เลี้ยง โคนม ไทยฟรีเชียน แปลงทุกส่วนเป็นเงิน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การทำฟาร์ม โคนม เรียกได้ว่ามีจำนวนลดน้อยลงกว่าเดิม ด้วยสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน เกษตรกรหลายคนที่เริ่มถอดใจ และละทิ้งการทำฟาร์ม แต่ไม่ใช่กับ คุณปฏิวัติ อินทร์แปลง หรือ คุณเบสท์ เจ้าของฟาร์มโคนมอินทร์แปลง เกษตรกรรุ่นใหม่มีแนวคิดที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งในวันนี้ทีมงานสัตว์บกจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับฟาร์มอินทร์แปลง รวมไปถึงแนวคิดที่เรียกว่า Zero Waste

1.โรงเรือนวัวนม
1.โรงเรือนวัวนม

จุดเริ่มต้นการเลี้ยงวัวนม

คุณปฏิวัติ เล่าว่า จุดเริ่มต้นการสร้างฟาร์ม เนื่องจากคุณพ่อเสียในปี 2548 ทำให้ตนเองและคุณแม่ซึ่งในขณะนั้นคุณแม่ยังคงทำงานรับจ้างในโรงงาน และมีรายได้วันละ 160 บาท ซึ่งทำให้คุณปฏิวัติต้องเริ่มมองหาลู่ทางในการหารายได้เข้าบ้านเพิ่มขึ้น ซึ่งประจวบเหมาะกับที่คุณตาของตนเคยทำฟาร์มโคนมที่ อ.ท่าแซะ ตั้งแต่ช่วงปี 2533 และปิดตัวลงในปี 2540

คุณปฏิวัติจึงขอแม่วัวจากคุณตามาเริ่มเลี้ยง โดยเริ่มจากการฝึกรีดนมวัว โดยมีคุณตาสอนให้ด้วยตัวเอง จากนักเรียนเริ่มมีอาชีพเป็นคนเลี้ยงวัว จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2548 ตนได้เขียนจดหมายเล่าเรื่องราวทั้งหมดส่งไปยังโรงโคนมจิตรลดาเพื่อขอโคพระราชทาน และได้รับการตอบรับในเดือนมีนาคม 2549 ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจชิ้นใหญ่ และเป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ ของคุณปฏิวัติและคุณแม่ ที่ออกมาทำอาชีพฟาร์มโคนม

2.ลูกวัวนม
2.ลูกวัวนม

สภาพพื้นที่เลี้ยงวัว

โดยเริ่มจากการเปลี่ยนสวนมะพร้าวที่บ้านมาเป็นฟาร์มโคนมอย่างเต็มตัว อีกทั้งยังมีอุปกรณ์จากคุณตาเคยใช้มา กลายเป็นฟาร์มโคนมเล็กๆ ที่มีวัวเพิ่มขึ้น และได้ส่งนมให้กับสหกรณ์โคนมตั้งแต่ตอนนั้น สายพันธุ์โคนมที่ทางอินทร์แปลงฟาร์มจะเป็นสายพันธุ์ไทยฟรีเชียน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ผ่านการผสมข้ามสายพันธุ์ เพื่อให้เข้ากับอากาศของประเทศไทย

โดยมีจำนวนวัวทั้งหมด 42 ตัว เป็นวัวที่ให้ผลผลิต  27 ตัว และให้ผลผลิตต่อวัน 18-19 ลิตรต่อตัว มีการรีดนม 2 ครั้ง/วัน ห่างกัน 12 ชั่วโมง โดยนมทั้งหมดจะถูกส่งไปยังถังทำความเย็น และส่งต่อไปเพื่อทำการแปรรูปจากโรงงานแปรรูปของทางฟาร์มต่อไป

คุณปฏิวัติเล่าต่อว่าในสมัยก่อนที่ฟาร์มยังมีการส่งนมให้กับทางสหกรณ์โคนม จังหวัดชุมพร เพื่อส่งต่อไปทำนมกล่องไทยเดนมาร์ก แต่เนื่องจากคุณแม่เกิดอุบัติเหตุจากการส่งนม ทำให้หน้าที่การส่งนมทั้งหมดตนจึงต้องเป็นคนรับหน้าที่แทน ด้วยระยะห่างของฟาร์มกับสหกรณ์เป็นระยะทาง 140 กิโลเมตร/วัน กลายเป็นเป้าหมายใหม่ที่คุณปฏิวัติจะต้องเป็นฟาร์มที่รับผิดชอบน้ำนมของตัวเอง ทำทุกอย่างด้วยตนเอง กลายเป็นแผนเพื่อขยับขยายการทำงานต่อไป

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ปัจจุบัน อินทร์แปลงฟาร์ม มีขนาด 1 ไร่ 3 งาน รวมถึง โรงเลี้ยงวัว โรงผสมอาหาร โรงแปรรูป เรียกได้ว่าพื้นที่ทุกตารางเมตรของอินทร์แปลงฟาร์มจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ทั้งหมด แม้กระทั่งการทำระบบบำบัดน้ำเสียที่คุณปฏิวัติเลือกวิธีขุดลงไปยังใต้ดินเพื่อลดการสูญเสียพื้นที่ภายในฟาร์ม เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดนั่นเอง

3.การให้อาหารวัว
3.การให้อาหารวัว

การให้อาหารวัว

อินทร์แปลงฟาร์มได้รับการยกย่องจาก นิตยสารเดอะคราวน์ (The Crown) ว่า เป็นฟาร์มโคนมแบบ Zero Waste แห่งแรกของประเทศไทย เพราะของเสียทุกอย่างที่เกิดขึ้นภายในฟาร์มจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ทั้งหมด จะไม่มีการทิ้งของเสียไปสู่แหล่งสาธารณะเลย

โดยคุณปฏิวัติได้วางระบบ Zero Waste ตั้งแต่การเลือกใช้อาหารภายในฟาร์ม โดยอาหารที่ใช้เป็นอาหารที่ทางฟาร์มได้ทำขึ้นเอง เรียกว่า อาหาร TMR (Total Mixed Ration) ซึ่งทำให้สามารถควบคุมวัตถุดิบที่ใช้สำหรับให้อาหารภายในฟาร์ม และอาหารจะถูกผสมให้มีความเหมาะสมกับแม่วัวภายในฟาร์มมากที่สุด

โดยปกติแล้วอาหารของวัวจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ อาหารหยาบ และ อาหารข้น ซึ่งวัวเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง ทำให้ต้องเอาอาหารหยาบและอาหารข้นมาผสมด้วยกันด้วยเครื่องผสม ปัจจุบันค่าอาหารวัวนมในฟาร์มอินทร์แปลงราคา 5 บาท/กิโลกรัม เป็นการลดต้นทุน

ซึ่งข้อดีในการให้อาหารแบบ TMR คือ วัวสามารถได้ประโยชน์มากกว่าการให้หญ้าทั้งต้น หรือการให้ฟางทั้งก้อน เพราะจะมีการสับอาหารให้เล็ก ทำให้วัวสามารถเคี้ยวเอื้องและดูดซึมได้ไวกว่า เพราะการให้หญ้าทั้งต้นนั้น วัวจะกินเพียงส่วนยอด และเหลือโคนเอาไว้ และเกษตรกรต้องทำการกำจัดส่วนที่เหลืออย่างเปล่าประโยชน์ การให้อาหารแบบ TMR จะทำให้ไม่มีอาหารเหลือทิ้ง ทำให้ของเสียในส่วนนี้ถูกตัดทิ้งไปในทันที

4.การรีดนมวัว
4.การรีดนมวัว

การบริหารจัดการฟาร์มวัว

หลังจากที่วัวกินอาหาร TMR ใน 24 ชั่วโมง ของเสียจากการขับถ่ายจากวัวในแต่ละวันจะอยู่ที่ 1.6-2 ตัน ทางฟาร์มจะนำมูลของเสียตรงนี้ไปแยกกากด้วยเครื่องแยกกาก (Separator) โดยได้ไอเดียมาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนำมาใช้ในการแยกกากที่มีขนาดใหญ่กว่า 0.05 มิลลิเมตร จากสิ่งปฏิกูล แล้วบีบให้แห้ง จะได้เป็นปุ๋ยที่มีความชื้นเพียง 35% ซึ่งต่างการนำขี้วัวมาตากแดดให้แห้ง ก่อนจะส่งขายเป็นปุ๋ย วิธีนี้จะช่วยย่นระยะเวลาในการทำปุ๋ยให้เร็วยิ่งขึ้น

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ส่วนน้ำเสียที่ได้หลังจากการแยกกากจะถูกส่งไปยังบ่อไบโอแก๊ส (Bio Gas) 600 ลูกบาศก์เมตร และส่งกลับมาเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการทำแก๊สหุงต้ม เพื่อใช้ในการผลิต นมพาสเจอร์ไรส์ โยเกิร์ต และ ชีส น้ำเสียหลังจากการหมักไบโอแก๊สแล้ว จะถูกนำกลับมาใช้ล้างคอกวัวอีกครั้ง เพื่อลดการใช้น้ำสะอาด น้ำเสียส่วนเกินจะถูกนำมาแจกให้กับเกษตรกรที่ต้องการ

ดังคอนเซ็ป “ทำทุกอย่างที่ใช้ และใช้ทุกอย่างที่ทำ” ที่คุณปฏิวัติมองว่ามันคือภาพที่มองเห็นได้ชัดที่สุดของอินทร์แปลงฟาร์มนั่นเอง อีกทั้งกระบวนการทำฟาร์มโคนมทั้งหมด ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งหมด ทั้งในด้านของอาหาร และการผลิต ทำให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมีคุณภาพ และปลอดสารเคมี อย่างแน่นอน

5.นมพาสเจอร์ไรส์
5.นมพาสเจอร์ไรส์

แนวโน้มในอนาคต

ในอนาคตคุณปฏิวัติอยากจะขยายฟาร์ม  และเพิ่มจำนวนโคนมภายในฟาร์มให้เพิ่มมากขึ้น  แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ความต้องการหยุดชะงัก เนื่องจากปัจจุบันอินทร์แปลงฟาร์มส่งนมไปยังโรงแรม และ โรงงานการผลิตชีสภายในประเทศ ทำให้คุณปฏิวัติมองหาลู่ทางใหม่อีกครั้ง

ด้วยการเปิดร้าน “อินทร์มิลล์” ที่ขายผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากฟาร์มโดยตรงส่งถึงมือผู้บริโภค ปัจจุบันมีทั้งหมด 1 สาขา ที่ จ.ชุมพร และในอนาคตได้มีการเตรียมเปิดร้านอินทร์มิลล์ อีก 2 สาขา ที่กรุงเทพมหานคร อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และยึดหลัก “From Farm To Table” จากฟาร์มจนถึงโต๊ะอาหารของผู้บริโภค

ในช่วงโควิด-19 คุณปฏิวัติยอมรับตามตรงว่า การกลับไปเข้าสู่ระบบสหกรณ์เป็นสิ่งที่วนเวียนคิดอยู่ทุกวัน เนื่องจากในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ไม่สามารถสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ของฟาร์มได้เลย อีกทั้งยังไม่มีหลักประกันว่าราคาที่เคยได้นั้นจะสามารถกลับมาได้อีกครั้งหรือไม่ แต่ด้วยความไม่ย่อท้อ ทำให้คุณปฏิวัติเลือกที่จะเดินหน้าสู้ต่อด้วยการสร้างแผนการตลาดที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ และปรับปรุงให้แผนการตลาดนี้สามารถพลิกแพลงเข้ากับทุกๆ สถานการณ์

6.คอกวัว
6.คอกวัว

ฝากถึงเกษตรกรฟาร์มวัวนม

ทั้งนี้คุณปฏิวัติอยากฝากถึงเกษตรกรฟาร์มโคนมว่า การทำฟาร์มโคนมที่ดีควรเริ่มต้นที่การปรับตัวไปตามสถานการณ์และยุคสมัยให้ได้ มองให้ขาดว่าคนที่เป็นผู้บริโภคของเราเป็นอย่างไร ควรมองในมุมของผู้ประกอบการด้วย สร้างแผนการตลาดเพื่อสร้างราคาให้กับสินค้าของตัวเอง “ใช้การตลาดนำการผลิต” มาเป็นหลักการที่ปรับใช้กับตนให้ได้

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เนื่องจากในอนาคตตลาดการค้าเสรีไทย-นิวซีแลนด์ (FTA) กำลังจะเข้ามามีบทบาทภายในประเทศมากขึ้น อาจทำให้ราคานมวัวถูกกดลงมากกว่าเดิม จึงอยากให้เกษตรกรควรเริ่มปรับตัวเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับตนเอง และมีภาพลักษณ์ที่ดีให้กับน้ำนมโคภายในประเทศ ให้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้นนั่นเอง

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณปฏิวัติ  อินทร์แปลง หรือ คุณเบสท์ กลุ่มฟาร์มอินแปลง เลขที่ 69/2 หมู่ 7 ต.ทุ่งคา อ.เมือง จ.ชุมพร 86100 โทร.0-2214-7516 ต่อ 1-2 เวลาทำการ 06.00 น.-18.00 น.

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 345