การเลี้ยงแพะ แกะล้านนา โค เลี้ยงง่าย กินน้อย โตไวบริหารขุนขายทุก 3 เดือน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

แพะ กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างแพร่หลายในแวดวงปศุสัตว์ไทย และภาครัฐให้การส่งเสริมอาชีพ การเลี้ยงแพะ  โดยการขับเคลื่อนเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะ ตั้งแต่ปี 2552 จนปัจจุบัน (ปี 2563) มีกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงแพะจำนวน 501 กลุ่ม ชมรมแพะระดับจังหวัด 64 ชมรมจังหวัด และเครือข่ายระดับเขต 9 เขต ซึ่งผลการสำรวจของทางกรมปศุสัตว์ถึงแนวโน้มความต้องการของตลาดแพะเนื้อ พบว่า จำนวนแพะที่ใช้บริโภคในประเทศ ประมาณปีละ 377,000 ตัว มีการส่งออกแพะไปยังตลาดต่างประเทศ (มาเลเซีย ลาว และเวียดนาม) ประมาณ 140,000 ตัว/ปี สรุปภาพรวมได้ว่าการผลิตแพะในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

1.เลี้ยงง่าย-โตไว
1.เลี้ยงง่าย-โตไว

จุดเริ่มต้นของ การเลี้ยงแพะ

ทางกรมปศุสัตว์จึงมีโครงการส่งเสริม การเลี้ยงแพะ แกะ แก่เกษตรกรมากมาย อาทิ โครงการแพะ-แกะล้านนา  สร้างรายได้ให้เกษตรกร โครงการแพะแปลงใหญ่ของจังหวัดสระบุรี และการจัดงานแพะแห่งชาติ ประจำปี 2563 เมื่อวันที่ 17-19 มกราคม ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง (ไร่เขาบัวทอง) ด้วยสาเหตุเหล่านี้เองนิตยสารสัตว์บก จึงไม่พลาดที่จะอัพเดตและติดตามข่าวสารคนเลี้ยงแพะ เพื่อนำเสนอข้อมูลอันก่อประโยชน์ต่อสาธารณชน

คุณสมาน-ดวงอานนท์
คุณสมาน-ดวงอานนท์

กลับมาเยือนอีกครั้งกับ “สมานฟาร์ม” ครั้งนี้ทีมงานได้เข้ามาร่วมพูดคุยกับ คุณสาวิตรี (จิ๊บ) ดวงอานนท์ ทายาทรุ่นที่ 2 ลูกสาวคนสวยของ คุณสมาน  ดวงอานนท์ ซึ่งไม่ทิ้งลายจากคุณพ่อสักนิด ถึงแม้จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาท่องเที่ยวและการโรงแรม แต่กลับหันหลังจากพนักงานโรงแรมสู่เส้นทางเกษตรกรตามรอยคุณพ่อ และต่อยอดธุรกิจการเลี้ยงโคนม และแพะเศรษฐกิจ

คุณสาวิตรี-ดวงอานนท์
คุณสาวิตรี-ดวงอานนท์

คุณสาวิตรีเล่าย้อนกลับไปว่า ตนเองเป็นคนชอบเลี้ยงสัตว์อยู่แล้ว แต่ก่อนมีทั้งม้า วัว และควาย จึงตัดสินใจลาออกจากที่ทำงานมาช่วยพ่อเลี้ยงโคนม และอยากที่จะทำธุรกิจของตัวเอง ช่วงนั้นกระแสข่าวแพะกำลังถูกดันขึ้นมาเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ด้วย คุณสาวิตรีจึงลองศึกษาและทดลองเลี้ยงด้วยตนเอง

“ตอนนั้นเริ่มเลี้ยงแพะนมก่อน แล้วจึงขยายมาแพะเนื้อ เพื่อเราจะได้มีรายได้ทั้ง 2 ทาง ได้รับคำแนะนำจากเพื่อนที่เคยเลี้ยง และแพะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย กินน้อย จัดอยู่ในสัตว์ 4 กระเพาะ เช่นเดียวกับวัว แต่เจริญเติบโตเร็วกว่า ที่จริงทำฟาร์มแพะมาเกือบ 5 ปีแล้ว แต่มีช่วงหนึ่งที่หยุดเลี้ยงไป 1 ปี แล้วกลับมาเลี้ยงใหม่ สาเหตุที่หยุดเลี้ยงเพราะมีปัญหาเรื่องแรงงาน สุดท้ายก็กลับมาเลี้ยงแพะต่อเช่นเดิม ครั้งแรกที่เลี้ยง ซื้อแพะพันธุ์บอร์ (ตั้งท้อง) จากชาวบ้านในพื้นที่มา 25 ตัว เรียนรู้พฤติกรรมของแพะ ลองผิดลองถูกไปเรื่อย จนตอนนี้ถือว่ามีความรู้ในการเลี้ยงมาระดับหนึ่งแล้ว” คุณสาวิตรีกล่าวถึงจุดเริ่มต้นใน การเลี้ยงแพะ

2.โรงเรือนแพะ
2.โรงเรือนแพะ

สภาพพื้นที่เลี้ยงแพะ

พื้นที่ใน การเลี้ยงแพะ เนื้อมีทั้งหมด 10 ไร่ แบ่งเป็นส่วนโรงเรือน 2 งาน ที่เหลือเป็นส่วนของแปลงหญ้าเนเปียร์ เนื่องด้วยแพะเป็นสัตว์ที่ไม่ต้องใช้พื้นที่ในการเลี้ยงมาก แต่ควรมีพื้นที่ให้แพะได้เดินเล่นและนอนอาบแดดบ้าง เพราะแพะเป็นสัตว์ที่ชอบอากาศร้อนแห้ง ทำให้ช่วงฤดูร้อนแพะจะสุขภาพดีเป็นพิเศษ แต่หากเป็นช่วงฝนตกแพะจะป่วยได้ง่าย

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“ตอนนี้มีแพะพันธุ์บอร์ 100 กว่าตัว ใช้วิธีการขยายพันธุ์โดยการผสมจริง (พ่อพันธุ์ผสมเอง) เนื่องจากยังไม่มีความชำนาญในการผสมเทียม และแพะก็ผสมติดได้ง่ายกว่าโคมาก และต้องยอมรับว่าแม่พันธุ์ในฟาร์มเป็นสายพันธุ์บอร์เลือดแค่ 70% ส่วนพ่อพันธุ์ที่มาผสมก็เป็นสายพันธุ์บอร์แท้เลือด 100% เพื่อดึงให้ลูกที่ออกมาเป็นสายพันธุ์บอร์เลือดสูง โดยต้องเป้าไว้ที่ 80-90% เนื่องจากยิ่งเลือดสูงเท่าไรผลผลิตที่ได้ออกมาย่อมมีคุณภาพ ลูกที่ได้เจริญเติบโตเร็ว มีน้ำหนักดี และทางฟาร์มก็มุ่งเน้นเรื่องการทำสายพันธุ์ร่วมด้วย

เราเคยทดลองเรื่องสายพันธุ์แล้ว คือ แพะสายพันธุ์เดียวกัน ต่างกันที่ระดับสายเลือด เลี้ยงเหมือนกัน กินอาหารเหมือนกัน ผลปรากฏว่าแพะที่สายเลือดสูงกว่า ได้น้ำหนักตัวที่ดีกว่า ทำให้ได้กำไรมากกว่า จุดนี้ทำให้เราตระหนักได้ว่าสายพันธุ์แพะสำคัญเพียงใด” คุณจิ๊บกล่าวถึงสถานการณ์แม่พันธุ์บอร์ในฟาร์ม

3.ปล่อยแพะลงแปลงหญ้า
3.ปล่อยแพะลงแปลงหญ้า

การให้อาหารแพะ

แพะเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องเช่นเดียวกับโค แต่มีขนาดเล็กกว่า ดังนั้นความต้องการด้านสารอาหารจึงไม่ต่างจากโค เพียงแต่กินในปริมาณที่น้อยกว่าเท่านั้น คุณสาวิตรียังเปิดเผยอีกว่าในฟาร์มไม่ใช้อาหารสำเร็จรูปในการเลี้ยงเป็นหลัก แต่จะเป็นสูตรอาหารที่ผสมขึ้นมาเอง ส่วนประกอบหลัก คือ ข้าวโพดหมัก มันเทศ กากถั่วเหลือง รำอ่อน และหญ้า

การให้อาหารจะแบ่งเป็น 2 เวลา เช้า-เย็น โดยให้เป็นลักษณะอาหารข้นผสมอาหารหยาบ แพะ 1 ตัว กินอาหารเพียงวันละ 2 ขีด เท่านั้น

“คนส่วนใหญ่ที่เลี้ยงแพะจะให้อาหารอยู่ 2 แบบ คือ

1.เลี้ยงด้วยอาหารข้น

โฆษณา
AP Chemical Thailand

2.เลี้ยงด้วยอาหารหยาบ

แต่ที่ฟาร์มเราจะใช้เป็นแบบผสมผสาน คือ ให้อาหารที่เราผสมเองเป็นหลัก มีการปล่อยแพะลงแปลงหญ้า และเสริมด้วยกระถิน หลังจากกลับขึ้นมาบนคอก ที่สำคัญ คือ แพะเป็นสัตว์กินง่าย สามารถกินใบไม้ ใบหญ้า ที่ไม่มีพิษได้เกือบทุกอย่าง ทำให้การเลือกวัตถุดิบในสูตรอาหารแพะไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด” คุณจิ๊บกล่าวถึงการให้อาหารแพะ และยังให้คำแนะนำเกษตรกรที่สนใจเลี้ยงแพะว่า

“หากไม่มีแปลงหญ้าให้แพะลงมาเดินเล่นก็สามารถเลี้ยงแพะได้ แต่อาจต้องมีแรงงานในการตัดหญ้า หรือกระถิน มาให้แพะกินเป็นประจำ ส่วนอาหารที่ให้แพะนั้นอาจไม่ต้องเป็นอาหารสำเร็จรูปเสมอไป ถึงแม้จะกินเพียงหญ้าแพะก็โตได้ อาจมีการนำข้าวโพด หรือหญ้ามาหมัก เพื่อใช้เป็นอาหารสำรองให้แพะได้ แต่การทำเช่นนี้ก็จะทำให้ต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มสูงขึ้นนิดหน่อย  หากเปลี่ยนเป็นกระถิน (เก็บตามข้างทาง/ตามไร่ต่างๆ) จะสามารถลดต้นทุนได้มากกว่า

4.ให้แพะได้เดินเล่น
4.ให้แพะได้เดินเล่น

การบริหารจัดการแพะ

การจัดการแพะเนื้อไม่ยุ่งยาก ในทุกๆ วันเหมือนกัน คือ ไล่แพะเข้าแปลงหญ้า (ถ้ามี) ทำความสะอาดคอก ล้างอ่างอาหารและน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ ให้อาหารและเสริมด้วยหญ้า หรือกระถินสด สังเกตความผิดปกติ และตรวจแพะทุกตัว หากในช่วงฤดูฝนจะไม่ปล่อยแพะลงมา เพราะแพะไม่ชอบพื้นที่เปียกแฉะ และเมื่อมีความชื้นในอากาศมาก แพะจะไม่สบายได้ง่าย เจ็บป่วยและตายได้ จึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญ คือ วัคซีนป้องกันโรค  ที่กรมปศุสัตว์แนะนำ  ควรทำตามอย่างเคร่งครัด  เพื่อป้องกันและลดความสูญเสียที่จะเกิดในอนาคต”

5.น้ำหนักดี-เนื้อเยอะ
5.น้ำหนักดี-เนื้อเยอะ

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายแพะ

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน ราคาแพะเนื้อรับซื้อเพียงแค่กิโลกรัมละ 35 บาท เท่านั้น ตอนนี้ราคารับซื้อขยับไปสูงกว่า 135 บาท/กิโลกรัม ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่าตลาดแพะเนื้อมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยความต้องการซื้อที่สูง แต่คนเลี้ยงน้อย ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

โฆษณา
AP Chemical Thailand

คุณสาวิตรียังกล่าวถึงแนวโน้มด้านการตลาดแพะในปัจจุบันว่า “ในส่วนของตลาดแม่พันธุ์ยิ่งราคาสูง โดยมีราคาตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักแสน ขึ้นกับสายพันธุ์ และความบริสุทธิ์ของเลือด และแม่พันธุ์บอร์ก็ได้รับความนิยมสูงเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ทางสมานฟาร์มเองก็มีการจำหน่ายทั้งแพะขุน และแม่พันธุ์ และยอมรับว่าแพะในฟาร์มไม่เพียงพอต่อความต้องการซื้อ มีพ่อค้าคนกลางเข้ามาติดต่อขอซื้อจำนวนมาก ทั้งสั่งจองไว้ก่อนก็ยังมี ด้วยเหตุเพราะแพะของเราเป็นแพะสายพันธุ์บอร์เลือดสูง (80% อัพ) น้ำหนักดี โตไว ให้เนื้อเยอะ และการจัดการง่าย

และส่วนตัวแล้วคิดว่าถึงแม้จะมีผู้เลี้ยงแพะเพิ่มขึ้นก็ยังไม่เพียงพอ เพราะประเทศไทยมีการบริโภคเนื้อแพะสูงขึ้น และยังมีการส่งออกแพะไปต่างประเทศอีกเป็นจำนวนมาก บางครั้งนายทุนต่างชาติเข้ามาติดต่อขอซื้อเองด้วยซ้ำ ราคาขายก็สูงกว่าขายในประเทศมากถึงกิโลกรัมละ 200 บาท จุดนี้ทำให้เนื้อแพะไม่น่าจะมีเหตุการณ์เนื้อแพะล้นตลาดในอนาคตแน่นอน”

นอกจากนี้คุณสาวิตรียังเปิดเผยรายได้ใน การเลี้ยงแพะ ว่า “ปกติแม่แพะ 1 ตัว จะต้องท้องประมาณ 5 เดือน ออกลูกครั้งละ 2-3 ตัว ลูกที่ได้นำมาเลี้ยงขุน (ตัวผู้) และขายเป็นแม่พันธุ์ (ตัวเมีย) ระยะเวลาขุนขาย คือ ทุก 3 เดือน จะสามารถขายแพะขุนได้ ครั้งละ 50-60 ตัว ในราคาตัวละ 2,000 บาท (ขึ้นกับตลาดและการตกลงกัน) หากเป็นแม่พันธุ์ขายได้ราคาประมาณ 5,000-7,000 บาท/ตัว รายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 20,000 บาท ก็ถือว่าพอจะประคับประคองไปได้ แต่คิดว่าอนาคตจะทำให้ การเลี้ยงแพะ มีประสิทธิภาพมากกว่านี้”

6.แพะนมโตเร็ว-แข็งแรง
6.แพะนมโตเร็ว-แข็งแรง

แนวโน้มตลาดแพะ

แนวโน้มตลาดแพะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งแพะเนื้อ และแพะนม หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าปัจจุบัน “ตลาดแพะขุน” จัดได้ว่ามีความต้องการสูงสุด รองมา คือ “ตลาดแม่พันธุ์” และในส่วนของ“ตลาดแพะนม” นั้น ยังไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก ที่สำคัญ คือ การจัดการแพะนมนั้นมีความยุ่งยากมากกว่าแพะเนื้อ ทั้งรายละเอียดการดูแล และเรื่องอาหาร ซึ่งทุกอย่างจะมีผลต่อปริมาณและคุณภาพของน้ำนมแพะที่ได้ออกมา

“อาจเป็นเพราะสัดส่วนการบริโภคของคนกินที่ยังจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่ม และคนส่วนใหญ่ยังไม่เปิดใจบริโภคน้ำนมแพะ ทำให้ตลาดนมนั้นไม่เติบโตเท่าตลาดเนื้อแพะ และเกษตรกรที่เลี้ยงก็เพียงแค่เลี้ยงแล้วส่งขายกับโรงงานผลิตน้ำนมแพะสเตอริไรส์ สำหรับขายตามร้าน Pet Shop เป็นต้น

ซึ่งแพะ 1 ตัว ก็ไม่ได้ให้ปริมาณน้ำนมต่อครั้งมากเท่าวัว ส่วนราคาน้ำนมดิบตอนนี้ 50 บาท/กิโลกรัม ราคาสูง แต่ปริมาณที่ได้ต่อวันน้อย หากอยากได้มากต้องเลี้ยงจำนวนมากขึ้น ลงทุนมากขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น โอกาสขาดทุนก็ย่อมมีมากขึ้นด้วยเช่นกัน” คุณสาวิตรีกล่าวเพิ่มเติมในส่วนตลาดน้ำนมแพะ

โฆษณา
AP Chemical Thailand
7.การเลี้ยงแพะ-แกะล้านนา-โค-เลี้ยงง่าย-กินน้อย-โตไวบริหารขุนขายทุก-3-เดือน
7.การเลี้ยงแพะ-แกะล้านนา-โค-เลี้ยงง่าย-กินน้อย-โตไวบริหารขุนขายทุก-3-เดือน

เป้าหมายของ การเลี้ยงแพะ

ท้ายที่สุดคุณสาวิตรียังวางเป้าหมายว่า อยากจะพัฒนาระบบ การเลี้ยงแพะ ภายในฟาร์ม และเพิ่มจำนวนแพะสายพันธุ์บอร์ให้มากขึ้นเป็น 300 แม่ และแพะนมอีก 100 ตัว เพื่อให้เกิดการหมดเวียนรายรับ รายจ่าย ภายในฟาร์ม และสามารถมีแพะขุนขายในทุกๆ เดือน ให้ธุรกิจนี้สามารถเลี้ยงตัวมันเองได้อย่างธุรกิจโคนมของคุณพ่อ

“หากสนใจอยากจะเลี้ยงแพะต้องศึกษาให้ดีก่อน ถ้าจะเลี้ยงแพะนม สิ่งแรกที่ความทำ คือ การหาตลาด ผลผลิตน้ำนมที่ได้ต้องส่งขายที่ใด แนวโน้มการตลาดเป็นอย่างไร หากเป็นแพะเนื้อตลาดนั้นมีเพียงพออยู่แล้ว แต่ควรเน้นเรื่องสายพันธุ์เข้าไปด้วย เพราะสายพันธุ์มีผลต่ออัตราการเจริญเติบโต ทำให้ผลผลิตที่ได้ออกมาดี ลดปัญหาเรื่องโรคและสุขภาพของแพะในอนาคตด้วย และสามารถทำตลาดได้ทั้ง 2 ทาง คือ ขายทั้งแพะขุน และแม่พันธุ์” คุณสาวิตรีกล่าวทิ้งท้ายไว้

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก

คุณสาวิตรี ดวงอานนท์ ที่อยู่ 143 ม.5 ต.ลำพญากลาง อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี โทร.082-875-2463 (คุณจิ๊บ)

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 324