เจริญรัตน์ฟาร์ม พิษณุโลก เซียน เป็ดบาร์บารี ครบวงจร

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เป็ดบาร์บารี เป็นเป็ดที่เลี้ยงกันมาก ทั้งผู้เลี้ยงรายย่อย และรายกลาง รายใหญ่ เพราะเป็นเป็ดที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว ไม่ค่อยมีโรครบกวน ตลาดมีความต้องการมาก ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ อย่าง ลาว  พม่า กัมพูชา และเวียดนาม  เป็นต้น เป็ดบาร์บารีถูกนำมาสังสรรค์เมนูอาหารได้หลากหลาย อาทิ เป็ดพะโล้ ก๋วยเตี๋ยวเป็ด ลาบเป็ด ต้มเป็ด เป็ดทอด และเป็ดย่าง ฯลฯ

1.คุณนรัตน์ และ คุณขวัญใจ งอกแสน
1.คุณนรัตน์ และ คุณขวัญใจ งอกแสน

การเลี้ยงเป็ด

คุณนรัตน์ และ คุณขวัญใจ  งอกแสน เจ้าของฟาร์มเป็ดบาร์บารีรุ่นเดอะ ใน ต.บ้านกร่าง อ.เมือง  พิษณุโลก มีประสบการณ์เลี้ยงกว่า 30 ปี ให้ข้อมูลอัพเดทถึงการเลี้ยงเป็ดบาร์บารีว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้ตัดสินใจเลี้ยงเป็ดบาร์บารี เพราะเป็นเป็ดที่เลี้ยงค่อนข้างยาก อะไรที่ทำได้ง่ายคนก็จะทำกันเยอะ และอะไรที่เลี้ยงยาก และคนทำได้น้อย ราคาก็จะดี ตามหลัก ดีมานด์ ซัพพลาย

เป็ดบาร์บารีเป็นเป็ดเนื้อ ครึ่งบก ครึ่งน้ำ  ซึ่งยอมรับว่าการเลี้ยงเป็ดบาร์บารีช่วงแรกๆ นั้นค่อนข้างยาก เพราะเป็ดสายพันธุ์นี้ค่อนข้างบอบบาง ความแข็งแรง ต้านทานโรค น้อยกว่าสายพันธุ์อื่น เพราะเป็ดบาร์บารีมีจุดอ่อนของมันอยู่

“การเลี้ยงช่วงนั้นค่อนข้างยาก เพราะมันเป็นเป็ดค่อนข้างบอบบางกว่าเป็ดทั่วไป ไม่ค่อยทนทานเหมือนสายพันธุ์อื่นที่เขาเลี้ยงในเมืองไทย ไปเทียบกับเป็ดไล่ทุ่งคนละเรื่องเลยความว่องไว แต่เป็ดบาร์บารีมีความเชื่องช้า ผมสังเกตช่วงแรกที่มาเลี้ยงร่วงกันเยอะ โดยเฉพาะในทุกพื้นที่ที่มีการเลี้ยงเยอะ ช่วงแรกๆ ศึกษายังไม่ดีพอ ประสบการณ์เรื่องการเลี้ยงยังน้อย” คุณนรัตน์กล่าวถึงการเลี้ยงเป็ดบาร์บารีในช่วงเริ่มต้น

2.โรงเรือนเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์
2.โรงเรือนเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์

การบริหารจัดการฟาร์มเป็ด

แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์ และมีเลี้ยงเป็ดบาร์บารีแทบทุกภาค เพราะข้อมูลการเลี้ยงหาง่ายขึ้นและเข้าใจระบบการเลี้ยงมากขึ้น ทำให้การเลี้ยงเป็ดบาร์บารีแทบไม่มีปัญหา อีกทั้งฝีมือการเลี้ยงและสูตรอาหาร ที่ทำให้การเลี้ยงเป็ดบาร์บารีโตเร็ว เมื่อก่อนต้องขุดฝัง เพราะเลี้ยงยังไงก็ขาดทุน เป็ดไม่โต

โดยที่ฟาร์มของคุณนรัตน์ มีรายได้จากการเลี้ยงเป็ดบาร์บารี 5 ช่องทาง คือ 1) ขายลูกเป็ดอายุ 3-5  วัน 2) ขายลูกเป็ดอายุ 1 เดือน น้ำหนัก 1 กิโลกรัม 3) เลี้ยงเป็ดเนื้อจำนวน 2,000-3,000 ตัว อายุ 92-100 วัน หมุนเวียนออกทุกเดือน 4) ขายเป็ดสาวเพื่อนำไปเลี้ยงเป็นพ่อแม่พันธุ์ 5) พ่อแม่พันธุ์จากที่ปลดระวางอีกทางหนึ่งโดยดูจากการไข่เป็นหลัก ถ้าแม่เป็ดไข่น้อยลงเหลือ 15-20% ก็จะปลดระวางขายเป็นเป็ดเนื้อต่อไป ภายในฟาร์มมีพื้นที่กว่า 20 ไร่ แบ่งพื้นที่เป็นโซนเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ประมาณ 7 ไร่ โรงเพาะฟักมีพื้นที่ 5 ไร่ และพื้นที่เลี้ยงเป็ดเนื้อ 8 ไร่ และขุดเจาะบ่อบาดาล 1 บ่อ ไว้ใช้ภายในฟาร์ม

โฆษณา
AP Chemical Thailand
3.โรงฟัก
3.โรงฟัก

การบำรุงดูแลเป็ด

ในเรื่องการผสมพันธุ์ระหว่างพ่อและแม่ กรมปศุสัตว์กำหนดจะใช้พ่อพันธุ์ 1 ตัว ต่อแม่พันธุ์ 5 ตัว ซึ่งที่ฟาร์มมีรูปแบบชัดเจนกว่า ใช้พ่อพันธุ์เพิ่มมากขึ้น และให้แม่ติดดีกว่า  เพื่อไม่ให้พ่อพันธุ์โทรมเร็วไปและเสียหายน้อย “การเลี้ยงและดูแลเป็ดสาวที่นำมาเป็นแม่พันธุ์ ต้องดูแลดีเป็นพิเศษกว่าเลี้ยงเป็ดเนื้อ ปกติแม่เป็ดถ้าเลี้ยง 5 เดือนครึ่งให้ไข่ แต่ผมจะไม่ให้เป็ดไข่ช่วง 5 เดือนครึ่ง ผมให้แม่เป็ดไข่ช่วง 6-7 เดือน กินเยอะหน่อย ยอมเสียอาหารเพิ่ม ถ้าให้แม่เป็ดไข่ตามอายุ 5 เดือนครึ่ง ปัญหา คือ ไข่เล็ก

เราต้องมาคัดไข่ออกก่อนจะไปฟัก ซึ่งไข่เล็กเข้าฟักไม่ได้อยู่แล้ว และจะมีไข่แฝดเยอะมาก พอมันเยอะก็เสีย ไข่แฝดฟองใหญ่เกินไป ธรรมชาติของเป็ดสาวจะไข่แฝดมาก ถ้าไข่แฝดมากๆ ก้นจะเสีย เวลามันเสียแล้ว ตัวผู้จะผสมต่อไปมันไม่ได้แล้ว การผสมพันธุ์ไม่ดี ถ้าผสมได้ก็จะเป็นไข่ลมหมด

ถ้าเลี้ยงแม่เป็ดให้ไข่ช่วงอายุ 6-7 เดือน ไข่จะมีคุณภาพ ใบใหญ่ ไข่ใบแรกออกมาเก็บไปฟักได้เลย ปัญหาไข่แฝดไม่มี ส่วนใหญ่ของผมออกมาใบแรกผมเก็บฟักหมดเลย ผมทดลองมาหลายรุ่นแล้ว ไข่ทุกใบเก็บฟักได้ทั้งหมด และไข่ใบใหญ่ ซึ่งเราใช้ตู้ฟัก ลูกเป็ดออกมาแข็งแรง” คุณนรัตน์เผยเทคนิคการผลิตไข่คุณภาพก่อนเข้าฟัก

4.โรงเรือนอนุบาลลูกเป็ด
4.โรงเรือนอนุบาลลูกเป็ด

การให้อาหารเป็ด

ส่วนอาหารสำหรับแม่พันธุ์ต้องคัดพิเศษ ต้องใช้วัตถุดิบดี เพื่อให้เป็ดไข่สม่ำเสมอ และไข่นานไปจนถึง 4-5 เดือน โดยธรรมชาติเป็ดก็จะไข่อยู่แล้วช่วงอายุ 5-6 เดือน ก็ไข่ปกติ ช่วงเป็ดอายุ 5 เดือนครึ่ง จะเริ่มไข่โดยธรรมชาติ แต่ทางฟาร์มจะบังคับไม่ให้เป็ดไข่ช่วงนั้น คือ งดให้อาหาร หรืออาจจะให้กินวันเว้นวัน งดอาหาร 2 วัน หรือให้อาหารเสริม เป็นปลายข้าว หรือรำ ให้โปรตีนต่ำ ลดโปรตีนลงมา 14%

และจะเริ่มอัดอาหารเต็มที่อีกครั้ง เพื่อให้เป็ดไข่ช่วงอายุ 6 เดือนครึ่งไปจนถึง 7 เดือน และอาหารใช้โปรตีน 16% เพื่อให้เป็ดไข่สม่ำเสมอ บางฟาร์มใช้โปรตีน 18-19% มองว่าไม่จำเป็นขนาดนั้น ต้องเลือกให้อาหารของแต่ละแบรนด์ อันไหนไข่ดี ไข่ไม่ดี ปริมาณการให้อาหารจะสัมพันธ์กับอายุของเป็ด “ผมเคยใช้มาหลายยี่ห้อแล้ว ถ้าอาหารราคาถูกโภชนะและคุณภาพจะต่างกัน ไม่มีของราคาถูกคุณภาพดีหรอก”

เมื่อแม่เป็ดแก่ พร้อมปลดระวาง คุณนรัตน์บอกว่า ปกติจะใช้แม่พันธุ์ผลิตไข่ 2-3 รุ่น แล้วแต่ปริมาณการไข่ และดูตลาดเป็ดเนื้อให้ออกตรงกับช่วงเทศกาล จะได้ราคาดี ระหว่างอายุเป็ด 7 เดือน ก็จะไข่ไปเรื่อยๆ 4-5 เดือน แล้วก็ผลัดขนอีก 2 เดือน จะให้อดอาหาร ให้เป็ดผลัดขนเร็วขึ้น หรือให้เล่นน้ำ พอเป็ดเริ่มผลัดขนใหม่และผลัดขนหมด อีก 2 เดือน จะเริ่มให้ไข่ ก็อัดอาหารให้เต็มที่  เพื่อสร้างขนใหม่

โฆษณา
AP Chemical Thailand

พอขนเต็มจะให้อาหารตามปกติ 7-10 วัน ก็กลับมาไข่ใหม่ ผลัดขนใหม่ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 จะดูแม่พันธุ์ และดูให้ตรงกับเทศกาลตรุษจีนปีใหม่ช่วงที่จะปลด  ถ้าตลาดต้องการลูกเป็ด ก็ทำรอบที่ 3 แต่ถ้าเขาต้องการเป็ดเนื้อก็จะปลดขายเป็นเป็ดเนื้อ

5.อนุบาลลูกเป็ดให้ได้อายุ 1 เดือน ให้ได้น้ำหนัก 1 ก.ก.ต่อตัว
5.อนุบาลลูกเป็ดให้ได้อายุ 1 เดือน ให้ได้น้ำหนัก 1 ก.ก.ต่อตัว

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายเป็ด

ซึ่งฟาร์มวางแผนผลิตเป็ดมาทดแทนตลอด มีเป็ดอยู่ 3 ฝูง  ก็ดูจังหวะว่าตลาดต้องการลูกเป็ดช่วงไหน เช่น ฤดูฝน ตลาดต้องการลูกเป็ดน้อย ก็ผลิตลดลง และไปขายเป็ดเนื้อแทน ส่วนอาหารลูกเป็ดจะใช้อาหารไก่เนื้อ เบอร์ 1 โปรตีนสูง 21% ช่วงอายุ 1-20 วัน ลูกเป็ดกินอาหารได้ดีและโตเร็ว ใช้ได้กับลูกเป็ดทุกชนิด

“ผู้เลี้ยงเป็ดมืออาชีพส่วนใหญ่จะใช้อาหารไก่เนื้อ หรืออาจมีอาหารเป็ดเนื้อ ถ้าเป็นเป็ดเนื้อเพื่อเชือด ผมแนะนำให้ใช้อาหารไก่เนื้อโปรตีน 21% เบอร์ 1 อายุ 1-20 วัน โตเร็ว หลังจากนั้นก็จะให้อาหารแต่ละคนใช้อาหารผสม แล้วแต่สูตรใครสูตรมัน ของผมเองก็เลี้ยงเป็ดเนื้อเพื่อป้อนตลาดเองด้วย จำนวน 2,000-3,000 ตัว ปกติทั่วไปก็เลี้ยงอายุประมาณนี้ 90-100 วัน ถ้าช่วงฤดูหนาวระยะเวลาการเลี้ยงสั้นลงแค่ 70-80 วัน ก็ส่งตลาดได้  เพราะเป็ดกินอาหารเก่ง

ผมเคยเลี้ยงเป็ดเนื้อในระบบอีแวปที่เป็นเล้าเก่าของไก่เนื้อในจังหวัดลพบุรี  ลองนำเป็ดบาร์บารีไปปล่อยเลี้ยงดู โตเร็ว เคยไปปล่อยหลายรุ่นแล้วครั้งละ 5,000-6,000 ตัว/รุ่น เลี้ยงแค่ 75 วัน โตเร็วมาก แต่ถ้าเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ไม่ผ่าน” คุณนรัตน์กล่าวถึงการเลี้ยงเป็ดเนื้อป้อนตลาด เพื่อเข้าสู่เมนูอาหาร เมนูลาบเป็ด และเมนูอื่นๆ

ซึ่งยอมรับว่าโซนอีสานนิยมบริโภคเยอะ และตลาดเพื่อนบ้าน อย่าง ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม โดยจะจับเป็ดเนื้อ (ตัวเมีย) น้ำหนัก 2-2.2 กิโลกรัม/ตัว ถ้าเป็น(ตัวผู้) น้ำหนัก 3.8- 4 กิโลกรัม/ตัว ราคาก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 อยู่ที่  50-60 บาท/กก. หลังโควิด-19 และการสู้รบของรัสเซีย-ยูเครน อาหารสัตว์ขยับแพงขึ้น ราคาขยับมาเป็น 65-70 บาท/กิโลกรัม

“เมื่อก่อนผมเคยทำเป็ดเชือด วันละ 300 ตัว ฟรีซแข็ง ส่ง 4-5 ตัน ทางภาคเหนือ และร้านอาหาร ถ้ามีทุนผมจะทำครบวงจร ตลาดเป็ดบาร์บารีนิยมซื้อแบบมีชีวิต ส่ง กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม นิยมบริโภคเป็นอยู่ ส่วนเป็ดแช่แข็งนิยมนำมาทำเป็นอาหารหลากหลาย” คุณนรัตน์กล่าวถึงตลาดผู้บริโภค

โฆษณา
AP Chemical Thailand
6.การเลี้ยงเป็ดเนื้อคละเพศ ให้ได้น้ำหนักที่ตลาดต้องการ
6.การเลี้ยงเป็ดเนื้อคละเพศ ให้ได้น้ำหนักที่ตลาดต้องการ

แนวโน้มในอนาคต

ส่วนเรื่องโรคสำหรับการเลี้ยงเป็ด คุณนรัตน์บอกว่า ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะทำวัคซีนครบตลอด จึงไม่ค่อยมีปัญหาในฟาร์ม

ปี 2566 วางแผนการผลิตเป็ดสาวเพื่อไว้เป็นแม่พันธุ์ ทดแทนแม่พันธุ์เก่า ช่วงเดือนกุมภาพันธ์  เพื่อให้ไข่ต้นฤดูหนาว มีลูกเป็ดออกทุกสัปดาห์ และเลี้ยงเป็ดเนื้อในพื้นที่ 7 ไร่ ให้ออกจำหน่ายทุกเดือน พร้อมกับขยายพื้นที่การเลี้ยงเป็ดบาร์บารีเพิ่ม และสร้างโรงเรือนสำหรับเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เพิ่มอีก 2 หลัง ความจุหลังละ 1,500 แม่ รวม  3,000 แม่ โดยใช้แปลนก่อสร้างโรงเรือนจากฟาร์มเก่า ส่วนพื้นที่เลี้ยงของฟาร์มเก่าจะปรับมาเลี้ยงเป็ดเนื้อทั้งหมด ซึ่งทั้ง 2 แห่ง จะใช้แรงงานทั้งหมด 4 คน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณนรัตน์ งอกแสน  หรือ เจริญรัตน์ฟาร์ม พิษณุโลก เลขที่ 100/2 หมู่ 7 ต.บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก 65000 โทร.081-953-5500, 086-437-2998

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 358