ชมพู่เพชร สายรุ้ง ผลไม้ “GI” เมืองเพชร…แพงเพราะหวานกรอบ เนื้อแน่น

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของ “ ชมพู่เพชร สายรุ้ง ”

สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบุรี เขียนไว้ในหนังสือ ” ชมพู่เพชรสายรุ้ง ” ว่า ชมพู่เพชรสายรุ้ง เป็นไม้ผลที่ปลูกในจังหวัดเพชรบุรีเมื่อประมาณ 176 ปีที่แล้ว แต่เดิมชมพู่เพชรสายรุ้งมีชื่อเรียกหลายชื่อด้วยกัน เช่น ชมพู่เขียวเสวย ชมพู่สายน้ำผึ้ง แต่ปัจจุบันนิยมเรียก ชมพู่เพชร สายรุ้ง เพื่อเจาะจงลงไปว่าเป็นพันธุ์ใหม่ เพราะปัจจุบันนิยมตั้งชื่อพันธุ์ชมพู่ขึ้นต้นด้วยคำว่าเพชร เช่น เพชรสุวรรณ เพชรจินดา เพชรทูลเกล้า ทำให้ผู้บริโภคสับสนไม่รู้ว่า ชมพู่เพชร สายรุ้ง แท้ๆ เป็นอย่างไร

ตามประวัติเล่ากันว่าผู้ที่นำ ชมพู่เพชรสายรุ้ง มาปลูกเป็นคนแรก คือ พระครูญาณวิมล (หลวงพ่อพ่วง) เจ้าอาวาสองค์ที่ 2 ของวัดศาลาเขื่อน (ต่อมาได้สมณศักดิ์เป็นพระครูญาณเพชรรัตน์) เมื่อปีพ.ศ.2375 หลวงพ่อพ่วงเดินทางไปศึกษาพระธรรมที่วัดราชาธิวาส ซึ่งขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวช ก่อนเดินทางกลับจังหวัดเพชรบุรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานต้นชมพู่ 1 ต้น เป็นต้นที่ตอนจากต้นที่ปลูกอยู่ที่วังที่ประทับ หลวงพ่อจึงนำมาปลูกที่หน้าวัดศาลาเขื่อน ต.ตำหรุ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ในปี 2378 เมื่อต้นชมพู่เจริญเติบโตขึ้นหลวงพ่อก่ออิฐโบกปูนล้อมรอบต้นชมพู่ไว้ ทำให้การถ่ายเทอากาศไม่สะดวกและการขยายตัวทางด้านข้างของต้นชมพู่ถูกจำกัด ในที่สุดต้นชมพู่นี้ตายลงเมื่อปี 2530 รวมอายุได้ 152 ปีผู้คนที่ได้ชิมชมพู่ชนิดนี้ต่างติดใจและมาขอตอนกิ่งต้นนี้เป็นจำนวนมาก ทำให้ชมพู่ต้นนี้ขยายพันธุ์ออกไปอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีการนำไปปลูกเกือบทั่วประเทศ แต่คุณภาพยังสู้ที่ปลูกในจังหวัดเพชรบุรีไม่ได้

ขณะเดียวกันมีตำนานจาก ต.หนองโสน เล่าสืบต่อกันมาว่า คนที่เอาชมพู่เพชรสายรุ้งมาปลูกเป็นคนแรกใน ต.หนองโสน คือ นายหรั่ง แซ่โค้ว เกิดเมื่อปี พ.ศ.2438 ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำเมืองเพชรบุรี ฝั่งตรงข้ามวัดขุนตรา ซึ่งเดิมเรียกกันว่าบ้านสะพานยายนมนายหรั่งได้นำกิ่งตอนพันธุ์ชมพู่เพชรมา 3 กิ่ง ไม่ปรากฏว่ามาจากสวนแห่งใด ชมพู่เพชรทั้ง 3 กิ่งนี้ เป็นชมพู่เพชรรุ่นแรกที่นำมาปลูกในบริเวณแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งริมน้ำมีดินดี มีความร่วนซุย น้ำท่วมถึง มีปุ๋ยและอินทรียวัตถุอุดมสมบูรณ์ จึงเจริญเติบโตงอกงามให้ผลดี สีสวยและมีรสชาติอร่อย ต่อมามีผู้ขอขยายพันธุ์ชมพู่เพชรไปปลูกบ้าง แต่เจ้าของไม่ประสงค์จะให้ขยายกิ่งพันธุ์ชมพู่เพชรไปปลูกแพร่หลาย ดังนั้นในระยะแรกชมพู่เพชรทั้งสามต้นจึงยังไม่ได้แพร่พันธุ์ไปปลูกในที่แห่งใดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการขยายตอนกิ่งชมพู่เพชรออกจำหน่ายให้คนที่ต้องการในราคาประมาณกิ่งละ 200-250 บาท ซึ่งนับว่าเป็นราคาที่แพงมากในสมัยนั้น และภายหลังจากปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมา กิ่งชมพู่เพชรก็เป็นที่แพร่หลายไปอย่างกว้างขวางในทุกพื้นที่ของ จ.เพชรบุรี แต่ไม่อร่อยเท่าที่ ต.หนองโสน

 

บรรจุภัณฑ์สำหรับขายในประเทศ

 

 

ชมพู่เป็นพืชที่ชอบน้ำมากจึงปลูกได้ผลดีเฉพาะริมแม่น้ำ หรือในร่องสวนที่มีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา ลักษณะดินที่ปลูกเป็นดินร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี มีอินทรีย์วัตถุที่ไหลมาทับถมกันทุกปีที่เรียกว่า “ดินน้ำไหลทรายมูล”บริเวณที่ปลูกชมพู่เพชรสายพันธุ์ต่างๆ มักจะอยู่ที่ริมแม่น้ำเพชรบุรี ที่ ต.บ้านกุ่ม ต.หนองโสน อ.เมืองเพชรบุรี

สมาชิก เมืองไม้ผล
สมาชิก เมืองไม้ผล

ชมพู่เพชรบุรี มีอยู่หลายสายพันธุ์ เช่น เพชรสุวรรณ เพชรน้ำผึ้ง ทับทิมจันทร์ ทูลเกล้า นอกจากจะมีพื้นที่ปลูกในเขต อ.เมืองเพชรบุรี แล้วยังมีการปลูกชมพู่กันมากที่สองริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีในเขต อ.บ้านลาดและ อ.ท่ายาง อีกด้วย แต่ถึงมีหลายสายพันธุ์แต่ที่ขึ้นชื่อเป็นของดีประจำจังหวัดรสชาติดีที่สุดก็คงมีเพียงแค่ “เพชรสายรุ้งเท่านั้น”

โฆษณา
AP Chemical Thailand

 

อายุต้นยิ่งมากค้างก็ยิ่งสูงขึ้น

 

การสังเกตข้อแตกต่างระหว่างเพชรสุวรรณกับเพชรสายรุ้ง

วิธีการสังเกตที่ทางจังหวัดระบุมาคือให้ดูที่ “ก้นชมพู่”  ของเพชรสายรุ้งจะแคบแต่ของเพชรสุวรรณจะกว้าง คือกลีบไม่ชิด เพชรสายรุ้งจะชิดกว่า กลีบก้นของเพชรสุวรรณจะห่างขนาดปากกาเข้าไปได้ ระยะห่างระหว่างกลีบจะห่างกันมาก และก็สีของเพชรสายรุ้งจะเป็นสีชมพูเข้ม เนื้อแข็งกรอบ เนื้อหนา มีสีเขียวอ่อนปนชมพู มีแถบสีชมพู (เส้นเอ็น) เป็นริ้ว มีเมล็ด 1-3 เมล็ด และมีรสชาติหวานกลมกล่อม มีเปอร์เซ็นต์ความหวาน 8-15 องศาบริกซ์ ขณะที่ชมพู่เพชรสุวรรณมีก้นผลกว้าง ขอบสีแดง เนื้อนิ่ม ไม่กรอบ ค่อนข้างบาง มีสีเขียวปนคล้ำ มีเส้นเอ็นสีแดงเห็นชัดเจน มีเมล็ด 1-3 เมล็ด มีรสจืด-หวาน และมีเปอร์เซ็นต์ความหวาน 6-11 องศาบริกซ์

 

ขึ้นทะเบียน “GI” เพื่อให้เกิดการคุ้มครองและป้องกันการ “ลอกเลียนแบบ”

          จากที่กล่าวถึงว่ามีการแอบอ้างเอาเพชรสุวรรณมาแอบขายเป็นเพชรสายรุ้งจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ต้องนำชมพู่เพชรสายรุ้งไปขึ้นทะเบียน “GI”ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นผู้ดำเนินการให้

“GI” (Geographical Indication) หรือเรียกว่า “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์”  หมายถึง การใช้ชื่อสถานที่ในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งของประเทศสมาชิกประกอบกับสินค้าเพื่อแสดงให้ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคได้ทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้าว่าคุณภาพ ชื่อเสียง หรือลักษณะอื่นของสินค้ามีส่วนสำคัญมาจากแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ของสินค้านั้นเพื่อป้องกันมิให้มีการนำสินค้าจากแหล่งภูมิศาสตร์อื่น  นอกเหนือจากแหล่งภูมิศาสตร์ที่แท้จริงไปใช้ในลักษณะที่ทำให้สาธารณชนสับสน   หลงผิดเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ของสินค้า  หรือก่อให้เกิดการกระทำที่เป็นการแข่งขันไม่เป็นธรรมผลจาก GI จะทำให้เกิดระบบการคุ้มครองผู้บริโภค   ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับสินค้าตรงตามความต้องการ และมีการรักษามาตรฐาน ป้องกันการ

แข่งขันที่ไม่เป็นธรรม    เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถนำเอาชื่อเสียงของคู่แข่งทางการค้าไปแอบอ้างโดยทุจริต  รวมถึงเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและเป็นเครื่องมือทางการค้าเชื่อว่าการระบุ GI  ทำให้สินค้าดังกล่าวมีลักษณะพิเศษจากสินค้าจากแหล่งอื่น ๆ มีราคาที่สูงขึ้นจำหน่ายได้มากขึ้นด้วยเหนือสิ่งอื่นใดคือมีความคุ้มครองตามกฎหมายการแอบอ้างถือเป็นความผิดทางกฎหมายในทันที

โฆษณา
AP Chemical Thailand

 

คุณยุทธนา เมืองเล็ก ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรสวนชมพู่เพชรสายรุ้งตำบลหนองโสน

 

 

 

“เพชรสายรุ้ง” ปลูกง่าย…ให้ผลผลิตดี..ยิ่งแก่ยิ่งหวาน

ชมพู่เพชรสายรุ้งความจริงแล้วปลูกง่ายทนต่อสภาพอากาศได้ดี น้ำท่วมก็ไม่ตาย ร้อนก็ไม่ตาย แต่ต้องการน้ำค่อนข้างเยอะในช่วงให้ผลผลิต ถ้าเรียงลำดับขั้นการปลูกเราก็จะเริ่มจากการใช้กิ่งตอนเพราะง่ายในการไปซื้อหรือขนส่งที่สำคัญคือไม่กลายพันธุ์ จากนั้นก็เอามาเลี้ยงใส่ถุงดำหรือเข่งตะกร้า จนกว่ารากจะเดิน นั้นคือ เริ่มมีการแตกใบใหม่ ต่อยอดใหม่ พอรากเดิน ก็เตรียมหลุมปลูกส่วนใหญ่ใช้ขนาด 50 X 50 เซนติเมตร แล้วก็ตากหลุมไว้ประมาณ 1 อาทิตย์ จากนั้นจึงรองก้นหลุมด้วยการใช้พวกเศษไม้ ปุ๋ยคอก  แล้วก็เริ่มลงมือปลูก ไม่ต้องดูแลอะไรมากที่สำคัญคือต้องทำเป็นคันรอบต้นเหมือนเป็นอ่างให้กับชมพู่ ระยะห่างของการปลูกชมพู่เพชรสายรุ้งต้องคำนวณเรื่องนั่งร้านของแต่ละต้นเป็นหลักเพราะถ้าชิดเกินไปพอโตนั่งร้านระหว่างต้นจะชนกันก็ต้องมีระยะห่างพอสมควรเผื่ออนาคต ระยะห่างที่ควรจะเป็นคือ 10 เมตร ปลูกได้ประมาณ 16 ต้น/ไร่

หลังจากนั้นก็ให้น้ำในฤดูแล้งประมาณ 3-5 วัน/ครั้งจนต้นโตสูงกว่าศรีษะใช้เวลาประมาณ 1 ปีเกษตรกรบางคนระหว่างนั้นก็อาจให้ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 แต่ในปริมาณไม่มากที่สำคัญคือปุ๋ยคอกต้องใส่  และถ้าจะให้ดีควรมีการปลูกกล้วยแซมเข้าไปด้วยเพื่อเป็นแนวกันลม และพรางแสง พอสูงกว่าหัวก็เริ่มหาไม้รวกหรือไม้ไผ่เอามาผูกทำเป็นนั่งร้านประคองต้นยังไม่ต้องต่อขึ้นไป ดูแลให้อยู่กับนั่งร้านประมาณ ปีที่ 2-3 จะเริ่มให้ผลผลิตแต่ยังมีปริมาณน้อย

ชมพู่เพชรสายรุ้งเป็นไม้ยืนต้นที่ไม่ต้องการการดูแลมาก ถ้าไม่ใช่ช่วงฤดูให้ผลผลิตยิ่งไม่ต้องดูแล ชมพู่เพชรสายรุ้งเริ่มออกดอกประมาณ 2 ปี แต่ผลผลิตยังน้อย เริ่มให้ผลผลิตที่ดีในปีที่ 3 ที่เริ่มเอาไปจำหน่ายได้บ้าง ในช่วงติดดอกพอเริ่มฤดูใหม่ประมาณเดือนตุลาคมก็จะพ่นยาฆ่าแมลงเพื่อไล่มด ไล่แมลง แล้วก็จะใส่ปุ๋ยสูตร 9-24-24 เพื่อเป็นการเร่งดอก แล้วฉีดพ่นทางใบ พอเริ่มออกดอกอาจจะพ่นยาประมาณเดือนละครั้งเพื่อป้องกันแมลงไม่ให้มาเจาะดอกหรือทำลายดอก แต่บางสวนก็ไม่ได้ใช้เลย ถือว่าชมพู่เป็นไม้ผลที่ไม่จำเป็นต้องใช้เคมี ส่วนใหญ่ที่เกษตรกรจะใช้คือต้นฤดูไล่มดที่มาทำรัง

ปีที่ 3 ความสูงประมาณ 5 เมตรนั่งร้านชั้นเดียว ห่อผลได้ประมาณ 200ถุง/ต้น ถ้าคิดเป็นกิโล 100 ถุงประมาณ 20 กก. ถ้า 200 ถุงก็ประมาณ 40 กก./ต้น ในปีที่ 4 -5 และเพิ่มไปเรื่อยๆ ให้ผลผลิตเต็มที่ได้ประมาณ ปีที่ 8 กลายเป็นนั่งร้านประมาณ 3 ชั้น ผลผลิตจาก 200 ถุงก็กลายเป็น 500 ถุง ประมาณ 100 กก./ต้น/รอบการออก แต่ละปีอาจออกได้หลายชุด

อายุต้นของชมพู่เพชรสายรุ้งอยู่ได้นานเป็นร้อยปี ผลผลิตช่วง 3-5 ปีแรกอาจจะติดฝาดแต่เมื่อต้นยิ่งแก่รสชาติจะยิ่งดีจะมีความหวาน การบำรุงต้นเมื่ออายุมากๆ ก็ต้องเพิ่มทุนในการทำนั่งร้าน อายุนั่งร้านประมาณ 3 ปีเปลี่ยนครั้งต้นทุนสำคัญคือ “การทำนั่งร้าน” นั่งร้านแต่ละต้นใช้ไม้ประมาณ 80-100 ลำ /ต้น  (อายุต้น 8 ปีเป็นต้นไป) ราคาไม้ลำละ 35 บาท ค่าจ้างประมาณ ลำละ 15 บาท รวมต้นทุนก็ประมาณ 50 บ./ลำ คิดเป็นต้นทุน/ต้นก็ประมาณ 4,000 บาท  3 ปีเปลี่ยนครั้งก็ถือเป็นต้นทุนระยะยาวที่ไม่สูงมากมายเท่าไหร่ ต้นทุนหลักๆ ก็ประมาณนี้ นอกจากนี้ก็มีค่าถุง ค่าห่อ ค่าเก็บ ถุงที่ใช้ห่อก็เป็นถุงปูนซีเมนต์ธรรมดาแต่เอามาลอกกระดาษภายในออกเพราะถุงปูนจะมีชั้นกระดาษประมาณ 3 ชั้นก็ลอกออกเอาชั้นนอกมาใช้ห่อราคาถุงห่อใบละประมาณ 0.50 บ. ค่าแรงห่อคนละประมาณ 400 บ.

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ผลผลิตที่เรียกว่าคุ้มทุนของเกษตรกรถ้าแต่ละต้นได้ 10,000 บ.ก็ถือว่าคุ้มค่า  ชมพู่เพชรสายรุ้งส่วนมากไม่ปลูกเป็นแปลงแต่ปลูกแซม ในแต่ละปีอาจออก 3-5 รุ่น ช่วงฤดูจริง ๆคือ กุมภาพันธ์ – เมษายน ในช่วงอื่นอาจจะออกบ้างนิดหน่อยแต่ใน 3 เดือนที่ว่านี้จะออกมากที่สุด การซื้อขายถ้าทำได้ก็จะอยู่ใน 3 เดือนดังกล่าวเพราะผลผลิตเยอะที่สุด

 

การรวบรวมผลผลิตในช่วงเก็บเกี่ยว

 

 

ทิศทาง “ชมพู่เพชรสายรุ้ง” ในอนาคต…ยังอยู่ได้ “ถ้ามีคนสานต่อ”

จากแนวทางที่เราพูดคุยมาทั้งหมดก็พอมองเห็นภาพว่า “ชมพู่เพชรสายรุ้ง” ในปัจจุบันแม้เป็นผลไม้ที่ทุกคนต้องการแต่ในภาคเกษตรกรเองกลับมองสวนทางหันไปให้ความสำคัญกับพืช “เชิงปริมาณ” ที่มีการลงทุนน้อยกว่าและให้ผลตอบแทนที่เร็วกว่า นั้นเป็นเหตุผลว่าทำไมชมพู่เพชรสายรุ้งถึงไม่มีปริมาณการปลูกที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่านิยมของพ่อแม่เองที่เน้นให้ลูกไปประกอบอาชีพอื่นที่มองว่าดีกว่าการทำสวนชมพู่ทำให้อนาคตคุณยุทธนาเองก็มองว่า “ชมพู่เพชรสายรุ้ง” อาจไร้คนสานต่อ อาจจะเหลือแค่ปลูกไว้ตามบ้านเพื่อกินเองแต่ไม่ใช่เชิงการค้า ดังนั้นสิ่งที่ทางจังหวัดควรทำถ้าไม่อยากให้เพชรสายรุ้งกลายเป็นเพียงตำนานคือการส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกอย่างจริงจังให้รู้สึกว่าการปลูกเพชรสายรุ้งนั้นคุ้มค่ากับการรอคอย คุณยุทธนาบอกว่าถ้ามองกันที่ตัวเลขจริงแล้ว ชมพู่เพชรสายรุ้งในแต่ละปีให้ผลผลิตได้หลายครั้ง สร้างรายได้/ปีไม่ต่ำกว่าหลักแสนถ้ามองกันที่ตัวเลขดีกว่าการทำงานทั่วไปเพียงแต่งานประเภทนี้ต้องใช้เวลาและความสนใจเป็นพิเศษแต่ถ้าทำได้ สามารถเลี้ยงตัวเองได้ คุณสมบัติของ “เพชรสายรุ้ง” มีดีมากพอเพียงแต่ขาดแรงจูงใจให้คนสนใจถ้าทำไม่ได้อนาคต “เพชรสายรุ้ง” ก็คงเป็นเพียงตำนานที่คนรุ่นหลังคงหาอ่านได้แต่ในตำราเท่านั้น

 

 

tags: ชมพู่เพชร สายรุ้ง ชมพู่เพชรสายรุ้ง ของอร่อยเพชรบุรี ชมพู่ ของดี เพชรบุรี ชมพู่เพชร สายรุ้ง ชมพู่เพชรสายรุ้ง ของอร่อยเพชรบุรี ชมพู่ ของดี เพชรบุรี ชมพู่เพชร

[wpdevart_like_box profile_id=”108666299214543″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]