กำนันต้อม เลี้ยง “กวาง” สร้างเงิน รายได้หลายทาง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ย้อนไปเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว คนไทยส่วนหนึ่งหันมาเพาะเลี้ยงกวางเป็นอาชีพเสริม และอาชีพหลัก เพราะว่าเป็นสัตว์ที่กินหญ้า ต้นทุนการเลี้ยงต่ำ เนื้อ และ เขาอ่อน เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค

เนื่องจากกวางเป็นสัตว์ป่า เป็นสัตว์สังคม ชอบอยู่เป็นฝูง หากมาเลี้ยงเป็นสัตว์บ้าน หรือเลี้ยงเป็นฟาร์มพัฒนา มีปัญหามากมาย เช่น การให้กินอาหารกลางวัน เป็นต้น ประกอบกับบางสายพันธุ์ เช่น กวางม้า เป็นสัตว์คุ้มครอง เลี้ยงในเชิงพาณิชย์ ผิดกฎหมาย ทำให้การเลี้ยงชะงัก

1.กวาง01

การเลี้ยงกวาง

แต่ก็มีบางคนที่ไม่มีเกียร์ถอย ได้แก่ กำนันสมยศ เผ่าพันธ์ (ต้อม) อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ร่วม 30 ปี พัฒนาพันธุกรรมกวาง เพาะเลี้ยงและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จนประสบความสำเร็จ แห่งเดียวในไทย ล้มแล้วลุกหลายครั้ง แต่ไม่ท้อ เพราะเป็น “ผู้นำ” ต้องทำให้ลูกบ้านเห็นเป็นตัวอย่าง รวมทั้งส่วนราชการต่างๆ ยอมรับ โดยเฉพาะ กรมปศุสัตว์ และ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นต้น เนื่องจาก อ.ปราณบุรี ลูกบ้านของกำนันต้อม ปลูกสับปะรดส่งโรงงาน ทั้งใบและผลสับปะรด เป็นอาหารอย่างดีของกวาง

กำนันต้อมเริ่มจากการเลี้ยง กวางม้า มาก่อน แต่เมื่อเป็นสัตว์คุ้มครอง จึงต้องสั่ง กวางรูซ่า เพศผู้ ตัวใหญ่ๆ 4 ตัว จากต่างประเทศ เพื่อมาเลี้ยงเป็น “พ่อพันธุ์” จะได้ผสมกับกวางม้าตัวเมีย ตัวใหญ่ๆ เพื่อจะได้กวางลูกผสมตัวเล็ก กินนมง่าย แข็งแรง และปราดเปรียว เหมือนพ่อรูซ่า “ผมเอาพ่อมาผสมได้ลูกเลี้ยงไว้ พอลูกมันออกมาก็เอาตัวผู้ไปตัดเขา ตัวเมียไว้ทำแม่พันธุ์ต่อ แล้วก็ซื้อลูกผสมตัวผู้ 50% จากที่อื่นมาผสมทั้งหมด” กำนันต้อม เปิดเผยถึงการผสมพันธุ์เชิงธุรกิจ

แต่ถ้าลูกผสมรูซ่าตัวเมียบางตัวมีเลือดพ่อมากไป เช่น ตาโปน หรือ หน้าหักๆ หรือ ตาหวาน หรือ ตูดแป้น หรือ กะโหลกใหญ่ เป็นต้น ต้องคัดออก ขณะเดียวกันกำนันต้อมได้นำพ่อเลือด 75 ตัวผู้ จากที่อื่นมาผสมกับแม่ในฟาร์มด้วย เพื่อจะได้ลูกเลือด 99%

2.กวาง02

การบริหารจัดการฟาร์มกวาง

วันนี้กำนันต้อมมีกวางลูกผสมรูซ่าทั้งหมดร่วม 400 ตัว เลี้ยงแบบพัฒนาทั้งฟาร์ม บนเนื้อที่หลายตารางวา โดยแยกคอกตัวผู้กับตัวเมีย ทั้งเลือด 50 และ 75 เป็นสัดส่วน และตัวพ่อผสมได้เพียง 2 รุ่น ก็ต้องปลดระวาง ขืนให้ผสมกันต่อจะเกิดเลือดชิด และกวางลูกผสมรูซ่าตัวเมีย พอเข้าปีที่ 3 จะเป็นสัด จึงต้องให้ความสำคัญกับหลักการผสมพันธุ์ โดยเฉพาะพ่อพันธุ์จากฟาร์มอื่น แม้ราคาตัวละ 60,000-70,000 บาท ก็ต้องไปซื้อมาประจำฟาร์ม

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เนื่องจากแม่กวางเมื่อคลอดลูกได้ 1 เดือน มันจะเป็นสัด และให้พ่อผสมได้ทันที พอลูกได้ 6 เดือน แม่ก็จะอุ้มลูกในท้อง 4-5 เดือน และแม่กวางมันจะเลี้ยงลูกเอง ดังนั้นแม่กวางจึงเป็นเหมือนแท่นปั๊มเงินปีละหลายครั้ง ส่วนการผสม กำนันต้อมยืนยันว่า ติด 99.9% “กวางของผมเป็นสัตว์บ้าน มันเป็นสัดไปเรื่อยๆ คลอดไป ผสมไป มันไม่เป็นหน้าเหมือนกวางป่า จึงคลอดทั้งปี จึงมีกวางเป็นรุ่นๆ คลอดไป โตไป” กำนันต้อม ยืนยืนถึงจุดเด่นของพันธุกรรมกวางตัวเมียของตน

จากการที่กำนันต้อมอยู่กับกวางตลอดเวลา ทำให้เขารู้ดีเรื่องนิสัย หรือ “สันดาน” ของกวางแต่ละตัวในฟาร์ม โดยเฉพาะตัวเมีย รู้ว่าตัวไหนจะเป็นสัดเพื่อผสมพันธุ์ ที่สำคัญเขาจะฝึกให้แม่กวางคลอดลูกเองโดยธรรมชาติ เพราะเมื่อแม่อุ้มท้องได้ 6-8 เดือน ก็จะค่อยๆ ลดอาหาร เพื่อให้มันหิว คลอดง่าย และถ้าแม่แพะแต่ละตัวคลอดไล่เลี่ยกัน มันจะช่วยกันเลี้ยงลูก ถ้าตัวไหนไม่กิน อีกตัวก็จะไปแย่งนมกินได้ เป็นการลดระบบการตายได้ดี “พอเวลาตัวนี้คลอด ตัวนี้ไม่ให้กินนม ตัวนี้นมน้อย ตัวนี้ก็วิ่งไปดูตัวนี้ เวลากินนมมันจะใกล้เคียงกัน ทำให้การเจริญเติบโตไว แคระแกรน ไม่มีโตเสมอกัน” กำนันต้อม เปิดเผยถึงการช่วยกันเลี้ยงลูกของแม่กวาง

3.กวาง03

การบำรุงดูแลกวาง

เมื่อถามถึง อาหารกวาง กำนันต้อมเปิดเผยว่า ตนเคยหยุด อาหารข้น สมัยที่กวางราคาตก โดยนำเศษข้าวที่เป็นขยะเปียกมาล้างแล้วตากให้แห้ง แล้วคลุกกับหญ้าเนเปียร์ ตอนแรกให้กินน้อยๆ จากนั้นก็ให้กินเยอะๆ ปรากฏว่า เนื้อนุ่มมาก และลดค่าอาหารได้มาก เพราะข้าวสุกที่เหลือจากกองร้อยทหาร และจากร้านก๋วยเตี๋ยว ใส่รถพ่วงบรรทุกมาที่ฟาร์ม เสียค่าใช้จ่ายไม่มาก

ส่วนแปลงหญ้าเนเปียร์ก็รดด้วยน้ำล้างข้าว และเศษอาหาร รวมทั้งขี้กวางในบ่อ โดยการดูดไปลงในแปลงโดยตรง ผลก็คือ 60 วัน ตัดต้นอวบ น้ำหนักดี แต่กว่าจะได้สูตรอาหารนี้ต้องแลกกับการตายของกวางทั้งหมด 30 ตัว เพราะท้องอืด แต่สูตรนี้ให้กินน้อยๆ ปรากฏว่าได้ผลดี

เกิดความเสียหายขนาดนี้ไม่รู้สึกท้อหรือ??

“ไม่ท้อ เป็นผู้นำ ท้อไม่ได้ ต้องคิดหาวิธี หาช่องทาง จนกลายเป็นฟาร์มมาตรฐานปลอดโรคของกรมปศุสัตว์ ปีหนึ่งเจ้าหน้าที่มาหลายครั้ง ตรวจตลอด ตรวจจนขนหัวลุก ตรวจจนกวางเสียสติ กวางเห็นพวกนี้สีเขียวมาแล้ว จะมาทำอะไรอีก คิดดูให้เราคัดกวาง นับตัวกวางเป็นตัวๆ ยิงเบอร์หู มันโหด กวางไม่ใช่ วัว ควาย จะได้สุ่มมาจับง่ายๆ ไม่เป็นไร เราทำได้หมด ตายเป็นตาย ขาหัก เราซ่อมได้หมด” กำนันต้อม เปิดเผยแบบติดตลก แต่เป็นเรื่องจริง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ทั้งรองและอธิบดีมาตรวจเยี่ยมเอง จนกลายเป็นฟาร์มต้นแบบของกรมปศุสัตว์

แม้จะต้องเชือดกวางแต่ละอายุ แต่ละตัว ให้พิสูจน์เนื้อ และเขา ก็ต้องยอม

ถามว่าถึงวันนี้ต้องสั่งพ่อแม่จากต่างประเทศมาปรับปรุงพันธุ์มั๊ย กำนันต้อมยืนยันว่า ไม่ต้อง เพราะได้ไล่ซื้อในประเทศมาไว้ที่ฟาร์ม จนวันนี้มี 150 แม่ ราคาหลักแสน/ตัว และลูกกวางราคาตัวละ 50,000 บาท โดยขายตัวผู้ 1 ตัว/ตัวเมีย 2 ตัว หรือคู่ละ 100,000 บาท เอาไปเลี้ยงปีกว่าก็ได้ลูก ขายกลับให้ทางฟาร์มตัวละ 45,000 บาท “เลี้ยงง่าย ออกลูกไว ขุนแล้ว อ้วนไว” จุดเด่นของสายพันธุ์ที่กำนันต้อมการันตี เป็นพันธุ์ที่ไม่รวมกันเป็นฝูง คัดง่าย ในการขาย ไม่ตกใจ

4.กวาง04

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย เขากวาง เนื้อกวาง

สำหรับตัวผู้ แค่ปีแรกก็ตัด เขาอ่อน ได้แล้ว ราคาเขาอ่อนในตลาด คือ กก.ละ 17,000 บาท และถ้าอายุมากขึ้นกวางสมบูรณ์ก็ได้เขาอ่อนไม่ต่ำกว่า 3 กก. ที่ฟาร์มวันนี้ได้แบ่งเขากวางอ่อนเป็น 3 ส่วน ส่งให้จีน 1 ส่วน ในประเทศ 1 ส่วน และเก็บไว้ 1 ส่วน เพื่อดองเหล้าขาวให้ลูกค้า

ศิลปินบางคนที่เปิดร้านอาหาร ซื้อตัวผู้ไปเลี้ยง ตัดเขาดองเหล้า ก็มีหลายราย แม้พ่อกวางจะอายุมากขึ้นถึง 30 ปี ก็ยังให้เขาอ่อน ที่ฟาร์มมีไม่ต่ำกว่า 7 ตัว บางตัวอายุ 35 ปี เพิ่งตาย ส่วนตัวเมียแก่ๆ ไม่ให้ลูก ตาเป็นฝ้า ก็ต้องขุนแล้วชำแหละ นำเนื้อไปนึ่งแล้วใส่ในน้ำเกลือ หรือน้ำมัน บรรจุในกระป๋อง เนื้อจะนุ่มมากๆ เริ่มทำเมื่อปีที่แล้ว หรือแม่แก่บางตัว กำนันต้อมก็ขายไปพร้อมกับแม่กวางสาว เพื่อให้สอนการเลี้ยงลูก และทำให้กวางสาวเชื่องด้วย

5.กวาง05

การส่งเสริมการเลี้ยงกวาง

อย่างไรก็ดี แม้กำนันต้อมจะเก่งทุกเรื่องในเรื่องการทำฟาร์มกวางแบบพัฒนา จนกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ของกรมปศุสัตว์ แต่ก็ต้องมี นายสัตวแพทย์อภิสิทธิ์ สืบสาย (หน่อย) เป็นผู้จัดการฟาร์ม เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ใหญ่ อยู่ประจำไม่ต่ำกว่า 12 ปี

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ในการทำธุรกิจกวางครบวงจรของกำนันต้อม ต้องพยายามส่งเสริมเกษตรกรให้เลี้ยง โดยเฉพาะผู้อยู่ในกลุ่มสับปะรด เพราะมี ใบ ต้น จุก ก้านเปลือก และผลสด เป็นอาหารของกวางได้ โดยให้เลี้ยงคนละ 2 ตัว และทุกคนมาไว้ที่ฟาร์มของกำนันต้อม เพราะมีคนดูแลให้ วันนี้ประมาณ 70 ตัว โดยมี ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ให้เงิน 5 แสนบาท ฟรี และตอนตั้งโรงงานกระป๋อง ก็ให้อีก 3 หมื่นบาท

ตอนนี้ทางกลุ่มได้ซื้อตู้แช่ -20 องศา สูง 2.4 เมตร กว้าง 2.10 เมตร เพื่อเก็บเนื้อกวาง ราคา 2 แสนบาท ขณะเดียวกันทางกลุ่มได้เปิดร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อกวาง และร้านสเต๊กเนื้อกวาง เพื่อให้ผู้บริโภคได้ลิ้มรสชาติ

อย่างไรก็ดี การเลี้ยงกวางจะขาด แร่ธาตุก้อน ไม่ได้เป็นอันขาด ทางฟาร์มได้ซื้อจากเอกชน และคนมาดูงานที่ฟาร์ม บางคนได้นำแร่ธาตุและเกลือมาให้ เพราะรู้ว่าแร่ธาตุมันจำเป็นจริงๆ

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 358