เทคนิค ” การเลี้ยงปูนา ” ราคาแพง ขายได้ทุกส่วน มีตลาดนอกและในรองรับทั้งปี

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การเลี้ยงปูนา

ในอดีตมักจะพบเห็นปูนาจำนวนมากอยู่ตามนาข้าว หรือแหล่งน้ำต่างๆ แต่ปัจจุบันด้วยการทำเกษตรกรรมที่มีการใช้สารเคมีกันอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ ในระบบนิเวศน์ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า รวมถึงปูนาด้วยเช่นกัน จนพบว่าปูนามีจำนวนน้อยลง และหาจับจากธรรมชาติได้ยากขึ้น

จึงทำให้มีเกษตรกรนำมาเพาะเลี้ยงเพื่อป้องกันไม่ให้สูญพันธุ์ในอนาคต จนกลายเป็นอาชีพหลักในปัจจุบัน ซึ่งสร้างกำไรได้ไม่น้อยไปกว่าสัตว์ชนิดอื่นเลยทีเดียว ทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำจะพาผู้อ่านไปเรียนรู้เกี่ยวกับปูนา ตั้งแต่วงจรชีวิต การเพาะเลี้ยง ไปจนถึงด้านการตลาด ที่ ตูมตาม ฟาร์มปูนา ในจังหวัดสิงห์บุรี

คุณปานศิริ ปาดกุล หรือคุณตูมตาม เจ้าของฟาร์มปูนาที่มีอายุเพียง 26 ปี เท่านั้น แต่ประสบความสำเร็จในการเพาะ เลี้ยงปูนา จนสามารถส่งออกไปต่างประเทศ สร้างรายได้จำนวนมาก โดยคุณตูมตามกล่าวว่า “ตนเรียนจบปริญญาตรี ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ หลังจบออกมาก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไป คือ เริ่มหางานทำ เคยทำงานหลายที่ ทั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด และโรงงาน ที่สุดท้าย คือ โรงงานนวนคร

ช่วงนั้นคุณพ่อประสบอุบัติเหตุตกต้นไม้ เป็นจุดที่ทำให้ต้องลาออก แล้วกลับมาอยู่บ้าน แม่ก็ไม่สบาย พ่ออยู่โรงพยาบาล ต้องดูแลทั้งพ่อและแม่ที่ป่วย และไม่มีงานทำ เงินเก็บที่มีก็ค่อยๆ หมดไป รถเข้าไฟแนนซ์ ที่ดิน และบ้าน ติดจำนอง ก่อนที่จะมาเพาะ เลี้ยงปูนา มีหนี้สิน 1.4 ล้านบาท นับตั้งแต่ เลี้ยงปูนา มาใช้เวลา 1 ปี ปลดหนี้ได้ทั้งหมด”

1.คุณปานศิริ-ปาดกุล-เจ้าของฟาร์มปูนา
1.คุณปานศิริ-ปาดกุล-เจ้าของฟาร์ม เลี้ยงปูนา

จุดเริ่มต้นการ เลี้ยงปูนา

จุดเริ่มต้นที่ เลี้ยงปูนา เริ่มจากเห็นว่าจำนวนปูนาในธรรมชาติลดน้อยลง เนื่องจากช่วงที่กลับมาอยู่บ้านได้ออกไปหาจับปูนาที่อยู่ตามธรรมชาติ ที่ตอนเด็กๆ เคยจับได้เยอะๆ จะนำมาทำอาหารให้พ่อกับแม่กิน ปรากฏว่าออกไปหาแล้วไม่มี จึงคิดว่าจะเลี้ยงเพื่อไว้ทำอาหารอย่างเดียว เริ่มจากจับจากที่ต่างๆ และซื้อจากชาวบ้าน พอยิ่งหามาได้ก็เริ่มทดลองเลี้ยงเป็นธุรกิจ

เริ่มแรกก็คิดว่าบ่อ เลี้ยงปูนา จะต้องมีน้ำ ดิน หญ้า และองค์ประกอบอื่นๆ จำลองบ่อเลี้ยงเลียนแบบธรรมชาติ แล้วปล่อยปูนาลงไป ปรากฏว่าปูนาตายทั้งหมด ก็ต้องมาเริ่มคิดหาสาเหตุ ศึกษาจนพบว่าดินเมื่อเจอกับน้ำจะขุ่น ปูเดินขึ้นลง น้ำก็ขุ่น พอน้ำขุ่น เมื่อปูนาอยู่ในน้ำแล้วจะมีการฟอกอากาศเข้าไปในร่างกาย จะเหมือนกับคนที่ได้รับสารพิษเข้าไปก็จะตาย แต่ก็สงสัยว่าธรรมชาติปูนาก็อยู่กับดินแต่ทำไมไม่ตาย สาเหตุเพราะปูนาในธรรมชาติเมื่อเจอน้ำขุ่นแล้วฟอกอากาศเข้าไปแล้ว ปูนาจะเดินไปหาแหล่งน้ำใสเพื่อฟอกตะกอนที่อยู่ในตัวออกไป

โฆษณา
AP Chemical Thailand

แต่เมื่อนำมาเลี้ยงในบ่อปูนแล้วใส่ดิน จะไม่มีพื้นที่น้ำใส น้ำจะขุ่นทั้งหมด พอฟอกตะกอนออกไม่ได้ ปูนาก็ตาย ปัญหาอีกอย่าง คือ เรื่องของอากาศ ปูนาจะใช้เวลาปรับสภาพประมาณ 3-5 วัน บางพื้นที่อาจจะใช้เวลาถึง 7 วัน อากาศเย็นจะทำให้ปูสลัดขาแล้วก็ตาย เหมือนการนำปูไปสัมผัสน้ำแข็ง ถ้าปูโดนน้ำแข็ง หรือน้ำเย็นจัด จะสลัดขาออกทั้งหมดโดยอัตโนมัติ แล้วก็ตาย

แต่ถ้าเป็นการสลัดขาเองตามปกติ ประมาณว่าอยู่ดีๆ แล้วสลัดขาเอง อาจจะเกิดจากการหนีคู่ต่อสู้ โดยต้องสลัดก้าม หรือขา ทิ้งบ้าง เพื่อให้วิ่งหนีได้เร็วขึ้น และปกติตามธรรมชาติส่วนที่ปูนาสลัดทิ้งก็จะงอกออกใหม่ได้เมื่อมีการลอกคราบ

แต่ที่จริงแล้วถ้าจะกำหนดว่าอุณหภูมิที่ใช้เลี้ยงจะต้องเท่าไรนั้นจะทำให้เกิดปัญหา คือ บางคนสามารถทำได้ บางคนมองว่ายุ่งยากก็ทำไม่ได้ จึงต้องยอมให้ปูตาย และศึกษาหาสาเหตุว่าเพราะอะไร  อย่างเช่น เกษตรกรที่อยู่ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่อากาศเย็นอยู่แล้ว ก็จะให้นำไปเลี้ยงก่อน แล้วก็แจ้งคนที่จะนำไปเลี้ยงว่าต้องมีการตาย แล้วพอมีการตายให้ส่งรูปมาให้ดู เมื่อรู้ว่าปูนาเป็นอะไรตายแล้วจะบอกแนวทางแก้ไขให้

ถ้าไปบอกให้กำหนดอุณหภูมิว่าต้องเท่าไร ทำให้บางคนไม่อยากจะเลี้ยงเพราะยุ่งยาก สู้ให้ปูนาได้ปรับตัวจนอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมนั้นๆ จะดีกว่า แล้วค่อยมาแก้ไขการตายเกิดจากอากาศเย็นจัด พออากาศเย็นจัดจะบอกให้เกษตรกรเพิ่มระดับน้ำจากปกติ 10-15 ซม. เพิ่มเป็น 30-40 ซม. ปูนาอยู่ได้ปกติ เพราะปูเป็นสัตว์น้ำอยู่แล้ว น้ำลึกแค่ไหนก็อยู่ได้

เหตุผลที่ต้องให้เพิ่มระดับน้ำเพราะว่ายิ่งน้ำลึกเท่าไร พื้นท้องน้ำก็จะยิ่งอุ่น ผิวหน้าน้ำด้านบนก็จะเย็น และบวกกับผักตบชวาที่ใส่ไว้ที่ลอยอยู่ผิวน้ำก็ยิ่งทำให้อุณหภูมิคงที่ โดยภาพรวม คือ ปูนาจะชอบอุณหภูมิน้ำปกติมากกว่า ถ้าเย็นจัดมีการตายแน่นอน

2.ปูนา
2.ปูนา

การจำหน่ายปูนา

ด้านการตลาดในปัจจุบันจะให้เกษตรกรเลี้ยงแล้วจับผลผลิตกลับมา และจะมีตลาดรองรับให้แต่ละจังหวัด ทั่วประเทศ ยกตัวอย่างเช่น เกษตรกรทางภาคอีสาน ถ้าเลี้ยงแล้วส่งผลผลิตกลับมาที่สิงห์บุรี ระยะทางไกล จึงต้องมีตลาดใกล้ๆ โดยแต่ละจังหวัดจะมีการดีลกับพ่อค้า แม่ค้า คนกลาง โรงงานปูดอง พ่อค้า แม่ค้า ร้านส้มตำ พ่อค้า แม่ค้า ที่นำไปดองขาย ว่าเจ้าไหนปูไม่พอ ก็จะมีการดีลให้เอาของอีกเจ้าไปส่งให้ ส่วนเรื่องของราคาก็ให้ตกลงกันเอง แต่จะมีการกำหนดเกณฑ์ราคาขั้นต่ำไว้ ถ้ามีการซื้อขายที่สูงกว่าราคาขั้นต่ำก็สามารถทำได้ แต่ห้ามขายต่ำกว่าราคาที่กำหนด

โฆษณา
AP Chemical Thailand
  • พ่อแม่พันธุ์ขายราคาคู่ละ 100 บาท เป็นปูที่คัดแล้วแข็งแรง สมบูรณ์ สีสันดี กระดองดี ขายาว ก้ามยาว ส่วนลูกปูไม่แนะนำให้นำไปเลี้ยง เพราะมีโอกาสตายสูง ในส่วนของปูกิโล คือ ปูที่ไม่แข็งแรง ไม่สามารถทำพ่อแม่พันธุ์ได้ จะถูกคัดขายเป็นปูกิโลเพื่อนำไปทำอาหาร
  • ปูจ๋าช่วงนี้ราคาส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 100-120 บาท
  • ถ้าเป็นปูดอง จะมีดองเกลือ ดองน้ำปลา ดองซอสเกาหลี ญี่ปุ่น ราคาตั้งแต่ 150-500 บาท/กก.
  • ปูสดช่วงนี้ราคาอยู่ที่ 100-180 บาท/กก. ราคาขึ้นอยู่กับขนาด ยิ่งขนาดใหญ่ แล้วปูที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป จะสามารถนำก้าม เนื้อ และมันปู มาแยกขายได้ต่างหาก
  • อย่างขาและส่วนอื่นๆ ที่เหลือจะนำมาทำเป็นน้ำหมักชีวภาพซึ่งเป็นไคโตซาน ฉีดพ่นในไร่นา สวน หรือปรับสภาพน้ำได้ด้วย
3.บ่อซีเมนต์ที่เลี้ยงปูนา
3.บ่อซีเมนต์ที่ เลี้ยงปูนา

การเตรียมบ่อ เลี้ยงปูนา

การเลี้ยงในบ่อปูนนั้นดูแลง่าย ทำความสะอาดง่าย จับง่าย ถ้าเป็นการเลี้ยงในบ่อดินก็สามารถเลี้ยงได้ แต่ถ้ามีออเดอร์เข้ามา 500 กิโลกรัม การจะไปล้วงจับปูนาที่อยู่ในรูไม่ใช่เรื่องง่าย แถมเมื่อล้วงออกมาจากรูแล้วตัวปูนาก็สกปรก ต้องมาพักในบ่อน้ำใส เพื่อให้ปูนาได้ฟอกตะกอนในตัวออกมา ใช้เวลา 3-5 วัน จึงจะส่งให้ลูกค้าได้ โอกาสที่ปูนาจะตายก็จะมีสูง แต่ถ้าเลี้ยงในบ่อปูนน้ำใส ปล่อยน้ำทิ้ง แล้วตักปูแพ็คส่งลูกค้าได้เลย ก็จะง่ายและดีกว่า ปัจจุบันจึงเลี้ยงในบ่อปูนอย่างเดียว

การเลี้ยงในบ่อปูนนั้นไม่ยาก ความสูงของบ่อแค่อิฐบล็อก 2 ก้อน แล้วพื้นด้านในต้องขัดมันให้เรียบป้องกันปูปีนออก บ่อปูนที่ก่อสร้างเสร็จใหม่ๆ จะแช่น้ำใส่ด่างทับทิมไว้ 3 วัน หลังจากนั้นก็จะล้างทำความสะอาด แล้วเติมน้ำใหม่ลงไปประมาณ 10-15 ซม. แล้วก็นำอิฐบล็อกมาวาง ใส่ผักตบชวา

แล้วปล่อยปูนา แต่ช่วงระยะเวลา 3-5 วันแรก จะมีการตายแน่นอน เพราะว่าเมื่อย้ายปูนาจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง สภาพอากาศจะมีความแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นปูนาจะมีปัญหาการตายพอสมควร ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

4.บ่อเพาะพันธุ์ปูนา
4.บ่อเพาะพันธุ์ปูนา

การเพาะพันธุ์ปูนา

ตามธรรมชาติปูนาออกลูกปีละครั้ง แต่ปัจจุบันจะมีการบังคับให้ผสมพันธุ์ จากการสังเกตพบว่าก่อนที่ปูนาจะผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ ในช่วงฤดูร้อนจะต้องจำศีล ช่วงเวลาที่จำศีลจะอยู่ในรูใต้ดินลึกมาก ปูนารู้ได้ยังไงว่าฝนตก เนื่องจากเวลาฝนตก น้ำฝนก็จะซึมลงดิน อุณหภูมิของดินก็ต่ำลง มีความชื้น ทำให้ปูนารู้ว่าฝนตกแล้วต้องขึ้นมาผสมพันธุ์ จึงใช้หลักการนี้มาใช้ผสมพันธุ์เทียมในบ่อปูน

โดยบ่อปูนจะมีรูระบายน้ำ ให้ค่อยๆ ปล่อยน้ำออกจนน้ำแห้ง แล้วปล่อยให้บ่อปูนแห้งสนิทไปเลย โดยที่ไม่ต้องให้อาหารด้วย ก็จะสังเกตได้ว่าตัวปูนาจะแห้ง พอปูนาตัวแห้งก็จะเริ่มหาที่จำศีล เพราะคิดว่ากำลังเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ก็จะเริ่มเข้าไปอยู่ในรูอิฐบล็อก

หลังจากเข้าไปอยู่ในรูอิฐบล็อกแล้ว ปล่อยทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ แล้วค่อยๆ เติมน้ำลงไปในบ่อ นำแสลนมาคลุม และนำแผ่นสังกะสีมาปิดทับปากบ่อ แล้วก็ค่อยๆ ฉีดน้ำ การฉีดน้ำจะค่อยๆ ฉีดให้เป็นฝอยๆ ถ้าฉีดแรงจะทำให้ปูตกใจได้ ต้องจำลองให้เหมือนฝนตก พร้อมๆ กับค่อยๆ เพิ่มระดับน้ำในบ่อ จะทำให้ปูรู้สึกว่ากำลังจะเข้าฤดูฝนอีกครั้ง ก็จะออกมาจากรูอิฐบล็อกเพื่อผสมพันธุ์

โฆษณา
AP Chemical Thailand

แต่ก่อนจะผสมพันธุ์ตัวปูนาจะมีสีสันที่หลากหลาย ได้แก่ สีม่วง ส้ม ชมพู เหลือง เทา ฟ้า แดง ดำ แต่สีที่ปูนาจะผสมพันธุ์ได้ดีที่สุด คือ สีแดงดำอมม่วง พอปูนาเริ่มเจอน้ำ จากที่ตัวมีสีเหลือง ม่วง ส้ม ก็จะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดงดำอมม่วง ในช่วงผสมพันธุ์ แล้วพอเติมน้ำจนถึงจุดที่ต้องการ คือ 10-15 ซม. หรือมากกว่านั้นก็ได้ ก็จะเข้าสู่รอบผสมพันธุ์

เริ่มจับคู่กัน แล้วแยกกันอยู่ในรูคู่ใครคู่มัน โดยตัวเมียอยู่ในรู ตัวผู้อยู่ปากรูคอยเฝ้าดูแล จนกว่าจะออกลูกเป็นตัวแล้วถึงจะออกจากรู ใช้เวลาผสมพันธุ์จนออกลูกประมาณ 40-45 วัน หรือบางครั้งเมื่อผสมพันธุ์แล้วอาจจะมีสภาวะที่ปูนาอาจจะยังไม่พร้อม อาจจะใช้เวลา 5-15 วัน ถึงจะเริ่มมีการฟอร์มไข่ที่กระดอง

หลังจากไข่ที่กระดองสมบูรณ์เต็มที่ ปูนาถึงจะคายไข่ที่กระดองมาไว้ที่หน้าท้อง หรือที่เรียกว่า จับปิ้ง ไข่นั้นจะมีสีเหลืองอ่อน แล้วเปลี่ยนมาเป็นสีเหลืองแก่ แล้วถึงจะเป็นตัวอ่อน อัตราการรอดปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 98 %

อาหารของลูกปู

หลังจากที่ลูกปูออกจากหน้าท้องของแม่ปูช่วงอายุ 3 วัน ถึง 1 เดือนครึ่ง จะเลี้ยงด้วยไข่แดงต้มสุก ปูพอโตขึ้นก็จะมีการแตกไซส์ หลังจากหยุดให้ไข่แดงแล้วจะมี 5 ไซส์ คือ โป้ง ชี้ กลาง นาง ก้อย เลี้ยงต่ออีก 1-1.5 เดือน ก็จะจับขายได้ หลังจากหยุดให้ไข่แดงจะเลี้ยงด้วยอาหารไฮเกรด เป็นอาหารลูกอ๊อดชนิดเม็ดลอยน้ำ เวลาให้อาหารปูนาก็จะขึ้นมากินอาหารเอง โดย 1 ตัว กินประมาณ 4-5 เม็ด ให้ทุกวันช่วงเย็น

ใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 2.5-3 เดือน จับขายเป็นปูจ๋าสำหรับทอด

สรุป คือ จะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 2.5-3 เดือน จับขายเป็นปูจ๋าสำหรับทอด ถ้าอายุ 6 เดือน สามารถเริ่มเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ อายุขัยของปูเฉลี่ยประมาณ 2 ปีกว่า แต่พ่อแม่พันธุ์อายุ 6 เดือน จะสมบูรณ์ที่สุด สามารถใช้เพาะได้ประมาณ 4-6 ครั้ง ก็จะตาย

ลูกค้าที่อยากได้พ่อแม่พันธุ์ก็จะขายพ่อแม่พันธุ์ที่สามารถเพาะพันธุ์ได้ตั้งแต่ครั้งแรก เพราะถ้าให้พ่อแม่พันธุ์ที่แก่แล้วจะใช้ผสมพันธุ์ได้แค่ 1-2 ครั้ง ก็จะตาย และที่สำคัญปูนาตัวใหญ่ เมื่อมีการขนย้ายจะสลัดขาออกเพื่อให้คล่องตัว แต่ปัญหา คือ เมื่อมีการสลัดมากเกินไปปูก็จะตาย ช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม ปูนาตามธรรมชาติจะหายาก

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ทำให้ปูนาที่เลี้ยงขายมีราคาสูงมาก แต่ช่วงมิถุนายน-ตุลาคม ปูนาในธรรมชาติจะมีจำนวนมาก แต่จะมีข้อเสียตรงที่ว่าปูธรรมชาติจะไม่มัน เนื้อไม่แน่น มีปลิงใส พยาธิ ปรสิต แต่ปูเพาะเลี้ยงใช้น้ำประปา ซึ่งมีคลอรีนฆ่าเชื้ออยู่แล้ว น้ำจึงสะอาด ไม่มีปลิงใส พยาธิ ปรสิต แล้วก็ปูจะมีความมัน เนื้อแน่น เพราะขุนอาหาร ก็จะทำให้ปูที่เลี้ยงเป็นที่นิยมถึงตอนนี้ เลี้ยงปูนา ในบ่อปูนมาแล้ว 4 ปี ยังไม่เคยพบปัญหาเรื่องโรคเหมือนปูนาในธรรมชาติ

5.การจับปูนา
5.การจับปูนา
เทคนิค การเลี้ยงปูนา ราคาแสนแพง ขายได้ทุกส่วน มีตลาดนอกและในรองรับทั้งปี
เทคนิค การเลี้ยงปูนา ราคาแสนแพง ขายได้ทุกส่วน มีตลาดนอกและในรองรับทั้งปี
6.กระดองปูนาตากแห้ง
6.กระดองปูนาตากแห้ง

ด้านตลาดปูนา

ส่วนเศษกระดองมีประเทศจีนที่รับซื้อเฉพาะกระดองตากแห้งแล้วบดเป็นผงกิโลกรัมละ 5,000 บาท ส่วนปูที่ตายแล้วแต่มีส่วนประกอบที่สมบูรณ์จะนำมาสต๊าฟส่งให้พิพิธภัณฑ์ หรือให้คนไปอัดใส่กระจก หรือตกแต่งอื่นๆ นอกจากประเทศจีนแล้วก็จะมีส่งไปประเทศเกาหลี โดยมีคนที่จังหวัดสมุทรสงครามมารับไปอัดกระป๋องแล้วส่งทางเรือไปประเทศเกาหลี โดยใช้เวลา 15-18 วัน

ล่าสุดประเทศญี่ปุ่นต้องการที่จะซื้อปูสดขนาดเล็ก เพราะต้องการกระดอง เนื่องจากคนญี่ปุ่นจะกินเฉพาะกระดอง แต่ไม่กินเนื้อ เพราะกระดองปูมีแคลเซียมสูง ตอนนี้กำลังจัดการเรื่องการขนส่ง เพราะ คำนวณแล้วใช้เวลา 6-8 ชม. อาจมีการน็อกน้ำแข็ง หรือแช่แข็ง ให้ปูคงสภาพความสดไว้เหมือนปูเป็น ยังอยู่ในขั้นตอนของการหาวิธีการขนส่ง

ปลายปีนี้จะเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ ปลา กบ นก หนู ปูนา กำลังจะเลี้ยงปลา เลี้ยงหอยขม เป็นเกษตรผสมผสาน หากเกษตรกรท่านใดสนใจเลี้ยงสามารถโทรมาถามข้อมูลก่อนได้ แล้วค่อยมาดูที่ฟาร์ม หรือหากอยู่ไกลก็จะมีข้อมูลที่ส่งให้ทางไลน์ หรือเฟชบุ๊ค เพราะมั่นใจว่าธุรกิจนี้จะเติบโตได้อีกแน่นอน เนื่องจากมีคนบริโภคมากขึ้น ในขณะที่จำนวนปูนาในธรรมชาติลดน้อยลง และในต่างประเทศยังเพาะเลี้ยงไม่ได้ เพราะมีปัญหาเรื่องสภาพอากาศ

การวางแผนในอนาคต ลูกชิ้นปูนา ตั้งราคาไว้กิโลกรัมละ 300 บาท 

ประมาณเดือนพฤษภาคมจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ ลูกชิ้นปูนา ตั้งราคาไว้กิโลกรัมละ 300 บาท กำลังจะจดลิขสิทธิ์ ตอนนี้มีวางขายแล้วเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ที่ฟาร์มเท่านั้น ที่วางแผนไว้จะทำเป็นแฟรนไชน์ลูกชิ้นปูนาระเบิด เหลือจัดการเรื่องปูนาที่ยังไม่เพียงพอ ส่วนที่นำมาทำลูกชิ้น คือ เนื้อกับมันปู ผลการตอบรับดีมาก

นอกจากลูกชิ้นปูนาแล้วจะมีการเปิดตัวสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่ทดลองเลี้ยงแล้วได้ผลดี การตลาดดี แต่ขอเก็บไว้เป็นความลับก่อน ปัจจุบันสัตว์ชนิดนี้ทำเงินได้พอสมควร เพราะว่าคนกินเยอะมาก และในธรรมชาติสัตว์ชนิดนี้มีจำนวนลดน้อยลง รอติดตามกันว่าจะเป็นสัตว์ชนิดใด..?

โฆษณา
AP Chemical Thailand

สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมการ เลี้ยงปูนา ได้ที่ คุณปานศิริ ปาดกุล หรือ คุณตูมตาม โทรศัพท์ 085-420-3813, 062-336-5408