็นปลาที่มีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจ จึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ในน้ำที่มีออกซิเจนต่ำได้

1.บ่อเลี้ยงปลาดุก
1.บ่อเลี้ยงปลาดุก

การเพาะเลี้ยงปลาดุก

นิตยสารสัตว์น้ำฉบับนี้จะพาไปรู้จักกับ “ตาก้องพันธุ์ปลาฟาร์ม” ฟาร์มเพาะเลี้ยงและอนุบาลลูกปลามาตรฐานในจังหวัดนครปฐม ฟาร์มแห่งนี้จำหน่ายปลาน้ำจืดหลากหลายชนิด เช่น ปลาดุกบิ๊กอุย / รัสเซีย ปลานิลจิตรดา ปลานิล ปลายี่สก ปัจจุบันบริหารจัดการโดย ณัฐ สุขเข หรือ คุณณัฐ ทายาทรุ่นที่ 3 ที่เข้ามาดูแลได้ 6 ปี แล้ว

“ตาก้องพันธุ์ปลาฟาร์ม”ก้าวเข้าสู่ปีที่ 22 โดยเริ่มต้นธุรกิจจากการเพาะพันธุ์และอนุบาลลูกปลาน้ำจืดหลากหลายชนิด แต่สายพันธุ์ปลาที่เพาะเลี้ยงมากที่สุด คือ “ปลาดุกบิ๊กอุย” ควบคู่กับการเลี้ยงปลาดุกเนื้อ ป้อนตลาดสดในช่วงแรกทางฟาร์มเลี้ยงปลาดุกอยู่เพียงไม่กี่บ่อ เพราะไม่ได้เน้นเลี้ยงเป็นปลาเนื้อ เพียงแต่นำลูกปลาที่เหลือจากการขายมาเลี้ยงสร้างรายได้อีกทาง แต่หารู้ไม่ว่าจากการเลี้ยงเพื่อระบายลูกปลาในครั้งนั้น คือ จุดเริ่มต้นของการเลี้ยงปลาดุกเกือบ 200 บ่อ บนพื้นที่กว่า 300 ไร่ ในปัจจุบัน จนเป็นรายได้หลักของฟาร์มในปัจจุบันนี้

“สมัยก่อนรุ่นคุณพ่อจะเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยเป็นหลัก เพราะตลาดมีความต้องการสูง แต่เมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา ผมเข้ามาดูแลฟาร์มต่อเป็นรุ่นที่ 3 เริ่มปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ปลาดุกเป็น “พันธุ์รัสเซีย” ถึงแม้ราคาจับขายจะถูกกว่าเกือบครึ่งแต่ปลาดุกรัสเซียจะใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้นกว่า ตัวใหญ่กว่า มีน้ำหนักมากกว่า

ซึ่งในรอบ 1 ปี ผมสามารถเลี้ยงปลาดุกได้มากถึง 3-4 ครอป เลยทีเดียว เมื่อเทียบกับสายพันธุ์บิ๊กอุยที่เลี้ยงได้เพรียง 1-2 ครอป ปลาดุกบิ๊กอุยต้องใช้เวลาเลี้ยง 6-8 เดือน แต่รัสเซียถ้าเราเลี้ยงด้วยอาหารดีๆ แหล่งน้ำดี ระยะเวลาแค่ 3 เดือนครึ่ง ก็โตเกือบโลแล้ว

ปัจจุบันทางฟาร์มจึงได้เปลี่ยนมาเลี้ยงเป็นปลาดุกรัสเซียเกือบ 100% แต่ยังพอมีปลาดุกบิ๊กอุยอยู่บ้างเกือบ 10 บ่อ เพราะยังมีแม่ค้าที่ใช้ประจำสั่งอยู่ ส่วนเนื้อสัมผัสของสองสายพันธุ์นั้นไม่ต่างกันมาก เพียงแต่เนื้อของปลาดุกบิ๊กอุยจะมีความแน่นกว่าปลาดุกรัสเซีย”

โฆษณา
AP Chemical Thailand
2.ลูกปลาดุก 2.5-3 นิ้ว
2.ลูกปลาดุก 2.5-3 นิ้ว

การอนุบาลลูกปลาดุก

จากฟาร์มอนุบาลลูกปลาสู่การทำปลาเนื้อ สำหรับองค์ความรู้ที่นำมาใช้นั้น คุณณัฐได้เผยว่า “จริงๆ แล้วในชุมชนตาก้องเป็นชุมชนที่เลี้ยงปลาเป็นหลักมานานแล้ว ผมก็สอบถามคนในชุมชน ศึกษามาเรื่อยๆ ตอนนั้นก็ได้ลองผิดลองถูก และใช้ประสบการณ์ที่ได้จากการอนุบาลลูกปลามาปรับใช้”

การเลี้ยงปลาดุกจะใช้ต้นทุนเยอะหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับแหล่งอาหารที่หาได้ หากได้แหล่งอาหารถูก ต้นทุนการผลิตก็ถูกตามไปด้วย เพราะปลาดุกเป็นปลาที่กินเยอะมาก จะเลี้ยงได้กำไรหรือขาดทุนต้องดูที่ต้นทุนค่าอาหารเป็นหลัก

“ถ้าเราให้ไส้ไก่กิโลละ 8 บาท แต่ปลาดุกรัสเซียราคาขายค่อนข้างถูกโลละ 20-30 บาท เราขาดทุนแน่ๆ แต่ถ้าเราเอามันไส้หมูมาต้มเราจะได้น้ำมัน ซึ่งน้ำมันหมูสามารถเอาไปขายต่อได้ แล้วนำมาเป็นค่าอาหารปลา แต่อาจจะยุ่งยากหน่อย” คุณณัฐกล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่องอาหารที่นำมาใช้

3.คนงานกำลังจับปลาดุก
3.คนงานกำลังจับปลาดุก

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย ปลาดุก

สำหรับปัญหาที่ทางฟาร์มเจอ คือ ราคาตลาด ปัญหาเศรษฐกิจ และที่เจอหนักๆ คือ ช่วงโควิด-19 ที่ตลาดปลาต้องปิดตัวไป ในส่วนของปลาเนื้อก็ต้องเลี้ยงต่อไปก่อน แต่ในลูกปลาไม่ค่อยมีผลกระทบ เพราะเป็นสิ่งที่ฟาร์มปลาเนื้อต้องใช้อยู่แล้ว

ส่วนการตลาดของทางฟาร์มส่วนใหญ่จะเป็นตลาดในกรุงเทพฯ จะมี ตลาดบางแค คลองสี่ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นตลาดบางแค จะส่งออกวันละ 2.5 ตัน ส่วนคลองสี่จะส่งออกวันละ 1.4 ตัน และมีส่งออกที่ตลาดไท ตลาดโมเดิร์นเทรด และ อเมริกา ยอดส่งออกส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 3 ตันขึ้นไป/เดือน

4.ตัวใหญ่ ไซซ์สม่ำเสมอ
4.ตัวใหญ่ ไซซ์สม่ำเสมอ

การบริหารจัดการบ่อปลาดุก

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ของทางฟาร์มนั้น จะใช้แม่พันธุ์ของที่ฟาร์มเอง ส่วนพ่อพันธุ์จะเป็นของฟาร์มที่นครนายก เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องเลือดชิด ส่วนเทคนิคการคัดเลือกนั้น ตัวแม่พันธุ์ต้องมีน้ำหนัก 8 ขีดขึ้นไป ส่วนตัวพ่อพันธุ์ต้องขนาด 4-5 กิโลกรัมขึ้นไป เพื่อความสมบูรณ์พันธุ์ โดยการผสมจะใช้วิธีฉีดน้ำเชื้อเข้าตัวแม่พันธุ์

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ส่วนปัญหาเรื่องโรคในปลาดุกนั้น หากมีการดูแลจัดการน้ำดีตั้งแต่ตอนแรกจะไม่มีปัญหาเรื่องโรคเลย ซึ่งโรคหลักๆ ที่พบในปลาดุกจะมีโรคดีซ่าน เกิดจากการที่ปลากินไขมันเยอะเกิน และโรคลำพอง ตัวปลาด้านข้างจะพอง ซึ่งโรคส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการดูแลจัดการน้ำ การป้องกันหรือแก้ไข คือ ต้องมีการฆ่าเชื้อในน้ำ โดยใช้ไอโอดีนในปริมาณที่เหมาะสม และมีการถ่ายน้ำออก

“การจัดการน้ำให้ดีก็อยู่ที่การให้อาหาร ถ้าให้อาหารพอดี ไม่มีเศษอาหารหลงเหลือ น้ำก็จะเสียช้า ส่วนการถ่ายน้ำในช่วง 2 เดือนแรก อาจจะยังไม่ต้องถ่าย มาเริ่มถ่ายช่วงประมาณ 3-4 เดือน ถ่ายอาทิตย์ละครั้ง เพราะเป็นช่วงที่ออกซิเจนในน้ำเยอะ ปลากำลังโตดี ถ่ายออกประมาณ 50-70%”

การเตรียมบ่อให้พร้อมสำหรับลงปลาชุดใหม่ ทางฟาร์มจะเริ่มจากการถ่ายน้ำเก่าทิ้งให้หมด แล้วตากบ่อให้แห้งใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ หลังจากนั้นจะโรยปูนขาว 25 กิโลกรัม/ไร่ และตากต่ออีก 1 วัน หลังจากนั้นนำน้ำเข้า และเมื่อเตรียมบ่อเสร็จสามารถลงลูกปลาได้เลย ไม่ต้องเตรียมอาหารธรรมชาติ เพราะบ่อที่ใช้เป็นบ่อดิน และน้ำที่ถ่ายก็ถ่ายได้ไม่หมด จะมีอาหารธรรมชาติหลงเหลืออยู่ และจะเกิดขึ้นมาเอง หรือถ้าเติมน้ำแล้วทิ้งไว้สองวันเพื่อให้ลูกไรเพิ่มจำนวนขึ้น

ทางฟาร์มจะลงลูกปลา 3 หมื่นตัว / ไร่ เป็นปริมาณที่อยู่ในระดับกลางๆ ไม่บางหรือหนาแน่นเกินไป ส่วนอัตรารอดจะดีหรือไม่ดี อยู่ที่การให้อาหาร และเมื่อเลี้ยงไปได้ 4 รอบ ทางฟาร์มจะทำการปาดหน้าดินทิ้ง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาพื้นบ่อเสีย หรือทำปีละครั้ง

การให้อาหารปลาดุก

เทคนิคการให้อาหาร ให้พอดี คือ จะสังเกตจากอาหารที่ให้ไปว่ากินหมดหรือเหลือ ควรให้อาหารในปริมาณที่ปลากินหมดในแต่ละมื้อ ส่วนการให้อาหารของทางฟาร์มนั้น ในปลาเล็กจะให้อาหารเม็ดวันละ 2 มื้อ เช้า-เย็น เมื่อปลาเริ่มมีขนาดเท่านิ้วโป้ง (ประมาณ 2 อาทิตย์) จะเริ่มปรับมาให้อาหารสด ใน 1ไร่ จะแบ่งให้ประมาณ 4 จุด

เมื่อถามถึงความยากของการเลี้ยงปลาดุก คุณณัฐได้เผยว่า “ความยากที่สุดเลย คือ เรื่องอาหาร อย่างที่บอกไป ถ้าเราสามารถหาแหล่งอาหารที่ต้นทุนต่ำได้ เลี้ยงเลย ถ้าหาแหล่งอาหารไม่ได้ต้องใช้อาหารเม็ด ไม่แนะนำให้เลี้ยง เพราะไม่คุ้มทุน”

โฆษณา
AP Chemical Thailand
5.เนื้อแน่น ได้น้ำหนัก
5.เนื้อแน่น ได้น้ำหนัก

เป้าหมายในอนาคต

ส่วนเรื่องการรับลูกบ่อนั้น ทางฟาร์มเริ่มทำมาได้ 2 ปีแล้ว เนื่องจากช่วงนั้นเป็นช่วงที่ตลาดปลาดุกกำลังดี ผลิตขายไม่ทัน จึงตัดสินใจเปิดรับลูกบ่อ และหากเกษตรกรท่านใดสนใจเข้าร่วมเป็นลูกบ่อตาก้องพันธุ์ปลาฟาร์ม เพียงแค่ใช้ลูกปลาที่ฟาร์มและปล่อยในจำนวนที่เหมาะสม แต่ตอนนี้จะรับเฉพาะลูกบ่อที่อยู่ในโซนภาคกลางก่อน

“หลักเกณฑ์การในลูกบ่อของที่ฟาร์มไม่มีเลยครับ เพียงแค่ใช้ลูกปลาที่ฟาร์มเราก็รับซื้อกลับหมด เพราะเรารู้ว่าลูกปลาของที่ฟาร์มเป็นยังไง หรือหากเลี้ยงไปแล้วจะไม่นำกลับมาขายที่เราก็ได้ เราไม่ได้กำหนด และหากสนใจเลี้ยงสามารถซื้ออาหารที่เราได้ด้วย” คุณณัฐให้ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับใครที่สนใจสมัครเป็นลูกบ่อ

ส่วนกำลังการผลิตของที่ฟาร์มจะอยู่ที่ประมาณ 100 ตัน/เดือน ของลูกบ่ออีกประมาณ 100 ตัน/เดือน เป้าหมายในอนาคต ตั้งใจขยายกำลังการผลิตที่ฟาร์มให้ได้เดือนละ 200 ตัน และมีวางแผนทำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อปลาดุก เช่น ไส้กรอกปลาดุก ลูกชิ้นปลาดุก เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตที่เรามี

ถึงแม้ว่าปัจจุบันการเลี้ยงปลาดุกเพื่อบริโภคเนื้อจะเป็นธุรกิจสร้างรายได้หลักของครอบครัวคุณณัฐแล้วนั้น แต่สำหรับธุรกิจเพาะจำหน่ายลูกปลาน้ำจืด ที่เป็นกิจการเริ่มต้นของครอบครัว คุณณัฐก็ไม่ได้ทิ้ง ยังคงดำเนินการและพัฒนากิจการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นรายได้อีกช่องทางหนึ่ง

ขอขอบคุณข้อมูล คุณณัฐ สุขเข ตาก้องพันธุ์ปลาฟาร์ม

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับที่ 382