วิศาลฟาร์ม เพิ่มมูลค่า น้ำนมแพะ ด้วยการแปรรูปที่หลากหลาย

โฆษณา
AP Chemical Thailand

วิศาลฟาร์ม เพิ่มมูลค่า น้ำนมแพะ ด้วยการแปรรูปที่หลากหลาย เมื่อเปรียบเทียบการเลี้ยงแพะนมและวัวนม การเลี้ยงแพะตัวเมีย 1 ตัว ถ้าให้ลูกคราวละ 1 ตัว ใน 1 ปี อาจให้ลูกได้ 2 ตัว ต่อแม่ สำหรับวัวนมนั้น อายุ 18-24 เดือน จึงให้ผสมพันธุ์และตั้งท้อง โดยวัวนมจะตั้งท้องนาน 9 เดือน ใน 1 ปี จึงให้ลูกได้เพียง 1 ตัว เท่านั้น

นอกจากการขยายพันธุ์ได้เร็วของแพะแล้ว ยังพบว่านมแพะมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดี ทั้งด้านโปรตีนและมีไขมันสูงกว่านมวัว ในปัจจุบันนมแพะจึงไม่ใช่ผลิตภัณฑ์แปลกใหม่ เริ่มมีผู้บริโภคหันมาดื่มนมแพะมากขึ้น ด้วยคุณค่าทางอาหารที่ใกล้เคียงนมแม่ และเหมาะสำหรับผู้ที่แพ้นมวัว

1.คุณสุรศักดิ์ เก้าลิ้ม และครอบครัว
1.คุณสุรศักดิ์ เก้าลิ้ม และครอบครัว

จุดเริ่มต้นการเลี้ยงแพะ

นิตยสารสัตว์บกพามารู้จักกับ คุณสุรศักดิ์ เก้าลิ้ม หรือ คุณหม่ำ “วิศาลฟาร์ม” ที่ต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำนมแพะ โดยใช้องค์ความรู้เข้ามาพัฒนาในทุกขั้นตอนการผลิตตั้งแต่การเลี้ยงตลอดจนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง

วิศาลฟาร์มดำเนินธุรกิจฟาร์มแพะมาได้ประมาณ 9 ปี โดยเริ่มมาจากคุณพ่อเป็นคนดูแลจัดการ ส่วนตัวคุณหม่ำเริ่มเข้ามาดูแลเต็มตัวได้ประมาณ 3 ปี และได้มีการเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำนมแพะ ด้วยการแปรรูปเป็นนมพาสเจอร์ไรส์ ไอศกรีม และสบู่นมแพะ จากน้ำนมดิบที่ขายได้กิโลกรัมละ 50 บาท เมื่อนำมาแปรรูปสามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้เป็นเท่าตัว

“ก่อนที่จะเริ่มทำฟาร์มแพะนม คุณพ่อเลี้ยงหมูมาก่อน แต่เมื่อหมูราคาตกเลยได้ซื้อแพะนมมาเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม เริ่มเลี้ยงครั้งแรกประมาณ 40กว่าตัว เป็นแพะตัวเมียทั้งหมด มีทั้งแพะท้อง และแพะสาว จึงต้องเลี้ยงต่อไปสักพักถึงจะได้รีดนม” คุณหม่ำกล่าวเพิ่มเติมถึงที่มาของฟาร์ม

2.นมแพะพาสเจอร์ไรส์
2.นมแพะพาสเจอร์ไรส์
ไอศกรีมนมแพะ
ไอศกรีมนมแพะ

การผลิตและแปรรูปน้ำนมแพะ

ปัจจุบันวิศาลฟาร์มมีแพะนมประมาณ 90 ตัว ใช้วิธีการรีดนมด้วยมือ รีดหนึ่งครั้งต่อวันช่วงเช้า คุณหม่ำได้บอกว่าการรีดนมแพะหนึ่งครั้งหรือสองครั้งต่อวัน แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละฟาร์ม การรีดสองครั้งอาจได้ปริมาณน้ำนมเพิ่มแต่ไม่มาก

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เมื่อรีดนมเสร็จต้องนำมาแช่แข็งเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา เนื่องจากปริมาณการให้นมของแพะแต่ละครั้งได้น้อย เมื่อต้องส่งนมแพะดิบอาจไม่คุ้มกับต้นทุนค่าน้ำมันในการขนส่ง จึงต้องแก้ปัญหาโดยการแช่แข็งนมแพะ จนได้ปริมาณที่มากพอจึงส่งนม ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์

ส่วนน้ำนมดิบที่ได้จะแบ่งมาแปรรูปเพียง 5-10% เนื่องจากต้องดูความต้องการของตลาด ซึ่งคุณหม่ำจะเน้นจำหน่ายในกลุ่มตลาดเกษตรกรในพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยได้ขายต่างจังหวัด เพราะกังวลเรื่องราคาการขนส่ง เนื่องจากต้องใช้ห้องเย็นในการขนส่งและมีราคาสูง

ปัจจุบันผู้บริโภคอาจจะหันมาดื่มนมแพะมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม ซึ่งผู้บริโภคอาจยังติดกับภาพจำที่ว่านมแพะนั้นมีกลิ่นสาป ซึ่งจริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับการดูแลจัดการของแต่ละฟาร์ม หากไม่มีการจัดการที่ดีในเรื่องของเสียในฟาร์ม การระบายอากาศ อาหาร ก็ทำให้นมแพะเกิดกลิ่นคาวได้

3.โรงเรือนแพะ
3.โรงเรือนแพะ

การบริหารจัดการภายในฟาร์มแพะ

คุณหม่ำได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “ในแต่ละพื้นที่มีการดูแลจัดการ หรือรูปแบบโรงเรือน ไม่เหมือนกัน ถ้ารูปแบบการเลี้ยงของที่ฟาร์ม คือ จะไม่ให้แพะเดินพื้นเลย จะให้อยู่บนโรงเรือนที่ยกพื้นสูง 2 เมตร ให้อากาศระบายได้ดี จะช่วยลดกลิ่นสาปในน้ำนมแพะได้ และคอยดูแลเรื่องความสะอาด”

เรื่องอาหารก็สำคัญ เนื่องจากแพะกินพืชอาหารสัตว์ได้ทุกชนิด ทั้งพืชอาหารที่ปลูกเอง หรือหาได้ตามธรรมชาติ ซึ่งพืชอาหารสัตว์แต่ละชนิดมีระดับโภชนะที่แตกต่างกันออกไป จึงส่งผลต่อผลผลิตของแพะ คุณภาพและกลิ่นของน้ำนมแพะ โดยตรง

ทางฟาร์มเลือกใช้อาหารสำเร็จรูปเนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนะคงที่ และให้อาหารหยาบเป็นหลักประมาณ 70-80% มีหญ้า ข้าวโพด และกระถิน แล้วแต่จะหาได้ในช่วงนั้น แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้กินกระถิน เพราะกลัวในเรื่องของยา

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ส่วนมูลแพะจะมีเกษตรกรในพื้นที่มารับซื้อต่อ และที่ฟาร์มมีนำไปหมักเป็นปุ๋ยเพื่อนำมาใส่ผักและแปลงหญ้าที่ปลูกไว้ เพื่อลดต้นทุนการซื้อปุ๋ย และลดของเสียในฟาร์ม

4.การให้อาหารแพะ
4.การให้อาหารแพะ

ฝากถึงเกษตรกรที่เลี้ยงแพะนม

หากผู้อ่านท่านใดสนใจผลิตภัณฑ์จากวิศาลฟาร์ม สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เฟสบุ๊ค “สวนและฟาร์มบ้านเรา By วิศาลฟาร์ม” หรือโทร.062-525-5965

สุดท้ายคุณหม่ำได้ฝากทิ้งท้ายถึงอาชีพการเลี้ยงแพะนมว่าผมมองว่าอาชีพการเลี้ยงแพะเป็นอีกอาชีพที่ดีสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ และการแปรรูปก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้า และมีรายได้เพิ่มอีกช่องทาง ส่วนทิศทางการตลาดถือเป็นหัวใจสำคัญ เราต้องรู้กลุ่มเป้าหมายและความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการดื่มนมแพะที่ไม่มีกลิ่นสาป เราจึงต้องหาวิธีการดูแลจัดการ ตั้งแต่การจัดการฟาร์มจนถึงกระบวนการแปรรูปที่สามารถกำจัดกลิ่นได้ ซึ่งจะช่วยให้คนหันมาดื่มนมแพะกันมากขึ้น”

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณสุรศักดิ์ เก้าลิ้ม หรือ คุณหม่ำ 83 หมู่ 4 ตำบลหนองงูเหลือม อำเภอเมืองนครปฐม นครปฐม 73000 โทร.062-525-5965

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 335