ไร่ธารธรรม กับ เกษตรแบบผสมผสาน ด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่ แบบพึ่งพาตนเองและยั่งยืน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ในการทำการเกษตร ไม่ว่าจะ ปลูกพืช ปศุสัตว์ หรือ ประมง ต่างก็มีปัญหาหรืออุปสรรคที่แตกต่างกันไป ซึ่งการทำการเกษตรเพียงอย่างเดียว หากเจอปัญหาบางอย่างเข้าไป อาจทำให้ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จะดีกว่าหรือไม่หากเราเลือกทำ เกษตรแบบผสมผสาน เพื่อให้มีรายได้จากหลายช่องทาง ช่วยกระจายความเสี่ยงจากการทำเกษตรเพียงอย่างเดียว

1.คุณธนกัญพัชร ทิ้งโคตร เจ้าของ ไร่ธารธรรม
1.คุณธนกัญพัชร ทิ้งโคตร เจ้าของ ไร่ธารธรรม

การปลูกพืชผสมผสาน

นิตยสารสัตว์บกฉบับนี้จะพาไปรู้จักกับ คุณธนกัญพัชร ทิ้งโคตร หรือ คุณจูน เจ้าของ “ไร่ธารธรรม” ที่มีการทำเกษตรผสมผสาน ทั้ง ปลูกพืช เลี้ยงเป็ดไข่ และเลี้ยงปลา ด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่ แบบพึ่งพาตัวเองและยั่งยืน มีระบบการจัดการแปลง นำหลัก โคก หนอง นา โมเดล มาประยุกต์ใช้ เมื่อเกิดวิกฤตหรือภัยแล้ง

มีแบ่งการทำการเกษตรแบบ ต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำ เก็บเกี่ยวผลผลิต กลางน้ำ การเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตร ปลายน้ำ การทำการตลาดสินค้า ทั้ง ออนไลน์ ออฟไลน์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างแบรนด์สินค้าเกษตร เพิ่มคุณค่าผลผลิตทางการเกษตร

“เมื่อเรียนจบก็อยากจะกลับมาทำงานที่บ้าน จึงเลือกที่จะ ปลูกพืช และ เลี้ยงสัตว์ ที่เลือกเป็ดไข่ เพราะในพื้นที่ยังไม่ค่อยมีคนเลี้ยง ทำให้คู่แข่งทางการตลาดไม่สูง สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆได้ เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา และเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ นอกจากนี้การเลี้ยงเป็ดไข่ในแต่ละวันใช้เวลาไม่มาก ทำให้เราเหลือเวลาทำอย่างอื่น จึงเลือกที่จะปลูกพืชแบบผสมผสานเพื่อให้มีรายได้จากหลายช่องทาง” คุณจูนเผยถึงที่มาของการเลี้ยงเป็ดไข่

บนพื้นที่ 200 กว่าไร่ ได้มีการจัดสรรเป็น ปลูกพืชผสมผสาน ปศุสัตว์ และ ประมง โดยพืชที่ทางไร่ธารธรรมปลูกจะมี ลำไย 200 ต้น สับปะรด 150 ต้น ข้าวอินทรีย์ อ้อยสุพรรณบุรี บ่อเลี้ยงปลาประมาณ 3ไร่ และมีโซนร้านอาหาร  และ โซนสำหรับจัดกิจกรรมเวิร์คช็อป ภายในไร่ธารธรรม จะมีกิจกรรมการเก็บไข่เป็ดนำมาแปรรูป ทำพิซซ่าโฮมเมด

2.พื้นที่สำหรับให้เป็ดได้เล่นน้ำ
2.พื้นที่สำหรับให้เป็ดได้เล่นน้ำ

การบริหารจัดการฟาร์มเป็ด

ในส่วนของเป็ดไข่นั้นจะเริ่มเลี้ยงเป็นเป็ดสาวพร้อมไข่อายุ 5 เดือน โดยได้ให้เหตุผลที่เลือกเป็ดไข่อายุ 5 เดือน เพราะ “เพื่อเป็นการประหยัดเวลาช่วง 5 เดือนแรก และถ้าเราเอาเป็ดที่ไข่แล้วมาเลี้ยง เราจะไม่รู้ว่าแต่ละฟาร์มที่เราเอาเป็ดมามันเพิ่งออกไข่จริงหรือเปล่า เป็นการลดความเสี่ยงด้วยว่าเราได้เป็ดสาวจริงๆ จะเอามาขุนต่อ 1 เดือน ก่อนเป็ดจะออกไข่ เพื่อให้เป็ดได้ปรับสภาพตามระบบนิเวศน์ของฟาร์ม”

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ปัจจุบันมีเป็ดไข่อยู่ 800 ตัว ลดลงจากรุ่นก่อนหน้านี้ เพราะมีการทำเกษตรผสมผสาน ร้านอาหาร และแปรรูปผลิตภัณฑ์ ที่มีในฟาร์ม สำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ไร่ธารธรรมมี ได้แก่ ไข่เค็มสมุนไพร น้ำพริก ลำไยอบแห้ง ไซรัปต่างๆ และพิซซ่า

เมื่อถามถึงปัญหาและอุปสรรคที่เจอตอนเริ่มเลี้ยง คุณจูนเผยว่า “จะมีปัญหาและอุปสรรคในเรื่องขององค์ความรู้ เพราะในการเริ่มเลี้ยงครั้งแรกยังไม่มีระบบ โรงเรือนที่เลี้ยงไม่ได้มาตรฐาน ทำให้มีปัญหาต่างๆ ตามมา เวลาฝนตกเป็ดจะตกใจ ไข่ลด หรือไข่โดนน้ำบ้าง เก็บได้ไม่นาน ต่อมาจึงได้มีการทำโรงเรือนเรือนใหม่ แยกเป็นโซนๆ วางแผนการดูแลจัดการฟาร์มให้เป็นระบบมากขึ้น เพื่อให้การจัดการง่ายขึ้น และไข่เป็ดมีคุณภาพดี”

3.โรงเรือนเป็ด
3.โรงเรือนเป็ด

สภาพพื้นที่เลี้ยงเป็ด

โรงเรือนที่ได้มาตรฐานในปัจจุบันได้มาจากการเรียนรู้ปัญหาที่เจอในอดีต ซึ่งความเสี่ยงจากสัตว์ของเป็ด คือ สุนัข และ สัตว์เลื้อยคลาน ตัวโรงเรือนจะมีการก่ออิฐบล็อกขึ้นมารอบนอกเพื่อป้องกันสัตว์เลื้อยคลาน และมีลูกกรงป้องกันสุนัข ส่วนภายในตัวโรงเรือนจะมีการแบ่งโซนอย่างเป็นระบบ โซนสำหรับ เล่นน้ำ กินอาหาร กินน้ำ วางไข่ และยังมีโซนห้องแต่งตัวสำหรับเป็ดพักสลัดขนเมื่อเล่นน้ำเสร็จ

นอกจากนี้เรื่องสภาพอากาศก็ค่อนข้างมีผลต่อการเลี้ยงเป็ด โดยเฉพาะในหน้าฝนจะทำให้อัตราการให้ไข่ลดลงมาก มีอัตราการให้ไข่แค่ 60% แต่ในหน้าหนาวอัตราการให้ไข่จะอยู่ที่ 80 – 90% ในช่วงหน้าร้อน หน้าฝนจึงต้องมีการบำรุงเป็นพิเศษเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน และทำโรงเรือนให้ดี กันลม กันฝน

อาหารที่ใช้เลี้ยงเป็ดนั้นจะผสมเองเพื่อลดต้นทุนการเลี้ยง โดยจะใช้วัตถุดิบที่มีในชุมชนเป็นหลัก จะมี รำอ่อน รำแก่ ปลาป่น ดาวเรืองตากแห้ง และ แหนแดง จะให้อาหาร 2 เวลา เช้า – เย็น ปริมาณการให้ที่เหมาะสม คือ 1.2 – 1.5 ขีด / ตัว แต่ต้องตามหลักโภชนาการให้มีปริมาณโปรตีนเหมาะสม

และมีการทำน้ำหมักจุลินทรีย์ดับกลิ่นผสมในอาหาร จากวัตถุดิบในท้องถิ่น เป็นการนำราขาวจากโคนไผ่ และข้าวหุงไม่สุก บ่มเชื้อไว้ประมาณ 7 วัน แล้วนำมาหมักกับน้ำตาลทราย ผสมในอาหารให้เป็ดกิน เมื่อเป็ดกินจุลินทรีย์ดีเข้าไป ก็จะไปทำลายจุลินทรีย์เสียในเป็ด เมื่อเป็ดถ่ายออกมาจะไม่มีกลิ่น เป็นการรักษาที่ต้นเหตุ หากพ่นเฉพาะตามโรงเรือน เวลาเป็ดถ่ายออกมาก็ยังจะมีกลิ่นหลงเหลืออยู่

โฆษณา
AP Chemical Thailand
4.ไข่เค็มสมุนไพร น้ำพริก
4.ไข่เค็มสมุนไพร น้ำพริก

เป้าหมายในอนาคต

ในส่วนของเป้าหมายในอนาคตนั้น คุณจูนได้วางแผนไว้ว่า จะมีการขยายธุรกิจด้าน ปศุสัตว์ และ ประมง เพิ่ม ในพื้นที่อีกส่วนหนึ่งมีการขุดบ่อเลี้ยงปลาเพื่อทำแปรรูป ในส่วนของเป็ดไข่จะมีการเพิ่มลูกฟาร์ม เพื่อรับซื้อไข่เป็ดแล้วนำมาแปรรูป เป็นการสร้างอาชีพเสริมให้ชาวบ้านในพื้นที่ และจะมีการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์แปรรูปตัวใหม่เรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงการทดลองอยู่ อาจจะพร้อมจำหน่ายภายในปีหน้า

สำหรับหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจ คุณจูนได้ให้ความเห็นว่า “การเอาใจใส่” ซึ่งทางฟาร์มไม่เน้นปริมาณ จะเน้นที่คุณภาพ จะไม่ทำเยอะจนเกินไป ทำท่าที่ดูแลไหว แต่เน้นที่คุณภาพในทุกๆ ส่วน และสำหรับคนที่สนใจอยากหันมาทำการเกษตร คุณจูนได้ให้ความเห็นว่า “อยากให้ทำหลายๆ อย่างควบคู่กันแบบผสมผสาน เพื่อให้มีรายได้จากหลายช่องทาง และเพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบอาชีพใดอาชีพหนึ่ง

อย่างเช่น การเลี้ยงเป็ด มีรายได้ทุกวัน แต่ก็จะมีช่วงที่เป็ดผลัดขน ช่วงสภาพอากาศที่มีผลต่อการเลี้ยงทำให้ผลผลิตลดลง รายได้ส่วนนี้ของการเลี้ยงเป็ดก็จะลดลง หากเรามีการทำการเกษตรอย่างอื่น เราก็ยังมีรายได้จากผลผลิตอื่นๆ มาจุนเจือช่วงที่เป็ดผลผลิตลดลง เป็นการกระจายความเสี่ยง

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากเยี่ยมชม เข้าร่วมกิจกรรมของไร่ธารธรรม สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟสบุ๊คแฟนเพจ “ไร่ธารธรรม แหล่งเรียนรู้เชิงเกษตร จังหวัดเลย – ThanTham Farmade” โทร.095-586-2256

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณธนกัญพัชร ทิ้งโคตร หรือ คุณจูน ไร่ธารธรรม แหล่งเรียนรู้เชิงเกษตร จังหวัดเลย

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 341